วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

05 ทำอานาปานสติและเจริญสติปัฏฐาน แต่ยังติดว่าง

ผู้ถาม : ภาวนาได้มาสองปี เมื่อก่อนใช้อานาปานสติ เห็นแสงสว่าง แต่เราก็รู้ตัวอยู่ว่าเห็นแสงสว่าง แล้วจิตก็ว่าง ว่างแบบไม่คิดอะไรเลย ไม่เห็นอะไรเลย ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นสติปัฏฐานสี่ พอเปลี่ยนมาดูกาย รู้เวทนาได้แล้ว ก็ถึงขั้นเวทนา พอเริ่มรู้สึกตัวเบา สบาย ก็กลับมาติดอยู่ที่ว่างอีกค่ะ

ก็รู้ตัวว่า เราติดว่าง เห็นว่าว่าง อยากจะถามว่าจะไปต่อได้อย่างไร

 

ดังตฤณ : ก่อนอื่น เราทำความเข้าใจกันใหม่เลยนะครับ

 

อานาปานสติกับสติปัฏฐานสี่ คืออันเดียวกันนะ

 

อานาปานสติ เปรียบเหมือนหัวหมู่ทะลวงฟัน ที่จะทำให้เรา มีความสามารถ รู้กาย รู้ภาวะของใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงนะ

 

พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสแยกไว้ว่า อานาปานสติถ้าเจริญไว้สมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถมาเจริญสติปัฎฐานสี่ให้สมบูรณ์ต่อไปได้ แล้วก็สามารถทำให้เกิดโพชฌงค์ พูดง่ายๆว่ามีความพร้อมของจิตที่จะบรรลุมรรคผล อันนี้คือเส้นทางสืบเนื่องกัน

 

แล้วตัวสติปัฎฐานสี่เอง ถ้าเราลองดูแบบเป็นโรดแมป (roadmap) เราจะเห็นว่าจุดเริ่มต้นของสติปัฎฐานสี่ ก็คืออานาปานสตินั่นแหละ แยกขึ้นมา มีกาย เวทนา จิต ธรรมใช่ไหม .. สติปัฏฐานสี่

 

ส่วนของกายนี่ ขึ้นต้นด้วยอานาปานปัพพะ คือว่าให้รู้ลมหายใจในแบบที่อานาปานสติสูตรแจกแจงไว้นั่นเองนะครับ

 

ทีนี้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้จะมีความหมายอย่างไร .. จะมีความหมายว่า เวลาที่เราทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการเจริญอานาปานสติ เราจะเข้าใจนะว่า คำว่าอานาปานสติ ไม่ได้หมายความว่าให้รู้แค่ลมหายใจอย่างเดียว แต่ให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแต่ละลมหายใจด้วย

 

เช่นเมื่อเรามีความสามารถที่จะรู้ ว่าขณะนี้ลมหายใจเข้า ขณะนี้ลมหายใจออก แล้วเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ที่หายใจเข้า ที่หายใจออกอยู่นี้จริงๆแล้วนี่สามารถเห็นได้ด้วยใจ ว่าเป็นภาพอย่างไร

 

มีลมหายใจประมาณนี้ยาว มีลมหายใจประมาณนี้สั้น

 

ตัวที่เราเห็นด้วยใจ ว่าสั้นหรือยาวนี่ ตรงนี้คือการเห็นความไม่เที่ยงของลมแล้ว

 

เมื่อเราสามารถรู้ว่า ลมหายใจสักแต่เป็นธาตุลมที่ไม่เที่ยง ไม่เหมือนเดิม ทนอยู่ในภาวะของตัวเองไม่ได้ เข้าแล้วต้องออกเป็นธรรมดา ออกแล้วต้องเข้าเป็นธรรมดา ความรู้ตรงนี้ ความเข้าใจตรงนี้ สำคัญมาก

 

เพราะเมื่อเกิดภาวะใดๆ ขึ้นติดตามมา เช่นเราเกิดความรู้สึกสงบๆ ลมหายใจนี้สงบ เราก็จะรู้ว่า มีสติรู้ ว่าลมหายใจนี้เป็นลมหายใจแห่งความสงบ

 

เมื่อเกิดความรู้สึกว่ากลับมาฟุ้งซ่านใหม่ เราจะแค่รู้ว่าลมหายใจนี้ เป็นลมหายใจแห่งความฟุ้งซ่าน

 

ตรงนี้สำคัญมาก เพราะในขั้นต่อไปอย่างเช่น พอเราเห็นแสงสว่าง หรือเกิดความว่างขึ้นมา ความรู้สึกว่าว่างขึ้นมาที่ลมหายใจไหน เราก็จะรู้นะว่า ที่ลมหายใจนั้นเป็นลมหายใจแห่งความว่าง เป็นลมหายใจแห่งความรู้สึกว่าว่าง

 

