วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

วิปัสสนานุบาล บทที่ ๗ - เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง (ดังตฤณ / ฉบับเก่า)

บทที่ ๗ เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง

หนังสือวิปัสสนานุบาลเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่าวิปัสสนาที่ดีนั้น เริ่มต้นต้องสร้างพื้นฐานอันมั่นคงให้กับสติเสียก่อน คือเอาสติไปผูกอยู่กับลมหายใจที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เรากลับหลงไม่รู้อยู่ชั่วนาตาปีนี่เอง จากนั้นชี้ให้เห็นว่าวิปัสสนาที่ได้ผล และทำให้เกิดกำลังใจเป็นอันดีนั้น ควรแก้ปัญหาให้คุณได้

เช่นถ้าเป็นโรคเครียด คิดมาก ฟุ้งซ่านไม่หยุด ก็จะสบายขึ้น คิดน้อยลง ยุติความฟุ้งซ่านได้ตามปรารถนา ไม่เห็นเหตุผลใดๆว่าจะต้องหวงความคิดไว้หรือกักขังให้ความคิดคงค้างอยู่ในหัวอย่างเปล่าประโยชน์ทำไมแล้วลงเอยคือชี้ให้เห็นว่าถ้าสามารถเห็นปฏิกิริยาทางใจทั้งปวงโดยความเป็นสภาวะเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนน่ายึดมั่นถือมั่นสักอย่าง

ความจริงอย่างที่สุดคือความว่างอย่างที่สุด เกิดแล้วหาย เกิดแล้วหาย เกิดแล้วหาย ทั้งหมดทั้งสิ้น เห็นได้อย่างนี้นับว่าคุณเริ่มทำวิปัสสนาเต็มขั้นแล้วบางคนอาจคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีไว้ให้นักเรียนอนุบาลทางวิปัสสนา เพราะฉะนั้นไม่มีทางทำวิปัสสนาเต็มขั้นได้

แต่ขอบอกว่าแท้จริงคุณจะเป็นนักเรียนอนุบาลวิปัสสนา หรือเป็นนักวิปัสสนาเต็มขั้นนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้กี่รอบ หรือจะต้องไขว่คว้าหาอ่านหนังสือเล่มอื่นสักกี่เล่ม เกณฑ์ตัดสินอยู่ที่จิตของคุณเอง ว่าเห็นกายใจนี้ตามจริงหรือไม่หากเห็นเป็นขณะๆ อย่างต่อเนื่องว่าทุกสิ่งในกายใจนี้เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดาทั้งสิ้น

คุณไม่ยึดมั่นถือมั่นส่วนใดส่วนหนึ่งทั้งฝ่ายรูปและฝ่ายนามว่าเป็นตัวตน อุปาทานน้อยลงเรื่อยๆว่านั่นของคุณ นี่ของคุณ นั่นแหละตัวชี้ชัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาเต็มตัวแล้วอย่างไรก็ตาม ก่อนถึงจุดนั้นก็จะขอให้หลักเป็นข้อๆไว้สำรวจตนเอง ว่าพฤติกรรมของคุณจะพาไปสู่ความเป็นนักวิปัสสนาหรือไม่

เพื่อความสะดวก และไม่ต้องเป็นที่สงสัยว่าทำมาถูกหรือผิดทาง ก็ขอให้ใช้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นเกณฑ์ประกันความมั่นใจ ยิ่ง ‘ใช่’ มากข้อเท่าไหร่ ก็เป็นอันว่าใกล้เคียงขึ้นเท่านั้น

) เมื่ออยู่ว่างๆ เช่นต้องรอใครนานเป็นชั่วโมง คุณไม่ปล่อยใจไปกับวิมานในอากาศ ไม่ย้อนนึกถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่คำนึงนึกล่วงหน้าถึงเรื่องที่ยังรออีกไกล แต่นึกถึงลมหายใจ คุณฝักใฝ่กับลมหายใจเพราะมันทำให้คุณมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะบังคับตัวเองให้ฝืนทำเพื่อจะได้เป็นนักวิปัสสนา

) เมื่อมีใครทำให้คุณโกรธ คุณรู้ตามจริงว่ากำลังโกรธ แต่แทนการมองหน้าเขาด้วยตาขุ่น กลับมองความโกรธในใจตัวเองด้วยความเป็นกลาง คือไม่คิดเรื่องถูกผิดของเขาหรือของเรา คิดถึงแต่ว่าใจเรามีความโกรธ เพื่อเห็นตามจริงว่าภาวะโกรธเหมือนไฟที่ลุกวาบขึ้นแสดงความแปรปรวนให้ดูเล่นอีกครั้งเท่านั้นเอง

) เมื่อเวลาผ่านไป คุณเริ่มพบว่าตัวเองเฝ้าตามรู้ทุกการเคลื่อนไหว ทุกภาวะอารมณ์ เพื่อเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง บังคับบัญชาหรือสั่งคุมให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ แม้กระทั่งขณะขับถ่ายปัสสาวะ! ข้อสังเกตตัวเองหลักๆเหล่านี้พอบอกได้ว่าคุณเริ่มทำวิปัสสนาบ้างแล้ว ต่อไปนี้คือรายละเอียดที่ลึกลงไป ซึ่งคุณอาจพบว่าเกิดขึ้นเองหลังจากทำวิปัสสนาไปได้พักหนึ่ง

