วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

03 เราจะตั้งจิตมั่น : แอนิเมชันท่าที่ 1 - 3 ใช้ฝ่ามือช่วยไกด์ลมหายใจ

ดังตฤณ : ที่สวดมนต์กันก่อน ก็เพื่อให้จิตมีความนุ่มนวล จิตมีความสว่าง แล้วก็จิตพร้อมที่จะระลึกถึงว่า จิตของพระพุทธเจ้า จิตขององค์ศาสดาของเรา ท่านเป็นอย่างไร

 

ถ้าในขณะนี้ เรารู้สึกถึงความสว่าง ความเบา ในตัวของเราได้ เรามีความสามารถแล้ว ที่จะระลึกว่า

 

จิตของพระพุทธเจ้า จิตของเหล่าพระอรหันต์ ท่านไม่มีความดิ้นรนแล้ว ท่านมีความใส ความเบา ความวาง ความว่าง ในแบบที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรแล้วกับกิเลสแบบโลกๆ

น้อมระลึกถึงว่า จิตของพวกท่านไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความกระสับกระส่าย

 

แค่นั้น จิตของเรา ราวกับว่าได้กลายเป็นพานทองรองรับ กลายเป็นที่ตั้ง  กลายเป็นที่ประดิษฐานของจิตแบบนั้นไปด้วยนะครับ

 

เราจะมาอาศัยมือช่วยไกด์ ในแบบที่จะทำให้เกิดความรับรู้เข้ามาข้างในได้ง่ายขึ้น เดี๋ยวผมโชว์ให้ดูตรงนี้ก่อนเลย แต่ไม่ใช่ให้ทำตามเดี๋ยวนี้นะ เพราะถ้าทำตามเดี๋ยวนี้เลย จะไม่รู้สึก

 

ที่ต้องเอามาโชว์ก่อน เพราะว่าจะได้เป็นการอธิบายให้เข้าใจเบื้องต้น เวลาที่ถึงเวลาจริง หลังจากที่เกิดปีติสุขแล้ว จะได้มาลงที่ท่านี้

 

ผมต้องให้ดูแอนิเมชัน จะได้ชัด .. คือเราจะทำท่าที่สองต่อไป (หมายเหตุ: ท่าฝ่ามือไกด์จากเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564) นะ แต่ว่าแทนที่เราจะวางมือลงกับหน้าตัก เราจะวางมือซ้อนกัน แล้วหายใจต่อ


พอเราวางมือซ้อนกันแล้วหายใจ จะมีความรู้สึกขึ้นมาอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่ .. คุณดูนะ .. จะเป็นสามเหลี่ยม

 

จากกลางทรวงอกของเราเป็นจุดเริ่มต้น

ข้อศอกของเราทั้งสองด้าน เป็นจุดของมุมสามเหลี่ยมอีกสองด้าน

แล้วมาอยู่ที่ตรงกลาง คือฝ่ามือที่ซ้อนกัน

เอามือขวา ซ้อนมือซ้าย (หรือซ้ายซ้อนขวาก็ได้ แล้วแต่ความถนัด)

 

ถ้าคุณผ่าน วิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุข มาได้ แล้วมาทำท่านี้ พอรู้สึกถึงกลางอก รู้สึกถึงข้อศอกทั้งสอง และรู้สึกถึงฝ่ามือที่วางประสานกันอยู่

 

คุณจะสามารถรู้สึกได้ถึงความนิ่ง ตั้งมั่นภายใน ที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับฝ่ามือวางซ้อนกัน

 

จิตภายใน จะเหมือนกับมีความตั้งอยู่ มีที่ตั้ง มีหลัก มีที่ยืนอย่างมั่นคง มีความเสถียร ไม่คลอกแคลก ไม่วอกแวกไปไหน

 

