วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ทำบุญกับบูรณพุทธแล้วอิ่มใจเป็นพิเศษ

ถาม : สำหรับผม เวลาทำบุญกับมูลนิธิบูรณพุทธ

จะอิ่มอกอิ่มใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่บวชชาวเขา

นึกทีไรก็มีความสุขทุกที

 

ดังตฤณ : ความสุขความแช่มชื่นในการทำบุญ

ถ้าหากว่า เราทำแบบเฉพาะเจาะจง

พูดง่ายๆ อย่างยกตัวอย่างเช่น ให้เงินขอทานนะ

แล้วเรารู้สึกดี เรารู้สึกมีความสุข มีความแช่มชื่นขึ้นมานี่นะ

อันนั้นแปลว่า ใจเรานี่อยากให้ แล้วเราได้ให้

 

หรือบางที ขอทานคนนั้น มีความสัมพันธ์อะไรกับเราโดยที่เราไม่รู้

แล้วเกิดความรู้สึกว่าได้ช่วย แล้วรู้สึกดีจังเลย

รู้สึกแตกต่างจากขอทานคนอื่นๆ

นี่เรียกว่าเป็น ความแช่มชื่นเฉพาะเฉพาะกิจ

 

ทีนี้ อย่างคุณสังเกต

เวลา หยิบเงิน หยิบเศษเงิน แล้วให้ขอทานเป็นประจำ

บางทีไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน แม้กระทั่งว่า เป็นขอทานคนเดียวกัน

 

คุณเคยไหม แบบเดินทางเท้าฟุตบาท หรือว่าบนชานชาลารถไฟฟ้า

บางที มีขอทานประเภทที่เห็นประจำ เจอประจำ แล้วก็หยอดให้ประจำ

แต่ละวัน มีความสุขไม่เท่ากัน

 

อันนี้ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ทางใจของคุณเอง

ที่ .. บางทีบางวันนะ หยิบให้ด้วยความเคยชิน ให้ไปอย่างนั้นเอง

ก็เลยไม่รู้สึกอะไร

 

แต่บางวัน โดยเฉพาะวันแรกๆ หยิบให้ด้วยความอยากให้

ก็เลยเกิดความชุ่มชื่นขึ้นเป็นพิเศษ มีความแช่มชื่นขึ้น

แบบ อย่างที่เห็นได้ชัดนะ แตกต่างจากการให้ทั่วไปนะ

 

ตัวนี้ เป็นจุดสำคัญที่สุด

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน อะไรๆ ไหลมาจากใจ

แม้แต่ความรู้สึกแช่มชื่น

 

ถ้าหากว่าเราอยากช่วย แล้วช่วยสำเร็จ

ไม่ว่าจะช่วยมาก หรือช่วยน้อย นั่นเป็นเหตุสำคัญที่สุด

ความอยากช่วย เป็นตัวตั้งที่สำคัญมากๆ

 

ทีนี้ เรามาพูดกลับกันอีกฝั่งหนึ่ง ..

 

อันนี้ ที่ฟังฟีดแบคมาเยอะมากๆ เนื่องจากว่าทำมูลนิธิมานี่

ก็ได้ฟีดแบคหลากหลาย

หลายๆ ปีที่ผ่านมา บางคนนี่พูดอย่างนี้นะ

เหมือนกันราวกับลอกกันมา แต่รู้ว่าไม่ได้ลอกกัน

 

คือตอนที่จะทำนี่ ไม่ได้กะช่วยอะไร

เห็นคนอื่นเขาทำกันก็อยากทำบ้าง ทำตามๆ เขาอย่างนั้นเอง

คือใจนี่ ไม่ได้ตั้งต้นจากความรู้สึกว่า

เห็นใครที่น่าสงสาร แล้วอยากช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น

แต่พอได้ทำ คือบางคนบอกว่าโอนแค่สิบบาท

โอนกับมูลนิธิบูรณพุทธนี่แหละ

 

