วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ขี้เกียจปฏิบัติภาวนา ทำแบบขอไปที แบบนี้ควรทำต่อหรือไม่

ผู้ถาม : ก่อนนอนจะนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่ทำไปด้วยความขี้เกียจค่ะ

หลายๆ ครั้ง แค่เดินเพื่อให้รู้สึกว่าเดินแล้ว แต่ไม่มีความรู้สึกตัวอะไรค่ะ ควรจะทำต่อไป หรือควรหยุดดีคะ แล้วการสวดมนต์ เดินจงกรมแบบขี้เกียจ จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีหรือเปล่า

 

ดังตฤณ : เป็นข้อสังเกตที่ดีมากเลยนะ เพราะว่าหลายคนก็ทำกันในลักษณะนี้อยู่ คือเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิแล้วก็ทำไปอย่างนั้นเอง ทำไปด้วยความเคยชิน หรือบางคนทำไปด้วยความคิดว่า อันนี้เป็นบุญ เป็นกุศล

คล้ายๆ ทำแบบทู่ซี้ทำ คล้ายๆ ทำแบบเหมือนมีแต่ตัวอยู่ตรงนั้น มีแต่ตัวที่นั่งสมาธิ มีแต่ตัวที่เดินจงกรม แต่ใจไม่ได้อยู่ตรงนั้นเลย ไม่เคยอยู่ตรงนั้นเลย

 

คำถามก็คือว่า ควรทำต่อไหม หรือว่าควรหยุด

 

เอาอย่างนี้ก่อน คือควรหาวิธีที่เราจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิให้มีความสุขมากขึ้นให้ได้ก่อน พยายามอย่างนี้ก่อน

คืออย่าไปหยุดทันทีนะ เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำแล้วมีปีติ มีความอิ่มใจ มีความสุขได้ เราจะอยากทำเอง อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของจิตนะครับ

 

ทีนี้ ถ้าพยายามแล้ว แล้วยังไม่มีความสุข ยังมีความรู้สึกว่าอยากไปทำอย่างอื่น อยากไปเล่น อยากไปเสพความบันเทิง หรือว่าไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ นอนเฉยๆนะ 

อย่างนี้เทียบกัน กับการพยายามแบบทู่ซี้ ทำไปแบบซังกะตาย อย่างไหนเป็นบุญ อย่างไหนเป็นบาป

 

ต้องตอบว่า แม้ความพยายามที่จะทู่ซี้ทำ ก็ถือเป็นบุญชนิดหนึ่ง

 

อย่างมีพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า ระหว่างที่พระองค์เดินทางเวียนว่ายตายเกิดเป็นพระโพธิสัตว์นะครับ อยู่บนเส้นทางพุทธภูมิ

 

มีอยู่ชาติหนึ่งคือ ท่านถือบวชเป็นฤาษีตั้งแต่อายุยังน้อย น่าจะสักประมาณยี่สิบสามสิบอะไรแบบนี้ เพราะว่าเบื่อชีวิตแบบโลกๆ แล้วก็ไม่มีญาติมิตร ไม่มีใคร แล้วก็มีเส้นทางของบรรพชิตหรือนักบวช ที่ถือพรหมจรรย์แบบฤาษี เพราะยุคนั้นไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัตินะครับ ก็ต้องทำกันตามมีตามเกิด

 

ทีนี้คำว่า ตามมีตามเกิด ก็คือว่าเข้าใจหลักการปฏิบัติแบบไหน ก็ยึดถือเอาหลักปฏิบัติแบบนั้นไป ทำไปเรื่อยๆนะ โดยที่บางทีอาจจะไม่มีครูบาอาจารย์ชี้ ให้ได้เกิดสมาธิแบบที่มีคุณภาพ หรือว่ามีความสุขมีปีติอะไร

 

นี่ แม้แต่พระพุทธเจ้า ในช่วงที่ท่านยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ไม่ใช่ว่าท่านประสบความสำเร็จในการเป็นฤาษี ที่ได้ขึ้นไปเป็นพรหมเสมอไป

 

บางชาตินี่ท่านบอกเลยนะ อย่างชาตินั้นนี่ ท่านมีความสุขอยู่แค่วันเดียว คือวันที่ได้บวช อีกห้าสิบปีต่อมา ไม่มีความสุขแม้แต่วันเดียว

 

