วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

01 นับหนึ่ง - สมาธิวันแรก : ช่วงเกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับ ทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

 

สำหรับคืนนี้ก็อย่างที่ตั้งสเตตัสเกริ่นไว้ ยินดีต้อนรับกับทุกท่าน .. จะมีความรู้ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำสมาธิก็ดี หรือว่าไม่มีประสบการณ์เลยก็ตาม .. วันนี้ ก็เป็นวันต้อนรับนะครับ

 

หลักการก็คือว่า จะเปิดจิตเปิดใจให้กว้างก่อน

 

การที่จิตใจของเราสามารถเปิดกว้างได้

จริงๆ แล้วก็คือ การทำงานของสมองแบบที่จะรู้ทิศรู้ทาง

 

พูดง่ายๆ สรุปง่ายๆ เลย

ถ้าหากว่าเราสามารถรู้ หลับตาลงไป

เห็นพื้นที่ว่าง ด้านหน้าได้ ด้านข้างได้ ด้านหลังได้ ด้านบนได้

ด้วยความรู้สึกทางใจนะครับ

คุณจะสามารถเข้าสมาธิได้ง่ายจากจุดนั้น

 

มองเป็นสมองก็คือ สมองมีความตื่นพร้อม

มองเป็นจิตก็คือ จิตมีความเป็นกุศล มีความเปิด

มีความผ่อนคลาย มีความสบาย พร้อมที่จะรวมลงเป็นสมาธิ

 

ส่วนการทำสมาธิ เราจะ อาศัยอานาปานสติ ของพระพุทธเจ้า

แล้วก็ใช้ฝ่ามือมาช่วยไกด์ เพื่อที่จะให้รู้ลมเข้าออกอย่างถูกจังหวะ

 

เพราะปกติ ถ้าไม่มีเครื่องช่วยไกด์ให้รู้ลมหายใจ

จิตใจจะมีความซัดส่าย มีความกระสับกระส่าย มีความเอาแน่เอานอนไม่ได้

แล้วก็เหมือนกับว่า พร้อมจะเหม่อ พร้อมจะไม่รู้

พร้อมจะหลุดจากโฟกัสว่า ตอนนี้ลมหายใจไปถึงไหนแล้ว

 

ก็เลยจะอาศัยเทคนิคตรงนี้มาช่วย

ซึ่งไม่ได้ฝึกเรื่องเกี่ยวกับพลังอะไรทั้งสิ้น

ถ้าไปละม้ายคล้ายกับอะไรที่คุณเคยเห็นในหนัง .. ไม่ใช่นะ

เดี๋ยวจะมีการทำความเข้าใจกันเป็นอันดับแรกนะครับ

 

ความเข้าใจที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำสมาธิ

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจว่า สมาธิคือจิตที่สงบอย่างรู้

คือ สงบ แล้วรู้อะไรอย่างหนึ่ง

เป็นคนละเรื่องนะครับ กับ สงบแล้วหลับ

หรือว่าสงบแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย มีอาการที่เรียกกันว่า แช่ เฉย แข็ง

เหมือนกับที่ฝรั่งเรียก Freeze นะครับ

 

อย่างหนึ่งคือ คนจะทำสมาธิกัน แล้วไม่รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร

ในที่นี้ เราจะพูดถึงการทำสมาธิให้ถึงฌาน

เพราะถ้าหากว่า ได้ศึกษาในพระไตรปิฎก

จะพบว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงสมาธิ ที่จะนำมาใช้เจริญสติ

ระดับฌานขึ้นไป

 

สมาธิแบบที่เป็นเหมือนกับสมาธิอ่อนๆ สมาธิธรรมดา

ท่านจะไม่ค่อยพูดถึง หรือไม่พูดเลย

 

นี่เป็นความเข้าใจเบื้องต้นที่ตรงนี้นะครับว่า

ที่ทำความหมายของ สมาธิวันแรก หมายถึงว่า

เราจะเอาวันนี้เป็นบันได ที่จะขึ้นต่อไปให้ถึง ปฐมฌาน เป็นเป้าหมาย

 

คือถ้าไม่พูดเรื่องเป้าหมาย ก็จะเหมือนกับไม่แน่ชัดว่า

เรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

บางทีก็จะวกไปวนมา ย้อนไปย้อนมา อยู่กับความรู้บ้างไม่รู้บ้าง

 

แต่ถ้าหากมีเป้าหมายชัดเจน และมีวิธีที่จะสำรวจตรวจสอบอย่างแน่ชัด

ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางไว้

ก็จะเกิดกำลังใจ หรืออย่างน้อย ได้รู้นะครับว่า

ตัวเองทำมาถึงไหน เพื่อที่จะให้ได้ผลอย่างไรในลำดับต่อไป

 

ฌาน ในแบบที่พระพุทธเจ้าทรงนิยาม แล้วก็สอนให้เข้าสมาบัติ

ให้เข้าฌาน ผ่านอานาปานสติ อันดับแรกเลย นี่คือ

.. ไม่ได้เอาศัพท์แสงอะไรนะ แต่ถ้าไม่พูดถึงเลย

ก็จะมองไม่เห็นว่า วันนี้ คืนนี้เราจะทำอะไรกัน.

