วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สมาธิไม่พอจะเห็นสภาวะ ควรพัฒนาอย่างไร

ถาม : (00.09.20) ช่วงสิบปีหลังของการภาวนา เหมือนสมาธิไม่มีคุณภาพพอที่จะเห็นสภาวะได้เลย สติดูน้อยลงเรื่อยๆ เลยไม่แน่ใจว่าต้องมีอะไรต้องปรับ หรือตั้งใจมากขึ้น หรือทำอะไรที่พัฒนาจิตใจต่อไปได้ รู้สึกตันมานานมากแล้ว

 

ดังตฤณ : นี่เป็นเรื่องเฉพาะตนนะ บางทีเราเคยชิน อยู่กับสิ่งที่เรานึกว่าเป็นการปฏิบัติ เสร็จแล้ว กลายเป็นว่ายิ่งทำ ... จำไว้เลยนะ ... จิต ถ้าหากว่าตั้งไว้ผิดจากโฟกัสที่ควรจะโฟกัส ก็จะหลุดออกจากโฟกัสไปเรื่อยๆ แทนที่จะก้าวหน้า กลายเป็นเสื่อม กลายเป็นถอยหลัง

 

ทีนี้ วิธีที่จะสังเกตง่ายๆ ว่าเราอยู่ในโฟกัสที่ถูก ที่จะเจริญก้าวหน้าขี้นไปได้เรื่อยๆ หรือเปล่า เอาง่ายๆ เลย สังเกต ณ ขณะที่เราดูอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นดูลมหายใจ จะคิดว่าเราดูจิต หรือว่าคิดว่าเราดูอะไรก็ตามนี่นะ ณ เวลาที่ดู เราเห็นโดยมีฐานที่มั่น ที่สมควรอยู่หรือเปล่า เช่น อิริยาบถ

 

พระพุทธเจ้าท่านเน้นเลยนะ เรารู้อยู่ไหมว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ในอิริยาบถไหน เราบอกว่าเราภาวนา เราบอกว่าเราปฏิบัติ ทุกคนนี่ก็คิดว่าตัวเองภาวนา ทุกคนคิดว่าตัวเองปฏิบัติหมด แต่ว่าโฟกัสของจิต ลืมสังเกตว่าไปถึงไหนแล้ว มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หรือเสื่อมถอยลง

 

แต่ละครั้ง สมมติว่า คุณตั้งใจว่ากำลังจะดูจิต จิตที่คุณกำลังดูนั้นน่ะ เวลาที่คุณเห็น คุณเห็นอะไร เห็นว่ากำลังมีสภาพเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มีสภาพที่ดี หรือไม่ดี สว่าง หรือว่ามืด ถ้าตอบตัวเองไม่ถูก ก็แสดงว่าเราไม่ได้เห็นจริง

 

ยิ่งถ้าหากบอกตัวเองไม่ถูกว่า มันเสื่อมจากความเป็นเช่นนั้นไปเมื่อไหร่ ยิ่งชัดเจนนะว่า เรา ปฏิบัติไป ไม่ได้เห็นอนิจจัง เราเห็นอะไรอย่างหนึ่ง ที่เรานึกว่าเราเห็น เสร็จแล้วการเห็นนั้น โฟกัสเสื่อมลงเรื่อยๆ ถอยลงเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวนะ

 

วิธีที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านเลยสอนให้อย่างนี้ หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก รู้ว่าหายใจออก ไม่ใช่พยายามที่จะอาศัยลมหายใจ เป็นที่ตั้งของสมาธิอย่างเดียวนะ แต่เป็นเครื่องระลึกระหว่างวันด้วย ระลึกไปเรื่อยๆ ว่าขณะนี้เราหายใจเข้า หรือหายใจออกอยู่ เราหายใจยาวหรือหายใจสั้น ถ้าหากว่ามีความรู้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี่แสดงว่าเรามีเบสิก (basic) แล้ว

 

นี่ตรงนี้ จะชัดเจนว่า เรามีเครื่องวัดความคืบหน้า ความก้าวหน้า เสร็จแล้วเราค่อยสังเกตว่า แต่ละลมหายใจที่ผ่านไปนี่ จะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตาม หายใจสั้นหรือหายใจยาวก็ตาม มันมาพร้อมกับความรู้สึกสบาย หรือว่าอึดอัด

 

ส่วนใหญ่ถ้ามาพร้อมความรู้สึกว่าอึดอัด เราจะเลิกทำ แต่ถ้าเป็นที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านจะสอนว่า มีความอึดอัด ให้รู้ว่าตรงนั้นคือทุกขเวทนา และทุกขเวทนา อยู่ได้กี่ลมหายใจก่อนหายไป นั่นเรียกว่า การเห็นความเสื่อมของทุกขเวทนา ยิ่งเห็นชัดมากขึ้นเท่าไหร่มาตามลำดับแบบนี้ จะมีแต่ความคืบหน้า จะไม่มีอาการถอย!

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 1

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=682032666066316

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น