วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

03 ปีติสุขอันเป็นทิพย์ : ช่วงแอนิเมชัน ฝึกทำองค์ฌานที่ ๓ และ ๔

ดังตฤณ : ผ่านไปนะครับสำหรับการสวดมนต์

 

บอกอีกทีว่า ถ้าใครอยากโหลดรูปใหม่ ไปที่

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=367539811401992&set=p.367539811401992&type=3

 

ขั้นต่อไป เราจะมาทำสมาธิในแบบที่จะได้ขึ้นต้นด้วยการใช้มือไกด์ เพื่อที่จะได้เห็นก่อนว่า เราจะรู้ถึงลมหายใจเข้าออกตามจริงได้อย่างไร ซึ่งอันนั้นเป็นเรื่องของ วิตักกะ และ วิจาระ นะ

 

และขั้นต่อไป จะเหมือนกับบวกกายบริหารเข้ามานิดหนึ่ง ไม่ใช่เป็นกายบริหารแบบต้องขยับอะไรมากมาย แต่ว่าเป็นเหมือนกับการขยับท่าทาง  เปลี่ยนท่าทางให้มีผลกับการที่ คุณจะหายใจด้วยท้อง .. หายใจเข้าด้วยท้องได้ แล้วก็สามารถที่จะดึงลมเข้าไปสุดปอดได้เต็มอิ่มนะครับ

 

ความยาวของคลิป จะประมาณ 10 กว่านาทีเท่านั้น

 

ก็เอาแบบพอรู้เรื่องไปก่อนนะ ผมเพิ่งทำแบบเสร็จหมาดๆ เดี๋ยวจะปรับปรุงให้เรียบร้อย ดูมีคุณภาพดีขึ้นในภายหลังนะครับ จะมีเวอร์ชันเต็มออกมาแล้วก็จะให้ดูทาง vemio และ ดาวน์โหลดได้ เอาไปใช้ทำกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย

 

ใครก็ตามที่เพิ่งทำสมาธิเป็นวันแรก สามารถที่จะทำเป็น .. ผมเชื่อว่า .. ภายในวันเดียว ถ้าตั้งใจทำ และมีความเต็มใจ และทำตามขั้นตามตอนเป๊ะๆ เลยนะครับ

 

มาดูกัน .. ไม่ต้องใช้หูฟังนะครับ ไม่ได้ใช้เสียงสติ ดูแล้วตั้งใจทำตาม ดูไปด้วย และทำไปด้วยนะครับ

 

(คลิปแอนิเมชัน)

 

ลืมตาดูแล้วทำตามไปด้วย

 

นั่งคอตั้งหลังตรง ฝ่าเท้าผ่อนคลาย ฝ่ามือวางราบกับหน้าตัก

เมื่อรู้สึกว่าร่างกายต้องการลมหายใจ ให้ยกมือขวาขึ้นจากหน้าตัก

หงายขึ้นในแนวที่ตรงกับจมูก

ทำความรู้สึกสบายอยู่กับฝ่ามือที่ไม่เกร็ง แล้วยกขึ้นไปหาจมูก

เสมือนฝ่ามือเป็นเครื่องช่วยดันลมเข้า

 

เมื่อดันลมไปจนสุด ให้พลิกฝ่ามือมาเป็นท่าพนมไหว้ครึ่งซีก

ค้างนิ่งเล็กน้อยใกล้ใบหน้า พร้อมกับรั้งลมไว้ให้เต็มปอด ครู่หนึ่ง

ก่อนจะคว่ำลงด้วยความรู้สึกว่า ฝ่ามือเป็นเครื่องช่วยลากลมออก

 

ค่อยๆ ลดฝ่ามือลงไป โดยตั้งใจ

ให้จังหวะที่ฝ่ามือไปวางราบบนหน้าตัก พอดีกัน กับที่ลมออกหมด

 

