วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดการเปรียบเทียบ ควรแก้อย่างไร

ดังตฤณวิสัชนา
ณ ณัฐชญาคลินิก

ครั้งที่ ๙
๑๔ กันยายน ๒๕๕๖

รับฟังทางยูทูบ: https://www.youtube.com/watch?v=7vYHF-wedmA&feature=youtu.be

คำถามที่ ๗

ผู้ถาม : คือตนเองอยู่กับสามี ก็ทำอย่างอาจารย์บอก คือเราปฏิบัติธรรมรักษาศีลด้วยกัน แล้วก็รักษาศีลแปดด้วยกัน แล้วก็ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยกัน แต่ว่าตัวเองไม่ค่อยพัฒนาเขาน่ะค่ะ คือพอด้วยความที่อยู่กันมานาน ก็เห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปตรงอารมณ์เขาเย็นขึ้นมาก เขามีสติ เขาไม่โมโห อย่างเรื่องขี้หึงอะไรก็ไม่มีค่ะ แต่ว่าตัวเอง ทั้งที่เราปฏิบัติอยู่ด้วยกัน แล้วตนเองก็รู้สึกว่าสามารถเรียนรู้อะไรได้เร็วกว่าเขา แต่ว่าเวลาในชีวิตจริงแล้วการที่จะควบคุมคำพูดอารมณ์ตัวเอง กลับมีน้อยกว่า มีนิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งคือรู้สึกว่าตัวเองฉลาดกว่า แล้วก็เวลาจะทำให้ใช้คำพูดนี่ล่วงเกินเขาอยู่หลายครั้ง แล้วก็ทั้งที่ก็ไม่ได้อยากจะทำทั้งที่ใจก็เคารพเขาอยู่มาก แล้วก็อารมณ์ไขว้เขว บางครั้งที่อยู่ห่างกันจะรู้สึกเหงามาก จะรู้สึกเกิดความน้อยใจมาก ทั้งที่รู้เหตุรู้ผลทุกอย่างแต่ว่ามันดูเหมือนไม่พัฒนาน่ะค่ะ

ตัวต้นตอเลยนี่นะ มันเป็นอาการที่ว่าใจเรา ตัวเราเป็นคนเอาจริงเอาจัง แล้วก็ในความเอาจริงเอาจังนั้น อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ ตัวนี่คือปมที่ทั้งหมดเลยที่พูดมานี่ มันมาจากรากคือสองตัวนี้ เอาจริงเอาจัง แล้วก็อยากได้อะไรต้องได้ ถ้าไม่นี่ได้ไม่หยุด ตัวนี้แหละที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้า

เพราะอะไร เพราะว่าอาการเอาจริงเอาจังในสิ่งที่อยากได้นี่แม้กระทั่งอยากได้อะไรทางธรรมนี่นะ มันคือตัวภวะตัณหา มันคือตัวต้นเหตุของความทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ละไม่ใช่สอนให้เอาหรือสอนให้เพิ่ม แต่นี่พอปฏิบัตินี่มันจะไปเพิ่มไอ้ตัวนี่แหละ ตัวภวะตัณหา แล้วก็ไอ้ตัวภวะตัณหานี่มันจะตามมาด้วยสิ่งที่เรียกว่ามานะอัตตา เทียบเขาเทียบเรา คือเวลาเราวัดผลเราไม่ได้วัดเอาจากว่าตัวเราพัฒนาขึ้นแค่ไหนในแต่ละวัน แต่ไปเทียบกับเขาซึ่งมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจน แล้วมันก็ย้อนกลับไปกระตุ้น อย่างที่บอกว่าในตอนแรกว่าเป็นคนเอาจริงเอาจังแล้วก็อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ พอเห็นเขาก้าวหน้ากว่ามันก็เกิดความรู้สึกอยากก้าวหน้ากว่าเขา หรืออย่างน้อยที่สุดให้ก้าวหน้าเท่าเขา และเอาจริงเอาจังมาเอาจริงเอาจังกับตัวเอง มาเค้นกับตัวเองว่าจะต้องทำให้ได้

นี่มันเลยกลายเป็นการปฏิบัติแบบเทียบเขาเทียบเรา เอาเขาเป็นที่ตั้งของการเทียบ ไม่ใช่เอาตัวของเราเองเมื่อวานเป็นตัวเทียบ เห็นไหม เข้าใจพ้อยท์นะ พอเรามีพ้อยท์ที่มันผิดทางปุ๊บ มันไปเปรียบเทียบระหว่างภาวะนี้กับภาวะอื่นโดยความเป็นตัวเป็นตน เอาความเย็นเป็นตัวเปรียบเทียบเป็นตัวตั้ง หรือว่าเอาอารมณ์โกรธอารมณ์โมโหเป็นเครื่องวัดว่าใครชนะใครแพ้ มันก็เลยกลายเป็นว่าถ้าวันไหน สมมติว่าเขาเกิดปึงปังขึ้นมาแล้วเราไม่ปึงปังแปลว่าวันนั้นเราก้าวหน้า เห็นไหมมันผิดทางแล้ว คือความก้าวหน้านี่มันต้องเทียบกับตัวเองว่า อย่าว่าแต่วันต่อวันเอากันเป็นชั่วโมงเอากันเป็นนาที เทียบอย่างยอมรับความจริงว่าในขณะนี้มันต่างกันอย่างไร แต่ของเราไม่พร้อมจะยอมรับ คือถ้ามันไม่ดีปุ๊บปฏิเสธเลย แล้วก็มาตั้งหน้าตั้งตาเอาว่าทำอย่างไรจึงจะดีขึ้น ปฏิบัติอย่างไรมันถึงจะให้ผลถูกต้องมากขึ้น เข้าใจไหม

