ดังตฤณ : ทำบ่อยๆ ที่คุณถามมานี่ ตัวคำถามเอง แสดงให้เห็นอยู่แล้ว สะท้อนเลยนะว่า คุณไม่ได้ทำมาตามขั้นตามตอน
อาจจะทำตามที่เราบอกท่าบอกทางกันมา
แต่ว่าใจ คิดอยู่อย่างเดียวว่า จะสละความฟุ้งซ่าน
จะต่างกันมากนะ
คือความใจจดใจจ่ออยู่ว่า เราเลิกฟุ้งซ่านหรือยัง หยุดคิดได้เสียทีหรือยัง
กับการมาทำตามขั้นตามตอน
อย่างใจเย็นโดยไม่คาดหวังว่าจะให้ความฟุ้งซ่านหายไป ต่างกันมโหฬารเลย
ผิดกันคนละทิศคนละทางเลย
พอเริ่มออกตัวมาด้วยการค่อยๆ
ใจเย็น เห็นว่าหายใจอย่างไรอยู่ โดยอาศัยมือช่วยไกด์ คุณจะค่อยๆ
เห็นเช่นกันว่าจิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทีละนิดทีละหน่อย
จากตอนแรกไม่รู้สึกถึงลมหายใจเลย
กลายเป็นรู้เพิ่มขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย แล้วก็รู้ต่อเนื่องมากขึ้นๆๆ
จากนั้นพอเริ่มเข้าที่เข้าทาง เริ่มรู้สึกว่าเราก็รู้ได้เหมือนกัน
อย่างใช้มือไกด์ข้างเดียวนี่
ท่าที่หนึ่งนี่ บางคนอาจต้องใช้เวลาสัก 20 นาที
หรือครึ่งชั่วโมงกว่าจะเข้าที่เข้าทาง แต่ไม่สำคัญว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน
สำคัญตรงที่ว่า เข้าที่เข้าทางได้เหมือนกัน ได้จุดหมายเหมือนกัน
เมื่อเรารู้สึกว่า
รู้ลมหายใจได้ชัดแล้ว ก็มารู้สองมือต่อ เพื่อให้เกิดปีติ
เกิดความผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว
ตรงที่มีความรู้สึกผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว
ความฟุ้งซ่านหายไปเอง โดยไม่ต้องมาตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรถึงจะหายไป
แล้วจากนั้น
คุณสำรวจ สอดส่องในชีวิตประจำวันด้วยว่า คิดอย่างไร มองอย่างไร พูดอย่างไร
หรือลงมือทำอะไรแล้วมีความใกล้เคียงกับตอนที่เราทำสมาธิได้ผล
คุณจะเห็นว่า
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ หัดให้ทาน หัดถือศีล รักษาศีลให้สะอาด
หัดคิดในแบบที่เป็นระเบียบ มีความเป็นเส้นตรง ไม่วกวนพายเรือในอ่าง
ไม่เก็บอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ มาใส่ใจ ไม่ถือสา อภัยง่าย อภัยเก่ง
มีส่วนทั้งหมด
ที่จะช่วยให้ความปรุงแต่งทางจิตสงบระงับลง ความฟุ้งซ่านจะน้อยลงๆ
ไม่ใช่แค่การทำสมาธิอย่างเดียว
แต่เป็นการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
_________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน เราจะตั้งจิตมั่น
-
ช่วงถาม-ตอบ
วันที่
14 สิงหาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=CeLpDqgmhNc
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น