วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

04 เราจะตั้งจิตมั่น : รวมฟีดแบ็ค

ดังตฤณ : คืนนี้ ก็ให้รู้จักตัวอย่างของจิตที่ตั้งมั่น เอาแค่แบบพอเข้าใจนะ คือพอเรามีวิตักกะ วิจาระ และมีปีติ มีสุขได้ แล้วอาศัยมือช่วยไกด์อีกในขั้นสุดท้าย เพื่อให้รู้ว่า ลักษณะของจิตที่มีความตั้งมั่น จะประมาณนี้ 

 

ช่วยทำโพลนิดหนึ่งนะครับ ขอสำรวจเพื่อที่จะได้ทราบว่า ที่ทำกันไปนั้นได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไรนะ

 

คำถามง่ายๆเลย

 

รู้สึกถึงจิตที่ตั้งมั่น รู้สึกถึงความรับรู้ภายใน ที่อยู่ตรงกลาง

ที่ไม่เคลื่อนไหวไม่คลอกแคลก ไม่โคลงเคลงไหม?

รู้สึก / ไม่รู้สึก

 

ที่เราทำกันมานี่ตรงกับอานาปานสติเป๊ะเลยนะครับ เป็นขั้นเป็นตอน

 

อย่างหมวดกาย พระพุทธเจ้าให้เข้าที่วิเวกนะครับ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

ตรงนี้ เราใช้มือช่วยไกด์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นนะครับ แบบทีละซีก ขวาที ซ้ายที

 

จากนั้น ก็มาต่อด้วยหมวดเวทนา คือพอเราหายใจด้วยหน้าท้องเป็น ด้วยด้วยการพองทองออก จะมีความผ่อนคลายสบายขึ้นมาในที่สุดแน่ๆ

 

รู้สึกถึงปีติ รู้สึกถึงสุข

 

ปีติ คือความชุ่มฉ่ำ 

ปีติ คือความรู้สึกสดชื่น

ปีติ คือความรู้สึกเย็นทั่ว

สุข คือ ความผ่อนคลายเนื้อตัว ผ่อนคลายสบายใจ

 

เสร็จแล้วมาหมวดจิต

พระพุทธเจ้าท่านใช้คำอย่างนี้เลยนะว่า

เราจักตั้งจิตมั่น ขณะกำลังหายใจออก

เราจักตั้งจิตมั่น ขณะกำลังหายใจเข้า

 

ก็คือทำจิต ให้มีความร่าเริง ทำจิต ให้มีความมั่นคงนะ 

 

ผลโพลล์ออกมาแล้วเกินคาด นึกไม่ถึงว่าจะได้เยอะขนาดนี้นะครับ

รู้สึก : 90%

ไม่รู้สึก : 10%

 

ถือว่าผิดจากที่คาด เพราะตอนแรกนึกว่าไม่น่าจะเกินสัก 75%

แสดงว่า ช่วงเวลามีผลจริงๆ อย่างคราวที่แล้ว ให้เวลาน้อยเกินไป ในการสร้าง วิตักกะ และ วิจาระ ทำไม่ถึง 1 นาที

 

แต่วันนี้ให้เวลา 5 นาที แล้วก็สำหรับปีติสุข ให้เวลา 10 นาทีนะครับ

 

คุณจำเอาไปใช้ด้วยนะ เอาแบบเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ แล้วแต่ว่าวันไหนจะมีเหตุปัจจัยอย่างไรด้วยนะครับ สังเกตด้วยว่า วิตักกะ วิจาระ เกิดขึ้นก็คือลมหายใจชัด พอลมหายใจชัด คุณค่อยเปลี่ยนเป็นท่าที่สอง เพื่อที่จะบันดาล ปีติ บันดาลสุขให้เกิดขึ้นง่ายๆ  

 

จากนั้น พอมีปีติ มีสุขแน่นอนแล้ว ก็มาทำท่าที่ 3 เพื่อที่จะสังเกตเข้าไปที่จิต พอมีความรับรู้ลมหายใจ มีความรับรู้ปีติสุข แล้วก็มีความรับรู้จิตที่ตั้งมั่นได้ จนเกิดความเชี่ยวชาญ เกิดความเคยชินขึ้นใจ คุณไม่ต้องใช้ท่าประกอบก็ได้

 

แต่ถ้าเมื่อไร วันไหนมีความฟุ้งซ่าน รู้สึกว่าไม่สามารถเข้าที่เข้าทางได้ด้วยการรู้ลมหายใจตามลำพัง ก็ใช้มือไกด์นะ

 

ช่วงแรกๆ ถ้าใครทำบ่อยๆ เหมือนกับทั้งวันทั้งคืนนี่ เข้าสมาธิได้ง่ายๆ   โดยไม่มีความอึดอัด ไม่มีความลำบากอย่างที่ผ่านๆ มา คุณจะติดใจ ในการทำสมาธิ

 

และถึงตรงนี้นะ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต ในอานาปานสติ ยังเป็นขั้นของการทำสมถะล้วนๆอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา ยังไม่ได้ยกขึ้นวิปัสสนา

แต่ถ้าคุณมีทุน คือตามรู้อยู่ก่อนว่า เราจะสังเกตเห็น กายนี้ไม่เที่ยง ลมหายใจไม่เที่ยง 

 

คุณจะสามารถบอกตัวเองได้ ณ ขณะอยู่ในสมาธิเลยว่า ตอนไหน จังหวะใด ที่จิตของคุณมีความพร้อมจะรู้แบบวิปัสสนาแล้ว อย่างเมื่อกี้ 90% สามารถบอกได้ด้วยตัวเองเลยว่า เรานั่งรู้ลมหายใจอยู่ มีความเบิกบานอยู่

