- รู้สึกโพรงว่างเหมือนถ้ำมืด
ดังตฤณ : ตรงโพรงว่าง
ผมเข้าใจว่าคุณพูดถึงความรู้สึกที่ลึก มีความกว้างยาวลึก
ซึ่งตรงนั้นเป็นจิตที่ขยายออก แต่ถ้าบอกว่ายังมืดอยู่ นั่นแสดงว่า ความว่าง
ความกว้างตรงนี้ ยังอาจจะไม่มาบวกเข้ากับความสว่างของจิต ขอให้ทำไปเรื่อยๆ
ที่รู้สึกถึงความว่าง เป็นโพร่งว่าง
อย่างน้อยคุณเห็นแล้วว่า มีมิติ มีกว้างยาวลึก ที่แตกต่างจากอะไรแบนๆ
ตอนจิตคิดอยู่ในโหมดฟุ้งซ่าน จะเป็นอะไรแบนๆ
แต่ถ้าหากว่าจิตเริ่มอยู่ในสภาพรู้ จะเริ่มมีมิติ แต่ทีนี้ที่จะสว่างขึ้นมา
ก็ขึ้นกับว่าจิตของคุณเปิดออก เบิกบาน และพ้นจากการครอบงำของประสาทหยาบๆ
แล้วหรือยัง
ถ้าหากว่ายังอยู่กับประสาทหยาบๆ นะครับ พูดง่ายๆ
ว่ายังพร้อมจะคิด จิตจะยังไม่เปิดออกในแบบที่มีแสงสว่างฉาย
จิตจะเริ่มมีแสงสว่างฉายตอนที่เบา แล้วมีความรู้ที่ค่อนข้างตั้งมั่นระดับหนึ่ง
ลองสังเกตดูถึงความต่างในการทำแต่ละครั้ง
ตอนนี้ผมอาจยังไม่มีคลิปเต็มๆ ให้ อาจต้องย้อนกลับมาดูก่อน ยังไม่เรียบร้อย
ของจริงจะมีรายละเอียดทุกอย่างครบเลย แต่อันนี้ มาให้ดูแบบพอรู้เรื่องก่อน
สำหรับคืนนี้นะครับ
- สงบ แต่ไม่รู้สึกถึงปีติ
ดังตฤณ :ตัวสงบ คือใน choice ของโพล ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องความสงบ เพราะไม่อยากให้ความสำคัญกับตรงนี้
อยากให้ความสำคัญกับตรงที่ว่า คุณมีความรับรู้ถึงลมหายใจได้ต่อเนื่องหรือเปล่า
นี่สำคัญอันดับหนึ่ง
อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อนส่วนใหญ่ก็บอกว่า
สามารถจะรับรู้ถึงลมหายใจได้ต่อเนื่อง หรือแม้จะรู้ได้บ้าง ไม่รู้ได้บ้าง
ก็เอาเป็นว่ารู้ได้ชัดกว่าปกติ
ทีนี้ ตรงที่จะเกิดปีติได้หรือเปล่า
ขึ้นอยู่กับว่าเราหายใจได้ใกล้เคียงกับคนที่มีภาวะของอุปจารสมาธิแค่ไหนนะครับ
พอทำไปเรื่อยๆ อย่างทั้งหมดเลยตั้งแต่ต้น จนกระทั่งจบนี่นะ โดยกระบวนการ
ก็คือการเลียนแบบภาวะของคนที่ได้อุปจารสมาธินั่นเอง
- หายใจออกไม่สมูธเลยค่ะ แบบขาดช่วง แอบเหนื่อย ตอนหายใจออกพยายามยังไงก็ไม่ได้ค่ะ หายใจเข้าได้ แต่พอออก เหมือนตามมือไม่ทัน
ดังตฤณ : ลองสักสองสามวัน แล้วคุยกันใหม่
ที่ไม่สมูธนี่อย่างหนึ่งเพราะอาจติดอยู่กับช่วงความรู้สึกว่า ต้องเกร็งกำลัง
แต่พอคุณคุ้นกับวิธีตรงนี้แล้ว
แล้วเกิดความรู้สึกว่าเป็นอัตโนมัติ ไม่ได้รีบร้อน
ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดอะไรขึ้นมา พอเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ความสมูทจะมาเอง
แล้วตรงนี้ จากที่ดูความคืบหน้า ดูพัฒนาการของคนที่ทำมาหลายๆ ครั้ง ซ้ำๆ นี่นะ
แม้กระทั่งว่าฟุ้งซ่านจัด หรือว่าหายใจไม่อิ่ม ไม่สะดวก ก็กลายเป็นว่าหายใจอิ่มมากขึ้นๆ
ในแต่ละครั้งที่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าทำได้สักครึ่งชั่วโมง โดยที่มีความสุข
มีปีติ มีความอิ่มใจ จะเห็นเลยว่า ระบบทางเดินหายใจดีขึ้น
แม้กระทั่งในชีวิตประจำวันก็สามารถรู้สึกได้นะครับ
- รับรู้ได้ว่าหายใจยาว
ตอนทำท่าที่สอง ขนลุกซู่ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำก่อนหลับตา ทำไปสักพัก
อาการขนลุกหายไป
ดังตฤณ : ขนลุกก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นของปีติ
แต่ว่าถ้าเป็นปีติจริงๆ ปีติอันเกิดแต่วิเวก จะไม่ใช่ขนลุกแบบนั้น
อันนี้เป็นสัญญาณเริ่มต้นว่าเข้าใกล้ แต่ตัวปีติจริงๆ
ก็ขอให้ทราบว่าเป็นปีติแบบเยือกเย็น เป็นปีติแบบที่จะมาจากรสชาติของจิตที่ไม่กระสับกระส่าย
ไม่ดิ้นรน รสชาติของภาวะผ่อนพักทางกาย ที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเลยที่เกร็ง
หรือแม้แต่อาการที่จะเกินๆ
ออกมา เช่นขนลุกอะไรแบบนี้ ก็จะหายไป กลายเป็นความเย็นซ่านอีกแบบหนึ่ง ที่ชุ่มเย็น
เหมือนเอาทั้งตัวจุ่มลงในน้ำ
- จับอยู่ที่ลมหายใจ
สงบ ทำต่อได้ไม่ฟุ้งซ่าน
ดังตฤณ : เรียกว่าเข้าข่ายกายใจระงับไม่กวัดแกว่ง
กายสงบระงับไม่กวัดแกว่ง ใจสงบระงับไม่กวัดแกว่ง
- มีสติอยู่กับลมหายใจ
โล่งนิ่งเป็นการพักผ่อนที่สบายจริงๆ
ดังตฤณ : จะใกล้เคียงกับความรู้สึกที่จะเอ่อขึ้นมาเรื่อยๆ
ยิ่งเวลานานขึ้น ก็จะเห็นเลยว่าปีติเอ่อ มากขึ้นๆๆ
คือตอนนี้เราทำกันไปแค่
5 นาที แต่ถ้าหากว่าทำนานกว่านี้ ตัวความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย จะทำให้ ..