มันไม่ใช่รูปแบบอุบายมันไม่ใช่รูปแบบว่าปฏิบัติตายตัวอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมันจะก้าวหน้าขึ้น แต่เรายอมรับสภาพตามจริงที่มันกำลังปรากฏโดยเปรียบเทียบกับตัวเองทั้งเท่า เป็นครั้งๆไป นี่แหละ ตัวนี้แหละที่มันจะเห็นเลยว่าความก้าวหน้าไม่ใช่ว่ามันจะมีมาในรูปของการที่เราเป็นคนเยือกเย็น เราเป็นคนสงบ แต่มันจะมาในรูปของการที่เราเห็นว่าเราร้อนขึ้นมาเมื่อไหร่ ไอ้ความร้อนนั้นต่างไปเมื่อไหร่ เข้าใจพ้อยท์ไหม เราไม่ได้ตั้งใจจะไปเอาตัวตนของความเย็น เราตั้งใจจะไปดูและยอมรับว่ามันร้อนขึ้นเมื่อไหร่แล้วหายไปเมื่อไหร่

ความก้าวหน้ามันจะมาในรูปของการที่เรารู้สึกว่า เอ๊ะ! เวลาเห็นความร้อนนี่ แต่ก่อนมันไม่เห็นว่ามาเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้มันเริ่มเห็นว่ามาเมื่อไหร่ แล้วหายไปเมื่อไหร่ มาเมื่อตอนที่เกิดความรู้สึกจุกอก หายไปเมื่อเกิดความรู้สึกว่ายอมรับว่ามันจุกอก ทุกครั้งที่มันคลายไปมันไม่มีความเก่งขึ้น มีแต่ว่าเราเห็นได้ไวขึ้น เห็นไหม มันแตกต่างกัน มุมมองนี่มันแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงนะ แต่ก่อนนี่ถ้าระงับความโกรธได้ทั้งๆที่มีเรื่องรุนแรงเข้ามา เก่ง! มันจะมีตัวเก่งขึ้นมา กลายเป็นอัตตามานะแบบใหม่ขึ้นมา แต่พอตอนคราวนี้ความร้อนมันขึ้นมา ยอมรับว่ามันขึ้นมา ยอมรับว่ามีอาการจุกแน่นเสียดอก ด้วยอาการยอมรับนั่นหายไปมันไม่มีตัวเก่ง มันเหลือแต่ว่าจิตรู้อยู่เห็นอยู่ว่าสภาพอึดอัดนั้นคลายตัวลงไปด้วยสติที่ถูกต้อง

ดูความแตกต่างตรงนี้แล้วจะค่อยๆพัฒนาขึ้นไป การพัฒนานี่ก็คือว่ามันเห็นจริงมากขึ้นยอมรับได้ตรงมาขึ้น แล้วก็มันจะค่อยๆเร็วขึ้นเอง โดยที่ตัวเรานี่เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย ตัวเราไม่ได้เก่งขึ้น ตัวเราไม่ได้เก่งน้อยลง แล้วที่สำคัญคือไม่ได้มีตัวตนที่มันหนาแน่นขึ้น มันมีตัวตนที่เบาบางลงต่างหาก เข้าใจพ้อยท์นะ

ผู้ถาม : อีกคำถามหนึ่ง คือว่ามันมีสองอาการเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น หรือว่าสิ่งที่มากระทบ คือบางครั้งที่สามารถมองเห็นทันมันจะหายไปค่ะ แต่บางครั้งมันไม่หายไป

ที่ไม่หายไปเพราะเราไม่ได้เห็น

ผู้ถาม : มันไม่เห็นใช่ไหมคะ มันเลยไม่หาย

ที่หายไปนี่เพราะเรายอมรับ ที่ไม่หายไปเพราะเราไม่ยอมรับ คือแล้วอาการยอมรับนี่มันไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆนะ มันไม่ใช่เรียกว่ามาได้ทุกเวลา บางครั้งนี่อารมณ์มันชนะ ชนะอาการอยากจะยอมรับ มันไม่อยากยอมรับอยู่น่ะ แต่ถ้า นี่อย่างเราคุยกันในห้องนี้มันเหมือนง่ายๆ เพราะอารมณ์กระทบแวดล้อมนี่มันมีแต่ดีกับดี มันรู้สึกสบายๆ มันรู้สึกทุกคนนี่สว่าง สว่างร่วมกัน ตัวเราก็เลยเหมือนกับ เออ! อยู่ในอารมณ์แบบสบายๆ สว่างๆไปด้วย แล้วพอพูดถึงเรื่องการยอมรับนี่มันง่าย ตอนที่จิตเป็นกุศลอยู่