 

ความเบิกบานที่เกิดขึ้นนี่ นำมาสู่การรู้เนื้อรู้ตัวว่า กำลังอยู่ในท่านั่งแบบไหน กำลังเคลื่อนไหวมืออย่างไร

 

แล้วจะรู้สึกด้วยว่า ร่างกายที่ถูกรู้นั้น ดูมีค่าน้อยลง ดูมีความเป็นตัวเป็นตนของเราน้อยลง รู้สึกเป็นของอื่น รู้สึกว่าเป็นหุ่นที่ถูกดูอยู่

 

ตรงนั้น จังหวะนั้นแหละ ที่คุณพร้อมจะขึ้นต้นวิปัสสนาแล้ว

 

เดี๋ยวสัปดาห์ต่อๆ ไป เราจะมาขยายความกันเรื่องวิปัสสนา มีความพิสดารละเอียดยิบย่อย 

 

แต่ถ้าคืนนี้ 90% บอกว่าทำได้ สามารถรู้สึกถึงจิตที่ตั้งมั่นได้ คุณต่อยอดเป็นอะไรต่อก็ได้ ไม่ว่าจะกรรมฐานไหน เอากันแค่นี้ อานาปานสติ .. รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต 

พอรู้เบสิค 3 ข้อนี้ 3 ขั้นตอนนี้แล้ว ขั้นต่อไปคือหมวดธรรม

 

หมวดธรรมะ ภาวะขึ้นต้นคือไม่มีนิวรณ์

จิตมีความปลอดโปร่งปราศจากนิวรณ์ มีสมาธิมีโฟกัสดี เราสามารถเห็นสภาวะทางกายนี้โดยความเป็นขันธ์ 5 ได้ทันที 

ขันธ์ 5 รู้ไปเพื่อที่จะรู้อนิจลักษณะ มีอนิจสัญญา ที่เป็นเป้าหมาย 

 

จากนั้น จะลืมตา จะเงี่ยหูฟังอะไร ถ้ายังมีสมาธิอยู่ ไม่มีนิวรณ์ จะสามารถเห็นได้เลยว่า ตาไปประจวบกับรูปแบบไหน แล้วเกิดอาการยึด เกิดอาการอยาก เป็นปฏิกิริยาขึ้นมาในใจ เราจะเห็นว่าอาการยึดอาการอยากนั้น ก็สามารถหายไปได้ง่ายๆ ถ้าเรามีสติรู้ว่า นั่นสักแต่เป็นอาการที่ตาประจวบกับรูป แล้วเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา .. นี่เข้า อายตนบรรพ

 

แล้ว พอรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตารู้รูป หูรู้เสียง จมูกรู้กลิ่น หรือแม้กระทั่งใจรู้ความคิดว่ามากระทบใจ แล้วเห็นปฏิกิริยาว่า นี่ยึด นี่ยึด นี่ยึด .. ยึดไปทำไมเปล่าประโยชน์แท้ๆ

 

พอใจคายออก คืนออก ไม่ยอมยึด

เห็น สักแต่เห็น ได้ยิน สักแต่ได้ยิน คิด สักแต่ว่าคิด

ไม่ยึดมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตน 

 

ตัวนี้แหละ สภาวะทางใจ สภาวะการรู้ ที่พร้อมจะตื่น พร้อมจะเบิกบาน พร้อมจะรู้ซึ้ง รู้ชัดว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนหรอก

 

อนัตตา ปรากฏอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราแค่ไม่มีจิตที่มีความสามารถไปเห็นอนัตตาเท่านั้น

 

พอจิตมีความสามารถที่จะเห็นอนัตตาได้เรื่อยๆ อันนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอนัตตสัญญา ซึ่งเป็นเป้าหมายของการทำอายตนบรรพ

 

พอใจว่าง พอใจโล่งอยู่เรื่อยๆ เกิดความพร้อมจะบรรลุธรรมขึ้นมา ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นขั้นเป็นตอนถัดจากนั้น ในเรื่องของ โพชฌงค์

 

มี สติสัมโพชฌงค์ ขึ้นมา คือมีความเป็นอัตโนมัติ รู้กายรู้ใจ โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ไม่เที่ยง แล้วก็มีความพร้อมที่จะพิจารณาธรรม 

 

แล้วก็จะมีวิริยะ มีปัสสัทธิ มีสมาธิ มีอุเบกขาอะไรตามมานะครับ ตรงนั้น ก็จะเป็นความพร้อม

 

ตัวอุเบกขา สำคัญอย่างยิ่งยวดกับการที่ว่าใครมีสิทธิ์บรรลุหรือไม่บรรลุ 

 

ตัวอุเบกขา หรือที่พูดกันเป็นขั้นตอนของญาณ ท่านเรียกว่าเป็นสังขารุเปกขาญาณอีกนิดเดียว จะข้ามโคตรจาก ปุถุชน เป็นอริยบุคคลใด้

 

แค่เรามีพื้นฐาน คือทำอานาปานาสติมาดีนี่นะ แค่เรามีพื้นฐานอานาปานสติมาดีได้ จะถึงตรงนั้นได้เลย ถึงตรงที่เป็นโพชฌงค์

 

คำว่าโพชฌงค์ ต่อไปนะ ถ้าได้ยินคำนี้ คุณจะนึกถึงจิตที่ว่าง 

เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน คิดสักแต่ว่าคิด

แต่ใจไม่มีปฏิกิริยาไปยึด ไม่มีสังโยชน์เกิดขึ้น 

ใจที่ว่าง ใจที่สักแต่เห็น สักแต่ได้ยิน สักแต่คิด 

คือใจที่พร้อมบรรลุธรรม

 