แล้วถ้าหากว่าหายใจ ด้วยอาการรู้สึกถึงความเสถียรภายในกลางอก เหมือนกับที่ฝ่ามือวางซ้อนกัน คุณจะเกิดสมาธิขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ที่รู้เองว่า จิตแบบนี้ .. ใหญ่ขึ้น

 

แล้วยิ่งมีความรู้ลมหายใจชัดขึ้นๆ ด้วยความเสถียรของจิตในแบบนี้ นานขึ้นเท่าไหร่ จิตยิ่งใหญ่ออกไปมากขึ้น .. ยิ่งใหญ่ ยิ่งขยายออกไปมากขึ้นเท่านั้น

 

แล้วพอจิตมีความใหญ่ มีความตั้งมั่น มีความเสถียร คุณรู้เองว่า ลักษณะของจิตรวม .. คืออย่างนี้นี่เอง

 

คือมีความเสถียร ไม่ไปไหน และกระแสของจิต จะมีอาการดูดรวมเข้ามาตรงกลางความรู้สึก ไม่ใช่จี้เข้าไปที่จุดเล็กๆ กลางอก

 

เป็นความรู้สึกเหมือนกันกับ กว้างๆ ที่ตั้งต้นจากกลางอก มาถึงข้อศอก แล้วก็มามีความเสถียร เหมือนกับฝ่ามือที่วางซ้อนกัน

 

ตอนนี้ผมอธิบายให้ฟังก่อนเท่านั้น คือที่ถูกแล้ว เราต้องมี วิตักกะ มีวิจาระ ขึ้นต้นเป็นตัวตั้งให้ได้ก่อน นี่เป็นคำอธิบายที่จะช่วยให้หลายๆ ท่านเข้าใจด้วยว่า เอ๊ะ ทำไมเคยทำได้ ตอนนี้ทำไม่ได้ นั่นก็เพราะว่า คุณไปพยายาม ก๊อปปี้ จิตที่ตั้งมั่น กระโดดข้ามขั้น

 

บางคน ตอนอายุ 20 กว่า ยังหนุ่มยังแน่น ทำได้ถึงฌาน ทำได้ถึงอุปจารสมาธิง่ายๆ เลย เสร็จแล้วก็มีความชะล่าใจในชีวิต ก็กลับมาใช้ชีวิตแบบโลกๆ เต็มที่เต็มพิกัด เสร็จแล้ววันดีคืนดี เบื่อโลก ไม่เห็นมีอะไร ก็ซ้ำไปซ้ำมาอยู่แค่นี้ อยากกลับมาทำสมาธิใหม่

 

ก็ไปนึกถึงเฉพาะตอนที่ตัวเองเคยเข้าฌานได้ หรือว่ามีความตั้งมั่นของจิต แบบที่ตัวเองยังติดอยู่ในใจว่า เราเคยทำได้ขั้นนี้ ก็เลยไปกระโดดข้ามขั้น ด้วยภวตัณหา อยากจะมีสมาธิแบบเดิมๆ

 

พอนั่งหลับตาปุ๊บ ไม่ได้พยายามนับหนึ่งใหม่ แต่นึกด้วยความเข้าใจผิดว่า เคยทำได้ถึงขั้นนั้น ตอนนี้ มานึกอีกก็ต้องทำได้อีก

 

หรือ ไม่ต้องเอาแบบตัวอย่างนี้ เอาแค่ว่าบางคน บางวัน ฟลุ้ค จิตมีความวิเวก หรือสิ่งที่เรียกว่า จิตตวิเวก ไม่อยากเอาอะไรในโลก ไม่อยากได้อะไรให้ตัวเอง แล้วมานั่งดูลมหายใจไป ดูไปดูมา ได้เหตุปัจจัยที่ดี มีการขึ้นต้นมาจากจิตตวิเวก แล้วก็รู้ลมไปโดยไม่คาดหวังอะไร ก็จับพลัดจับผลู ได้สมาธิ เข้าสมาธิได้ขึ้นมา

 

เสร็จแล้วได้วันนี้ วันรุ่งขึ้น แทนที่จะตั้งต้นด้วย จิตตวิเวก .. ไม่ใช่

 

