วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

06 เจริญสติเองโดยนจากพระสูตร ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่นได้บ่อย

ผู้ถาม : ไม่เคยมีอาจารย์ และไม่เคยลงคอร์สปฏิบัติธรรม อาศัยปฏิบัติเองด้วยการฟังพระสูตร เจริญอานาปานสติ เห็นลมหายใจเข้าออกประจำ ตามเห็นนามรูปเกิดดับไปเรื่อยๆ

พอรู้ไปแล้ว มีปีติและสุขแล้ว และในขั้นต่อๆ ไปเรื่อยๆ ขึ้นมา ก็ตามเห็นเกิดดับอยู่เนืองๆ เวลาที่จิตตั้งมั่น แล้วเกิดความรู้สึกกว้างๆ หรือรู้ถึงรสชาติอะไรสักอย่างที่เราคุ้นชินมานาน แต่ว่าเพิ่งมาแตะตรงนี้ได้

 

ทำไปเรื่อยๆ จนรู้ลมหายใจชัดขึ้นๆ เหมือนมีสติมากขึ้นเรื่อยๆ จนลมหายใจดับ

 

ดังตฤณ : รู้สึกไหมว่า ตอนที่ลมหายใจชัด เหมือนลมหายใจเคลือบอยู่ด้วยแสงสว่างเล็กๆนะ เหมือนกับแสงนีออน เหมือนกับแสงอะไรสว่างนวลๆ รู้สึกไหม

 

ผู้ถาม : ครับ เหมือนลมหายใจเป็นเรา และเราไม่มีกาย

 

ดังตฤณ : อันนั้นแหละ คือลักษณะขององค์ฌาน ที่ปรากฏเป็นวิตกและวิจารนะ ส่วนปีติ จะเกิดขึ้นจากจิตตวิเวก คือจิตโน้มน้อมไปในการไม่เอาอะไร

 

ผู้ถาม : พอไปถึงขั้นที่ลมหายใจเข้าและออกดับ ซึ่งทำมานับสิบปี แต่ไปถึงเหตุการณ์นั้นแค่สามครั้ง ต้องชักจูงจิตอย่างไรเพื่อให้ถึงขั้นนี้เร็วที่สุด

 

ดังตฤณ : ก่อนอื่นใดเลย ขอให้เข้าใจอย่างนี้ว่า คนที่จะเข้าสมาธิได้เร็ว คือคนที่มีจิตตวิเวก

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า คนที่เข้าสมาธิ มีอยู่สี่ประเภท คือ

บางคนเข้าสมาธิเก่ง แต่รักษาจิตไว้ไม่เก่ง

บางคน รักษาจิตไว้ได้เก่ง แต่ว่าเข้าสมาธิไม่เก่ง

บางคน เข้าสมาธิก็ไม่เก่ง แถมรักษาจิตก็ไม่เก่ง

แต่พวกสุดท้าย พวกที่เก่งที่สุดคือว่า

เข้าสมาธิก็เก่ง แล้วก็รักษาจิตก็เก่งด้วย

รักษาจิตที่เป็นสมาธิก็เก่ง

 

ตัวรักษาจิตที่เป็นสมาธิ เป็นอย่างไร คือประคองเก่งนั่นเอง

ส่วนเข้าสมาธิเก่ง ตรงนี้ คือเป็นพวกที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง

 

ช่วงนี้กำลังเขียนสเตตัสเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยเลย แล้วเดี๋ยวอีกช่วงหนึ่งนะกำลังจะมีเครื่องมือ ..

บอกเลยตรงนี้ว่า ผมกำลังทำ เสียงสติ ซีรีส์ใหม่นะครับ จะช่วยมากๆ เรื่องที่จะทำให้เกิดจิตตวิเวก

 

จิตตวิเวกสำคัญอย่างไร สำคัญตรงตอนต้นว่า แทบจะเป็นตัวตัดสินเลยนะว่าเราจะเป็นคนเข้าสมาธิเก่งหรือไม่เก่ง

 

คนส่วนใหญ่หาอุบายว่า ทำตามสำนักโน้น ทำตามสำนักนี้ แล้วน่าจะทำสมาธิได้เก่ง ทำสมาธิได้ถูก ทำสมาธิแล้วเกิดมรรคผลได้ในที่สุดอะไรอย่างนี้

 

แต่จริงๆ เพื่อที่จะทำฌานให้ได้ หรือว่าเป็นพวกที่สามารถเข้าสมาธิได้เร็ว เข้าสมาธิได้เก่ง จะตั้งต้นจากจิตตวิเวก

 

จิตตวิเวก หน้าตาเป็นอย่างไร

เป็นจิตที่ไม่เอา ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความเปียกชุ่มด้วยกิเลสนะ มีความแห้งสะอาด มีความพร้อมที่จะโน้มน้อมไปในทางวิเวก สันโดษ อยู่เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพา  

