วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

21 ฟัง1นาทีจับลมหายใจได้ชัดขึ้น

ผู้ถาม : จะเข้ามาฟีดแบคถึงสภาวะที่เกิดขึ้นค่ะ เป็นคนที่รู้ตัวเองว่าเวลานั่งสมาธิจะติดตรงความฟุ้งซ่าน เพราะจะคิด มีเรื่องเข้ามาในหัว ก็รู้ว่ามีเรื่องนี้เข้ามา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เข้ามาลองทดสอบด้วยเสียงสติ ช่วงแรกๆ ที่นั่งก็จะรู้สึกอึดอัดนิดหนึ่งในส่วนของลมหายใจ และผ่านไปสักพัก ไม่ถึงหนึ่งนาที ก็จะเริ่มผ่อนคลาย ร่างกายผ่อนคลาย และรู้สึกว่า จับลมหายใจได้ชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ดีขึ้นเลยก็คือ เราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ได้คิดเรื่องอื่นๆ ไม่มีเรื่องอื่นๆ เข้ามาในหัว และทุกอย่างจะอยู่แค่ความรู้สึกในร่างกาย และลมหายใจ

 

อีกอันที่สัมผัสได้คือ พอ 8 นาทีจะเร็วมาก ไม่รู้สึกว่า ทำไมเร็ว หมดแล้วเหรอ พอออกมาจากสมาธิ ณ ตอนนั้น เมื่อครบ 8 นาที ลืมตาขึ้นมา ตาเรายังเห็นภาพอยู่ในห้องพระ แต่ใจรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างไม่มีอะไรเลย ไปอยู่กับสภาวะที่รู้สึกว่า รอบกายไม่มีอะไรเลย

 

ดังตฤณ : ตรงนั้นเรียก จิตตวิเวก แต่ จิตตวิเวกยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงที่ต้องการ พอเรามาเจริญสติต่อ รู้กาย รู้ภาวะทางใจ จนเกิดความเห็นว่าทั้งกายทั้งใจไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง ตรงนี้ที่จิตตวิเวกจะมีประโยชน์สูงสุด

 

ผู้ถาม : ต้องนั่งสักพัก ประมาณ 1-2 นาที ถึงจะกลับเข้ามาสู่สภาวะ ว่าอ้อ เราอยู่ตรงนี้ กายอยู่ตรงนี้ เรานั่งสมาธิอยู่ตรงนี้ค่ะ

 

ดังตฤณ : ขอบคุณมากๆ เลย เพราะนี่เป็นฟีดแบคที่ดีมาก ช่วยให้เข้าใจจริงๆ ว่า ซีรีส์ใหม่อย่างหนึ่งที่ช่วยแน่ๆ คือช่วยกำจัดภาวะความฟุ้งซ่านที่ไม่พึงประสงค์ ที่เป็นส่วนเกิน ที่เป็นเครื่องขวาง ไม่ให้เราสามารถจะเข้าถึงการเข้าสมาธิ หรือว่าเจริญสติได้ เป็นฟีดแบคที่ต้องขอบคุณครับ

 

ผู้ถาม : ระหว่างที่นั่งอยู่ หูเรายังได้ยินเสียงอื่นๆ คือ ได้ยินเสียงสุนัขเห่า แต่ปกติถ้าเรานั่ง จิตเราจะไปจับเสียง แต่ครั้งนี้ รู้ว่ามีเสียง แต่ตัดได้เร็วมากเลยค่ะ แล้วก็กลับมาอยู่ที่ลมหายใจ อยู่กับร่างกายได้ดีกว่าปกติค่ะ

 

ดังตฤณ : ตัวความเป็น จิตตวิเวก จะมีสภาวะอย่างหนึ่ง เป็นภาวะที่พึงประสงค์ เลยก็คือว่า สามารถเป็นอุเบกขากับการกระทบทั้งหลาย เครื่องกระทบทั้งหลายได้ง่าย

 

ตัวความเป็นจิตตวิเวก ขอให้มาเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ เริ่มจดจำไปด้วยกันก็คือว่า ลักษณะของจิตตวิเวกคือ จะไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความกระสับกระส่าย ไม่มีความซัดส่าย ไม่มีความอยากจะเอาอะไร

 

ปกติ คนเราจะอยากเอาอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งๆ ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วเหมือนจะเป็นบ้า ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วรู้สึกเบื่อ ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วไม่สนุกอะไรแบบนี้ นี่คือจิตปกติของคนทั่วไปที่เรียกว่าจิตพร้อมฟุ้งซ่าน

 

แต่พอมีภาวะแบบ จิตตวิเวก มาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เราจะเห็นว่า จริงๆ แล้วเราไม่ต้องมีอะไรเลยก็ได้

