วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Q17ปรามาสพระอริยะบาปแค่ไหน ในสังคมยุคปัจจุบันจะระวังไม่เผลอไปปรามาสพระอริยะได้อย่างไร

ดังตฤณ : พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในครั้งหนึ่งว่า ผลของการปรามาสอริยบุคคล คือ มีจิตพล่านเหมือนจะเป็นบ้า

 

ก็เคยเห็นมาเยอะนะ

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ไม่ว่างจากพระอริยบุคคล ตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติ มรรคมีองค์ 8 หรือสติปัฏฐาน 4 หรือ อานาปานสตินี่แหละนะครับ

 

เพราะฉะนั้น เราคาดหมายได้ว่า ถ้ายังมีการพูดถึง มรรคมีองค์ 8 มีการพูดถึงสติปัฏฐาน 4 มีการปฏิบัติตามอานาปานสติ .. เราประมาทไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องจะ โซเชียล หรือไม่โซเชียล

 

ถึงพระป่า ครูบาอาจารย์ บางทีท่านอยู่ตามป่าตามเขา แต่เรื่องราวของท่านถูกนำมาลงในโซเชียล แล้วก็มีการปรามาสกันได้เยอะแยะนะครับ โอกาสที่จะปรามาสโดยไม่รู้ตัว มีสูงอยู่แล้ว

 

อย่างบางคน ผมเคยเห็น ตั้งอธิษฐานออกสื่อเลยนะ ลงกลางกระทู้ กลางสเตตัสว่า เกิดชาติไหนหนใด ในอนาคตกาล ขออย่าได้ปรามาสอริยบุคคล แต่ยังไม่ทันไร ในเวลาไม่นานให้หลัง ก็ .. เรียบร้อยนะ ไปปรามาสในชาตินี้แหละ ไม่ต้องชาติไหน

 

ตรงนี้ ทางที่ดี วิธีที่เราจะตั้งไว้ในใจก็คือว่า อย่าคิดร้าย อย่าคิดในทางประทุษร้าย อย่าพูดในทางทำให้ใครเสียหายเลย จะดีที่สุด

 

แต่ถ้าทำไม่ได้ ยังต้องมีการพูดถึง ยังต้องมีการ refer มีการพาดพิง อดของขึ้นไม่ได้ อดเกิดอารมณ์ไม่ดี อดไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า เห็นไหม คือบางทีนี่ ถ้าเราศึกษาประวัติท่าน แล้วบางทีไม่ถูกใจ เราก็หงุดหงิด นี่ขนาดระดับพระพุทธเจ้านะ

 

เพราะฉะนั้นคือระดับที่รองๆ ลงมา อริยบุคคล ก็ไม่ต้องห่วง บางทีท่านอาจไม่เป็นไปตามความคาดหมายว่า อริยบุคคลต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้

 

วิธีที่จะเซฟที่สุดก็คือ เราอย่าคิดไม่ดีกับใครเลย ถ้าจำเป็นต้องคิด เพราะถูกกระทบ เราก็จำกัดความคิดให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ถูกกระทบมา ไม่คิดเลยไปกว่านั้น ไม่ไปด่าทอ ไม่ไปทำให้มีจิตที่ขุ่นเคืองมากไปกว่าที่ควรนะครับ

 

เพราะว่าต่อให้ไม่ใช่อริยบุคคล ต่อให้เป็นคนธรรมดา หรือแม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราไปคิดไม่ดี ไปคิดสาปแช่ง ก็เป็นบาป เป็นตัวที่ปรุงแต่งให้จิตเกิดความฟุ้งซ่านจัดได้เหมือนกัน

 

แล้วก็ในการเดินทางในสังสารวัฏ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในครั้งหนึ่ง .. สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือการสะสม มโนทุจริต วจีทุจริต กายทุจริต และการปรามาสอริยบุคคล

 

ในสูตร ถ้าแปลเป็นไทย ใช้คำว่า ติเตียนอริยบุคคล

 

คือถ้าเอาในทางปฏิบัติแบบชาวบ้าน ก็คืออาจด่าทอ หรือไปเหยียดหยาม ประนาม หรือไปก่นด่าไม่มีชิ้นดีอะไรแบบนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นอะไรที่ร้ายแรง

 

ซึ่งพิจารณาแล้ว ก็คงจะเห็นได้ไม่ยาก เพราะอย่างในอภิธรรม มีอยู่เรื่องของเหตุปัจจัย ถ้าปรามาส หรือประทุษร้าย กัลยาณชนผู้มีศีลมีธรรมดี ก็จะเป็นเหตุปัจจัย ให้ได้ไปปรามาส หรือประทุษร้าย พระโสดาบันบุคคล แล้วก็เป็นเหตุปัจจัย เป็นขั้นบันได ให้ไปได้ปรามาส สกทาคาบุคคล อนาคาบุคคล และ อรหัตบุคคล แล้วก็ .. นู่นเลย กระโดดไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า

 

นี่ เป็นขั้นบันไดที่จะไปต่อๆ ไป .. ปรามาสอริยบุคคลในชาตินี้ มีสิทธิไปปรามาสพระพุทธเจ้าในชาติต่อๆ ไป .. สรุปง่ายๆ

 

ฉะนั้น คือเราทำไว้ในใจว่าไม่คิดร้าย ไม่ประทุษร้ายใครเลยดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

 

ธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมะสูงๆ เป็นของภายใน ซึ่งรู้ได้ยาก ว่าใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไรนะครับ

 

แต่ถ้าเราไม่ไปด่า ไม่ไปติเตียนใครด้วยโทสะเลย ก็เท่ากับเซฟ เพราะเราไม่ต้องก่อบาปก่อกรรมกับอริยบุคคลแน่นอน เพราะแม้แต่คนทั่วไป เราก็ไม่ทำ

_________________

การปรามาสพระอริยะหรืออริยะชน มีผลเสียมากไหมครับ และในสังคมอุดมดราม่าแบบทุกวันนี้ มีพระอริยะหรืออริยะชนออกมาในสื่อโซเชียลบ้างไหมครับ พวกเราควรระวังอย่างไรครับ ถ้ามี?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เราจะตั้งจิตมั่น

- ช่วงถาม-ตอบ

วันที่ 14 สิงหาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=CReEmPNnczk&t=2s

 

** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น