วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ทางนฤพาน บทที่ ๒๖ ธรรมาภิสมัย




 อ่านบทความที่แล้ว
บทที่ ๒๖  ธรรมาภิสมัย


    เช้าตรู่อันโรยรอบด้วยอากาศบริสุทธิ์เย็นสบายของวันหนึ่ง มติรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาด้วยสัญญาณแห่งใจรู้ของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ประสาททุกส่วนทำงานเต็มสภาพ ตอบสนองความรู้พร้อมทั่วถึงของสภาวจิตอันสว่างไสวนิ่งแน่นทรงกำลังใหญ่

    ดึงหลังขึ้นตั้งตรงทรงแน่วโดยอัตโนมัติ สัณฐานกายตลอดสรรพางค์ปรากฏเป็นหลักยึดสติอันไพบูลย์ หน้าท้องขยายออกดึงลมเห็นเป็นลำยาวแช่มชัด บังเกิดความแช่มชื่นยิ่งใหญ่กับสายลมหายใจที่พาลมบริสุทธิ์เข้าสู่กาย

    ดวงจิตขึงนิ่งเงียบเชียบและสว่างรู้กว้างขวาง ประสาทหูรับเสียงขันคูวังเวงใจของนกเขาข้างบ้าน จักจั่นเรไรสีปีกแซดซ่าตามสุมทุมพุ่มไม้เป็นครั้งคราว สดับแล้วสงบเย็นดุจนั่งอยู่ใกล้ราวป่าอันวิเวก ห่างไกลจากความวุ่นวายของผู้คนมาลิบลับ

    ความสันโดษและมักน้อยของมติช่วยให้จิตใจไม่ซัดส่ายแสวงหาสิ่งอื่นนอกจากสายลมหายใจและความสงบสงัดเฉพาะหน้า ปีติสุขล้ำลึกอยู่ในวิหารอุปจารสมาธิอันเป็นเสมือนรางวัลขั้นกลางแก่ผู้ดำรงสติ ปลีกตัวออกจากกามอันหยาบ พึงใจเสพแต่อารมณ์อันประณีตเช่นนี้

    มติประคองจิตให้นิ่งไว้เหมือนผู้รักษาความเรียบของแผ่นน้ำด้วยการป้องลมมิให้กล้ำกรายเข้าก่อคลื่น สุดยอดแห่งรสอิสระชนิดนั้นน่าใคร่ น่าเข้าถึงจนแม้นางนวลที่แผ่ปีกนิ่งอยู่ ณ อากาศสูงเหนือทะเลกว้างยังอาจอิจฉา

    เป็นเช้าวันที่เจ็ดติดต่อกันที่มติตื่นขึ้นรับอรุณด้วยอุปจารสมาธิอันเบิกบาน ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้ เขาไม่คะนึงคิดเข้าหาสิ่งอื่นใดเลยนอกเหนือไปจากการปฏิบัติภาวนาที่ให้รสอิ่มเอม ปราศจากข้อขัดแย้ง ไม่ต้องอาศัยใครอื่นช่วยให้เกิดความสมหวัง มีตัวของตัวเองเท่านั้นเป็นผู้ก่อ ผู้สาน และผู้เข้าถึง

    รสปีติในวิเวกจืดตัวเมื่อกระแสดึงดูดของจิตคลายลง นั่นเป็นความหมายว่าพลังพิเศษที่ตรึงจิตไว้เสื่อมสภาพตามธรรมดาของสิ่งปรุงแต่ง มติตัดความอาลัยไยดีทิ้ง ประคองไว้เฉพาะความเห็นสัณฐานกายตลอดรอบ พิจารณาเห็นความดับไปแล้ว ผ่านไปแล้วของพลังรู้สว่างไสว แล้วค่อยลืมตาขึ้นอย่างเต็มสติ มีความนิ่งมั่นหนักแน่นเป็นลักษณะ มีความบางเบาปลอดโปร่งโล่งอกเป็นรส

    สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่คือสภาพจิตอันทรงสติรู้ในขั้นขณิกสมาธิ เห็นกายออกมาจากภายในเหมือนกับที่เคยเห็น มีลำตัวตั้งตรง มีแขนขาแยกออกเป็นสี่ระยาง มีหัวตั้งอยู่ส่วนบนสุดเป็นประธาน สิ่งที่แตกต่างคือความคมชัดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพราะกระแสรู้รวมนิ่งที่จุดเดียวตรงกลางๆแห่งสำนึก ไม่ซัดส่ายเรรวนตามระลอกคลื่นความคิดฟุ้งซ่านเหมือนอย่างสภาพจิตปกติ

    ความรู้ในขณะแห่งขณิกสมาธิยังคงเป็นความรู้ที่ชัดกริบ ต่างจากอุปจารสมาธิคือไม่มีปีติสุขล้นหลาม และไม่มีความนิ่งรวมเป็นศูนย์ใหญ่เท่า คนทั่วไปที่ทำงานหนัก เพ่งจดจ่อกับงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆจนกระแสจิตรวมนิ่ง ต่างได้ประจักษ์ภาวะชนิดนี้กันมาแล้วทั้งนั้น เสียแต่ว่าความคิดหยาบยังล่องลอยวกวนปราศจากทิศทาง ต่างจากผู้บำเพ็ญภาวนาที่ตั้งใจกำหนดจับรู้แม้ความคิดที่ผุดแผ่วขึ้นในหัว

    เมื่อจิตอยู่ในสภาพพร้อมรู้ชัด ทุกอย่างที่ถูกจับล้วนกลายเป็นนิมิตได้หมด ดูออกว่าเป็นอื่นจากจิตไปหมด

    นิมิตคือเครื่องหมายของสิ่งต่างๆที่เห็นชัดได้ด้วยจิต จะเป็นเค้าเงารูปทรงหรือกลุ่มก้อนแบบใดๆก็ตาม อย่างเช่นนิมิตแห่งรูปกายซึ่งใจแต่ละคนครองอยู่นั้น ปรากฏเป็นนิมิตที่แตกต่างกันตามสภาพจิต จิตใครมีสภาพรวมศูนย์เข้ารู้มากหน่อยก็ปรากฏเป็นหัว ตัว แขนขาครบถ้วนเหมือนขังน้ำนิ่งไว้เต็มตลอดตัว แต่ถ้าสภาพจิตใครไม่มีสภาพรวมศูนย์ ความคิดจรผุดขึ้นก่อกวนให้เกิดความซัดส่ายอยู่ตลอดเวลา เมื่อ ‘รู้ตัว’ ก็รู้ได้นิดเดียว อาจเป็นช่วงหัวถึงไหล่ หรืออาจเป็นช่วงหลัง ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และรู้ได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ต่อเนื่องยืดยาวอย่างขณะเป็นสมาธิ

    คนเดียวกันก็เห็นนิมิตกายตนเองแตกต่างกันได้เพราะสภาพจิตนี่เอง ที่ตรงนั้นมติกำหนดว่ากายเหมือนเดิม แต่ ‘สัญญา’ ต่างไป

    ในสภาพจิตอันรวมศูนย์ ตั้งมั่นรู้อย่างเป็นกลาง แม้ความคิดผุดขึ้นในกะโหลกก็ถูกจับได้ไล่ทัน ปรากฏเป็น ‘ธรรม’ อย่างหนึ่งกระทบใจ เมื่อกระทบก็เกิดความไหวรู้ จำได้ว่า ‘คิด’ ถึงบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์อันใด ความจำได้หมายรู้ว่าคิดถึงอะไรนั้นก็คือ ‘สัญญา’ อีกแบบหนึ่งนั่นเอง

    เมื่อนิ่งรู้ว่าความจำ หรือความหมายรู้ใดๆเกิดขึ้นแล้วหายไปเป็นธรรมดา จิตก็เลิก ‘ปรุงต่อ’ เป็นชอบ เป็นชัง เป็นรัก เป็นเกลียด คงไว้แต่ลักษณะของจิตอันเป็นอิสระจากความปรุงแต่งคิดเห็นอย่างไรๆต่อนามธรรมละเอียดที่ผุดขึ้นกระทบจิต

    อย่างนี้เอง เป็นไปตามทำนองอุบายของพระพุทธองค์ ที่ทรงให้ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือเปรียบสัญญาเป็นพยับแดด เมื่อผุดความหมายรู้ขึ้น ก็กำหนดทราบว่ามีจริง แต่เมื่อความหมายรู้นั้นดับไป ก็กำหนดทราบว่าหายจริง สักแต่รู้ว่าเกิดแล้วดับโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกระบวนการ ‘คิดต่อ’

    พอตามรู้สัญญา เห็นเป็นอื่น เป็นของแปลกปลอม เป็นคนละตัวคนละอันไปเรื่อยๆ ก็เหลือแต่ธรรมชาติคือจำได้แล้วลืมเลือน เห็นความจำปรากฏในฐานะอะไรที่เกิดแล้วดับอย่างไร้แก่นสาร