ไปตั้งต้นด้วยความอยาก ด้วย ภวตัณหา อยากจะได้อยากจะดี อยากจะมีอยากจะเป็น เหมือนเมื่อวาน ไปนึกถึงจิตทันที กระโดดข้ามขั้น .. ตกม้าตายตั้งแต่เริ่ม

 

พอยิ่งเราไปนึกถึงผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นเท่าไหร่ ด้วยใจที่มีตัณหา ด้วยภวตัณหา อยากได้อยากดี .. ก็ยิ่งเป็นการทำให้จิตมีความดิ้นรน มีความอยาก มีความยึด มีความกระสับกระส่าย เลยเข้าสมาธิไม่ได้สักที

 

บางคน ติดอยู่กับอาการ พยายามก๊อปปี้ของเดิมเป็นสิบปี แล้วไม่ได้ผลอะไรขึ้นมาเลย จนกระทั่งท้อ แล้วก็บางคนก็เลิกทำสมาธิไปเลยตลอดชีวิต เพราะเคยทำได้ แล้วกลายเป็นทำไม่ได้ เลยมีความรู้สึกไม่นับถือตัวเอง ไม่รู้สึกดีกับตัวเอง

 

เรื่องสูงๆ เป็นแบบนี้ .. ของสูงนี่ เข้าถึงได้ แบบจับพลัดจับผลู แต่ไม่รู้ทางที่จะเข้าถึงอีก

 

คราวนี้เราเลยมาทำกันแบบเป็นขั้นเป็นตอน คราวนี้คุณเห็นความสำคัญหรือยังว่า ทำไมเราต้องมาทำความเข้าใจกับองค์ของฌาน ทั้งห้า คือ วิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุข

 

วิตักกะ คือ นึกถึงลมหายใจ

วิจาระ คือ มีจิตเป็นสมาธิแนบไปกับลมหายใจ

 

คือคุณจะเห็นลมหายใจเป็นสายขึ้นมา หรืออย่างน้อยที่สุด แม้จะไม่เห็นเป็นนิมิตว่าเป็นสาย ก็จะรู้สึกชัดอย่างต่อเนื่อง และถ้าหากว่าคุณมีความรู้สึกชัด อย่างต่อเนื่องตอนหลับตา รู้สึกถึงลมหายใจ ในที่สุดลมหายใจต้องปรากฏเป็นนิมิตแน่ๆ ขอแค่รู้ได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะใช้อุบายประมาณไหนก็ตาม

 

เรื่องนี้ต้องอธิบาย ไม่อธิบายไม่ได้ หลายคนบอกว่า ให้เริ่ม (ทำสมาธิ) เลย .. ประเภทให้เริ่มเลย มักจะไม่ได้เลยสักที เพราะไม่เข้าใจ .. สมาธิต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ลูกทุ่ง จะลุยท่าเดียวนะ

 

เอาล่ะ มาเริ่มกัน ขึ้นต้นมา เริ่มจากคอตั้งหลังตรงก่อน รู้เท้าว่าวางราบอยู่กับพื้น ถ้าคุณสามารถรู้ว่าเกร็ง แล้วคลายได้ ก็จะเบา

 

จากนั้น ก็ดูต่อมาว่าฝ่ามือ เกร็งอยู่ไหม ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่า ฝ่ามือวางนิ่งอยู่กับหน้าตักได้แบบสบายๆ เป็นการวางราบ ก็จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาเช่นกัน

 

พอมือกับเท้ามีความวาง ความว่าง ความสบาย ความผ่อนคลายของกล้ามเนื้อได้ พื้นจิตพื้นใจของคุณ ก็จะสบายตามไปด้วย