คือ ไม่อยากให้เป็นการมาบอกว่า เชิญชวนให้มาบริจาคมูลนิธินะ

นี่เป็นการตอบคำถามจริงๆ

 

อย่างบอกว่า ปกตินี่ก็โอนเงินทำบุญอยู่แล้ว ไปให้กับที่อื่นๆ

แต่แปลกใจว่า ถึงจะทำด้วยอาการที่เหมือนกับว่า ทำตามๆ กัน

ทำตามๆ เขาไป เห็นเขาทำ ก็เลยอยากทำบ้าง

 

แต่ปรากฏว่า บางโครงการ.. สิบบาทนี่ ให้ความรู้สึก

พอโอนเสร็จ อยู่ๆ ความสุขเหมือนระเบิดขึ้นมา

เหมือนกับ เอ่อล้นขึ้นมาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้

โดยที่จิต ไม่มีอะไรแตกต่างเป็นพิเศษเลย

และไม่ได้ตั้งใจอะไรเป็นพิเศษทั้งสิ้น

แค่โอนไป ทำไมเกิดความสุขขึ้นอย่างมโหฬาร

 

อันนี้ คำตอบนี่จะว่าไป ถ้าพูดในทางหนึ่งก็เหมือนกับเรื่องลึกลับ

แต่ในอีกทางหนึ่ง เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากๆ

 

อย่างในกรณีของบูรณพุทธ คือเราเห็น มีภาพให้เห็นกัน

ทุกอาทิตย์ ทุกสัปดาห์ ว่า มีขุดเจาะน้ำบาดาลบ้าง

ไปบวชพระเณรชาวเขาบ้าง หรือว่า ไปสร้างโน่นสร้างนี่อะไรต่างๆ

แล้วจำว่า มูลนิธิฯ ทำบุญหลายเรื่อง หลายโครงการ

 

ใจที่รับรู้ เอาใจที่รับรู้อย่างเดียวนะ ไม่พูดเรื่องลึกลับ

ใจที่รับรู้ว่า มูลนิธิฯ นี้มีความหลากหลายในบุญ

มีความหลากหลายในโครงการต่างๆ

และช่วยคนยากคนจนจริงๆ คนที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ หรือ

ช่วยให้พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้มีน้ำดื่มน้ำใช้จริงๆ

 

แค่ความจำตรงนี้มาปรุงแต่ง แล้วให้เกิดความรู้สึกว่า

ที่ทำ (บุญ) ไปนี่ ได้แก่สาธารณะ เห็นกับตา

เป็นการเห็นแบบประจักษ์ตา ไม่ต้องมีการมาถามตัวเองว่า

ทำไปแล้ว ไปได้กับใคร ไปได้ผลอย่างไร

 

ก็เลยเกิดอารมณ์ประมาณว่า พอทำไป ใจมีที่ตั้ง

โดยไม่ต้องเจตนามีที่ตั้ง

เป็นกองบุญกองกุศล ที่เกิดประโยชน์กับคนจำนวนมากๆ

แบบไม่เลือกหน้า

 

อันนี้สำคัญมากนะ

คือ ถ้าหากว่าบุญใดก็ตาม เป็นการเล็งของจิต

ที่จะช่วยคนแบบไม่เลือกหน้า แล้วเห็นว่าบุญนั้นสำเร็จ

จำไว้ในใจแล้วว่า บุญนั้น เป็นบุญแบบสาธารณะ

เป็นบุญแบบไม่จำกัด ซึ่งมีผลใหญ่

 

พระพุทธเจ้าเคยตรัสนะ อย่างถ้าทำสังฆทานนี่

บอกว่าอยากจะถวายกับพระองค์นี้ พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์

เทียบกับอีกแบบหนึ่ง คือบอกว่า ขอถวายสงฆ์

ให้สงฆ์ได้มีกำลังวังชา ได้สืบทอดพระศาสนา

 

พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่างหลังนี่ได้บุญมากกว่า

เพราะเป็นสังฆทานของจริง

 

