วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

12 เข้าสมาธิไว แต่ติดภวังค์สี แก้ไขอย่างไร

ดังตฤณ : ถ้ารบกวนจิตใจเราจริงๆ ก็ทำให้มันเป็นกสิณไปเลย พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ กสิณสี อย่างพอมีสีแดงปรากฏขึ้นมา วิธีที่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบฤาษี เขาจะกำหนดวงขึ้นมา ให้เห็นชัดว่าสีแดง มีวงกลมแค่นี้

 

แต่ถ้าเป็นที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านให้สีนั้น ปรากฏอยู่ในใจ และแผ่นออกไม่มีประมาณ

 

ทีนี้ ถ้าขึ้นต้นมา เราเห็นสีอย่างไร แทนที่จะไปหลบหลีกมัน มันรบกวนจิตใจเราเหลือเกิน ก็เอาสีนั้นมาเป็นตัวตั้ง หน่วงไว้ในใจเสียเลย เพื่อให้เห็นว่า สีนั้น มีรูปร่างอย่างไร รูปทรงที่ดูได้ง่ายที่สุดก็คือ วงกลม

 

ถ้าสีแดงปรากฏเป็นวงกลมเราก็ดูไป แต่ถ้าสีแดงนั้น มีความแจ่มชัด แล้วแผ่ออกเกินขอบเขตของวงกลม แผ่ออกไปไม่มีประมาณ เท่ากับจิต พูดง่ายๆ ว่า จิตของเราทั้งจิต เป็นดวงสีแดงที่แผ่กว้างออกไปไม่มีประมาณ ก็ให้ดูอย่างนั้น อันนั้นที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นกสิณแบบที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ

 

กสิณที่ทำๆ กัน นี่ผิดหมดนะ ไม่ใช่แนวทางที่พระพุทธเจ้าสอน

 

พระพุทธเจ้าสอนก็คือ ให้จิต เป็นหนึ่งเดียวกันกับอารมณ์ที่เรากำลังล็อคภาพมันไว้ แล้วพอเป็นหนึ่งเดียวกันปุ๊บ แล้วจิตเราราวกับว่าเป็นสิ่งนั้นเสียเอง เช่นจิตเป็นสีแดงทั้งดวง และจิตสีแดงนั้นแผ่ออกไม่มีประมาณ เหมือนกับสีแดงเต็มจักรวาล อันนี้ก็เรียกว่า กสิณสี ซึ่งไม่ได้ผิด ไม่ได้เพี้ยน ไม่ได้เป็นโทษ ถ้าเราเข้าใจว่า เราจะเอามาพิจารณาต่อยอดอย่างไร

 

กล่าวคือ เมื่อสีแดง เต็มท้องฟ้า เต็มจักรวาลไปแล้ว เหมือนกับจิตของเราทั้งจิตเป็นสีแดง ให้พิจารณานิดเดียวว่า นั่นแหละ ที่เรากำลังเห็นอย่างชัดเจนนั่นแหละ เรียกว่าความปรุงแต่งของจิต

 

จิต ไม่ใช่อะไรเลย เดิมทีมีหน้าที่รู้ มีหน้าที่ที่จะเข้าไปรู้ เข้าไปเล็ง เข้าไปโฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอเราทำให้จิตอยู่กับสิ่งนั้น แนบแน่นเข้า จนกระทั่งสามารถจะรู้สึกได้ราวกับว่า จิตเป็นหนึ่งเดียวกันกับสิ่งนั้น แล้วก็จิตขยายใหญ่ออกไปแค่ไหน สิ่งนั้นก็ขยายตามออกไปเท่านั้น ตัวนี้ เราจะเริ่มที่จะมีทัศนคติเกี่ยวกับจิต และสิ่งที่มองเห็นแตกต่างไป

 

คือเรารู้สึกว่าเราควบคุมได้ เรารู้สึกว่า เราไม่ต้องอึดอัด ทรมานใจกับมัน เราควบคุมมันได้ จะให้มันใหญ่ก็ได้ จะให้มันเล็กก็ได้ ที่เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ขยายแค่ไหนก็ได้ ขยายออกไปเท่าจักรวาลก็ได้ ความรู้สึกจะเหมือนออกไปไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ นะ

 

หรือเราจะให้มาเล็กแคบ เท่ากับวงกลม ที่อยู่ตรงหน้าก็ได้ ไม่ว่าใจจะสั่งให้เป็นอย่างไร ก็จะเป็นไปตามนั้น นี่เรียกว่า เป็นการบังคับเขา เป็นการควบคุมเขา ให้ได้ตรงตามใจของเรา ซึ่งถ้าเอาแค่นี้ ก็จะจบลงแค่ความสามารถแบบ ฤาษี ที่เข้าฌานได้ ที่บังคับสิ่งที่หน่วงไว้ในใจได้ดังใจนึก