หรือถ้าลมหายใจแผ่ว เหมือนกับมีลมหายใจเลย อย่างน้อยที่สุดการที่เราเคยฝึกมา มีเบสิคที่ดี ว่าแต่ละลมหายใจเกิดอะไรขึ้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ สบายหรืออึดอัด ฟุ้งซ่านหรือสงบ จะติดเป็นความหมายรู้หมายจำ ที่แน่นหนา ว่าเมื่อเกิดความสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดความว่างขึ้นมา เดี๋ยวก็จะต้องหายไปแบบเดียวกับที่ ความสุขกับความทุกข์ ความสบายกับความอึดอัดเกิดขึ้นให้ดูในแต่ละลมหายใจ ไม่ได้แตกต่างกัน

 

อันนี้คือความสำคัญอย่างยิ่งยวด ของการทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า เราจะฝึกอานาปานสติไปเห็นอะไร ไม่ใช่แค่ฝึกไปเพื่อที่จะรู้ลมหายใจอย่างเดียว แต่ฝึกไปเพื่อที่จะรู้ว่า แต่ละลมหายใจมีอะไรให้รู้ มีภาวะอะไรปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับลมหายใจนั้น

 

พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสเน้นนะครับ ในอานาปานสติว่า ลมหายใจเข้า รู้ว่าสุข ลมหายใจออก รู้ว่าสุข ลมหายใจเข้า รู้ว่ามีปราโมทย์มีปีติ มีการปรุงแต่งทางความคิดอะไรเกิดขึ้น ท่านให้รู้

 

ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเรามองในมุมของการฝึกสมาธิแบบพุทธจริงๆ ท่านให้เอาฌาน โดยการที่เราเห็นเป็นเปลาะๆ ไป ไต่เข้าไปเป็นลำดับนะ ว่าแต่ละลมหายใจ มีภาวะอะไรเกิดขึ้น

 

ถ้าหากว่าเราเห็นเป็นขั้นๆ ไป ใจจะปลดเปลื้องออกจากความยึดมั่นถือมั่น ในภาวะที่เกิดขึ้นในแต่ละลมหายใจ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง จิตจะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา คือเป็นหนึ่ง .. เป็นหนึ่งแบบที่บางทีนี่รู้สึกว่าง แต่เป็นว่างอย่างรู้ รู้เลยว่าในภาวะความว่างนั้น มีอะไรกำลังแสดงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่

 

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เวลาท่านพูดถึง ปฐมฌานก็ดี ทุติยฌานก็ดีนี่ ท่านพูดอย่างนี้เลยนะว่า ณ ขณะที่กำลังอยู่ในฌานนั้น สามารถพิจารณาได้เลยว่ามีขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ของขันธ์ทั้งห้า กำลังปรากฏความไม่เที่ยงอยู่อย่างเช่น ถ้าขันธ์แรก คือรูปขันธ์นะ ลมหายใจก็เป็นรูปขันธ์ชนิดหนึ่ง เราจะเห็น ณ ขณะที่อยู่ในสมาธิเลยว่า มันกำลังแสดงความไม่เที่ยง เข้าแล้วต้อง ออกแล้วต้องเข้า บางทียาวบ้าง บางทีสั้นบ้าง

 

หรือถ้าหากว่าความสุขปรากฏเด่นขึ้นมา เอ่อล้นขึ้นมาเป็นปีติ ท่านก็ให้เห็นว่าลักษณะของปีติ ลักษณะของความสุขที่เอ่อล้นขึ้นมานั้น กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ บางทีนี่กว่าจะแสดงความไม่เที่ยงอาจจะนาน แต่บางทีก็แค่สั้นๆ

 

ทีนี้ ภาวะที่เรามักรู้สึกกันว่า มีแต่ความว่าง ไม่รู้จะดูอะไร ก็ดูความว่างนั้นแหละ ถ้าไม่รู้จะไปบัญญัติว่าศัพท์อันนี้ควรจะเรียกอะไร ก็เรียกว่าง หรือว่าเรียกว่าไม่มีอะไร หรือว่าเห็นแสงหรืออะไรก็ตาม จับเอาจุดที่เด่นที่สุด ภาวะที่เด่นที่สุด ณ ขณะนั้น เช่นถ้าเรารู้สึกว่า กำลังสว่างจ้าราวกับใครเอาสปอตไลท์มาส่องหน้าอย่างนี้ เราก็มองไปว่านี่คือโอภาส นี่คือแสง เรียกตามภาษาชาวบ้านก็คือ นี่คือแสง

 

แล้วแสงนั้น อยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าหากว่าเราดูอยู่ชั่วโมงหนึ่ง ไม่เห็นจะไปไหน ก็ให้ดูไปทั้งชั่วโมงนั่นแหละ จนกระทั่ง พอพ้นชั่วโมงนั้นแล้วแสงเริ่มหรี่ลง เราก็ .. นี่ได้หลักฐานของอนิจจังแล้ว แสงไม่เที่ยง

 

ตรงนี้ถึงจะเกิดพุทธิปัญญา เกิดปัญญาแบบพุทธขึ้นมาว่า ที่ดูมาตั้งนานชั่วโมงหนึ่งนี่ แสดงความไม่เที่ยงในที่สุด ในตอนท้าย

