วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

นั่งบริกรรมพุทโธแบบออกเสียง รู้สึกสบาย รู้สึกเห็นกายพูดอยู่ ปฏิบัติแบบนี้ได้ไหมครับ

ผู้ถาม : เดี๋ยวนี้หลังจากสวดมนต์ ก็จะภาวนา แต่เปลี่ยนจากที่นั่งดูลม หรือว่านั่งนึกคำบริกรรมพุทโธในใจ คือรู้สึกเครียด ก็เปลี่ยนเป็นออกเสียง พุทโธ พุทโธ ไปนะครับ กลับรู้สึกว่าสบายใจกว่า

 

แล้วก็ระหว่างที่พูดออกเสียงไปนี่ ก็จะดูเหมือนๆ กับว่า มีความรู้สึกว่า กายพูดอยู่ กายนั่งอยู่ กายพูดอยู่เราดูไปเรื่อยๆ พอถึงเวลานาฬิกาตั้งเสร็จตามเวลาที่กำหนด ก็ดูว่ากายเป็นคนปิดนาฬิกา กายกราบลาพระ แล้วก็ดูไปเท่าที่จะดูได้ เช่นกายเดินออกจากห้องพระอะไรแบบนี้

 

ขออนุญาตเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้ได้ไหมครับ

 

ดังตฤณ : คือไม่ว่าจะปฏิบัติแบบไหน ถ้าหากว่าเราเข้ามาอยู่ในสภาพที่เป็นปัจจุบันของกายใจ ใช้ได้หมด เป็นจุดที่เป็นขั้นบันไดให้ขึ้นต่อๆ ไปได้หมด

 

อย่างของคุณ อาจจะบอกว่า ทำบริกรรมออกปาก พุทโธ พุทโธ ตอนนั้นนี่อยู่ในขั้นของสมถะ แต่พอเริ่มเห็นกายเคลื่อนไหว หรือมีความรู้สึกเกี่ยวกับกายที่เป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเรานี่นะ ก็เป็นเหมือนกับนิมิตหมาย ว่า เราเข้าใจเกี่ยวกับการภาวนา เห็นกายเห็นใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนได้นะครับ

 

ไม่มีหรอกที่ ดูเข้ามาในกายใจแบบไหน แล้วเกิดข้อผิดพลาด เป็นความผิด หรือว่าออกนอกลู่นอกทาง

 

ตราบใดที่เรายังเข้ามาอยู่ในกายใจ ถ้าหากว่าทำให้เกิดสติ เกิดความเห็นกายใจขึ้นมาได้ ถูกทางทั้งนั้นแหละ

 

นี่คือจริงๆ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการภาวนานี่นะ อย่างหนึ่งที่หลายคนมักจะวิตก ก็คือว่า รูปแบบที่ตัวเองทำไม่เหมือนกับคนอื่นเขา คนส่วนใหญ่ที่ภาวนานี่ จะพบว่าตัวเองมีลายเซ็นต์ หรือว่ามีเอกลักษณ์อะไรอย่างหนึ่งในการภาวนา ที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา

 

แล้วก็พอไม่เหมือนปุ๊บ ก็มีความวิตก หรือมีความกังวลว่าจะถูกทางหรือเปล่า

 

อันนี้หลักคร่าวๆ นะก็ขอให้มองอย่างนี้

 

ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีใด มีลักษณะอุบายที่แตกต่าง หรือไม่เคยได้ยินได้ฟังใครมาก่อน รู้แต่ว่าตัวเองนี่ค้นพบนะว่า ตัวเองทำแบบนั้นแล้วมีความรู้สึกดี มีความรู้สึกสบายใจ มีความรู้สึกว่าอย่างน้อย จิตและสติไปอยู่กับตรงนั้น มีโฟกัสอยู่กับตรงนั้นได้พักหนึ่ง นี่ถือว่าดีหมดนะ

 

ขอแค่ว่าให้มีความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ที่เป็นเบสิคคอนเซ็ปต์เหมือนกันจริงๆคือว่า ให้รู้เข้ามาในภาวะทางกายในภาวะทางใจ อย่างใดอย่างหนึ่งนะ

