วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

02 ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้เสียงสติ อธิบาย ขันธ์ 5

 ดังตฤณ : หลังจากที่ได้นั่งมาประมาณ 15 นาที 

จะรู้สึกถึงความนิ่ง จะรู้สึกถึงความหัวโล่ง

จะรู้สึกถึงความสว่างที่เป็นไปทั่วตลอด

หรือว่าเป็นไปบ้าง เป็นบางส่วน 

 

ในขณะนี้ เวลาที่เราทำความรู้สึก ถึงอิริยาบถนั่ง 

จะมีความรู้สึกว่า ท่าคอตั้งหลังตรง ปรากฏชัดต่อสติ 

 

ท่าคอตั้งหลังตรงในอิริยาบถนั่งแบบนี้

เรียกว่าเป็นส่วนของ รูป 

เป็นส่วนที่เรารู้สึกว่า มีรูปพรรณสัณฐาน จับต้องได้ 

เรารู้สึกว่ามีส่วนของโครงกระดูก ที่ยกตั้งขึ้น 

ที่คอตั้งหลังตรง ไม่ใช่เพราะว่า เนื้อ ตั้งขึ้นมา

แต่เพราะว่าโครงกระดูก มีส่วนของกระดูกสันหลัง 

ที่หยัดตั้งขึ้นมา 

 

แล้วก็มีกะโหลก 

อันเป็นส่วนที่ ลากลมเข้า แล้วก็ระบายลมออก 

ส่วนของลมหายใจ ที่ถูกลากเข้า แล้วก็ระบายออก 

ก็เป็นส่วนของรูปเช่นกัน 

 

เรารวมเรียกกันว่า รูปขันธ์

 

เป็นขันธ์แรก ที่ถ้าเราเข้าใจ เรารู้จัก

เราก็จะเห็นว่า แตกต่างจากความรู้สึก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

.

.

บางลมหายใจ ถ้าหากเป็นลมหายใจยาว

ช่วงที่ผ่านมา สิบกว่านาทีนี้ มีความสุขเหลือเกิน 

มีความสบายเหลือเกิน ที่ได้หายใจยาว 

 

นี่ก็เป็นส่วนสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจ

ที่มีความยาว ที่มีความนุ่มนวล 

กับความรู้สึกสบาย ทั่วไปทั้งกาย 

 

ความสบาย ทั่วทั้งกาย

ความสบาย อันเกิดจากลมหายใจยาวนี่แหละ

ที่เราเรียกว่า สุขเวทนา 

เป็นส่วนของ เวทนาขันธ์ 

 

แม้แต่ปีติ ในอานาปานสติ พระพุทธเจ้าก็จำแนกให้รวมอยู่กับเวทนา

 

หรือทางทฤษฎีอาจจะบอกว่า ปีติ เป็นสังขารขันธ์

แต่ถ้าเอากันในอานาปานสติอย่างเดียว

เราก็รวมทั้ง ปีติ และความสุขที่เกิดขึ้น เป็นเวทนาขันธ์ทั้งหมด 

 

เวทนานี้ นำไปสู่อะไร

.

.

ตรงนี้แหละที่เราจะเริ่มได้สำรวจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ 

มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ดูจากตรงนี้

 

ถ้ามีความสุขอยู่ .. สุขนั้น นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า

นิจจสัญญา หรือว่า อนิจจสัญญา

 

ถ้านำไปสู่ นิจจสัญญา ว่ากันง่ายๆ ก็คือ

เกิดความรู้สึกว่า เวทนานี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เที่ยง

หรืออย่างน้อยเป็นของของเรา 

 

เมื่อไรก็แล้วแต่ ที่เรายึดว่าอะไรเป็นของๆ เรา หรือว่าเป็นตัวเรา

ตรงนั้นจะเกิดความสำคัญมั่นหมายที่ผิดขึ้นเสมอ

 

คือรู้สึกว่า มันจะต้องอยู่กับเราตลอดไป 

หรือมีเราอยู่ โดยความเป็นเวทนาที่น่าพอใจแบบนี้มาก่อน

แล้วก็จะต้องมีเวทนาที่น่าพอใจแบบนี้ ต่อไปในอนาคต 

 

