วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

13 จากสมถะสู่วิปัสสนา : รวมฟีดแบค

ดังตฤณ : เรามาเริ่มกันจากคนนี้ก่อนนะ เพราะว่าจะต่อเนื่องกันนิดหนึ่ง

 

- หาตัวเองไม่เจออยู่พักใหญ่จนร้องเฮ้ย! ตัวตนกายใจก็กลับมาเลยค่ะ

 

ดังตฤณ : ตรงนี้ที่เอามาก่อน เพราะว่าต่อเนื่อง สืบเนื่องกันกับที่เราคุยกันคืนนี้นะ

 

จริงๆ มาถึงตรงนี้ได้นี่ก็ มาถึงจุดหนึ่งของสังสารวัฏนะครับ ที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาถึง สำหรับสังสารสัตว์ส่วนใหญ่นะ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย

 

คือพอเรารู้สึกขึ้นมา ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยจิตที่มีคุณภาพว่ากายนี้ ใจนี้ไม่ใช่เรา ตัวนี้เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่บอกว่า เราพร้อมที่จะทิ้งภาวะของอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในกายในใจ

 

ถึงแม้ว่าจะเกิดอารมณ์หนึ่ง แทรกขึ้นมาว่าตกใจ เมื่อกี้เราเห็นอะไรเข้า 

แล้วก็มีตัวตนกลับมา ขอให้สังเกตอย่างนี้ว่านี่เป็นเหตุปัจจัย

 

ถ้าคุณมีสมาธิอยู่ ใจมีความเป็นอุเบกขา รู้เห็นสภาวะตามจริง แล้วเห็นความไม่เที่ยงของมัน หรือเห็นความไม่ใช่ตัวเดิมของมันได้ ณ ขณะจิตนั้น ก็จะยอมรับสภาพ 

 

ต่อเมื่อมีอาการจิตกระตุก ตกใจขึ้นมาว่าเราไปเห็นอะไรเข้า แล้วตัวตนก็จู่โจมกลับมา ตรงที่ตัวตนกลับมานี่ มีความหมายมากนะ ถ้าเราได้เห็น

 

อย่างเช่น เห็นอย่างเมื่อกี้นี้ว่าตัวตน กระโจนกลับมาในทันทีที่เราตกใจ 

อันนั้น สิ่งที่คุณได้ประจักษ์จากประสบการณ์ตรงก็คือ การที่จิตย้อนกลับไปยึดอย่างรวดเร็ว ด้วยอาการกระชาก ด้วยอาการที่มีความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่า เมื่อกี้เราเห็นอะไรที่แตกต่างไปแล้ว จากประสบการณ์เดิมๆ ที่ผ่านมาทั้งชีวิต 

 

พอยต์คือถ้าคุณทำสมาธิได้เรื่อยๆ ทำได้เป็นประจำ ทำได้สม่ำเสมอ แล้วเห็นแบบเมื่อกี้นี้ ยอมรับได้แบบเมื่อกี้นี้ว่า ภาวะต่างๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ หรือสภาพทางกายอื่นๆ หรือสภาพทางใจที่ปรากฏอย่างไรก็ตาม

 

แค่ถามตัวเองว่า เหมือนเดิมหรือเปล่า เป็นตัวเดิมหรือเปล่า 

แล้วเห็นว่า ไม่ใช่ตัวเดิมขึ้นมาได้เรื่อยๆ ใจของคุณจะเริ่มชิน แล้วก็ไม่ตกใจ ไม่มีอาการจิตหด จิตกระตุก 

 

ตรงนั้นแหละ ที่จะเคลื่อนเข้าสู่สมาธิอีกแบบหนึ่ง ยกระดับคุณภาพจิตขึ้นไป ยกระดับของการรู้เห็นขึ้นไป คือจะเห็นได้แบบเฉยๆ เห็นได้แบบที่พอใจจะเห็น 

 

คนนีนะ ถ้ามาถึงจุดที่เริ่มรู้ขึ้นมาจริงๆ ว่ากายใจไม่ใช่ตัวตน ส่วนใหญ่จะเกิดอาการเจ็บจี๊ด หรือตกใจแบบนี้ คือไม่อยากยอมรับ ไม่อยากจะทนกับความเป็นจริงที่เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา ว่ากายใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่เคยมีอยู่เลย

 

จะเสียใจหรือว่าจะช้ำใจ จะรู้สึกเหมือนแบบเดียวกันกับอัตตาถูกกระทบ  เวลาที่คุณถูกด่า หรือว่าคุณมีความรู้สึกว่าตัวเองต้อยต่ำลง หรือ 

ว่าจากเดิมเคยอยู่สูง กลายเป็นต่ำเตี้ยเรี่ยดินอะไรแบบนั้น

 

