วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

รักษาศีลด้วยการเปล่งวาจาสมาทาน ต่างจากการตั้งใจธรรมดาอย่างไร

ดังตฤณวิสัชนา
ณ ณัฐชญาคลินิก

ครั้งที่ ๙
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖

รับฟังทางยูทูบ: https://www.youtube.com/watch?v=QKPLD_bi9zQ&feature=youtu.be


คำถามที่ ๖

ผู้ถาม : ถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องการรักษาศีลนะครับ อย่างถ้าเราจะรักษาศีลห้าหรือศีลแปด ในการสมาทาน สมาทานก่อนในตอนเช้า สมาทานศีลห้า ศีลแปดก่อนแล้วก็รักษา กับการที่เราไม่ได้สมาทานแต่เราตั้งใจ ว่าในวันนี้เราจะรักษาศีลห้า ศีลแปด มันมีความ ทั้งอานิสงส์ ทั้งการปฏิบัติเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

คือรูปแบบของการสมาทานศีลนี่ คำว่าสมาทานศีลก็คือ ตั้งใจยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ โดยมีคนเป็นประจักษ์พยาน หรือว่าไม่มีคนเป็นประจักษ์พยานก็ได้ ตัวการสมาทานศีลที่ท่านให้ไปสมาทานศีลกับพระด้วยการเปล่งวาจา อันนั้นมันเหมือนกับขอคนยืนยันว่าเราตั้งใจจะทำแบบนี้ แล้วเวลาที่เปล่งวาจา มันเป็นอาการหนักแน่นของจิต คือเอาจริง ไม่ใช่แค่สักแต่คิดลอยๆ ทีนี้ถ้าหากว่าความรู้สึกทางใจมันไม่ได้ตั้งใจจะผิดศีลแน่ๆแล้ว มีความเข้มแข็งพอสมควรแล้ว ไม่ต้องสมาทานศีลก็ได้ เพราะมันอยู่ในใจอยู่แล้ว นึกออกไหม คำว่าสมาทานคือว่าตั้งใจรับมา ถือเอาปฏิบัติ คือคำพูดนี่ไม่มีความหมายเลยนะ ถ้าปราศจากความตั้งใจจริง นิยามของสมาทานศีลคือชี้ไปที่เจตนา ไม่ใช่คำพูด

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าต่อไปชีวิตที่เหลือนี่นะ เรารู้สึกอยู่แล้วว่าจะไม่ผิดศีล คือแต่ละวันนี่ลุกขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า มันไม่เอาตั้งแต่ตอนที่ลุกขึ้นมาแล้ว ใจนี่มันไม่เป็นพวกเดียวกันกับพวกทุศีลแล้ว ไม่ต้องสมาทานก็ได้ คือไม่ใช่เฉพาะแค่ว่าจะเปล่งออกมาเป็นวาจาหรือว่าคิดอยู่ในใจเฉยๆ แต่ผมพูดถึงว่าไม่ต้องคิดในใจเลยก็ยังได้ เนื่องจากว่าศีลที่เราสมาทานไว้แล้วนั้น ประดิษฐานอยู่ในใจเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องไปหาใหม่จากที่ไหนอีก คือเวลาที่เราไปสมาทานที่อื่นบอกว่าจะขอยึดมั่นถือมั่นในศีล ในธรรมอะไรต่อมิอะไรต่างๆนี่ มันก็คือของเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ของใหม่ ไม่ใช่ใครจะมาเติมให้มันมากไปกว่านั้นให้อีก เข้าใจพ้อยท์นะ

ผู้ถาม : อย่างที่เราปฏิบัติ ให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาแล้วนี่ การที่เราจะตั้งใจที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ให้กับดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการเปล่งวาจาธรรมดา กับการกรวดน้ำนี่ มันมีผล มีอะไรที่ต่างกันหรือเหมือนกันไหม กับว่าผู้ที่เราต้องการที่จะให้นี่จะได้รับน่ะครับ

