วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

การเจริญสติด้วยการทำสมาธิ ปฏิบัติอย่างไร

ดังตฤณวิสัชนา
ณ ณัฐชญาคลินิก

ครั้งที่ ๙
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖

รับฟังทางยูทูบ :  https://www.youtube.com/watch?v=0UoT-wm0HRI&feature=youtu.be

คำถามที่ ๑

ผู้ถาม : ดิฉันได้ตามอ่านหนังสือของคุณดังตฤณมานะคะ จากกรรมพยากรณ์ แล้วก็รักแท้มีจริง แล้วก็พยายามจะฝึกปฏิบัติธรรม แต่อาจจะเป็นทางสายอื่นที่ไม่ใช่อานาปานสติ ก็คือได้มีการเดินจงกรม แล้วก็พยายามจะนั่งสมาธิ แต่ค่อนข้างจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นค่อนข้างจะฟุ้ง บางวันนั่งได้สงบ แต่บางวันก็จะรู้สึกว่าจิตมันก็จะหมุนไปหมุนมา นั่งไม่ค่อยได้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสิ่งที่ทำมามันผิด หรือว่าอาจจะเป็นเพราะตัวเองยังฟุ้งซ่านอยู่น่ะค่ะ

ตอบ  การทำสมาธิไม่ว่าจะเป็นสายไหน หรือว่าจะเดินจงกรม หรือว่าไปบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่นี่นะ มันไม่ใช่เครื่องประกันว่าเราทำไปแล้วจะเกิดความสงบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าธงของเรานี่คือการตั้งเป้าไว้ว่าจะให้เกิดความสงบ จะให้เกิดความมีฌาณมีญาณอะไรอย่างที่ผมพูดเมื่อกี้นี้ ตอนที่ไกด์นี่นะ การตั้งธงไว้แบบนั้นนี่ มันจะทำให้จิตเพ่งอยู่แต่ว่า คือสำรวจสังเกตอยู่แต่ว่า เรานิ่งแล้วหรือยัง ถ้าไม่นิ่งนี่มันจะมีอัตโนมัติอย่างหนึ่งคือบังคับให้นิ่ง หรือพยายามให้นิ่ง ตัวนั้นน่ะมันเป็นความอยาก มันเป็นภวะตัณหา อาการของภวะตัณหานี่นะ คือมีการจดจ้องอยู่กับเป้าหมาย คือมันไม่ได้ดูว่าอะไรกำลังปรากฏอยู่ แม้แต่ความฟุ้งซ่านปรากฏอยู่นี่ ความซ่านก็ไม่ถูกรับรู้ แต่ถูกอยาก ถูกทำให้เป็นเหยื่อล่อของความอยาก ว่าอยากให้มันหายไป

ทีนี้อาการแบบนั้นของจิตนี่ ไม่ว่าจะทำสมาธิในรูปแบบไหน เดินจงกรมในรูปแบบใดก็แล้วแต่ มันจะมีอาการปั่นป่วนทางใจเสมอ ทุกครั้ง เราก็แค่สังเกตเอาว่า ไอ้อาการปั่นป่วนทางใจนี่มันเกิดขึ้น ในขณะที่เรายังมีความอยากอยู่ ต่อเมื่อเรามีความเข้าใจว่าอะไรๆที่กำลังปรากฏอยู่ในขอบเขตของกายของใจนี้นี่ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราดู กำลังแสดงอาการไม่เหมือนเดิมให้เราดู นี่ด้วยการทำไว้ในใจแบบนี้เห็นไหม พอฟังไปนี่ ใจมันค่อยรู้สึกคลาย ตอนแรกมันมีความสงสัย อยากรู้นะ ที่พูดไปทั้งหมดที่ไกด์ไปทั้งหมดนั่นแหละคือคำตอบ

ตราบใดที่เรายังมองความฟุ้งซ่านเป็นศรัตรู ตราบนั้นเราจะสู้กับสิ่งที่มันไม่มีตัวตนด้วยวิธีคิดเพิ่มเข้าไปอีก คือความคิดนี่มันกระเจิดกระเจิงอยู่แล้ว เรายิ่งไปเพิ่มความอยากที่จะให้มันสงบ มันก็เท่ากับไป เหมือนกับเป่าขึ้เถ้าให้มันฟุ้งหนักเข้าไปอีก ขี้เถ้ามันฟุ้งอยู่แล้ว เราไปออกแรกเป่าเข้าไปอีก