 

ปัญญาที่เกิดขึ้นในระดับโลกๆ ที่จิตตวิเวกมีจะบอกตัวเองว่า ไม่ต้องคิดอะไรก็ได้ ไม่ต้องคิดมากก็ได้ ไม่เห็นต้องไปวุ่นวายกับอะไรก็ได้ ไม่เห็นต้องไปไขว่คว้าอะไรมา เพื่อเอาความสนุกก็ได้ แค่อยู่เฉยๆ ก็มีความสุขอยู่แล้ว

 

ทีนี้ ตัวจิตตวิเวกนี่ ยังครึ่งผี ครึ่งคนอยู่ ยังไม่ประกันว่าเราจะเอาอะไรดีจากตรงนี้ได้ถึงที่สุด เพราะว่า ความเป็นจิตตวิเวก อาจเข้าข่ายชวนเราไปสู่ความขี้เกียจได้ จิตรู้สึกว่า ถึงเป้าหมาย ชีวิตถึงเป้าหมายสูงสุดคือ ไม่ต้องเอาอะไรแล้ว

 

เสร็จแล้ว กิเลสหมักดองที่ยังซ่อนอยู่ใต้พรม ซุกอยู่ใต้พรม เราจะมองไม่เห็น

 

ทีนี้ ถ้าเราทำความเข้าใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า จิตตวิเวก มีประโยชน์ตรงที่ทำให้เราเข้าสมาธิได้ง่าย ทำให้เราเจริญสติ แบบไม่หวังเอาอะไร เอาแค่ให้รู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันเฉพาะหน้า

 

ตัวนี้จะเริ่มเข้าลู่เข้าทาง ขึ้นซุเปอร์ไฮเวย์อย่างรวดเร็ว ขึ้นทางปฏิบัติเพื่อเห็นกายใจโดยความเป็นรูปนามได้อย่างรวดเร็วมาก เพราะไม่มีอะไรที่จะดึงให้ใจของเรา ทะยานออกไปนอกตัว เราจะพอใจอยู่กับการเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่เฉพาะตัวเดี๋ยวนี้เท่านั้น

 

และพอจิต อยู่กับที่ไม่ไปไหน พอใจอยู่แค่ที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า พอน้อมไป กำหนดว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็จะเห็นทันที อย่างเช่น ลมหายใจที่ปรากฏเข้า-ออก เป็นนิมิตสายลมชัดเจนว่า ไม่ได้มีลมพัดแม้แต่ชั่วขณะจิตเดียว สายลมพัดเข้า พัดออก วิ่งรี่เข้ามา และวิ่งรี่ออกไป ไม่มีสักขณะจิตเดียว ไม่มีสักวินาทีเดียวที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่เราไม่เคยเห็น เพราะจิตของเราไปไขว่คว้าสิ่งอื่น

 

ทีนี้ พอเราไม่ไขว่คว้าสิ่งอื่น จิตมีความพอใจแค่ที่จะเห็นสายลมหายใจนั้น ความไม่เที่ยงก็ปรากฏอยู่ตรงนั้นชัดๆ

 

ทีนี้พอเราไปกำหนดอะไร โดยที่อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องกำกับในการรู้ ก็จะรู้สึกไม่เที่ยงเหมือนกับลมหายใจไปหมด

 

จะมีความเท่าเทียมกัน เสมอกัน ราวกับว่าทั้งแผ่นดินแผ่นฟ้า กับเนื้อตัวของเรา ไม่ได้แตกต่างกันเลย มีความเป็นธรรมชาติเดียวกันคือ ไม่เที่ยง ประกอบด้วยเหตุปัจจัยอะไรบางอย่าง และจะต้องเสื่อมสลาย แยกย้ายจากกันไปในที่สุด

 

ความสำคัญ หรือ คุณประโยชน์ของจิตตวิเวก จะพาเราให้ไปเห็นถึงตรงนั้นได้นะครับ มาทำความเข้าใจกันตั้งแต่คืนนี้ ด้วยการว่าเราจะใช้ประโยชน์จากจิตตวิเวกอย่างไร

_____________________

 

หลังฟังเสียงสติซีรีส์ใหม่ ๑นาที จับลมหายใจได้ชัดเจนขึ้น ไม่มีความคิดอื่นเข้ามาอยู่ที่กายและใจ รู้สึกเวลา ๘ นาทีผ่านไปเร็วมาก พอลืมตามารู้สึกว่ารอบกายไม่มีอะไรเลย

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ร่วมนั่งสมาธิ

วันที่ 15 พฤษภาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=_SeppLilZbY

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น