ถ้าอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือหลั่งสารดีๆ ออกมานะครับ พวกเอนโดรฟิน
แล้วถ้าสารฉีดออกไปทั่วตัว เราก็จะรู้สึกราวกับว่า ทั้งตัวจุ่มอยู่ในน้ำเย็นที่มีความสดชื่น
สบาย แล้วก็ที่รู้สึกผ่อนพัก ก็จะพักแบบเต็มที่สุดขีด
- รู้สึกว่าไม่ขยับแขน
มือ จะสงบกว่าค่ะ ถ้าขยับเหมือนใจไปจดจ่อกับการขยับให้สอดคล้องกับการหายใจ
ดังตฤณ : ถ้าหากว่าทำเป็นอยู่แล้ว หรือว่าหายใจได้ดีอยู่แล้วก็โอเค
อาจไม่ต้องใช้มือช่วยก็ได้
- เข้าสมาธิได้เร็วมากค่ะ
ความฟุ้งซ่านตัดออกไปเลย แค่ไม่กี่นาที
ดังตฤณ : น่าจะอยู่ใน 8%
ที่อยู่ในผลโพลนะครับ
- จิตนิ่ง
สบาย ลมหายใจชัดมาก มีปีติสุขเกิดขึ้นค่ะ
ดังตฤณ : ย้ำอีกทีว่าขึ้นอยู่กับจังหวะของแต่ละคนด้วย
ถ้าอยู่ใน 8% ย้ำอีกทีไม่ได้หมายความว่าใครเหนือกว่าใคร
และนี่เป็นแค่ 5 นาทีเท่านั้น
เพื่อที่จะให้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เราอาศัยมือช่วยไกด์
แต่ไม่ได้เป็นเครื่องประกัน
สำหรับท่านอื่นๆ
ที่ทำไม่ได้อย่าง 8% ไม่ใช่ว่า
ท่านจะทำไม่ได้หรือว่าน้อยหน้า อย่าไปมองอย่างนั้น ขอให้ลองทำซ้ำ ท่านจะทำไม่ได้
หรือน้อยหน้า อย่าไปมองอย่างนั้น ขอให้ลองทำซ้ำ แล้วก็ทำนานขึ้น มากขึ้น
ผมเชื่อว่าเปอร์เซ็นต์จะสูงขึ้นนะครับ
อย่างถ้าหากว่าตั้งอกตั้งใจ
มีความเต็มใจ ทำสักครึ่งชั่วโมงต่อเนื่อง แล้วทำถูกทางจริงๆ แล้วก็เป๊ะจริงๆ
ก็จะเข้าข่าย 8% มากขึ้น
อาจเพิ่มขึ้นสัก 30% อะไรแบบนี้
- สมาธิอยู่ที่มือ
และลมหายใจค่ะ ไม่รู้ว่าเกิดปีติไหม แต่นิ่งได้สักพักค่ะ
ดังตฤณ : ถ้าไม่ได้เกิดปีติชัด ไม่ต้องไปหา
ไม่ต้องไปค้นหานะครับ สำคัญคือพออยู่กับมือและลมหายใจ เราบอกตัวเองได้เลยว่ามีวิตักกะและวิจาระแน่ๆ
ส่วนถ้าไม่แน่ใจว่ามีปีติไหม แปลว่ายังไม่มี มีแค่ความรู้สึกอิ่มใจธรรมดา เฉยๆ
เป็นความรู้สึกพอใจเฉยๆ ไม่ได้มีความรู้สึกปีติแรง
ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะเป็นความรู้สึกที่เหนือกว่าธรรมดาอย่างไร
พิเศษกว่าธรรมดาอย่างไรนะครับ
- ช่วงหงายมือ
หายใจ1จังหวะ
ค้างไว้ที่หน้าอกอีก1จังหวะ
สบายสุดคือตอนทำครึ่งวงกลมแล้วหายใจออกมืออยู่ที่หน้าตัก
ดังตฤณ : นั่นเพราะเวลาวาดมือเป็นครึ่งวงกลม จะบังคับให้ลมหายใจคุณเข้าปอดสุด
บางคน
ถ้านั่งอยู่ธรรมดา จะหายใจไม่ได้สุด อาจเพราะมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้
หรือเพราะมีปัญหาเรื่องหอบหืด บางคนมีปัญหาเรื่องโครงกระดูก
บางคนมีปัญหาเรื่องเส้นเอ็น มีปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนปอดเล็กอย่างนี้
ถ้าหากว่ามาอาศัยท่ากายบริหารมาบวกเข้านิดหนึ่งอย่างนี้
โอกาสที่จะรู้สึกว่า หายใจได้อิ่ม หายใจได้เต็ม จะสูงขึ้นแบบมากเลย
แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ จะรู้สึกว่าหายใจได้ลึกขึ้น อิ่มขึ้นนะครับ
- ออกกำลังกายอยู่แล้วเลยไม่เมื่อยเท่าไหร่ค่ะ
สมองโล่งขึ้นเยอะเลยค่ะ
ดังตฤณ : เรื่องสมองโล่ง ก็เป็นปกติธรรมดาของคนที่ทำสมาธิ
เคยอธิบายไปแล้วนะครับ ถ้าสมองส่วนหน้าลดการทำงานลง สมองช่วงครึ่งหลัง
ทำงานมากขึ้น ทำงานดีขึ้น เราจะคิดน้อยลง ความฟุ้งซ่านจะเบาบางลงเอง
โดยไม่ต้องไปพยายามฝืน ไม่ต้องห้ามใจให้คิดน้อยๆ ไม่ต้องห้ามใจให้คิดว่า
อย่าไปคิดมาก จะคิดน้อยลงเองเพราะสมองส่วนหน้าลดการทำงานลง
- รู้สึกถึงลมหายใจตลอดเวลาที่ทำ