จะทำสมาธิ จะเดินจงกรมแบบไหนก็แล้วแต่นี่นะ ขอให้เข้าใจว่า ทำความเข้าใจว่า รูปแบบมันเป็นแค่ของภายนอก มันเป็น ใครจะกำหนดไว้ตายตัวในรูปแบบไหนก็แล้วแต่ มันจะไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจิตใจของเราจะทำงานสอดคล้องกับรูปแบบนั้นๆหรือเปล่า

อย่างบางคนนี่ โผล่เข้าไปในการฝึกแบบเดียวกัน คนพันคนเดินยกหนอ ย่างหนอ อะไรก็แล้วแต่ มีอยู่แค่คนเดียวที่อาการทางใจมันไม่ได้อยากจะได้ความสงบ มันแค่อยากรู้ว่าเออกำลังเกิดอะไรขึ้น เกิดอาการขยับแบบไหน เกิดอาการทางใจแบบใด แล้วในที่สุดนี่ใจมันก็อยู่ในสมาธิของการรู้ของการเห็น แต่คนส่วนใหญ่คืออีก ๙๙๙ คนนี่นะ ไปพยายามทำให้ร่างกายนี่มันเป็นหุ่นขี้ผึ้งแล้วก็ขยับเดินเพื่อที่จะให้เกิดความรู้ บอกว่าให้เกิดความรู้ชัดๆทำให้มันช้าเพื่อใหเกิดความรู้ชัดๆ แต่ปรากฏว่าอาการทางใจจริงๆมันคือการบังคับร่างกายให้ผิดปกติ พออาการทางใจอยู่ในโหมดบังคับร่างกายให้ผิดปกติปุ๊บนี่ ในเวลาไม่นานจิตจะผิดปกติตามไปด้วย คือไม่อยู่ในอาการที่รู้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่พยายามดัดแปลง ดัด หรือว่าไปพยายามที่จะทำให้สภาพที่มันกำลังปรากฏอยู่ตามธรรมชาตินี่บิดเบือนไป ฉะนั้นจิตมันก็จะไม่สงบสักที คือมันดูเหมือนสงบได้ชั่วขณะ บางคนห้านาที บางคนครึ่งชั่วโมง แต่เสร็จแล้วรู้สึกเหนื่อย ไอ้ความรู้สึกเหนื่อยนี่นะ ลองถามใจตัวเองดูนะ มันทำให้ มันชวนเรากลับไปทำอีกหรือเปล่า พอเหนื่อยปุ๊บนี่มันจะรู้สึกว่า โอย! ไม่เอาแล้ว ไม่อยากทำ อยากถอย

สรุปแล้วคือทำไปนี่ เราแค่ได้รู้สึกว่าทำ แต่จริงๆไม่สามารถที่จะเอามาต่อยอดเป็นการเจริญสติระหว่างวัน แต่ถ้าหากว่าเราทำความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เออนี่ อาการทางใจนะ เราเริ่มขึ้นมาอยู่ในลักษณะของการทยานอยาก อยู่ในลักษณะอยากได้นั่นได้นี่ หรือว่าอยู่ในลักษณะของจิตที่มันชอบสังเกตรู้ ชอบสังเกตเห็นภาวะธรรมชาติทางกายทางใจตามจริง ถ้าเริ่มต้นขึ้นมารู้สึกถึงอาการยอมรับ นี่เคลื่นไหวมันหน้าตาอย่างนี้นะ หรือว่ายอมรับว่านี่ไอ้จิตนี้มันกำลังฟุ้งซ่าน หน้าตามันเป็นแบบนี้

อย่างของเรามันจะออกแนวที่ว่ามีอะไรฟุ้งๆ ฟุ้งๆ ยุ่งๆขึ้นมา เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจคิด แต่ความคิดนี่มันกระเจิงๆขึ้นมา แล้วเราก็เกิดความรู้สึกว่า เอ! ดูความคิดก็แล้ว หรือว่าดูไอ้อาการทางกายก็แล้ว ทำไมมันถึงไม่สงบสักที มันเกิดเป็นความสงสัย แล้วความสงสัยนี่เราก็ไม่เท่าทัน ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความคิดฟุ้งๆยุ่งๆกระเจิงๆนั่นแหละ