 

นี่คือลักษณะของจิตนะ คือไม่ต้องพึ่งพาอามิส หรือว่าสิ่งอะไรภายนอก ที่คนเขาวุ่นวายจะคว้า จะมีให้ได้กัน

 

ถ้าหากว่าจิตมีความโน้มน้อมที่จะไม่เอา ที่จะไม่ดิ้นรน ความคิดฟุ้งซ่านแบบไหนๆ กิเลสแบบไหนๆ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ จะมีความรู้สึกว่าจิตนี้เกลี้ยงเกลา จะมีความรู้สึกเบา จะมีความรู้สึกว่าพร้อมจะมีความรู้อะไรก็ได้

 

นี่ตัวนี้ ถ้าอยู่ตรงนี้ ด้วยจุดเริ่มต้นที่มีจิตตวิเวกได้นี่ มีจิตที่ไม่เอา มีจิตที่พร้อมจะวาง มีจิตที่พร้อมจะว่างได้

 

พอหายใจเข้า จะรู้เลยว่าหายใจเข้า ชัดเจนเป็นสายเข้า

หายใจออก จะรู้เลยว่านี่ลมหายใจเป็นสายออก

 

และรู้แค่ไม่กี่ลมหายใจ จะเหมือนกับสว่างขึ้นมา ความสว่างของจิต ดูได้จากความสว่างของลมหายใจเลย คือตอนแรกนี่ลมหายใจจะมืดๆ ตอนที่องค์ฌาน คือ วิตก มีอย่างเดียว จะหายใจเข้า หายใจออกแบบมืดๆ

 

แต่พอเริ่มมีวิจาร จิตแนบเข้าไปกับลมหายใจ จิตนิ่ง จิตที่ไม่มีความอยากเอา จิตที่ไม่มีความอยากได้ แม้แต่ความสงบก็ไม่อยากได้ เพราะสงบอยู่แล้วนะ

 

อันนั้นจะเริ่มเห็นว่า ตอนที่จิตแนบลงไปกับลมหายใจ เป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ อย่างที่เมื่อกี้คุณบอกว่า เหมือนกับมีแต่ตัวเราเป็นลมหายใจตัวเดียว นั่นก็เพราะว่า จิตเปลี่ยนจากโหมดคิด เข้ามาในโหมดรู้ลมหายใจอย่างเดียว จนกระทั่งนิมิตของลมหายใจ ปรากฏชัดราวกับว่าเป็นตัวใหม่ของตัวเองขึ้นมา

 

แบบนี้ ก็จะสว่างขึ้นๆ เห็นเลยว่าลมหายใจนี่ มีแสง มีความสว่างปรากฏขึ้นมามากขึ้นๆๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง สว่างขึ้นมาที่จิตทั้งดวง

 

ตอนที่จิตมีความสว่างทั้งดวงขึ้นมา แล้วมีความสงบเงียบเชียบ ไม่เอาอะไรนอกจากรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ ตอนนี้แหละที่ปีติจะเริ่มเกิด

 

ที่พระพุทธเจ้าตรัส หลายครั้งหลายหน แล้วยังปรากฏอยู่ชัดเจนนะว่าพระองค์ตรัสไว้อย่างไร ก็คือว่า ปีติอันเกิดแต่วิเวก ..

ตัวนี้ ที่หลายคนไม่เข้าใจ แล้วก็ไปนึกว่า การที่ตัวเองปีติแบบลิงโลด หรือว่าปีติแบบขนลุกขนชันอะไรแบบนี้ คือปีติในองค์ฌาน.. ไม่ใช่นะ

 

ปีติในองค์ฌานนี่คือ เป็นปีติอันเกิดแต่วิเวก

 

วิเวกแบบไหน วิเวกทางจิตที่ไม่เอาอะไร จิตที่โน้มน้อมไปในทางที่พอใจจะรู้ลมหายใจอย่างเดียว

 

พอรู้สักแต่ว่า นี่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก กำลังแสดงความเป็นธาตุลม พัดเข้าพัดออกๆ ไม่เหมือนเดิม มีความพอใจที่จะรู้อยู่แค่นั้น แล้วปีติในวิเวกเกิดขึ้น ความสุขก็ตามมาเป็นธรรมดา เป็นของแนบติดกัน ไม่ได้แยกจากกัน

 

ถ้าเกิดปีติที่ถูกต้องเป็นองค์ฌานที่สาม ถ้าปีติเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ความสุขก็จะเกิดขึ้นตามมาเองเป็นของคู่กัน เป็นเงาตามตัว

 

ทีนี้ คือคำถามของคุณ

ข้อหนึ่งคือว่า ทำอย่างไรจะเข้าสมาธิไปถึงจุดนี้ได้บ่อยขึ้น

ข้อสองคือว่า ไปถึงจุดนั้นแล้วทำอย่างไรต่อ

 

