วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

กฎแห่งกรรม คือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ใช่ไหม

ดังตฤณ : ไม่ใช่นะครับ

 

เอาง่ายๆ เลย ที่คนเข้าใจผิดกันมากก็คือว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วย มาจาก กรรมเก่า มาจากบาปเก่า เป็นผล เป็นวิบาก

 

จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนเลยนะว่า โรคภัยไข้เจ็บ เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 4 ประการ

 

อันดับแรกคืออุตุฯ หรือว่าสภาพดินฟ้าอากาศทั่วไป

อันดับสอง คือทำงานหนักเกินไป

อันดับสาม คือไม่บริหารร่างกาย ประเภทนั่งอยู่เฉยๆ ทำงานทั้งวัน แบบนี้ตัวดีเลยนะ ประเภทที่อยู่ในท่าเดียวนานๆ เตรียมเป็นโรคได้ อันนี้ผมเข้าใจดี

 

อันดับสี่ ท่านถึงพูดถึงเรื่องของกรรมเก่า บาปเก่าที่เคยทำไว้

 

อันดับแรก ดินฟ้าอากาศ

อันดับสอง ทำงานมากเกินไป

อันดับสาม ไม่บริหารร่างกาย

อันดับสี่ ถึงเป็นเรื่องของกรรมเก่า

 

หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าต่อให้วันนี้ไม่ได้มีกรรมเก่าใดๆ ที่จะต้องทำให้ไม่สบาย แต่เราไปยืนตากฝนยืนอยู่ 3 ชั่วโมง มีลมมีฝนพร้อมนี่ เสร็จแน่นอน

 

หรือถ้าหากว่าเราไม่มีกรรมเก่า ที่จะต้องเป็นง่อย เป็นอะไรเกี่ยวกับแขนขาแต่ถ้าหากว่านั่งทำงานอยู่ทั้งวัน นั่งเฉยๆ ไม่ยอมออกกำลังกายเลย

 

อันนี้ก็เตรียมได้นะครับ เตรียมตัวเตรียมใจได้เลย เดี๋ยวจะต้องจ่ายค่าหมอ ทำกายภาพบำบัด แล้วก็อาจจะต้องมีคนแซะจากเตียง ลุกขึ้นเองไม่ไหว คอเดี้ยง หลังเดี้ยง เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดๆ นะครับ

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าเรื่องของกรรม เป็นเหตุสุดท้ายเลย ที่จะทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย

 

เพราะฉะนั้น ตอบคำถามได้ว่า โรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าคนที่จะมีสภาพร่างกายไม่ดี เป็นไปต่างๆนานา ไม่ใช่กรรมเก่าเสมอไป

 

บางทีทำตัวเอง ของใหม่เลย ทำอยู่วันนี้ เห็นอยู่วันนี้เลยนี่แหละ

 

เรื่องที่ว่าอะไรๆ ในชีวิตเป็นผลของกรรมเก่าอย่างเดียว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฎชนิดหนึ่ง เป็นความเข้าใจผิดชนิดหนึ่ง

 

ความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือว่า วิบากเก่า เขาให้ผล เขาส่งอะไรมาให้เราระดับหนึ่ง และเรามาต่อยอดเอาเองด้วยกรรมใหม่

 

ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่เขาส่งมาชัดๆ เลย ก็คือว่า

ให้ร่างกายของเราเป็นแบบนี้ มาเข้าท้องพ่อท้องแม่คู่นี้

 

คนคนหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง มีพ่อแม่ได้แค่คู่เดียว

คู่นั่นแหละ เป็นตัวตัดสินเบื้องต้นเลยว่า

กรรมเก่าของเรา มาดีหรือร้ายแค่ไหน

 

เข้าท้องมนุษย์ได้ ต้องมีบุญนะ ต้องมีบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง

ต้องมีจิตสำนึกแบบหนึ่งที่มีเหตุมีผล ไม่อย่างนั้น เป็นมนุษย์ไม่ได้

 

พอเกิดเป็นมนุษย์แล้ว

โตขึ้นมาจะมีความรู้สึก น้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาของตัวเอง

หรือจะมีความรู้สึกลำพอง เต็มไปด้วยปมเขื่อง

อันนี้ก็ว่ากันอีกชั้นหนึ่ง ว่ามีกรรมสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกแบบไหน

 

อย่างถ้าเกิดมา ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องธรรมะเลย

แนวโน้มก็คือ ของเก่ามีอะไรอย่างไร ของใหม่ก็จะคล้อยไปตามนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมามีความเห่อเหิมในชีวิตตัวเอง มีความรู้สึกหลงระเริง

 

ก็พร้อมที่จะใช้ชีวิตแบบคนหลงระเริง กลายเป็นคนเสเพลบ้าง กลายเป็นคนดูถูกคนอื่นบ้าง

 

บุญเก่าๆ ที่ทำมา สั่งสมมา ถูกทำลายยับภายในชีวิตเดียว

 

หรือบางคนเกิดมา มีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ น่าน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตตัวเอง แต่ว่าศึกษาธรรมะ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เราจะเอาดีให้ได้

 

คือจะเอาชนะ บาปเก่าด้วยบุญใหม่ แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำบุญ

 

เจอความกดดันแค่ไหน เจอแรงบีบคั้นแค่ไหนก็ไม่ยอมแพ้

ตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะด้วยความคิดฝ่ายดีอย่างเดียว ในที่สุดจิตก็สว่าง

 

จากจิตที่จ๋อยๆ มืดๆ ก็กลายเป็นจิตที่เบิกบานขึ้นมาได้

 

ตัวนี้แหละ ที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ของเก่ามาอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป

 

เจอชะตากรรมแค่ไหน เราสามารถที่จะตั้งใจใหม่ได้ว่า จะโต้ตอบแบบใด

 

พุทธศาสนา บอกว่าถ้าไม่รู้จะตั้งใจไว้ล่วงหน้าอย่างไร ยึดไว้ก่อนเลยอันดับแรก ก็คือ

 

ถึงแม้ถูกยั่วยุให้ฆ่า ก็อย่าฆ่า

ถึงแม้ถูกยั่วยุยั่วยวนให้ขโมย ก็อย่าขโมย

แม้ถูกยั่วยุให้ผิดประเวณี ร่วมประเวณีลูกเขาเมียใคร .. ยุคนี้ก็ต้องบอกว่า ผัวใครด้วย ก็อย่าทำตามแรงยั่วยุเหล่านั้น

 

ถูกยั่วยุหรืออยู่ในกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยการพูดจาสับปลับ โกหก ปั้นน้ำเป็นตัว นินทาว่าร้าย ยังไม่รู้เลยว่าจริงไม่จริง ขอสนุกก่อน มันปากก่อน ด่าตามน้ำ เห็นเพื่อนๆ เกลียดใคร ก็เกลียดเขาด้วย ด่าตามเขาไปด้วย

 

อีกอย่างหนึ่งคือ การเสพสุรายาเมา ยาบ้า ยาไอซ์ทั้งหลาย ที่เป็นเหตุให้สติถูกบั่นทอนลง

 

เหล่านี้ ถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า ชีวิตของเราจะไม่จมอยู่กับตรงนั้น

 

ถึงแม้ว่าเกิดมา จะเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็จะพยายามเลี่ยง เอาตัวออกมาจากการอยู่ในวงจรของการละเมิดศีลห้า ให้ได้

 

ตรงนี้แหละ ที่เรียกว่ากรรมใหม่

 

พระพุทธเจ้าเน้นตรงนี้เลยนะ เรื่องของกรรมใหม่ ไม่รู้จะพูดให้ละเอียดพิสดารเป็นคนๆ ได้อย่างไร ก็เอาแค่ 5 ข้อนี้แหละ ที่มีอยู่เหมือนๆ กันนะว่า จะรักษาศีลห้า หรือว่าจะละเมิดศีลห้า

 

เพราะศีลห้า เป็นพื้นฐานทางธรรมชาตินะครับว่า เราจะได้ดี มีสุขในการต่อไป รวมทั้งในการนี้ หรือว่าเราจะตกต่ำลง ไปเป็นทุกข์ไปมีความทุกข์

 

อันนี้ ถ้าเข้าใจว่าของเก่ามาอย่างไร แล้วเราจะโต้ตอบด้วยศีลห้า ด้วยการกั้นตัวเอง ไม่ให้ไปตกไปอยู่ในวังวนของภยันตรายนะครับ อย่างนี้เรียกว่าของใหม่เราดีแน่ๆ ของเก่า จะเป็นอย่างไรไม่รู้ล่ะ

 

สรุปก็คือว่า ไม่ใช่ว่ามีอะไร กำหนดไว้แล้วว่าเราจะต้องฆ่าในวันนี้

ถ้าเราห้ามใจ อันนี้คือกรรมใหม่ ที่เป็นของดีของเราเอง สร้างอะไรดีๆไว้ให้ตัวเอง

 

ไม่มีกรรมเก่าไหนที่สามารถมาบีบบังคับเราได้ว่า จงขโมย

แม้ว่าจะมีสถานการณ์บีบคั้นให้ขโมย แต่ถ้าเราตัดสินใจไม่ขโมยก็คือกรรมใหม่ ที่สวนทางกับของเดิมนะ

 

พูดง่ายๆ สรุปง่ายๆ ก็คือว่าศีลห้า เอาไว้ก่อน

 

เป็นตัวตัดสินเลย เป็นตัวที่จะวัดเลยว่า ของใหม่ของเรา จะทำให้ของเดิมที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้น หรือ จะแก้ไขของเดิมที่แย่ๆ เปิดทางให้มีความสุข มีความสบายได้มากกว่าเดิมไหม

 

บางทีเรารักษาศีล วันสองวันแรก เดือนสองเดือนแรก เหมือนชีวิตไม่เปลี่ยนนะ

 

แต่เมื่อไหร่ ศีลเริ่มอิ่มตัว คือเรารักษาศีลได้ โดยไม่ต้องบังคับใจตัวเอง ไม่ต้องฝืนใจตัวเอง ไม่ต้องห้ามใจตัวเอง จะมีธรรมะแบบหนึ่ง ผุดขึ้นมาในชีวิตของเรา จะรู้สึกได้จากข้างใน รู้สึกเป็นความสว่าง รู้สึกเหมือนกับเป็นเส้นทาง ดวงจิตของเรา กระแสจิตของเรา กระแสความคิดของเรา นี่เป็นเส้นทางกรรม

 

เราจะรู้สึกว่า พออิ่มตัวแล้ว คงที่คงเส้นคงวาแล้ว เราจะอยู่กับความสุข

 

อย่างน้อยอาจไม่สุขกาย แต่มีความสบายใจ

 

ความรู้สึกสบายใจนั่นแหละ เส้นทางในชีวิตที่เรารู้สึกได้ว่า

นี่คือทางสวรรค์ นะครับ

_____________________________

คำถาม : ตามความเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม แปลว่า เหตุการณ์ที่เราเจอ หรือคนที่เราเจอ ความเจ็บป่วย โรคที่รักษาไม่หาย ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องเกิดแบบเลี่ยงไม่ได้ ใช่ไหม 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=DkBKyIMF67c


** IG **

รวมลิงก์ถอดเสียง ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์ (วันที่ 25 กันยายน 2564)

01 เกริ่นนำ  เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/01_30.html

 

02 โพลที่ ๑ : ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะหลับตาทำสมาธิ…

     ช้อยส์ ๑ - สว่างจ้า รัศมีกว้างไกล

     ช้อยส์ ๒ - สว่างนวล แผ่รัศมีเกินกาย

     ช้อยส์ ๓ - สว่างอยู่ในขอบเขตกาย

     ช้อยส์ ๔ – มืดทึบไม่สว่างเลย

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/02_30.html

 

03 สวดอิติปิโสฯร่วมกัน 

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/03_30.html

 

04 แอนิเมชั่น ทำสมาธิร่วมกัน

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/04_30.html

 

05 แอนิเมชั่น ทำสมาธิร่วมกัน (ท่าที่ ๒ ปรับมือใหม่เล็กน้อย)

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/05.html

 

06 อธิบาย หลังทำสมาธิร่วมกัน

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/06_30.html

 

07 โพลที่ ๒ : หลังจากนั่งสมาธิครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นกับคุณ คือ

     ช้อยส์ ๑ - เข้าใจวิธีดูสังขารขันธ์เปลี่ยนเป็นอื่นชัดแล้ว

     ช้อยส์ ๒ - เข้าใจหลักการ แต่ยังเห็นไม่ค่อยชัด

     ช้อยส์ ๓ - ยังงงๆอยู่ ทั้งหลักการและการเห็นของจริง

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/07-2_30.html

 

08 รวมฟีดแบค

อ่านบทถอดเสียง :

https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/081-1.html

https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/082-2.html

https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/083.html

 

 

คำถามช่วง – ถามตอบ

Q01กำหนดลมโดยนึกภาพกายเป็นถุงลมพองยุบ ได้หรือไม่

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q01_30.html

 

 

Q02ระลึกถึงความตายทุกวัน ทำให้ไม่อยากได้อยากดีอะไร ต้องแก้อย่างไร

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q02_30.html

 

 

Q03ลมหายใจชัดยาวแต่จิตไม่ว่าง ไม่สว่าง เพราะอะไร

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q03_30.html

 

 

Q04เกิดนิมิตห้องมืด รู้สึกใจคอไม่ดี ใช่ลางสังหรณ์ไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q04_30.html

 

 

Q05แค่ดู รู้สังขารขันธ์ แต่ไม่ไปตามสิ่งที่เห็นในสมาธิ ถูกต้องไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q05_30.html

 

 

Q06ใช้ฝ่ามือไกด์ หายใจได้ลึกขึ้น ใช่การฝึกหายใจไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q06_30.html

 

 

Q07ฝึกปฏิบัติเนืองๆมาตลอดสัปดาห์ วันนี้แยกรูปแยกนามได้เป็นครั้งแรก

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q07_30.html

 

 

Q08รู้สึกถึงความสว่างได้ เพราะรู้ลมหายใจยาวแทนลมหายใจสั้น ใช่ไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q08_30.html

 

 

Q09เห็นสังขารขันธ์ครั้งแรก ร้องไห้ แล้วกลับมายึดใหม่ ต้องทำอย่างไรต่อ?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q09_30.html

 

 

Q10สว่าง หมายถึงการรู้ลมเข้าออก แต่ไม่ใช่เกิดความสว่างจริงใช่ไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q10_30.html

 

 

Q11จะรู้ได้อย่างไรว่าความสว่างเกิดจริง หรือคิดไปเอง?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q11_30.html

 

 

Q12มองความคิดฟุ้งซ่านเป็นสังขารขันธ์ ถูกหรือไม่?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q12_30.html

 

 

Q13ฝึกเห็นร่างกายหายใจ เป็นวิจาระไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q13_30.html

 

 

Q14เห็นความคิดไม่ดีเปลี่ยนแปลงได้ แล้วรู้สึกโล่งเบา ถูกต้องไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q14_30.html

 

 

Q15เห็นลมหายใจเป็นสายบ้าง ไม่เป็นสายบ้าง ทำถูกไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q15_30.html

 

 

Q16เหมือนเป็นคนอื่นมองตนเองยกเวท ใช่แยกขันธ์ไหม?

อ่านบทถอดเสียง: https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/09/q16_30.html

Q16เหมือนเป็นคนอื่นมองตนเองยกเวท ใช่แยกขันธ์ไหม

ดังตฤณ : ใช่นะ เพียงแต่ว่า คุณต้องรู้ว่าที่เห็นแบบนั้น เห็นได้กี่ลมหายใจ เห็นได้นานไหม

 

ถ้าเลี้ยงไว้ด้วยการสังเกตอยู่เรื่อยๆ ในแต่ละลมหายใจ ก็จะชัดขึ้นๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง เป็นไปเอง แล้วก็เป็นอัตโนมัติ แล้วก็ไม่เคลื่อนจากความเห็นอย่างนั้นง่ายๆ นะครับ

 

นี่แหละ สาระนะ ว่าเราจะเห็นกาย โดยความเป็นรูปขันธ์ เพื่อประโยชน์อะไร เราจะเห็นด้วยความเป็นสมาธิ เห็นไปเรื่อยๆ เห็นไปนานๆ จนกว่าจะแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นบ่อยๆ

 

ตัวนี้ที่เป็นแก่นสารนะครับ

 

ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นที่ยังสงสัยอยู่ว่าที่เห็น ใช่หรือไม่ใช่ แต่พอปักใจแล้ว อย่างผมบอกว่าใช่ โจทย์ข้อต่อมาก็คือ ทำอย่างไรให้เห็นได้เป็นปกติ เห็นได้นานๆ ซึ่งนั่นก็เป็นตัววัดคุณภาพสมาธินั่นเอง

____________________

เวลาออกกำลังกายในท่าที่ต้องจัดระเบียบร่างกายดีๆตั้งสมาธิเยอะๆ บางครั้งเหมือนตัวผมเป็นคนอื่นมองเห็นตัวเองยกเวทอยู่ แบบใช่ขันธ์มันแยกรึเปล่าครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=sbjRQdQ6xt8

 

Q15เห็นลมหายใจเป็นสายบ้าง ไม่เป็นสายบ้าง ทำถูกไหม

ดังตฤณ : จะมีจิตอยู่แบบหนึ่งที่รู้สึกว่า ลมพุ่งเข้ามา ลมพุ่งออกไป เป็นความชัดเจน แล้วก็รู้สึกว่า จิตของเราไม่วอกแวกไปไหนนะครับ

 

อย่างนั้น ถือว่าเกิดวิตักกะ เกิดวิจาระ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ

 

แต่ทีนี้ บางทีคุณบอกว่า บางทีก็เป็นลำ บางทีก็ไม่เป็นลำ อย่างนี้ สันนิษฐานไว้ว่า อาการของจิต สภาพของจิต ยังไม่ตั้งเป็นสมาธิเต็มที่ เพราะตอนที่จิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ลมหายใจจะมาแบบคมชัด แล้วก็มีขนาด มีความยาว มีคุณภาพแบบที่คงเส้นคงวาเหมือนเดิมนะครับ

 

ทีนี้ ถ้าสับไปสับมา บางทีก็อาจจะยังไม่เป็นสมาธิเต็มที่

 

ทีนี้ ถามว่า ถูกหรือไม่ถูก ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด แต่คุณต้องรู้ มีสติทราบนะครับว่าเราอยู่ในขั้นไหน

 

ถ้าหากว่า เป๋ไปเป๋มา หรือว่า ยังมีความล้ำเหลื่อมไปเรื่อยๆ ก็ให้ทราบว่า ตอนนั้น วิตักกะ กับวิจาระ ยังไม่คงเส้นคงวา ยังไม่เข้าที่เข้าทาง

 

แค่รู้เฉยๆ คือไม่ใช่ไปพยายามเร่งรัด หรือว่าจะเอาให้ได้ แค่รู้เฉยๆ แล้วก็เป็นการเปรียบเทียบว่า ถ้าหากว่า เรายังมีสติ รู้สึกถึงลมเข้าออกอยู่ จะดีขึ้นเรื่อยๆ ไหม มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไหม ตรงนี้แหละ ที่จะถูกทิศถูกทาง

 

คือเราเห็นความไม่เที่ยง อย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปเอง ไม่ใช่ไปเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ หรือว่าเร่งรัดจะเอาให้ได้อย่างใจ ว่าจงเป็นสมาธิ ทุกอย่างจงคงเส้นคงวานะครับ

 

ที่คุณบรรยายมา ก็คือเห็นรายละเอียด ของความแตกต่างในลมหายใจแต่ละลมหายใจอยู่แล้ว

 

แค่คุณไม่ไปพะวงว่า เมื่อไหร่มันจะได้ดิบได้ดี เมื่อไหร่จะถูกเป๊ะขึ้นมา เท่านั้น อาการของใจของคุณก็จะอยู่ในทิศทางที่ใช่แล้ว

____________________

หายใจเข้าได้ ๓-๔ ครั้ง หน้าอกเริ่มอัดเข้ามา ก็หายใจเข้าไปได้อยู่แต่ผ่อนลมเข้า มันเหมือนเป็นช่องเล็กๆ ลงไปที่ก้น พอหายใจออกมันจะรู้สึกเหมือนลมวนๆ ที่ท้องก่อน ไม่เป็นลำ เหมือนตอนเข้า(แต่บางทีก็เป็นลำ) และรู้สึกได้ว่าลมออกจมูก ชาไปทั้งตัวเวลาหายใจเข้าออก ผมไม่ได้กำหนดจุดกระทบที่ปลายจมูก หรือตรงหน้าอก แต่ตามลมเข้า(ถึงก้น) ลมออก(ถึงอก) บางทีถึงปลายจมูกถ้ารู้สึกว่ามีลมอุ่นๆ แบบนี้ทำถูกไหมครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0i750OFLtC8

 

Q14เห็นความคิดไม่ดีเปลี่ยนแปลงได้ แล้วรู้สึกโล่งเบา ถูกต้องไหม

ดังตฤณ : นั่นเรียก สติมาปรุงแต่งนะ มาเปลี่ยนอกุศลจิต ให้กลายเป็นกุศลจิต มาเปลี่ยนสังขารขันธ์ ชนิดที่เป็นสังขารขันธ์ที่เป็นฝ่ายกุศลนะครับ คือมีสตินั่นเอง

 

สติ ก็คือสังขารขันธ์ชนิดหนึ่งนะ

____________________

ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ชอบมีความคิดไม่ดีแล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แล้วจะรู้สึกโล่งเบาสบายเมื่อรู้ความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ถูกทางมั้ยคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0iH5q0In2pA

 

Q13ฝึกเห็นร่างกายหายใจ เป็นวิจาระไหม

ดังตฤณ : ต้องถามด้วยว่า ที่เราไปรู้สิ่งอื่น เป็นการรู้สิ่งอื่น โดยยืนพื้นอยู่บนลมหายใจ หรือว่ามาเบียดเบียนให้ลมหายใจหายไปจากใจเราเลย

 

ถ้าเบียดเบียนให้ลมหายใจเบาบางลง หรือว่าหายไปจากใจเราเลย อย่างนี้ วิจาระไม่เกิด

 

แต่ถ้าหากว่า ลมหายใจยังคงแจ่มชัด แล้วเรารับรู้สิ่งอื่น โดยยืนพื้นอยู่บนฐานของการรู้ลมหายใจชัด อย่างนี้เรียกว่า วิจาระยังอยู่ ไม่ไปไหน

 