 

แต่ถ้าหากเอาแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ พอเราได้กสิณสำเร็จฌาน สำเร็จสมาธิที่เป็นกสิณสี หรือกสิณอะไรก็ตาม แล้วเราพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาซ้ำๆ ว่า สิ่งนี้ที่เราสามารถบังคับได้ ที่แท้เป็นการปรุงแต่งจิตชั่วคราว มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยว่า เราจะปรุงแต่งให้มันเป็นอย่างไร เรามีเจตนานึกให้มันเป็นวงกลมอยู่ตรงหน้า มันก็เป็นวงกลม เรามีเจตนานึกให้ย้อมติดจิต ให้จิตแผ่ไปเท่าจักรวาล ก็จะเหมือนกับว่าสิ่งนั้นแผ่ไปเท่าจักรวาล ไม่ได้มีตัวตนอยู่ก่อน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยคือจิตของเรา จะตั้งให้เป็นอย่างไร

 

พอเห็นอย่างนี้ว่า สักแต่เป็นการปรุงแต่งของจิต เดิมไม่ได้มีสิ่งนั้นอยู่ ไม่ได้มีตัวของตน ของสิ่งนั้นอยู่ ไม่ได้มีสีแดงที่เป็นตัวเป็นตนของเราอยู่ แต่เราเองเป็นคนยกขึ้นมาตั้ง และควบคุมให้เป็นไปต่างๆ

 

นี่ จะเข้าใจอย่างแจ่มชัด ว่าคำว่าความปรุงแต่งจิต หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ได้มีตัวตนอะไรอยู่ก่อนเลย มีแต่ความปรุงแต่งของจิต ณ ขณะหนึ่งๆ ว่า เจตนาให้เป็นอย่างไร กำหนดให้เป็นอย่างไร

 

อย่างพระพุทธเจ้าไปสอนพราหมณ์ ที่สำเร็จอรูปฌานชั้นสูงมากเลยนะ คือได้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือสูงสุดเท่าที่พวกพราหมณ์จะทำได้แล้ว ท่านตรัสสอนแค่นิดเดียวนะ ตรัสสั้นๆ เลย ห้านาที บอกว่า ให้พิจารณาว่าเป็นความปรุงแต่งจิต ไม่ได้มีตัวตนอยู่ ไม่ได้มีตัวใครอยู่ตรงนั้นเลย

 

ด้วยความที่ พราหมณ์ท่านนั้น มีสมาธิเชี่ยวชาญ และเห็นอย่างกระจ่างชัด คือท่านเห็นด้วยนะว่า บุคคลที่อยู่ตรงหน้ามหาบุรุษที่อยู่ตรงหน้า ไม่ธรรมดา จิตท่านหลุดพ้นแล้วจริงๆ ท่านรู้ ก็เลยเชื่อเต็มที่และพิจารณาจริงๆ ว่า จิตตัวเองที่ปรุงแต่งไปไม่ได้มีตัวใคร มีแต่การเข้าฌานด้วยเหตุปัจจัย มีแต่การปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย และเดี๋ยวก็เสื่อมต้องออกจากภาวะนั้น ไม่ว่าเป็นฌานขั้นไหน หนักแน่นแค่ไหน ในที่สุดก็ต้องเสื่อมลง กลับมาเป็นจิตธรรมดา จิตคิดๆ นึกๆ จิตที่มองเห็นรูป จิตที่ได้ยินเสียง

 

ท่านก็หลุดพ้นเลย ถ้าจำไม่ผิด เหมือนท่านได้อรหัตผลเลยนะ ต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้าเลย

 

นี่คือประโยชน์ของการที่ถ้าเราทำฌานได้ หรือว่ามาเจริญกสิณได้ จะทำสมาธิแบบไหนก็ตาม ถ้าเราเชี่ยวชาญ ถ้าเราสามารถที่จะเข้าออกได้ดังใจนึก จะเอามาพิจารณาโดยความเป็นของปรุงแต่งชั่วคราวได้หมด และคนที่มีสมาธิ ก็จะเห็นชัดมากกว่าคนทิ่คิดๆ นึกๆ คาดคะเนเอา เดาเอานะ

 

_________________

เข้าสมาธิได้ไวค่ะ แต่เข้าไปแล้วติดอยู่กับภวังค์ของสีที่เห็น เช่นสีม่วงแดง ขอแนวทางแก้ไขค่ะ

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ร่วมนั่งสมาธิ

วันที่ 15 พฤษภาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=p_EZDhNimjM

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น