 

ถ้าหากว่า ทำไปแล้วได้ผล  สุดท้ายลงเอยเป็นว่า รู้สึกถึงสภาพอันเป็นปัจจุบันของอิริยาบถได้ยิ่งดีเลย ยิ่งประเสริฐเลยนะ เพราะว่าความรู้สึกเกี่ยวกับอิริยาบถในปัจจุบัน เป็นเครื่องวัดว่าเรากำลังอยู่ในการรับรู้ฐานที่ตั้งของอุปาทาน ฐานที่ตั้งของความทุกข์

 

ซึ่งถ้าหากว่า ฐานที่ตั้งของความทุกข์นั้น มีการปรากฏ มีรูปแบบปรากฏให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เวลาเราน้อมพิจารณาธรรมะข้อใดก็ตาม จะฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ หรือว่าจะไปอ่านเอาในพระไตรปิฎกด้วยตัวเองก็ตามนะ แล้วพบว่าข้อธรรมนั้น พูดถึงความไม่เที่ยงของกาย พูดถึงความไม่เที่ยงของสภาพจิตใจ สภาพอารมณ์ จะมีที่ตั้งของธรรมะในขณะที่ฟัง ในขณะที่อ่าน คือกายนี้ใจนี้

 

อันนี้สำคัญที่สุด สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สำคัญเหนือกว่าอุบาย หรือว่าเราไปเอารูปแบบการปฏิบัติมาจากสำนักไหนนะ

 

อย่างเมื่อกี้ที่มีคนถามว่า ทำตามรูปแบบ เดินจงกรม นั่งสมาธิแล้วไม่มีความสุข บางทีอาจจะไม่ต้องเดินจงกรมนั่งสมาธิก็ได้ แต่ขอให้แต่ละวัน มีความรับรู้สักนิดหนึ่ง นาทีหนึ่งสิบนาทีอะไรแบบนี้ เข้ามาในขอบเขตของกายใจ จะเป็นลมหายใจก็ตาม จะเป็นอิริยาบถก็ตาม จะเป็นความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ อึดอัดบ้าง สบายบ้างก็ตามนี่ อยู่ในขอบเขตกายใจนี้เถอะ แล้วอาจสะสมไปเรื่อยๆ แบบหยอดกระปุกนี่นะ หยอดเหรียญใส่กระปุก วันหนึ่งจะมีน้ำหนักขึ้นมา

 

น้ำหนักของอะไร น้ำหนักของสติ น้ำหนักของโฟกัสน้ำหนักของสติ สภาพจิตใจที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วก็เวลาฟังธรรมครูบาอาจารย์ หรือว่าไปอ่านเอาด้วยตัวเอง จะมีการโฟกัสเข้ามาที่อิริยาบถปัจจุบัน เหมือนกับเป็นพานทองรองรับธรรมะนะ จะไม่ใช่แค่แบบ ฟังธรรมไปโดยที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ว่าท่านพูดถึงที่ตั้งความทุกข์แบบไหนอยู่

 

เราจะเห็นเลยว่า ที่ตั้งความทุกข์นี่ ขึ้นต้นด้วยอิริยาบถปัจจุบันนี่แหละ ถ้าไม่มีอิริยาบถปัจจุบัน ไม่มีกายอันเป็นภาวะปัจจุบันนี่ ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุขจะไม่มีที่ตั้ง จะเห็นชัดๆเลย

 

แล้วพอครูบาอาจารย์หรือว่าเราอ่านในพระไตรปิฎก เห็นว่า กายนี้ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา กายนี้ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดานี่ แล้วน้อมเข้ามาแค่นิดเดียว ว่ากายนี้ที่กำลังตั้งอยู่อย่างนี้แหละ ที่จะต้องหายไป จะมีผลสำคัญมากๆ กับ ตอนใกล้ตาย

 