มีสติตามลมหายใจตลอด ไม่หลุด ไม่ง่วง แต่จังหวะหายใจกับการยกมือ
ยังไม่สัมพันธ์กันดี ไม่เกิดปีติใดๆ
ดังตฤณ : ยิ่งทำซ้ำ ยิ่งทำบ่อย
จะยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลง ความคืบหน้านะ
พอมือไปถึงศีรษะ
โล่งค่ะ โล่งมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว
ดังตฤณ : อาทิตย์ที่แล้วเราใช้มือไกด์
พูดง่ายว่าเราหายใจตามปกตินั่นแหละ
แล้วเอามือมาเป็นตัวสำรวจดูว่าหายใจไปถึงไหนแล้ว
แต่สัปดาห์นี้
มีการใช้ท่าประกอบเข้ามาปรับปรุงวิธีหายใจให้ลึกขึ้นดีขึ้นนะครับ
แล้วก็ถ้าลองไปทำด้วยตัวเองดู จนเกิดความชำนาญ เกิดความคุ้นเคยแล้ว คุณจะเห็นว่าแม้กระทั่งการวาดมือออกเป็นครึ่งวงกลม
บางคนจะเห็นเหมือนกับมือสว่างนวลอยู่ในใจ แล้วสังเกตจิตตัวเอง จะเห็นว่า
จิตมีอาการเปิดออก มีอาการที่เปิดกว้างขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่ตรงหน้า อย่างที่เคย
ลมหายใจชัด
สติระลึกรู้ตลอด สบาย ปีติมากๆค่ะ
ดังตฤณ : ก็น่าจะอยู่ใน 8% นะครับ
คุณลองทำไปเรื่อยๆ กลุ่ม 8% นี่โอกาสที่จะคืบหน้าไปเรื่อยๆ
จะสูงมากเลย
แต่ที่เป็น
49%
ครึ่งหนึ่งที่บอกว่าสามารถรู้ลมหายใจชัดได้ แต่มีแค่ความรู้สึกอิ่มใจธรรมดา
ก็ไล่ทันได้ไม่ยากนะครับ คือตรงนี้ไม่ใช่การแข่งกัน ย้ำทุกครั้งเลยนะครับ จะได้ลดการต้องมาพยายามให้ตัวเองขึ้นมาดีๆ
อะไรแบบนั้นนี่ ไม่จำเป็นนะครับ เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งกัน นี่คือการพัฒนาการ
นี่คือการพัฒนาไปตามลำดับขั้น ซึ่งแต่ละคนมีจังหวะ ก้าว ที่แตกต่างกัน
ที่สำคัญคือถ้าไปในทิศทางเดียวกัน
และเป็นทิศทางที่ใช่ ในที่สุดแล้วจะคืบหน้าไปเรื่อยๆ
อย่างเมื่อครู่นี้
ถ้าผมยืดเวลาออกเป็น 10 นาทีก็อาจมีฟีดแบคที่เข้าข่ายแบบคุณเพิ่มขึ้น
ผมกะไว้น่าจะสัก 30% นะ ถ้ายืดเวลาออกเป็น
10 นาที
และถ้ายืดเวลาออกเป็นครึ่งชั่วโมง
อาจถึง 40% ได้
นี่ก็ช่วยกลับมาเล่าให้ฟังด้วยก็แล้วกันว่า พอกลับไปทำเองแล้ว ยืดเวลาออกไปเป็น 10
นาที 20 นาที ครึ่งชั่วโมงแล้ว ผลเป็นอย่างไร
แค่คุณจำตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นได้
เป็นจุด start ได้ เป็น
springboard ได้ กลับไปทำเองแล้วเป็นอย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังด้วย
แบบยกมือทีละข้าง
ถูกจริตตัวเองมากกว่าค่ะ
ดังตฤณ : แบบนั้นจะทำให้ลมหายใจชัด ทดลองดูว่า
ถ้าต่อยอดด้วยการวาดมือแบบนี้ อีกสัก 2-3 ครั้ง ให้โอกาสอีกสัก 2-3 ครั้ง
ดูว่าคุณจะชอบทำควบคู่กันไปแบบนี้ ตามลำดับอย่างนี้ได้มากกว่าเดิมไหม นะครับ
- ตั้งแต่ตั้งใจนั่งสมาธิมา
จะชอบเพ่งบริเวณหน้าตรงจมูก ทำให้รู้สึกตึงบริเวณหน้า
แต่วันนี้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมากครับ สามารถรู้ลมได้ดี
จะมีก็แต่ความอึดอัดเวลาหายใจเข้านิดหน่อยครับ
ดังตฤณ : เวลาหายใจเข้า น่าจะหมายถึงหายใจเข้าตอนแรก
คือที่ผมมาเน้นเรื่องการหายใจด้วยท้อง
เพราะว่าถ้าหายใจแบบปกติ คนธรรมดาทั่วไป โอกาสที่จะเกิดปีติและสุข
แทบจะเป็นศูนย์เลย เท่าที่สังเกตมาหลายสิบปี ทั้งจากตัวเองและคนอื่น
เพราะฉะนั้น
วันนี้ อาจดูเหมือนกับให้ทำอะไรยากนิดหนึ่ง แต่ลองทำไปสัก 2 – 3 วัน
แล้วถ้าคุณเห็นผลต่าง มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
ท้องเหมือนป่องออกมาเองแล้วหายใจได้ลึกขึ้น โดยที่ไม่ต้องฝืนบังคับ