 

ตอนที่ได้ข้อสรุป ที่เห็นชัดๆมาชั่วโมงหนึ่ง ว่าแสงไม่ไปไหนเลย มาเสื่อมเอาหลังจากผ่านชั่วโมงหนึ่งไปได้ นั่นแหละวินาทีนั้นแหละ คือวินาทีที่ปัญญาเกิด

 

อะไรก็ตาม ภาวะไหนก็ตามที่ ปรากฏชัดๆ อยู่นานๆ แล้วเรา ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า ในที่สุดแล้วจะต้องแสดงความไม่เที่ยง เสร็จแล้วมันแสดงความเสื่อมไปจริงๆ ไม่เหมือนเดิมจริงๆ ณ เวลานั้น ใจเราจะถอนเลยนะ จากความยืดว่า แสงนั้นเป็นตัวเรา แสงนั้นเป็นของเรา หรือแสงนั้นมีใครเป็นผู้ครอบครอง

 

จะเห็นเลยว่าเป็นแค่สภาวะหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นเพื่อที่จะแสดงความไม่เที่ยง ไม่อย่างนั้น เวลาเราไม่ได้ตั้งธงไว้อย่างนี้ก่อน เราไม่เข้าใจถึงโรดแมปไว้ก่อน เวลาเกิดภาวะอะไรขึ้นมา เราก็จะคอยสงสัยภาวะที่เกิดใหม่นั้นๆ 

 

พอแสงเกิดขึ้นทีเราก็สงสัยแสงที พอเกิดความว่างที เราก็สงสัยความว่างที ก็จะไม่เกิดปัญญาแบบพุทธนะ เพราะว่า ณ จุดที่เราเกิดความสงสัยอยู่ จะไม่มีสติ จะไม่มีตัวที่มีความสามารถพอจะพิจารณา สิ่งที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นอะไรเลย จะมีแต่ความสงสัยแทรกอยู่ในนั้น

 

แต่เมื่อเรามีโรดแมปชัดเจน ว่าทำอย่างนี้เกิดอย่างนี้ แล้วจะต้องพิจารณาอย่างไร มีสติรู้อย่างไร ตัวนี้แหละที่เริ่มเป็นหลักประกันแล้วว่า ต่อให้เราพัฒนาสติ หรือว่าสมาธิขึ้นไปขนาดไหนก็ตาม เราจะไม่หลงทาง เราจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน .. อ๋อ เวลาเขาดู เขาดูกันอย่างนี้ ในจิตตานุปัสนา พระพุทธเจ้าสอนไว้ จิตที่สงบ รู้ว่าจิตสงบ แต่เมื่อไม่สงบแล้วก็ รู้ว่าไม่สงบแล้ว

 

อย่างเรามีความปรุงแต่งทางจิตเป็นความว่าง หรือเป็นแสงสว่าง เราก็รู้ไปว่า จิตขณะนี้ถูกปรุงแต่งให้เกิดความสว่าง หรือเกิดความว่าง

 

พอมันเคลื่อนจากความว่างหรือเคลื่อนจากแสงนั้น เราก็รู้ต่อว่า มันไม่เที่ยง  เห็นว่าสิ่งที่หายไปนั้น ไม่ใช่ตัวเรา

 

ตรงนี้นะ ที่ชั่วกัปชั่วกัลป์ ไม่มีใครมาบอกนะ มีพระพุทธเจ้านี่แหละ พออุบัติขึ้นมา ท่านมาบอกวิธีว่าทำสมาธินะ อย่าไปดูเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ให้ดูด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นนี่ เปลี่ยนไปเมื่อไหร่

 

ยิ่งเรามีสมาธิ ยิ่งเรามีสติคม ในการเห็นว่าภาวะนั้นตั้งอยู่นานแค่ไหน เวลาที่มันเคลื่อน เวลาที่มันเปลี่ยนไป เรายิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเท่านั้น แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปที่ยังฟุ้งซ่านอยู่ เวลาความฟุ้งซ่านหายไปก็ไม่รู้ เวลาที่มีความสงบเกิดขึ้นมาวูบๆ วาบๆ ความสงบนั้นหายไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สติไม่คมพอ

 

แต่เราได้เปรียบชาวบ้านเขา ตรงที่ว่าพอทำสมาธิแล้วเห็นแสงสว่างได้ เกิดความว่างได้ ไม่ต้องไปรังเกียจมัน แต่รู้วิธีใช้มันอย่างถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าวางโร้ดแมปไว้ให้นะครับ

________________

 

ภาวนาด้วยอานาปานสติแล้วเห็นแสงสว่าง จิตติดอยู่ที่ความว่าง ไม่คิดไม่เห็นอะไรเลย จึงเปลี่ยนมาเจริญสติปัฏฐาน ๔ รู้กาย รู้เวทนา พอรู้สึกเบา ก็กลับมาติดกับความว่างอีก ขอคำนะนำ

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถามตอบเกี่ยวกับการเจริญสติ

วันที่ 8 พฤษภาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0F_qSXqOR1M

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น