ทีนี้ถ้าต่อไป เราไม่สังเกตที่ความคิด แต่สังเกตที่อาการที่มันกระวนกระวายอยู่ลึกๆ อยากได้ความสงบ มันจะมีลักษณะปั่นป่วนๆ ของเรานะ มันจะมีลักษณะปั่นป่วนๆ แล้วอยู่ๆก็มีคลื่นความฟุ้งซ่านกระเจิงๆขึ้นมา ถ้าเราแค่สนุกกับการดู สนุกกับการยอมรับ เริ่มจาการยอมรับก่อน ว่านี่หน้าตามันเป็นแบบนี้ อาการมันเป็นแบบนี้นะ ยุ่งๆ กระเจิงๆ เราจะรู้สึกว่า เออ! มันไม่ มันยังไม่ได้ทำอะไร ตั้งใจว่าจะให้สงบ มันสงบเองอยู่แล้ว คือที่มันสงบนี่ เพราะว่าอาการยุ่งๆกระเจิงๆนี่มันแสดงความไม่เที่ยง มันลดระดับลง แล้วเรารู้ เราเห็น

นี่อย่างตอนนี้มีอาการ เห็นไหม พออยากจะถามนี่มันมีอาการอึดอัดๆขึ้นมาในอกว่า เอ๊ะ! ทำไมไม่เปิดโอกาสให้พูดสักที นะ โอเค พอเราเริ่มรู้สึกถึงอาการอึดอัดนี่ คือแค่ยอมรับว่านี่หน้าตามันเป็นแบบนี้อาการอึดอัด ไอ้นี่ไม่ใช้ อันนี้จ้อง เห็นอาการจ้องไหม จ้องอาการอึดอัด อา! อย่างนี้ค่อยคลายออก คือบางทีนี่นะ เราพูดกันตามหลักการนี่ ว่าเออให้รู้อาการอึดอัด หรือว่าให้ดูไป มันพูดคำเหมือนกันใช้คำเหมือนกัน แต่ว่าอาการทางใจจริงๆนี่มันไม่ใช่ นี่อย่างตอนนี้ค่อยสบายขึ้น

อ้าวเมื่อกี้จะถามอะไร ถามในขณะที่ไม่อึดอัด

ผู้ถาม : แล้วถ้าดูอาการพวกที่ขึ้นมาอย่างนี้น่ะค่ะ ระหว่างที่ดูก็ห้ามสงสัยใช่ไหมคะ

ตอบ ไม่ได้ห้ามสงสัย จับคีย์เวิร์ดไว้ดีๆนะ คีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดในการเจริญสติคือยอมรับตามจริง เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นมา เราจะไปห้ามได้อย่างไร มันเกิดขึ้นมาแล้ว หรือว่าอีกห้านาทีต่อไป เราจะไปสั่งตัวเองไหมว่าห้านาทีต่อมานี่จงอย่าสงสัยนะ จงอย่าเกิดอาการส่งสัย มันสั่งกันไม่ได้ นี่แหละที่เรียกว่าความสงสัยเป็นอนัตตา

พอยท์ของการที่เราเจริญสติก็คือ เมื่อความสงสัยปรากฏขึ้นมาให้ยอมรับตามจริงว่า ความสงสัยปรากฏขึ้นมา หน้าตาของความสงสัยนี่ ของเรานะมันจะเป็นอาการกระวนกระวาย จะเป็นอาการที่มันเหมือนกับวนๆเวียนๆฟุ้งๆอยู่ แต่ละคนอาการสงสัยนี่หน้าตาจะไม่เหมือนกัน บางคนสงสัยนี่นะจะขมวดคิ้ว ของเราไม่ได้ขมวดคิ้ว แต่มันมีอาการกระวนกระวายอยู่ บางคนนี่จะเกิดความรู้สึกทึบๆ หรือว่าเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่ามีก้อนแข็งๆอยู่ในหัว แต่ของเราไม่ได้มี ของเราจะมีลักษณะกระเจิงๆของความคิด คลื่นความคิดนี่มันปั่นป่วนอยู่ในหัวเฉยๆ อาจจะมีอาการขมวดคิ้วนิดๆตามมา แต่มันไม่ถึงกับขนาดที่หน้าดำคร่ำเครียด แต่บางคนนี่ถ้าสงสัยขึ้นมานะ มันเกิดความรู้สึกอึดอัดทุรนทุราย อยากรู้อยากเอาคำตอบให้ได้เดี๋ยวนี้ แต่ของเรามันเหมือนกับว่าวนๆในอาการว่ารอคอย ว่าเมื่อไหร่จะได้คำตอบเสียที

ลองทบทวนดู นึกนะว่าเวลาที่เราสงสัย มันจะวนๆอยู่ในหัว เหมือนกับอะไรที่มันบางๆอ่อนๆ ทีนี้ถ้าเราเริ่มเห็นว่าอาการสงสัยหน้าตามันเป็นแบบนี้ คือมันวนๆเวียนๆ แล้วก็ไม่มีอะไรให้ไปต้องขับไล่ หรือว่าไม่มีอะไรให้ต้องไปหักไปห้ามมัน ไปผลักดันมัน มีแต่ลักษณะทางธรรมชาติที่อยู่ๆมันก็ปรากฏขึ้นมาให้เห็น ไม่รู้นาทีไหน แต่นาทีนั้นสำคัญตรงที่ว่า สติของเรานี่มันเจริญพอที่จะยอมรับความจริง ว่ามันปรากฏขึ้น  เข้าใจนะ โอเค