ทีนี้สภาพที่ใจไปเจอของจริงว่า กายนี้จิตนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็เหมือนกับคนที่เคยนึกว่า ตัวเองนี่รู้ดี นึกว่าตัวเอง เข้าใจทุกอย่างแล้ว นึกว่าตัวเองอยู่กับสิ่งที่เป็นปกติจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องจริงแล้ว

 

ปรากฏว่าเป็นของหลอก ก็ตกแอ้กลงมาเหมือนกับไม่มีที่ยืน เหมือนกับไม่มีตัวตนแบบเดิมให้ภูมิใจ ไม่มีตัวตนแบบเดิมๆ ให้รู้สึกอบอุ่นใจว่า นี่เป็นฉัน คือ ไม่มีฉัน 

 

วาระแรกๆ จะออกอาการอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเห็นไปเรื่อยๆ เห็นไปจนชิน เห็นไปจนรู้สึกว่า เห็นแล้วก็ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้น ไม่ตาย แล้วจิตยังมีความเบิกบาน มีความชุ่มชื่นอยู่ได้

 

จิตที่มีความเบิกบาน ที่มีสติ ที่มีความเป็นกลางอยู่ได้ ยอมรับได้ นั่นแหละที่จะพัฒนาต่อ กลายเป็นการรับรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น ละเอียดอ่อนขึ้น ประณีตขึ้น 

*

*

- มีโรคประจำตัวเยอะมาก ทรมานกับลมหายใจที่เบาและสั้น ทิ้งการตามดูลมหายใจไปนานมาก พอมาเริ่มใหม่ รู้ถึงลมที่เข้าออกได้ยาวขึ้น เหนื่อยน้อยลง เห็นท้องพองตอนหายใจเข้าและแฟบลงตอนหายใจออก สบายมากค่ะ

ดังตฤณ : อนุโมทนานะครับ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะอายุมากแค่ไหนนะครับ ของคุณน้าท่านนี้ ก็คืออายุมากแล้ว อายุมาก มากๆเลย แต่ก็ยังสามารถปฏิบัติได้

 

ธรรมะที่เกิดจากการปฏิบัติได้นี่แหละ ที่จะหล่อเลี้ยงให้สภาพชีวิตมีความหมาย แล้วก็มีค่าสูงสุดเท่าที่เราได้เกิดมาในครั้งนี้ ชาตินี้ นะครับ

ก็ขออนุโมทนานะ

*

*

- ผมหายใจได้สั้นกว่าจังหวะของภาพบรรยาย คืออั้นไว้ได้สั้นกว่า ทำให้อึดอัด

 

ดังตฤณ : จริงๆภาพเคลื่อนไหว ผมแสดงไว้เป็นไกด์เฉยๆ อันนี้บอกซ้ำหลายครั้งนะครับ 

 

เพราะหลายท่านที่พะวงอยู่กับภาพเคลื่อนไหว แล้วก็จะทำตามให้ได้เป๊ะๆ นี่ มักจะรู้สึกว่า ตัวเองทำไม่ได้เท่า แล้วไปกังวล ตรงนี้ก็เกิดตัววิจิกิจฉา หรือว่าเกิดอุทธัจจะกุกกุจจะ มีความฟุ้งซ่าน มีความสงสัยอะไรขึ้นมานะครับ

 

ต่อไปไม่ต้องให้ความสำคัญว่าจะต้องเป๊ะๆ นะ ขอแค่เรามีความเข้าใจแล้วหลับตาทำได้ด้วยตัวเอง ก็พอแล้วนะครับ ดีที่สุดแล้ว 

*

*

- รู้สึกร่างกาย อยากไปไวกว่าภาพอนิเมชั่น จิตใจชอบชิน ติดกับความเหม่อลอย จิตออกนอกไปที่จอมือถือ สิ่งภายนอก ทั้งเสียงและภาพต่างๆ หรือความฟุ้งซ่าน บ้างก็ชอบเจ็บเส้นประสาทที่หัวเมื่อรู้ลม และลืมลมหายใจได้ทั้งวัน

 

ดังตฤณ : พอมาใช้มือช่วยไกด์นี่นะ แล้วหายใจได้ช้าลงเรื่อยๆ 

คุณจะมีความสุข แล้วก็เนื้อตัวผ่อนคลาย จะมีความพร้อมที่จะเป็นสมาธิมากขึ้นเรื่อยๆ นะ อาการเหม่อลอยและอาการจิตส่งออกนอก จะค่อยๆลดลงไปเองโดยไม่ต้องไปอยากได้ อะไรที่ดีๆ อะไรดีๆจะเข้ามาเองนะครับ

*

*

- มา anapanasati ร่วมกันครั้งแรกค่ะ พอเริ่มทำท่ามือใหม่ๆ ไม่นาน รู้สึกแปลกใจที่น้ำตาไหลมาเรื่อยๆ เลยค่ะ รู้สึกสดชื่น และ โล่งใจค่ะ