ในที่สุดจะมีความก้าวหน้า มีความคืบหน้าขึ้นแน่นอนนะครับ แบบเห็นผลภายใน วัน
สองวันเลย
- ทรวงอกโล่ง
เหมือนมีหลุมของลมค่ะ
ดังตฤณ : นั่นเป็นนิมิตของจิตที่รู้สึกถึงความว่าง
ที่เกิดขึ้นจากการที่เรามีจิตเริ่มเป็นสมาธินะครับ จะเห็นเป็นหลุมว่าง
จะเห็นแผ่ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
หรือจะรู้สึกว่ารับรู้ขอบเขตอานาบริเวณที่เรานั่งอยู่ในห้องปัจจุบันได้
นั่นเป็นเรื่องของ .. ถ้าเทียบเป็นสมองก็คือว่า ระบบการทรงตัวสามารถรับรู้ทิศทางได้อย่างแจ่มชัด
แต่ถ้ามองเป็นจิตก็คือว่า
จิตมีการปรุงแต่งในแบบที่ทำให้เห็นนิมิตเป็นความว่างประมาณไหน
บางคนเริ่มต้นจากการเห็นเป็นหลุมใหญ่
บางคนรู้สึกแผ่กว้างไกลออกไปเท่าขอบฟ้า บางคนรู้สึกราวกับว่า
จิตกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่มีเครื่องห่อหุ้ม เห็น 360 องศาเลย แผ่ออกไปเท่าจักรวาล
นี่ก็เป็นนิมิตที่ปรุงแต่งจิตต่างคน
ต่างไป แล้วก็แม้แต่คนเดียวกัน ก็ต่างไปได้เรื่อยๆ
ขอแค่เราทำไว้ในใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น ว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นแค่การปรุงแต่งจิต
เป็นแค่การปรุงแต่งของจิต ทำให้จิตเห็นนิมิตอย่างไรชั่วคราวขึ้นมา
จะไม่ได้มีความพิเศษ
ไม่ได้มีน่าอัศจรรย์ เพราะในที่สุดแล้ว ก็ต้องหายไปหมด ไม่เหมือนเดิมหมด
ไม่ใช่ตัวเดิมหมด ไม่ใช่ตัวเราทั้งหมด
และการที่เราเห็นได้ชัดว่านิมิตเหล่านั้น
ไม่ใช่ของๆ เรา ไม่ใช่ตัวเรา จะเป็นการเห็นที่ไม่ต้องมีข้อโต้แย้ง
จะเห็นชัดออกมาจากสมาธิ เห็นชัดออกมาจากการที่เรามีสติ เกินธรรมดา
เกินกว่าที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
- ใช้มือแบบสัปดาห์ที่แล้ว
ตามลมได้ง่ายและชัดเจนกว่าค่ะ วันนี้จะติดขัดบ้าง
เหมือนต้องอั้นลมหายใจนานตอนยกมือขึ้น
ดังตฤณ : ตอนนี้ยังไม่คุ้น คือมีของใหม่อยู่ 2 จุดเลย
ซึ่งผมก็คิดไว้ว่าอาจยังยากอยู่ สำหรับหลายๆ ท่านนะครับ อย่างเช่น
เราต้องพองท้องขึ้นมา แล้วก็ต้องวาดมือลงให้สุด
แต่ถ้าทำจนคุ้นแล้ว
ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะพบว่าระบบการหายใจที่ดีขึ้น เราไม่ต้องคิดเรื่องสมาธิก็ได้
คิดเรื่องชีวิตทั้งชีวิตเลย คุณจะรู้สึกว่า
ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้นออกมาจากข้างในเลยนะครับ
- การใช้สรีระช่วยในครั้งนี้
เป็นการช่วยดีกว่าคราวที่แล้วครับ รู้ลมหายใจได้ดีกว่ารูปแบบที่แล้วครับ
ดังตฤณ : แล้วแต่คน คนนี้ (ผู้ส่งคอมเมนท์) จริงๆ แล้วก็มีปัญหาเรื่องการทำสมาธิมาก่อน
เข้าสมาธิได้ยากอะไรแบบนี้ ถ้าบอกแบบนี้แสดงว่า มีพัฒนาการ
แสดงว่าถ้าหากว่าทำได้เป๊ะๆ ตามขั้นตอนมีผลในทางบวกแน่นอนครับ
- รู้สึกหายใจลึก โล่ง สงบนิ่ง ไวมากค่ะ
ดังตฤณ : แสดงว่าร่างกายมีความยืดหยุ่น
ซึ่งถ้าหากว่ายิ่งทำ จะยิ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ตัวความรู้สึกว่าสงบนิ่งได้ไว
ขอให้สังเกตด้วยนะ สภาวะทางกาย จะเหมือนกับมีความใส มีความเบา มีความยืดหยุ่น
อย่างเช่น ท้องพร้อมจะพองออกมา ป่องออกมาได้มากขึ้น ง่ายขึ้น แล้วก็เวลาที่คงลมหายใจไปจนสุด
จะมีความสบายเนื้อสบายตัวมากขึ้น ไม่มีความเกร็ง
แต่หลายๆ
ท่านถ้ายังไม่คุ้น อาจรู้สึกว่าฝืน รู้สึกว่าเกร็งอยู่
- วิธีการวันนี้ทำแล้วเกิดปีติสุข
ฉ่ำเย็นไปทั้งตัวค่ะ มีความคิดแวบเข้ามาก็รู้แล้วผ่านไป จิตสงบเย็น