 

(เข้าสู่ช่วงฟีดแบ็ค)

 

- ท่านี้ สบายเบาค่ะ

 

- รู้สึกชัดมากเลยค่ะ ขอบพระคุณมากนะคะ

ดังตฤณ : จริงๆ ผมนึกไม่ถึงนะว่าจะเยอะขนาดนี้ 90% นี่ผิดคาด

 

คราวที่แล้ว ผิดคาดตรงที่ต่ำกว่าที่คาดไว้นิดหนึ่ง นึกว่าสัก 20% อะไรแบบนี้ ที่ได้บอกว่ามีปีติมาก แต่ได้ 9% จริงๆ ก็น่าพอใจมากเหมือนกันเพราะว่าที่จะทำได้ภายใน 5 นาทีมีปีติมากนี่ ก็ยาก เป็นไปได้ยากมาก

 

- รู้สึกถึงจิตที่ตั้งมั่น แต่หนักๆ ค่ะ ไม่โปร่ง

ดังตฤณ :ไม่เป็นไร อันนี้ดีแล้วที่พูด ที่มีประเด็นนี้ขึ้นมา

 

ที่หนัก คุณสังเกตว่าหนักที่ไหน ถ้าเป็นที่กายนะครับ แนะนำให้เชิดคางนิดหนึ่ง นั่งคอตั้งหลังตรง รู้สึกถึงความปลอดโปร่งของกายเป็นตัวตั้ง อย่างที่ผมเน้นว่า ขึ้นต้นมาควรจะรู้สึกถึงเท้า รู้สึกถึงมือ

 

จุดนี้สำคัญมากเลย ถ้าเราตั้งต้นมา คอตั้งหลังตรง รู้สึกถึงเท้าแล้วเบาขึ้นมาได้นะ แล้วก็ไล่ขึ้นมาถึงฝ่ามือนะครับ ที่มีความเบา ที่มีความวางอยู่ โดยไม่มีอาการเกร็งนี่ พอเบาทั้งมือทั้งเท้าขึ้นมาได้ โดยที่คอตั้งหลังตรงอยู่คุณจะรู้สึกว่าฐานของสมาธิอย่างคุณมีความเบา มีความสบายนะ

 

ถ้าหากว่า ไปลองดูซ้ำๆ แล้วพบว่า จิตมีความตั้งมั่นด้วย มีความเบาเนื้อเบาตัวด้วย นั่นแสดงว่า คุณอยู่ถูกทิศถูกทาง จิตของคุณอยู่ถูกทิศถูกทางนะครับ แล้วก็จะค่อยๆมีกำลังมากขึ้นๆ จิตใจจะใหญ่มากขึ้น แล้วก็ในที่สุดรวมลง

 

ตอนแรก รวมลงเป็นแบบอุปจารสมาธิก่อนนะ ไม่ค่อยมีหรอกที่ใครจะกระโดดข้ามขั้นไปถึงปฐมฌาณได้ 

 

ตอนถึงอุปจารสมาธินี่ จิตจะมีความแผ่กว้าง มีความรู้สึกเย็นวิเวก ความวิเวกนั้นเอง จะบันดาลให้เกิดปีติ มีความสุขขึ้น เพราะร่างกายจะหลั่งสารดีๆออกมาแน่นอน

 

หลังจากที่ จิตใจคุณเลิกยุ่งเหยิง สมองส่วนหน้าพักเต็มที่ไป สมองครึ่งหลังนี่ทำงานดีๆ แทนนะ จะรู้สึกเบาทั้งตัวแน่นอนนะครับ 

 

- รู้สึกมีความนิ่งว่างที่กลางอก ที่เฝ้าดูร่างกายหายใจ

ดังตฤณ :นี่แหละ อย่างนี้แหละ ที่เป็นภาวะของจุดเริ่มต้นของสมาธิ ที่จะมีความตั้งมั่นยิ่งๆ ขึ้นไป  

 

- วันนี้รู้สึกเบาสบาย หายใจลึกเต็มปอดมากกว่าเสาร์ที่แล้วค่ะ

ดังตฤณ : คือเสาร์ที่แล้วผมให้เวลาน้อยนิดหนึ่ง น้อยไป เพราะอยากจะให้รายการกระชับ คราวนี้คุณเข้าใจหรือยังว่าผลโพลสำคัญขนาดไหน คุณตอบกันมาตามจริงนี่ดีมากเลย เพราะว่าจะได้ทำให้ผมดำเนินรายการไปได้ด้วยจังหวะจะโคนของคนส่วนใหญ่นะครับ

 

- รู้สึกเป็นสี่เหลี่ยมอยู่กลางอกค่ะ

ดังตฤณ :ถ้ารู้สึกเป็นสี่เหลี่ยม ต่อไปค่อยๆ สังเกต ไม่ต้องไปตั้งใจทำให้เปลี่ยนแปลงหรืออะไร แต่สังเกตว่าเป็นสี่เหลี่ยมไปเรื่อยๆ หรือเปล่านะครับ

 

จริงๆแล้ว จะพูดต่อไปนี้ฟังดีๆ นะผมไม่ได้จะพูดให้คุณตั้งใจทำให้เกิดขึ้นนะครับ ขอให้สังเกตแค่นั้น สังเกตเฉยๆ ทำทุกอย่างเหมือนกับคืนนี้ที่เราทำด้วยกัน 

แต่ว่าสังเกต ว่าสี่เหลี่ยมนั้น ค่อยๆถูกลบเหลี่ยมออกไปไหม 

ถ้าเหลี่ยมถูกลบออกไปเอง โดยที่ไม่ตั้งใจ นั่นคือแสดงความไม่เที่ยงของการปรุงแต่งของจิตชนิดหนึ่ง

