วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

วิปัสสนานุบาล บทที่ ๓ - การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ (ดังตฤณ / ฉบับเก่า)

บทที่ ๓ การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ

บทนี้เรามายกระดับสติขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยวิธีสังเกตลมหายใจที่ต่างไปนั่นเอง คุณไม่ต้องลำบากลำบนฝึกดัดตัวแบบโยคะให้ยุ่งยาก เพียงแค่ทราบว่าจะสังเกตลมหายใจอย่างไรก็พอเอาเดี๋ยวนี้เลยก็แล้วกัน ถ้าให้ถามตัวเองว่าลมหายใจสุดท้ายที่ผ่านมาเป็นสั้นหรือยาว หากตอบไม่ถูกแปลว่าสติของคุณไม่อยู่ที่ลมหายใจ และมีความโน้มเอียงว่าจะเป็นลมสั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากสติของคุณใช้ไปในการตามอ่านข้อความบนหน้าหนังสือนั่นเองแต่มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าทันทีที่มีข้อความสะกิดให้สังเกต ลมหายใจของคุณจะยาวขึ้นทันที ทั้งที่ยังไม่ได้ละสายตาไปจากหน้าหนังสือ

ทั้งนี้เพราะเมื่อมีอะไรมากระตุ้นให้เกิดสติระลึกถึงลมหายใจ สตินั้นจะปรุงแต่งลมให้ยาวขึ้นโดยอัตโนมัติตรงนี้ขอให้สังเกตด้วยว่าในทางกลับกัน คนเราจะมีสติรู้ลมหายใจก็ต่อเมื่อลมยาวเท่านั้น แต่ลมสั้นไม่ค่อยรู้หรือไม่รู้เอาเลยระหว่างที่อ่านบรรทัดนี้คุณหายใจเข้ายาวหรือว่าสั้น? ยาวคือรู้สึกบอกตัวเองว่ามันลากยาว อาจจะเท่ากับหรือมากกว่าเมื่อครู่ส่วนสั้นคือรู้สึกว่าหดลงจนสังเกตยาก หากถูกถามแล้วลากลมหายใจเข้าลึกขึ้นกว่าปกติก็ไม่เป็นไร แต่เอาแค่ทีเดียว อย่าพยายามหายใจลึกๆติดกันหลายๆที เพราะการฝืนหายใจลึกๆหรือถี่ๆไม่ใช่การยกระดับสติแต่เป็นการกดคุณภาพสติให้ตกต่ำลง

เมื่อทราบว่าย่อหน้าที่แล้วหายใจยาวหรือสั้น ลองถามตัวเองอีกทีว่าระหว่างอ่านย่อหน้านี้ยังยาวอยู่หรือไม่อย่าเสียใจถ้าสั้นลง อย่าดีใจถ้ายาวขึ้น เพราะแนวปฏิบัตินี้ไม่มีอะไรผิดหรือถูก มีแต่เห็นว่ากำลังปรากฏอะไรให้สังเกตรู้ตามจริงเท่านั้นจะเห็นว่าคุณอาจพักการอ่านชั่วแวบเล็กๆเพื่อรู้ลมหายใจได้โดยสายตาแทบไม่ต้องละไปจากหน้ากระดาษแต่อย่างใด กล่าวคือเมื่อรู้ลมหายใจ สติอาจขาดไปจากตัวหนังสือและความหมายที่มากับตัวหนังสือชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่พอรู้ลมเสร็จสายตาก็กลับมาจดจ่อกับข้อความต่อได้อีก และสามารถรู้เนื้อความในหนังสือสืบเนื่องกันเป็นสายน้ำด้วยการระลึกรู้ลมหายใจเป็นพักๆไม่ได้รบกวนงานที่ทำอยู่ตรงหน้า มิใช่ทำงานสองอย่างพร้อมกันให้ขาดสติ

เพราะแม้ทำงานโดยไม่ระลึกรู้ลมหายใจ สติของคนทั่วไปก็ขาดตอนเป็นประจำอยู่แล้ว หากคุณฝึกที่จะถามตัวเองด้วยสติธรรมดาๆ เช่นขณะอ่านหนังสือย่อหน้าหนึ่งๆนั้น คุณหายใจยาวหรือสั้น ก็อาจกลายเป็นตัวอย่างของสติระหว่างการทำงาน และวิธีเดียวกันนี้ช่วยให้การทำงานของคุณได้รับการยกระดับขึ้นกว่าเคยหลายเท่าด้วยซ้ำ