    ณ จุดนั้น อุปาทานในอัตตาเคลื่อนย้ายจากกระแสความคิดมาอยู่ที่กระแสความรู้ ที่เฝ้ารู้ความเกิดดับอยู่ ด้วยจิตที่ชำนาญทาง จึงสามารถสังเกตความยึดติดใหม่อันละเอียดอ่อนสุขุมยิ่ง และเมื่อยังมีอุปาทานในตัวตนแฝงอยู่ในที่ใดๆ แม้ละเอียดเล็กน้อยขนาดไหน ที่นั้นก็ยังไม่มีการผละ ยังไม่มีการละวางที่เด็ดขาด

    แต่ก็ใกล้เข้าไปแล้ว

    เมื่อคลายจากลักษณะรู้ละเอียดที่แยกนามออกจากนามได้ มติก็กลับมายึดกายไว้เป็นฐานรู้อย่างเหนียวแน่น ความคิดจรเข้ามาก็รู้ว่าเกิดขึ้นในกายนี่เอง ไม่ปล่อยให้คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ความรู้สึกยามนั้นเหมือนเข้ามาอาศัยอยู่ในรูปหุ่นกระบอกที่ว่างเปล่าจากตัวตน จืดชืดไร้รสชาติ แม้ความสว่างรู้ก็ถูกเห็นเป็นธรรมชาติอันว่างเช่นกัน

    ขณะแห่งความอุดมสติ เกิดความคมชัดทุกสัมผัส ภาพที่เห็นคมชัดเต็มคลองตา ครอบคลุมรูปทรงสีสันใกล้ไกลกว้างขวาง เสียงที่ได้ยินกระทบแก้วหูชัดเปรียะทุกอณูคลื่นจากทุกทิศทุกทาง แทบบอกมิติล้ำเหลื่อมของตำแหน่งกำเนิดต่างๆได้ครบ

    เมื่อทุกผัสสะทั้งนอกกายและในกายถูกจับรู้ละเอียดพรั่งพร้อมตามจริงเช่นนั้น มโนภาพแห่งตัวตนก็สาบสูญไป เหลือไว้แต่การเห็นเต็มสองตา การได้ยินเต็มสองหู การแตะต้องเต็มกาย กับการผุดความคิดเป็นระลอกในโพรงว่างของกะโหลกชัดใจ มีตัวผู้รู้สถิตดูอย่างเต็มตื่นในท่ามกลางความเคลื่อนไหวไหลเลื่อนเหล่านั้น สนิทนิ่งอยู่เพียงเดียว

    กำหนดรู้ละเอียดลงไปในสิ่งแวดล้อมยามย่ำรุ่ง ภาพห้องนอนของเขาก่อให้เกิดความรู้สึก 'เคยคุ้น' ขึ้นในใจ เสียงวิหคนกกานอกห้องก่อให้เกิดความรู้สึก 'วิเวกลึกซึ้ง' ฟูกนอนนิ่มพอดีที่รองรับกายนั่งก่อให้เกิดความรู้สึก 'อ่อนหยุ่นสบายตัว' ทุกผัสสะรวมกันก่อให้เกิดความ ‘รู้สึก’ ถึงความเป็นนายมติในร่างของเด็กหนุ่มอายุสิบเก้าอย่างชัดเจน ไม่คลาดเคลื่อนเป็นอื่น

    รู้อาการปวดปัสสาวะที่ช่วงท้องน้อย อันเกิดขึ้นเป็นปกติในยามเช้า เป็นผัสสะแปลกปลอมอันส่งความแรงเพิ่มขึ้นจากแต่แรกที่แผ่วอ่อน จิตตระหนักว่ามันมีความเข้มข้นชนะพลังรู้ของตน ความเข้มข้นของผัสสะอันเป็นทุกข์นั้นเองเรียกกระแสอัตตาดั้งเดิมกลับมา และเห็นรูปกายที่มีใจครองนั้นเป็นเขา มนุษย์ชื่อมติ

    ความทุกข์ทางกายจากการปวดปัสสาวะบันดาลความกระสับกระส่ายทางใจ เร่งให้คิดเดินเข้าห้องน้ำเพื่อปลดปล่อยระบายออก วูบนั้นมติเห็นเป็นความน่าสังเวชยิ่งชนิดหนึ่งของอัตภาพมนุษย์

    เดินเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา สติเลือนๆไปตามกระแสปรุงแต่งอันเคยคุ้น แต่โยคาวจรหนุ่มก็ยังคงสำเหนียกได้ถึงแรงลากจูงจากภายใน โน้มนำให้กลับดิ่งสู่การพิจารณาธรรม แรงชนิดนี้เองแสดงความแน่วแน่ที่จะตัดตรงสู่มรรคผล เพราะปลงใจวางความกังวลภายนอกแล้ว มุ่งหวังความสงบ ความบรรลุแจ้งภายในแน่วแน่แล้ว

    ลักษณะหนึ่งของผู้เข้าทางตรง ดูได้จากพฤติกรรมภายใน นั่นคือสติจะถูกดึงกลับเข้าที่อยู่ตลอดเวลา หายไปได้ก็กลับมาใหม่ได้ ใฝ่ใจอยู่แต่การทำความรู้ ทำการพิจารณาธรรมให้เกิดขึ้นไม่เลิกรา หากปราศจากพฤติกรรมภายในดังกล่าวนี้แล้ว ก็จัดว่ายังไม่เข้าทางตรงแท้ ถึงแม้เคยอ่าน เคยฟัง เคยพูด หรือกระทั่งหยั่งรู้มาเท่าไหร่ๆก็ให้ถือเป็นแค่ ‘มีเชื้อ’ ของผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ พ้นภัยสังสารวัฏร้ายเท่านั้น

    ชีวิตประจำวันทั้งหมดของมติถูกรวมเข้ามากลั่นเป็นธรรมให้พิจารณา แม้ขณะนั่งทานข้าวเช้าคนเดียวเดี๋ยวนี้ ก็พยายามตามรู้อาหารและน้ำที่เข้าปากแต่ละครั้ง พบว่าสติของตนขาดหายไปกับรสอาหารเสมอ แม้เอาจิตไปเกาะกับทางเข้าคือปาก และปลายทางคือช่วงท้องที่หน่วงหนักขึ้นเรื่อยๆ วางความติดใจรสอาหารได้ชั่วครู่ ก็ไม่คงเส้นคงวาเหมือนอย่างพระที่ท่านฉันสำรวมในบาตร

    เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าจิตรู้ยังไม่แก่กล้า เอาชนะผัสสะไม่ได้

    พอเห็นตัวเองไม่เอาไหน ก็รู้สึกว่ายังห่างจากนิพพาน ท้อใจขึ้นมา

    นี่เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อตัวรู้ไม่รวมศูนย์ ตามรู้กว้างขวางไม่ได้ ก็ถูกความคิดซัดส่ายฟุ้งซ่านเอาไปกิน ยิ่งพอตรึกนึกหวังเห็นธรรม เห็นอารมณ์ให้ชัดทั้งที่ยังไม่พร้อม กำลังจิตยังไม่เหลือเฟือ ก็เกิดความท้อแท้กระหน่ำซ้ำ มติคิดขึ้นมาวูบหนึ่งว่านี่เขาจะต้องทนปฏิบัติ ทนรักษาความรู้ตัวอีกนานแค่ไหนจึงจะได้ถึงฝั่งวิมุตติ

    เห็นชัดว่าความห่างจากนิพพานไม่ใช่วัดเป็นระยะกิโลเมตร แต่วัดด้วยน้ำหนักสติ

    อรรถก็รู้แล้ว ธรรมก็รู้แล้ว ปฏิบัติก็ตรงทางแล้ว บางครั้งเห็นเหมือนใกล้ฝั่งแค่เอื้อม แต่พอจิตหลงเลื่อนล่องลอยไม่รวมศูนย์เท่านั้น ความรู้ทุกอย่างก็เหมือนมลายหายหน กำลังใจหดเหี่ยว กระทั่งยังให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนา นี่ถ้าหากเขาเกิดทันพระพุทธองค์ คงทรงพระกรุณาใช้ญาณรู้นิสัยเวไนยสัตว์ โปรดเขาด้วยเทศนาธรรมอันลัดสั้นเหมาะกับจริต เพื่อให้จิตตัดตรงเข้าสู่ความเป็นมรรคเป็นผล ไม่ต้องทนลำบากปฏิบัติยากนานอย่างนี้

    พยายามจับพินิจมาที่ตัวความท้อที่ป่วยการเปล่า และเป็นธรรมดาเมื่อพินิจรู้สิ่งใดก็เห็นอนิจจังของสิ่งนั้น เหมือนมองเมฆเฉยๆสักพักก็ย่อมเห็นเมฆเคลื่อนหรือเปลี่ยนรูปไป มติเห็นตัวความท้อสลายหายหนไป ณ ตำแหน่งที่มันเกิดขึ้นห่อหุ้มใจนั่นเอง