 

แล้วถ้าหากว่าใจ ค่อยๆ แผ่ ค่อยๆ เปิดออกไป มีความสบายมากขึ้นๆๆ คุณสังเกตเถอะว่า เหลี่ยมจะถูกลบออกไปหมด

สังเกตเฉยๆ นะจำไว้นะ ห้ามไปพยายามปรุงแต่งขึ้นมานะครับ แค่สังเกตเฉยๆ ถ้าหากเหลี่ยมถูกลบออกหมดนี่ ใจจะเปิดกว้าง จะรู้สึกเป็นโพรงว่างออกมา

 

ตอนแรกๆ มีรัศมีประมาณหนึ่งนะ ประมาณแค่รอบตัว แต่ต่อไปจะขยายออก โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้ขยายนะ แต่จะขยายเองตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของจิตที่มีความเป็นสมาธินะ แล้วจะออกไปกว้างขึ้นๆ ตามแต่กำลังของจิตที่มีอยู่ ยิ่งมีสมาธิมาก ยิ่งเปิดยิ่งแผ่กว้างมากนะครับ 

แค่สังเกตเฉยๆนะ

 

- ดีมากค่ะ รู้สึกว่าช่วยจิตให้มีฐานอยู่

ดังตฤณ : มีที่ตั้ง คือปกตินี่ คนแม้ว่าจิตของเราจะไว แค่จะสังเกตลมหายใจยังยากเลย ว่าลมหายใจไปถึงไหนแล้ว

 

พอมาใช้มือไกด์ มือของเราเป็นรูปธรรมจับต้องง่าย ตามรู้ได้ง่าย ก็เลยอะไรๆ ดูง่ายไป แล้วพอเรื่องของจิตนี่ ก็ไม่รู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน ถามกันอยู่เรื่อยเลยว่าจิต จะสังเกตได้อย่างไร จิตอยู่ตรงไหน คราวนี้มาใช้มือช่วยเลย

 

แต่จำไว้นะครับ ไม่ใช่ว่าเราทำความรู้สึกที่ฝ่ามือซ้อนฝ่ามืออย่างเดียว แต่ต้องรู้สึกถึงกลางอก แล้วก็ข้อศอกทั้งสอง ให้เป็น 3 เหลี่ยมมาบรรจบกันที่ฝ่ามือที่ซ้อนกัน ถึงจะรู้สึกเข้ามาข้างใน ว่าภาวะของใจนี่กำลังเป็นอย่างไรอยู่ๆ คลอกแคลกโคลงเคลง หรือว่ามีความตั้ง เหมือนกับจิตได้ที่ได้ฐานในการวางนะให้อยู่กับที่

 

มือซ้ายเปรียบเหมือนกับฐาน มือขวาเปรียบเหมือนกับจิต ที่มาได้ที่ตั้งอยู่นะครับ 

 

- ทำแบบนี้รู้สึกนิ่ง สบาย หายใจได้ยาว สม่ำเสมอดีค่ะ

ดังตฤณ :นี่แหละแล้วคุณจะพบว่า ยิ่งหายใจสม่ำเสมอมากขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตคุณยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น 

 

รู้สึกถึงลมหายใจทั่วร่างกาย เห็นลมเข้าลมออก แต่แอบเหนื่อยค่ะ

ดังตฤณ : ตอนแรกๆ พอยังไม่คุ้น ยังไม่ขึ้นใจ แล้วก็ยังไม่เป็นอัตโนมัติ จะรู้สึกเพลียๆหน่อยนะครับ บางทีอาจหลับผลอยไปแล้ว ก็รู้สึกว่าได้พักผ่อนเต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมาสดชื่นอะไรแบบนั้น

 

แต่พอเรามีความคุ้นเคย ไม่เมื่อยแล้ว ก็รู้สึกดีรู้สึกชุ่มชื่นมากขึ้นๆ เป็นอัตโนมัติมากขึ้นนี่ นอกจากจะไม่เหนื่อย .. ต่อให้คุณเหนื่อยแฮกมาจากไหนก็ตาม จะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง หลังจากที่ได้เอาลมเข้าปอดเต็มที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 นาทีต่อเนื่องนะ

 

- ลมละเอียด หายใจเบา

ดังตฤณ : ถ้ารู้สึกถึงลมละเอียดแล้วก็หายใจเบาได้นะ สังเกตดูด้วยจะมีความยาวมากขึ้น ถ้ามีความยาวมากขึ้น นั่นเป็นนิมิตหมาย นั่นเป็นสัญญาณบอกนะว่า จิตของคุณมีความประณีต ใกล้เข้าสู่ภาวะที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีความประณีต 

 

- ตอนประสานมือที่หน้าอก สักพักเหมือนมือเบา และหายไปจางๆ

ดังตฤณ : เพราะมารู้สึกที่จิตแทน ถ้ารู้สึกถึงความตั้งมั่นของจิตได้  อารมณ์ของสมาธิ จะย้ายจากฝ่ามือมาเป็นจิตแทน นี่เป็นเรื่องธรรมดานะครับ แล้วที่คุณบอกว่าลมหายใจเหมือนเบา เหมือนหายไป ไม่ได้หายใจ หรือว่าร่างกาย เหมือนจะกลายเป็นอากาศธาตุไป จริงๆแล้วก็คือจิตไปโฟกัสที่ตัวเอง อันนี้ก็เป็นหลักการพื้นฐานของธรรมชาติ การรับรู้ของจิตเลย

 

- ช่วยให้เห็นความมั่นคงของจิตได้ชัดเจนขึ้นมากเลยค่ะ

ดังตฤณ : 3 ท่านี้ ต่อไปนี้เป็นท่าไม้ตายของคุณได้เลย ในการทำอานาปานสตินะ

 