สังเกตความนิ่งสงบอย่างผ่อนคลาย ของทั้ง 2 ฝ่ามือบนหน้าตัก

รู้สึกถึงความนิ่งสบาย ในท่านั่งคอตั้งหลังตรง

เหมือนทุกส่วนในร่างกายหยุดนิ่ง

ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องรีบร้อน ดึงลมเข้าใหม่

 

เมื่อปอดหิวลมขึ้นมาเอง จึงค่อยยกมือซ้าย ทำเหมือนเดิม

เป็นการสลับข้างไม่ให้เมื่อย

 

คุณจะค่อยๆ รู้สึกถึงการหายใจเข้า ที่ชัดขึ้นอย่างเป็นไปเอง

อาการที่จิตนึกถึงลมหายใจเข้าออกได้

โดยไม่มีการฝืนบังคับ ไม่มีความเกร็งเกิดขึ้นอย่างนี้

เรียกว่า วิตักกะ อันเป็น องค์ประกอบที่ 1 ของฌาน

 

ขอให้รักษาการรับรู้ลม และฝ่ามือไว้

โดยไม่เร่งร้อน ไม่คาดหวังผลลัพท์ใดๆ

และดูว่าถัดจากนี้อีก 4 ลมหายใจ จะเกิดอะไรขึ้นกับการรับรู้ของคุณ

 

(ทำสมาธิโดยใช้ฝ่ามือไกด์ 4 ลมหายใจเข้าออก)

 

ถึงตรงนี้ ขอให้วางมือลงบนหน้าตักนิ่งๆ

แล้วทำความรับรู้ถึงกายนั่งคอตั้งหลังตรง

สังเกตว่า แม้ไม่มีฝ่ามือช่วยนำทาง

คุณก็จะสามารถรู้สึกว่าลมโดดเด่นอยู่

ท่ามกลางความว่าง สงัดจากความคิด

 

อาการที่จิต แนบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ

โดยไม่มีคลื่นความฟุ้งซ่านรบกวนนี้

เรียกว่า วิจาระ อันเป็น องค์ประกอบที่ 2 ของฌาน

 

เพื่อให้เกิดองค์ฌานขั้นต่อไป

ขอให้ย้อนกลับมาสำรวจฝ่าเท้า และฝ่ามือ

ว่า ยังผ่อนคลายสบายดีอยู่

 

จากนั้น เมื่อรู้สึกว่าปอดเริ่มหิวลม

ให้แบมือทั้งสองหงายขึ้น

ปลายนิ้วกลาง ชน ปลายนิ้วกลาง ที่บริเวณสะดือ

 

จากนั้น ยกทั้ง 2 ฝ่ามือขึ้นเป็นเส้นตรงช้าๆ ไปถึงระดับอก

เหมือนช่วยสูบลมเข้าท้อง

โดยให้ท้องพองลมเต็มที่ เมื่อมือทั้งสองถึงแนวอกพอดี

 

จากนั้น คงค้างลมไว้ในปอด

แยกฝ่ามือออกด้านข้าง

แล้ววาดเป็นครึ่งวงกลม ไปบรรจบกันเหนือศีรษะ

 

คุณจะรู้สึกว่าหายใจเข้าสุดปอด เต็มอิ่มที่ตรงนั้น

แม้จะเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอยู่ก่อนก็ตาม

 

เมื่อปอดถึงเวลาระบายลมออก ค่อยๆ ลดฝ่ามือลงมา

โดยตั้งใจให้จังหวะที่ฝ่ามือทั้งสอง ไปวางราบบนหน้าตัก

พอดีกันกับที่ลมออกหมด

 

สังเกตว่า ถึงตรงนี้ ถ้าวางมือนิ่งๆ ได้

โดยไม่มีอาการเร่งร้อน เรียกลมใหม่เข้า

ทั้งกายและใจของคุณ จะสงบระงับ ไม่กวัดแกว่ง

 