    เสมือนได้ทำแบบฝึกหัด คราวหน้าถ้าท้ออีกก็จะพิจารณาความท้ออย่างนี้อีก ไม่ปล่อยให้ใจไหลไปตามกระแสความท้อเนิ่นนานจนกู่ไม่กลับ ตัวอยากได้อยากดีในระหว่างการปฏิบัตินี้เอง ที่แท้เป็นด่านขวางการปฏิบัติมิให้ก้าวหน้า แทนที่จะเขยิบใกล้นิพพานเข้าไปกลับยิ่งดึงตัวเองห่างออกมาแทน

    ความจริงเขาปฏิบัติมาจนรู้วาระ รู้รอบของการจรไปจรมาของสติเห็นธรรม ทราบดีแก่ใจว่าต้องอัดพลังรู้ใหม่เป็นระยะๆด้วยการเข้าสมาธิ จะหวังให้เกิดความทรงรู้คงที่อย่างพระอรหันต์ท่านนั้น มิใช่วิสัย

    ความสงบใจอยู่ในดุลพร้อมรู้เป็นสิ่งสำคัญ และปัจจัยที่ตกแต่ง ปัจจัยที่ตั้งให้จิตทรงนิ่ง บรรเทาความคิดให้อ่อนสงบลงก็มีอยู่หลายอย่าง ไม่ใช่แค่อารมณ์สมาธิอย่างเดียว ความสงบอาจเกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือธรรมะที่มีข้อความกล่อมเกลาให้เยือกเย็น อาจเกิดขึ้นจากการหลีกเลี่ยงไม่เอาตาไปดู ไม่เอาหูไปฟังเครื่องกวนกิเลส รวมทั้งอาจเกิดขึ้นจากการประมาณในอาหาร ไม่บริโภคเปรี้ยวหวานมันเค็มล่อลิ้น และไม่ยัดทะนานจนอิ่มแปร้แพ้น้ำหนักอาหารในท้อง

    มติตัดใจทานของคาวน้อยกว่าที่เคย อีกทั้งงดของหวาน ดื่มน้ำเปล่ามากหน่อยเพื่อหลอกกิเลสว่าหนักท้องแล้ว เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว

    กลับมาที่ห้อง พิจารณาว่ากำลังอิ่ม กิจที่สมควรทำคือเดินช่วยย่อยอาหาร และการเดินย่อยอาหารที่พระอริยบุคคลย่ำเท้านำไว้ ก็ไม่ใช่สักแต่ก้าวเรื่อยเฉื่อย ปล่อยใจทอดหุ่ยให้เวลาล่วงสูญไปโดยเปล่า แต่ละก้าว แต่ละจังหวะต้องมีสติกำกับ เพื่อเลื่อนความรู้จากหยาบไปสู่ละเอียด

    มติกำหนดเส้นทางเดินอันแคบจำกัด เมื่อก้าวแบบสั้นก็วัดเป็นเส้นตรงได้ประมาณสิบก้าว เอามือไพล่หลัง ยืนตรงปล่อยน้ำหนักตัวทั้งหมดลงมาที่ฝ่าเท้าทั้งสองอย่างได้ดุล เพื่อให้ผัสสะอันแนบสนิทระหว่างฝ่าเท้ากับพื้นเรียบปรากฏต่อความรับรู้แจ่มชัด

    กำหนดใจไว้เหมือนจะหย่อนอารมณ์ด้วยการเดินเล่นสบายๆ ต่างกับเดินเล่นนิดเดียวที่ใจจ่อรู้อยู่แต่ฝ่าเท้าที่เตะไปข้างหน้าแล้วค่อยวางเหยียบลงสนิทกับพื้นอย่างนุ่มนวล เท้าที่ไม่เกร็งนั้นเองพาให้ใจนุ่มนวลและรับผัสสะได้ไว โยคาวจรหนุ่มเริ่มย่างเท้าไม่ช้าไม่เร็วเหมือนเดินทอดน่องหลังทานข้าวธรรมดา จังหวะที่สม่ำเสมอคงที่นั้นเองพาให้ใจจับจังหวะถูกและมีความคงเส้นคงวาไปด้วย

    จากต้นทางถึงปลายทาง มติลงก้าวสุดท้ายด้วยเท้าขวา แล้วลากเท้าซ้ายตามมาประกบเสมอกันเพื่อตั้งหลักรู้เต็มฝ่าเท้าอีกครั้ง แล้วหมุนตัวแบบขวาหัน รู้เฉพาะเท้าที่พาหมุน พักเท้าเสมอกัน ก่อนจะหมุนแบบขวาหันอีกครั้ง เป็นอันกลับหลังสมบูรณ์โดยประคองความรู้เท้าไม่คลาดเช่นเดิม จากนั้นหยุดตั้งหลักรู้ที่สองเท้าใหม่ ก่อนกำหนดใจสบาย เริ่มออกเดินโดยไม่ลืมความชัดที่ฝ่าเท้าอันเดิม ต่อเนื่องจากผัสสะระหว่างหยุดตั้งหลัก

    ตั้งคอ มองตรงไปข้างหน้า ไม่ก้มลงดูเท้า เพราะทราบดีว่าถ้าเห็นเท้าแม้ด้วยหางตา ภาพเท้าจะแย่งอาการรู้จากใจไปบางส่วน อีกอย่างการก้มลงจะทำให้เมื่อยคอในระยะยาว

    การเดินจงกรมนั้น อุปสรรคที่เป็นมากคือถูกสายตาดึงความสนใจไปดูภาพข้างหน้าแทน การกำหนดทางเดินไว้เป็นเส้นตรงตายตัวจึงนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเมื่อไม่ต้องพะวงว่าจะเดินไปชนสิ่งกีดขวางหรือไม่ ใจก็ปักลงไปกำกับการย่างเหยียบซ้ายขวาได้อย่างเต็มที่

    กระทั่งสามรอบผ่านไป เมื่อจิตจ่ออยู่กับจังหวะเท้ากระทบต่อเนื่อง แต่ละครั้งที่เหยียบแนบพื้น จะปรากฏเป็นรูปรอยเท้าใสต่อใจอย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนถึงจิตเองที่กำลังใสเบา ก็รู้ตัวว่านั่นเป็นการได้ ‘สมถะ’ หรือธรรมอันเป็นเครื่องสงบระงับ ทำให้เครื่องขวางทางภาวนาคือความอยากในกาม ความพยาบาท ความหดหู่ง่วงงุน ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัยในการดำเนินจิต ต่างหายหนลับล่วงหมดสิ้น พร้อมที่จะต่อยอดให้จำเริญขึ้นเป็น 'วิปัสสนา' แล้ว

    มติพิจารณาว่าจิตที่นิ่งอย่างมีคุณภาพนั้นเองเปลี่ยนความรับรู้เกี่ยวกับเท้า รูปเท้าชัดขึ้น กับทั้งเห็นทั่วขึ้นมาทั้งขา ต่อมาก็รู้ตลอดพร้อมครอบคลุมถึงกะโหลกอันเป็นส่วนยอด เป็นการรู้เองโดยมิได้กำหนดถอนจากสติรู้เท้ากระทบอันเป็นหลักแต่อย่างใด และนั่นเองคือการเปลี่ยนของสัญญา เท้าเหมือนเดิม แต่ความรู้ตัวพัฒนาขึ้น สัญญาเกี่ยวกับเท้าก็แปรตาม นับเป็นการเห็นความไม่เที่ยงของสัญญาอย่างหนึ่ง

    เขาตามรู้เท้ากระทบไปตามปกติ แต่จิตก็พิจารณาในขณะรู้กระทบแต่ละครั้งนั้นเอง คือสักแต่เป็นความหมายรู้ว่าเท้า สติอย่างหนึ่ง เท้าก็ปรากฏอย่างหนึ่ง สติอีกอย่างหนึ่ง เท้าก็ปรากฏอีกอย่างหนึ่ง

    กระทั่งจิตล่วงเข้าสู่ความรู้ธรรมชาติแห่งสัญญาล้วนๆ เมื่อ ‘ธรรม’ อย่างหนึ่งผุดขึ้นกระทบใจ เหมือนพวยน้ำที่ผุดขึ้นกลางความว่างเปล่า แล้วเกิดการแปลความหมายขึ้นสู่สำนึกว่าเป็นมโนภาพสวยหวานของแพตรี กระแสสติขาดหาย กลายมารวมวูบเข้ากับมโนภาพนั้น ก่อกระแสรู้สึกพิศวาสระคนเจ็บยอกชอกช้ำ

    สติยังเฉียบคม จึงทราบชัดว่าอาการจำได้หมายรู้เกิดขึ้นก่อน อาการยอกในอกตามมาทีหลัง เรียกว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วไม่ถูกรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งเกิดแล้วดับเหมือนพยับแดด แต่สัญญาเกิดแล้วมี ‘สังขาร’ มาปรุงแต่งจิตเป็น ‘คิดต่อ’ แล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา

