วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

อานาปานสติ ดีกว่ากรรมฐานอื่นอย่างไร

ถาม : เท่าที่ทราบกรรมฐานมีอยู่เยอะ เช่น กสิณบ้าง พุทธานุสติบ้าง มรณานุสติบ้าง หรือว่าพรหมวิหารนี่น่ะครับ แต่ว่าเท่าที่ผมรับรู้ ในการเจริญจิตนี่ ทำไมอานาปานสติถึงเป็นแนวทางที่มีการสอนแล้วก็ปฏิบัติกันมากที่สุดครับ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/y90vj9V37_o
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖ 
ที่ณัฐชญาคลินิก 

ดังตฤณ:
 
เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนั้น จริงๆพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนกรรมฐานเป็นกองๆ คือท่านจำแนกไว้ก็จริงว่านี่มีเรื่องของกสิณสีแดง กสิณสว่าง กสิณที่ขาว อย่างนี้ หรือว่ามีเรื่องของการเจริญพรหมวิหารธรรมนะ แต่ครูบาอาจารย์ในชั้นหลังๆ เวลาที่ท่านจะรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่นี่ ท่านจำแนกแล้วนี่นับได้ 40 กอง จริงๆแล้วมีมากกว่านั้น ท่านบอกว่า ๔๐ กองนี้รับประกันว่าใช้ได้หมด คือทำได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

แต่ขึ้นต้นมานี่ อานาปานสติมาก่อนเลย มาก่อนเพื่อนเลย นั่นเพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้หลายแห่งว่า อานาปานสติเป็นหัวหน้าของกรรมฐานทั้งปวง ท่านบอกไว้ชัดเจน แม้กระทั่งว่าใครอยากจะเจริญอรูปฌานให้เกิดขึ้น อรูปฌานนี่จริงๆไม่ยึดรูปแล้ว ท่านใช้คำนี้ว่า ใครอยากจะเจริญอรูปฌานให้เกิดขึ้น ก็ให้มนสิการเอาอานาปานสตินี้ไว้ให้ดี

ความหมายของท่านมีอย่างนี้ว่า ท่านให้เจริญอานาปานสติอยู่เสมอ เพราะว่าอานาปานสติ ก็คือ การอาศัยลมหายใจเข้าออกที่มีอยู่ตลอด
 ๒๔ ชั่วโมงนี้มาเป็นตัวตั้ง คือ ไม่ได้หมายความว่าฝึกอรูปฌานด้วยการเจริญอานาปานสตินะ แต่ท่านให้มนสิการอานาปานสติไว้ให้ดี คือทำอานาปานสติไว้ให้เคยชินอยู่เสมอๆ แล้วจิตที่มีความชำนาญ มีความคล่องแคล่วในอานาปานสตินั้น เวลาไปพิจารณาอรูปฌาน พิจารณาสิ่งที่เป็นอรูปมันจะง่าย

ก่อนอื่นคือต้องเข้าใจ ต้องแม่นเลยนะว่า 

อานาปานสตินี่ ไม่ใช่การดูลมหายใจนะ 
คนส่วนใหญ่เข้าใจกันอย่างนี้ 
เข้าใจกันมานานเหลือเกินว่า 
อานาปานสติคือการดูลมหายใจ


อานาปานสติ คือการเอาลมหายใจเป็นตัวตั้งของสติ 

ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ 
ลมหายใจยาวก็รู้ ลมหายใจสั้นก็รู้ 
พอรู้ๆ รู้ๆ ไป 
จิตมันจะแยกตัวออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์เอง 
อย่างที่ผมบอกไปว่า 
จิตรู้อะไรโดยความเป็นของไม่เที่ยง
 จิตจะแยกตัวออกมาสังเกตโดยความเป็นผู้สังเกตการณ์เมื่อนั้น


ทีนี้พอรู้ไปอย่างนี้ มันมีผลอย่างไร? มันมีผลว่า แม้กระทั่งจะฝึกเจริญอรูปฌาน เราจะเห็นว่า เออ! อารมณ์ภายในของเราพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าหากหายใจไปจนกระทั่งเหมือนอย่างลมหายใจนี่มันถูกลดความสำคัญลง ปีติสุขภายในมีความเด่นชัดกว่า นี่ตัวนี้เริ่มเข้าสู่นามธรรม หรือใจเริ่มรู้สึกว่า เออ! ความสุข ความปีตินี่มันไม่ได้มีความสำคัญแล้ว มันมีแต่ความรู้สึกว่างๆ ตัวนี้มันก็เริ่มกลายเป็นตัวตั้ง ว่า เออ! อารมณ์ว่างตรงนี้ เราเห็นเราจับความว่างนี้ได้เหมือนกับจับอากาศบ้างหรือเปล่า มันจะมีความรู้สึกแผ่ออกไปรอบตัวนะว่า อากาศว่างนี่มันเป็นช่องว่าง มันไม่มีความทึบ มันเป็นอะไรโล่งๆ ตัวนี้แหละมันตั้งต้นขึ้นมาจากอานาปานสติ