อย่างนี้เรียกว่า นิจจสัญญา

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ถ้าเรามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน

จะมีอุปาทานเกิดขึ้น

 

ยึดว่า ความสุขที่เกิดขึ้นนี้ เที่ยงแน่ๆ เป็นของเราเสมอ 

เหมือนกัน กับตอนตรงกันข้ามที่เราเกิดความทุกข์

เกิดความรู้สึกว่า ความทุกข์ อกกลัดหนอง หรืออกไหม้ไส้ขมอยู่

ก็จะให้ความรู้สึกไปอีกแบบหนึ่ง 

ทำนองว่า เราไม่มีทางพ้นจากความทุกข์นี้ไปได้ 

 

อันนี้แหละ คือ การเกิดขึ้นของเวทนาโดยปราศจากสติ 

 

ถ้าหากว่า เรามีสติ ในแบบที่พระพุทธเจ้าสอน 

พิจารณาว่า ภาวะทางกายที่หยัดตั้ง คอตั้งหลังตรงแบบนี้ 

เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนท่าไปเป็นอื่น

ลมหายใจ บางครั้งยาว เดี๋ยวก็อาจจะสั้นได้ 

พอเลิกนั่งสมาธิ ก็สั้นลง 

และพอลมหายใจไม่ยาว ความสุขก็ไม่เกิดเต็มที่ 

 

คือเห็นจากความจริงตรงนี้เลย

ไม่ใช่ไปเห็นจากความคิด หลังจากออกสมาธิ

 

เห็นว่าลมหายใจยาว ณ ขณะนี้ ให้ความรู้สึกเป็นสุข 

แล้วสุขนี้ นำไปสู่ นิจจสัญญา หรือว่า อนิจจสัญญา

 

โดยมากคนเรา พอลิ้มรสความสุข อันเกิดแต่วิเวกในสมาธิ

เพราะมีลมหายใจยาว ไม่คิดถึงสิ่งอื่น

ใจไม่ดิ้นรนไม่กระสับกระส่าย

จะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าความสุขแบบนี้น่าพอใจ 

 

ความน่าพอใจนั้นแหละ  จะนำไปสู่อุปาทานว่า

ขอให้ความสุขแบบนี้ อยู่กับฉันตลอดไป

ฉันไม่อยากออกจากความสุขแบบนี้

 

ความไม่อยากออกจากสุขนี่แหละ ที่ก่อให้เกิด นิจจสัญญา ขึ้นมา 

 

ทีนี้ หากแค่พิจารณานิดเดียวว่า

ลมหายใจเที่ยงหรือเปล่า

ท่านั่งคอตั้งหลังตรงแบบนี้ เที่ยงได้หรือเปล่า

 

แล้วก็เห็นว่า ฐานอันเป็นที่ตั้งของลมหายใจยาว

ไม่สามารถอยู่ได้ในท่าเดิมตลอดไป 

ก็ลดความคาดหวังลง หรือว่าล้มเลิกความคิดไปว่า

จะต้องมีลมหายใจยาวได้อย่างเดียว 

 

พอเราเห็นอยู่ชัดๆ ว่า ลมหายใจไม่อาจยาวได้ตลอดไป 

ก็เกิดความรู้สึกเป็นธรรมดาขึ้นมาว่า ความสุขก็เหมือนกัน 

เดี๋ยวก็ต้องเสื่อมลงไปด้วย 

นี่แหละที่ อนิจจสัญญา จะเริ่มเกิด

 

ในคนธรรมดานี่พอเห็นได้ จากการที่รับฟัง

อย่างตอนนี้ มีเสียงไกด์อยู่ว่า ให้ดูนะ ว่าไม่เที่ยง 

ก็เห็นว่าไม่เที่ยงได้ เกิดอนิจจสัญญาได้

 

แต่ถ้าจะให้เกิดอนิจจสัญญา อย่างเป็นสมาธิจริงๆ

ต้องเห็นด้วยตัวเองอยู่เรื่อยๆ เห็นจนชิน เห็นจนชำนาญ

เห็นจนเกิดความรู้สึกว่า ที่บอกว่าเป็นความไม่เที่ยง

ความรู้สึกว่าสุขนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่แค่ตอนนั่งสมาธินะ