    ก่อนที่จิตจะจมตัวลงกับมโนภาพมากกว่าที่เป็น ความรู้สึกในกายที่เคลื่อนไหวก็ถูกดึงกลับคืนมา เห็นสัณฐานกะโหลก ลมหายใจเข้า อาการพะเยิบพะยาบของช่วงซี่โครง และการย่างเท้าก้าวเดิน จิตได้นิมิตใหญ่กลบเกลื่อนนิมิตพิศวาสด้วยเวลาอันรวดเร็ว เห็นภาพแพตรีเป็นเพียงระลอกคลื่นชนิดหนึ่ง ที่จิตกระเพื่อมตัวขึ้น และถูกจับรู้ออกมาจากภายในของจิตเอง

    ผุดความคิดอีกระลอกหนึ่ง เห็นเหมือนเกลียวน้ำวนพร่างพรายในโพรงกะโหลก เหมือนได้ยินเสียงคนอื่น เสียงคลื่นลมอันปราศจากหน้าตาพูดขึ้นในห้องว่าง

    ‘อยู่คนเดียวดีแล้ว’

    เมื่อเกิดคำพูดกับตนเองเช่นนั้น สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกยินดีปรีดากับความสันโดษแห่งตน สติก็รู้ต่ออย่างละเอียดว่าเกือบเผลอยึดมั่นไปกับความยินดีปรีดานั้น เกือบเสียความเป็นกลางในอาการรู้

    ตัวรู้กระจ่างไสวขึ้นทุกขณะ ส่องสว่างเอกาอยู่ตรงกลางการสัญจรเข้ามาแล้วจากไปของความคิดระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่เปิดช่องให้ความคิดใดเข้าคลุกเคล้ากับตัวรู้เลย รู้ในทันทีที่ความคิดเกิดขึ้นว่านั่นไม่ใช่ตน ความคิดเป็นเพียงอาการกระเพื่อมของจิตเท่านั้น เห็นกระทั่งแยกได้ว่าอาการใดคือสุขทุกข์ อาการใดคือสัญญาอย่างเดียว อาการใดคือผุดสัญญาแล้วมีการรับช่วงเป็นกระบวนการคิดอ่านปรุงแต่งต่อ

    จ่อจิตกับอารมณ์ใหญ่นานพอจะรวมดวง ก็เหมือนไฟอนัตตาลุกท่วมกายอันปรากฏเป็นเพียงธาตุแข็งทรงรูป ดูสว่างโพลนเต็มตัว ฉายชัดอยู่กับจิตที่ตั้งหลักรู้จากกลางอก เห็นกระดูกฉาบเนื้อที่สักแต่เคลื่อนไหวไป ส่วนใจก็ปรากฏเป็นเพียงแสงรู้กับรสอุเบกขาแห่งตนเอง จัดเป็นฌานอันเกิดแต่วิปัสสนา เรียกว่า ‘ลักขณูปนิชฌาน’

    อุปาทานในระดับละเอียดเกิดขึ้นอีก คือเห็นผู้รู้เป็นตัวตน เป็นผู้เฝ้าดูอยู่ตรงกลาง เพลินอยู่กับความเป็นเช่นนั้นเนิ่นนาน ไม่มีความพยายามแกะออก เพราะไม่มีตัวเท่าทันว่านั่นคือเยื่อใยอันละเอียดของอุปาทานในอัตตา

    กระทั่งเกิดความเหนื่อยล้าหลังจากเดินจงกรมได้นานนับชั่วโมง มติจึงคิดผ่อนพัก ลงเอนหลังกับที่นอนครู่หนึ่ง วางตัวราบจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อหย่อนจากหนักเป็นเบา คลายความเมื่อยลง จึงดึงตัวขึ้นนั่งก่อนท่าเอนพักจะสะกดให้เผลอผล็อยหลับลง

    ความง่วงคืบคลานเข้าห่อหุ้มจิตใจ กายเหมือนส่งสัญญาณเรียกร้องให้เอนกลับลงไปใหม่ คล้ายคนตะโกนว่าสักงีบน่า! สักงีบน่า! มติวางเฉยกับเสียงกิเลส ใส่ใจกับเสียงสติแทน เขาจ่อจิตดูความง่วงที่ปรากฏเหมือนแรงดันกดจิตให้หมดกำลังวังชา ดูไปเรื่อยๆโดยปราศจากการพยายามต่อต้านหรือต้อนรับ มันกินเวลายาวนานเหมือนเดินฝ่าหมอกทึบน่าอึดอัดเป็นทางไกล

    แต่แล้วในที่สุดความง่วงก็ปรากฏกับจิตเป็นแรงดันที่ลดตัวลง คลายความกดลง จิตเหมือนเปิดว่างออกชั่วขณะเพราะถูกปลดปล่อยออก มติกำหนดดูความคลายง่วงนั้นครู่หนึ่ง ก็เห็นแรงกดหน่วงๆวกกลับมาอีก กลายเป็นความง่วงที่เรียกร้องให้เอนหลังอีก ทว่าคราวนี้น้อยกว่าหนแรกอย่างเห็นได้ชัด

    ตามดูความกดเข้าและคลายออกอยู่หลายรอบ แรงกดของความง่วงน้อยลงทุกที ขณะที่อาการคลายเหมือนทวีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งในที่สุดมีแต่ความคลาย ตื่นรู้แจ่มใสเต็มดวงเหมือนเพิ่งตื่นนอน

    พิจารณาความง่วงก่อนเวลาอันควรเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการสั่งสมความรู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ยังได้กำลังจิตเพิ่มขึ้นเพื่อใช้สู้กับกิเลสชนิดต่างๆมากยิ่งๆขึ้น

    คิดหาอะไรทำคั่นจังหวะก่อนอัดพลังรู้ด้วยสมาธิรอบใหม่ มานั่งสำรวจตั้งหนังสือบนโต๊ะเล็กที่ยังไม่ได้อ่าน เลือกเล่มหนึ่งซึ่งยืมมาจากเพื่อนสนิทใกล้บ้าน ขนาดพอดีมือแบบบาง ครึ่งปกซีกขวาเป็นรูปวาดผาสูงในแบบศิลปะของชาวตะวันออก ครึ่งปกซีกซ้ายเป็นชื่อหนังสือลายหวัดว่า ‘น้ำชาก้นถ้วย’ เลียนอักษรจีน โดยมีชื่อผู้เขียนกำกับคือ ‘สมภาร พรมทา’ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2527

    มติอ่านบทบอกกล่าวคร่าวๆเพื่อทราบความเป็นมาของผู้เขียน และความเป็นมาของหนังสือซึ่งเกี่ยวกับนิกายเซน สิ่งที่น่าสนใจคือการประกาศว่านั่นเป็นหนังสือเซนที่เขียนอ่านง่าย ไม่เป็นวิชาการ พอดีกับความต้องการหาเรื่องสบายๆมาคั่นจังหวะปฏิบัติของเขา

    มติเคยอ่านเรื่องราวและคำสอนของเซนมาบ้าง โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้วไม่ได้เป็นลบหรือเป็นบวกชัดเจน ตระหนักเพียงว่าถ้าหลักปฏิบัติของเซนได้ผลจริง ผู้สอนต้องเข้าถึงธรรมมาก่อน และมีความหยั่งรู้ลึกซึ้งที่จะสะกิดศิษย์ให้เห็นธรรมตามในจังหวะเหมาะที่สุด

    แต่สำนวนของผู้เขียน ‘น้ำชาก้นถ้วย’ ก็ทำให้บรรทัดต่อบรรทัดไหลรื่นเหมือนนั่งคุยกับใครสักคนที่เล่าเรื่องเก่งและช่างถ่อมตัว นั่นทำให้มติอยากรับรู้เนื้อหาของเซนในฐานะผู้ใฝ่ศึกษา แม้ไม่แน่ใจนักว่าแก่นของเซนจะเข้ากับจริตตนหรือไม่

    เมื่อเริ่มเข้าเนื้อหาบทแรก เป็นการโปรยความเป็นมาเกี่ยวกับเซนที่เริ่มเข้ามาในไทย ซึ่งก็ถูกคัดค้านจากกระแสอนุรักษ์อยู่บ้าง เข้าสู่ยุคซบเซาบ้าง กระทั่งฟื้นฟูกลับมาติดตลาดหนังสือกลายเป็นวรรณกรรมแนวหนึ่งไปในที่สุด

    เข้าเนื้อหาบทที่สองกล่าวถึงสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเณรน้อย และอ่านหนังสือเกี่ยวกับเซน จับความได้ไม่ชัดนัก กระทั่งต่อมาเรียนประวัติพุทธศาสนา รู้เรื่องราวและหลักธรรมของลัทธิมหายานมากขึ้น จึงจับสาระของนิกายเซนได้ เช่นเน้นการเข้าถึงธรรมเป็นหลัก และปรับพระวินัยให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ถือโอกาสที่ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยตรัสไว้จริงๆว่าหากพระสงฆ์สาวกปรารถนาจะถอนสิกขาบทวินัยเล็กๆน้อยๆที่ขัดกับกาลสมัย ก็ให้ถอนได้