ถ้าใครมนสิการอานาปานสติไว้จนกระทั่งมีความเข้มแข็ง มีความสมบูรณ์ มีความชำนาญมากพอ จะไปเจริญกรรมฐานกองอื่นนี่มันดูง่ายไปหมด หรืออย่างถ้าไม่เอาอรูปกรรมฐานนี่นะ ไปดูกสิณอย่างนี้ คนที่เจริญอานาปานสติจนชำนาญแล้ว จะรู้สึกเลยว่า เออ! ที่กำลังเห็นกสิณนั้น จะเป็นวงกลม จะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่นี่ เห็นอยู่ในใจว่าขนาดนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ขึ้นต้นมานี่ รู้สึกอยู่ว่านี่ ที่หายใจเข้าหายใจออกอยู่นี่มันกลมดิ๊ก หรือว่ามันกลมแบบเบี้ยวๆ มันเห็นเป็นสีขาว สีแดง สีเขียว ชัด หรือว่ามันปรากฏเป็นลางๆ สลับไปสลับมา มันสามารถจำแนกแยกแยะได้ ด้วยแต่ละลมหายใจเป็นที่สังเกต

ไม่อย่างนั้นนี่อารมณ์คนเรานี่นะ พระพุทธเจ้าบอกมันจะไหลไปเรื่อย มันจะไหลจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง โดยที่ไม่มีเครื่องสังเกตว่าไหลไปเมื่อไหร่ นี่ตัวนี้แหละที่เรียกว่าอานาปานสติเป็นหัวหน้าของกรรมฐานทั้งปวง

ผู้ถาม : ครับ มาดูที่ตัวเราเองนะครับ สมมติว่าเรามีอาการหลงลืมอะไรนี่น่ะครับ การเจริญอานาปานสตินี่ ผมก็เข้าใจว่าจะทำให้มีสติมากขึ้น

มีสติอยู่ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก..เท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้ถาม : ใช่แบบจะจำได้ดีขึ้น ไม่หลงลืมง่ายหรือเปล่าครับ

การที่เราจะจำหรือไม่จำ บางทีอานาปานสตินี่มันเป็นแค่ตัวเกื้อกูลในเรื่องของสติเฉพาะหน้า

แต่ที่เราจะจำอะไรได้จริงๆนี่ 
เพราะว่าเรา 'ใส่ใจ' กับสิ่งนั้น
สิ่งนั้นดึงดูดให้ใจของเราเข้าไปติดอยู่ได้

อย่างน้อยสักวินาที สองวินาที

อย่างคนเรานี่นะ ผมลองให้สังเกต บางทีนี่ สมมตินึกไปตอนวัยรุ่นนี่ เรารอเจอหน้าใครสักคน แหม! อยากเห็นจะโผล่มาเมื่อไหร่ ถ้ามีอาการรออยู่อย่างนั้นเกินกว่า ๕ นาทีขึ้นไปนี่มันจะฝังใจ เราจะรู้สึกผูกพันกับคนๆนั้น เราจะมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ! นี่อย่างกับรู้จักกันมานาน สงสัยต้องเคยเป็นเนื้อคู่ สงสัยต้องอย่างนั้น สงสัยต้องอย่างนี้ นี่มันเกิดขึ้นจากอาการที่เราไปรู้สึกฝังใจ เห็นไหม คือตรงนั้นน่ะ เราใส่ใจเข้าใจแล้วมีอาการรอ แต่ของทั่วไปในชีวิตประจำวันมันไม่ใช่อย่างนั้น จะเป็นตัวเลขที่ไม่น่าสนใจ น่าเบื่อ หรือว่าจะเป็นคำสั่ง หรือว่าจะเป็นคำบอกเราว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ถ้าในขณะนั้นใจเราไม่ใส่เข้าไป อย่างไรก็ไม่จำ ต่อให้มีความชำนาญในอานาปานสติ ต่อให้เป็นผู้สำเร็จฌานด้วย บางทีมันไม่จำ เพราะว่ามันไม่ได้ใส่ใจ

ฉะนั้น ถามว่าอานาปานสติมีความเกื้อกูลกับความจำไหม มี เพราะมันทำให้ใจนี่มีความแน่วแน่มากขึ้น เวลาที่ใส่ใจเข้ากับอะไรแล้วนี่ มันมีความสะอาดมากขึ้น ปราศจากความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเราก็รับ หรือว่าเก็บเกี่ยวรายละเอียดเข้ามาได้มาก แล้วเวลาที่มันฝังลงในความทรงจำนี่มันฝังได้แน่น แต่อานาปานสติไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะทำให้ความทรงจำของเราดีขึ้นเสมอไป ถ้าหากเราไม่ฝึกใส่ใจในสิ่งที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน


ผู้ถาม : โอเคครับ ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น