วิธีที่จะเข้าถึงสมาธิแบบนั้นได้ ต้องทำความเข้าใจดีๆ นะ

ให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของความเข้าใจที่ถูกต้อง ไปจนวันตายเลยนะ

 

วิธีที่จะเข้าถึงสมาธิ มีองค์ฌานได้ แบบที่มีความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นที่จิตตวิเวก

 

นึกถึงให้ออกว่า จิตที่มีความวิเวกนี่หน้าตาเป็นอย่างไร

ถ้าใครนึกไม่ออก ผมมีทางลัดให้ เอาง่ายๆ เลย ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

 

แค่ระลึกว่า จิตของพระองค์

เป็นผู้รู้ตื่น เบิกบาน มีความสงบเป็นธรรมดา

มีความไม่ดิ้นรนเป็นธรรมดา

มีความไม่แสวงหาเป็นธรรมดา

 

แค่ระลึกถึงความจริงเท่านี้ จะเหมือนกับอัญเชิญพระพุทธคุณ มาประดิษฐานในจิตของเราเอง ราวกับว่าจิตของเรา ได้รับเศษส่วนหนึ่ง ของจิตตวิเวกมาจากพระองค์ท่าน

 

แค่เราระลึกอย่างนี้นี่ เกิดความโน้มน้อม ที่จะไม่แสวงหาที่จะไม่ดิ้นรน

 

จากนั้น สำรวจ สังเกตดูนะว่า ฝ่าเท้าฝ่ามือใบหน้า มีส่วนไหนที่ยังเกร็งอยู่ไหม มีส่วนไหนที่ยังตึงอยู่ไหม กล้ามเนื้อยังทำงานอยู่ ให้ผ่อนคลายออก ให้คลายออกให้หมด

 

ถ้าหากว่า ฝ่าเท้าฝ่ามือใบหน้าของคุณ มีความผ่อนคลายสบายแล้ว คุณจะรู้สึกถึงจิตตวิเวก ที่ได้ที่ตั้งเป็นกายวิเวก

 

กายตั้งอยู่ในที่ๆ จะไม่กระสับกระส่าย

กายตั้งอยู่ในที่ๆ จะไม่ดิ้นรน

กายตั้งอยู่ในที่ๆ จะไม่เกร็ง ไม่กำ ไม่ขมวด

 

เมื่อกายวิเวก จิตตวิเวก เกิดขึ้นควบคู่กัน ตรงนี้ ก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ สู่เส้นทางของอุปธิวิเวก คือวิเวกแบบที่จะปลอดจากกิเลส

 

แต่นี่เราสนใจแค่จิตตวิเวกกับกายวิเวกก่อนนะ

 

ถ้ามีความวิเวกทางกาย มีความวิเวกทางจิต สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณมีความรู้สึกว่า พร้อมจะรู้แบบไม่อยาก

 

ที่ผ่านๆ มา ที่คุณทำไม่ได้ เพราะว่าจิตไม่วิเวก อยากจะได้ เอาแต่อยาก เอาแต่คิดถึงผลที่เคยทำได้

 

ช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้สามครั้ง เพราะว่า อีกเป็นร้อยครั้งพันครั้งนี่ เริ่มต้นขึ้นมาด้วยจิตที่ว้าวุ่น จิตที่มีแต่ภวตัณหา อยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น

 

แต่ถ้าขึ้นต้นด้วยจิตตวิเวก ขึ้นต้นด้วยความไม่อยาก .. ระลึกถึง พระหทัยของพระพุทธเจ้าก่อนเลยนะว่า จิตแบบพระองค์นี่ จิตแบบผู้นำทางปัญญาของศาสนาเรานี่ ท่านไม่มีความไขว่คว้าแล้ว ท่านไม่มีความดิ้นรนจะเอาอะไรแล้ว ท่านมีความถึงความเยือกเย็น ถึงความสงบอันเป็นที่สุดแล้วนะ

 

ใจของเรา ก็จะมีความสงบตามพระองค์ท่าน และความสงบ ความเบา ความอ่อนควรที่เกิดขึ้น เป็นความวิเวกทั้งกายทั้งใจนั้น ก็จะเอื้อให้มีความพร้อมจะรู้สึกถึงลมหายใจตามจริง

 

เมื่อหายใจเข้า .. ถ้าหายใจทั่วท้อง หายใจเข้ายาว ท้องป่องขึ้นนิดหนึ่ง  หายใจออก รู้สึกถึงอาการกระเพื่อมไหว ของท้องที่พองขึ้น แล้วก็ยุบลง รู้สึกถึงซี่โครงที่บานออก และหุบเข้า รวมทั้งรู้สึกถึงลมหายใจ ที่เข้าที่ออก

 