    ถึงตรงนี้มติเริ่มมีความคิดโต้ตอบกับความเป็นเซน เห็นว่าผู้ถือสิทธิ์ปรับเปลี่ยนพระวินัยนั้น หากซื่อ และมีคุณธรรมสูงส่งก็ดีไป แต่เมื่อไหร่ผลัดมือมาเป็นสิทธิ์ของคนใจคด เช่นนึกอยากมีลูกเมียก็ปรับจากอาบัติปาราชิกเป็นโทษเบา หรือเปลื้องจากโทษลงสิ้น อย่างนี้ความวอดวายของพุทธศาสนาก็ตั้งต้นขึ้นที่นั่น ดังปรากฏมาแล้วในประเทศเกาหลี ชาวบ้านที่ปราศจากความรู้ลึกซึ้ง จะไม่มีทางแยกแยะได้เลยว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ใครยังเป็นพระในธรรมวินัยของพระพุทธองค์ หรือเป็นเพียงฆราวาสในคราบผ้าเหลืองที่สำคัญตนว่าเป็นพระ

    ช่วงท้ายบทเป็นการกล่าวถึงวิธีการที่พระนิกายเซนชอบใช้ นั่นคือลงไม้ลงมือประกอบการตอบคำถาม เพื่อสะกิดให้ใครบางคนเกิดความรู้แจ้ง ตัวอย่างเช่นเมื่อพระนิกายเก่าสวนกับพระนิกายเซนขณะเดินบนสะพานข้ามสองฝั่งแม่น้ำ พระนิกายเก่าทำทีถามเป็นปริศนาธรรมว่าแม่น้ำนี้ลึกเท่าไหร่ ส่อนัยคือ ‘เซนนั้นลึกซึ้งแค่ไหน?’

    พระเซนได้ยินเช่นนั้นก็ตอบด้วยการผลักพระนิกายเก่าตกลงไปในน้ำ แล้วบอกตามหลังว่าอยากรู้ก็ลงไปวัดเอาเอง ส่อนัยสวนกลับคือ ‘ถ้าต้องการทราบเรื่องเซนก็ต้องลองปฏิบัติเซนดู’

    นอกจากนั้นผู้เขียนยังสาธิตตนเองประกอบว่าสมัยยังเด็ก จำชื่อในหลวงรัชกาลที่สามไม่ได้ คุณครูจึงหาอุบายด้วยการเรียกไปคุกเข่าหน้าชั้น แล้วให้เพื่อนนักเรียนอีกคนไปขี่คอ พร้อมกับสั่งให้จำไว้ ว่ารัชกาลที่สามชื่อพระนั่งเกล้าฯ อันเป็นผลให้ผู้เขียนไม่ลืมอีกเลยชั่วชีวิต

    จบบทด้วยข้อสรุปในใจมติที่ว่า ถ้าสาธิตให้เห็นแจ้งเห็นจริงถูกคนถูกเวลา ก็จะเกิดการเรียนรู้ หรือเกิดความจำติดทนถาวรได้จริง

    เข้าเนื้อหาบทที่สาม

    ขึ้นต้นด้วยคำถามว่าเซนคืออะไร?

    เบื้องแรกกล่าวถึงที่มาของคำว่า ‘เซน’ คือ ‘ฌาน’

    จากนั้นกล่าวว่าที่ยุคแรกเซนมาจากคำนี้เพราะไม่เน้นศีลกับปัญญา เน้นการทำสมาธิเป็นหลัก เท่าที่มติทราบมา เซนเน้นการสะกิดให้เกิดตัวรู้หลังจากผ่านการเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนพร้อมพอ จึงเข้าใจเนื้อหาส่วนนี้เป็นอย่างดี เซนเหมือนจะลัดทาง ไม่นำพาศีลและปัญญาในเชิงปฏิบัติแนวเก่าเช่นสติปัฏฐานสี่จริงๆ มุ่งเอาตัวรู้ ตัวบรรลุกันลูกเดียว

    เกิดคำถามขึ้นมาว่าถ้าจิตไม่มีศีลและปัญญากำกับ อะไรจะเป็นหลักประกันว่าทำๆไปแล้วไม่เข้ารกเข้าพง?

    หน้า 32 กล่าวอ้างถึงการเข้าถึงธรรมอย่างฉับพลันซึ่งบันทึกไว้จริงในพระคัมภีร์ เนื้อความในหน้านั้นมีอยู่ว่า

    มีพระสูตรอยู่สูตรหนึ่งชื่อ พาหิยสูตร เล่าเรื่องเอาไว้ว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อพาหิยะเบื่อหน่ายชีวิตหนีออกจากบ้านไปประพฤติพรตเป็นนักบวชแสวงหาสัจธรรม แสวงหาอยู่นานก็ไม่พบสิ่งที่ตนเองมุ่งหวัง จนวันหนึ่งได้ข่าวว่ามีศาสดาพระองค์หนึ่งชื่อโคตมะเป็นผู้มีปัญญาชี้ทางหลุดพ้น พาหิยะทราบข่าวก็รีบเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยความกระวนกระวาย ทางเดินไกลแค่ไหน ลำบากเหนื่อยล้าอย่างไรก็ไม่คำนึงถึง รีบรุดทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์

    จนเช้าวันหนึ่งพาหิยะก็มาถึงเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ เวลานั้นพระพุทธองค์พร้อมพระสาวกกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตอยู่ พาหิยะก็รีบตรงเข้าไปหาพร้อมกับอ้อนวอนให้พระพุทธองค์แสดงธรรมให้ฟัง

    อ่านถึงตรงนี้จิตของมติบังเกิดความตื่นตัวสว่างไสว ปีติยินดีด้วยกับวาสนาของท่านพาหิยะ ที่ได้มีโอกาสเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ กับทั้งมีความวิริยะอุตสาหะรีบรุดไปเข้าเฝ้าโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย พลอยทำให้มีใจโสมนัสราวกับตนเอาชีวิตเข้าแสวงหาพระผู้ตรัสรู้ตามท่านพาหิยะ และประสพความสำเร็จ พบพานพระองค์จนได้

    สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของมติลำดับนั้นคือความปรารถนารู้ธรรมจากพระพุทธองค์อย่างแรงกล้าเทียบเท่ากับท่านพาหิยะ ดีใจและสำคัญว่าตนอยู่ต่อเบื้องพระพักตร์จริงๆ รอสิ่งที่พระองค์จะตรัสอยู่จริงๆ จึงอ่านข้อความถัดมาด้วยใจเพ่งแน่วเป็นหนึ่ง

    พระพุทธองค์รับสั่งว่าเวลานี้เป็นเวลาบิณฑบาต ไม่ใช่เวลาแสดงธรรม หากพาหิยะต้องการฟังธรรมให้ไปที่อาราม เมื่อถึงเวลาแล้วจะได้ฟังเอง

    พาหิยะกราบทูลว่าชีวิตคนเราเป็นสิ่งไม่แน่นอน จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่อาจพยากรณ์ได้ เวลานี้เขามีโอกาสได้เฝ้าแทบพระบาทของพระพุทธองค์ นับเป็นโชคอย่างยิ่งขอพระองค์รีบแสดงธรรมแก่เขาเถิด

    พระพุทธองค์เห็นพาหิยะแสดงเหตุผลเช่นนั้นจึงรับสั่งสั้นๆเป็นเทศนาธรรมว่า “พาหิยะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงปฏิบัติต่อสิ่งรอบกายเพียงสักแต่ว่ามันเป็นอย่างนั้น เมื่อเธอได้ยินเสียง ก็จงสักแต่ว่าได้ยิน ได้เห็นก็สักแต่ว่าเห็น อย่ายึดมั่นว่ามันเป็นตัวตน”

    ดุจพระพุทธองค์ทรงตรัสเอง ได้ยินจริง จิตข้ามพ้นจากการอ่าน เข้าสู่ภาวะอันเป็นกลาง หยั่งรู้สภาพธรรมอันเป็นปัจจุบันที่ปรากฏในชั่วขณะนั้น

    เกิดปรากฏการณ์ในระดับความเข้าใจ จินตนาการถึงการได้ยินว่าเป็นสิ่งกระทบหูแล้วเกิดความรู้เสียงขึ้นในใจ ไม่ใช่ตัวตน ตัวคิดที่ตามมาก็ไม่ใช่ตัวตนไปด้วย ความรู้สึกในตัวตนเช่นในบัดนี้ เดี๋ยวนี้ จึงเป็นแค่ของหลอกชั่วขณะหนึ่งๆที่ยังมีลมหายใจ

    พื้นยืนของตัวตนคือตาหูก็ถูกทำลายทิ้ง พื้นยืนของตัวตนคือความคิดอ่านก็ถูกทำลายทิ้ง ทุกอย่างดูโล่งว่างไป เหลือแต่สภาวธรรมเห็นสภาวธรรม

    ถัดจากนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์ในระดับของสภาวจิตซึ่งอบรมไว้แก่รอบ อุปาทานแม้ที่แฝงอยู่ในตัวรู้อันละเอียดก็ถูกทำลายลง เพราะสภาพรู้ขณะนั้นก็ปรากฏต่อตนเองเป็นเพียงสภาวธรรมหนึ่ง เมื่อเหลือแต่สภาวธรรม ก็หมดความเป็นตัวตน ที่ยืนของอุปาทานในอัตตาว่างหายไปทั้งหมด เข้าถึงภาวะปฏิบัติต่อสิ่งรอบกายเพียงสักแต่ว่ามันเป็นอย่างนั้น ว่างเปล่าไร้แก่นสารและการผลิตภาษาคิดอ่านอย่างสิ้นเชิง

    จิตแน่วเป็นภาวะรู้ความว่างถึงที่สุด ตีจาก ตัดความเห็นอะไรๆทั้งหมดเป็นตัวเป็นตน ดิ่งไปในความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสต้องถูกต้องจริงแท้แน่แล้ว

    วูบลงพักตัวนิ่งกลางอก และคล้ายเกิดน้ำวนที่นั่น ดับจากสำนึกลงชั่วขณะ

    แล้วปรากฏการณ์อันเป็นที่สุดในชีวิตครั้งแรกก็อุบัติขึ้น ธาตุรู้สว่างไร้ประมาณผุดโพลง พลุ่งโพล่งพ้นอายตนะหยาบ ทุกสิ่งหายหนไปหมดแม้กำลังลืมตา ไม่เหลืออะไรเป็นที่กำหนดหมาย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องบอกว่าสิ่งนี้คือภาวะหรือไร้ภาวะ มีแต่ความรู้อันบริสุทธิ์ปราศจากข้อเปรียบเทียบว่าน่าพึงพอใจปานใด

    ค้างนิ่งในความว่างอย่างอุกฤษฏ์ชั่วครู่ ก่อนสำนึกถูกดึงกลับมาอยู่ในกายอันเห็น ได้ยิน และสัมผัสตามเดิม เกิดจิตยิ้มรู้เบิกบานปราศจากข้ออธิบาย ไม่มีข้อกังขาเคลือบแคลง หยั่งทราบและบอกตนเองว่าที่เกิดขึ้นนั้นคือพระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล!!

    

    รอยยิ้มอันเกิดจาก ‘จิตยิ้ม’ นั้นสดใสและใหม่เอี่ยมสาดสว่างในความรู้สึกเต็มตน เต็มดวง แสงที่ผุดโพลงขึ้นนั้นไม่ใช่อาการเห็นนิมิต ไม่ใช่โอภาส ไม่ใช่การควบกระแสรวมเป็นสมาธิสามัญ แต่เป็นการผุดแสดงตัวของธาตุรู้บริสุทธิ์ที่ไม่เคยแปดเปื้อนมลทินใดๆ และตัวที่เห็นก็คือธาตุรู้โดยตัวเอง มิใช่ผู้เฝ้ามองอื่นอันเป็นภายนอก

    ส่วนความว่างอันเป็นอารมณ์ละเอียดขั้นสูงสุดที่จิตทะลุรูปนามออกไปรู้ ธรรมชาติอันพ้นภาวะและอสภาวะนั้น ไม่อาจกำหนดว่ามีศูนย์กลางตรงไหน ขอบเขตสิ้นสุดอยู่ที่ใด แม้ความหมายรู้ทิศซ้ายขวา หน้าหลัง บนล่าง ก็ไม่ปรากฏเลย เป็นธรรมชาติอันน่าตื่นตะลึงอีกระนาบอันเป็นต่างหากจากกาย ความรู้สึกนึกคิด และสัญลักษณ์แห่งความเป็นตัวตนใดๆ

    ธรรมชาตินั้นมีอยู่ จึงถูกรู้ได้ ธรรมชาตินั้นเป็นเอกภาวะปราศจากคู่สองเทียบเคียง จึงมีความเป็นสัมบูรณ์ในตนเอง ธรรมชาตินั้นพ้นจากสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จึงปราศจากเวลา ปราศจากการเปลี่ยนแปลง

    ธรรมชาตินั้นคือนิพพาน!

    อาการทบทวนภาวะความเป็นโสดาบันที่เพิ่งอุบัติขึ้นนั้น ไม่ต้องอาศัยการอ้างอิงจากใครบอก ไม่ต้องสร้างภาพไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มรรคผลคือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พร้อมจะเกิดขึ้นกับปัจเจกชนคนใดก็ได้ ที่กระทำเหตุไว้เหมาะควร เหมือนเช่นถ้าส่งแรงดันน้ำไว้เพียงพอ ก็จะส่งลำน้ำผุดพลุ่งขึ้นเป็นสายน้ำพุ หรือเหมือนดอกบัวเมื่อพร้อมเต็มที่ ก็จะเบ่งบานพ้นน้ำได้เอง

    สภาพทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เมื่อธาตุรู้หลุดพ้นจากการห่อหุ้มของสังขารหยาบเช่นกายและความรู้สึกนึกคิด ก็ปราศจากสิ่งใดเท่าธุลีคลุกเคล้าปรุงแต่ง สามารถเห็นประจักษ์ชัดว่าไม่มีอัตตาในที่ใดๆเลย มีแต่สภาวธรรมที่เปลี่ยนได้เช่นกายและความรู้สึกนึกคิด กับสภาวธรรมที่เปลี่ยนไม่ได้คือธาตุรู้อันเดิมแท้ ไม่เคยเกิดตายตามกายและวิญญาณในภูมิต่างๆ

    และที่สุดคือประจักษ์ธรรมชาติระดับสูงสุด ที่อยู่เหนือรู้ เหนือสว่าง ดุจมหาสมุทรแห่งความว่างอันน่าฉงนเหนือจินตนาการใดๆหยั่ง เพราะจินตนาการเเป็นเพียงการปรุงแต่ข้อมูลที่สั่งสมมาของจิตในระหว่างท่องเที่ยวอาศัยครองรูปธรรมนามธรรมอันมีเหลี่ยมทรงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่นี่เมื่อพ้นจากรูปนาม เหลือเพียงภาวะรู้อันเป็นเอก ประจักษ์ธรรมอันอยู่คนละระนาบแม้กับจิตเอง ก็พบกับอะไรอีกอย่าง ที่รูปนามใดๆก็ตามไปไม่ถึง

    มหาสุญตานั้นมอบความรู้จริงว่าอะไรที่เปลี่ยนได้ก็เพราะมีความปรุงแต่ง มีความบีบคั้นให้สิ้นสุดภาวะหนึ่งๆ อะไรที่เปลี่ยนไม่ได้ก็เพราะปราศจากการปรุงแต่ง ปราศจากการบีบคั้นให้สิ้นสุดสภาพ สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในธาตุวิภังคสูตรความตอนหนึ่งว่าสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่นิพพานนั้นจริง

    อุปาทานในอัตตาเกิดขึ้นอย่างมั่นคง แน่นเหนียว ห่อหุ้มจิตมิด ทั้งที่สภาพต่างๆฟ้องอยู่ว่ามีการเลื่อนไหลปรับเปลี่ยนทุกขณะ แต่จิตก็ไม่เห็น ไม่รับรู้ เพราะปราศจากสภาพพร้อมพิจารณา คนทั่วไปแม้ ‘คิดได้’ แบบวูบๆวาบๆว่าชีวิตนั้นไร้แก่นสาร เกิดมากอบโกยชั่วขณะหนึ่ง เพื่อตายไปจากทุกสิ่งที่กอบโกยมาได้ สุขทุกข์แล้วเลอะเลือนร้างราอย่างเปล่าประโยชน์

    ยิ่งกว่านั้นยังยากนักที่จะทราบว่าสภาพอันไม่เลอะเลือนเช่นนิพพานมีอยู่ เพราะไม่รู้ทางปฏิบัติให้จิตหลุดออกจากความผูกมัดยึดมั่นในสภาพปรุงแต่งเสียได้

    สังสารสัตว์เวียนเกิดเวียนตายด้วยกิเลสที่ผูกมัดไว้ ห่อหุ้มธาตุรู้เดิมแท้เอาไว้ เปรียบได้กับบุรุษที่ถูกโซ่ล่ามไว้สิบเส้น เรียกว่า ‘สังโยชน์’ จะคิดตัดด้วยเจตนาหรือกำลังจิตธรรมดาไม่ได้ ต้องใช้ไฟล้างซึ่งเกิดจากการที่ธาตุรู้โพล่งขึ้นเบิกบานตามลำดับ

    พิจารณาสังโยชน์เป็นเครื่องผูกร้อยรัดทีละเส้นได้แก่

    1. สักกายทิฏฐิ คือความเห็นภาวะใดๆเป็นตัวเป็นตน เพลิงโสดาปัตติผลผลาญได้ขาดสูญ เพราะธาตุรู้แสดงตนเองชัดเจนแจ่มแจ้งปราศจากข้อกังขา แม้ตัวธาตุรู้เองก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่ปรุงแต่งด้วยอัตภาพ ไม่จำเป็นต้องถูกปรุงแต่งด้วยความคิดให้เกิดการแบ่งแยกเราเขา เมื่อใดจิตของพระโสดาบันถอยเข้าไปจ่ออยู่กับสภาพรู้ของตนเอง หลบพ้นจากการห่อหุ้มด้วยความนึกคิด เมื่อนั้นก็เห็นจิตปราศจากสักกายทิฏฐิอย่างแจ่มแจ้ง