 

ดังตฤณ : นี่ก็เป็นความแตกต่างของคน ซึ่งเห็นไหม พยากรณ์ไม่ได้นะว่าเริ่มทำวันแรกจะอยู่กลุ่มไหนนะครับ

 

ก็เจอมาเยอะจนกระทั่ง เริ่มเข้าใจถึงคนกลุ่มใหญ่นะครับว่า ถ้าหากเริ่มทำวันแรก แล้วมีอะไรดีๆ ขึ้นมา อย่างความรู้สึกดี อย่างความรู้สึกปีติมากๆ อย่างความรู้สึกสดชื่นโล่งใจอะไรต่างๆนี่ เพราะว่าชีวิต พร้อมให้โล่งใจ ให้มีความสุขใจอย่างนั้นอยู่แล้ว เส้นทางกรรมของเรานะครับ เส้นทางที่เราเลือกสิ่งห่อหุ้มชีวิตนี่ อยู่ในทางที่พร้อมจะโปร่งโล่งอยู่แล้ว

 

แต่บางคน พยายามมาเป็น 10 ปี บางทีรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมตัวเองยังไปไม่ถึงไหน อันนี้ก็เพราะว่าไม่ได้อยู่ที่การทำสมาธิอย่างเดียว แต่อยู่ที่การใช้ชีวิตของคุณ ว่าปล่อยให้อะไรห่อหุ้มตัวคุณอยู่บ้างนะครับ อันนี้ก็แสดงความยินดีด้วยนะครับ 

*

*

- นั่งแบบนี้แล้วยิ่งทำให้ใจสงบมากขึ้น ยิ่งนั่งยิ่งหายใจได้ยาวมากขึ้น รู้สึกถึงลมหายใจทุกครั้งที่หายใจเข้าออกสงบมากขึ้นค่ะ

 

ดังตฤณ :  ยิ่งสงบมากขึ้นเท่าไหร่ มีความติดใจ มีฉันทะ ก็จะยิ่งมีวิริยะนะครับ

 

แล้วก็ถ้าคุณติดใจที่จะทำสมาธิจริงๆ นะ คุณจะพบว่าแท้จริงแล้ว ถ้าจะทำสมาธิ ถ้าจะเอาดีทางสมาธิให้ได้จริงๆ ต้องทำกันทั้งวัน เผลอไม่ได้เลยนะ เผลอนี่เหมือนกับตั้งไข่ .. ไข่ล้มเลย  

 

ประเด็นคืออยู่ในเมือง เราทำกันตลอดเวลาไม่ได้ แต่สามารถทำได้บ่อยๆเวลาที่ว่าง 

 

จะเปลี่ยนความเข้าใจเดิม จะแก้ความเข้าใจที่ผิดๆ นะว่าสมาธินี่ควรจะล็อคเวลาไว้ ทำเมื่อนั่นเมื่อนี่ นานเท่านั้นเท่านี้ .. ไม่ใช่นะ

 

ควรทำบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้จิตมีคุณภาพ เพื่อให้จิตมีความแข็งแรงพอ ที่จะตั้งอยู่ในสภาพของสมาธิได้นะ

 

ก็ขอให้เป็นความเข้าใจที่ยั่งยืน สืบไป ตลอดชีวิตที่เหลือนะครับ 

 

เราอยู่เป็นฆราวาสก็จริง แต่ถ้าหากว่าเรามีความใฝ่ใจ เรามีวิธีที่ทำให้เกิดความรู้สึกติดใจ ที่จะมาเข้าสมาธิได้บ่อยๆ บางทีจะดีเสียกว่าปลีกวิเวก หรือออกบวชเสียอีกนะครับ

 

หมายถึงออกบวช สำหรับคนที่ไม่มีความเข้าใจอะไรแบบนี้นะ .. ไม่นับแบบพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบพระคุ้มค่า

 

แบบนั้นก็จะขึ้นไปอีกเลเวลหนึ่ง คนละโลกกับเรานะ

*

*

- คืนนี้ ทำท่าถูกต้องตามอนิเมชั่น จึงสามารถเกิดปีติสุขได้ค่ะ ขอบคุณที่ค่อยๆสอน ช้าลง และภาพละเอียด ขึ้นค่ะ

 

ดังตฤณ : ก็มาจากฟีดแบคของพวกคุณนั่นแหละนะครับ คือการที่คุณให้ฟีดแบคมาก็ดี หรือว่า แม้กระทั่งแค่กดคะแนนโหวตลงไปในโพล ว่าคุณอยู่กลุ่มไหน แค่นี้ก็ทำให้ผมเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นมหาศาลแล้ว ไม่ใช่แค่อยากได้ฟีดแบค เพื่อที่จะเอามาเก็บไว้เฉยๆนะ แต่ว่าเป็นฟีดแบคที่จะช่วยให้เกิดแนวทาง