คือคำว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน หมายความว่า เราแนบให้จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ ไม่เคลื่อน แต่ว่ายังมีความรับรู้สิ่งอื่นได้ ยังคิดๆ ได้ เพราะจิตถ้ายังไม่ถึงฌาน ยังไม่ถึงปฐมฌาน จะยังคิดๆ ได้ ยังรับรู้โน่นนี่นั่น ที่เป็นอารมณ์อื่นได้อยู่นะครับ

____________________

การฝึกถ้ามองเห็นทั้งร่างกายกำลังหายใจแต่จิตเหมือนไม่จดจ่อกับลมหายใจอย่างเดียวจะเป็นวิจาระหรือเปล่าครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=gHSF0NGlH-Q

 

Q12มองความคิดฟุ้งซ่านเป็นสังขารขันธ์ ถูกหรือไม่

ดังตฤณ : ใช่ครับ คือพอมีความเข้าใจว่าคำว่า สังขารขันธ์ ก็คือธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

 

อย่างความคิด ความฟุ้งซ่าน ที่ทำให้มองคนอื่นไม่ดี ทำให้มองโลกไม่ดี ทำให้มองตัวเองไม่ดี อย่างนี้ เรียกว่าเป็นอกุศลสังขารขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ฝ่ายอกุศล เป็นสังขารขันธ์ฝ่ายมืด ที่ทำให้จิตยุ่งเหยิง ปรุงแต่งจิตให้ยุ่งเหยิง แล้วก็ดำมืด

 

แต่ถ้าเรามีวิตักกะ มีวิจาระ แล้วเกิดความเห็นลมหายใจชัด ลมหายใจอันชัดนี้ ทำให้กายสงบระงับ จนเกิดปีติขึ้นมา ปีติ ทำให้ความคิดฟุ้งซ่านสงบระงับ เกิดเป็นความสว่างเจิดจ้าขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าเป็นสังขารขันธ์ ที่แปรรูปมาเป็นขั้นๆ

 

เราเห็นอย่างนี้ แล้วมองว่าเป็นสังขารขันธ์ฝ่ายสว่าง ฝ่ายกุศล ในที่สุด จิตเห็นบ่อยๆ เข้า ก็ตีความว่า นี่ก็สังขารขันธ์เหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน

 

นี่แหละ ตัวนี้แหละ ที่จะเป็นแก่นสาร ที่จะเป็นสาระว่า เราเห็นอะไรๆ ที่ปรุงแต่งจิตโดยความเป็นสังขารขันธ์ไปทำไม

 

เห็นเพื่อที่จะได้ตัดสินว่า ก็เหมือนกันที่จุดสุดท้าย คือต้องเปลี่ยนไป

 

หมดเหตุ หมดปัจจัย ก็ต้องแตกต่างไป

 

ถ้ามีเหตุมีปัจจัยใหม่ ก็เกิดสังขารขันธ์ชนิดใหม่ เกิดขึ้นแทน อย่างนี้

 

ด้วยความเข้าใจ ด้วยความมองเห็น สามารถที่จะมองเห็นอย่างนี้ ในที่สุด จะมองขาด ทะลุได้ว่า ขันธ์ 5 ที่เราหวงไว้ ยึดไว้ หรือว่าครอบงำใจของเราไว้ จะไม่มีอิทธิพล ได้เท่าเดิมอีกต่อไป

 

ใจของเราจะเป็นอิสระจากมันมากขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ทะลุออกไปได้นะ

____________________

ปกติเกิดความสว่าง แต่เห็นว่าบางทียังลงไปยุ่งกับความคิด ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปเลย แล้วกลับมา วันนี้เริ่มเห็นความสว่างเป็นสังขารขันธ์ค่ะ ควรมองความคิด ความฟุ้งซ่าน แบบที่เห็นความสว่างเป็นสังขารขันธ์ใช่มั้ยคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=u4SHiqMvnOY

 

Q11จะรู้ได้อย่างไรว่าความสว่างเกิดจริง หรือคิดไปเอง

ดังตฤณ : ถ้าจะเอาให้เกิดสัมมาทิฏฐิจริงๆ ให้ชัวร์จริงๆ ว่าเราไม่หลงคิดไปเอง เริ่มต้นขึ้นมา คุณนั่งคอตั้งหลังตรง ถามตัวเองว่าตอนนี้รู้สึกไหม ถึงอาการนั่งคอตั้งหลังตรง

 

ถ้าหากรู้สึกถึงอาการนั่งคอตั้งหลังตรง แล้วไม่คิดเรื่องอื่น นี่เรียกว่าสว่าง อยู่ในขอบเขตของกายแล้ว

 

แต่ถ้ารู้สึกถึงลมหายใจไปเรื่อยๆ อย่าลืมนะ ตัวตั้งต้องมาจากตรงนี้ก่อนนะ ..คอตั้งหลังตรง แล้วรู้สึกว่าสบายๆ อยู่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นความสว่างระดับหนึ่ง

 

พอเรามีความสว่างระดับหนึ่ง แล้วเอามาต่อยอดโดยการรู้ลมหายใจไป แล้วรู้สึกสว่างขึ้น มีความสว่างนวลๆ ออกมา อย่างนี้ มาจากสติ รู้ลมแน่ๆ นะครับ ไม่ใช่คิดเองแน่ๆ เพราะมีจุดอ้างอิง เป็นความสว่างระดับหนึ่ง ยกขึ้นมาเป็นความสว่างระดับสอง

 

แล้วความสว่างระดับสอง พอมีความรู้ลมหายใจ มีความใส่ใจ ความเบา มากขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง จะคงที่คงเส้นคงวา เจิดจ้าออกไป แบบนั้น คุณไม่สงสัยแล้ว จะไม่มีข้อมาพะวง มาคิดย้อนเลยว่า นี่เรียกความสว่างออกมาจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเราคิดไปเอง

 

เป็นความสว่างที่คุณรู้สึกว่าเห็นได้ชัดยิ่งกว่า ตาเห็นสปอตไลท์เสียอีก

 

และความสว่างนั้น จะพาคุณทะลุทะลวงออกไป จะเห็นข้างนอกก็ได้ จะย้อนกลับเข้ามาเห็นข้างใน จะเห็นหมดเลย ยิ่งกว่ากล้อง x-ray นะครับ

____________________

เราจะทราบหรือแยกได้อย่างไรครับว่า แสงสว่างที่เกิดขึ้นให้เราเห็นนั้นเกิดจากกำลังของอานาปานสติ หรือเกิดจากการนึกคิดด้วยสมองของเราเองครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=O6nmwhD7orA

 

Q10สว่าง หมายถึงการรู้ลมเข้าออก แต่ไม่ใช่เกิดความสว่างจริงใช่ไหม

ดังตฤณ : ถ้ามืด หมายความว่า เราหมกตัวอยู่กับอารมณ์ จะโกรธ ก็ปล่อยให้ใจแล่นไปตามความโกรธ หรือหมกมุ่นครุ่นคิดอะไร ก็อยู่กับความหมกมุ่นครุ่นคิดแบบนั้น อย่างนี้เรียกมืด ไม่สามารถมองแล้วเกิดความรู้สึกขึนมาได้ว่า กายอยู่ในอิริยาบถไหน ลมหายใจกำลังเข้าหรือออก จะมืดๆๆ ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือแต่อารมณ์ที่ปรากฏ กัดกินใจ หรือครอบงำจิตใจของเรา

 

ความสว่าง เกิดขึ้น เมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่า ตอนนี้ นั่งอยู่ในท่าไหน มีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก หรือแม้กระทั่งว่า รู้สึกเหมือนกับมีความฟุ้งซ่านลอยเอื่อยๆ เป็นสายหมอกอยู่ในหัว อย่างนี้เรียกว่า มีความสว่างเกิดขึ้นแล้ว

 

สว่างในระดับที่จะทำให้เกิดความเห็นว่า อิริยาบถปัจจุบันเป็นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร อันนี้คือสว่างแล้ว เพราะหลุดจากความครอบงำแบบหยาบๆ ดิบๆ ที่ความฟุ้งซ่านจัด หรือการมีโทสะอย่างแรงกล้ามาครองงำจิตใจ

 

ลองนึกดูถึงตอนที่เรากำลังโกรธจัด จะหน้ามืดไปหมด แล้วคิดอะไรไม่ออก นึกอะไรไม่ออกเลย มีแต่ความหมกมุ่นอยู่กับศัตรูตรงหน้า หรือบางทีศัตรูอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร แต่ใจของเราอยู่ชิดใกล้กับเขานิดเดียว เหมือนกับเขามานั่งอยู่ในใจ

 

แบบนี้ นึกถึงกาย นึกถึงใจไม่ออกนะ มีแต่นึกถึงศัตรูที่อยู่ภายนอก ห่างออกไป หรือนึกถึงศัตรูที่อยู่ภายในในรูปของความทรงจำ

 

แต่พอเราเริ่มรู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบันได้ ไม่มีอารมณ์อื่นเข้าแทรก รู้สึกว่า กำลังนั่งหลังตรง คอตั้งหลังตรงอยู่ หายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ แค่นี้ถือว่าเป็นความสว่างระดับต้นแล้ว

 

ต่อเมื่อเราหลับตาไป แล้วรู้สึกเหมือนสว่างเรืองๆ สว่างจริงๆ อันนี้เป็นความสว่างแบบที่คุณเห็นแสงอื่นทั่วไปด้วยตาเปล่านั่นแหละ

 

จะเหมือนกับมีแสงสว่างเรืองๆ ออกมาจากภายในจริงๆ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการปรุงแต่งของความสว่าง ในระดับของสมาธิต้นๆ

 

แต่ความสว่างในแบบที่เจิดจ้าจริงๆ ยิ่งกว่าแสงพระจันทร์ ยิ่งกว่าแสงของสปอตไลท์นะ สว่างได้มากกว่านั้นจริงๆ จะรู้สึกออกมา และเห็นได้เฉพาะตนว่า จิตของเรามีความสว่างแบบนั้น แผ่ออกไปทุกทิศทุกทาง ก็เป็นความสว่างในระดับที่เกิดสมาธิตั้งมั่นแล้ว

 

คนอื่น บางทีจะเห็นด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำ คือเหมือนกับมีอะไรแผ่ออกมาเป็นรัศมี เป็นออร่า ที่เวลาคนทำสมาธิได้แบบที่นิ่งมากๆ หรือว่ามีความเบิกบานมากๆ มีความสว่าง มีความผ่องใสมากๆ บางทีเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย ว่า ไม่เหมือนกับจิตธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่คิดๆ นึกๆ อยู่แน่ๆ ต้องเกิดอะไรขึ้นสักอย่างกับเขา รู้สึกเหมือนกับว่า มีรัศมีอะไรบางอย่าง กว้างขวางออกมา ออกนอกตัวเขา แบบนี้ ก็เป็นมุมมองของภายนอก

 

แต่ว่าภายในจะรู้เลยว่า สว่างจัดจ้าขนาดไหน

____________________

ความสว่างที่ว่าหมายถึงความรู้ ที่มีลมเข้า-ออกใช่ไหมคะ ไม่ได้หมายถึงความสว่างเกิดขึ้นจริงๆใช่ไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=YIRxTmym0BM

 

Q09เห็นสังขารขันธ์ครั้งแรก ร้องไห้ แล้วกลับมายึดใหม่ ต้องทำอย่างไรต่อ

ดังตฤณ : ต้องทำความเข้าใจ ทำไว้ในใจนะครับว่า จิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