การจะถวายพระสงฆ์องค์เดียว ที่เราเคารพนับถือ

หรือว่าคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์

หรือแม้กระทั่งคิดว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม

เรียกว่าเป็นการทำบุญแบบเฉพาะเจาะจง แบบที่เจาะจงเป็นรายบุคคล

 

ทีนี้ อย่างการที่โครงการแบบบูรณพุทธ พอหลายๆ ปี

มีหลักฐาน มีความประจักษ์ว่า ไม่ได้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

หรือว่าได้เงิน ได้ทองแก่ผู้ที่เป็นทีมงานบูรณพุทธ  

 

ตรงข้ามทีมงานบูรณพุทธนี่ บางคนจ่ายกันเป็นล้านนะ

บางคนหลายล้าน ลงไปกับตรงนี้

 

คือไม่ได้ไปเรี่ยไรอย่างเดียว แต่ตัวเองลงเองด้วย

แล้วก็ลงแรง ลงอะไรไป

นี่คือไม่มีผลงอกเงยขึ้นมาทางแบบโลกๆ โลกในแบบธุรกิจ

มีแต่ผลประโยชน์ ที่ให้ออกไปแก่คนที่ก็เดือดร้อนจริงๆ

หรือว่าครูบาอาจารย์พระป่า ที่ท่านเลือกสถานที่วิเวก

เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาจริงๆ

 

การรับรู้ทางใจที่เป็นแบบประจักษ์นี่

มีผลตอนหยอดเงิน หรือว่า ตอนที่โอนห้าบาทสิบบาทนี่นะ

ไปกระตุ้นความรับรู้ตรงนี้ขึ้นมา

 

แล้วพอความรู้ตรงนี้ ไปบวกกับความจริงที่มีผู้ได้รับ

แบบไม่เลือกหน้าจริงๆ ไม่จำกัดจริงๆ

ก็เลย เกิดเป็นการปรุงแต่งจิตให้มีความชุ่มชื่น

เพราะช่วยสำเร็จ ช่วยแบบไม่เลือกหน้าสำเร็จ

ช่วยแบบที่ทำให้คนที่เราไม่รู้จัก

แล้วก็ไม่มีทางที่เขาจะมาตอบแทนอะไรเรา ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

 

การทำบุญแบบนี้แหละ ที่เป็นการสละออกจริงๆ

เป็นการทำลายความตระหนี่จริงๆ

เป็นการที่ทำไปโดยไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้นจริงๆ นะ

ฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา

 

อันนี้ที่พูดยาว เพราะว่ามีถามกันเยอะมาก

วันนี้เป็นวันแรก เป็นครั้งแรกที่มาคุยกันแบบถึงกึ๋น

 

ปกติ คือไม่ค่อยอยากพูดแบบนี้ เพราะเดี๋ยวจะคิดว่า

เอามาโฆษณาหรือเปล่า มาจูงใจ ล่อใจด้วยบุญ

คือมูลนิธิบูรณพุทธไม่ใช่แบบนั้นแน่ครับ

 

พูดจริงๆ ต่อให้ไม่มีผู้บริจาคเลย ทีมงานของเราก็ใจเต็มร้อย

อยากจะอยากทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นตลอดไปกันอยู่แล้ว

ด้วยกำลังของเรากันเอง

 

ทีนี้ อย่างพอได้กำลังใจ หรือว่า ธารน้ำใจ ที่เป็นการร่วมด้วยช่วยกัน

มาจากทุกทิศทุกทางด้วยนี่ ก็ยิ่งกลายเป็นความรู้สึกที่มั่นคง

กลายเป็นความรู้สึกว่า พวกเรานี่ไม่ได้ทำแบบโดดเดี่ยวนะ

ไม่ได้คิดไปเอง ไม่ได้บ้าไปเองนะ

 

แต่ยังมีชาวพุทธอีกมากมาย ที่พร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน

ที่จะทำทานในแบบไม่เลือกหน้า ไม่จำกัดบุคคล

ไม่มีการมาบอกว่า ตั้งเป้าว่าจะเอาเท่านี้ กี่หมื่นกี่แสน

ช่วยบริจาคมาอย่างต่ำที่สุดหนึ่งร้อยบาท หนึ่งพันบาทอะไรแบบนี้

ไม่เคยนะ

 

ตรงกันข้าม พวกเราพูดมาตลอดตั้งแต่ต้นเลยว่า

ชอบมากนะ ประเภทที่จะให้มา ทีละห้าบาทสิบบาท

เพราะแบบนี้มั่นใจว่า เราไม่ได้ไปรบกวนใคร

แล้วคนที่ให้มาเป็นประจำนี่ เรารู้เลยว่าเขามีความสุข

รู้เลยว่าจิตใจเขานี่ เจริญงอกงามมากขึ้นเรื่อยๆ

มีความชุ่มชื่นมากขึ้นเรื่อยๆ นะ

 

คือแต่ละคน นี่มีไม่เท่ากัน แล้วความรู้สึกมากหรือน้อยต่างกัน

อย่างบางคน พอมีเยอะ

ให้แค่ร้อยบาทก็รู้สึกเหมือนไม่ได้ให้ เลยต้องให้หมื่นหนึ่ง

พอให้หมื่นหนึ่ง หรือว่าให้หลายหมื่น ถึงจะเกิดความรู้สึกว่า

ได้มีกำลังใจในการให้

การให้นั้น ต้องอาศัยการเอากำลังใจมา งัดความตระหนี่ทิ้ง

 

ในขณะที่บางคนนี่ ห้าบาทสิบบาท รู้อยู่ในตัวเองว่า

อันนี้สมควรแก่อัตภาพ

คือเกิดความรู้สึกว่า ให้มากกว่านี้ จะเยอะเกินไป

ไม่สมควรแก่ฐานะของตัวเอง

 

ตรงนี้นะเป็นเหตุปัจจัยหมดเลย ที่ไปบันดาล

ให้เกิดความชุ่มชื่น หรือเกิดความแห้งเหี่ยว

 

เพราะบางคนนี่ เห็นเขาทำเยอะ ก็อยากทำเยอะบ้าง

แต่เนื่องจากว่าตัวเองยังมีความจำเป็น ที่จะต้องกินต้องใช้

เห็นคนอื่นเขาบริจาคกันเยอะๆ เลยทุ่มเงินบริจาคเยอะๆ บ้าง

เสร็จแล้วมาเกิดความรู้สึกไม่สบายใจทีหลัง

 

อย่างนี้เราไม่สนับสนุนแน่

เพราะจะไปกลบความแช่มชื่นในการให้ทานหมดเลย

แล้วการทำทานเพื่อทำลายความตระหนี่ อันเป็นเป้าหมายแบบพุทธ

ก็ไม่ได้ผลด้วย

เพราะว่าพอบริจาคไปเกินตัวนี่ ความตระหนี่จะกำเริบ

จะมาทำให้ไปกระตุ้นให้เกิดความคิดว่า คราวหลังไม่บริจาคดีกว่า

รู้สึกว่าเราเป็นคนจนต้องเจียมตัวอะไรแบบนั้น

 

จริงๆแล้ว ถ้าเราฝึกทำในแบบที่ ทีละห้าบาทสิบบาท

หรือบางคนนี่ ทีละร้อยบาทให้สมกับความรู้สึกของตัวเอง

ตามอัตภาพของตัวเอง แล้วไม่มาเกิดความรู้สึกเสียดายทีหลัง

ไม่มาเกิดความสงสัยว่า จะเอาเงินเราไปทำอะไร

เราเอาไปอำนวยความสุขให้ตัวเองดีกว่าไหม

 

ถ้าไม่มาเกิดความคิดทีหลังนี่ ความแช่มชื่นจะเต็มอยู่ตลอด

แล้วไม่ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น

หลักฐานนี่อยู่ในใจของคุณกันเองนะ

 