ถึงย่อหน้านี้คุณควรเริ่มรู้สึกถึงความสงบ และมีจิตใจฝักใฝ่ที่จะรับรู้ลมหายใจมากขึ้นโดยเฉพาะถ้าเป็นลมหายใจยาวจะทราบชัดเป็นพิเศษ และเมื่อทราบชัดเป็นพิเศษก็พลอยให้กายดึงลมยาวขึ้นกว่าปกตินี่คือธรรมชาติการทำงานของจิต ขอเพียงมีเป้าให้ปักใจลงไป เป้านั้นจะเริ่มชัดขึ้นตามลำดับ เพราะใจฝักใฝ่กับสิ่งใด ย่อมรู้เข้าไปในสิ่งนั้นลึกซึ้งและกว้างขวางตามเวลาที่ผ่านไป พอสติดีขึ้นก็ปรุงกายให้มีคุณภาพดีตาม อย่างเช่นที่เห็นได้จากลมหายใจยาวกว่าธรรมดานี่เอง

เมื่อมาถึงย่อหน้านี้หากลมหายใจของคุณสั้นลงแล้วยังสามารถรู้ได้ชัดว่าลมหายใจกำลังอยู่ในช่วงสั้น แปลว่าจิตของคุณเกิดภาวะผู้รู้ ผู้เฝ้าดูลมหายใจทั้งปวงแล้ว กล่าวคือหายใจออกก็มีสติรู้ว่าหายใจออก หายใจเข้าก็มีสติรู้ว่าหายใจเข้า หายใจยาวก็มีสติรู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็มีสติรู้ว่าหายใจสั้น คุณจะเห็นสภาพจิตตัวเองแปลกไป คือในขณะหายใจ จะเหมือนรับรู้เข้ามาในขอบเขตทางกายได้ชัดขึ้นกว่าเดิม ครอบคลุมกว้างขวางกว่าเดิมณ จุดนี้ขอให้สังเกตว่าถ้าขณะหายใจเข้าคุณพองหน้าท้องออกนิดหนึ่ง

สติที่กำลังดีจะทำให้เกิดความรู้ขึ้นเองว่าหายใจยาวด้วยอาการพองหน้าท้องอย่างไรจึงสบาย ปล่อยลมออกจากอกอย่างไรจึงยังคงรักษาความสบายไว้ได้ในระดับเดิมอยู่อีก ที่ย่อหน้านี้ขอให้สังเกตดูว่าความสบายนั้นมีอายุขัยสั้นยาวเพียงใด บางคนอาจสบายแค่ช่วงหายใจเข้า บางคนอาจสบายแค่ช่วงหายใจออก บางคนสบายได้ตลอดตั้งแต่เริ่มเข้าและจนออกสุด อย่าไปให้ความสำคัญว่ามันยาวแค่ไหน ขอให้รู้แน่ๆตามจริงก็แล้วกัน การเข้าไปรู้ถึงความสบายหรือความอึดอัดตามจริงนั้น เรียกว่าคุณได้ทราบชัดในสิ่งที่ละเอียดกว่าลมหายใจแล้ว นี่เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของวิปัสสนา คือมีสติรู้ไล่จากสิ่งหยาบไปหาสิ่งละเอียดเพื่อความตระหนักยิ่งๆขึ้นว่าทั้งภาวะหยาบและละเอียดนั้น ต่างก็เป็นสิ่งมีอายุขัยทั้งสิ้น ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น ควรอาศัยเป็นเครื่องระลึกรู้เท่านั้น

หากสายตาละจากหนังสือแล้วคุณยังรู้สึกว่าสติไม่ไปไหน ยังคงปักหลักอยู่กับการรู้ว่าลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออก รวมทั้งทราบด้วยว่าความสบายเกิดขึ้นนานเพียงใด วัดได้ด้วยจำนวนลมหายใจกี่ครั้ง ตรงนี้เรียกว่าระดับสติพัฒนาจากการเห็นรูปธรรมตามจริง เลื่อนขั้นขึ้นมาเห็นนามธรรมตามจริงด้วยแล้วการทำวิปัสสนานั้น สำคัญมากที่เราจะต้องเห็นทั้งรูปและนาม เพราะถ้าเห็นรูปอย่างเดียวก็จะรู้ตามจริงส่วนหนึ่ง แล้วยังไม่รู้จริงอีกส่วนหนึ่ง ในทางกลับกันหากเห็นนามอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ต้องเห็นรูปด้วย จึงจะเรียกว่าเห็นตามจริงได้ครบถ้วน