กุศลหรือว่าบุญนี่นะ มันเป็นสิ่งที่มีพลัง มีอำนาจ ดูจากขอบเขตความสว่าง รัศมีความสว่าง ยิ่งจิตของเราทำบุญแล้วมีความสว่างมากขึ้นเท่าไหร่บุญก็เหมือนกับจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น วัดเอาจากความสุขก็ได้ วัดเอาจากรัศมีความสว่างก็ได้ แต่คนนี่ เวลาที่พูดหรือเวลาที่ตั้งใจทำอะไรอย่างอื่นโดยไม่ดูเข้ามาที่ภายในนี่นะ บางทีมันจะไม่รู้สึกถึงความสว่างตรงนั้น นึกออกไหม ขณะที่เราตั้งอกตั้งใจ ขอให้ได้ ขอให้ได้นี่ บางทีมันมีอาการคับแคบเข้าไป มันมีอาการตั้งอกตั้งใจมากเกินไป แต่ถ้าหากว่าใจของเรากำลังสว่าง กำลังกว้างอยู่แล้วเหมือนอย่างเมื่อกี้ตอนนั่งสมาธิ จะรู้สึกถึงความสว่าง ของคุณเมื่อกี้สว่างใช่ไหม รู้สึกว่ามันว่างๆ สว่างๆ ไหม คือมันยังไม่คงที่นะ แต่ว่ามันจะมีเป็นวูบๆขึ้นมาที่สว่างนะ ตรงนั้นแหละลักษณะของบุญที่มันกำลังปรากฏเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเราคิดแค่นิดเดียว ขอให้ความสว่างแบบนี้นี่ได้แก่ผู้นั้นผู้นี้ หรือว่าดีกว่านั้นนะ คือคิดก่อนว่า ขอให้ความสว่างตรงนี้นี่มันแผ่ไปได้กับทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้เท่าๆกัน หรือว่าถ้านึกได้กว้างกว่านั้นอีก ก็ขอให้ความสว่างตรงนี้มันได้กับทุกคน ความสุขตรงนี้ได้กับทุกคนที่อยู่นอกห้องนี้ด้วยนะ ไม่ว่าจะ เราจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม จิตมันจะเปิดออกไป

ลักษณะของการได้นี่ ทุกคนที่อยู่ในห้องนี้นะมันจะได้ความรู้สึกดีตาม มันเหมือนกระแสพลัง ความสว่างนี่มันถูกรู้สึกได้ ลักษณะความสงบ ลักษณะความเย็น ลักษณะของความไม่ถือมั่น ไม่ยึดมันถือมั่นนี่มันเป็นสิ่งที่สัมผัสแล้วรู้สึกดี แต่ถ้าหากว่าเป็นวิญญาณ ถ้าสมมติเขาอยู่ในภาวะที่สามารถรับรู้ได้ จะเป็นเทพก็ดี จะเป็นเปรตก็ดี สิ่งมีชีวิตแบบอื่นไม่ค่อยรู้สึกหรอก จะเป็นเทพก็ดี จะเป็นเปรตก็ดี ถ้าเขารู้สึกได้ว่าเรากำลังมีบุญใหญ่อยู่ ด้วยอาการที่จิตรู้สึกถึงความไม่เที่ยง แล้วก็มีเจตนาอุทิศให้เขา เขาจะรู้สึกดียิ่งกว่าที่คนปกติจะรู้สึกกัน เพราะว่าของที่มันแผ่ออกไปนี่บางทีกายเนื้อหยาบๆนี่มันสัมผัสไม่ค่อยชัด ตาเนื้อเปล่าๆนี่มันมองไม่ค่อยเห็น มันได้แต่อาศัยความรู้สึกว่า เออ! รู้สึกดี แต่ของเทพนี่เวลาท่านรู้สึกนี่ ท่านรู้สึกอีกแบบหนึ่งเลย รู้สึกว่านี่กำลังเป็นบุญใหญ่ แล้วถ้าหากว่าจิตเจตนาของเรานี่มันมุ่งตรงไปที่ท่านนี่นะ ท่านก็จะรู้สึก เออ! เขาให้เรา เราร่วมเย็นดี มันก็จะมีความสว่างประกอบขึ้นมากับรัศมีเดิมของท่าน แล้วก็ลักษณะการได้บุญนี่มันไม่ใช่ว่าได้บุญแบบที่เราได้ มันเป็นการร่วมอนุโมทนา มันเป็นการที่ว่า สมมติว่าเรามีจิตที่มีความสามารถเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจได้ จิตแบบนั้น สภาพอาการธรรมชาติแบบนั้นนี่ ที่เขาอนุโมทนาด้วยนี่ มันจะทำให้เขา จิตของเขาอยู่ในทิศทางเดียวกันกับเราได้ด้วย พูดง่ายๆเราภาวนาได้อย่างไร แล้วเขาอนุโมทนา เขาก็จะเหมือนกับมีส่วนในเส้นทางนั้น พอเกิดใหม่ ถ้ามาเป็นมนุษย์เขาก็จะได้แนวทางแบบนั้นบ้าง นี่คือสิ่งที่มันเป็น เรียกว่าบุญที่กระจายให้แก่กันและกันจริงๆ อันนี้เป็นบุญขั้นสูงสุด

