วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

วิปัสสนานุบาล บทที่ ๔ - เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง (ดังตฤณ / ฉบับเก่า)

บทที่ ๔ เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง

การทำวิปัสสนาให้ต่อเนื่องนั้น พระพุทธเจ้าแนะนำให้รู้ลมหายใจบ่อยๆ เพราะลมหายใจเป็นของที่ต้องเกิดขึ้นตลอด ๒๔ ชั่วโมง และเป็นของไม่มีมลทิน ยิ่งรู้มากจึงยิ่งมีสติมากบทที่แล้วคุณได้ฝึกหายใจกันแบบสดๆ อ่านหนังสือไปด้วยรู้ลมหายใจไปด้วย ซึ่งคุณก็จะพบว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะมีข้อความกระตุ้นให้ย้อนเข้ามารู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

ปัญหาคือหลังจากละสายตาจากหนังสือไป ก็จะไม่มีข้อความกระตุ้นเตือนใดๆอีก คุณต้องมีกำลังใจมากพอจะเตือนตนเอง จึงจะอยู่รอดปลอดภัยบนเส้นทางวิปัสสนาได้อีกปัญหาของมือใหม่ คือถ้าพยายามไปรู้ลมหายใจมากๆแล้วจะเครียด อึดอัด หรือกระทั่งปวดหัวไปเลย สำหรับบทนี้จะเป็นอุบายเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะเริ่มฝึกรู้ลมหายใจได้อย่างง่ายดายเป็นธรรมชาติที่สุด กับทั้งปิดกั้นช่องทางที่จะทำให้เกิความเครียด สับสน ท้อแท้ลงเสีย

นั่นคือเราจะฝึกรู้ลมหายใจแบบไม่ต่อเนื่อง นานๆทีรู้ทีอาศัยนาฬิกาปลุก (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ภายในเว็บเทคโนโลยียุคเราถ้าใช้ดีๆก็มีคุณทุกอย่างไป ไม่เว้นแม้กระทั่งการทำวิปัสสนา ขอให้ซื้อนาฬิกาข้อมือ หรือนาฬิกาดิจิตอลแบบพกพาไปไหนมาไหนได้ไว้สักเรือน หรืออาจเป็นโปรแกรมนาฬิกาในคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ระหว่างเวลาทำงานก็ได้ ตั้งเวลาปลุกทุก ๒ นาทีไว้ เมื่อเสียงดังครั้งหนึ่ง ให้ถามตัวเองว่าขณะนั้นกำลังหายใจเข้า หายใจออก หรือว่าหยุดหายใจอยู่ ให้ดูตามจริง ปลุกครั้งหนึ่งรู้ลมหายใจทีเดียว อย่าพยายามรู้มากกว่านั้น

สติของมือใหม่มีความไม่สม่ำเสมอเป็นธรรมดา แต่นาฬิกาปลุกมีความสม่ำเสมอที่แน่นอน สองนาทีเป็นระยะเวลาที่ถี่พอจะทำให้เกิดสติอัตโนมัติได้ แต่ห่างพอที่จะทำให้ไม่เกิดความเครียด เมื่อทำไปเพียงไม่นาน คุณจะสังเกตว่าตัวเองรู้ลมหายใจอย่างเป็นธรรมชาติขึ้นมา โดยไม่มีการเพ่งหรือคาดคั้นเอาความสงบจากลมหายใจเป็นพิเศษ ผลคือจะรู้ตามจริงว่าขณะนั้นลมหายใจเป็นอย่างไรอยู่นอกจากรู้ว่ากำลังหายใจเข้า ออก หรือหยุดแล้ว คุณควรสังเกตด้วยว่าขณะนั้นกำลังสุข กำลังทุกข์ รวมทั้งระดับความมากน้อยของสุขทุกข์ว่ามากขึ้นหรือน้อยลงกว่าการหายใจเมื่อสองนาทีก่อน

การรู้ความต่างระหว่างสุขทุกข์ในสองช่วงเวลาจะทำให้สติคุณค่อยๆทำงานแบบวิปัสสนาไปเองสัญญากับตัวเองไว้ด้วยว่าจะไม่มีการแก้ไข ปรับแต่ง หรือทำให้อะไรดีกว่าที่ปรากฏแสดงอยู่ตามจริง ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจหรือระดับสุขทุกข์ ถ้าเครียดก็ยอมรับว่าเครียด ถ้าสบายก็ทราบตามจริงว่าสบาย ย้ำกับตัวเองไว้ วิปัสสนาคือรู้ตามจริง เพื่อเห็นว่าไม่เที่ยง หาใช่การรู้ตามอยากเอาดีเข้าตัว
เอาชั่วทิ้งน้ำ