เพิ่มคุณภาพขึ้นได้ เสื่อมจากคุณภาพลงได้

สว่างขึ้นได้ มืดลงได้

 

แล้วเมื่อไหร่ที่มีคุณภาพมาก ก็สามารถเห็นขันธ์ 5 แยกจากกันได้ เห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ที่แยกจากกันได้ เป็นเลเยอร์ชัดๆ นะครับ แล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่า นี่เห็นแล้วชัดเจน แต่อย่าไปหลงว่า ได้เห็นครั้งหนึ่ง จะต้องได้เห็นตลอดไป มีแต่เส้นตรงเป็น linear ขึ้นไปนะว่า พอเห็นได้อย่างนี้ จะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่นะครับ

 

จะย้อนกลับมาหาความยึดมั่นถือมั่นแบบเดิมๆ ได้อีก

 

สิ่งที่เราจะทำ ไม่ใช่เรื่องการคาดคั้นตัวเอง เห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์

 

แต่เราต้องนับหนึ่งใหม่ทุกวัน ด้วยอานาปานสติ ด้วยการรักษาศีล ด้วยการทำจิตให้มีความพร้อมจะเกิดคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ

 

แล้วก็พอจิตเกิดคุณภาพ เกิดสมาธิ เกิดความสว่าง เกิดความตั้งมั่นแล้ว รู้อะไรเข้าไป ก็เห็นเหมือนเดิมนั่นแหละ

 

ถ้าเคยเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ได้ ในที่สุดเดี๋ยวก็ต้องเห็นอีก

 

พอเกิดสมาธิ ก็เห็นอีก พอเข้าทางถูกแล้ว จะกลับเข้าไปได้เสมอ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องร้อนใจ แล้วก็ไม่ต้องมาปริวิตก ว่าเราเคยได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ต้องทำอย่างไร

 

ไม่ใช่มาเริ่มต้นด้วยความวิตกแบบนั้น แต่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจว่า ถ้านับหนึ่งใหม่ทุกวัน โอกาสที่จะเข้าทางเดิม แล้วไปถึงจุดที่เคยถึงแล้ว ก็มีทุกวันเหมือนกัน

 

บางวัน เช้าขึ้นมา หัวยุ่งๆ เห็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งใจไม่ได้ เห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ไม่ได้ แต่ตกเที่ยง เริ่มมีสติ เริ่มมีโฟกัสกับงาน กับหน้าที่ แล้วจิตกลับเข้าที่เข้าทาง ก็หายใจแล้วเกิดความรู้สึกว่านี่เป็นรูปขันธ์ได้

 

หรือว่ามีความฟุ้งซ่านขึ้นมา สามารถเห็นเป็นสังขารขันธ์ได้ อย่างนี้ ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิต

 

ตอนไหนมีสมาธิ ตอนนั้น พร้อมที่จะแยกขันธ์

ตอนไหนไม่มีสติ ตอนไหนไม่มีสมาธิ ตอนนั้น ขันธ์ก็หายไป กลายเป็นกายใจทึบๆ เป็นตัวตนทึบๆ เป็นอัตตาเดิมๆ ไม่แตกต่างกันกับเมื่อก่อนนะ

 

เห็นอย่างนี้ เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง แม้แต่ตัวสติก็ไม่เที่ยง ก็จะได้ไม่ยึด แล้วก็ไม่หลงสำคัญผิดว่า เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ทำอย่างไรต่อ ให้กลับเข้าร่องเข้ารอย คนที่เริ่มเห็นกายใจเป็นขันธ์ 5 ได้ใหม่ๆ บางจะ panic เกิดความว้าวุ่นใจว่าเคยเห็นแล้ว ก็ต้องเคยเห็นไปเรื่อยๆ ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่นะ มีขึ้นมีลงนะครับ

____________________

วันจันทร์ที่ผ่านมา จิตเห็นสังขารขันธ์ครั้งแรก ร้องไห้ สะเทือนทั้งหมดที่ยึดในสังขารขันธ์ แต่หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วันก็กลับเข้าไปยึดใหม่ ควรฝึก หรือ พิจารณาต่ออย่างไรดีคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=vkZjFbWkSwk

 

Q08รู้สึกถึงความสว่างได้ เพราะรู้ลมหายใจยาวแทนลมหายใจสั้น ใช่ไหม

ดังตฤณ : ถูกต้องเลย การปรุงแต่งทางกาย การปรุงแต่งของรูปขันธ์ มีส่วนสำคัญมากที่จะบันดาลให้เกิดปีติ หรือสุข

 

และปีติหรือสุข ถ้ามีความอิ่มตัวขึ้นมา แสงสว่างก็เจิดจ้าขึ้นมา

 

ความสว่างนี้ สำคัญตรงที่ว่าเป็นตัวชี้ว่าคุณภาพของจิต คุณภาพของกายของเรา เริ่มที่จะเข้าท่าเข้าทาง พร้อมเห็นแบบเป็นวิปัสสนาได้แจ่มชัดหรือยัง

 

ถ้าไม่มีความสว่าง ถ้าไม่ได้รู้สึกสว่างออกมาจากข้างใน เวลาเห็นกาย เวลาเห็นใจ แล้วเหมือนมาโมเม เหมือนมาแกล้งทำเป็นบอกว่า นี่ไม่ใช่ตัวตน นี่แค่ขันธ์ 5 .. จะรู้สึกแกล้งๆ อยู่ข้างใน ออกมาจากความทึบข้างใน

 

แต่พอมีความสว่างขึ้นมา รู้สึกถึงความเบา ความใส ความปลอดโปร่งที่พร้อมจะยอมรับความจริงว่า ที่เรียกว่า ขันธ์ 5 .. เป็นขันธ์ 5 จริงๆ

 

รูปขันธ์ กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่จริงๆ แล้วเราเห็นอยู่จริงๆ

 

หรือการปรุงแต่งอะไรที่เกิดขึ้นทางใจ เป็นของชั่วคราวเป็นของแป๊บเดียว แม้แต่ตัวความสว่างเอง อย่างนี้ ความสว่าง จะปรุงแต่ให้เกิดสติ ยอมรับได้ง่าย

 

ตัวนี้คือข้อแตกต่างอย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านมา ผมบอก ผมย้ำเป็นประจำนะ อย่าไปคาดคั้นให้เกิดความสว่าง

 

อย่างกรณีของคุณ ถ้าเกิดความสว่างขึ้นมาเองอย่างนี้ .. ดี เกิดความสว่างขึ้นมาจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกท่าถูกทาง

 

แต่ถ้าเราจะไปเค้นให้ความสว่างเกิดขึ้น อันนี้ไม่ดีนะ

 

อย่างผมพบกับหลวงปู่เหรียญ คำสอนที่ผมจำได้แม่นๆ ที่ท่านสอนผมโดยตรง บอกว่า ถ้าจะเอาการเจริญวิปัสสนาให้ได้ดี ให้ได้เต็มขั้น ต้องทำให้เกิดความสว่างขึ้นมา

 

เหมือนกับว่า ร่างกายนี้ เดิมทีเป็นห้องมืดอยู่ แล้วเราสามารถที่จะกดสวิทช์ ให้สว่างโพลงขึ้นมาทันที

 

อันนี้ที่ท่านสอนนะ แล้วผมก็จำติดหูว่า เรื่องของความสว่าง เรื่องของสมาธิ มีประโยชน์อย่างนี้ คือทำให้เราออกจากห้องมืดได้ ทำลายความมืดของห้องได้ แล้วก็สามารถเห็นได้ว่า ในห้องมีอะไรอยู่บ้าง

 

ถ้าคุณจะเอาแค่แบบปฏิบัติแบบตื้นๆ แล้วบอกว่า จะไปเอาทำไม ยุ่งยาก แสงสว่าง เอาแค่รู้ แค่เฉพาะตรงนี้ รู้แค่ความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้นตรงหน้า อย่าไปเอาอะไรอย่างอื่น

 

แบบนี้ มาไม่เคยถึงจุดที่เห็นประโยชน์ของความสว่างนะ

 

ย้ำอีกทีนะ สำหรับคุณ ผมขออนุโมทนานะ เพราะความสว่างนี้เกิดขึ้นเองจากการปฏิบัติถูกท่าถูกทาง

 

แต่ถ้าใครทำให้ถึงความสว่างไม่ได้ ยังไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเร่งรัดตัวเอง ยังไม่ต้องไปอยากได้ เพราะความอยาก ยิ่งทำให้มืดลง ไม่ได้ทำให้สว่างขึ้นนะครับ

 

และความสว่าง ถ้าถึงแล้ว เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา เพราะว่าหากเกิดขึ้นเป็นประจำ คุณจะไม่สงสัยว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับกายใจ การพิจารณาขันธ์ 5 อะไรต่างๆ จริงทั้งนั้นเลย ไม่มีอะไรปลอมเลยนะ

____________________

เป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงความสว่าง สังเกตว่าอาจเป็นเพราะการรู้ลมหายใจยาวและลึกกว่าก่อนนี้ที่หายใจสั้นๆ ใช่หรือไม่ครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=DgglWXOCQMI

 

Q07ฝึกปฏิบัติเนืองๆมาตลอดสัปดาห์ วันนี้แยกรูปแยกนามได้เป็นครั้งแรก

ดังตฤณ : อนุโมทนานะ ฟังดูก็น่าจะจริง แล้วถ้าหากว่าเราสามารถทำได้ครั้งหนึ่ง นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตได้เลยนะ ออกมาจากข้างใน มาถึงทางแยก

 

ทางแยกที่เดิมไปได้แค่สวรรค์ อาจมาถึงอีกทางแยกหนึ่ง ไปได้ถึงนิพพานแล้ว

____________________

จากการเข้าทำสมาธิในสัปดาห์ที่ผ่านๆมา พยายามฝึก ปฏิบัติระหว่างวันเท่าที่จะระลึกและมีสติอยู่กับลมหายใจได้ ในวันนี้หลังจากได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังคำอธิบายจากพี่ตุลย์ทำให้ เกิดปัญญา และแยกรูปกับนามได้เป็นครั้งแรกค่ะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=JC2uDRit77E

 

Q06ใช้ฝ่ามือไกด์ หายใจได้ลึกขึ้น ใช่การฝึกหายใจไหม

ดังตฤณ : ก็เหมือนท่าบริหาร ยกมือ การทำให้ร่างกายยืดเส้นยืดสาย ก็ปรับให้สภาพลมหายใจดีขึ้นนะครับ

 

สิ่งที่เราฝึกกันไป เหมือนเอากายบริหาร มาช่วยให้เกิดประสบการณ์ทางอานาปานสติสมาธิขึ้นมาง่ายขึ้น มองอย่างนี้ก็แล้วกัน อย่าไปมองเป็นเรื่องฝืนหรืออะไรนะครับ

____________________

ทำตามท่าที่สองแล้วหายใจลึกขึ้นยาวขึ้นกว่าปกติ แต่รู้สึกโล่งสบาย แบบนี้คือ การฝึกหายใจ ที่เป็นการฝืนจากปกติที่เราหายใจเข้า-ออกสั้นกว่านี้ไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=NFKb1T8p8Is

 

