วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

วิปัสสนานุบาล บทที่ ๖ - ปฏิกิริยาทางใจ (ดังตฤณ / ฉบับเก่า)

บทที่ ๖ ปฏิกิริยาทางใจ

อยู่ในเมือง คนมีอาชีพหาเงินทองเลี้ยงปากเลี้ยงท้องครองชีวิตปกติธรรมดานั้น ที่จะไม่เกิดเรื่องกระทบใจเลย เป็นอันว่าหมดหวังแต่การที่จำเป็นต้องมีเรื่องกระทบใจนั้นเอง ทำให้เราหวังใหม่ได้ว่าจะใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือวิปัสสนา เพราะหลักการหนึ่งของวิปัสสนานั้น คือให้ดูว่าปฏิกิริยาทางใจเป็นของเกิดขึ้นชั่วคราว เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา บังคับบัญชาให้อยู่หรือไปทันใจไม่ได้

เพราะมันไม่ใช่สมบัติของเรา ต่างจากหลอดไฟที่กดปุ่มก็สว่างขึ้นหรือมืดลงตามปรารถนาถ้าไม่มีเรื่องกระทบใจให้เกิดปฏิกิริยาทางใจ ก็แปลว่าขาดเครื่องมือเจริญวิปัสสนาในส่วนนี้ไป

ฉะนั้นแทนที่จะหน้าหม่นทนรับเรื่องกระทบ ก็ขอให้ดีใจในความเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่ได้เครื่องมือแบบนี้มา
ตามหลักวิปัสสนา คุณต้องทราบว่าปฏิกิริยาทางใจไม่ใช่ของเกิดขึ้นลอยๆ เพราะมันไม่มีตัวตนอยู่ก่อน แต่เป็นผลที่เกิดจากการกระทบกันระหว่างใจกับ ‘อะไรอย่างหนึ่ง’ ที่เป็นต่างหากจากใจ

อย่างเช่นอักษรบรรทัดปัจจุบันนี้จัดเป็นเครื่องกระทบใจชนิดหนึ่ง ตราบใดที่สายตาคุณยังกวาดไปเรื่อย และรู้เห็นว่าหนังสือพูดอะไรกับคุณคุณจะเข้าใจคำว่า ‘อะไรอย่างหนึ่ง’ ที่เป็นต่างหากจากใจนั้นได้ชัดขึ้น ถ้าทราบว่า แม้แต่ระลอกความคิดหนึ่งๆก็ถือเป็นสิ่งกระทบใจ นี่คือความจริง ความคิดเป็นต่างหากจากใจ

ถูกใจรู้ได้ว่าเมื่อใดสงบจากความคิด เมื่อใดคลื่นความคิดกระเพื่อมขึ้นมาฉะนั้นถึงแม้ว่าปลีกตัวออกมาจากที่ทำงาน ห่างหน้าจากคู่รักคู่แค้นทั้งหลายมาห่างโขแล้ว ก็อย่าเพิ่งนึกว่าจะไม่มีเครื่องกระทบใจให้เกิดปฏิกิริยา ความคิดที่ติดตามคุณไปทุกหนทุกแห่งนั่นแหละเข้ากระทบในทางดีร้ายกับใจของคุณมากที่สุด

เพราะฉะนั้นถ้าดักสังเกตกันที่ปฏิกิริยาอันเกิดจากความคิดกระทบใจได้ก็เท่ากับคุณได้ทำวิปัสสนาบ่อยที่สุดบทนี้จะขอให้คุณสังเกต เฉพาะปฏิกิริยาทางใจเด่นๆ อันเกิดจากการที่ตาถูกรูปทรงสีสันเข้ากระทบ หูถูกส่ำเสียงสำเนียงใดเข้ากระทบ จมูกถูกกลิ่นอายเข้ากระทบ ลิ้นถูกรสชาติอาหารเครื่องดื่มเข้ากระทบ กายถูกของกระด้างของอ่อนนุ่มเข้ากระทบ และใจถูกความคิดหนักเบาเข้ากระทบ

คำว่า ‘ปฏิกิริยาทางใจเด่นๆ’ นั้น ย่นย่อลงแล้วก็เหลือให้ระลึกเข้าใจง่ายๆคือ ‘ชอบ’ กับ‘ชัง’ แค่นั้นเอง ขอให้สังเกตเถิดว่าเรารู้สึกกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ แปลความหมายทางใจออกมาเป็นคำพูดก็ได้เพียงชอบกับชังเท่านี้แหละ

หากสังเกตละเอียดลงไป ก็อาจเห็นลึกซึ้งลงไป ว่าชอบกับชังเท่านี้อาจจำแนกเป็นกิเลสได้พิสดารพันลึก กล่าวคือความชอบใจนั้นจะมีกระแสดึงดูดอยากได้มาเป็นของเรา กระแสใจนี้เป็นฝ่ายเดียวกับราคะหรือความโลภอยากได้ส่วนความมีใจชังนั้นจะก่อกระแสผลักไสอยากขับไล่ให้พ้นหน้าเราไป