ยิ้มมีความสุขค่ะ อนุโมทนาสาธุ กราบขอบพระคุณอาจารย์และทีมงานมากค่ะ
ดังตฤณ : ดีใจด้วยนะครับ สำหรับคนที่ยังไม่ได้มีปีติสุข
ขอย้ำนะครับ ไม่ใช่การแข่งขันกันนะ และที่ได้ก็เพราะเหตุปัจจัยของเขาโอเค
แต่ถ้าคนที่ยังไม่โอเค แม้กระทั่งที่บอกว่ายังไม่รู้เรื่อง และยังฟุ้งซ่านอยู่
ถ้าหากว่าทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความคุ้นเคย
เกิดความชำนาญและทำได้เป็นปกติมากขึ้นบ่อยๆ ก็ในที่สุดก็มาถึงตรงนี้ได้เหมือนกันนะ
- วันนี้
มีโทสะก่อนมาทำสมาธิกับอาจารย์ค่ะ พอปฏิบัติ อาการโทสะคลาย สามารถเข้าสมาธิ และมีปีติมากค่ะ
กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ
ดังตฤณ : ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ที่คนเราสามารถสวิงได้นะครับ ถ้าหากว่าบางคนอาจนึกอยู่ในใจว่า
ชาตินี้คงไม่มีหวังว่าจะไปได้สมาธิ ได้ปีติ ได้สุข
ได้ฌานอะไรกับใครเขาเพราะเป็นคนขี้โมโห
เป็นคนเจ้าอารมณ์บางคนก็ประเภทรู้ตัวว่ากิเลสแรง แล้วก็ว่าตัวเองว่าปัญญาหยาบ
โลภมาก โลภโมโทสัน อยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นแบบโลกๆ แบบจัดจ้านเลย
แล้วก็เจอเรื่องอะไรกระทบนิดกระทบหน่อย ก็เป็นฟืนเป็นไฟ
ก็คงหวังยากว่าจะมาตั้งเป็นสมาธิ
ผมอยากให้ดูท่านนี้เป็นตัวอย่างเลยนะว่า
จริงๆ ไม่สำคัญที่ว่าเดิมทีคุณมีความเป็นคนเจ้าอารมณ์แค่ไหนหรือว่ามีความฟุ้งซ่านเพียงใด
แต่สำคัญว่า คุณมีความเต็มใจที่จะทำสมาธิ ที่จะเจริญสติแบบพุทธให้ถูกทางไหม
ถ้าหากว่ามาถูกทาง
แล้วก็อาจอาศัยอุบายอะไรที่เป็นเครื่องช่วย เป็นเครื่องทุ่นแรง จะเห็นเลยว่า
ทุนเก่าของเราแต่ละคน มีมากกว่าที่เราคิด
บางคนบอกตัวเองบุญน้อย
ไม่มีหวังหรอกได้ไปนิพพาน แต่ปรากฏว่าที่รู้สึกว่าบุญน้อย มักจะไปได้ไกล เมื่อพยายามตั้งใจเอาจริง
แล้วก็ทำซ้ำๆ จนกระทั่งพอเห็นผลแล้วก็ชอบใจ ติดใจ เกิดฉันทะ ที่จะมีวิริยะมากขึ้นๆ
ก็อยากฝากไว้นะครับ
คนที่เข้าใจว่าตัวเองไม่มีสิทธ์ อยากให้ดูว่าคนที่เขามีกิเลสเหมือนๆ กัน ได้บอกเล่าประสบการณ์
หรือว่าการปฏิบัติออกมาอย่างไรบ้าง
- รู้สึกเหนื่อย
หายใจไม่ทันจังหวะมือ และรู้สึกหงุดหงิดแทนที่
ดังตฤณ : อยากขอว่าลองทำซ้ำดู เพื่อให้เกิดความสมูธขึ้น
หรือว่าเป็นไปเองมากขึ้น แล้วลองดูนะครับ ที่บอกว่าเหนื่อย
และหายใจไม่ทันจังหวะมือ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจด้วยนะ
ความเข้าใจเบื้องต้นสำคัญนะครับ อย่างตอนที่ยกมือขึ้นเฉยๆ
อันนี้เป็นการให้มือตามลมนะ ไม่ใช่ให้ลมตามมือ
พอเริ่มเป็นอัตโนมัติ
แล้วมือกลายเป็นผู้นำแทน ก็คือตอนที่เรารู้สึกว่าจังหวะที่มือยกมาอยู่ตรงหน้า
จะมีจังหวะหยุดของลมหายใจ แล้วพอมือลงไปวางราบกับหน้าตัก
จะรู้สึกว่ามันนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใจร้อน
ตอนที่คุณรู้สึกถึงความนิ่ง
นิ่งได้ เย็นได้ ไม่เร่งรีบ ตรงนั้น ฝ่ามือจะเริ่มกลายเป็นผู้นำ
แต่ถ้าขึ้นต้นมา
เราให้ฝ่ามือนำก่อนเลย อันนี้ จะกลายเป็นว่าเรารีบร้อนให้ฝ่ามือไปก่อน
แล้วก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับหายใจตามไม่ทัน
จริงๆขึ้นต้นมา
ย้ำนะครับ ฝ่ามือต้องเป็นฝ่ายตามนะ ไม่ใช่เป็นฝ่ายนำ
- รู้สึกกลั้นหายใจตอนวาดมือขึ้นค่ะ
ไม่ทราบว่าทำถูกไหมคะ
ดังตฤณ : โดยธรรมชาติ ตอนวาดมือขึ้นจะต้องเก็บลมไว้เป็นธรรมดา