    2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เพลิงโสดาปัตติมรรคผลาญได้ขาดสูญ ไม่ต้องเถียงกับใคร หรือลังเลกับตนเองแล้วว่าพระพุทธเจ้ารู้อะไร สอนอะไร ความขาดสิ้นของวิจิกิจฉานี้มิใช่ว่ากันเฉพาะในชาติปัจจุบัน แม้เกิดใหม่ในอัตภาพใหม่ ก็ไม่มีความสงสัยอีกว่านิพพานเป็นเรื่องหลอกหรือของจริง เหตุเพราะเมื่อจิตนิ่งเป็นสมาธิเมื่อไหร่ ก็จะเห็นความเป็นธาตุรู้ที่ว่างสนิทจากอุปาทานในตนเอง ทราบชัดว่าไม่มีอัตตาอยู่ในที่ใดๆเลย แม้เป็นพระโสดาบันองค์สุดท้าย เกิดใหม่ในที่ที่ไม่เหลือใครไว้ยืนยันเกี่ยวกับความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งก็ตาม

    3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต เพลิงโสดาปัตติมรรคผลาญได้ขาดสูญ ผู้เป็นโสดาบันเข้ากระแสพระนิพพานแล้ว จึงทราบทั้งพฤติกรรมทางกายภายนอกและทางใจภายใน ว่าทำอย่างไรเป็นเหตุสอดคล้องให้เกิดมรรคผล ฉะนั้นถ้าใครหว่านล้อมเช่นบอกว่าฆ่าแพะบูชายัญแล้วจะขึ้นสวรรค์ ถวายสิ่งมีค่าให้ใครแล้วจะได้ไปนิพพาน หรือกระทั่งถือศีลให้บริสุทธิ์แล้วจิตจะบริสุทธิ์ตามนั้น เป็นอันว่าไม่มีทางเชื่ออีกแล้ว

    สังโยชน์สามข้อแรกคือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสนี้ แม้เป็นต่างหากจากกัน ก็มีความโยงใยเป็นลำดับแก่กัน เมื่อสักกายทิฏฐิขาด ก็ยังผลให้วิจิกิจฉาขาด และพลอยให้สีลัพพตปรามาสขาดหายตามไปด้วยตลอดสาย

    อย่างไรก็ตาม เมื่อจิตของโสดาบันอริยบุคคลถูกห่อหุ้มด้วยความคิด ก็จะแสดงอนุสัย หรือกิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดานได้ กล่าวคือจิตยังอาจขุ่นด้วยราคะ โทสะ โมหะอันเป็นต้นรากแห่งการเกิดก่อรูปนาม พฤติกรรมทั่วไปอาจคล้ายคนธรรมดาที่ทำมาหากิน มีเหย้ามีเรือนได้ทุกประการ ต่างกันก็คือราคะ โทสะ โมหะจะก่อตัวขึ้นหนาทึบขนาดบันดาลให้มีเจตนาเลวร้าย เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นไม่ได้ จิตไม่เอาเอง ล้อมกรอบตนเองอยู่ในศีลธรรมเอง เรียกว่าเป็นผู้มีอริยกันตศีลโดยธรรมชาติ

    สรุปคือ 'เชื้อกิเลส' ของโสดาบันอริยบุคคลไม่ได้ลดลงเลย แต่ประจักษ์นิพพานแล้ว ลิ้มรสอันเหนือรสใดๆแล้ว เข้าใจภาวะแตกต่างระหว่างมีกับไม่มีรูปนามเครื่องเลี้ยงทุกข์แล้ว เรียกว่าอยู่ในกระแสนิพพาน เที่ยงที่จะถึงความเป็นอรหันต์ในวันหนึ่งข้างหน้า ระหว่างยังไหลไปตามกระแสนิพพาน ก็ยังต้องปฏิบัติธรรมเพื่อละสังโยชน์ลำดับอื่นๆอีกคือ

    4. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ เพลิงโสดาปัตติมรรคยังผลาญไม่ได้ เคยชอบใจเพศตรงข้ามอย่างไรก็ยังเป็นอยู่ได้อย่างนั้น สังโยชน์ข้อนี้แม้เพลิงสกทาคามิมรรคอันเป็นไฟล้างกิเลสขั้นสองก็ผลาญไม่ขาด ยังสนใจเมียงมอง ยังอยากสัมผัสแตะต้อง ต่างกันกับปุถุชนคือจะไม่หน้ามืดถึงขั้นผิดลูกเขาเมียใคร และราคะของพระสกทาคามีจะเบาบางลงกว่าพระโสดาบัน ต่อเมื่อปฏิบัติธรรมจนลุมรรคผลขั้นสาม เป็นพระอนาคามีแล้ว สังโยชน์ว่าด้วยกามราคะจึงขาดสูญ เมื่อขาดแล้วไม่เป็นทุกข์เหมือนผู้เป็นกามตายด้าน เพราะสิ่งที่ชดเชยมาคือสภาพจิตนิ่งอย่างเอกอุ ทรงสภาพสมาธิไม่ไหวติงง่ายๆ บังเกิดความพอใจในอีกระดับ ละเอียดประณีตน่ายินดี ไม่เป็นที่เข้าใจแก่สามัญมนุษย์ที่ยังหลงกามว่าเป็นของอันน่าชอบ

    5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ เพลิงโสดาปัตติมรรคยังผลาญไม่ได้ แม้เพลิงสกทาคามิมรรคก็ยังผลาญไม่ได้ เป็นเหตุให้มีความอ่อนไหววูบวาบเยี่ยงปุถุชน มีโกรธเมื่อถูกทำให้เจ็บ มีโลภเมื่อพบกับสิ่งต้องใจ แต่สาระที่แตกต่างจากปุถุชนคือเมื่อเกิดปฏิฆะแล้ว จะไม่โกรธถึงขั้นตัดชีวิตอื่น ไม่โลภถึงขั้นปล้นชิงใคร ด้วยอำนาจปกติจิต ไม่วูบไหวง่ายเพียงด้วยกิเลสขั้นหยาบ สังโยชน์ข้อนี้เพลิงอนาคามิมรรคเท่านั้นถึงจะผลาญได้ขาดสูญ

    พระอนาคามีทำลายสังโยชน์เบื้องต่ำลงได้หมด มีความสุขอันเกิดแต่จิตอันสงบนิ่งเป็นธรรมชาติของตนเอง แต่ยังมียองใยกิเลสเบื้องสูงอีกตามลำดับคือ

    6. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต อันนี้ไม่ใช่ราคะธรรมดา แต่เป็นความปรารถนาภาวะละเอียดเช่นฌานสมาบัติหรือคุณธรรมขั้นสูง มีแต่เพลิงอรหัตตมรรคเท่านั้นที่ผลาญได้ขาดสูญ

    7. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม อรูปธรรมนั้นได้แก่ฌานสมาบัติที่ล่วงเลยการอาศัยรูปเป็นอารมณ์กำหนด เปลี่ยนเป็นกำหนดนามธรรมไว้ในใจ ผู้เข้าถึงจะเห็นอากาศว่างเป็นอนันต์ หรือเห็นความปรากฏแต่ตัวรู้ หรือเห็นความไม่มีอะไรเหลือหรอ หรือเห็นความมีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่เชิง การมนสิการนามธรรมไว้จนเข้าขั้นฌานนั้นเป็นสุขแสนประณีตน่าพึงใจเหนือจินตนาการมนุษย์สามัญ แต่ไม่น่าติดหลงแก่ผู้มีพุทธิปัญญาแก่กล้าพอ อรูปราคะนี้มีแต่เพลิงอรหัตตมรรคเท่านั้นที่ผลาญได้ขาดสูญ

    8. มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ แม้พระอนาคามีก็ยังนึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนเป็นใคร คิดอ่านแบบมีตัวฉันตัวเธอเหมือนคนปกติ เว้นแต่จะเอาจิตเข้าพิจารณาธรรม ความรู้สึกในอัตตาจึงดับไปชั่วครู่ สังโยชน์ข้อนี้มีแต่เพลิงอรหัตตมรรคเท่านั้นที่ผลาญได้ขาดสูญ คือทุกขณะจิตไม่มีตัวตนให้รู้สึกในที่ใดๆเลยทั้งภายในและภายนอก ทว่ามิใช่กลายเป็นบอดใบ้พูดจาไม่รู้เรื่อง พระอรหันต์ยังคงมีความกำหนดหมายรู้ พูดจาสื่อสารกับคนในโลกได้เหมือนปกติทุกอย่าง มีความจำครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ แถมยังสื่อสารได้ดีกว่าคนทั่วไปด้วย เพราะสิ่งที่ปรารถนาจะสื่อไม่ต้องปีนข้ามหรืออ้อมกำแพงกิเลสใดๆเลย