 

เดี๋ยวพอทำคลิปเสร็จออกมา คลิปจริง ในการใช้มือไกด์นี่นะ จะมีรายละเอียดมากกว่านี้ จะมีเอฟเฟคมากกว่านี้ ที่ช่วยให้เกิดวิชวล (Visual) เกิดการรับรู้ทางตา เทียบเคียงกับประสบการณ์ภายใน ได้แจ่มชัดมากขึ้นครับ

*

*

- ขอบพระคุณค่ะ เพิ่งฝึกทำครั้งแรกรู้สึกโล่ง เบาสบายค่ะ

 

ดังตฤณ : ประเภทครั้งแรกแล้วดีเลยนี่ ก็อยากให้เกิดขึ้นกับทุกคนนะ 

ถ้าหากว่าทำแล้วเกิดฉันทะ เกิดความรู้สึกพอใจเกิดความรู้สึกติดใจ อยากทำบ่อยๆ จะบอกได้เลยนะครับว่า สิ่งที่น่าทำที่สุดในชีวิต ไม่ใช่อะไรมากไปกว่า การพยายามที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดให้ได้ เอาอุปาทานออกไปให้ได้นะ

 

ถึงแม้ว่าเอาออกไม่ได้หมด แต่เบาบางลง แค่นี้เราก็อุ่นใจแล้วว่า

ชีวิตของเราจะไม่ตกต่ำ หลังตายเราจะไม่ลำบากนะ

 

คนที่ปฏิบัติธรรมนี่เอาแค่ได้ใจเบา ใจใส จะมีแก่ใจทำอะไรดีๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีความรู้สึก คร้านที่จะไปทำอะไรเลวๆ ทำอะไรที่ชั่วๆ

 

นี่คือที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติ จิตที่เป็นกุศล ทำให้ชัวร์ขึ้นมาเอง บอกตัวเองได้ว่า จะอยู่หรือจะตาย มีความหมายคือเซฟ ปลอดภัยเหมือนกันนะครับ

*

*

- เหมือนฝึกแล้วติดเหม่อ ตาสอดส่าย ท่าทางไม่เที่ยง เมื่อดึงให้ท่ามันตรงอนิเมชั่น จะปวดประสาทที่หัวมาก พอรู้เห็นก็ตั้งมั่นบ้าง รู้สึกไม่เที่ยงมีการแปรผันตลอดเวลา ยกเว้นต้องการทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ

ดังตฤณ : แอนิเมชัน มีไว้ให้เทียบเคียงแล้วก็เป็นไกด์ไลน์ ให้เกิดความเข้าใจนะครับ พอเข้าใจแล้วไม่ต้องดูแอนิเมชัน ไม่ต้องกังวลถึงแอนิเมชันก็ได้นะ

*

*

- รู้สึกลมหายใจเข้าของตัวเองสั้น ตอนขยับมือเอาลมเข้า ต้องเค้น เพราะมันหยุดเร็วมาก พอท่าที่ 2 เริ่มจับจังหวะหายใจเข้าได้ดีขึ้น แต่ยังเมื่อยแขน รู้สึกถึงความเย็นของลมหายใจในโพรงจมูก มีความคิดจรมาบ้างเล็กน้อย แต่กลับมารู้ว่าคิดไปเร็ว พอท่าที่สามก็รู้สึกนิ่งดีอยู่ แต่ก็ไม่ได้รู้เห็นไตรลักษณ์

 

ดังตฤณ : ค่อยๆ เป็นค่อยๆไปนะ อย่างคุณจับจังหวะหายใจเข้าได้ดีขึ้น  อันนี้ เริ่มที่จะเป็นสัญญาณบอกนะครับว่า สติของคุณมาอยู่กับที่ๆ ถูก ที่ๆ ควร วิตักกะ วิจาระ นี่เริ่มจะก่อตัวขึ้นมา

 

คำว่าวิตักกะ หรือว่าวิตก คืออาการของจิตที่จะเข้าสู่ประตูสมาธิ

*

*

- มีแวบๆ เป็นพักๆ ที่เหมือนเห็นว่า .. อธิบายไม่ถูกค่ะ เหมือนคล้ายไม่มีแล้วเอ๊ะ ก็กลับมาค่ะ

 

ดังตฤณ : นั่นแหละตัวนี้ คิดเสียว่าเรากำลังกระเทาะเปลือก กระเทาะแผ่นปูนที่ห่อหุ้มเซฟ หรือว่าสมบัติภายในที่มีค่าสูงสุดในชีวิต

 

ค่อยๆ กระเทาะให้ออกมาทีละชิ้นทีละอัน ทีละเปลาะๆ  

 