Q05แค่ดู รู้สังขารขันธ์ แต่ไม่ไปตามสิ่งที่เห็นในสมาธิ ถูกต้องไหม

ดังตฤณ : ถ้าคุณทำไว้ในใจ ว่าจริงๆ ร่างกายนี้ จิตใจนี้ เป็นขันธ์ 5

 

ส่วนที่เป็นรูปขันธ์ ก็เหมือนกับตัวนำเอาความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์มา ในแต่ละขณะ

 

เมื่อเกิดความรู้สึกถึงสิ่งใด ความจำเกี่ยวกับสิ่งนั้น ก็จะปรากฏด้วย อันนั้นเรียกว่า สัญญาขันธ์ ความจดจำว่านั่นเรียกว่า แข็ง นั่นเรียกว่า ร้อน นั่นเรียกว่า เย็น นั่นเรียกว่า เพื่อน นั่นเรียกว่า ภรรยา นั่นเรียกว่า สามี ฯลฯ เหล่านี้เป็นสัญญาขันธ์

 

แต่ตัวที่มารับรู้ เรียกว่า วิญญาณขันธ์

 

นอกเหนือจากนั้นทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะปรุงแต่งอะไร เห็นอะไร ปรากฏเป็นอย่างไรก็ตาม จะปรากฏการณ์ทางกาย ปรากฏการณ์ทางจิตที่เข้ามาปรุงแต่งจิต ให้เกิดอาการเป็นอย่างไรทางจิตไป เหล่านั้น ที่เหลือเหล่านั้น เรียกว่า สังขารขันธ์ทั้งหมด

 

คิดง่ายๆ ว่า อะไรก็ตามที่ปรุงแต่งให้จิตเป็นกุศลได้ ปรุงแต่งให้จิตเป็นอกุศลได้ เหล่านั้น คือสังขารขันธ์ทั้งหมดนะ

____________________

ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นในขณะปฏิบัติสมาธิ นั่นคือสังขารขันธ์ให้แค่ดู รู้ ไม่ไปตามสิ่งที่เห็นในสมาธิใช่ไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=gLDis8cBePs

 

Q04เกิดนิมิตห้องมืด รู้สึกใจคอไม่ดี ใช่ลางสังหรณ์ไหม

ดังตฤณ : เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว จริงหรือไม่จริง ก็เป็นสิ่งที่อนาคตจะบอกเรา

 

แต่สิ่งที่เราทำไปในคืนนี้ ถูกต้องแล้ว คือเห็นเป็นสังขารขันธ์

 

ตอนที่เรายังไม่ได้มีญาณหยั่งรู้อนาคตอย่างแท้จริง สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ ก็คือ มองว่านี่คือความปรุงแต่งของจิต ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นสังขารขันธ์

 

เมื่อมองไปอย่างนี้ สิ่งที่ได้แน่ๆ ก็คือ ปัญญาแบบพุทธ ว่าที่เกิดขึ้น จะจริง หรือไม่จริง จะเป็นญาณหยั่งรู้อนาคต หรือว่าเป็นอนาคตที่มาปะทะจิตของเราเอง เหล่านี้ ยกไว้ก่อน เป็นเรื่องของอนาคตที่เราค่อยรู้เอาทีหลังก็ได้

 

แต่ที่เราจะรู้เอาตอนนี้เลย แล้วเกิดประโยชน์แน่ๆ ก็คือ นี่คือสังขารขันธ์

 

จะเป็นส่วนเสริมให้รู้ว่ากายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นรูปนาม เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ แน่ๆ นะครับ

____________________

วันนี้มาแปลกครับ จู่ๆ ใจสั่น จิตแต่งเป็นห้องมืดมาล้อมตัวเองเอาไว้ มันคืออาการ "ใจคอไม่ดี" เกิดนิมิตคือคุณแม่ขึ้นมา มองขันธ์นี้เป็นขันธ์ใจสั่น และขันธ์ห้องมืดไป แบบนี้เรียกลางสังหรณ์หรือเปล่าครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=fQrB9YkBLok

 

Q03ลมหายใจชัดยาวแต่จิตไม่ว่าง ไม่สว่าง เพราะอะไร

ดังตฤณ : คุณต้องเข้าใจคำว่า วิตักกะ วิจาระ ให้ชัดเจนนะครับ

 

วิตักกะ วิจาระ คือการที่ใจของเรานึกถึงลมหายใจ แล้วก็แนบอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว

 

ถ้าหากว่า มีวิตักกะ อย่างเดียว อย่างเช่น ทำท่าอะไรก็แล้วแต่ แล้วรู้สึกถึงลมหายใจ แต่ใจไม่ได้อยู่กับตรงนั้นจริง

 

ในที่สุด ก็มีความฟุ้งเข้ามารบกวน

 

จริงๆ ต่อให้คนทำสมาธิ ได้วิตักกะ ได้วิจาระ แล้วก็ตาม ช่วงต้นๆ ตอนที่ยังไม่เกิดปีติ ยังไม่เกิดสุข ความฟุ้งซ่านก็มีมาเอื่อยๆ อ่อนๆ อยู่

 

แต่ถ้าหากว่าคุณมีความยินยอมให้อาการฟุ้งซ่าน มาครอบงำจิตใจของเราได้ อย่างนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ว่าถึงแม้จะรู้ลมหายใจแล้วก็ตาม แต่ยังไม่หยุดคิด ยังไม่หยุดฟุ้งซ่าน

 

คุณสังเกตให้เห็นนะครับ อาการของใจ ณ ขณะหนึ่งๆ ยอมที่จะคิดตามกลุ่มความฟุ้งซ่านที่เข้ามาพยายามครอบงำจิตของเราไหม

 

ถ้ายอม จะไปได้ง่าย เตลิดได้ง่าย เพราะว่านั่นคือความเคยชินที่แท้จริงของจิต

 

แต่ถ้าหากว่า เวลาที่มีความฟุ้งซ่านเข้ามา คุณไม่เปิดรับ แล้วก็ไม่ขับไสไล่ส่ง แต่มีอาการทางใจที่รู้อยู่เงียบๆ ว่าตอนนี้ มีความฟุ้งซ่านจรเข้ามา

 

รู้เฉยๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ที่จรเข้ามา แป๊บหนึ่งก็หายไป แล้วคุณไม่ตามมันไปด้วย ตรงนี้แหละ ที่จะทำให้สติของคุณกลับมาอยู่กับลมหายใจได้อย่างแท้จริง

 

ไม่อย่างนั้น ถ้าใจมีความยินยอม มีความพร้อมใจที่จะไปต่อกับความฟุ้งซ่านโดยที่คุณไม่รู้ตัว ก็จะมาอยู่เรื่อยๆ ไม่หยุดสักที

 

ต่อให้ใช้อุบายสมาธิชนิดไหนก็ตาม ขอแค่คุณมีความยินยอมพร้อมใจไปกับความฟุ้งซ่าน อุบายสมาธินั้นจะไม่ได้ผลเต็มร้อยทันที หรือกระทั่งเป็นหมันไปเลยนะ

____________________

ลองทำท่าที่ ๒ แล้ว ลมหายใจชัด และยาวแล้ว แต่ทำไมจิตยังไม่ว่าง สว่างคะ หรือเป็นเพราะอารมณ์ในแต่ละวัน เพราะวันนี้มีความวิตกกังวล หรือต้องปฏิบัตินานกว่านี้คะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=N5XzuxjfNcg

 

Q02ระลึกถึงความตายทุกวัน ทำให้ไม่อยากได้อยากดีอะไร ต้องแก้อย่างไร

ดังตฤณ : บางที เราต้องย้อนนึกนะ สมมติว่าเราเห็นญาติ เห็นคนสนิทที่ได้ดิบได้ดีทางธรรม ปฏิบัติธรรมได้ มาพูดตอนที่เรายังไม่พร้อมจะฟัง หรือว่าพูดตอนที่เรายังอาจไปไม่ถึงตรงนั้น อย่างเช่นเรื่องตาย อะไรอย่างนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร

 

อย่างสมมติ คนที่เรารัก บอกว่า ฉันจะตาย ด้วยเหตุที่มีจริงๆ ว่าป่วยตาย หรือว่าติดโควิด หรืออะไรที่ไหนมาก็ตาม เราจะรู้สึกเสียใจ เศร้าโศก แล้วเป็นความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ เป็นความรู้สึกว่าไม่อยากพรากจาก อยากร้องไห้ อยากอะไรอย่างนี้

 

แต่อย่างถ้ามาสมมติ คือไม่มีเหตุอะไรเลย แล้วมาสมมตินี่ คนธรรมดาทั่วไป ที่ยังไม่เข้าใจธรรมะ ยังไม่ถึงธรรมะ ก็จะรู้สึกว่า เรามาสาปแช่งตัวเอง แช่งตัวเอง มาสร้างอัปมงคลให้ตัวเอง

 

ยกเว้นแต่ว่า ที่ในบ้านคุณมีความเข้าใจธรรมะ แล้วก็คุยธรรมะกันเป็นปกติอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องดีนะครับ

 

จริงๆ แล้วเรื่องความตาย ถ้าหากว่าเราเห็นเข้ามาจริงๆ ในภาวะทางกายนี้ ว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการแตกดับ มีนิมิตแตกดับให้เห็นจริงๆ นั่นแหละ พวกนี้จะเป็นพวกที่เห็นความตายอย่างแท้จริงของร่างกาย ว่าวันหนึ่งต้องไปถึงจุดนั้นแน่ๆ รู้ธรรมชาตินี้ของกายอย่างลึกซึ้งออกมาจากนิมิตภายในนะครับ

 

ซึ่งก็จะเหมือนกับเป็นเรื่องปกติของเรา เป็นเรื่องที่ทำให้ใจเรา ไม่ออกอาการผิดปกติใดๆ

 

ทีนี้ตัวคำถามนี่ บอกว่าจะแก้ไขอย่างไร ผมไม่รู้ว่าจะแก้ตรงจุดไหนนะ เพราะว่าที่คุณพูดมา ก็เป็นบวกทั้งหมด ในเชิงการปฏิบัติแบบพุทธ ในเชิงการเจริญสตินะ

 

ได้แต่แนะนำก็แล้วกันว่า เวลาพูดเรื่องความตาย ต้องดูคนด้วย อย่ามองว่า นี่เป็นธรรมะที่จะไปเป็นประโยชน์ หรือว่าทำให้คนอื่นเกิดความเห็นดีเห็นงาม แล้วก็เห็นอนิจจังตามเราไปนะครับ เพราะหลายๆ คนไม่พร้อมจะรับฟัง แล้วก็อาจมองว่าเราหลุดโลกไปแล้ว หรือว่าไปไกลแล้ว กลัวจะกู่ไม่กลับอะไรแบบนั้น

 

ยกเว้นว่า ถ้าคนที่เราพูดด้วย มีความเข้าใจไล่เลี่ยกับเรา ใกล้เคียงกับเรา หรือเสมอกับเรา อันนี้เป็นเรื่องดี การที่จะเตือนให้เกิดมรณสตินะครับ เป็นเรื่องดี

 

ตัวเราเอง ถ้าหากว่า รู้สึกถึงความตายของกายนี้ที่จะต้องมาถึงในวันหนึ่งแน่ๆ ก็จะเป็นอนิจจสัญญา ที่ดีนะครับ

 

พระพุทธเจ้าส่งเสริมให้มีอนิจจสัญญา เพราะว่าจะพร้อมอยู่อย่างสบาย และพร้อมจะไปดี ไม่สวรรค์ก็นิพพาน