นาฬิกาปลุกจะช่วยยกระดับสติของคุณให้ปรากฏสม่ำเสมอ และออกตัวจากจุดเริ่มได้เร็วอย่างเหลือเชื่อ คือวันเดียวคุณจะกลายเป็นคนเลิกหมกมุ่นครุ่นคิดกับสิ่งไร้สาระ หันมาเริ่มสนใจสิ่งที่ปราศจากมลทินในตนเอง การเริ่มจากสองนาทีรู้ครั้งเดียวจะไม่ก่อให้เกิดความเครียดใดๆขึ้นได้ มีแต่จะเกิดสติยิ่งๆขึ้นขอให้สังเกตว่ายิ่งคุณมีสติรู้ลมหายใจได้สม่ำเสมอขึ้นเท่าไหร่ ลมหายใจก็จะยาว ละเอียด และทำให้เป็นสุขสงบมากขึ้นเท่านั้น

หากเห็นว่าเริ่มเคยชินดีแล้ว ให้ลองปรับเวลาจากปลุกทุกสองนาทีมาเป็นทุกหนึ่งนาทีดู เมื่อรู้ทีละครั้งทุกนาทีได้ต่อเนื่องสักครึ่งชั่วโมง คุณอาจรู้สึกเหมือนโลกแตกต่างไปมาก และเหมือนนาฬิกาเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป นั่นเพราะสติคุณเริ่มเป็นอัตโนมัติเองแล้วอาศัยป้ายบอกให้เขียนใส่กระดาษเล็กๆว่า ‘รู้ลมหายใจ’ แปะไว้หลายๆจุดในห้องนอนของคุณ อย่างน้อยสองจุดขึ้นไป เลือกจุดที่คุณมักมองบ่อยๆโดยไม่ตั้งใจจะดีมาก

คุณจะพบว่าข้อความเช่น ‘รู้ลมหายใจ’ มีอิทธิพลต่อจิตของคุณอย่างสูง ข้อความไม่เพียงทำให้คุณอ่านแล้วเกิดความเข้าใจ แต่ยังเป็นเหมือนคำสั่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการระลึกรู้ลมหายใจอย่างสำคัญอีกด้วยอย่าลืมถามตัวเองว่าขณะรู้ลมหายใจนั้น กำลังสบายหรืออึดอัด ถ้าสบายก็รู้ว่าเป็นสุข ถ้าอึดอัดก็รู้ว่าเป็นทุกข์ ขอให้เปรียบเทียบความต่างระหว่างเห็นป้ายแต่ละครั้ง คุณจะพบว่าห้องนอนของคุณกลายเป็นเครื่องผลิตสติแหล่งใหญ่ขึ้นมาได้ง่ายๆภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น

อาศัยอิริยาบถ ข้อนี้อาจยากกว่าข้อก่อนๆนิดหนึ่ง เพราะไม่มีเครื่องช่วยนอกกาย แต่ข้อดีคืออิริยาบถเป็นของติดตัว ไม่จำเป็นต้องซื้อหาจากไหน หลักง่ายๆคือ เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถจากท่าหนึ่งไปเป็นอีกท่าหนึ่ง ให้หายใจแรงขึ้นกว่าปกตินิดหนึ่ง และกำหนดรู้ว่าหายใจเข้ายาวเป็นอย่างนี้ หายใจออกยาวเป็นอย่างนี้ เอาแค่ครั้งเดียว และอย่าพยายามรู้ให้มากไปกว่านั้น

สำหรับคำว่า ‘เปลี่ยนอิริยาบถ’ จะหมายถึงการสลับเปลี่ยนระหว่างท่านั่ง ยืน เดิน นอน รวมทั้งการพลิกตัวหรือเอนตัวในท่าหนึ่งๆ สำหรับผู้เริ่มต้น การเคลื่อนไหวปลีกย่อยกว่านั้นเช่นการขยับแขนขา มือเท้า หรือศีรษะ ถือว่าไม่เกี่ยว เพราะอาจเป็นการถี่เกินไป เมื่อรู้ลมหายใจแล้วก็ถามตัวเองต่อว่า ความรู้สึกทางกายโดยรวมทั้งหมดในขณะนั้น มีความสบายหรืออึดอัด