คราวนี้เรามาดู อย่างที่เคยฝึกกันมา เริ่มต้น เราเอามือช้อนขึ้นมานะครับ เหมือนกับให้สร้างความสัมพันธ์ ระหว่างฝ่ามือกับลมหายใจ โดยการที่ เรายกฝ่ามือขึ้นมา วางหงายขึ้นมาที่บริเวณสะดือ แล้วทำเหมือนกับดันลมเข้า

 

ภายในแค่ 2 – 3 ครั้ง คุณจะรู้สึกเลยว่า พอฝ่ามือดันขึ้น จะมีความสัมพันธ์กับลมหายใจ จะผูกกับลมหายใจขึ้นมาเอง เหมือนกับมือมีส่วนร่วม ในการช่วยให้ลมหายใจ ถูกผลักดันเข้าสู่ร่างกายจริงๆ

 

จากสถิติที่ได้ทำโพลล์กันมา ผมจะให้พวกคุณทำตามอย่างนี้เลย ทำตามที่เห็นในภาพ จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ ให้เวลาประมาณ 5 นาที นะครับ เอาแค่วิตักกะ และ วิจาระ อย่างเดียวเลย

 

เพราะถ้า วิตักกะ และ วิจาระ เกิดขึ้นจริง ขั้นต่อไปคือ ปีติ และ สุข ตามมาไม่ยาก

 

แต่ถ้าหาก วิตักกะ และ วิจาระ ยังไม่ชัด ก็จะเหมือนกับหลายๆ ท่าน ที่ทำโพลล์เมื่อคราวที่แล้ว ที่รู้สึกว่า ไปต่อไม่ได้

 

(ทำสมาธิโดยการใช้ฝ่ามือไกด์ ท่าที่ 1 เพื่อให้เกิด วิตักกะ และ วิจาระ)

 

(ท่าที่ 1)







พอเรามาถึงตรงจุดที่ วิตักกะ กับ วิจาระ เกิดขึ้นแน่ๆ แล้ว

 

เอาแค่ วิตักกะ อย่างเดียวก็พอ ตอนนี้ ถ้าคุณรู้สึกได้ว่าสามารถจะรู้สึกถึงลมหายใจได้ง่ายๆ เป็นลมหายใจที่มีความคงเส้นคงวา เป็นสติที่รู้ลมหายใจได้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือ วิตักกะ เกิดขึ้นแน่นอน

 

ส่วนวิจาระ จะเกิด หรือไม่เกิด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก เพราะว่า พอวิตักกะเกิดไปเรื่อยๆ ในที่สุด วิจาระ ต้องตามมา

 

วิจาระคืออะไร คือรู้สึกว่า เหลือแต่ลมหายใจอย่างเดียว ที่ใจนี่ โฟกัสอยู่ .. ข้อนี้สำคัญนะ

 

ย้ำอีกทีว่า พอจังหวะที่วางมือลงมานี่นะ ขอให้รับรู้นะครับว่า มือวางอยู่นิ่งๆ ตัวก็นิ่งตามมือนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน แล้วจังหวะของฝ่ามือ จะกลายเป็นตัวนำลมหายใจ

 

คือมือ จะเหมือนมีความเข้าใจว่า ควรจะพักลมหายใจนานแค่ไหน ควรจะดึงลมหายใจเข้ายาวเท่าไหร่ ควรจะไปเก็บอยู่ในปอดเต็มๆ นานเพียงใดนะครับ แล้วก็ถึงเอามือลงมา

 

จะรู้ของมันโดยที่เป็นจังหวะจะโคน แล้วมีสติตาม ทั้งลมหายใจและฝ่ามือไปพร้อมๆ กัน

 

คราวนี้ ถึงจุดที่วิตักกะ และ วิจาระ น่าจะเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต่อยอดด้วยการหายใจในแบบที่คาดหวังได้ว่า จะเกิดความรู้สึกสบายเนื้อสบายตัว แล้วก็จิตมีความวิเวก

 

จิตมีความวิเวก ก็คือจิตไม่ดิ้นรน ไม่เอาอะไรแล้ว แล้วก็จะเกิดปีติ และสุข อันเกิดจากวิเวกนั่นเอง