 

ตอนออกจากสมาธิ ตอนอยู่ในชีวิตประจำวัน

ความสุขอันเกิดจากลมหายใจ ยาวบ้าง สั้นบ้างนี่ 

ก็แสดงความไม่เที่ยงของสุขของทุกข์ อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน 

 

พอเห็นได้เรื่อยๆ นั่นแหละถึงจะเรียกว่า

ได้ประโยชน์จากการฝึกอานาปานสติ 

 

รู้ว่าลมหายใจไม่เที่ยง

รู้ว่าสุขไม่เที่ยง แม้กระทั่งทุกข์ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน 

 

ไม่ว่าคุณจะได้รับความทุกข์ อันเกิดจากกระทบแบบไหนมา

สุดท้ายมารวมลงอยู่ที่ตรงนี้แหละว่า

ภาวะของลมหายใจ ที่เข้าที่ออก ยาวหรือสั้น

ตอนที่คุณมีความทุกข์มากระทบ

 

ถ้าหากว่าลมหายใจสั้น ก็เท่ากับความทุกข์นี่

เกิดขึ้นที่ความรับรู้ภายนอกด้วยนะ ที่เป็นเหตุการณ์ไม่น่าพอใจ

แล้วเกิดภาวะภายใน ซึ่งเป็นลมหายใจที่สั้นที่ห้วน ที่ไม่มีคุณภาพ 

 

นั่นแหละ ความทุกข์ที่สมบูรณ์แบบ

 

ทุกข์ภายนอก มากระทบ

แล้วก็ทุกข์ภายใน อันเกิดจากการหายใจสั้น 

ผสมตัวรวมกัน กลายเป็นความรู้สึกว่า

เราหนีรอดไปจากความทุกข์ไม่ได้

 

แต่ถ้าหากว่า ความทุกข์ภายนอกมากระทบ

แต่ยังคงมีความเคยชิน มีความชำนาญที่จะหายใจยาวได้อยู่

เวลาหายใจเข้า ป่องท้องนิดหนึ่ง

เวลาหายใจออก ระบายออกมาจนหมด 

แบบที่ไม่มีความเกร็ง ไม่มีความกำ ที่กล้ามเนื้อส่วนไหนของร่างกาย 

 

อันนี้แหละ จะผ่อนหนักให้เป็นเบา 

ไม่ว่ามีความทุกข์ อกกลัดหนองอยู่ขนาดไหนก็ตาม

ที่มากระทบหู กระทบตา หรือกระทบใจ

 

ตราบใดที่เรายังหายใจยาวได้

ตราบใดที่เรายังจำได้ว่า นั่งสมาธิแล้วหายใจยาว

จะพาความสุขเข้ามา พาความสดชื่นเข้ามา 

ทำให้สมองเหมือนมีออกซิเจนพิเศษ ไปหล่อเลี้ยง ทำให้หัวโล่ง 

 

เวลาคนหัวโล่งนะ เจอปัญหาแค่ไหนก็แก้ได้หมด 

 

การที่เรามีความเห็นว่า ตัวของความสุข

เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย 

หายใจยาวก็เป็นสุข หายใจสั้นจะเป็นทุกข์

แค่นี้ จะเกิดความรู้สึกปล่อยวางลงได้เยอะแล้ว

 

แล้วยิ่งถ้าหาก เราเห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า 

ในชีวิตประจำวัน จะเกิดอะไรกระทบก็แล้วแต่

ให้ลมหายใจยาว หรือลมหายใจสั้นก็แล้วแต่

ในที่สุดต้องผ่านไปหมด จะไม่เหมือนเดิมทั้งหมด

ไม่ใช่ตัวเดิมทั้งหมด

 

แม้ลมหายใจ ก็ไม่ใช่สายลมหายใจสายเดียวกัน

ความสุขก็ไม่ใช่ความสุขอันเดิม

ความทุกข์ก็ไม่ใช่ความทุกข์อันเดิม

 