 

อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าตอบคำถามหรือเปล่า เพราะว่าตัวคำถามจริงๆ ผมว่ามีแต่อะไรที่เป็นบวกนะ

____________________

วันนี้นั่งท่าที่ ๑ ยังไม่นิ่ง ท่าใหม่ที่ ๒ รู้สึกว่าแขนเป็นตัวถ่วง แต่เห็นชัดในการสูบลมเข้าออก เลยวางมือตามปกติและวางจิตไว้ที่รูปสูบลมเข้าออก เกิดปิติสุขมาก น้ำตาจะไหล ใช้ความว่างเข้ามาพิจารณาดูว่าปิติสุขเกิดขึ้นมาจากความนิ่งสงบ เห็นลมและกายคนละอย่างแยกออกมาอย่างเห็นได้ชัด เกิดความสว่างจ้าและว่างเปล่า จะระลึกและพูดกับคนในครอบครัวถึงความตายทุกวัน รู้ว่ากำลังโกรธและระงับได้ไวขึ้น แต่การระลึกถึงความตายทำให้ไม่อยากได้อยากดีอะไรเลย จะแก้ไขจุดนี้ได้อย่างไรคะ ตอบโพลหลังนั่งสมาธิ กลุ่มแรกค่ะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=ZO142KuYvu0

 

Q01กำหนดลมโดยนึกภาพกายเป็นถุงลมพองยุบ ได้หรือไม่

ดังตฤณ : ได้ อย่างที่บอกว่า ถ้าได้เป้า สิ่งที่เป็นเป้า แค่เห็นมันโป่ง แค่เห็นมันยุบ ใครจะใช้วิธีไหน ใครจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้ได้อย่างนี้ ในที่สุดแล้ว เราก็ได้เป้าเดียวกัน เราก็ไปถึงจุดหมายเดียวกัน คือ สามารถเห็นว่า กายนี้ใจนี้ เป็นขันธ์ 5 เป็นแค่รูปนามนะ

____________________

ทดลองทำทุกท่าทั้งใหม่เก่า แต่หลายวันมานี้ เจ็บหัวไหล่ ตอนยกแขนลงรู้สึกเจ็บแปล๊บ รบกวนสมาธิ เลยใช้วิธีกำหนดลมเข้าออกโดยไม่ยกแขนเลย แต่หายใจเข้าจนเต็มปอดก็เห็นเป็นถุงลมป่องพองไปจนสุด แล้วผ่อนหายใจออก ถุงลมก็ค่อยๆปล่อยลมออกจนหมด ทำให้ผ่อนคลายดีค่ะ และรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นค่ะ ใช้วิธีนี้ต่อไปได้มั๊ยคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=6WQRCTPWrlE

 

08.3 เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์ : รวมฟีดแบค

- เมื่อวันจันทร์ นั่งไปสักพักร่างกายหายไป รู้สึกเป็นแสงสว่างโล่งไปหมดเลยค่ะ สว่างกว้างไกล เหมือนมีแต่แสงสว่าง ทั่วไปทั้งหมดทุกทิศทาง มองตัวเราก็ไม่มีค่ะ มีแต่แสงสว่างนี้เสมอไปหมด แต่ใจก็ถามตัวเองว่านี่คืออะไร เราต้องทำอย่างไร ก็ดูลมหายใจต่อไปค่ะ สักพักถึงจะเห็นร่างเราเห็นลมกลับมา

ดังตฤณ : วันนี้เหมาะเลย เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ เห็นไหมคือ ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ ประสบความสำเร็จในทางสมาธิ แต่ก็ไม่ได้เป็นประกันว่า เราจะมาถึงความปลอดภัย

 

ถ้าไม่มีหลัก ไม่มีทุน เป็นความรู้ ความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิไว้ก่อน ก็จะมาติดอยู่แค่ความสว่าง

 

ความสว่างนี้ให้อะไรบ้าง .. ให้ความสามารถที่เราจะออกไปรู้ ออกไปดูอะไรนอกตัว นอกกายนอกใจนี้

 

ความสว่างให้อะไรกับเราบ้าง .. ความรู้สึกติดใจ ความรู้สึกอยากกลับมาหา ความรู้สึกถวิลหา

 

ความสว่างให้อะไรเราได้อีก .. ถ้าหากว่า มันประกอบกับความรู้ความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความสว่างจะถูกมองเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง เป็นการปรุงแต่งไปชั่วคราวของจิตอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่เกิดความรู้สึกรู้สา ว่าสังขารขันธ์นี้ มีคุณค่าที่แท้จริง เหนือกว่าความฟุ้งซ่าน เหนือกว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง อื่นๆ อย่างไร สักเท่าไหร่

 

เพราะมาล่อจิตให้หลงยึด ว่าเป็นตัวเป็นตนเหมือนกันๆ มันมาเพื่อที่จะให้เราเขวออกนอกทาง ไปสู่การไขว่คว้าอะไรที่ไม่ใช่ประโยชน์สูงสุด

 

แล้วในที่สุด พอเหตุปัจจัยให้เกิดความสว่างนี้หมดไป ความสว่างก็หายไปด้วย แล้วจะมีสาระแก่นสารที่แตกต่างจากลมหายใจ หรือว่าความคิดฟุ้งซ่าน หรือว่าอารมณ์ต่างๆนานา ชนิดอื่นอย่างไรได้ เหมือนกันหมด เป็นความไม่เที่ยง เป็นภาวะที่มาอยู่กับเราชั่วคราว มาล่อจิตชั่วคราว ไม่ได้มีแก่นสารสาระอะไรที่นอกเหนือไปจากนั้นเลย

 

การที่เราเห็นได้ ก็คือการที่เราเป็นชาวพุทธ แบบถึงแก่นได้คนหนึ่งจริงๆ นะครับ

 

- กราบขอบพระคุณพี่ตุลย์และทีมงาน อนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่ได้ร่วมกันเจริญอานาปานสติด้วยกันวันนี้ค่ะ ปฏิบัติบ่อยรู้สึกตัวได้ชัดขึ้นเรื่อยๆเลยค่ะ

ดังตฤณ : อนุโมทนาเช่นกันนะครับ

 

- จันทร์-ศุกร์ที่ผ่านมาปฏิบัติได้ไม่ค่อยดี ตอนหายใจเข้า รู้สึกอึดอัดหายใจไม่สุด ทำให้นั่งสมาธิได้ไม่นาน แต่เมื่อสักครู่ทำท่าที่ 2 แบบใหม่ หายใจเข้าได้ลึกจนสุด เห็นลมหายใจชัด แต่มีอาการเรอเมื่อลมเข้าลึกจนสุด แล้วค่อยหายใจออก ทำให้จังหวะหายใจเข้าออกเกิดการสะดุด และเมื่อสังเกตตอนลมหายใจออก รู้สึกได้ถึงความเบาของมือค่ะ

ดังตฤณ : อาการเรอ หรือว่าการปรับทางกายนี่ อาจเกิดขึ้นสักระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่มีลมเยอะ มีอะไรที่เป็นความขัดข้องทางกาย

 

แต่พอทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าที่เข้าทาง แล้วก็เกิดความเป็นอัตโนมัติขึ้นมา คุณจะรู้สึกเลยนะว่า ทั้งสภาพทางกาย และสภาพทางใจ จะปรับเข้าสู่โหมดยืดหยุ่น โหมดที่พร้อมจะเข้ามาอยู่ตรงนี้ เข้ามาเป็นสมาธิ และเป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ

 

คือเหมือนกับของดีตรงนี้ มาแทนที่ มาปัดเป่า มากำจัดของเสียเก่าๆ ออกได้ด้วย นี่เป็นธรรมชาติธรรมดาของสภาวะสมาธินะ เพราะพอเกิดสมาธิ ร่างกาย พูดง่ายๆ ว่า ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมะก็คือ มีความประณีตขึ้นเรื่อยๆ

 

จากเดิมที่หยาบอยู่ สภาพหยาบ จะค่อยๆ ปรับออกมาทางตา ง่ายๆ เลย รู้สึกผ่องใสขึ้น ผิวพรรณละเอียดขึ้น อะไรที่เป็นหยาบๆ จะถูกลบออกไป ทีละนิดๆ แบบที่ไม่กระโตกกระตาก แบบชัดเจนมากนะ

 

แต่จะค่อยๆ หาย ค่อยๆ หายไป รวมทั้งภาวะภายใน จะเรื่องลม จะเรื่องความผิดปกติเกี่ยวกับกาย ที่ขัดขวางการเจริญของสมาธิใดๆ ก็ตาม จะค่อยๆ หายไปทีละชิ้น ทีละอัน หรือบางทีหายไปทั้งยวงเลยก็มีนะ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงรวมฟีดแบค

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=hOd8FwH66-U&t=1s

08.2 เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์ : รวมฟีดแบคหลังท่าที่ 2 ปรับใหม่

- ท่าที่ 2 สำหรับหนู ยังฝืนๆ กับลมหายใจค่ะ เหมือนต้องกลั้น อึดอัดหน่อยๆ ค่ะ

ดังตฤณ : ลองทดลองดูนะ ทดลองดูว่า ตอนที่เราไม่คุ้น แล้วอึดอัด ถ้าทำไปเรื่อยๆ จะมีความสมูท มีความราบรื่น มีความต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ไหมนะครับ

 

เพราะต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งนะ คือไม่มีสูตรสำเร็จ หรือท่าอะไรตายตัวแน่นอน ที่จะทำให้เราสบายขึ้นมาทันที หรือว่าเกิดปีติสุขขึ้นมาทันที เป็นไปไม่ได้นะ แต่เป็นไปได้ที่ ถ้าเราคลิกกับอะไร ท่าไหน แล้วเกิดความรู้สึกว่า ยิ่งทำยิ่งค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ อันนั้นแหละที่จะใช่นะ

 

เหมือนเล่นกีฬา ไม่มีใครที่จะเล่นได้ดีทันที แต่มีครับ ที่วิธีฝึก ซึ่งถูกกับเรา ได้กับเรา แล้วเรายิ่งซ้อมบ่อย ยิ่งทำบ่อยขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

 

การฝึกเจริญอานาปานสติ ให้ได้ผล ไม่ใช่การทำแค่สิบนาที หรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน แต่จริงๆ แล้วถ้าจะเอาแบบได้ผล ลองไปถามกลุ่มแรกดูก็ได้ ถ้ารู้จักใครที่เป็นกลุ่มแรก

 

ส่วนใหญ่ เชื่อเถอะว่า ทำเรื่อยๆ ทั้งวัน ทำเล่นๆ ทำเอาสนุก ทำเหมือนขนม เพราะพอทำสมาธิเป็น หายใจเป็นแล้ว จะเกิดความรู้สึกว่า ได้อยู่ตลอดเวลา ทำได้เหมือนคุณติดใจเล่นเกมนี่ ถ้าหากว่าติดใจเกมไหน แล้วคุณเล่นทั้งวันได้ อันนั้นแหละ ที่คุณจะเก่ง

 

เหมือนกัน ถ้าหากว่าเรามาฝึกอานาปานสติ ด้วยการเข้า ด้วยทางไหนก็ตาม ถ้าหากว่ามันพาคุณมารู้สึกถึงลมหายใจได้บ่อยๆ อันนั้นแหละ ท่านั้นแหละ ที่ยิ่งทำบ่อย คุณจะยิ่งเก่ง ยิ่งเป็นนะครับ