ผู้ถาม : ขอถามอีกนิดนะคะ คือเมื่อเกิดความสงสัยขึ้น เรายอมรับว่ามันเกิดขึ้น แล้วมันก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่พยายามจะตอบคำถามในสิ่งที่เราสงสัย แล้วพอตอบคำถามมันก็เหมือนกับเป็นจุดที่ทำให้คิดออกนอกเรื่องไปเรื่อยๆ เราไม่ควรจะตอบหรือเปล่าคะ

ตรงนั้นก็คือสิ่งที่เราได้ค้นพบด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า คำตอบนี่มันเป็นแค่หนึ่งในชนวนของความสงสัยครั้งต่อๆไป คำตอบที่แท้จริงมันไม่ใช่คำพูด มันไม่ใช่ภาษาแต่เป็นอาการเห็นกลไกการทำงานของจิต กลไกการทำงานของจิตเป็นอย่างไร เมื่อเกิดความฟุ้งซ่าน เมื่อเกิดความสงสัย เมื่อเกิดความอยากรู้อยากเห็นอะไรขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งโจทย์กับตัวเอง ตั้งเป้า ตั้งธงไว้กับตัวเองว่า ทำอย่างไรความฟุ้งซ่านมันจะสงบ เราอยากมีความสงบเป็นสมาธิ ความสงสัยแบบนี้โจทย์แบบนี้นี่ มันได้คำตอบมาร้อยพัน บอกก็ทำจิตให้ตั้งมั่นสิ บางคนก็บอกว่าก็บังคับจิตให้นิ่งสิ มีมากเลยนะ บางคนนี่เป็นถึงอาจารย์สอนสมาธิด้วย ก็ตั้งใจบังคับให้มันนิ่งสิ ฝึกอดทนอดกลั้น บอกว่าขันติ ใช้ขันติในการข่มให้ความนี่มันระงับลง คำแนะนำมีมากมาย

ทำนองเดียวกัน คำตอบในหัวของเราก็อาจจะหลากหลาย ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ว่าตัวของภาวะทางใจมันจะตอบโจทย์จริงหรือไม่จริงมันไม่ได้ขึ้นกับไอ้ภาษาในหัวที่มันผุดขึ้นมา ไม่ได้ขึ้นกับว่าใครจะบอกให้ทำอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับอาการทางใจที่มันถูกต้องตรงความเป็นจริงต่างหาก ถ้าอาการทางใจของเราถูกต้องตรงจริงนี่เห็นไหม ตอนนี้มันคลาย มันรู้สึกผ่อนคลาย อานี่! พยายามล็อคอาการผ่อนคลายแล้ว คือไปพยายามนึกถึงอาการผ่อนคลายเห็นไหม พอมีอาการนึกถึงความผ่อนคลายปุ๊บมันไม่ใช่ผ่อนคลายจริงแล้ว นี่ก็แสดงความไม่เที่ยงของอาการผ่อนคลายอยู่ได้ พอมีคลื่นความคิดขึ้นมานี่ มีอาการนึกขึ้นมา มีอาการจินตนาการขึ้นมาปุ๊บนี่มันไม่ใช่แล้ว มันเพี้ยนไปจากอาการยอมรับตามจริงแล้ว

เมื่อไหร่ที่เพี้ยนไปจากยอมรับตามจริงขอให้ทราบว่านั่นไม่ใช่สติ นั่นเป็นอาการนึกคิด อาจจะเป็นปัญญาได้เหมือนกัน อย่างที่ท่านนิยามไว้มีสุตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการฟัง จินตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการนึกคิด อย่างตอนนึกๆคิดๆก็ไม่ใช่ไม่ได้ปัญญาเลย มันก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกับภาวนามยปัญญา ตัวภาวนามยปัญญา คือการที่แม้แต่ความคิดนี่มันก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็นว่าไม่เที่ยง กำลังแสดงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่ ส่วนนั้นแหละที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา และตราบใดมันเข้าโหมดจินตนาการ เข้าโหมดนึกคิดอันนั้นไม่ใช่ภาวนามยปัญญาแล้ว

ผู้ถาม : ขอบพระคุณค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น