- ชอบท่าสุดท้ายมากค่ะ ท่ากับความหมายสอดคล้องกันมาก รู้สึกถึงคำว่าตั้งมั่นค่ะ

ดังตฤณ :มือซ้ายเปรียบเหมือนกับพื้น มือขวาเปรียบเหมือนกับจิต เราเลียนแบบว่าจิตได้ฐาน ได้ที่ตั้งนะครับ

 

- ขอบคุณค่ะ ปีติรุนแรงมาก จิตตั้งมั่นไม่คลอนแคลนเลยค่ะ ในช่วงที่หายใจเข้าออกตามมือที่ไกด์ สบายและผ่อนคลายมากค่ะ

ดังตฤณ : แค่ฟังตามนี้รู้สึกเลยนะว่า อย่างนี้ ถ้าคุณแค่ทำต่อเนี่องนะอีกไม่นานนี่ รวมลงเป็นอุปจารสมาธิแน่นอนนะครับ ปีติ แบบนี้นี่รู้สึกตามเลยนะ

 

ปีติ แบบนี้แหละที่หล่อเลี้ยงให้จิต ทรงอยู่กับความตั้งมั่นได้ และตรงนี้คุณบอกตัวเองได้เลยว่า ทำอานาปานสติได้สมถะเต็มขั้น และพร้อมที่จะใช้อานาปานสตินั่นแหละ เป็นตัวต่อยอดให้ถึงวิปัสสนาในขั้นต่อไปง่ายๆ เลยนะ

 

- จากที่ไม่เห็นลมหายใจ ตอนนี้เห็นลมหายใจแล้วค่ะ

ดังตฤณ :ยินดีด้วยอนุโมทนาครับ  

 

- รู้สึกว่าจิตชัดเด่นกลางลำตัว ตามมือเลยค่ะ

ดังตฤณ :ดีมากครับ 90% นี่ แบบว่า ปีติ เลยนะ  

เป็นอะไรที่ผิดคาด คราวที่แล้ว 

น้อยกว่าที่คาด คราวนี้เกินกว่าที่คาดเยอะมาก

 

- รู้ลมหายใจชัดขึ้นและผ่อนคลายค่ะ หายใจเข้าออกยาวขึ้น

 

- ตัดความฟุ้งซ่านได้ดีเลยค่ะ

ดังตฤณ :คือพอจิต มีความพอใจอยู่กับการโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็จะไม่วอกแวก สภาวะของจิต จะเปลี่ยนจากอาการซัดส่าย ไม่มีทิศไม่มีทาง กลายเป็นมีที่วาง มีที่ตั้ง มีฐานให้อยู่นะครับ

 

- พอมาท่าที่ 3 ที่ประกบมือ รู้สึกร่างกายเหลือแต่แกนกลาง และรู้สึกลมหายใจหายไปค่ะ เริ่มอึดอัดหายใจได้แผ่วเบา ต้องปรับตรงไหนเพิ่มคะ

ดังตฤณ :คือพอมาถึงท่าที่สาม .. ถ้าสองท่าแรกไม่มีปัญหาอะไร ก็โอเคแล้ว แต่พอมาท่าที่สาม เอาที่ผมรู้สึกเฉพาะคุณ (ผู้ถาม) เลยนะ คุณกดมือมากเกินไป ตั้งใจมากเกินไปอยู่กับตรงที่ฝ่ามือประกบ แล้วเกิดอาการเกร็งเนื้อเกร็งตัวนะครับ

 

ต่อไปถ้าทำด้วยตัวเองนะครับ ถ้าย้อนกลับมาดู หรือว่าถ้าจำท่าได้แล้ว ก็ไม่ต้องดูคลิปประกอบด้วยก็ได้นะ .. ต่อไปนะครับ ให้ทำความรู้สึกที่ท่านั่งคอตั้งหลังตรงก่อนสำคัญมาก

 

ถ้าท่านั่งคอตั้งหลังตรงของคุณ เป็นที่สบายแล้ว ค่อยมารู้สึกถึง 3 เหลี่ยมนี้นะ อก แล้วก็ข้อศอก และที่ฝ่ามือเป็นขั้นสุดท้าย

 

อย่าทำความรับรู้ อย่าทำความรู้สึกเข้ามาที่ฝ่ามือมากเกินไป ตัวตั้งหลักต้องตรงอยู่นะ เสาหลัก คือกายนั่งคอตั้งหลังตรงนะครับ แล้วก็ข้อศอกที่ทำมุม 3 เหลี่ยมกับหน้าอกอยู่ จากนั้นค่อยมารู้สึกถึงฝ่ามือ เป็นอันดับสุดท้ายเลย ที่ตรงนั้นแหละ ที่คุณจะรู้สึกเบาแล้วก็รู้สึกถึงความเป็นจิตที่ตั้งอยู่

 

ย้ำอีกทีเป็น การเลียนแบบ ฝ่ามือซ้ายคือพื้นฐานที่ตั้ง ฝ่ามือขวาเหมือนกับจิตที่วางอยู่บนฐานที่ตั้งที่มีความมั่นคงราบเรียบสม่ำเสมอ 

ลองดูนะครับ ถ้ามีอะไรเสริมได้นะว่าเมื่อกี้นี่คุณเพ่งความรู้สึกไปที่ฝ่ามือมากเกินไปหรือเปล่านะครับ 

 

เราต้องทำทั้ง 3 ท่า ทุกครั้งที่ทำใช่ไหมคะ

ดังตฤณ :ทำให้ขึ้นใจนะ อย่างที่ผมบอกว่าจุดมุ่งหมายของเรา เราเอาตรงนี้ .. หมวดกาย หมวดเวทนา แล้วก็หมวดจิต นะครับ