ในที่สุดแล้ว เห็นบ่อยๆ เห็นเป็นประจำ เห็นจนชำนาญ

จะเกิดอนิจจสัญญาขึ้นมาเป็นปกติ

รู้สึกว่า จิตของเราเป็นสมาธิขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง 

เป็นสมาธิในการเห็นว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง 

รวมแล้ว โดยสรุปแล้วมาอยู่ที่จุดเดียว

คือลมหายใจสั้น หรือลมหายใจยาว 

 

ทั้งสั้นทั้งยาวไม่เที่ยงทั้งคู่ ว่าตามเหตุปัจจัย

ถ้ากำลังหายใจอยู่ กำลังหายใจยาวอยู่

ก็มีความสุขเป็นธรรมดา

กำลังหายใจสั้นอยู่ ก็มีความทุกข์เป็นธรรมดา

 

ตรงนี้แหละที่เรียกว่าเกิด สัญญา ขึ้น

แล้วก็การรู้จักสัญญาว่า เป็น นิจจสัญญา หรือ อนิจจสัญญา แค่นี้

ก็เห็นได้แล้วว่า ตัวสัญญาเองก็ไม่เที่ยงเช่นกัน

 

บางทีพอเรามีสติขึ้นมา ก็เกิดอนิจจสัญญา

แต่ถ้าขาดสติ นิจจสัญญาก็กลับมาใหม่ 

นึกว่ามีตัวเดิม นึกว่าตัวเดิมนี่ตั้งอยู่ถาวร 

 

นิจจสัญญา กับ อนิจจสัญญา ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ตามที่เรามีสติหรือขาดสติ

ก็เป็นการเห็นความไม่เที่ยงของสัญญาอย่างหนึ่ง 

อันนี้เรียกว่าเราเห็น สัญญาขันธ์ อยู่

 

ถ้าหากว่าเห็นอยู่ในขณะนั่งสมาธิอย่างนี้

จะง่ายที่จะยอมรับว่า เป็นแค่สัญญา 

เป็นแค่ความจำได้หมายรู้

แค่ความรู้สึก สำคัญมั่นหมายไปว่า

นี้เป็นของเรา นี้ไม่เป็นของเรา

นี่เที่ยง นี่ไม่เที่ยง 

อะไรไม่ชอบใจ ก็ยอมรับง่ายว่าไม่เที่ยง

แต่อะไรที่ชอบใจ ก็จะยากที่จะทำใจ 

 

พอเราเห็นอย่างนี้ .. ตัวสัญญาอยู่ตรงไหน

ก็จะเหมือนพยับแดด 

 

ไม่มีตัวตน เป็นรูปเป็นร่างสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยม

ไม่ได้มีสีแดงสีดำ

แต่มีลักษณะของ ความจำได้หมายรู้

หรือว่าความสำคัญมั่นหมายอะไรบางอย่างปรากฏอยู่ในใจ 

 

ถ้ามีสติขึ้นมา 

สัญญาก็เปลี่ยนเป็นอนิจจสัญญาได้ 

ถ้าไม่มีสติ ก็กลายเป็นนิจจสัญญา 

 

ตัวสัญญาแบบเดียวกัน ที่สามารถจำได้ว่า

นั่นพ่อนั่นแม่ นั่นครอบครัวเรา  นั่นเพื่อนเรา นั่นศัตรูเรา

ตัวสัญญานี้ สัญญาขันธ์นี้

เป็นอันเดียวกับที่เราจำได้ว่า

นั่นเรียกว่าสีเขียว นี่เรียกว่าสีดำ นั่นเรียกว่าสีเหลือง 

 

การจำได้หมายรู้ หรือสำคัญมั่นหมายไปต่างๆ

รวมลงแล้วมาที่สัญญาตัวนี้ ที่เรียกว่าสัญญาขันธ์ 

 

สัญญาขันธ์ ก็จะไปทำให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง 

การปรุงแต่งทางจิต ที่เรียกว่าสังขารขันธ์ 

คือชอบ หรือไม่ชอบ

อยากทำต่อหรืออยากเลิก

 

ตอนนั่งสมาธิ จะเห็นได้ชัดๆเลยนะ

ถ้ามีความกระสับกระส่ายอยู่ จะอยากเลิก

ถ้ามีความนิ่งความเบาความสบาย จะรู้สึกติดใจอยากทำต่ออีกนานๆ

ไม่อยากออกจากสมาธิเลย

 

อันนั้นแหละคือร่องรอยของสังขารขันธ์ 

ร่องรอยของความรู้สึกชอบไม่ชอบ 

ร่องรอยของหนทาง ที่จะเกิดความสว่าง หรือความมืด

หนทางที่จะเกิด กุศลหรืออกุศล 

.