 

ทำอย่างไร .. ก็คือสำหรับคนที่ยังอาจไม่เคยดูท่าที่สองนี่มาก่อน เรามาดูไปพร้อมๆ กัน


(ท่าที่ 2)


เรายกมือทั้งสองขึ้นพร้อมกัน มาตั้งไว้ที่ตรงบริเวณท้องน้อย หรือตรงสะดือนะครับ แล้วก็ลากขึ้นมาตรงๆ ถึงอก

 

ตอนระหว่างลากฝ่ามือทั้งสองขึ้นมา ก็ให้ท้องป่องตาม เหมือนกับ ฝ่ามือที่ยกขึ้น เป็นตัวสูบลม ให้ท้องป่องขึ้นมา เหมือนกับท้องเป็นลูกโป่งที่เราสูบลมเข้า แล้วมันป่องออกมา



พอป่องออกมาได้ รู้สึกว่าลมหายใจอัดเข้าไปเต็มอก ก็ยกฝ่ามือขึ้น วาดเป็นครึ่งวงกลม อย่างนี้ จะมีธรรมชาติของลมหายใจอัดเข้าไปสุดปอด

 

ใครก็ตาม ที่อาจเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจไม่เต็มปอด ไม่เต็มที่ คุณจะรู้สึกว่า ด้วยท่านี้ จะช่วยให้ลมหายใจลงไปสุดปอด แล้วก็มีความรู้สึกผ่อนคลาย มีความรู้สึกสบายขึ้นมา

 

ในท่านี้ แต่ละคนมีจังหวะช้าเร็วไม่เท่ากัน ฝ่ามือจะช่วยไกด์คุณเองนะ ขอให้ดูตามภาพเคลื่อนไหวไป

 

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ เอาตามนี้เลย คือยกฝ่ามือขึ้นมาจากท่าวางราบบนหน้าตัก เอานิ้วกลางชนกัน ที่บริเวณสะดือนะครับ หงายมือขึ้นมา แล้วลากขึ้นมาตรงๆ ถึงช่วงอก โดยให้ท้องป่องขึ้น เหมือนกับมือที่ลากขึ้น ทำให้ท้องป่องขึ้น

 

ครั้งแรกๆ อาจยังสับสน แต่พอทำไปๆ แล้วจับจังหวะถูก จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาเอง คุณไม่ต้องมีจังหวะเป๊ะๆ ตามภาพเคลื่อนไหวนี้ เอาตามจังหวะของคุณ ขอให้เกิดความเข้าใจก็แล้วกันว่า จะให้มีอาการอย่างไร

 

จังหวะที่เราลากขึ้น จะเห็นท้องป่อง ให้เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติของกาย ของคุณเองนะ จะหลับตาหรือลืมตาก็ตาม

 

ผมจะให้เวลาสิบนาทีนะครับ พอหลังจากสิบนาที เราจะมาต่อกันด้วยการรู้ความตั้งมั่นของจิตกัน

 

พอวางฝ่ามือ อย่าลืมนะ ให้ทำความรู้สึกถึงฝ่ามือที่วางสบาย นิ่งๆ อยู่บนหน้าตัก แล้วเวลาวาดฝ่ามือ ถ้าหลับตาอยู่ เราจะเห็นนะว่าฝ่ามือที่วาดออกไป จะทำให้จิตรับรู้ถึงทิศทางและตำแหน่ง พื้นที่ว่างข้างตัวได้ด้วย

 

มีความสัมพันธ์กันอยู่นะ

 

จิตของคุณจะเปิดกว้างขึ้น เมื่อสามารถ รับรู้ รู้สึกถึงพื้นที่ว่างรอบตัวได้ นี่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของจิตนะ

 

(ทำสมาธิโดยใช้ฝ่ามือไกด์ร่วมกัน ท่าที่ 2)

 