ลำดับนี้ ให้ดูและทำตามสามรอบ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจและจำลำดับขั้นตอนได้ขึ้นใจ








(ทำสมาธิโดยใช้ฝ่ามือช่วยไกด์ 3 ลมหายใจเข้าออก)


ขอให้สังเกตว่า เมื่อปอดหิวลม

แล้วคุณหงายมือขึ้นชนกันในแนวสะดือ

ท้องของคุณ จะพร้อมพองลมอย่างเป็นไปเอง

ลมหายใจจะถูกลากเข้าปอดตรงๆ ช้าๆ ตามจังหวะฝ่ามือ

 

เมื่อยกมือทั้งสอง ขึ้นถึงแนวอก และแยกฝ่ามือออกไปทางด้านข้าง

ใจคุณจะแผ่ออกไป เท่าระยะที่ฝ่ามือวาดไปด้วย

 

การแผ่ใจออกตามแนวขวางนี้

จะช่วยให้จิตพ้นออกมาจากอาการกระจุกตัวคับแคบได้

ขอให้ทำต่อไปเป็นเวลา 5 นาที

เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจิตหลังจากนี้

 

(หลับตาทำสมาธิด้วยการใช้ฝ่ามือช่วยไกด์ 5 นาที)

 

ขอให้สังเกตว่า เมื่อลมหายใจปรากฏชัด

โดยที่จิตเปิดกว้าง ปลอดโปร่ง สงัดเงียบจากความฟุ้งซ่าน

ความรู้สึกวิเวก จะเอ่อขึ้นมาเรื่อยๆ

ความวิเวกนี้เอง จะบันดาลความฉ่ำเย็นให้เกิดขึ้นทั้งตัว

 

อาการที่กายใจฉ่ำเย็นจากความวิเวกนี้

เรียกว่า ปีติ อันเป็น องค์ประกอบที่ 3 ของฌาน

 

ปีติ จากวิเวก ย่อมเกิดขึ้นคู่กัน กับความผ่อนพักอันแสนสบาย

สบายแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความนิ่ง ความเบา พักกาย พักใจ ได้ยั่งยืนเพียงใด

 

อาการที่กายใจอยู่เย็นแสนสบายนี้

เรียกว่า สุข อันเป็น องค์ประกอบที่ 4 ของฌาน

 

แม้ปีติและสุขจะมาคู่กัน แต่ปีติจะหยาบกว่าสุข และจะหายไปก่อนสุขในฌานขั้นสูงๆ

 

(จบคลิป)

 

ผ่านไปนะครับ สำหรับสมาธิที่เป็นแนวทาง

ที่เราจะได้รู้ว่าเวลาที่เข้าสมาธิได้ จริงๆ นี่ หน้าตาเป็นอย่างไร

รู้สึกถึงลมหายใจอย่างไร แล้วก็การเปิดของจิต ประมาณไหน

 

ทีนี้อยากขอรบกวนช่วยทำโพล คำถามง่ายๆ

 

ตอนนี้ คุณรู้สึกอย่างไร?’

ลมหายใจชัด ปีติมาก / ลมหายใจชัด อิ่มใจธรรมดา / ลมหายใจชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง / ยังไม่รู้เรื่อง ฟุ้งซ่านตลอด

 

ถ้ายังไม่รู้เรื่องเลย ยังฟุ้งซ่านก็ไม่เป็นไรนะครับ เอาตามจริง

 

การที่เราทำสมาธิ จริงๆ แล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องของการหวังผล

เรามักจะมีคำถามว่า เราหวังผลได้หรือเปล่า หรือว่าทำไปเรื่อยๆ

 

ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ในอิทธิบาท 4 ควรจะมีเป้าหมายชัดเจน นะครับ

 

ควรจะมีอะไรที่เราบอกได้ว่า ตอนนี้เราทำมาถึงไหนแล้ว

ถูกทางหรือเปล่า แล้วก็จะทำไปเพื่อเอาเป้าอะไร

 