.

พอจบสังขารขันธ์ ก็มาถึงขันธ์สุดท้าย ที่เรียก วิญญาณขันธ์ 

 

วิญญาณขันธ์ จะเป็นส่วนของการรับรู้ 

รับรู้อะไร .. ก็ทั้งหมดที่กล่าวมานั่นแหละ

 

ขันธ์ทั้งหลายที่ปรากฏ

จะเป็นรูปขันธ์ก็ตาม

จะเป็นเวทนาขันธ์ก็ตาม

จะเป็นสัญญาขันธ์ก็ตาม

หรือว่าจะเป็นสังขารขันธ์ก็ตาม

 

สิ่งที่ไปรู้สิ่งเหล่านั้น ขันธ์เหล่านั้น ก็คือวิญญาณขันธ์  

 

วิญญาณขันธ์นี้ ระพุทธเจ้าตรัสไว้

จะเรียกว่าจิต ก็ได้

จะเรียกว่า ใจ ก็ได้

จะเรียกว่าเป็น มโนมนินทรีย์ .. จะเรียกอะไรก็แล้วแต่

นั่นก็คือ ธาตุรู้ .. เป็นธาตุเดียวในจักรวาลที่รู้สิ่งอื่น 

 

และเมื่อเห็นวิญญาณขันธ์ ในขณะที่เรานั่งสมาธิ

คือจะเห็นยากที่สุดนะ เพราะออกมาจากจุดเริ่มต้นเลย

จุดเริ่มต้นอันเป็นที่สุดของความเป็นเรานี่

มาจากตัวที่รู้เห็นอะไรนี่แหละ 

 

แต่ตอนที่รู้เห็น แล้วสงสัย

ตอนที่รู้เห็น แล้วอยากได้โน่นอยากได้นี่

จะไม่สามารถย้อนกลับไปหาตัวตั้งต้น คือความรู้ความเห็นนี้ได้

 

จะมีแต่ความคิด เป็นเราๆ อยู่ตลอด และยิ่งพอกหนาขึ้นจากความโลภโมโทสัน ก็ยิ่งไม่มีทางที่จะย้อนกลับไปเห็นว่า จิตหรือความรับรู้ตั้งต้น เริ่มมาจากตรงไหน

 

ต่อเมื่อเรานั่งสมาธิ จิตมีความนิ่ง จิตมีความเบา 

 

แล้วเห็นไล่มาเรื่อยๆ ตั้งแต่รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

ในที่สุดเกิดไปพบว่า ตัวที่รู้ ที่แยกออกมาจากขันธ์อื่นๆทั้งหมด

ก็คือจุดเริ่มต้น ของชีวิตตัวเอง 

 

นั่นคือการรับรู้ รับรู้ว่า 

สิ่งนี้ มีรูปพรรณสัณฐาน

สิ่งนี้ มีแค่ความรู้สึก

สิ่งนี้ มีความจดจำ จำได้หมายรู้ หรือว่าสำคัญไปต่างๆนานา

สิ่งนี้ มีความมืดเป็นอกุศล

สิ่งนี้ มีความสว่างเป็นกุศล 

 

ตัวที่รู้นั่นแหละ คือวิญญาณขันธ์

 

แล้วพอตัวรู้ ถอนออกจากสมาธิ ก็เห็นช่องทางว่า

จะสามารถรับรู้ตามช่องทางต่างๆได้

เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย 

 

ในตอนที่นั่งสมาธินี่ รู้ด้วยมโนทวาร รู้ด้วยใจ

รู้ด้วยสภาพของวิญญาณขันธ์ อันตั้งอยู่บนความพินิจ

หรือว่าการโฟกัสไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 

 

นี่ก็เป็นลักษณะ

 