แต่ถ้าบุญอย่างอื่นๆ เช่นว่า เราสวดมนต์ หรือว่าเราไปถือศีล หรือว่าไปปล่อยสัตว์อะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้จิตมันเกิดความเบิกบานขึ้นมาในบุญ แล้วเราอุทิศให้ ท่านก็จะได้ตามนั้นแหละ ตามลักษณะบุญที่เราอุทิศ อันนี้ในกรณีที่สามารถรับรู้นะ แต่ถ้าไปเกิดเป็นคนแล้ว หรือไปอยู่ในนรก หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานนี่ มันจะไม่มีความสามารถรับรู้แบบนั้น คนที่จะได้จริงๆก็คือตัวเรา ที่อุทิศนั่นแหละ จิตมันจะกว้างขึ้น มันมีอาการกรุณา มันมีอาการอยากเผื่อแผ่ มันมีอาการอยากจะให้ พูดง่ายๆอุทิศส่วนกุศลนี่เราได้ เราได้ชัวร์ๆ คนอื่นได้หรือเปล่าก็ไม่รู้

การเปล่งวาจา ก็เหมือนกัน มันทำให้จิตหนักแน่นขึ้น มีจุดประสงค์มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น คือถ้าคิดเฉยๆนี่มันเป็นแค่ระลอกอ่อนๆของความคิดที่มันผุดขึ้นมาในหัว แต่ถ้าพูดเป็นประโยคนี่มันต้องเรียบเรียงจิตให้โฟกัสอยู่กับสิ่งนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น การพูดเปล่งวาจามันก็จะมีผลมากกว่า แต่ทั้งหลายทั้งปวง สรุปลงตรงที่ว่า ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วกำลังเป็นบุญอยู่จริงๆแล้วอุทิศให้นี่ อันนั้นแหละมันชัดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปล่งวาจาก็ได้ แต่ถ้ายังไม่ตั้งมั่น เปล่งวาจาก่อน

ผู้ถาม : ครับอาจารย์ อย่างเราปฏิบัติแล้วมันเกิดเป็นบุญเป็นกุศลแล้วเราอุทิศทันที กับเรายังไม่อุทิศในทันทีแต่อุทิศในตอนเย็นหรือว่าในวันรุ่งขึ้น อย่างนี้มันมีผลที่จะได้รับของผู้ที่เราจะให้นี่แตกต่างกันหรือไม่ครับ

ไม่แตกต่างกันหรอก เป็นประเภทเหมือนไดเร็คทีวี 5 วินาทีแล้วมันจะได้ผลมากอะไรนี่ คือมันก็มีส่วนของความเข้มข้น คือตอนนั้นจิตมันกำลังเป็นกุศลเต็มที่แล้วเรานึกก่อน ว่าหน้าตาของกุศลมันเป็นอย่างไร เวลาทุ่มออกไปนี่มันก็จะเต็มที่แต่จิตในลักษณะที่เป็นกุศลมันไม่ใช่สามารถ มันไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นแล้วและมันก็หายไป ถ้าอีกวันต่อมาเรานึกขึ้นได้ คือยังไม่ได้อุทิศบุญตรงนี้ให้เลย ให้คนนั้นคนนี้เลยนี่นะ ย้อนกลับไปนึกถึงบุญที่เราทำอีก ถ้าหากว่าเกิดความสุข ถ้าหากว่าเกิดความสว่างเท่าๆกันกับที่ขณะทำนี่ บุญอันเดิมที่มันมีความแรงแค่ไหนมันก็กลับมาแรงแค่นั้นแหละนะ ลักษณะของบุญนี่มันเป็นเงาตามตัว มันเป็นลักษณะของการที่กลับมาเข้มข้นได้เท่าเดิมเมื่อเรานึกออก พอเรานึกออกแล้วมันรู้สึกถึงความสุขราวกับว่าได้กลับไปทำอีกครั้ง แล้วเอาความสุขตรงนั้นแผ่ไปอุทิศไปให้กับผู้ล่วงลับหรือว่าคนที่มีชีวิตอยู่ก็ตามที่เราคิดว่าอยากจะให้มันได้ผลเท่ากัน


คือขอให้มองเป็นธรรมชาติทางจิต ว่าจิตเราหน่วงนึกถึงอะไรได้มันก็สามารถที่จะเอามาใช้งานได้เท่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น