ขอให้สังเกตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางคนนี่ ทำหนึ่งบาทมาตลอด

แล้วไม่ใช่โอนเงินทางมือถือนะ บางคน เดินไปกดตู้ (ATM)

ซึ่งมีค่าเสียเวลา ค่าออกแรงเดิน มากกว่าหนึ่งบาทไปเยอะ

แต่ทำแบบเป็นเอกลักษณ์เลย เอกลักษณ์ในการให้เเบบของเขานะ

 

จนวันนี้เรายังไม่รู้นะว่าเป็นใคร แต่ว่าไปโอนที่ตู้ เจ็ดโมงทุกวัน

 

คือเราสามารถรู้สึกถึงความสุข ในแบบของเขา

ที่ได้ทำแบบนั้นมาต่อเนื่องยาวนานหลายปี

ตรงนี้ก็มีเรื่องเล่าไม่รู้จบ เพราะฟีดแบคเยอะมาก

เกี่ยวกับการทำทานร่วมกับมูลนิธิบูรณพุทธ

 

คือตอนนี้ความรู้สึกของทีมงาน พูดจริงๆ เลยจากใจว่า

มูลนิธิบูรณพุทธนี่ เหมือนไม่ใช่ของใคร .. ไม่ใช่ของใครจริงๆ

ไม่ใช่มาจากว่า ใครตั้งมูลนิธิ ใครดำเนินงาน ใครบริหาร

ใครเป็นทีม หน่วยหน้าหน่วยหลังอะไร

 

เป็นความรู้สึกว่า ทุกคนที่ช่วยๆ กันมา เป็นเจ้าของกันหมด

แล้วก็บุญ ไม่ได้เกิดแต่ผู้ให้อย่างเดียว

แต่เกิดกับผู้รับ โดยผู้รับ ที่รู้จักรับ แล้วก็มีความคิด

มีแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อ เกิดขึ้นมากมาย

 

ทำให้เรารู้สึกว่า นี่เป็นความร่วมมือของชาวพุทธด้วยกัน แบบไม่มีจำกัด

ว่าสำนักโน้น สำนักนี้ หรือว่า ศรัทธาครูบาอาจารย์องค์ไหน

มีแต่ความรู้สึกว่า เป็นชาวพุทธด้วยกัน ที่มาทำให้

บรรยากาศของการให้ทานแบบไม่เลือกหน้า เกิดขึ้นทุกวัน

โดยที่ยังมองไม่เห็นว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

 

อาการที่ใจขยายออกไปเรื่อยๆ แบบไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุดนี่

ตรงนี้แหละ ที่จะได้เท่ากัน ได้ที่ใจเท่ากัน

และใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

ถ้าใจเท่ากัน ถ้าใจให้เท่ากันเหมือนกัน

ก็เหมือนกับ แต่ละคนนี่ มีใจเป็น แก้ว ดวงหนึ่ง

ที่เอาไปประกอบร่าง รวมลงเป็นเจดีย์ใหญ่

 

ในเจดีย์มหาทาน ที่เรียกกันว่าบูรณพุทธ

 

คำว่าบูรณพุทธ คือช่วยกันอุดหนุน ซ่อมแซม

หรือว่าทำนุบำรุงพุทธศาสนา จากที่เคยเสื่อม

หรือว่าสึกหรอ ตามความรู้สึกของคนทั่วไปที่ว่า

มีแต่ข่าวชั่วร้ายของอลัชชี

หรือว่าข่าวชั่วร้าย ของคนที่มากอบโกยหาประโยชน์จากพระศาสนา  

 

ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว หลายคนแล้วที่มีความรู้สึกว่า

ศาสนาเรายังดีๆ อยู่ถ้ามีกำลังใจที่จะร่วมกัน

__________________

 

สำหรับผม ไม่รู้ทำไม ทำบุญกับมูลนิธิบูรณพุทธจะอิ่มอกอิ่มใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่บวชชาวเขา นึกทีไรก็มีความสุข?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 10 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=q-NbhpmWyBk

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น