 

ถ้าหากว่าเราได้ กาย เวทนา และจิต เรารู้ลมหายใจอย่างที่เกิดสติ เห็นภาวะทางกาย ภาวะทางเวทนา ภาวะทางจิตได้ อันนั้นถือว่าโอเค 

จะไม่ต้องใช้มือช่วยก็ได้

 

แต่ช่วงแรกๆ นี่ทำทั้ง 3 ท่า เพื่อให้เข้าถึงกาย เวทนา และจิต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ในการเจริญวิปัสสนา จุดมุ่งหมายมีอยู่แค่นี้เลย เอากายได้ เอาเวทนาได้ เอาจิตได้ มีสติรู้ 3 เบสิคนี่ ถ้ารู้ตรงนี้ได้นี่ เราก็ลดขั้นตอนได้

 

แต่ว่าตอนนี้ แนะนำว่าเอาตามขั้นตอนนี้เป๊ะๆ เลย เพราะว่าถ้าคุณทำตรงนี้ได้ผลแล้วนี่ อย่าพยายามไปกระโดดเร็วเกินไปนะ การที่เราค่อยๆไปแบบช้าๆแต่มั่นคงนี่จะมีผลในระยะยาว คือถ้าเบสิคดีนะ ผลิดอกออกผลเป็นยอดออกมานี่ ดีตามแน่นอนนะครับ

 

คุณไม่ต้องย้อนไปย้อนมาเพื่อที่จะกลับมานับ หนึ่ง กันใหม่แล้วๆ เล่าๆ แบบที่ผ่านๆ มา ตอนนี้มีขั้นตอนที่ชัดเจนแน่นอนแล้ว 1 2 3 ที่จะให้ไปนะครับในเส้นทางของอานาปานสติ 

 

- นั่งขัดสมาธิได้ไหมคะ นั่งห้อยเท้าจะเมื่อยหลังมาก

ดังตฤณ :ได้ อย่างไรก็ได้ คือแล้วแต่ว่าใครถนัดอย่างไร

 

คือที่ผมชอบให้นั่งห้อยเท้านี่ ก็เพราะว่าส่วนใหญ่มีปัญหาจากการนั่งขัดสมาธิกัน ไม่ว่าจะอายุมากหรืออายุน้อยก็ตาม มีปัญหากันหมดแหละเพราะว่านั่งกันไม่ค่อยถูก นั่งแล้วเอาหลังไปกดตรงช่วงขา ทำให้เกร็งนะครับ

 

จริงๆแล้วที่นั่งสมาธิ ต้องดันก้นให้สูงขึ้นนะ ตามหลักสรีระเลย แม้แต่พระพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้ ก็มีหลักฐานอยู่นะครับ ว่าท่านเอากองฟาง มารองเป็นที่ของสมาธินะ 

ตรงนี้นี่ก็ขึ้นอยู่ว่าใครจะถนัดอย่างไรนะครับ ผมเองผมก็นั่งขัดสมาธินะคือตอนหลังไหว้พระสวดมนต์ ในห้องพระ ผมก็นั่งขัดสมาธิเหมือนกัน และผมก็นั่งเก้าอี้อย่างนี้ด้วย แล้วก็บอกได้เลยจากประสบการณ์ว่า ก็ได้ผลเหมือนกันนั่นแหละ เราเอาสตินะครับไม่ใช่เอาที่ท่านั่ง 

 

จะท่านั่งอย่างไรนี่ สำหรับผมแล้วไม่เกี่ยงเลยนะ เกี่ยงแค่ว่าตอนนั้นจิตเราตั้งอยู่ในที่ๆ ถูกทิศถูกทางหรือเปล่า สำคัญกว่านะครับ

 

- เสาร์นี้ไม่มีอาการหาวเลย จิตเข้าสู่ความเบาสบายได้อย่างรวดเร็ว และอยากทำต่อ ไม่อยากออกจากสมาธิค่ะ จิตสงบ ปีติ แบบนี้ถือว่าถูกทางใช่ไหมคะ

ดังตฤณ :ดีมาก แน่นอน ยืนยันอยู่ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วนะครับ คุณสามารถบอกได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ว่าเป็นเช่นนั้น

 

ยิ่งฝึกต่อไป ก็ยิ่งจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหาก ถูกทาง ถูกขั้น ถูกตอนนะ

ตอนแรกๆ อย่าไปกระโดด อย่าไปพยายามข้ามนะ เมื่อทำได้แล้วนี่ให้ทำซ้ำๆ ไปก่อน จนกว่าจะรู้สึกแน่ใจ มั่นใจว่าขึ้นใจ ตื่นขึ้นมาปุ๊บเป็นสมาธิได้ทันทีก่อนนอนปุ๊บ ผ่อนคลายเป็นสมาธิได้ทันที

 

จริงๆ มีท่าสำหรับตอนนอนด้วย แต่ขอทำแอนิเมชั่นเสร็จก่อน คือแอนิเมชันทั้งหมดครบเซ็ตนี่จะแบบ ครบวงจรเลยนะ แล้วก็จะมีขั้นตอนอะไร มีเอฟเฟคอะไร ที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายกว่านี้นะครับ กำลังทำอยู่นะ 

 

- ทำพร้อมกับเด็ก 8 ขวบ เด็กบอกว่ารู้สึกดีกับท่าที่ 1 ท่าที่ 2 แต่ท่าที่ 3 ยังไม่รู้สึกถึงจิตตั้งมั่นค่ะ

