วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

07 คลายเครียดใน ๓ นาที - การพิจารณากายใจโดยความเป็นอายตนะ

พระสูตรที่ใช้ประกอบการบรรยาย :

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม

คือ อายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม

คือ อายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖

อย่างไรเล่า?

 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมรู้จักตา รู้จักรูป

และรู้จักสังโยชน์

ที่อาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น

ฯลฯ

 

ภิกษุย่อมรู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์

และรู้จักสังโยชน์

ที่อาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น

ฯลฯ

 

พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้น

ทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง

ฯลฯ

 

อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด

ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด

ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด

ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

 

ความรู้ตรงนี้ จะทำให้คุณเห็น ที่พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณากายใจ โดยความเป็นอายตนะ มีอยู่ในสติปัฏฐาน 4 นะครับ

แล้วก็เป็นธรรมะหมวดสูงเลย เป็นธรรมมานุปัสสนา

 

ซึ่งธรรมานุปัสสนา ขึ้นต้นขึ้นมาสรุปง่ายๆ เลยก็คือเคลียร์จิต เคลียร์ใจให้โล่งก่อน ให้ปราศจากนิวรณ์ ให้ปราศจากเครื่องขวาง ให้ไม่มีความรู้สึก อยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น ไม่มีความพยาบาท ไม่มีความอยากบันเทิง ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความหดหู่ แล้วก็ไม่มีความลังเลสงสัย มีแต่จิตที่ว่าง แล้วก็ประกอบด้วยสติอยู่

 

ตรงนี้จะมีความสามารถพร้อม ที่จะเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ก็ได้พร้อมที่จะเห็นกายใจด้วยความเป็นอายตนะ 6 ก็ได้ 

 

เห็นเป็นอายตนะ เห็นอย่างไร?

 

ก็คือเห็นว่า อย่างพอเราลืมตาขึ้นมา แล้วมีรูป มีสี มีทรงอะไรปรากฎกระทบตา เราสักแต่รู้

 

แต่ถ้าหากว่าจะมีความยึดขึ้นมาว่า นี่ข้าวของ ของเรา นี้เรียกว่าเป็นการที่ใจเกิดสังโยชน์ขึ้นมา เกิดอาการยึดขึ้นมา โดยอาศัยแก้วตาของเรา ไปประจวบกับรูปภายนอก 

 

ทีนี้ อย่างตอนที่เรานั่งสมาธิเมื่อครู่ ที่ผมบอกว่าเห็นไหม ความคิดลอยมาลอยไป กระทบใจแล้ว ไม่ติด ไม่มีอาการยึด นี่ก็คือการรู้จักธรรมมารมณ์

 

คำว่า ธรรมารมณ์ คือสภาพธรรมทั้งปวง จะเป็นความคิดนึกก็ตาม จะเป็นความจำได้หมายรู้ก็ตาม จะเป็นความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตาม อะไรก็แล้วแต่ ที่กระทบใจให้เกิดการรับรู้ได้ เหล่านั้นรวมเรียกว่าเป็นธรรมารมณ์ทั้งหมด 

 

ถ้าหากว่าเราอยู่ในสมาธิ แล้วเห็นว่าความคิดผุดขึ้น แล้วก็หายไป โดยไม่มีอาการยึดมั่นถือมั่น ว่าความคิดนั้นเป็นตัวเรา เป็นของเรา นั่นแหละ คือเรามีความรู้ธรรมมารมณ์ รู้ความคิดว่า เป็นไปตามสภาพ ผุดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง แล้วก็หายไปด้วยเหตุปัจจัยที่หมดไป หมดลง 

 

บางคนอาจจะเห็นเลยด้วยซ้ำนะ ว่า

ความคิดก่อตัวขึ้นมา เหมือนกับคลื่นไฟฟ้า 

ไม่ใช่เหมือนล่ะ แต่คือคลื่นไฟฟ้า

คลื่นไฟฟ้าทางสมอง ก่อตัวขึ้นมาที่สมองส่วนหน้า 

แล้วถ้าเราไม่ยึดเอาคลื่นไฟฟ้านั้น ว่าเป็นตัวของเรา

คลื่นไฟฟ้านั้นก็ดับไป เป็นระลอก ระลอก 

ไม่มีตัวใครอยู่ 

 

มีแต่ภาวะ ว่าจะยึดหรือไม่ยึด 

ยึดด้วยความหลง หรือว่าไม่ยึดด้วยสติ 

ที่รู้ตามจริงแบบเท่าทัน 

 

พระพุทธเจ้าท่านให้ดู ตา หู จมูก ลิ้น กาย

ที่กระทบกับอายตนะภายนอก ที่เป็น

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็มาลงท้ายสรุปตรงนี้

ซึ่งไม่ค่อยจะมีใครมาทำความเข้าใจกันเท่าไหร่

นั่นคือ ธรรมารมณ์ ที่กระทบใจ

 

อย่างเช่น ตอนนั่งสมาธิจะเห็นได้ชัดว่า ตอนใจว่างๆ ตอนใจมีสติ จิตมีความตรงอยู่ แล้วความคิดลอยเข้ามากระทบ จะเห็นได้ชัดเลยว่า ความคิดเป็นของนอกจิต

 

คน มักสงสัยกันตามทฤษฎีว่า ความคิดกับจิตเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า

เรามาเห็นชัด มาเห็นถนัดเอาตอนนั่งสมาธินี่แหละ ว่า

ความคิด เป็นของภายนอก เป็นภาวะภายนอก

ไม่ใช่ภาวะเดียวกันกับจิ

 

ความคิดลอยขึ้นมา หรือผุดขึ้นมากระทบจิต 

ถ้าหากว่าจิตไม่มีอาการไหว ไม่มีอาการกระเพื่อม

ในลักษณะที่หลงเข้าไปยึด 

 