ที่ผมออกแบบให้เป็นครึ่งวงกลม เพราะว่าเป็นท่าที่จะอัดลมไว้
เก็บลมไว้ในปอดตามธรรมชาติ
แล้วพอวางลง
ถึงค่อยคลายออก ระบายลมหายใจออกนะครับ เดี๋ยวผมจะทำคลิปให้ชัดกว่านี้นิดหนึ่ง
อันนี้ทำแค่พอรู้เรื่อง แต่ว่าท่าที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง
ก็จะเกิดอาการแบบนี้เป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว ตามธรรมชาติกลไกของการหายใจนะครับ
การยกมือขึ้น
ไม่สามารถที่จะระบายออกได้อยู่แล้ว แต่เมื่อลดมือลงก็ต้องระบายออก
ถึงแม้เราตั้งใจจะเก็บอัดอยู่ก็ตาม
- นั่งแล้ว รู้สึกว่า โล่งเบาสบายค่ะ /รู้สึกซ่าซ่าน ตรงสมองซีกขวาส่วนบน แต่ไม่แน่ใจว่าอุปาทานหรือเปล่าค่ะ
ดังตฤณ : ถ้ารู้สึกอะไร มักจะไม่ใช่อุปาทานหรอก
ใช่หมดแหละ แต่ไม่อยากให้สังเกตแค่ตรงนั้น อยากให้สังเกตว่าทำไปเรื่อยๆ แต่ละครั้ง
จะต่างไปเรื่อยๆ อย่างไร ตรงนี้สำคัญกว่า เพราะเมื่อเราสังเกตว่าแต่ละครั้ง
เหมือนเดิมไหม หรือต่างไปไหม ในที่สุดจะได้ข้อสรุปในการทำสมาธิแบบพุทธคือ
เห็นว่าที่มีสมาธิ ที่ทำสมาธิไป แล้วมีกำลังของสติมากขึ้น
เพื่อที่จะเห็นความไม่เหมือนเดิมของแต่ละสภาวะ เพื่อได้ข้อสรุปสุดท้ายคือ ทุกภาวะ
ไม่ใช่ตัวเรา ทุกภาวะ ไม่ใช่ของของเรานะ
- ยิ่งทำก็สบายใจ
จิตจะนิ่งค่ะ รับรู้ถึงความสบาย
ดังตฤณ : ตัวสบายนี่แหละ คือตัวที่เป็นเหมือนกับเครื่องเรียกปีติ
ให้เอ่อมากขึ้นๆ ยิ่งเรารู้สึกสบาย แล้วก็ไม่อยากคิดมากขึ้นเท่าไหร่
ความรู้สึกถึงวิเวก รสชาติของวิเวกจะยิ่งชัดขึ้น และวิเวกพอเต็มตัว แก่กล้าแล้ว
มีความนิ่ง มีความคงเส้นคงวาแล้ว ปีติย่อมเอ่อขึ้นเป็นธรรมดาตามธรรมชาติของจิต ตามธรรมชาติของกายด้วย
เพราะกายก็จะหลั่งสารดีๆ ออกมาแน่นอน 100%
เป็นมนุษย์เหมือนกันอย่างนี้ทุกคน
ไม่มียกเว้นนะ
- รับรู้ถึงพัฒนาการ
ตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติในห้องนี้ด้วยเสียงสติในครั้งแรก
รับรู้ว่าจิตเข้าสู่ความนิ่งได้เร็ว ไม่วอกแวก หายใจเข้า-ออก ได้ยาวและลึก
พอถึงจุดปีติ โล่ง สบาย แต่เกิดขึ้นแป๊บเดียวก็หายไปค่ะ จิตกลับมาตามที่ลมหายใจเหมือนเดิมค่ะ
ดังตฤณ : อย่าพยายามรักษาปีติไว้นะ เอาแค่รักเหตุปัจจัย
ที่จะทำให้เกิดสติ เห็นลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ
แล้วก็พยายามที่จะทำไว้ในใจอยู่เสมอนะครับว่า ที่เราดูลมหายใจไป
เพื่อเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ และความรู้สึกสบาย
หรือว่าอึดอัดที่จะเข้ามากับแต่ละลมหายใจ
พอตั้งเป้าไว้อย่างนี้
เราจะไม่รังเกียจความทุกข์ แล้วก็ไม่ดีใจ ไม่พยายามรักษาไว้ซึ่งความสุข
การมีปีตินะครับ เราจะรักษาไว้แค่สติ ที่เห็นว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาชัดเจน
- วันนี้รู้สึกลมจากหยาบค่อยๆละเอียดขึ้นค่ะ
แต่อาทิตย์ที่แล้วรู้สึกว่าจะนิ่งสงบกว่าวันนี้ค่ะ...แต่สามารถตั้งสติในชีวิตประจำวัน
เมื่อเจอปัญหาหรืออารมณ์ไม่ดีได้ไวขึ้น อย่างรู้สึกโกรธ สติมันจะดึงว่าไม่ต้องไปต่อต้านหรือจัดการกับความโกรธ
ดูมันเฉยๆแล้วโกรธมันก็เบาลงค่ะ
ดังตฤณ : นี่เป็นคุณวิเศษ
สิ่งที่น่าปรารถนาสูงสุดของการเจริญสมาธิ
ก็เพราะว่าเราสามารถเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ สติเราจะดีขึ้น
จิตของเราจะมีความเย็นพอที่จะสังเกตความต่าง โดยที่ไม่เรียกร้อง ไม่หวังผลอะไร
จิตที่มีความกระเพื่อมง่าย