ถ้าหากว่าไม่มีเป้าหมาย หรือว่าไม่มีตัวที่จะบอกได้ ว่าเรามีพัฒนาการ หรือว่าถอยหลังอย่างไร บางทีก็จะวน ก็จะติด

 

อย่างบางคน ทำสมาธิมาตลอดชีวิต แต่ว่าไม่รู้เลยว่า ที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ถูกหรือผิด เข้าใกล้เป้าหมายแค่ไหนแล้ว

 

ถ้าหากว่าเรายึดตามหลักอิทธิบาท 4 ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

การเจริญสติภาวนา ควรจะมี ฉันทะ มีความพึงพอใจ

ถ้าเข้าสมาธิ ถ้าเจริญสติ แล้วชีวิตไม่ดีขึ้นเลย

สภาวะทางใจไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความสุข ไม่มีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม

แล้วจะมีฉันทะไปได้อย่างไร

 

ตัวนี้ก็ถึงได้เป็นแรงบันดาลใจ ว่าผมอยากจะให้คนทำสมาธิกัน

แล้วเกิดความรู้สึกชุ่มฉ่ำ เกิดความรู้สึกว่า ได้อะไรดีขึ้น

มีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม

มีคุณภาพของจิตที่เห็นได้ชัดว่า คืบหน้าไป

หรือว่า ยกระดับขึ้นกว่าที่เคย

 

ส่วน วิริยะ จะมาเอง หลังจากที่เกิดความพึงพอใจ

เกิดความสุข เกิดความรู้สึกว่า นี่เป็นของดี

ใครๆ ก็อยากจะกลับมาทำสมาธิใหม่เรื่อยๆ ซ้ำ ๆบ่อยๆ

 

ในที่สุดจะมีความฝักใฝ่ (จิตตะ)

พอทำบ่อย อะไรก็ตามที่คนเราทำบ่อย แล้วมีความก้าวหน้า

ก็จะมีความฝักใฝ่ที่จะทำให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

 

และสุดท้าย ก็ต้องมีการประเมินผล ต้องมีการสำรวจตรวจสอบ

คำว่า วิมังสา .. ถ้าหากว่าไม่มีตัวเป้าหมาย

หรือไม่มีปัจจัยแน่ชัด ที่เราจะเอามาวัดผล

ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาบอกนะครับ ว่าเราก้าวหน้าหรือถอยหลังไปแค่ไหน

 

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ พอเริ่มนับหนึ่งใหม่กันเมื่อสัปดาห์ก่อน

มาสัปดาห์นี้ เราจะมีอะไรที่บอกเป็นขั้นๆ เป็นวันๆ ไป

ว่าแต่ละวัน เป้าหมายของเราคืออะไร

โดยอาศัยองค์ฌานมาเป็นเครื่องตั้ง มาเป็นตัวสำรวจว่า

ทำสมาธิไป อานาปานสติ ของเราดื้วิตักกะ วิจาระ ปีติ สุข แค่ไหน

มีคุณภาพเพียงใด แล้วก็มีพัฒนาการไปในทางดีขึ้น หรือถอยลงนะ

 

การรู้แม้กระทั่งว่ามันถอยลง ก็จะมีส่วนที่ทำให้เรามีความเข้าใจ

เกิดความเข้าใจ ในการทำสมาธิแต่ละครั้ง

ว่าที่ถอย ถอยตรงไหน หรือว่าที่ก้าวหน้า

ก้าวหน้ามาในเส้นทางขององค์ฌาน เป็นเส้นตรง หรือว่าขึ้นๆ ลงๆ

______________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ปีติสุขอันเป็นทิพย์

- ช่วงแอนิเมชันทำสมาธิโดยใช้ฝ่ามือช่วยไกด์

วันที่ 7 สิงหาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=CYqx-3lKZ-A&t=856s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น