เมื่อมาถึงตรงนี้ เรามีความรู้สึกว่าร่างกาย เริ่มที่จะหายใจอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นไปเอง ตามจังหวะจะโคนที่เราได้ฝึกมา ยิ่งช้าเท่าไหร่ ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ยิ่งมีความรู้สึกว่า ลมหายใจเป็นของนุ่มนวล ลมหายใจเป็นของยืดยาว ลมหายใจนำมาซึ่งความรู้สึกผ่อนคลาย สบายทั้งตัว

 

แล้วก็จิตถ้าหากว่า มีความพอใจอยู่แค่นี้ ก็ไม่ดิ้นรนไปไหน ไม่อยากได้อะไรมากไปกว่าการหายใจ ที่ให้ความรู้สึกดีกับชีวิต เหมือนกับดอกไม้ที่ได้น้ำ แล้วมีความสดใส ชุ่มชื่นเบิกบาน

 

อันนี้เป็นธรรมชาติธรรมดา


(ท่าที่ 3)

คราวนี้เรามาต่อด้วยท่าสุดท้ายของคืนนี้นะครับ เราจะให้การวาดมือลงมาในครั้งต่อไปของเรา .. วาดมือเหมือนเดิม พอลงมา แทนที่จะเอาลงมาอยู่ที่หน้าตัก เราเอามือขวามาซ้อนมือซ้าย ทำความรู้สึกที่กลางอก แล้วก็ข้อศอกทั้งสอง แล้วมาอยู่ตรงกลางที่ฝ่ามือซ้อนกัน ให้ความรู้สึกว่านิ่ง ตั้งมั่นคงที่

 

เอาความรู้สึกเดียวกันทั้งหมด ตั้งแต่สามเหลี่ยมกลางอก ข้อศอก และฝ่ามือที่วางประสานกัน ขนานกับพื้น ให้เป็นความรู้สึกเดียวกัน กับกลางอกภายในที่มีความเสถียร ไม่เคลื่อนไหว ไม่คลอกแคลก ไม่โคลงเคลง

 

แล้วก็หายใจด้วยความรู้สึกว่า จิตของเรา ความรับรู้ของเรา มีความเสถียร มีความตั้งมั่น มีความคงเส้นคงวาอยู่

 

อันนี้มีความสำคัญนะ ไม่ใช่แค่เอาความรู้สึกไปไว้ที่ฝ่ามือนะ แต่ต้องทำความรู้สึกถึงตัวตั้ง .. ท่านั่งคอตั้งหลังตรง .. แล้วก็ความรู้สึกที่มีอยู่กลางตัวนะครับ ไปถึงข้อศอกทั้งสอง แล้วก็มาประสานกันที่ฝ่ามือที่นิ่งๆ อยู่

 

ถ้าคุณรู้สึกถึงจิตภายในที่มีความรับรู้คงเส้นคงวา มีความเสถียร ไม่ต่างกับฝ่ามือที่ซ้อนกันอยู่ อันนั้นถือว่าใช้ได้

 

ถ้าเมื่อยมือก็เอามือลงได้นะ แต่ถ้ายังไม่เมื่อยก็ ตั้งมือไกด์ไว้เป็นตัวอย่าง เทียบเคียง ให้เห็นว่าจิตของเรา ซึ่งอยู่ใจกลางตรงใจกลางความรู้สึก ก็มีความเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

 

มีการเหมือนกับ วางจิตไว้อยู่ที่ฐาน ซึ่งมีความราบเรียบ มีความเสถียร มีความคงที่ แล้วก็รู้ลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก ผ่านเข้าผ่านออก ด้วยจิตที่มีความตั้งมั่นคงที่อยู่อย่างนั้นแหละ

_________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เราจะตั้งจิตมั่น

- แอนิเมชันใช้ฝ่ามือไกด์ท่าที่ 1 – 3 และนั่งสมาธิร่วมกัน

วันที่ 14 สิงหาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=NaRrMEWrb78

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น