ความคิดนั้นเกิดขึ้น แล้วก็หายไปตามสภาวะธรรมดาของมัน

โดยไม่มีความรู้สึกในตัวตนเกิดขึ้น

พูดง่ายๆ ว่าไม่มีสังโยชน์เกิดขึ้น 

 

พระพุทธเจ้าท่านก็ให้พิจารณาว่า

อะไรๆ ที่ผุดขึ้นมาให้รับรู้ได้ด้วยใจ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป 

 

โดยความเป็นส่วนของการพิจารณากายใจ โดยความเป็นอายตนะนี่ พระพุทธเจ้า ก็มุ่งให้มีเป้าหมายนะครับ คือให้กำจัดสังโยชน์นั่นเอง

 

ทีนี้ การกำจัดนี่ไม่ใช่ว่า อยู่ๆไปสั่งให้หายไป

แต่ต้องหายไปด้วยท่าที ด้วยมุมมอง ตามลำดับที่ถูกต้อง

 

มีสมาธิก่อน ไม่มีนิวรณ์แล้ว 

แล้วไปเห็นความคิดผุดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป 

ในที่สุด ใจก็รู้สึกว่า ไม่ใช่หรอก ความคิดนี้ไม่ใช่ตัวเรา 

ตรงนั้นแหละ ที่สังโยชน์เริ่มจะไม่เกิด 

 

และที่จะละเสียได้ ก็เพราะว่าเรามีสติอยู่เนืองๆ

มีสติอยู่เสมอๆ เห็นว่าความคิดที่ลอยมากระทบจิต

เป็นแค่ภาวะชั่วคราว 

ยิ่งมีความสามารถ ที่จะเห็นได้บ่อยขึ้นเท่าไหร่

ยิ่งมีความสามารถ ทำซ้ำๆ ได้ถี่ขึ้นเท่าไหร่ 

อันนั้น ก็จะยิ่งเหมือนกับใบเลื่อยของเรา คมขึ้นๆ และก็เลื่อยโซ่

 

โซ่นี้ ท่านเปรียบเหมือนสังโยชน์ สังโยชน์เปรียบเหมือนโซ่นะ 

 

ยิ่งสติของเราคมขึ้นเท่าไหร่ แล้วไปหั่นๆๆ มากขึ้นเท่าไหร่ ถี่ขึ้นเท่าไหร่

โซ่ก็ยิ่งมีความโน้มเอียงที่จะขาดมากขึ้นเท่านั้น 

ขาดแบบขาดจริง ขาดสูญ นะ อย่างที่ ถ้าหากว่าเป็นพระอรหันต์

ท่านก็บอกว่า จิตของท่าน จิตของพระอรหันต์

พรากจากขันธ์ทั้ง 5 

 

คือแยกกันอยู่ ต่างคนต่างอยู่จริงๆ ไม่เข้ามาปนกันอีกเลย ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ตั้งสติกำหนดนะว่า ความคิดไม่ใช่ฉัน ความคิดไม่ใช่เรา 

แต่จิต จะเห็นอยู่อย่างนั้นเลย เห็นอยู่จะจะเลยว่า ความคิดนี้ ลอยมากระทบแล้วก็หายไป ไม่เห็นจะเป็นตัวตนตรงไหน ไม่เห็นจะให้น่าเกิดความรู้สึกว่า นั่นคือตัวเรา เราคือความคิด 

 

ตัวนี่นะ ที่เรากำลังดำเนินรอย ตามรอยเท้าของเหล่าพระอรหันต์ ก็คือจุดนี้แหละ 

 

ผมจะไม่พูดคนเดียวแล้ว พอเข้าสู่ช่วงถามตอบ เดี๋ยวจะชวนหมอบีมาคุยด้วย 

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับหมอบี ดีใจที่ได้มาคุยกันอีก

 

ขอถามหมอบีก่อน เมื่อครู่นี้ที่ได้นั่งสมาธิร่วมกันไป แล้วก็ได้เจริญสติด้วยกัน หมอบีรู้สึกอย่างไรครับ เทียบกับเมื่อสัปดาห์ก่อน สัปดาห์นี้นั่งรวมกันประมาณพันกว่าคน ตอนนั่งสมาธินะ หมอบีรู้สึกอย่างไรบ้างครับ 

 

หมอบี : ถ้าเทียบกับครั้งที่แล้ว ผมว่าครั้งนี้น่าจะค่อนข้างได้ผลมากกว่า 

 

เนื่องจากว่าช่วงแรก เราได้มีการขยับ ในการทำมือ ใช้มือไปอังในส่วนต่างๆ เป็นการได้ขยับโดยใช้ร่างกายส่วนหนึ่ง เป็นการสร้างสติกับร่างกาย ก็เลยเป็นการทำให้ผ่อนคลาย และเวลาเข้าสมาธิ ก็จะเข้าได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ดังตฤณ : ก็ยืนยัน และตรงกับผลโพลนะ ตอนนี้ ล่าสุด

 

 


 

472 คนบอกว่า ว่างนิ่ง แล้วก็คงที่

508 คนบอกว่า ว่างนิ่ง แต่ไม่คงที่ นั่นก็คือยังรู้สึกถึงความว่างอยู่

ตรงนี้ ประมาณ 77%  รู้สึกถึงความว่าง

 

แล้วความว่างตรงนี้แหละ ที่หมอบีบอกว่าเป็นตัวนำ

เป็นการวอร์มอัพ ให้จิตนี่พร้อมจะเข้าที่ที่จะเป็นสมาธิ อันนี้ดีมากเลย 

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน คลายเครียดใน ๓ นาที

- การพิจารณากายใจโดยความเป็นอายตนะ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=GlJTjr7riE4&t=4s

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น