) เมื่อเงยหน้ามองเมฆหรือมองดาว แทนที่จะเกิดจินตนาการเพ้อฝันอ่อนหวาน คุณกลับเห็นแค่ความเบานิ่งสม่ำเสมอของใจ โดยปราศจากความติดใจไยดีรสสุขอันเกิดแต่ความเบานิ่งสม่ำเสมอนั้น

) เมื่อเกิดอัตตามานะถือเขาถือเรา เทียบศักดิ์เทียบชั้นแรงๆ แล้วคุณรู้สึกรังเกียจสิ่งที่เกิดขึ้นในใจตัวเอง เท่ากับที่คนตาดีเห็นเห็บหมัดสุนัขมากลุ้มรุมเกาะร่างของตนยุ่บยั่บ

) เมื่อคุณเห็นข้อเสียของตัวเองเกิดขึ้นจากการคิด การพูด หรือการกระทำใดๆ แล้วทราบชัดว่าจิตมีลักษณะเป็นอกุศล เช่นขุ่นเคือง รู้สึกหม่นมืด ในหัวฟุ้งแรง อกใจเร่าร้อน ฯลฯ แล้วเกิดสติสำนึกผิดแบบใหม่ คือไม่เศร้าโศกเสียใจหรือโทษตัวเอง แต่เห็นว่าบาปอกุศลเป็นแค่เงาดำเงาหนึ่งที่ปรากฏทาบจิต เพียงรู้ชัดว่าเงาดำนั้นไม่ใช่ตัวคุณ เกิดแล้วต้องสลายตัวเป็นธรรมดา คุณก็เกิดความรู้สึกว่างขึ้นแทนที่

) เมื่อเป็นนักวิปัสสนาไปเรื่อยๆ นับวันความว่างก็ขยายขอบเขตออกกว้างไกลขึ้นทุกที คือเห็นอาการใดในใจดับลง ใจก็เหมือนมีพื้นที่ว่างมากขึ้นเรื่อยๆ และพลอยมีความสุขที่แปลกประหลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

) เมื่อเลิกนิสัยคิดว่าตัวเองรู้ดี รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร หันมาเห็นว่าตนเองไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองตามจริงสักเท่าไหร่จนในที่สุดนิสัยใหม่ค่อยๆถูกเพาะขึ้น คือสำรวจตนเองมากกว่าสอดส่องออกไปหาเรื่องของคนอื่นข้างนอก

) เมื่อเกิดความกลัว คุณเห็นว่าความกลัวเป็นเพียงอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่ล่อให้นึกว่า ‘มีคุณ’ ที่กำลังจะเป็นผู้เคราะห์ร้าย ต่อเมื่อส่องอย่างใกล้ชิดด้วยวิปัสสนาแล้ว กลับเห็นว่าเหลือแต่ความกลัว หาได้มีผู้เคราะห์ร้ายที่ตรงไหนไม่

) เมื่อตระหนักว่ายอดสุดแห่งข้อเสียคือความเหม่อลอยไร้สติ

) เมื่อรู้สึกว่าอดีตที่ผ่านมาเป็นแค่ความทรงจำ แล้วก็รู้สึกด้วยว่าความทรงจำเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ค่อยๆหรี่ลงสู่ความดับเข้าไปเรื่อยๆด้วย

) เมื่อพบว่านิสัยบางอย่างเปลี่ยนไป เช่นจากที่เคยช่างคุยกับตัวเอง หรือกระทั่งรบกับเสียงในหัวของตัวเองอย่างหนัก มาพักอยู่กับความสงัดเงียบภายในใจแทน

๑๐) เมื่อมีคนบอกว่าคุณผ่องใส แล้วคุณรู้สึกว่าเขาพูดถึงภาวะผ่องใส ไม่ได้พูดถึงตัวคุณ

๑๑) เมื่อรู้ตามจริงว่าคุณแตกต่างจากคนรอบข้างที่ไม่ได้ภาวนา แต่ไม่เห็นตัวเองแปลกคนเพราะทุกคนเสมอกันด้วยความเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วต้องเสื่อมสลายลงทั้งสิ้น

๑๒) เมื่อมีใครแนะนำให้คนอื่นรู้จักว่าคุณเป็น "นักวิปัสสนาคนหนึ่ง" ใจคุณนึกปฏิเสธ ไม่รู้สึกภาคภูมิใจ ไม่นึกว่าเป็นเกียรติยศ และเห็นว่าแม้การ "เป็นนักวิปัสสนา" ก็ไม่ใช่คุณเอาเลย

สรุป

ธรรมะที่ดีที่สุดคือสิ่งที่กำลังปรากฏเด่นต่อสติอยู่เดี๋ยวนี้

สิ่งใดแสดงให้เห็นว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา

เห็นแล้วกระทำจิตให้คลายจากความยึดมั่นเสียได้

สิ่งนั้นน่าสนใจดูยิ่งกว่าสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหมดในโลกรวมกัน

อ่านบทที่ ๑ วิปัสสนาคืออะไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๒ เขาเริ่มทำวิปัสสนากันอย่างไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๓ การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๔ เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง  >> คลิก
อ่านบทที่ ๕ เปลี่ยนปมปัญหาเป็นเครื่องมือ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๖ ปฏิกิริยาทางใจ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๗ เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง  >> คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น