กระแสใจนี้เป็นฝ่ายเดียวกับโทสะหรือการคิดทำลายทั้งชอบทั้งชังนั้น เหมารวมได้เป็นก้อนเดียวกันคือความหลง ใจคนเราถูกห่อหุ้มด้วยความหลงกันมาแต่เกิดโดยไม่รู้ตัว ก็เพราะถูกความชอบกับความชังนี้แหละรุมเร้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ฉะนั้นหากเฝ้าจดจ่อรอดูความชอบและความชังดับไปตามธรรมชาติใจก็จะคลายจากอาการลุ่มหลงมัวเมาต่างๆจนหายขาดในที่สุดยกตัวอย่างเช่น บางคนสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึกเพราะเสียงหมาเห่า หากมีแต่ความชังในเสียงกระทบหูก็จะนอนเครียดไม่หลับลงได้เป็นชั่วโมงเพราะแค้นแน่นจุกอก แต่หากเอาเสียงหมาเห่าเป็นเครื่องเจริญสติตั้งมุมมองไว้ว่าสักแต่เป็นเสียงกระทบแก้วหู แต่ไม่กระทบตัวเรา ลองสังเกตดูใจจะพบว่าปฏิกิริยาโต้ตอบเป็นชิงชังนั้นลดลง

ยิ่งเวลาผ่านไปใจจะยิ่งเฉยมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เสียงหมาเห่าจะยังดังเท่าเดิมก็ตาม เมื่อสติเกิดเต็มที่แล้ว จะเห็นว่าความเฉยเกิดขึ้นเป็นปกติแม้ในคืนต่อๆมาจะมีเสียงหมาเห่า สติที่อบรมไว้แล้วก็จะทำให้ใจไม่สะดุ้งตื่นขึ้นเพราะเสียงหมา อาจจะรู้สึกตัวขึ้นเพียงนิดเดียวก็จะมีอาการวางเฉยในเสียงปรากฏแทนความรำคาญ และความวางเฉยนั้นจะทำให้กลับหลับลงต่อได้อย่างดี

นี่คือผลดีที่เห็นได้ชัดของการสังเกตปฏิกิริยาทางใจจนวางเฉยเสียได้เบื้องต้นในชั้นอนุบาลฝึกหัด ขอให้ลองเป็นนักรู้อายุขัยของปฏิกิริยาทางใจ เล็งไว้เลยว่าปฏิกิริยาทางใจทุกชนิดมีอายุของตัวเอง อาศัยจำนวนลมหายใจเข้าออกเป็นตัวนับ กล่าวคือพอชอบหรือชังอะไรขึ้นมา ก็เริ่มนับไปเลยว่าปฏิกิริยาทางใจนั้นเกิดกับลมหายใจที่หนึ่ง ดูไปๆว่ามันจะหมดอายุหมดสภาพแสดงตัวตรงลมหายใจที่เท่าไหร่

เมื่อฝึกแรกๆคุณอาจพบว่าพอรู้ลมหายใจปั๊บ ความชอบความชังก็ดับไปทันทีแปรเป็นความอึดอัดเพราะบังคับใจให้รู้ลมเข้าออกแทน แต่เมื่อทำเหมือนเรื่อยๆเล่นๆหลายครั้งเข้า ก็จะเริ่มชิน และพบว่าความชอบความชังนั้นเป็นอาการทางใจ เป็นของภายใน ต้องเห็นจากใจเท่านั้น ส่วนการรู้ลมหายใจเป็นของภายนอก รู้ผ่านผัสสะทางกายพอสติสัมปชัญญะของคุณรู้แบบแยกชั้น ก็จะไม่รบกวนกัน

ปฏิกิริยาทางใจเกิดขึ้นในภายในก็แสดงตัวอยู่ข้างใน ลมหายใจเกิดขึ้นที่ภายนอกก็แสดงตัวอยู่ภายนอก ถึงตรงนี้คุณจะรู้โดยไม่อึดอัด และที่สำคัญคุณจะไม่ผลีผลามพูดหรือทำอะไรตามความชอบชังบันดาลในขณะนั้นคนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถเห็นความชอบความชังในใจ เพราะชอบหรือชังแล้วก็กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่สืบเนื่องให้เกิดคำพูดหรือการกระทำตามอยากทันที

ต่อเมื่อหัดใช้ลมหายใจช่วยเป็นตัววัดว่าอายุขัยมากน้อยเพียงใด คุณก็จะเริ่มดูความชอบความชังเป็น และเมื่อดูเป็นจนชำนาญ คราวนี้คุณไม่ต้องอาศัยลมหายใจเข้ามาช่วยแล้ว แต่สามารถดูความเกิดดับของความชอบความชังได้ตรงๆทีเดียว

สรุป

ถึงตรงนี้จะเห็นว่าเมื่อเข้าใจวิปัสสนาอย่างแท้จริงล่ะก็คุณอาจปฏิบัติได้ตลอดเวลา แม้ขณะที่คนอื่นเขานึกว่าคุณกำลังนั่งเล่นทอดหุ่ยดูลมชมดาว หรือแม้กระทั่งขณะที่คุณกำลังพูดคุยเฮฮาอยู่กับเขาไม่ใช่จะต้องไปปฏิบัติวิปัสสนากันที่วัดหรือในห้องพระที่บ้านเท่านั้น

อ่านบทที่ ๑ วิปัสสนาคืออะไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๒ เขาเริ่มทำวิปัสสนากันอย่างไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๓ การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๔ เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง  >> คลิก
อ่านบทที่ ๕ เปลี่ยนปมปัญหาเป็นเครื่องมือ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๖ ปฏิกิริยาทางใจ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๗ เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง  >> คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น