ผู้ถาม : ปัจจุบัน สวดมนต์อิติปิโสฯ ก่อนนอน จากนั้นทำอานาปานสติ พร้อมฟัง เสียงสติ ไปด้วย พอเริ่มนิ่ง จะรู้สึกสบาย เห็นลมหายใจเข้าออกอยู่ เห็นร่างกาย แต่รู้สึกว่าอยู่ไกลมากๆ
คำถามคือ พอเริ่มนิ่งมากๆ
จะเริ่มรู้สึกบ่อยว่ามีแรงเหวี่ยงไปทางขวา เราก็มองที่ลมหายใจ ก็ยังอยู่
ร่างกายก็ยังอยู่ไกลๆ เลยไม่ไปโฟกัสที่แรงเหวี่ยงมาก ปล่อยให้หายไป
พอปล่อยไป ก็ค่อยๆ จาง
แต่เหมือนมันเรียกร้องความสนใจเรามากขึ้น จะมาอยู่ที่หน้า มาหมุนเหมือนพายุที่หน้า
เหวี่ยงตีลังกาแรงมาก จนไม่สามารถทนได้ จนต้องลืมตาออกมา
ดังตฤณ : เกิดขึ้นครั้งเดียว หรือเกิดบ่อยๆ
ผู้ถาม : ที่รุนแรงเพิ่งจะหนึ่งครั้งค่ะ
แต่ก่อนหน้าจะมีแรงเหวี่ยงเบาๆ ค่ะ เพิ่งเร็วๆ นี้ที่แรงมากค่ะ
พอเราลืมตาขึ้นมา ก็รู้สึกคลื่นไส้ ทรงตัวไม่ได้
ต้องนอนลงถึงจะหายค่ะ เลยอยากทราบว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะผ่านจุดนี้ไปได้
ดังตฤณ : ขึ้นต้นมา ตอนเริ่มสงบนี่ จะรู้สึกถึงความนิ่งก่อนหรือเปล่า
(ผู้ถาม : ใช่ค่ะ เริ่มต้นที่นิ่งก่อน)
การเหวี่ยงเป็นพายุหมุนนี่มาทีหลัง ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาทีละน้อยถูกไหม
ไม่ได้มาแบบโครมครามใช่ไหม
(ผู้ถาม : ใช่ค่ะ)
ถ้าเป็นอาการแบบนี้ จำไว้เลยนะ เกิดขึ้นจากการที่เรานิ่ง.. นิ่งแบบที่พร้อมจะกลับมาฟุ้งซ่าน
ฟังดีๆนะ นิ่งแบบพร้อมจะกลับมาฟุ้งซ่าน
เสร็จแล้วพอเริ่มฟุ้งซ่านขึ้นมา แทนที่เราจะรู้อาการฟุ้ง
แบบอยู่กับที่ แต่กลายเป็นว่าจิตของเรานี่ ไปตามอาการฟุ้งซ่าน
คือพอเริ่มเหวี่ยงขึ้นมาน้อยๆ แทนที่เราจะอยู่กับที่
รู้อยู่กับที่ จิตของเรานี่เคลื่อนตามแรงหมุนนั้น แรงหมุนอ่อนๆ นั้น แต่เนื่องจากจิตของเราเริ่มมีกำลังแล้ว
พอไปตามแรงหมุนอ่อนๆ ก็กลายเป็นไปเพิ่มแรงเหวี่ยง
คือแทนที่จะมาในรูปของความฟุ้งซ่านธรรมดาๆ อ่อนๆ
กลายเป็นว่าเราจับไว้ เราขึ้นขบวนรถไฟ
รถไฟวิ่งมา แทนที่เราจะปล่อยให้วิ่งผ่านหน้าไปเฉยๆ
เรากระโดดขึ้นขบวนนะ แล้วก็แรงกระชากของรถไฟทำให้เรามึน ทำให้เราเวียนหัวขึ้นมา
ทีนี้ ลักษณะของความฟุ้งซ่านในสมาธิ ที่ใจของเราตอนแรกตั้งอยู่อย่างนี้นะ
ตั้งอยู่ตรงๆ ตั้งอยู่เหมือนกับเป็นเสา แล้วพอมีลมพัดมา เสาก็เหวี่ยงไปตามลม ยอมโอนอ่อนไปตามลม
แล้วหมุนติ้วๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าน้ำหนักของเสาไปช่วยให้ลมนี ตีให้ตัวเสานี่หมุนแรงขึ้น
เหวี่ยงแรงขึ้นๆๆ
เอาแค่ตรงนี้ก่อน ฟังแล้วเข้าใจไหม
ผู้ถาม : เข้าใจค่ะขอบคุณมากเลยค่ะ แล้วเราจะผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไรคะ
ดังตฤณ : จำไว้เลย พอเราเข้าใจสาเหตุ คือ จิตของเรานี่ มาสนใจแรงเหวี่ยงน้อยๆ