นี่ท่านไปเอ่ยอ้างเป็นสัจจะวาจา เพื่อที่จะเอาบุญตรงนี้มาช่วยใครผมจำรายละเอียดไม่ได้นะ แต่มีอยู่ มีเรื่องเล่าอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริง เราก็จะทราบได้ว่า แม้แต่พระพุทธเจ้า ไม่ใช่จะมีครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง มาคอยชี้แนะอยู่ทุกชาติไปเสมอไปนะ

 

บางชาติ ท่านก็อาจต้องคลำทางเอาเอง แล้วไปไม่ถูก แล้วก็คุณภาพจิตไม่ได้ดิบได้ดี บวชห้าสิบปีไม่มีความสุขแม้แต่วันเดียว

 

แปลว่า สะท้อนอยู่ว่า ที่ท่านเป็นฤาษีในชาตินั้น ท่านทำสมาธิไม่ถูกทาง

 

ถึงแม้ว่า ท่านมีบุญบารมีในทางสมาธิมามากมายมหาศาล แต่ชาตินั้น ไม่มีคนไกด์ถูกทาง ก็จบเลย จบเห่เลยนะ ห้าสิบปีเหมือนกับความสุขนี่ไม่ได้เกิดขึ้น ให้เกิดความชุ่มชื่นใจแต่อย่างใด

 

ถามว่าเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนี่ ท่านเอามาอ้างเป็นสัจจะนะ เป็นสัจจะวาจาเพื่อที่จะเอาบุญนั้นไปช่วยใครสักคน แล้วก็ช่วยสำเร็จด้วย

นี่ก็แสดงว่า บนเส้นทางของการทำสมาธิ การเดินจงกรมนี่ ก็ดีอยู่

 

แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีความสุข ถึงขนาดคิดไม่ดี หรือจิตใจย่ำแย่ ตกต่ำ วิธีการทำสมาธิแบบทู่ซี้ของเรา ถึงขั้นทำให้สุขภาพจิตตก หรือว่าสุขภาพจิตเสื่อมลง อันนี้ควรหยุด

 

สรุปมาเป็นขั้นๆ นะคือ ข้อแรก ควรหาวิธีที่จะเดินจงกรม นั่งสมาธิอย่างมีความชุ่มชื่นใจให้ได้ ซึ่งก็คือทำให้จิตอยู่ในอาการวิเวก อยู่ในอาการนิ่ง อยู่ในอาการที่มีความพร้อมจะตื่นรู้

สมถะที่ถูกต้อง คือสมถะแบบพร้อมรู้นะ

 

อันดับที่สอง ถ้าหากว่าพยายามที่จะหาทางทำให้ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังมีความรู้สึกจืดชืดแห้งแล้งอยู่ ถามว่าระหว่างเลิกทำไปเลย กับยังทู่ซี้ทำต่ออย่างไหนเป็นบุญ

ก็คือทู่ซี้ทำต่อ มีหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกนะครับ

 

อันดับสาม คือ ต้องดูตามจริง สำรวจตามจริงว่า ที่ทู้ซี้ทำไปนี่ ถึงขั้นทำให้จิตตกไหม ทำให้สุขภาพจิตเสื่อมลงหรือเปล่า ทำให้เราเกิดความทุกข์ไปเปล่าๆ หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่า ถึงขั้นที่ทำให้เศร้าลง ให้จิตใจเศร้าหมอง อันนี้ควรเลิก อันนี้ควรหยุดนะ เพราะแสดงให้เห็นแล้วว่า วิธีทำสมาธิหรือว่าเดินจงกรมแบบของเรานี่ ไม่ได้บุญแน่แล้ว ทำให้เกิดอกุศลธรรม ไม่ใช่แค่ทู่ซี้เฉยๆ ไม่ได้แค่รู้สึกจืดชืดเฉยๆ แต่ถึงขั้นเป็นทุกข์เลย มีสามขั้นตอน

 

ผู้ถาม : อยากถามเพิ่มคือ ที่ว่าจิตตกเป็นทุกข์ กับความเครียดนี่อันเดียวกันไหมคะ

 

ดังตฤณ : อันเดียวกัน คือพอเครียดนี่สะท้อนแล้วว่า จิตของเรา เริ่มไม่มีความสุข แล้วก็เริ่มอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนะ

________________

สรุปคำถาม : มักจะขี้เกียจสวดมนต์และเดินจงกรมก่อนนอน บางทีก็ปฏิบัติแค่พอให้รู้สึกว่าได้ทำ ไม่ได้รู้ตัวอะไร ควรทำต่อหรือหยุดทำคะ?  ปฏิบัติธรรมแบบขี้เกียจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่คะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮาส์

วันที่ 10 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Xj4tMt9IaM4

 

** IG **

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น