 

- ท่าที่ 2 ใหม่ ช่วยทำให้เกิดความผ่อนคลาย ตามรู้ลมหายใจได้ง่ายขึ้นเลยครับ เห็นร่างกายท้องพองยุบ เห็นลมหายใจเข้าออก เห็นความคิดที่

แวบขึ้นมาครับ

ดังตฤณ : แสดงให้เห็นว่าที่คุณทำโพลกัน ไม่ได้สักแต่ตอบ แต่มาจากประสบการณ์ของพวกคุณกันจริงๆ ซึ่งก็ดีครับ เราจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันนะ

 

- นั่งทำท่าที่ 2 จิตว่างกายว่าง ไม่ฟุ้งเลยค่ะ ความสว่างขึ้นรอบรอบตัว นั่งเก้าอี้ดีมากค่ะ ไม่รู้สึกเหนื่อย ร่างกายเบาสบาย แค่สงสัยมีอาการน้ำตาไหลข้างซ้ายไหลมาเรื่อยๆ จนหยุดทำสมาธิคะ

ดังตฤณ : เสร็จแล้วพอมาพิจารณาว่า ความสว่างนั้นเป็นสังขารขันธ์ที่เกิดจากเหตุปัจจัยได้ คุณก็จะเกิดปัญญาแบบพุทธ แล้วยิ่งเห็นแบบนั้นบ่อยขึ้นเท่าไหร่ มีปัญญาแบบพุทธบ่อยขึ้นเท่าไหร่ สมาธิของคุณก็จะยิ่งปรับยกระดับ ประณีตขึ้น แล้วก็มีความสว่างมากขึ้น มีความเจิดจ้ามากขึ้นในอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ก่อให้เกิดความติดใจ แต่ก่อให้เกิดความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ในแบบที่จะเป็นอิสระ รู้ได้ด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ นะ

 

- ท่าที่ 2 แบบใหม่ เห็นลมลากยาวได้ชัดขึ้นครับ แต่รู้สึกว่าจิตจะคับแคบกว่าท่าเดิม ทำๆไปเห็นกายเป็นแค่เครื่องสูบลม โดยมีท้องเป็นตัวดึงและปล่อยลมเข้าออกครับ

ดังตฤณ : อย่างที่บอกว่า นี่เป็นเวอร์ชันซิมพลิฟาย ทำให้ง่ายลง คือจะขาดผลพลอยได้ หรือคุณสมบัติอะไรหลายๆ อย่างในท่าที่สองเดิมไป แต่จะเข้าถึงคนได้มากขึ้น และคนจะรู้สึกว่าทำได้ง่ายขึ้น แล้วนี่เป็นส่วนที่ผมเติมเข้ามา เนื่องจากฟีดแบคของท่านที่ทำไม่ได้นะครับ

 

ที่บอกว่า เราทำไปด้วยกันก็เพราะอย่างนี้ มีฟีดแบคมา ผมก็มาประยุกต์ แล้วก็ดัดแปลง แล้วก็ทำเพิ่มเติมให้เป็นไปได้กับคนหมู่มาก จำนวนมาก มากขึ้นนะครับ

 

- ปฏิบัติอาทิตย์ผ่านมา เห็นลมหายใจได้ง่าย สังเกตเห็นความต่างระหว่างเมื่อเกิดมีความอยากให้สงบ ปีติเหมือนเสาร์ที่ผ่านมา ลมหายใจจะสั้นกระสับกระส่าย เมื่อเห็นความอยาก ความอยากก็ดับ แล้วก็กลับมาเห็นลมยาว สบาย มันก็เห็นลมสั้นลมยาว เห็นความอยากเกิดดับ หายใจนับหนึ่งทุกครั้งที่เห็นความอยากดับ หมุนวนอย่างนี้ บางวันถ้าเห็นทึบๆ ก็เดินจงกลม รู้เท้ากระทบพื้น แล้วมานั่งสมาธิต่อ จะสว่างและเบาขึ้นค่ะ บอกตัวเองทุกครั้งที่เห็นการเกิดดับ ว่าสังขารเกิดดับ สนุกทุกครั้งในการเห็นการเกิดดับไม่ว่าทึบหรือสว่าง ขอบคุณอาจารย์ และ ทุกคนมากที่แชร์ประสบการณ์ ช่วยได้มากทุกครั้งที่เกิดความสงสัย ขอบคุณค่ะ

ดังตฤณ : หลายคนยังเขียนคำว่า “จงกรม” ผิดอยู่เลยนะ ขออนุญาตแทรกขึ้นมานิดหนึ่ง จงกรม สะกดด้วย ร.เรือ นะครับ

 

- สัปดาห์ที่ผ่านมาคุมตัวเองให้ปฏิบัติไม่ค่อยได้ อยากจะเล่นไถมือถือไปเรื่อยๆ ยังดีที่วันนี้ยังพาตัวเองมาปฏิบัติได้ วันนี้ทำแล้วก็ฟุ้งๆ อยู่ตลอด ถึงจะทำไปๆ แล้วเริ่มสงบสบายขึ้น แต่ก็ยังเห็นใจที่หิวอารมณ์อยากจะออกไปเล่น ไปดู ส่วนความเข้าใจเรื่องสังขารขันธ์ ตอนอาจารย์พูดถึงการเห็นเหมือนชื่อเราเปลี่ยนไปเรื่อย ตรงนั้นพอคิดตาม ก็เข้าใจตามหลักการ  แต่อาจจะยังไม่เข้าใจจากจิต และวันนี้ รู้สึกไม่ค่อยสบาย ตัวร้อน และเย็นๆ ที่ปลายจมูกค่ะ

ดังตฤณ : คือเวลาที่เราเข้าใจมาจากจิตนี่นะ ก็คือการที่เราเห็นอะไรขึ้นมาชัดๆ มีวิตักกะ และวิจาระกับการเห็นนั้นๆ

 

นี่คือประโยชน์นะ ว่าเราทำความเข้าใจกับศัพท์ คำว่า วิตักกะ และวิจาระ

 

วิตักกะ คือนึกถึง วิจาระ คือมีจิตแนบเข้าไปเป็นหนึ่งเดียว ไม่เห็นอย่างอื่น

 

ทีนี้ ถ้าเรายังฟุ้งๆ อยู่ หรือว่ามีความเข้าใจในแบบที่เรียกว่า สุตมยปัญญา คือการรับฟังมา หรือ จินตามยปัญญา คือมีการคิดเอา ไม่ได้มีอารมณ์ ไม่ได้มีจิตที่แนบไปกับสิ่งนั้น

 

อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ ภาวนามยปัญญา ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นปัญญาแบบภาวนานะครับ

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเคยมีสมาธิ ถ้าเรามีความเข้าใจว่า ลมหายใจ เข้าไปสู่ร่างกาย แล้วก็ออกมาจากร่างกาย แล้วเห็นแยกว่า กายก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจก็ส่วนหนึ่ง ความคิดก็ส่วนหนึ่ง แค่นี้ เอาเป็นตัวตั้ง เวลาที่จะทำความเข้าใจเรื่องสังขารขันธ์ จะรู้สึกว่า พอมีสมาธิ เห็นแยกออกมา อีกนิดเดียว เห็นของจริงแล้ว

 

แต่ถ้าเราไม่มีสมาธินี่ จะไม่ใช่อีกนิดเดียวนะ อีกหลายชาติเลย กว่าที่จะเข้าใจธรรมะ เรื่องเกี่ยวกับขันธ์ 5 ได้

 

เรามาถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ยากหรอก ที่อธิบายมา เห็นมาว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา เราติดอะไรบ้าง นี่ก็คือส่วนหนึ่งนะครับ ที่จะเป็นข้อมูลจริง ให้เราเห็นว่า พัฒนาการของเรา มีอะไรบ้างเป็นอุปสรรค มีอะไรบ้างเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุน

 

อย่างของคุณ ที่เล่าให้ฟังมานี่ ก็เป็นสัปดาห์ที่ผ่านมาเหมือนกัน แล้วก็มีความเห็นอะไรบ้าง บางทีก็กระสับกระส่าย อย่างอาจไม่ได้ลงรายละเอียดว่ากระสับกระส่ายจากอะไรได้บ้าง

 

ถ้าอยากมีปีติ อยากได้ความสงบ เห็นความกระสับกระส่าย นี่ก็ลงรายละเอียดนะ แต่อาจไม่ได้ลงรายละเอียดว่าระหว่างวัน มีอะไรเป็นอุปสรรครบกวนจิตใจบ้าง

 

แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าสืบลงไป แต่ละคนมีอุปสรรคแบบบ้านๆ ชาวบ้าน ฆราวาส หรือต่อให้เป็นพระเป็นชี คือจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหารบกวนจิตใจ

 

จะมีปัญหาที่เราถูกรบกวนด้วยสิ่งต่างๆ หรือว่าสิ่งที่มาล่อให้หลงติดใจกันทั้งนั้น

 

ประเด็นคือ ถ้าเราฝึกอานาปานสติ อย่างมีความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอานาปานสตินี้ มาอยู่กับเราในชีวิตประจำวันได้ เราฝึกเดินจงกรม แล้วต่อยอดจากอานาปานสติ มาจนกระทั่งสามารถเห็นสังขารขันธ์ที่ก่อตัวขึ้นในหัว ในใจ แบบนี้

 

ในที่สุด ก็จะไปถึงจุดหนึ่ง ที่การปฏิบัติของเรา จริงไปหมด ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ หรือว่าจะอยู่ในชีวิตประจำวันก็ตามนะครับ แต่ละคนก็มีอุปสรรคต่างๆ นานา

 

- หลังจากฝึกสมาธิมาระยะหนึ่ง รู้สึกตัวเองสามารถควบคุมตัวเองในระหว่างวันได้ดีขึ้น รู้คิด รู้อ่าน รู้กระทำ เห็นชัดเจนและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ดังตฤณ : เป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ พอจิตมีคุณภาพมากขึ้น มีความเป็นกุศลมากขึ้น ก็จะไปเบียดบัง อะไรที่เป็นอกุศลออกไปจากชีวิตของเราเองนะครับ

 

- วันนี้นั่งแล้วมันนิ่งสงบ จนรู้สึกหัวใจเต้นตุบๆ กลางหน้าอกชัดเจนมากตลอดเวลา เลยดูไปเรื่อยๆค่ะ

ดังตฤณ : ดีครับ อะไรที่กำลังปรากฏชัด อันนั้นแหละที่น่าดูที่สุด เพราะว่า สิ่งใดปรากฏชัด สิ่งนั้น ก็หายไปได้ชัดเหมือนกัน

 

- ท่า ๒.๒ ทำให้ลมหายใจยาว ตรงลึก (ดีมากค่ะ)ต่างจากท่า ๒.๑

ท่า ๒.๑ กว้างขวาง แผ่ออกสบาย (สรุปคือ ดีมาก ทั้งสองท่า ถ้าเข้าใจว่าจะทำอย่างไรค่ะ)

ท่า ๒.๑ ถ้าตอนแรก ไม่เข้าใจ ทำไม่ได้สักที ลองยืน วาดแขน จะเข้าใจง่ายขึ้น ให้ลองยืน relax ก่อนทำค่ะ

ดังตฤณ : ก็เป็นข้อแนะนำจากกัลยาณมิตร ที่ร่วมทำมาพร้อมๆ กับพวกเรานะครับ ก็อนุโมทนาครับ