แต่ ณ เวลาที่เราไม่อยากยอมรับ มันกำลังเกิดอาการดื้ออยู่ เกิดอาการแบบเหมือนกับหมกมุ่นอยู่ เพราะฉะนั้นพอจะไปเค้นให้มันยอมรับนี่ มันไม่เอาแล้ว ถึงบอกไงว่าอาศัยลมหายใจเข้าช่วย ณ เวลาที่รู้สึกอึดอัด ณ เวลาที่รู้สึกแย่ ณ เวลาที่รู้ทั้งรู้ว่านี่จิตเป็นอกุศลอยู่ แต่มันไม่หายไปไหนน่ะ เริ่มนับหนึ่งที่ตรงนั้นเลย ถามตัวเองนี่ว่าหายใจครั้งนี้มันหนาแน่นแค่นี้ หรือว่าหนาแน่นแค่ไหน ถ้ามันมืด ถ้ามันมีความรู้สึกอึดอัดแค่ไหน ยอมรับตามจริงไป จากนั้นอีกลมหายใจหนึ่งมาเทียบวัดกันใหม่ เออ! มันเท่าเดิมอยู่ไหม ถ้าเท่าเดิมอย่าไปใจร้อน ให้ดูไป
นี่มันมีเครื่องแบ่ง

เห็นไหมสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี่ ท่านสอนไว้ถึงท่านเกือบจะตรัสรู้ธรรมเลยนะ ที่ว่าด้วยโพชฌงค์น่ะ ท่านบอกให้เอาอานาปานสตินี่เป็นฐานที่ตั้ง เป็นชัยภูมิที่จะทำให้โพชฌงค์เจริญขึ้นมา ทำอย่างไร ก็ทำอย่างนี้แหละ ถามตัวเองไป นี่หายใจเข้า หายใจออกนี่ อาการที่กำลังปรากฏอยู่ชัดๆในขณะนั้นน่ะมันเป็นอย่างไร ถ้ามันแน่นไป ถ้ามันแน่นอก คับอกคับใจไป 10 ลมหายใจ เรายอมรับไปว่า โห! นี่ 10 ลมหายใจแล้วมันยังไม่หายไป แต่เสร็จแล้วลมหายใจที่ 11 อย่างไรๆ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ดู พ้อยท์ก็คือเรามีที่สังเกตชัดเจนว่ามันเริ่มคลายตัวไปเมื่อไหร่

ถ้าไม่อาศัยลมหายใจนี่ บางทีดูไปนี่นะมันคิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นแล้ว แล้วก็พอกลับมาดู อ้าว! มันยังเท่าเดิม จริงๆไม่ได้เท่าเดิม แต่เราไม่มีเครื่องแบ่งเอง ไม่มีเครื่องสังเกตเองว่ามันต่างไปเท่าไหนแล้ว บางทีมันอาจอึดอัดขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าไปฟุ้งซ่านเรื่องอื่นนี่มันยิ่งทับถมไง แต่บางทีมันเบาบางลงกว่าเดิม แต่เราสังเกตไม่ออก เพราะว่าไอ้ตอนที่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นมันเหม่อไปเรียบร้อย มันหลุดโฟกัสไป พอกลับมาเราแค่ไปเห็นน่ะว่ามันยังอยู่ แต่ตอนที่มันเบาบางลงแล้วนี่ มันไม่รู้ มันไม่มีเครื่องสังเกตแล้ว ณ เวลานั้น

ฉะนั้นการอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต ด้วยการทำให้มันเคยชิน มันจะกลายเป็นจุดที่เราบอกตัวเองได้เลย ว่านี่มันพัฒนาขึ้น ความพัฒนาเกิดขึ้นมาจากไหน มาจากตรงที่ว่าตอนแรกๆเราสังเกต 10 ลมหายใจ โห! มันเท่าเดิมเลย มันอึดอัด มันยังย่ำแย่อยู่เท่าเดิม แล้วต้องดูลมหายใจที่ 11 มันถึงจะเริ่มผ่อนคลาย แต่พอเริ่มคุ้นกับวิธีนี้นี่นะ 2 ลมหายใจต่อมาจากจุดเริ่มต้นของความอึดอัดนี่ มันเริ่มคลายแล้ว เราก็จะเกิดความรู้สึกว่ามีกำลังใจขึ้นมาว่า นี่เราดูมาถูกทาง ว่าดูของเรานี่มันเห็นความไม่เที่ยงได้เร็วขึ้น

ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเห็นความไม่เที่ยงช้าหรือเร็ว แต่ได้เห็น ทุกครั้งที่ได้เห็นนี่มันจะมีความรู้สึกแบบนี้ มันจะมีความรู้สึกว่า เออ! มีปิติอ่อนๆขึ้นมา มันจะมีความรู้สึกว่าผ่อนคลายเบิกบานขึ้นมา


ผู้ถาม : ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น