แทนที่จะรู้เฉยๆ นี่ก็เข้ามาม้วนตามแรงเหวี่ยง
พอเราเห็นภาพรวมอย่างนี้ชัดนะครับ ต่อไปพอจะเกิดอะไรขึ้นอย่างนั้นอีก
เราทำไว้ในใจว่า มันมาของมันอ่อนๆ ไม่ต้องไปเพิ่มพลัง ไม่ต้องไปเพิ่มแรงให้มัน ความฟุ้งซ่านนี่
เราอยู่กับที่ได้ และความหมุน ความเหวี่ยงของความฟุ้งซ่านที่มาแบบอ่อนๆ
จะหายไปเอง
วิธีที่เราจะอยู่เฉยๆ เป็นอุเบกขานะ
เพื่อความมั่นใจ เราอาจจะมาทบทวน ณ ขณะที่เริ่มเกิดแรงเหวี่ยงอ่อนๆ ว่าเรากำลังหายใจอยู่ในท่านั่งแบบไหน
หลังตรงหรือว่าหลังงอ
ถ้าจะเรียกสตินิดหนึ่ง อาจจะเชิดหน้าขึ้นหน่อยหนึ่ง
พอเชิดหน้า ใจจะเปิดขึ้น แล้วพอเห็นใจตัวเองที่เปิดขึ้นอยู่ในท่านั่งปัจจุบันนี่
จะได้หลัก แล้วก็จิต เวลาได้หลักเป็นอิริยาบถปัจจุบัน จะไม่หลงไปตามความฟุ้งซ่าน หรือว่าแรงเหวี่ยงอะไรที่จรเข้ามาแบบชั่วคราว
จำเป็นภาพรถไฟไว้ก็ได้ รถไฟวิ่งผ่านมานี่ เราไม่ต้องกระโดดขึ้นไปบนโบกี้นะ
เรายืนอยู่ข้างล่าง แล้วมองรถไฟผ่านหน้าไป
เหมือนกับแรงเหวี่ยงตรงนี้ ที่เปรียบเหมือนรถไฟนี่
พอเหวี่ยงมาเราแค่ยืนดูอยู่เฉยๆ อยู่กับที่ให้ได้ แล้วมันจะหายไปโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จิตของเราจะตั้งมั่นมากขึ้นๆ
ขอให้จำไว้นะว่า ที่ถึงตรงนี้นี่ สมาธิของเราเริ่มมีกำลังแล้วนะ
เวลาที่จิตมีกำลัง แล้วมันหลงเข้าไปตามเหยื่อล่อแบบไหน มันจะคล้อยตามเหยื่อล่อแบบนั้น
แล้วก็หลุดออกจากทางสมาธิ ไปติดกับดัก พูดง่ายๆ
แต่ถ้าเราไม่หลงเหยื่อ ให้จิตมีความตั้งตรง อันนี้ที่พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า
ขึ้นต้นสมาธิ ทำไมจึงควรนั่งคอตั้งหลังตรง
นั่งกายตรงดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ก็คือ อยู่กับอิริยาบถอันเป็นปัจจุบัน
คอตั้งหลังตรง สบายแล้วก็ผ่อนคลาย ในขณะเดียวกัน ไม่ปล่อยให้หลังงอ ถ้าหลังงอก็ยืดขึ้นมาเสีย
หรือว่าถ้าจะนั่งก้มคอลงไปงุ้มหน้าลงไป ก็เชิดคางขึ้นมานิด
ถึงจุดหนึ่งพอมีสมาธิตั้งมั่น จะมีพลังค้ำให้อยู่เองแบบสบายๆ ซึ่งถึงตรงนั้น จะเป็นแบบที่คุณว่า
ถ้าเมื่อไรที่เราไปหลงเหยื่อ กำลังจิตของเราที่เริ่มมากแล้วนี่
จะไปปรุงแต่ง ตามเหยื่อล่อนั้น ไปจนสุดทาง คือเป๋ออกจากทางสมาธิ หรือว่าหลุดไปเลย กลายไปเป็นภาวะปรุงแต่งอะไรที่เตลิดเปิดเปิงไปนะ
____________________
ถาม : สวดอิติปิโส เจริญอานาปานสติพร้อมฟังเสียงสติไปด้วย
รู้สึกตัวอยู่ไกล และเหวี่ยงแรงมากจนต้องลืมตา คลื่นไส้ ทรงตัวไม่ได้ ขอคำแนะนำ
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน ถามตอบเกี่ยวกับการเจริญสติ
วันที่ 8 พฤษภาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=vwmXleosQpk
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น