 

- เห็นกายหายใจชัดขึ้นลมหายใจอยู่คนละส่วนกับกาย จะเห็นความคิดผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ แล้วดับไป รู้สึกกายมีพลังกระแสวิ่งซ่านเป็นช่วงๆ

ดังตฤณ : ตัวพลังนั้น คือความปรุงแต่งฝ่ายรูป เป็นรูปขันธ์นะครับ แล้วถ้าเราสามารถรู้สึกได้ว่านี่เป็นรูปขันธ์ เป็นฝ่ายรูปขันธ์ชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วหายไป ก็ไม่แตกต่างจากสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นฝ่ายของจิตนะ

 

- วันนี้นับว่าได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งครับ อาจจะเป็นการเตรียมเหตุปัจจัย ด้วยการนั่งสมาธิเตรียมจิตมาแล้ว เมื่อเข้าสมาธิตอนเรียนสามารถจับลมหายใจได้เร็วขึ้น รู้สึกเบาสบายมากขึ้นครับ

ดังตฤณ : อนุโมทนา ถ้าเราทำอยู่เรื่อยๆ ทำอยู่ตลอด ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่มาทำด้วยกันช่วงสามทุ่มนี่นะ ในที่สุดแล้ว เราจะพบความจริงอยู่อย่างว่า อะไรก็ตามที่เราทำมาก อะไรก็ตามที่เรามีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญมาก อันนั้น ที่จะเป็นของจริง

 

ถ้ามาทำแค่แป๊บๆ บางคนมีนะ มาแค่วันเสาร์วันเดียว แล้วก็มาทำโพลบอกว่า ยังไม่ได้ .. มีนะ คือแบบนี้ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกันนะ คือต้องมีความเข้าใจพื้นฐานนะครับว่า เราทำอะไรบ่อย เราจะได้สิ่งนั้นจริง

 

แต่ถ้าเราทำอะไรแป๊บๆ เราจะไม่ได้สิ่งนั้นมานะครับ จะเป็นแค่ของผ่านมาผ่านไป แวบๆ นะ

 

- นั่งสมาธิแล้ว ไม่ได้ง่วง แต่ร่างกายหาวหนักมาก ต่อเนื่องตลอดเวลา น้ำตาไหลพรากๆตลอดค่ะ เป็นแบบนี้จนออกจากสมาธิ

ดังตฤณ : เวลาหาวบ่อยๆ ก็มองไปก็ได้ว่า เป็นรูปขันธ์ เรามองแบบเจาะจงลงไปเลย ว่า รูปขันธ์แสดงอะไรให้ดู .. แสดงท่าหาวให้ดู

 

แล้วถ้ามีสติ เริ่มมีสมาธิ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ตัวสติของเราดีขึ้น หรือว่าเรามีความสามารถที่จะรู้ลมหายใจได้ชัดขึ้น ก็เห็นว่านี่เป็นความปรุงแต่งแบบที่เรียก สังขารขันธ์ แยกเป็นต่างหากจากอาการหาว

 

คือดูแยกเป็นอะไรที่กำลังปรากฏเด่น เราดูอันนั้น อาการหาวปรากฏ เราก็รู้ นี่รูปขันธ์ หรือพอเริ่มมีสมาธิ จับลมหายใจได้ชัด .. ก็รู้ สังขารขันธ์

 

พอดูไปแบบนี้ ตอนแรกๆ จะเหมือนกับยังต้องพากย์ แต่พอเกิดความชำนาญแล้ว สติของเรา จะอยู่กับที่ๆ หนึ่ง ที่ๆ มีอิริยาบถปัจจุบันปรากฏอยู่

 

ปรากฏอยู่ในท่านั่ง จะนั่งหาว หรือนั่งนิ่งก็ตาม เสร็จแล้วมีอาการปรุงแต่งภายในอิริยาบถนี้อย่างไร เราก็จะเห็นว่า การปรุงแต่งทางจิตเหล่านั้น อาศัยอยู่ในกายนี้แหละ

 

พอเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาการหาว จะถูกมองได้ชัดขึ้นว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัย

 

มีเหตุมีปัจจัยทางรูป แล้วก็สติ กับสมาธิ เป็นสิ่งที่อยู่ข้างในนี้ ยังไม่ได้หายไปไหน

 

การที่เรามองเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ได้ ก็จะไม่เกิดความรู้สึกพะวงว่า จะต้องให้กายใจมีความนิ่งอย่างเดียว ห้ามหาว หรือว่าจะไม่ไปเกิดความพะวงว่า หาวบ่อยจัง เกิดอะไรขึ้นกับฉันนะ

 

จะมีความรู้สึกว่า เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องฝ่ายรูป อยากเป็นอะไรก็ช่าง มันไม่ใช่เรา

 

ตัวรูปขันธ์นี่ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา

 

ส่วนการปรุงแต่งทางจิต จะมีความปรุงแต่งมาอย่างไรก็ตาม เราก็จะมองด้วยว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในรูปขันธ์ นี้เป็นสิ่งที่อยู่ในอิริยาบถนี้ปัจจุบันนี้ ไม่ได้แตกต่างกัน มันปรากฏเป็นอย่างๆ เพื่อให้เห็นว่า ทุกอย่าง ต้องหายไปทั้งหมด ทุกอย่าง ต้องแปรปรวน คลี่คลาย กลายเป็นอื่นไปทั้งหมด

 

อย่างเช่นอาการหาวนี้ ตอนแรกอาการทางใจบอกไม่ง่วง แต่หาวไปหาวมา บางทีก็ง่วงตาม

 

หรือบางทีกลับกลายเป็นรู้สึกว่า ตื่นมากกว่าปกติ เอาแน่เอานอนไม่ได้สักอย่าง พอเห็นความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของฝ่ายรูป และฝ่ายนามไปเรื่อยๆ ในที่สุด จะเกิดปัญญา หรืออาจเกิดพลังขึ้นมาบางอย่าง ที่ทำให้อาการหาวนั้น ระงับลงไปได้

 

เราก็จะเห็นว่ามีเหตุมีปัจจัย แล้วก็มีความผูกโยง มีความต่อเนื่องกันนะ

 

- เกิดอาการเย็นมาก

ดังตฤณ : ไม่ได้บอกนะว่าเย็นจากอะไร เข้าใจว่าโดยรวมทั้งหมดนะครับ หลังจากนั่งสมาธิแล้ว แล้วก็พิจารณาสังขารขันธ์แล้ว

 

- เพิ่งประจักษ์แท้ในวันนี้จริงๆ ครับว่า ทำไมถึงต้อง ศีล สมาธิ และปัญญา

ดังตฤณ : จริงๆ แล้ว ถ้าเราทำสมาธิ จนเกิดสมาธิขึ้นมานี่นะ ปัญญาแบบพุทธ พร้อมจะได้ที่เกิด ได้ที่แจ้งอยู่ตลอดนั่นแหละ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันหมด

 

การใช้ชีวิตที่ผ่านมา โครงสร้างของจิต โครงสร้างของความรู้สึกนึกคิด โครงสร้างของการใช้จิตเล็งเป้าหมายอะไรอย่างไร มีผลกับสมาธิหมด และที่เป็นพื้นฐาน เป็นบาทฐาน ก็คือการใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ หรือ ออกนอกกรอบของศีล

 

ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่อยู่ในกรอบของศีลมาตลอด บางทีก็รู้สึก เอ๊ะ สมาธิ ก็ไม่ยากนี่ เป็นอะไรง่ายๆ

 

แต่จริงๆ แล้ว ไม่ง่าย ต้องมีชีวิตที่อยู่ในกรอบของศีลมาก่อน

 

ในขณะที่บางคนบอกว่า พยายามแสวงหาครูบาอาจารย์มาตั้งเยอะ พยายามมาทุกอุบาย ทุกวิธีการ แต่จิตก็ยังยุ่งเหยิง ไปเล็งเอาเฉพาะเรื่องของอุบายสมาธิ แต่ไม่เข้าใจ ความเชื่อมโยง ความเกี่ยวข้อง ว่าจิตใจที่ยังมีมลทิน มีความสกปรกของบาป ว่ามีเรื่องการแหกคอกออกไปจากรั้วของศีล มีผลเกี่ยวข้องกับจิตใจอย่างไร ที่พื้นฐานนะครับ

 

คุณภาพของจิต จะหยาบลงอย่างไร เลวลงอย่างไร จะไม่สนใจ สนใจแค่ว่า อุบายไหนที่ทำให้ตัวเองได้สมาธิ ก็จะกระโจนเข้าไป เสร็จแล้วก็พบความล้มเหลวหมดนะ

 

บางทีเจออุบายใหม่ รู้สึกว่า อันนี้เวิร์ค อันนี้ได้ผล ก็นึกว่าตัวเองเข้ากับวิธีนี้ อุบายนี้ แต่ที่ไหนได้ พอทำไปเรื่อยๆ กลับเข้าสู่ความยุ่งเหยิง กลับเข้าสู่ความรู้สึกวกวน มีแต่อะไรอลหม่านอยู่ในหัว นั่นก็เพราะศีลไม่ได้สะอาด

 

ตัวนี้แหละ ที่ว่าทำไมเราถึงต้องมาเน้นกันเป็นขั้นๆ เน้นกันเป็นข้อๆ ว่าเส้นทางสู่การพ้นทุกข์ ทำไมต้องเริ่มมาจากทาน ทำไมต้องต่อยอดด้วยศีล ทำไมต้องมาทำสมาธิ

 

เพราะมีเหตุผล ช่วงเริ่มต้นที่จุดออกตัวนี่ เราจะมองไม่เห็นเลยว่า มันสัมพันธ์กันอย่างไร ตราบจนกระทั่งเรามาทำสมาธิเป็น ตัวที่ก่อให้เกิดสมาธิได้นี่แหละ มองย้อนกลับไป มองเข้ามาข้างในที่จิต จะเห็นความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กันหมดเลย ระหว่าง ทาน ศีล ภาวนา นะครับ

 

- ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รู้สึกร่างกายเป็นโครงกระดูกเนืองๆ ในชีวิตประจำวัน การทำสมาธิคืนนี้ ช่วงแรกรู้สึกลมหายใจ แยกออกจากโครงกระดูก เกิดแสงสว่างที่ใบหน้าแผ่กว้าง ช่วงท้ายไม่รู้สึกถึงลมหายใจแต่รู้สึกแค่ซี่โครงขยายหุบ รู้สึกเกิดดับเท่าๆ กันทั้งภายในร่าง ภายนอกร่างชัดเจน เบาสบายเกิดปีติ สุข ....ขอบคุณมากครับ

ดังตฤณ : นี่คือเห็นรูปนามแล้ว เห็นกายใจเป็นรูปนามนะ

 

ทีนี้ ทำอย่างไร ที่จะเห็นได้เรื่อยๆ ตรงนี้ ตั้งโจทย์ไว้ด้วยนะ คือถ้าหากว่าเรารู้ลมหายใจเป็นแล้ว จะมีคำตอบที่ง่าย แล้วก็ชัดเจน

 

ทำไปเรื่อยๆ ระหว่างวัน อย่าให้หลุด จับปลาได้แล้วอย่าปล่อยให้หลุดไปได้นะครับ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงรวมฟีดแบค หลังทำสมาธิร่วมกันท่าที่ ๒

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=5Vg8BoMW9TI&t=17s