จิตที่มีความฟุ้งซ่านจัด หรือจิตที่มีแต่ความคาดหวัง โอกาสที่จะรู้อะไรตามจริง
หรือทำให้การเจริญสติพัฒนาขึ้นมา จะต่ำมากนะครับ
นี่ก็คงได้เห็นเปรียบเทียบได้ครั้งต่อครั้ง ทำสมาธิร่วมกันในคืนวันเสาร์ แล้วจากวันอาทิตย์ถึงวันศุกร์
ชีวิตต่างไปอย่างไร ตรงนี้
ที่ดีกว่าจะมาแค่คาดหวังผลว่าเราทำได้ดีในคืนวันเสาร์แค่ไหนนะครับ
- สังเกตว่า
ตอนนอนก็หายใจยาวขึ้นค่ะ
ดังตฤณ : จริงๆ จะมีเทคนิคตอนนอนให้ด้วยนะ
แต่ว่ายังไม่ได้ทำออกมาเป็นแอนิเมชัน
คือจริงๆ
แล้ว พอคนหายใจเป็น จะมีความสุขในทุกอิริยาบถนั่นแหละ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เข้าใจกลไกในการหายใจ ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสุดทาง
ว่ามาจบตรงที่การมีสติรู้ว่าตอนนี้ร่างกายต้องการอะไร ลมยาว หรือลมสั้น
ลมเข้าหรือลมออก หรือว่าจะหยุดพัก แป๊บหนึ่งก่อนไหม ถ้าหากว่าเรารู้จักการหยุดพัก
ในแต่ละลมหายใจ ไม่มีอาการเร่งร้อนที่จะดึงลมเข้าไปใหม่เข้ามาทันที
เราจะเห็นว่าสมาธิที่จะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
หายใจเข้ายาว
แล้วรู้สึกปีติ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อเลี้ยงสมาธิ หรือจุดชนวนสมาธิ
เวลาระบายลมออก รู้สึกผ่อนคลายเนื้อตัว
ความผ่อนคลายเนื้อตัวนั้นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ค้ำจุนสมาธิไว้
หรือพอลมหายใจออกหมด
แล้ววางมือนิ่ง ก็พอใจอยู่กับการเห็นกายนั่งอยู่นิ่งๆ คอตั้งหลังตรง ฝ่ามืออยู่
พักอยู่ สบายอยู่ จะมีความรู้สึกเหมือน relax
เหมือนกับไม่ต้องทำอะไร เหมือนกันชีวิตหยุดความเคลื่อนไหว
จะเป็นส่วนของสมาธิทั้งนั้นเลย เป็นส่วนให้มารวมลงที่จิต
ที่จะมีความตั้งมั่นขึ้นมา จากการค้ำจุนของปัจจัยต่างๆ
ที่กล่าวมาแล้วทั้งหายใจเข้า หายใจออก และหยุดหายใจ
- สงบได้เร็ว
ทั้งๆ ที่วันนี้ค่อนข้างใช้ร่างกายกับการทำงาน ย้ายของหนักบางครั้งคิดได้ก็เจริญสติ
มากบ้างน้อยบ้าง ไม่รู้สึกเหนื่อยเลยค่ะ
ดังตฤณ : ยินดีด้วย น่าจะอยู่ใน 8% นะ
- ปกติเป็นคนหายใจสั้น
แต่พอทำตามท่าทางผายมือ และยกขึ้นแล้ว คอนเฟิร์มเลย ว่าหายใจได้ยาวขึ้นจริงๆ ต่อไปจะพยายามทำทุกวันเลยครับ
ดังตฤณ : ยิ่งทำบ่อยขึ้นเท่าไหร่ คุณจะยิ่งหายใจยาวขึ้น
แล้วก็คุณภาพของลมหายใจจะยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ขอแสดงความยินดีด้วย
ถ้าวัดเป็น
%
ของฟีดแบคน่าจะมากกว่า 8%
แต่เข้าใจว่าหลายท่านน่าจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ใน choice ที่
2 บอกว่าอิ่มใจธรรมดา ไม่ได้ปีติมาก เพราะอย่างพูดถึงคุณภาพลมหายใจ ยาวขึ้น
ลึกขึ้น ปีติอาจยังไม่ออก แต่สิบนาที สิบห้านาทีผ่านไป
ถ้าหากว่าหายใจยาวได้เรื่อยๆ และมีความ relax นะ
โดยธรรมชาติของกาย และใจ จะเข้าใกล้อุปจารสมาธิแน่นอน
ถ้าสิบห้านาทีต่อเนื่องนะ
อย่างตอนแรกผมให้
ห้านาที เพราะว่ากลัวหลายคนจะรู้สึกว่าอยู่กับตัวเองเงียบๆ นานไปหน่อย
ตอนที่ทำสมาธิร่วมกัน แต่รับประกันนะครับ ถ้าคุณไปทำคนเดียว
แล้วไม่มีความพะวงเกี่ยวกับเรื่องการ่วมไลฟ์ ทำไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ตลอดวัน
ติดใจและย้อนกลับมาทำบ่อยๆ จะพบว่าชีวิตที่เหลือได้วิธีที่จะหายใจอีกแบบหนึ่ง
แบบที่เราจะมีกำลังวังชามากขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีสติ มีคุณภาพของจิตดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเห็นได้ชัด วันต่อวันนะครับ