 

สิ่งที่เราจะเอาในคืนนี้นะครับ อันดับแรก คือ วิตักกะ

หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า วิตก คือ การที่จิตอยู่ในอาการนึกถึงลมหายใจ

 

ไม่ว่าคุณจะนึกถึงอะไรก็ตาม เพื่อที่จะตั้งต้นทำสมาธิ จัดเป็น วิตักกะ หมด

ที่ผมเรียก วิตักกะ เพราะไม่อยากให้หลายท่านไปจำเป็นวิตกกังวล

แต่จริงๆ เราจะเรียกเป็น วิตก ก็ได้

 

การที่มี วิตก หรือ วิตักกะ รู้ลมหายใจ แค่ขั้นแรกนี้

คนส่วนใหญ่ก็ทำกันไม่ได้ทั้งชีวิตแล้ว

อย่างที่บอกนะครับ เพราะว่าไม่มีเครื่องช่วยไกด์

ไม่มีเครื่องช่วยให้ตามรู้ตามลมได้อย่างแน่ชัด จิตเลยหลุดโฟกัสได้ง่ายๆ

 

คืนนี้เราจะเอากันที่ตรงนี้ ทำอย่างไร?

 

โจทย์คือว่า ให้คุณรู้ลมหายใจได้อย่างต่อเนื่อง

ถ้ารู้ลมหายใจได้อย่างต่อเนื่อง คือขึ้นต้นมา

กำหนดว่าเราจะรู้ลมหายใจ แล้วสามารถรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

แบบนี้เรียกว่า เราประสบความสำเร็จในการมีวิตักกะแล้ว

 

ถ้ามีวิตักกะไปนานๆ แบบนี้ไม่ต้องสันนิษฐาน ไม่ต้องคาดเดาใดๆ

 

ถ้ามีวิตักกะต่อเนื่องนานพอ สัก 2 นาที หรือ 5 นาที

บางคน 2 นาที บางคน 5 นาที

จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิจาระ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า วิจาร

ไม่มี ณ.เณร การันต์นะ

 

ตัววิจาร คืออาการที่จิตแนบเข้าไป เป็นอารมณ์เดียวกับลมหายใจ

 

คือพอเรามีวิตักกะ โดยยกเอาลมหายใจขึ้นตั้งนานเข้า

โดยธรรมชาติของจิต จะเกิดอาการแนบเข้าไปกับลมหายใจ

 

พอจิตมีอาการนิ่ง มีอาการรู้ มีอาการตื่น ไม่ไปไหน

ก็เลยรู้สึกราวกับว่า ตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่เป็นอื่นกับลมหายใจ

 

ถ้าหากว่ามีวิตก วิตักกะ หรือว่ามีวิจาระ ได้ต่อเนื่องหลายๆ วัน

คุณจะมีกำลังใจทำสมาธิตลอดชีวิตที่เหลือ

แล้วก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จ ถึงปฐมฌานได้

แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ดูเหมือนกับไม่น่าจะเป็นไปได้นะ คือ เป็นฆราวาสอยู่

 

วันนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้เสียงสตินะ

เราจะมาทำสมาธิกันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอย่างที่บอกนะครับ

อาศัยมือเป็นเครื่องช่วยไกด์ให้รู้ลมหายใจ

 

เดิม เราใช้เสียงสติ เพราะว่าเสียงสติ

เป็นตัวที่ช่วยให้สมองส่วนหน้าลดการทำงานลง

แล้วก็ไปเพิ่มการทำงานของสมองช่วงครึ่งหลัง

 

แต่คืนนี้เราจะทำอานาปานสติกันตรงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องใช้หูฟังนะครับ

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราใช้มือเป็นตัวช่วยเปิดจิต

คือหลักการก็แต่งสมอง แต่งจิต ให้มีความ .. พูดง่ายๆว่า

พร้อมจะเปิดออกไปตามทิศต่างๆ หรือ ก็คือการแผ่เมตตานั่นเอง

________________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นับหนึ่ง – สมาธิวันแรก

- ช่วงเกริ่นนำ

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=6aAdMxveHlQ&pp=sAQA

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น