ตรงที่บอกว่าอธิบายไม่ถูก ไม่ต้องพยายามอธิบายนะ แค่เห็นว่าไม่มีตัวเรานี่แหละ เห็นว่ากายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นสภาวะนี่แหละ ตัวนี้จะค่อยๆ กระเทาะแล้วยิ่งเรากระเทาะไว้เท่าไหร่ มีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญมากขึ้นเท่าไหร่ นี่แหละการกระเทาะแต่ละครั้ง จะแรงขึ้นๆ แล้วก็เห็นอะไรรำไรมากขึ้น เห็นเข้าไปข้างในชัดขึ้นๆ นะครับ 

*

*

- รู้ตัว รู้ลมหายใจ ผ่อนคลาย สบายตัวช่วงแรกเห็นแสงสว่างวาบ ๆ แล้วก็หายไป

 

ดังตฤณ : ธรรมดานะครับ พอจิตเริ่มมีความตั้งมั่นอยู่กับความสว่าง เริ่มรวมดวงได้เป็นปกติ ความสว่างก็จะชัดขึ้นๆ

 

ทีนี้จริงๆ แล้ว เราไม่ได้เน้น นะว่าจะต้องสว่างให้ได้ แล้วถึงมาเห็นภาวะทางกายทางใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตน

 

เอาแค่รู้ลมหายใจได้ชัดต่อเนื่อง ถึงแม้ไม่มีความสว่างก็สามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยงได้เช่นกันนะ เพียงแต่ว่าถ้าไปถึงความสว่าง เวลาเห็นสภาวะของกายของใจโดยความเป็นรูปนาม จะเห็นกระจ่างมาก จะเห็นชัดเจนแล้วก็ต่อเนื่อง

 

ตรงนี้คือที่แบ่งกลุ่มไว้ ไม่ใช่เพื่อเปรียบเทียบเทียบเขาเทียบเรา แต่เพื่อให้คุณเห็นตัวเองว่าอยู่ที่ตรงไหน แล้วก็จะมีพัฒนาการขั้นต่อไปอย่างไร

 

อันนี้ต้องเน้นมากๆ นะครับไม่อย่างนั้น จะเหมือนกับว่าที่ทำโพลไปเพื่อเทียบเขาเทียบเรา .. อย่างที่ผมย้ำเสมอว่า ไม่มีใครรู้นะว่าคุณเลือกข้อไหนนะครับ แต่คุณนี่แหละที่จะรู้ว่าตัวเองอยู่ข้อไหน แล้วจะพัฒนาต่อได้อย่างไร

*

*

- ตอนทำไม่ได้รู้สึกโล่งเบา มีฟุ้งบ้าง แต่หลังทำตอนนี้รู้สึกถึงลมหายใจชัดโล่งเบาสม่ำเสมอค่ะ

 

ดังตฤณ : ก็อาจเป็นการที่ว่าเราเคยทำสมาธิ หรือเคยปฏิบัติอะไรมา เคยชินอยู่กับการคุมตัวเองให้จดจ่อ หรือว่าให้พยายาม ให้เพียร แต่ใจเราจริงๆ พร้อมที่จะสบายอยู่ ถ้าหากว่าเลิกไปจดจ้อง หรือว่าไปพยายามมากเกินไปแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน

 

เมื่อไรที่เราแค่ถือของไว้แบบไม่ออกแรงบีบ แล้วก็ไม่อ่อนง่อกแง่กเกินไปของจะอยู่ในมือเราพอดี ด้วยกำลังที่ไม่ใส่ลงไป แบบมากเกินไป ไม่น้อยเกินไปนะ แค่ถือไว้เฉยๆ ถือไว้ให้ดู ถือไว้ให้รู้ว่า ยังไม่ตก แค่นั้นเพียงพอแล้ว 

 

อาการของใจประมาณนี้ เป็นแบบเดียวกันกับตอนที่คุณบอกว่า เลิกทำท่าทำทาง สังเกตว่าใจของคุณประมาณตอนนี้นี่ มีเหตุปัจจัยอะไรอยู่บ้าง เราแค่รู้อยู่เฉยๆ อย่างไรนะแล้วเอาใจแบบนั้นแหละ ไปใช้เป็นตัวตั้ง 

 

คือ ทำครั้งต่อไปนะครับ เราทำด้วยใจที่ไม่คาดหวัง ไม่ใส่น้ำหนักลงมากเกินไป ไม่ขี่ช้าง เพียงเพื่อที่จะจับตั๊กแตน ในที่สุดแล้วจะเกิดศิลปะในการบาลานซ์สตินะครับ ในการทำจิตให้อยู่กับร่องกับรอย ที่จะเห็นกายใจด้วยความเป็นสภาวะรูปนาม ในระยะยาวนะครับ จะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ

*

*

- กราบขอบพระคุณมากๆ นะคะ วันนี้จิตตั้งมั่น แยกออกมาจากกาย แม้กระทั่งตอนพิมพ์อยู่นี้ ก็ยังเห็นกายพิมพ์อยู่ แยกกับรู้ลมหายใจชัด และ

เป็นครั้งแรกที่เห็นความคิดเข้ามา รู้ชัดว่าคิด ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ไปยึดมันไว้แล้วปรุงต่อค่ะ ชุ่มชื่นเย็นมากค่ะ

 

ดังตฤณ : นี่แหละที่จะเป็นชนวนให้เกิดกำลังใจ ว่าเราทำได้

 

แล้วถ้าเราไม่ไปจำไว้ว่า ฉันทำได้แบบนี้ แล้วจะต้องทำได้แบบนี้ทุกครั้งในการปฏิบัติครั้งต่อไปนะ ถ้าเราไม่เข้าใจผิดแบบนั้นนะครับ เราทำครั้งต่อไปเราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ แล้วเห็นตามจริงว่า สภาพจิตของเรา สภาพชีวิตของเรา ณ ขณะนั้น ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเครื่องขวางสติ เครื่องขวางสมาธิหรือเปล่า หรือว่ามีความปลอดโปร่งมากพอที่จะเข้าทางสมาธิได้ไหม

 

แบบนับ 1 2 ทุกครั้ง ไม่พยายามก็อปปี้ผลสำเร็จที่เราเคยได้แล้ว แต่ว่าเริ่มนับหนึ่งใหม่เสมอ เพื่อที่จะไปสู่ความสำเร็จ

 

ในที่สุด ใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที .. 10 นาที 20 นาที เห็นไหมว่าเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้ โดยไม่ต้องไปเร่ง หรือว่าโดยไม่ต้องไปพยายามเค้น

 

ตรงข้ามถ้าเรามานั่งจ้องนะ ว่าเมื่อไรจะได้ผลสำเร็จแบบเดิม บางทีทำไปสองชั่วโมง สามชั่วโมง ไม่เกิดอะไรขึ้นเลยนอกจากความฟุ้งซ่าน เพราะว่า ตัณหา

 

ภวตัณหา พอเกิดครอบงำจิตใจแล้ว ไม่รู้จะเป็นสมาธิขึ้นมาได้อย่างไรนะจิตถูกห่อหุ้มไว้ด้วยของหนัก จิตถูกห่อหุ้มไว้ด้วยของเหนียวเหนอะ คือภวตัณหา ไม่มีทางเป็นสมาธิขึ้นมาได้

 

ต่อเมื่อเราเข้ามาตามลำดับนะครับ 1 2 3 มีความชัดเจน มีสูตรสำเร็จแบบนี้ พอคาดหวังได้ว่าอย่างน้อย จะเกิดวิตักกะ เกิดวิจาระ ขึ้นมาทุกครั้ง ที่เราทำสมาธิแบบนับหนึ่งใหม่ ในแต่ละครั้ง 

*

*

- ทำไมได้รับฟังประสบการณ์จากท่านที่ หาตัวเองไม่เจอจน เฮ้ย!ตัวตนภายในก็กลับ .. รู้สึกปลื้มปีติไปกับเขาด้วย ว่าพี่เขาได้เจออาการดังกล่าว

ร่วมกับการอธิบายจากคุณดังตฤณแล้ว เห็นว่าชัดๆ การปฏิบัติเลยค่ะ

 

ดังตฤณ : ผมมีโอกาสรับฟังมาเยอะ แล้วก็จะพบสิ่งที่ตรงกันอย่างหนึ่งนะ

 

ถ้าคนที่ปฏิบัติตรงทาง ไปถึงจุดที่ .. กายนี้ ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ด้วย ใจนี้ไม่ใช่ตัวเราจริงๆด้วย .. ที่บรรลุมรรคผลก็เพราะว่า จิตรวมลงเป็นสมาธิระดับฌานไม่ได้

 

และที่รวมลงเป็นสมาธิระดับฌานไม่ได้ ก็เพราะจิตกระตุกนะ จิตถูกดึงไว้ รั้งไว้ หวงไว้ ด้วยตัวตนแบบเก่า อำนาจของตัวตนแบบเก่า จะพยายามห้ามเราไม่ให้ไปต่อ ไม่ให้ไปถึงสุดทาง

 

ต่อเมื่อเราทำซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ ทำในทุกวาระ ทุกโอกาสที่เราว่างพอที่จะกลับมาดูกายใจ ในที่สุดจะเกิดความชิน เกิดความรู้สึกเฉยๆ ไม่ไปแปลกใจหรือว่า มีความกังวลใจ หรือว่ามีความหวงแหนอะไรนะ

