วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Q11 ขณิกสมาธิ จะรู้สึกว่ากายว่างและแผ่จนไม่มีขอบเขตได้ไหม

ดังตฤณ : ตรงนี้ จริงๆแล้วถ้าไปในสมัยพุทธกาล เราจะไม่ได้ยินท่านพูดกันเรื่อง ขณิกสมาธิ หรือว่า อุปจารสมาธิ นะ 

 

อุปจารสมาธิ คือเฉียดฌาน ขณิกสมาธิ คือชั่วคราวนะ

 

ตัวขณิกสมาธิเอง ก็มีคุณภาพที่แตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง ฟ้ากับเหวก็มี

 

อย่างหลวงปู่มั่น ท่านเล่าประสบการณ์การภาวนาของท่าน บอกว่าท่านถอยออกมาจากฌาน มาอยู่ที่ .. คือท่านเล่าอย่างนี้เลยนะ ถอยออกมาจากฌาน แล้วมาอยู่ในสมาธิแบบพัก เป็นขณิกสมาธิ 

 

คือขณิกฯ ของท่าน กับขณิกฯ ของปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปนี่ คนละเรื่องเลยนะ แต่ท่านก็เรียกว่าเป็น ขณิกฯ เพราะว่าตั้งอยู่เดี๋ยวเดียว คือไม่ได้ล็อกตัวอยู่ ไม่ได้ได้ผนึกกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เป็นฌาน เป็นฐานของจิต

 

ยังลงมาไม่ถึงฐานของจิต ท่านแค่เอาขณิกสมาธิเพื่อพัก

 

ทีนี้ คุณภาพหรือว่าประสบการณ์ภายใน มุมมองภายใน ว่าตัวสมาธิจะทำให้เห็นอย่างไร ของแต่ละคนต่างกัน

แล้วแม้แต่ตัวเราเอง ในแต่ละวัน หรือแม้แค่ผ่านไปแค่ไม่กี่ลมหายใจ ก็ต่างไปได้ 

 

อย่างตอนที่เกินกายออกไป ถ้าอยู่ได้เดี๋ยวเดียว ไม่มีฐานที่ตั้งมั่น พร้อมจะโคลงเคลง หรือพร้อมที่มีอะไรมากระทบแล้วเราหวั่นไหว อย่างนี้ก็เรียกว่าขณิกฯ

 

ที่ท่าน เรียกเป็นอุปจารสมาธินี่ ประสบการณ์ภายในส่วนใหญ่นั้นเฉียด.. ใกล้จะเป็นฌานอยู่แล้ว 

 

องค์ประกอบของฌาน พูดง่ายๆเกือบเกิดครบด้วยซ้ำนะ

ทั้ง วิตก คือความนึกถึงอารมณ์

ทั้ง วิจาร คือแนบเข้าไปกับอารมณ์ เหมือนลมหายใจปรากฏเป็นหนึ่งเดียวกับจิต หัวหายไปเหลือแต่ลมหายใจ เป็นหนึ่งเดียวกับจิตอยู่

แล้วก็เกิด ปีติสุข

 

ซึ่งหน้าตาของปีติสุขอันเกิดแต่วิเวกนั้น จะคล้ายคลึงกันมากกับปีติสุขในแบบของฌาน เพียงแต่ว่าที่ขาดไปจริงๆ คือจิตที่ใหญ่ .. จิตที่เป็น มหัคคตจิต ที่รวมกันเป็นจิตใหญ่มหาศาล จิตที่เป็น เอกัคคตา

 

ที่เรียก เอกัคคตา เพราะว่า มีความเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบฌาน ไม่วอกแวกไปที่อื่นเลย แม้แต่วิถีของโสตวิญญาณ ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะว่าอารมณ์แน่วไปในองค์ของฌานเต็มที่นะ 

 

พูดง่ายๆ หายเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติที่สร้างขึ้น จิตปรุงแต่งไป 