ตรงนี้ คุณจะรู้สึกได้เลยว่า ท่านั่งที่เป็นอยู่นี่ ปรากฏต่อใจนะเป็นนิมิตรที่มีความคงที่

 

จากเดิมที่กายเบาอยู่แล้ว กายนี้ปรากฏเป็นอิริยาบถนั่งอยู่ ที่ปรากฏต่อใจเป็นอย่างไร ภาพปรากฏต่อใจเป็นอย่างไร ภาพนั้นจะนิ่งอยู่ จิตจะไม่มีการแสวงหา

 

พอรู้สึกถึงลมหายใจมากขึ้นๆ จิตจะมีความนิ่ง มีความไม่เคลื่อน อยู่กับจิตตวิเวกจริงๆ ที่เป็นเนื้อแท้ของมันว่า มันไม่ได้อยากจะเอาอะไร ไม่ได้อยากจะดิ้นรน

 

ที่เราดิ้นรนอยากจะเอาโน่นเอานี่ ก็เพราะว่าถูกล่อ ด้วยการกระทบทางหูทางตา ทำให้วิ่งวุ่นไป ทุกข์ไปตลอดทั้งชีวิต

 

แต่พอมาพบกับจิตตวิเวก พบกับความวิเวกทางจิตแล้ว จะรู้ซึ้งเลยว่า ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตนี่ สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือสิ่งนี้ ไม่ใช่การดิ้นรน

 

ทีนี้พอเราทำไปจนถึงจุดมีนิมิตปรากฏชัดเจน ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกหน้าตาเป็นอย่างไร

 

คือองค์ฌาน มีวิตก วิจาร ปรากฏพร้อมแล้ว จิตตวิเวกที่บันดาลให้เกิดปีติ บันดาลให้เกิดสุขตามมาแล้ว เราสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ลมหายใจที่ปรากฏเป็นนิมิต ยาวบ้างสั้นบ้างนี่ไม่เที่ยงจริงๆ

 

แม้กระทั่งปีติ หรือความสุขที่เกิดขึ้นในจิตตวิเวก จะล้นหลามแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดก็ฉีดขึ้นเหมือนน้ำพุแล้วก็ลดระดับลงได้ ไม่คงที่ ไม่คงเส้นคงวานะ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเพิ่งได้แค่อุปจารสมาธิอ่อนๆ มีความรู้สึกเหมือนกับกายถูกพลังอะไรบางอย่างตั้ง ยกตั้งให้นิ่งขึงอยู่ แล้วก็มีปีติล้นหลาม ปีติตรงนั้นจะเห็นได้ชัดเลยนะว่า เบ่งบานออกมา แล้วก็หุบ มีความ กระปริบกระปรอยบ้าง มีความฉีดพุ่งแรงบ้างอะไรแบบนี้นะ

 

แล้วก็ความสุขที่เกิดขึ้น บางทีเอ่อล้น บางทีหวานชื่น ไม่อยากออกจากสมาธิ บางทีก็หรี่แคบลงมา เหลือแค่ความรู้สึกสบายๆ

 

ตรงที่เราเห็นความไม่เที่ยงของปีติและสุข หรือเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจสั้นบ้างยาวบ้าง จะพาไปสู่ข้อสรุปคือใจที่เอาอะไร ไม่อยากได้อะไร  จะพาไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ที่กำลังปรากฏอยู่นี่ เป็นของจริง

 

ของจริง คือ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแม้แต่ลมหายใจเดียว แม้แต่ลมหายใจที่เรานึกว่าเราหายใจอยู่ ก็ไม่ใช่ลมหายใจของเราแล้ว เป็นธาตุลมที่พัดมาจากข้างนอกเข้ามาแป๊บหนึ่ง แล้วก็ต้องคายต้องคืนออกไป

 

แม้แต่ปีติและสุขที่น่าติดใจใน ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก หวานชื่นแค่ไหนก็ตาม บางทีก็พุ่งแรง บางทีก็หรี่โรย จะเห็นชัดๆ ในสมาธิ ณ บัดนั้นเลยว่าที่พระพุทธเจ้าให้ดูว่า ภาวะในกายในใจนี้ไม่เที่ยง หน้าตาเป็นแบบนี้นี่เองเห็นขึ้นมาเป็นนิมิต เป็นภาพทางใจอย่างชัดเจน

____________________

 

สรุปคำถาม : เจริญอานาปานสติโดยอ่านจากพระสูตรเอง ฝึกเป็นสิบปี ไปถึงจุดที่ลมหายใจเข้าออกดับ ได้เพียงสามครั้ง ต้องทำจิตอย่างไร จะถึงจุดนี้ได้บ่อยขึ้น?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถามตอบเกี่ยวกับการเจริญสติ

วันที่ 8 พฤษภาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=MXdd4nXUMvs

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น