ดังตฤณ : แต่อย่างน้อยนี่ได้เริ่มแล้วนะ ขั้นหนึ่ง กับขั้นสอง นี่เป็นท่าที่จะนำมาซึ่งท่าที่ 3 นั่นแหละ ถ้ามาถูกทิศถูกทาง 

 

ไหนๆ ก็ช่วยเขามาถึงขนาดนี้ แล้วก็นำทางต่อไป ไปด้วยกันนะครับ และก็ถ้าคนได้ทำตั้งแต่เด็กๆ ก่อน 10 ขวบนี่นะ โตขึ้นคุณคาดหมายได้เลยว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแน่นอน มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความฉลาดทางปัญญาแบบพุทธนะ ไม่ใช่มีแต่ไอคิวสูงอย่างเดียว

 

ไอคิวนี่มาแน่ๆ ถ้าหากว่าทำสมาธิได้ แต่อีคิวนี่ไม่แน่ว่าจะมาหรือเปล่า ต่อให้คนทำสมาธินะ เพราะว่าถ้าทำสมาธิผิด ไปทำสมาธิแบบกดโทสะไว้ยิ่งเป็นดินระเบิดที่แรงเข้าไปใหญ่นะครับ ไม่ใช่ทำให้โทสะน้อยลง

 

- เลิกทำแล้วยังรู้สึกถึงลมหายใจเป็นอัตโนมัติ

ดังตฤณ :แน่นอนครับ เพราะว่าถ้าทำถูก ทำตรง สิ่งที่จะเกิดเป็นผลตามมาก็คือ สิ่งที่เรียกว่าอัตโนมัติของการรับรู้ อัตโนมัติของการหายใจ อัตโนมัติของการมีสติ อยู่กับเนื้อกับตัว เป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนายิ่งมาถึงตรงนี้ได้นี่ อย่าทิ้งนะ ตลอดชีวิตที่เหลือนี่ สามารถเจริญสติได้ไม่เลิก ถึงแม้ว่าเลิกทำท่าทำทางแล้วก็ตาม

 

- รู้สึกเอ่อล้นขึ้นจนเหมือนจะร้องไห้แบบมีความสุข

ดังตฤณ :นั่นแหละปิติที่แรงนะ ต่อไป ปีติ ดีกรีจะอาจจะมากขึ้นกว่านี้อีก เย็นซ่าไปหมดแล้วก็กระจายขยายรัศมีออกไปทั่วจักรวาลอะไรแบบนี้

 

ที่เป็น ปีติ แบบจะร้องไห้ ก็เป็นสัญญาณหนึ่งของสมาธินะ แต่สังเกตด้วยว่าความแรง จะแรงอย่างนี้แหละ แต่ว่ามีความเย็นมากขึ้น เพราะว่าจะคุ้น จะชิน แล้วจิตรู้สึกเฉยๆ กับปีติที่แรงๆ คือยังแรงอยู่แต่จะรู้สึกว่า มีอุเบกขาอยู่ด้วยนะครับ

 

- วันนี้ จิตและลมหายใจละเอียดประณีต แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ยังไม่ถึงกับจิตรวมเป็นสมาธิตั้งมั่น มั่นใจว่าถ้าอยู่ในสถานที่สงบๆ มีเวลามากกว่านี้ จิตน่าจะรวมได้ เพราะรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว

ดังตฤณ :อนุโมทนาอย่างยิ่งเลยนะ คืนนี้หลายๆท่านที่ประสานเสียงเดียวกันนี้ ก็ทำให้ผมเกิดปีติเช่นกัน ขณะนี้ก็ ปีติ อยู่นะครับ ก็มีความรู้สึกดีใจ ดีใจแทนพุทธศาสนาที่ได้มีประจักษ์พยานนะครับ

 

อย่างที่บอกนะครับว่าอย่าไปมัวถามเลยว่า พุทธศาสนาในไทยจะไปรอดหรือเปล่า

 

เอาคำถามที่สำคัญพอๆ กันดีกว่าว่า ในไทย ยังมีคนทำอานาปานสติกันถูกทิศถูกทาง แบบที่พระพุทธเจ้าสอนกันอยู่ไหม นั่นเป็นคำถามที่สำคัญมาก

 

ถ้าทำสมาธิเป็นตั้งแต่เป็นฆราวาส  

ถ้าต่อไปบวช ก็ต้องเป็นพระดี เป็นชีดี หรือว่าเป็นเณรที่ดี  

แล้วก็คนที่ทำสมาธิเป็น ในแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือคนที่ พร้อมจะรู้กาย รู้ใจ ด้วยความเป็นรูปนาม เพื่อข้ามพ้นไปจากอุปาทานนี้

 

- พอฝึกหายใจแบบนี้แล้วเวลาใส่ชุด PPE แล้วหายใจสะดวกขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

ดังตฤณ :อันนี้ดีใจมากเลย ดีใจมากๆเลย ก็อยากให้ท่านที่จำเป็นต้องใส่ PPE ทุกท่านเลยได้รู้จัก แล้วก็ได้มีประสบการณ์ แล้วก็ได้มีความสามารถแบบคุณนะครับ อนุโมทนานะครับ  

 

รู้สึกลมหายใจยาว หอมเย็น รู้สึกร่างกายเหมือนนั่งอยู่ที่ตรงนี้ครับ

ดังตฤณ :คือรู้สึกถึงความเป็นปัจจุบันของภาวะทางกาย นี่แหละ ที่สำคัญมาก พอมีสมาธิแบบถูกทิศถูกทาง มีสมาธิแบบพุทธกันจริงๆ ตัวเราจะไม่ไปอยู่ที่อดีต ตัวเราจะไม่ไปอยู่ที่อนาคต แต่ตัวเราจะอยู่ตรงนี้ ตรงที่ที่ร่างกายปรากฏอยู่ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแน่นอนนะครับ