วิปัสสนาที่ดีและมีคุณภาพนั้น ควรเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ พูดง่ายๆว่าให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แต่ไม่ควรตั้งใจบังคับให้เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่เพราะนั่นอาจเป็นการฆ่าตัวตายบนเส้นทางวิปัสสนาเสียตั้งแต่แรกเริ่ม การรู้เหมือนทำเล่นยามว่าง แต่ทำบ่อยเหมือนงานอดิเรกชิ้นโปรดที่สุดในชีวิต จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความคืบหน้าไปเรื่อยๆ

คุณจะพบว่าตัวเองเริ่มฝักใฝ่ลมหายใจ และมีความสังเกตสังกาเกี่ยวกับความสบายกายสบายใจมากขึ้น เพราะเห็นด้วยสติรู้ตามจริงว่าการเข้ามากำหนดดูอยู่ในขอบเขตกายใจนั้นมีแต่ด้านที่เป็นคุณ มีแต่ทำให้นิสัยทำร้ายตนเองและทำร้ายคนอื่นลดลงทุกทีตอนยังไม่เริ่มลงมือจะมองไม่ออกเลยว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไรแต่ขอให้ทดลองเถิด เพียงไม่กี่วันจะทราบด้วยตนเองว่าวิปัสสนามีค่ากับชีวิตอย่างมหาศาลปานใดภาวะรู้ชัดว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่นั้นไม่มีความน่าเบื่อ ไม่มีความรู้สึกอึดอัด หากฝึกระหว่างอ่านบทนี้แล้วเบื่อหน่ายหรือรู้สึกอึดอัด ขอให้ใช้ย่อหน้านี้เป็นหลักตั้งต้นใหม่นับหนึ่งใหม่โดยการสังเกตว่าคุณตั้งใจหรือคาดหวังมากเกิน ‘รู้เล่นๆสบายๆ’ หรือเปล่า?

สติที่พอดีกับการรู้ลมหายใจปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการกำหนดว่าจะ ‘รู้ได้เท่าที่รู้’ ถ้าหากอยากรู้เกินกว่าจะรู้ได้ ผลคือความอึดอัด รู้สึกเคร่งเครียด และไม่อยากพากเพียรทำต่อไปให้มากกว่านี้อีกในทางตรงข้าม หากค่อยๆรู้ขึ้นมาจากระดับที่พอดีกับสติของตัวเอง จะเกิดความสบาย สงบหรือกระทั่งสว่างสดใส รู้สึกสนุก จะกลายเป็นกำลังใจให้อยากมุมานะเพื่อความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปอีก แม้วางหนังสือลงแล้วก็ยังไม่อยากเลิก

สรุป


บทนี้เราใช้ข้อความในหน้าหนังสือเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้คุณเกิดสติรู้ลมหายใจขึ้นมาตรงๆ และการรู้ลมหายใจตามหลักวิปัสสนานั้น ไม่ใช่แค่รู้ทื่อๆว่ากำลังหายใจ แต่ให้รู้ด้วยว่าหายใจออกหรือหายใจเข้า หายใจยาวหรือหายใจสั้น คนเราจะรู้แค่ลมหายใจยาว ส่วนลมหายใจสั้นไม่รู้บทนี้ช่วยชี้ให้คุณดูว่าหากรู้แม้กำลังหายใจสั้น ก็จะทำให้เกิดสภาพสติสัมปชัญญะระดับใหม่ขึ้นมา สติสัมปชัญญะที่สามารถรู้ครอบคลุมกว้างขวางทั้งภาวะยาว สั้น หยาบ ละเอียด ได้อย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่เราต้องการอย่างยิ่งยวดในงานวิปัสสนาขั้นสูงขึ้นต่อๆไป


อ่านบทที่ ๑ วิปัสสนาคืออะไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๒ เขาเริ่มทำวิปัสสนากันอย่างไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๓ การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๔ เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง  >> คลิก
อ่านบทที่ ๕ เปลี่ยนปมปัญหาเป็นเครื่องมือ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๖ ปฏิกิริยาทางใจ  >> คลิก

อ่านบทที่ ๗ เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง  >> คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น