พอจะตายนะ ที่สะสมมาทีละนิดทีละหน่อยทั้งชั่วชีวิตนี่ จะมารวมกระจุก ให้ผลตอนที่กำลังจะขาดใจ จะรู้สึกชัดขึ้นมาว่า กายที่กำลังนอนอยู่นี่ ที่กำลังแสดงอาการร้าว จะแตกปริ เหมือนกับจะแตกสลายออกจริงๆ เลยนะความรู้สึกนี่ เราพิจารณามาจนกระทั่งเกิดความชำนาญ เกิดความเข้าฝักแล้วว่านี่ไม่เที่ยง ในที่สุดต้องทิ้ง แล้วตอนนั้นน่ะ ก็ต้องทิ้งจริงๆ

 

จะมีความแตกต่างมาก กับคนที่ตายแบบไม่เคยฝึกมาก่อนนะ

 

ถ้าตายแบบไม่ฝึกมาก่อนจะมะงุมมะงาหรา จะทำอย่างไร จะตั้งจิตนึกถึงอะไรดี หรือว่าเขาจะต้องทำกันอย่างไร ตอนที่กำลังเข้าได้เข้าเข็ม ชีวิตกำลังจะดับนี่ นึกไม่ออก

 

แต่คนที่ค่อยๆ หยอดกระปุกมาที่ละเล็กทีละน้อยจากชีวิตประจำวันนะ หรือว่าอย่างที่คุณบอกว่า ฝึกเห็นตอนที่บริกรรมพุทโธ หลังพุทโธเห็นกาย มีความเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร นี่จะไปรวมลงตรงนั้น

 

พอเรามีสติมาทั้งชีวิต เราให้ทาน รักษาศีล เราพยายามเจริญสติมา จะไปรวมผลตรงนั้นแหละ ไปบอกให้เรารู้ได้ว่า ที่เราทำมาทั้งชีวิตนี่ก็คือเพื่อที่จะให้เห็นนะว่า ภาวะทางกาย ภาวะทางใจที่กำลังจะแตกดับจริงๆ นี่ไม่ใช่ตัวเรา

 

ด้วยความรู้สึกที่หนักแน่นมากแบบคนใกล้จะตาย จะมีธรรมชาติของจิตที่หนักแน่น รวมเอาอารมณ์ที่เป็นก้นกรองมาผนึกให้จิต เกิดความตั้งมั่น

 

คือไม่ใช่ว่าตั้งมั่นแบบเป็นสมาธิอย่างมีคุณภาพเสมอไป บางทีนี่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่เราสะสมมาทั้งชีวิต

 

แต่ถ้าหากว่า มีกำลังมากถึงขนาดที่รวมลงเป็นฌานได้ ก็นั่นแหละได้มรรคผลก่อนตาย ซึ่งครูบาอาจารย์วัดป่าก็บอกนะ ชาวบ้านชาวช่อง หรือว่าพระที่ระหว่างมีชีวิตไม่ได้มรรคผลกันนี่ บางทีเป็นไปได้เอาก่อนตาย เพราะว่าจิตนี่ไปรวมก้นกรองที่ตรงนั้น ได้มีความรู้สึกมาทีละเล็กทีละน้อย ว่ากายนี้ไม่เที่ยง กายนี้เป็นอนัตตา

 

เสร็จแล้ว พอไปถึงจุดที่กายกำลังจะดับจริงนี่ ประกาศความเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนัตตานี่แจ่มชัดที่สุดในชีวิต เป็นนาทีที่ความจริงปรากฏชัดที่สุดในชีวิต และนาทีนั้น จิตดิ้นไปไหนไม่ได้นอกจากยอมรับ แล้วถ้ายอมรับได้เต็มๆ อย่างมีสติ เพราะฝึกมาแล้วทั้งชีวิต ก็สบายเลยนะ

 

และนี่คือข้อแตกต่างที่สุด ระหว่างคนที่ฝึกสติมาแบบพุทธ กับคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย แล้วก็หลงตายนะ

___________________

 

ถาม : นั่งบริกรรมพุทโธแบบออกเสียง รู้สึกสบาย รู้สึกเห็นกายพูดอยู่ ปฏิบัติแบบนี้ได้ไหมครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 10 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0DzUWQ94qAg 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น