- ตามลมหายใจชัดเจนค่ะ
สองสามลมแรกเจ็บจี๊ดที่สมองส่วนหลัง หลังจากทำไปเรื่อยๆ เหมือนกระโหลกเปิดออกไปทั้งหมดค่ะ
ดังตฤณ : ตรงนั้น ที่รู้สึกเหมือนกระโหลกเปิดออกไป
ก็คืออาการของจิต สภาพของจิตเหมือนไม่มีอะไรห่อหุ้มนั่นเอง
นี่เป็นสำนวนของพระพุทธเจ้านะ จิตโล่งว่าง เหมือนกับไม่มีอะไรห่อหุ้มนะครับ
ถ้าหากว่าเรารู้สึกเหมือนกับว่า
จิตเปิด โล่ง สบาย เหมือนกับร่างกายไม่กลายเป็นกรงขัง
ไม่กลายเป็นพันธะร้อยรัดผูกพันแล้ว คุณจะพบด้วยตัวเอง
จากประสบการณ์ตรงว่าจิตที่เปิดออก สามารถรับรู้ย้อนกลับมารับรู้กายได้อย่างแจ่มชัด
ราวกับว่ากายเป็นของเล็ก กายเป็นของจิ๊บจ้อย ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย
ไม่มีอะไรให้น่ายึด เพราะว่าจิตพบแล้วว่า สภาพที่ละเอียดกว่า
มีความประณีตลึกซึ้งกว่า มันพ้นกายไป ต้องพ้นกายออกไป
จะย้อนกลับมาแล้วพิจารณากาย
โดยความเป็นของหยาบ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นสภาพธรรมชาติที่จะต้องเน่าเปื่อยผุพังเป็นธรรมดาได้ง่าย
ตรงนี้
ถ้าได้แล้ว แล้วศึกษาพุทธพจน์นะครับ ไปอ่านพระไตรปิฎกดูเองได้เลย
คุณจะรู้สึกว่าเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสได้อย่างแจ่มชัดว่าท่านพูดถึงอะไร
บางทีเราจะขึ้นต้นมารู้สึกว่า
เอ๊ะ ไม่เข้าใจ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสคำนี้ เกี่ยวกับการปฏิบัติ หมายถึงอะไรอย่างไร
ตรงไหน แต่พอเราได้จิตที่เปิดแล้ว แล้วย้อนกลับมาดูสภาพทางกาย
สภาพทางใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง กลับไปอ่านพระพุทธพจน์อีกที ก็ .. โอ้โห
ของจริงล้วนๆ เลย
เอาเฉพาะเรื่องการปฏิบัติที่ชัวร์ว่ามีหลักฐานยืนยันเป็นประสบการณ์ตรงของเราเอง
ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เป็นเรื่องที่ ..นั่นแหละ ต้องอย่างนั้น
ถูกแล้วที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น จะเห็นด้วยกับพระองค์ท่านไปหมด
แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า นี่ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า คนธรรมดาทั่วไป
กิเลสหนาปัญญาหยาบ โอกาสที่จะมาเห็นกายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
และพิจารณาไปด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จะเป็นศูนย์เลย
มีแต่คนมีบารมีระดับพระพุทธเจ้า หรืออย่างน้อย
ปัจเจกพุทธเจ้าที่ท่านจะมองย้อนเข้ามา และพิจารณาจนเกิดสมาธิ รู้ว่ากายนี้ใจนี้
ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
แต่เราๆ
ท่านๆ จำเป็นต้องฟังท่าน .. ขนาดฟังท่านนี่ยังไม่อยากเชื่อเลยนะ
ฟังท่านแล้วก็ไม่เข้าใจว่าท่านตรัสถึงอะไร จนกระทั่งมีสมาธิด้วยตัวเอง
มีคุณภาพจิตอีกระดับหนึ่ง ที่เหนือกว่าปกติธรรมดาของเรา จิตเปิดออกได้
ย้อนกลับมาพิจารณาธรรมในกายนี้ใจนี้ ง่ายแสนง่ายเลย
แต่กว่าจะมาถึงจุดที่รู้สึกว่าง่ายแสนง่าย
ต้องผ่านด่านอะไรยากๆ มากันทั้งนั้นแหละ เยอะนะ
_____________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
ปีติสุขอันเป็นทิพย์
- ช่วงรวมฟีดแบค
วันที่ 7 สิงหาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=QYHPahwgKvs
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น