 

-ตอนประกบฝ่ามือ รู้สึกเหมือนมีแสงอยู่ในมือ แวบหนึ่งแล้วหายไปค่ะ แอบเมื่อย เกร็งแขนนิดหนึ่งค่ะ

ดังตฤณ :ถ้าช่วงแรกเมื่อย ก็ลดมือลงก็ได้ เพราะว่าจุดประสงค์ของท่าที่ 3 จริงๆ แล้วไม่ได้ช่วยให้เกิดสมาธิอะไร แต่เป็นเหมือนกับไกด์ ที่คุณจะส่องเข้ามาดูว่า สภาวะทางใจมีความตั้งมั่น หรือว่าโคลงเคลงอยู่ จะเอาแค่นั้นจุดประสงค์หลักนะครับ

 

- รู้ step การเข้าสมาธิแบบเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าทำตามนี้ อย่างไรจิตก็สามารถตั้งมั่นได้ทุกครั้ง

ดังตฤณ :แน่นอนครับ นี่คือยืนยันเลยนะ ถ้าใครก็ตาม ได้สเต็ปได้วิธีที่จะเข้าถึงภาวะของจิตที่เป็นสมาธินี่ อย่างไรอย่างไรก็ต้องทำซ้ำได้ 

 

แม้ว่าชีวิตวันไหนจะยุ่งเหยิง จะมีความน่าให้เศร้าหมอง แต่ด้วยสเต็ปที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนและคุณทำมาถึงตรงนี้ได้ทุกครั้ง ก็จะเป็นทุกครั้งเช่นกันที่คุณรู้สึกว่าชีวิต ไม่ได้แย่เกินไปหรอก 

 

จริงๆแล้ว เราอยู่ในยุคที่สามารถขุดทองจากพุทธศาสนา ทองแท้ที่อยู่ที่แก่นเลยนี่ได้ง่ายๆ นะ แต่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้วิธีขุดเท่านั้นแหละนะ 

 

- ช่วงเปลี่ยนท่าที่ 2 เป็นท่าที่ 3 บางช่วงรู้สึกเหมือนกายกลืนเป็นสิ่งเดียวกับทุกสิ่งรอบตัว เป็นอยู่สั้นๆ ค่ะ

ดังตฤณ :อันนี้เรียกว่า เห็นตัวเองนะ เห็นกายใจด้วยความเป็นธาตุ 4 หรือธาตุ 6

 

ธาตุ 4 คือดินน้ำไฟลม

 

ธาตุดิน คือลักษณะแข้นแข็ง กระดูกกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่แตกต่างจากไม้ โต๊ะ กระจกอะไรอย่างนี้ มีลักษณะของการจับต้องได้คงที่คงรูป 

 

ธาตุน้ำ อย่างเช่นน้ำลาย น้ำเหลือง น้ำเลือด

ธาตุไฟ คือไออุ่นที่เรารู้สึกได้

แล้วก็มีธาตุลม อย่างเช่นลมหายใจ ลมพัดขึ้นพัดลงในร่างกาย ลมที่เข้าเข้าไปในท้องบ้าง ออกมาจากรูทวารบ้างนะ เสมอกันกับลมที่พัดกิ่งไม้ใบหญ้านะครับ

 

อันนี้ก็เป็นการ ... พระพุทธเจ้าก็สอนด้วยนะ ให้ดูกายด้วยความเป็นธาตุ 4 ไม่แตกต่างจากธาตุ 4 ภายนอกเสมอกัน ให้ทำจิตเสมอกันนะ ว่าร่างกายนี้ไม่แตกต่างจากสรรพสิ่งภายนอก

 

วิธีที่จะเข้ามาถึงตรงนี้ได้ ง่ายๆทุกครั้งเลย จะได้ไม่ลืมนี่นะ เอาลมหายใจให้ได้ก่อน ถ้าลมหายใจชัดมีความชัดเจน คุณลองไปนั่งอยู่ในที่ๆ มีลมก็ได้ มีลมพัดมีลมโกรกหน่อย คุณจะรู้สึกเลยว่าภาวะธรรมชาติ ที่มีอาการพัดเข้าพัดออกในกายนี้นี่ เสมอกันกับลมที่เข้ามาปะทะตัวให้รู้สึก จะมีอาการไหว มีอาการพัดปะทะแล้วก็หายไป 

 

พอมีความรู้สึกตรงนี้ได้ ส่วนอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายนั่ง คือยกตั้งด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อก็ไม่แตกต่าง เสมอกันกับ โต๊ะ  เก้าอี้ กระจก ประตูนะ หรือว่าดินที่อยู่บนพื้น 

 

เอาลมหายใจได้ก่อนนะ ที่บอกว่าแวบเดียว เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเข้าไปถึงตรงนั้นได้อย่างไรนะครับ 

 

ที่เรารู้สึกถึงความเป็นรูป เป็นนาม ของกายของใจ จะเกิดขึ้นนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับกำลังจิต ที่สามารถโฟกัสอยู่กับความรู้สึกตรงนั้น ความรับรู้ตรงนั้น 

 

แล้วก็ถ้าเรามีทางเข้าที่แน่นอน ไปถึงตรงนั้นได้ เราฝึกที่จะเห็นโดยความเป็นเช่นนั้นได้เรื่อยๆ เลย แต่ถ้าจำทางเข้าไม่ได้ ก็จะเหมือนหลงป่า 

ทางออกไม่เจอ

_________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เราจะตั้งจิตมั่น

- ช่วงฟีดแบ็ค

วันที่ 14 สิงหาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=tebDy_C--ts

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น