ที่นี้ ถ้าจะเรียกว่าเห็นขันธ์ 5 ได้จริงๆ

ไม่ต้องมาแยกแยะแบบนี้นะ

คือไม่ใช่มาพูดอธิบายกันเป็นฉากๆ แบบนี้

 

เอาง่ายๆว่า ณ ขณะนี้ ที่นั่งอยู่นี่ คอตั้งหลังตรงหรือเปล่า 

ตัวนี้เป็นหลักสำคัญมากเลย เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก

 

ถ้ามีความรู้ว่า คอตั้งหลังตรงอยู่ ขันธ์ทั้ง ปรากฏอยู่ในนี้หมด 

หายใจก็รู้ว่าเป็นรูปขันธ์ส่วนหนึ่ง 

คือรู้พร้อมกันนะ ไม่ใช่มารู้ไล่กันเป็นลำดับ

 

เวลาเราพูด เราต้องพูดเป็นลำดับ

แต่เวลารู้ ถ้าจิตรู้จริง จิตเป็นสมาธิจริง จะเห็นเลย

เห็นพร้อมๆ กันว่า

ส่วนของอิริยาบถนี้ เป็นส่วนของรูป 

ส่วนของใจที่มีความเป็นสุข เป็นทุกข์

ที่มีความเป็น นิจจสัญญา หรือ อนิจจสัญญา

ชอบหรือไม่ชอบ ที่จะนั่งสมาธิ

ส่วนเหล่านี้ จะปรากฏพร้อมกันหมด 

รวมอยู่ในอิริยาบถนั่ง ที่กำลังปรากฏอยู่ในใจ ณ บัดนี้นี่

 

ใจ นั่นแหละก็คือวิญญาณขันธ์

วิญญาณขันธ์สุดท้าย ขันธ์ที่ 5 

อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเห็นแยก 

 

เห็นขันธ์แยกออกจากกันเป็นส่วนๆ แล้วเราจะไม่รู้สึกเลยว่า

มีความเป็นตัวเป็นตน อยู่ในกาย อยู่ในใจนี้

 

จำไว้นะ อันนี้นะ ถ้าใครเกิดขึ้น เกิดประสบการณ์ตรงนี้ได้

จะเห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราสามารถเห็นกายใจนี้ แยกออกเป็นส่วนๆ  

ส่วนของรูปทรง ส่วนของเวทนา ส่วนของสัญญา ส่วนของสังขาร

แล้วรู้ว่า ใจแยกออกมาเป็นผู้ดู คือวิญญาณขันธ์นี้ 

ความรู้สึกในตัวตนจะหายไป 

 

ความรู้สึกว่า .. จริงๆด้วย 

มีแต่ภาวะของรูป ภาวะของนาม

ไม่ได้รู้สึกว่า ภาวะของรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเรา

ไม่ได้รู้สึกว่าภาวะของนามอย่างใดอย่างหนึ่ง 

เที่ยง หรือเป็นตัวตน 

 

จะเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนทรง

เปลี่ยนสภาวะไปอยู่ตลอดเวลาทุกลมหายใจ

 

อันนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

การเห็นกายใจด้วยความเป็นขันธ์

จะทำให้เกิดอนิจจสัญญา 

 

แล้วถ้าใครศึกษาต่อไป เดี๋ยวในสัปดาห์ต่อๆไป

ก็จะมาพูดถึงเรื่องของอนัตตสัญญา

 

นั่นก็เป็นส่วนของการเห็นอายตนะ โดยความเป็นของว่างเปล่า

กระทบกันแล้วเกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน แล้วก็หายไป

เหมือนกับไม้สีกันให้เกิดไฟ

พอแยกไม้ออกจากกันไฟก็หายไป 

 

ความรู้สึกในตัวตนก็แบบนั้น  

พอหมดเหตุหมดปัจจัย ก็ไม่เหลืออะไร ในความรู้สึกในตัวตนนี้

เป็นของหลอก แค่ชั่วขณะเดียว 

_________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน รู้จักขันธ์ ๕ จากสมาธิจิต

- 02 ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้เสียงสติ

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=tOu6Z6df7X4

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น