บทที่ ๒ เขาเริ่มทำวิปัสสนากันอย่างไร?
นักวิปัสสนาที่ดีจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งหมายความว่าถ้าใครอ่านบทที่ ๑ ไปแล้ว และตอนนี้คุณตอบได้ว่าวิปัสสนาคืออะไรเหมือนที่สรุปไว้ตอนท้ายของบท ก็ถือว่าคุณออกเดินก้าวแรกแล้วเรียบร้อยคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำวิปัสสนาคือการนั่งหลับตาปั้นหน้าขรึม
หรือการเดินจงกรมที่ข้างกำแพงวัด อันนั้นเป็นเพียงภาพส่วนย่อยที่อาจจะเด่นหน่อย ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด วิปัสสนาที่แท้จริงของผู้ช่ำชองนั้น อาจทำกันขณะกำลังนั่งเอาตะเกียบพุ้ยข้าวเข้าปากก็ได้หรือหลังจากเพิ่งแหกปากหัวเราะท้องคัดท้องแข็งเสร็จก็ได้หรือกระทั่งน้ำตาอาจจะยังไม่ขาดสายก็ได้เมื่อใดมีสติรู้ตามจริงขึ้นมาว่าสิ่งที่กำลังปรากฏมีความไม่เที่ยง เป็นของที่บังคับดังใจไม่ได้ เมื่อนั้นเองที่เรากำลังอยู่ในวิปัสสนาม
ลองนึกถึงคำว่า ‘ได้สติ’ ดู คำนี้ทำให้คุณนึกถึงอะไร? ขอให้เอาตัวอย่างจากชีวิตประจำวันของตัวเอง บางคนอาจนึกถึงการเหม่อลอยขณะขับรถ ก่อนจะเหม่อจนพารถตกถนนก็เกิดสติว่ากำลังขับรถเลิกวาดวิมานในอากาศหรือหมกมุ่นครุ่นคิดถึงเรื่องนอกถนนเสียได้ เป็นต้น ที่บรรทัดนี้ของหนังสือเล่มนี้ขอให้คุณนึกให้ออกว่าการ ‘ได้สติ’ สำหรับคุณหมายถึงสิ่งใด
มันอาจหมายถึงการรู้สึกตัวว่าขณะนี้คุณกำลังอ่านหนังสือ และตั้งคำถามถามตนเองอยู่ก็ได้แต่ในขณะที่คุณได้สติรู้สึกว่ากำลังขับรถ หรือได้สติรู้สึกว่ากำลังถูกถามให้ย้อนคิด คุณยังไม่รู้ว่าจะดูตรงไหน จึงจะเห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง ของควบคุมไม่ได้ อย่างนั้นเรามาดูสาธิตกันเดี๋ยวนี้เลย เอาความรู้สึกว่าไม่รู้จะดูตรงไหนนั่นแหละมาใช้ ถ้าหากคุณรู้สึกงงๆ สงสัย ตั้งคำถาม หรือคิดควานหาคำตอบอยู่ล่ะก็ ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะความรู้สึกนั้นแหละที่เราต้องการสภาพงงๆ ตื้อๆตันๆ ไม่รู้จะดูอะไร สงสัยว่าทำกันท่าไหนนี้ทางวิปัสสนาเรียกว่าเป็นเครื่องขวางความก้าวหน้าหรือ ‘นิวรณ์’ ชนิดหนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ให้หลักวิธีจัดการไว้คือให้มีสติรู้ตามจริงว่าจิตของเรากำลังตกอยู่ในสภาพถูกครอบงำด้วยความสงสัย
ขณะของการรู้ว่ากำลังสงสัยนั่นเองเรียกว่าเกิดสติรู้ตามจริงขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว คือรู้ว่ามีภาวะชนิดหนึ่งปรากฏอยู่แต่ที่จะเห็นจริงแบบหลุดจากการครอบงำของความสงสัยได้นั้น ไม่ใช่แค่เห็นลักษณะความสงสัยตั้งอยู่เท่านั้น คุณต้องเห็นลักษณะการหายตัวไปของความสงสัยด้วยคำถามคือทำอย่างไรสภาวะสงสัยจึงหายไป คำตอบคือให้หายใจทีหนึ่ง ทันทีที่คุณบอกตัวเองได้ว่าคุณกำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก แปลว่าวินาทีนั้นความสงสัยหายไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วยสติรู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก เมื่อสติหลุดจากความรับรู้ลมหายใจ ความสงสัยหรือใคร่รู้ก็จะกลับมาอีก
ตรงนี้คือจุดให้สังเกตความต่างระหว่างภาวะสงสัยกับไม่สงสัยได้ ณ วินาทีที่คุณบอกตัวเองว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกได้นั้นเอง ให้สำรวจดูเถิด ภาวะเดิมคือความสงสัยที่กระเดียดไปในทางอึดอัดเป็นทุกข์จะแปรเป็นภาวะใหม่คือความหมดพะวงอันกระเดียดไปในทางปลอดโปร่งเป็นสุข เพียงเมื่อเห็นว่าภาวะที่กำลังสงสัย กับภาวะหายสงสัยชั่วคราวแตกต่างกันอย่างไร ก็เรียกว่ามีสติแบบวิปัสสนาอย่างอ่อนๆแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากความรู้สึกว่าเมื่อกี้จิตเป็นอย่างหนึ่ง ตอนนี้จิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการเห็นจิตในอดีตผ่านล่วงไปแล้ว จบไปแล้วแปรปรวนไปแล้ว ไม่ใช่ปัจจุบันแล้ว
ซึ่งตามธรรมชาตินั้น เมื่อจิตเห็นสิ่งใดหายไป ย่อมไม่สำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นตนตรงนี้น่าสนใจ คือน่าสังเกตว่าแล้วจิตเห็นสิ่งใดเป็นตน? คำตอบก็คือสภาพที่กำลังเป็นปัจจุบัน กำลังปรากฏเฉพาะหน้าอยู่นี่เอง อย่างเช่นเมื่อเปรียบเทียบภาวะสงสัยกับภาวะไร้ความสงสัย ก็จะเห็นอาการที่จิตเลิกเกี่ยวข้องพะวงกับความสงสัยอันเป็นอดีตไปแล้ว แต่กลับมายึดมั่นความไม่สงสัยในปัจจุบันเป็นตัวเป็นตนแทนถ้าเข้าใจตรงนี้ชัดเจน รวมทั้งสังเกตออกว่าอะไรคือภาวะในปัจจุบันที่เรากำลัง ‘เข้าใจผิด’ หรือ‘มองไม่เห็นตามจริง’ ก็ถือว่าคุณเข้าใจหลักพื้นฐานของวิปัสสนาชัดเจนพอสมควรแล้วลำดับต่อไปที่ต้องรู้ก็คือ มีอะไรในตัวเราให้ดูบ้าง?