สำรวจแค่นั้น ถ้าหากรู้สึกเฉยๆก็ให้เหมารวมว่ากำลังสบาย ถ้าหากรู้สึกเฉื่อยชาก็ให้เหมารวมว่ากำลังอึดอัด ขอให้เปรียบเทียบดูว่าการเปลี่ยนอิริยาบถที่มีลมหายใจสบายกับการเปลี่ยนอิริยาบถที่มีลมหายใจอึดอัดนั้นแตกต่างกันอย่างไร ผลของการระลึกอย่างนี้จนชินจะทำให้เกิดความเห็นกาย มีกายเป็นที่ฝาก ที่อาศัยของจิตมากขึ้นเรื่อยๆ

อาศัยปฏิกิริยาทางอารมณ์แรงๆ ในที่นี้มุ่งเน้นเอาความโกรธ ความขัดเคืองไม่พอใจ ซึ่งคนทั่วไปเกิดกันบ่อยวันละหลายหน แต่ก็อาจจะเหมารวมถึงปฏิกิริยาอื่นๆเช่นความเครียด ความคิดมาก ตลอดจนความมีราคะกล้าในจังหวะที่ไม่ควรจะมีด้วย เมื่อใจมีปฏิกิริยาต่อสิ่งกระทบทางตา ทางหู ก่อนอื่นขอให้ยอมรับตามจริงว่ามีปฏิกิริยาหนึ่งๆขึ้น อย่าพยายามกำจัดทิ้งเป็นอันขาด

จากนั้นให้ใช้ลมหายใจเป็นตัวนับ ว่าต้องหายใจกี่ครั้ง ปฏิกิริยาทางใจนั้นๆจึงสงบลงตอนแรกๆคุณจะรู้สึกค้างคา หงุดหงิด เบื่อหน่ายเหมือนไม่ค่อยมีแก่ใจอยากจะมานั่งนับลม ว่ากี่ลมผ่านไปอารมณ์ทางใจถึงสงบระงับเสียได้ แต่พอทำได้หนหนึ่ง คุณจะเห็นว่าหนต่อๆมานั้นง่ายขึ้นเรื่อยๆ

พอมีปฏิกิริยาทางใจแรงๆจะเริ่มนับลมโดยอัตโนมัติ เมื่อถึงจุดนั้นคุณจะพบว่าตัวเองเริ่มฝักใฝ่สนใจลมเข้าออกมากขึ้นไปด้วย แม้ขณะกำลังว่างๆที่ยังไม่มีปฏิกิริยาทางใจใดๆปรากฏก็ตาม

สรุป

อุบายอันเป็นเครื่องทุ่นแรงช่วยงัดเอาสติออกมาจากหล่มลึกในจิตใจเรานั้น มีได้มากมายสารพัด บทนี้แนะนำเพียงสิ่งที่คนส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้ได้จริงและจะเห็นผลรวดเร็ว ชนิดใช้เครื่องทุ่นแรง

เพียงไม่กี่วัน สติจะเกิดถี่ขึ้นจนคุณแปลกใจว่าของมันง่ายขนาดนี้ทีเดียวหรือคุณจะพบว่าเพียงมีสติระลึกรู้ลมหายใจได้บ่อยๆ ไม่ว่าถูกลากพามาจากอุบายแบบใด ชีวิตคุณจะเปลี่ยนแปลงออกมาจากภายใน มีผลกับความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด และเป็นฐานอันมั่นคงให้สามารถต่อยอดเป็นวิปัสสนาขั้นสูงๆขึ้นได้โดยปราศจากความยาก
ลำบากด้วย

อ่านบทที่ ๑ วิปัสสนาคืออะไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๒ เขาเริ่มทำวิปัสสนากันอย่างไร?  >> คลิก
อ่านบทที่ ๓ การฝึกหายใจเพื่อยกระดับสติ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๔ เครื่องทุ่นแรงให้เกิดความต่อเนื่อง  >> คลิก
อ่านบทที่ ๕ เปลี่ยนปมปัญหาเป็นเครื่องมือ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๖ ปฏิกิริยาทางใจ  >> คลิก
อ่านบทที่ ๗ เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง  >> คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น