 

ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นอุเบกขาขึ้นมา มีความสว่างภายในที่ตั้งมั่นขึ้นมา เป็นอีกแบบหนึ่ง แบบที่จะรู้สึกสูงส่งมากเลยนะ จะรู้สึกเบาว่อง จะรู้สึกว่าความไม่มีตัวตนของจิตนี่ หน้าตาเหมือนเทพในร่างมนุษย์อะไรแบบนี้ เทพที่แฝงลงมา

 

แต่พอเราข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง คือเห็นความสว่าง ความตั้งมั่น หรือความสูงส่งอะไรนั่นแหละ เป็นแค่อีกสภาวะหนึ่ง มาหลอก มาเป็นเหยื่อล่อให้งับนะ แล้วเราไม่งับ  

 

เราเห็นว่า ตั้งขึ้นมาเดี๋ยวก็เสื่อมลงได้ เดี๋ยวก็ล้มไปได้ ล้มหายตายจากได้เห็นบ่อยๆ จนกระทั่งไม่เกิดความอาลัยใยดี แม้กระทั่งสภาพที่สูงส่งนะ ทุกอย่างคืนสู่สามัญหมด คืนสู่ความไม่ใช่ตัวเดิมหมด

 

ตัวนี้ในที่สุด ก็กลายเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่มาดูลมหายใจ ไม่ใช่มารวบรวมเอาวิตักกะ วิจาระ แต่เป็นสมาธิในแบบที่จิตของเขา มีคุณภาพที่จะตั้งรู้ ตั้งดู อยู่เองนะ

 

เหมือนกับจิต กลายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือมิติของการปรุงแต่ง จากสภาพแวดล้อม หรือจากสภาพภายในของกายใจ มีแต่ธรรมชาติของการรู้เพียวๆ (pure) อยู่อย่างเดียว

 

ด้วยความรู้เพียวๆ ที่ไม่ตัดสินอะไรทั้งสิ้น แต่จะพอใจเห็นตามจริงว่า เกิดอะไรขึ้น แล้วอะไรนั้นที่เกิดขึ้น ดับไปเมื่อไหร่ ตัวนี้เกิดความเป็นกลางที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ อีกนิดเดียว ก็สามารถที่จะถอดถอนในสิ่งที่เป็นพันธะ ออกไปจากตัวได้ ที่เกาะกุม ที่ห่อหุ้มมุมบังอยู่ ก็จะถูกกระเทาะหายไปนะครับ 

*

*

- จากที่เคยทำอานาปานสติ จะรู้สึกอึดอัด เลยใช้พุทโธ และดูที่ความรู้สึก แต่วันนี้ลองทำตามอีกครั้ง รู้สึกว่าไม่อึดอัด และตามรู้ลมหายใจตาม

มือที่เคลื่อนไหว และพอลองดูลมหายใจอย่างเดียว โดยไม่ใช้มือ ผลคือ ไม่อึดอัด ต้องขอขอบพระคุณมากๆๆค่ะ และขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

 

ดังตฤณ : จุดประสงค์จริงๆ นี่ ไม่ว่าผมจะใช้อุบายอะไรมาก็ตาม เพื่อแค่ตรงนี้แหละ

 

ถ้าเราสามารถที่จะทำอานาปานสติได้ นี่ .. ตัวนี้มาได้ข้อสรุปตรงกันนะครับว่า อานาปานสติ ช่วยให้เราเข้ามาเห็นสภาพทางกาย สภาพทางใจได้ง่ายกว่าวิธีอื่นจริงๆ

*

*

- เห็นลมหายใจชัด และเบาขึ้น เห็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย รู้สึกนิ่งสงบเบาสบายค่ะ

 

ดังตฤณ : ความนิ่ง ความสงบ ความเบา ความสบายนั้น ได้แล้วก็ดีนะ ก็ทำให้เราเกิดฉันทะ แต่เราก็ต้องเห็นตัวเองด้วยว่า อยู่ตรงจุดของสมถะนะครับ แล้วก็ถ้าสมถะของเราอิ่มตัวแล้ว มีความเข้มแข็งแล้ว มีความพร้อมจะรู้แล้ว ก็ยกระดับตัวเองขึ้นไปเป็นวิปัสสนาด้วย

 *

*

- ทำตามอาจารย์แล้ว ไปเกิดการรู้สึกโกรธพร้อมกับลมหายใจที่สั้นครับ ผมว่ามันเจ๋งมากๆครับ

 

ดังตฤณ : คือหมายความว่ามีเหตุอะไรมากระทบให้โกรธ แล้วสามารถเห็นว่า ความโกรธนั้นมาพร้อมกับลมหายใจที่สั้น .. ก็เดานะ เดาจากเฉพาะคำพูดที่เขียนมา