รู้ไปเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น 

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เสียงเป็นปฏิปักษ์กับฌาน ก็เพราะอย่างนี้ เพราะถ้ายังได้ยินเสียงอยู่ คือยังไม่ถึงฌานจริง

 

ทีนี้ถ้าเรามองว่า ตัวของฌานคือการหลุดเข้าไปอยู่ในอีกมิติหนึ่ง ที่จิตสร้างขึ้น ด้วยการแนบเข้าไปอยู่กับสิ่งนั้นเป็นหนึ่งเดียว เข้าถึงฐานของจิต จิตไม่

สามารถลงไปกว่านั้นได้อีกแล้ว

 

พอถึงฐานแล้ว ยืนอยู่กับที่แล้ว หยัดอยู่กับที่แล้ว นิ่งอยู่กับที่แล้ว ตรงนี้ เราก็มาพิจารณาได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเรานี่ใกล้เคียงฌานแค่ไหน

 

ถ้าหากว่าฐานของใจเราเริ่มนิ่ง มีความมั่นคง ถึงแม้ว่าจะยังคิดๆ ถึงแม้จะยังได้ยินเสียงอยู่ เราก็อนุโลมได้ว่า เออนี่เข้าข่าย เป็นเครือข่าย เป็นสหายกันกับสมาธิแบบฌาน 

 

ยิ่งตรงนี้เสถียร มีความราบเรียบ มีความรู้สึกไม่เคลื่อน ไม่โยกโคลง แบบนี้เข้าข่ายที่จะไปในทิศทางของฌานแล้ว ถึงแม้ว่าตั้งอยู่ได้แป๊บเดียวแบบที่เรียกว่า ขณิกฯ ก็ถือว่าใช้ได้ ถือว่าโอเค ถือว่าดี 

 

ทีนี้ประสบการณ์ภายในจะกว้างทะลุออกไปแค่ไหน จะรู้สึกอย่างไร ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม ก็เป็นลักษณะที่ปรุงแต่งให้จิตรู้สึกไปนะ 

 

ตัวนั้น เราไม่ได้เอามานับว่าเป็นฌานหรือเปล่า .. ที่จะเห็นอะไรยิ่งใหญ่ ที่จะเห็นอะไรทะลุปรุโปร่ง แม้กระทั่งเกิดญาณสัมผัสอะไรขึ้นมา เราไม่นับ 

นั่นไม่เกี่ยวกับฌาน 

 

ฌาน เกี่ยวอย่างเดียวคือว่า มีอารมณ์เดียว ตั้งมั่นอยู่ที่ฐาน รู้อารมณ์เดียวไม่เคลื่อนเลย ไม่เคลื่อนไปอย่างนั้น และไม่ได้ยินเสียง 

 

สรุปคำตอบก็คือ ขณิกสมาธิ เห็นแบบที่คุณเห็นได้ และถ้ามีปีติ ตัวเบาเหมือนจะลอยได้ เนียนอยู่ตรงนั้นนานๆ มีปีติยิ่งใหญ่นะครับ นั่นก็คืออุปจารสมาธิ

 

แต่ถ้าฐานของจิต ตั้งมั่น ไม่เคลื่อนเลย ไม่ไปหาอารมณ์อื่นเลย นั่นคือฌานนะ .. จิตจะใหญ่มาก ไม่ใช่จิตแบบที่รู้สึกแค่กายนี้นะ แต่จะใหญ่ ใหญ่คับโลกเลยนะ ฌานนี่

________________

คำถามเต็ม : ระดับขนิกสมาธิ สามารถเกิดความรู้สึกกายที่ว่าง เเละรู้สึกถึงความเเผ่ขยายของกาย ที่กว้างขึ้น จนไม่มีขอบเขตของกายได้ไหมคะ

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ร่วมบรรจุมหาสมุทรเมตตาถวายแด่องค์พระ

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=UjNR5ExteIg

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น