คำตอบคือทั้งหมดที่เป็นส่วนของกาย และทั้งหมดที่เป็นภาวะทางใจ ล้วนแล้วแต่ถูกรู้ด้วยสติแบบวิปัสสนาได้ทั้งสิ้นแต่บอกแค่นี้ก็จะงงอีก คืองงว่าจะดูกายใจทั้งหมดได้อย่างไร เหมารวมทีเดียวเลยหรือ? คำตอบคือให้แยกดูเป็นส่วนๆก่อน เพราะการเห็นทั้งหมดในคราวเดียวไม่มี และเป็นไปไม่ได้จึงควรดูเท่าที่จะสามารถดูได้เท่านั้นพอคราวนี้อาจเป็นคำถามสำคัญที่สุด คือจะดูส่วนไหนก่อนดี? พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดูลมหายใจมากที่สุด เพราะลมหายใจเป็นที่พึ่งได้เป็นตัวฉุดสติได้ เป็นตัวเลี้ยงสติได้อีกทั้งเป็นตัวทำให้เกิดสติเห็นความไม่เที่ยงตามจริงได้ด้วยอย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อน
คือแค่เรารู้ธรรมดาๆว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ตรงนั้นเรียกว่ามีสติเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นความสงสัยและความฟุ้งซ่านย่อมถูกแทนที่ได้ชั่วคราว ดังนั้นจึงน่าปลูกฝังความพอใจในการรู้ทันว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกให้มาก เพื่อแย่งพื้นที่ของจิตเอามาให้กับสติมากกว่าการปล่อยให้ความสงสัยและความฟุ้งซ่านครอบครองไป เมื่อใดใจฝักใฝ่อยู่กับลมหายใจ คุณจะรู้สึกว่าอาการ ‘หลุดหายไปจากโลก’ นั้นกินเวลาสั้นลและจิตอยู่ในสภาพพร้อมจะไปรู้รายละเอียดส่วนอื่นๆของกายใจมากขึ้นเรื่อยๆปัญหาสำหรับคนส่วนใหญ่คือไม่สามารถปลูกฝังความพอใจ หรือกระทั่งเตือนสติให้ตนเองเข้ามารู้ลมหายใจหรือรายละเอียดอื่นๆในกายใจได้ง่ายดายนัก บทต่อไปจะเสนออาวุธที่จะใช้ในการขจัดอุปสรรคข้อนี้
สรุป
การเริ่มลงมือทำวิปัสสนานั้นไม่ใช่เรื่องยาก แค่ทันทีที่เข้าใจว่าจะให้กำหนดจิตดูอะไร ขณะนั้นก็ถือว่าใช่แล้ว เช่นเปรียบเทียบให้เห็นภาวะต่างระหว่างความสงสัยกับความไม่สงสัยเป็นต้น เครื่องทุ่นแรงที่จะเอาคุณออกจากจุดเริ่มต้นได้คือลมหายใจ ขอเพียงมีสติรู้ลมหายใจแค่ทีเดียว ก็เปรียบเหมือนผนังกั้นแบ่งภาวะสงสัยกับภาวะไม่สงสัยแยกเป็นต่างหากจากกันให้รู้ได้ง่ายแล้ว บทต่อๆไปจะกล่าวถึงอุบายเบื้องต้นเพื่อทำวิปัสสนาให้ได้ต่อเนื่อง และเราจะฝึกกันระหว่างอ่านหนังสือนี่เลยทีเดียว!
อ่านบทที่ ๒ เขาเริ่มทำวิปัสสนากันอย่างไร? >> คลิก
อ่านบทที่ ๓ การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ >> คลิก
อ่านบทที่ ๔ เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง >> คลิก
อ่านบทที่ ๕ เปลี่ยนปมปัญหาเป็นเครื่องมือ >> คลิก
อ่านบทที่ ๖ ปฏิกิริยาทางใจ >> คลิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น