 

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรูปกับนามแบบใดก็ตาม ขอให้ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ทำให้เราเก็บเอาจิ๊กซอว์ของอนัตตามาประกอบรูป ประกอบร่าง ชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ภาพทั้งหมดของอนัตตาเกิดเต็มแล้ว ตรงนั้นแหละ ที่จิตจะเลิกหวงไว้ ว่ามีตัวตนของเรา .. มีตัวของเราอยู่แน่ๆ จะเห็นแต่สิ่งที่ปรากฏอยู่นี่ ตามที่เป็นอยู่ ชั่วกัปชั่วกัลป์ เป็นอนัตตามาตลอด ไม่เคยเป็นอัตตาเลย

*

*

- เข้าสมาธิได้เร็วขึ้นค่ะ แต่ไม่รู้สึกปีติ แต่ก็ไม่อยากออกจากสมาธิค่ะ และยังไม่เห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเราค่ะ ขอบคุณอาจารย์และทีมงานและขออนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ

 

ดังตฤณ : ที่บอกว่าไม่อยากออกจากสมาธินั่นแหละ คือมีความอิ่มใจแล้ว ความอิ่มใจก็เป็นปีติชนิดหนึ่ง ปีติในองค์ฌาน ก็เริ่มต้นขึ้นมาจากความอิ่มใจนั่นแหละ

 

ความอิ่มใจ เป็นการสะท้อนว่า ร่างกายของคุณไม่เครียดไม่เกร็งแน่น 

ความอิ่มใจ สะท้อนว่าจิตของคุณ ไม่ดิ้นรนกระสับกระส่าย จะออกไปข้างนอกอยู่แน่ๆ ซึ่งนี่เป็นส่วนประกอบของความวิเวกทางกาย ทางใจทั้งสิ้น 

 

ซึ่งถ้าหากว่าคุณทำให้มีความสืบเนื่อง เกิดขึ้นบ่อยๆ ในที่สุดแล้ว วิเวกนั้นจะไปถึงจุดที่มีกำลังมากกว่าความกระสับกระส่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบชีวเคมี ไม่ว่าจะเป็นความฟุ้งซ่านของจิต ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของโลกภายนอกอะไรนี่นะ ความวิเวกนี้จะเอาชนะได้หมด และวิเวกนี่แหละ ที่จะทำให้คุณรู้จักกับความชุ่มฉ่ำ เหมือนน้ำพุที่ผุดขึ้นจากภายในอีกแบบหนึ่ง 

*

*

- ช่วงที่ตามลมเข้าลมออกทำได้ดี แต่พอช่วงที่วางมือกับช่วงที่มือประสานตรงหน้าผาก 2 ช่วงนี้ใจจะเผลอ เหมือนคล้ายจะหลับค่ะ เหมือนมันลอยๆค่ะ

 

ดังตฤณ : อันนี้แหละ ที่ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่าหลายคนเป็นแบบนั้นนะครับคือจะหลุด สติจะหลุด ทั้งๆ ที่เราได้เครื่องไกด์นะ ตัวช่วยไกด์ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว

 

คือถ้ายิ่งเป็นลมหายใจที่ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้ ยิ่งยากกว่านี้เป็น สิบเท่า เป็นร้อยเท่านะ

 

ขอให้ ลองทำแบบลืมตาไปก่อน ทำตามแอนิเมชันนั่นแหละ ไม่ต้องเป๊ะแบบแอนิเมชัน แต่ว่าให้แอนิเมชันเป็นตัวช่วยไกด์นะครับ แล้วก็ลืมตาดูไป 

 

เมื่อเรารู้สึกถึงจังหวะของจิตที่จะเริ่มเหม่อ ก็อาจจะแบบ .. อันนี้อุบายเฉพาะนะ สมมติว่าเรามาอยู่ที่นี่ แล้วเราบอกว่าเริ่มเบลอๆ ขึ้นมา เราก็อาจสั่นๆ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ขึ้นมา ว่าไม่เอาๆ ไม่เหม่อ

หรือทำมือทำไม้ให้เกิดการเคลื่อนไหว เพราะการเคลื่อนไหว เป็นตัวกระตุ้นที่ดี ที่จะทำให้จิตของเรา เกิดความตื่นตัวกลับมาใหม่นะครับ

*

*

- รู้สึกเบาๆ สบายตัวและสว่างๆ ตอนทำท่าที่สองค่ะ แล้วรู้สึกสงบนิ่งมากขึ้นตอนทำท่าที่สามค่ะ

ดังตฤณ : ก็เป็นขั้นเป็นตอนไป 

________________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน จากสมถะสู่วิปัสสนา

- รวมฟีดแบค

วันที่ 22 สิงหาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : 

https://www.youtube.com/watch?v=TUra9g27ISI&t=1339s

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น