    9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน คือผุดความคิดเลอะๆเทอะๆ สังโยชน์ข้อนี้ยังปรากฏแม้ในพระอนาคามี มีแต่เพลิงอรหัตตมรรคเท่านั้นที่ผลาญได้ขาดสูญ ท่านไม่เหลือความฟุ้งซ่านอยู่เลย ถ้าไม่ต้องพูดกับใคร จิตจะนิ่งปราศจากความเลื่อนไหลซัดส่าย แม้มีปัญญาฉลาดเฉลียวอยู่เต็มเปี่ยมก็ไม่รู้สึกว่าตนเองมีปัญญาฉลาด ไม่ชอบให้ความฉลาดฟุ้งขึ้นมา ระบบความคิดปฏิรูปไปหมด คิดออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์ ไร้กิเลส ไร้ตัวตนบันดาลตลอดเวลา

    10. อวิชชา ความไม่รู้ มีแต่เพลิงอรหัตตมรรคเท่านั้นที่ผลาญได้ขาดสูญ อันนี้ชี้ไปที่ตัวรู้ธรรมโดยตรง ไม่ใช่ความไม่รู้ธรรมดาๆอย่างที่มักยืมศัพท์มาใช้กันผิดๆ ความรู้สว่างโพลงของพระอรหันต์นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายนับแต่บรรลุอรหัตตผล แม้หลับก็ไม่ฝัน ไม่ปรุงแต่งผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนให้จิตมัวหมองเลยสักวินาทีเดียว เป็นภาวะมีจริง เป็นสุขจริง และประจักษ์จริงกันได้ ถ้าทำให้ถึง

    

    คิดอีกอย่างหนึ่ง สังโยชน์แต่ละข้อก็คือแรงดึงดูดของสังสารวัฏ ที่ตรึงจิตไว้ในวังวนเวียนเกิดเวียนตายอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ถ้าสลัดหลุดเสียได้จากแรงดึงดูดที่เหนียวแน่นสุดคือ ‘ความเห็นเป็นตัวเป็นตน’ หรือสักกายทิฏฐิเสียได้ ก็เป็นอันเที่ยงที่จะ ‘หลุดหมด’ ในกาลต่อไป

    และเพื่อสลัดให้หลุดจากความเห็นเป็นตัวเป็นตน ก็ต้องอาศัยความเห็นแจ้งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งของธรรม ได้แก่ อนิจจลักษณะ คือความไม่เที่ยงของทุกสภาพ ทุกขลักษณะ คือความไม่อาจทนอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง อนัตตลักษณะ คือความปรุงประกอบประชุมกันอันหาเจ้าของผู้ครองผู้บัญชามิได้

    กล่าวจำแนกตามวิถีทางดับความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนได้คือบางท่านตามเห็นกายใจ (อันได้แก่ลมหายใจ กิริยาทางกาย ความรู้สึก ความนึกคิด) สักแต่เป็นภาวะเกิดดับ เกิดดับ กระทั่งเกิดปัญญารู้การดับครั้งสุดท้ายแล้วหลุดจากความยึดมั่น จิตเข้าถึงความเห็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีลักษณะเกิดดับ ไม่มีสัญญาณของความเคลื่อนจากภาวะใดไปสู่ความดับจากภาวะนั้น นี่เรียกว่าเข้าถึงมรรคผลด้วยความรู้แจ้งอนิจจลักษณะ

    บางท่านตามเห็นสภาวะกายใจโดยความเป็นของไม่คงทน ไม่อาจตั้งอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เห็นชัดว่าเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมมีเชื้อของความเสื่อมแฝงอยู่แต่แรก จึงต้องดับไปเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นจากความสลายตัวมิได้ เมื่อตามไปจนรู้ว่าไม่อาจหาที่พักความเสื่อมในขอบเขตรูปนามที่กำหนดรู้ได้ด้วยสติแล้ว ก็ปล่อยวางจากทุกภาวะที่ต้องเสื่อม หยั่งถึงเห็นภาวะที่ไม่เสื่อม ไม่มีเนื้อหาอันกำหนดได้ว่าจะเสื่อมจากความเป็นเช่นนั้น นี่เรียกว่าเข้าถึงมรรคผลด้วยความรู้แจ้งทุกขลักษณะ

    บางท่านตามเห็นก้อนธรรมโดยความเป็นของประชุมกันด้วยเหตุปัจจัย เห็นชัดว่าจู่ๆจะเกิดหมายรู้ หรือความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนขึ้นตามลำพังไม่ได้ เช่นขาดรูปนามก็ขาดผัสสะ ขาดผัสสะก็ขาดความหมายรู้ เมื่อปล่อยวางเสียได้จากขอบเขตอันปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัย จิตก็ทะลุขันธ์ออกไปเห็นอะไรอีกอย่างที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งเลยแม้น้อย นี่เรียกว่าเข้าถึงมรรคผลด้วยความรู้แจ้งอนัตตลักษณะ ดังเช่นที่มติอาศัยเป็นประตูเข้านั่นเอง

    ลักษณะนิพพานอันมีอยู่จริง เป็นความจริงระดับสูงสุดที่ผู้บรรลุธรรมเข้าประจักษ์นั้น ปราศจากนิยามเหมือนกัน มีความ ‘ว่าง’ อันเดียวกัน เหมือนถึงที่หมายเดียว แต่มาจากคนละทิศ เมื่อกลับมาพยายามอธิบายด้วยภาษาพูด ก็อาจมีความแตกต่างกันตามประสบการณ์ประจำ ‘ทิศ’ นั้นๆ

    สังสารสัตว์นั้น เมื่อยังไม่เห็นนิพพาน ก็ไม่มีทางสิ้นสงสัย ถึงชาติปัจจุบันรู้อรรถรู้ธรรมจะแจ้ง พอตายไปเกิดใหม่ก็สงสัยใหม่ บางคนเคยฉลาดในธรรม เป็นผู้สอนธรรมที่ยิ่งใหญ่ในพุทธกาลหนึ่ง พอตายไปเกิดอีกพุทธกาลหนึ่งกลับคิดก้าวร้าวดูแคลนพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าก็มี เหตุเพราะตัวที่ 'เข้าใจธรรม' นั้นคือกิเลสที่ห่อหุ้มจิต ไม่ใช่ตัวของธาตุรู้พบตนเอง ประจักษ์ตนเองเหมือนอริยบุคคล

    อันตรายของสังสารวัฏใหญ่หลวงก็ด้วยเหตุนี้ ตายแล้วไม่มีอะไรประกันเลยว่าเกิดใหม่จะเป็นอย่างไร คิดอย่างไร แม้เคยดีแสนดี หรือความรู้ท่วมหัวท่วมหูขนาดไหนก็ตาม ต่อเมื่อถึงโสดาปัตติผลขึ้นไปแล้ว จึงชื่อว่าปลอดภัย แม้ยังต้องเดินทางอีก ก็จะไหลไปตามกระแส ลอยตัวถึงฝั่งนิพพานจนได้ ไม่หลงลงต่ำอีกเลย

    มติทบทวนปัจจัยที่ทำให้ตนเข้าถึงมรรคผล เล็งเห็นว่าตนปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง จ่อจิตอยู่กับปรากฏแห่งกายใจโดยความเป็นของปรุงประกอบที่เกิดดับเป็นขณะๆ จิตจึงมีความโน้มเอียงที่จะพ้นนามธรรมอันดึงดูดให้ติดอยู่กับความเห็นกายใจเป็นตัวเป็นตน โน้มเอียงที่จะหลุดจากการคุมขังของกิเลสและรูปนามที่ปิดบังนิพพานไว้ แม้ยังเป็นฆราวาส ไม่ต้องนุ่งเหลืองห่มเหลืองก็อาจถึงธรรมได้อย่างนี้ การนุ่งเหลือห่มเหลืองเป็นเพียงเปลือกนอก การปฏิบัติจิตให้เกิดความโน้มเอียงเข้าสู่มรรคผลแบบพระสำคัญกว่า พูดง่ายๆการปฏิบัตินั้นอยู่ที่เครื่องห่อหุ้มจิต ไม่ใช่อยู่ที่เครื่องห่อหุ้มกาย

    อีกปัจจัยคือมติเป็นผู้ศึกษาอรรถธรรมมาดีแล้ว มีความเห็นอันชอบควร ยึดถือธรรมะเป็นสรณะ อันส่งผลให้เคารพเลื่อมใสไม่คลางแคลงในพระพุทธองค์ ชนิดที่ว่าถ้าทราบว่าเป็นคำตรัสของพระตถาคตพุทธเจ้า ก็พร้อมจะน้อมรับใส่เกล้าอย่างไม่ลังเล พฤติกรรมทางจิตจะสำรวมรู้หนักแน่นเป็นหนึ่งเทียบเท่ากำลังหนุนของฌานสมาบัติ

    อีกปัจจัยที่สำคัญคือพลังในการอนุโมทนาอันแรงกล้า เขาเป็นผู้มีความยินดีกับโชควาสนาของคนอื่นเสมอ เพียงอ่านเรื่องของท่านพาหิยะ ทราบว่าท่านรีบรุดเดินทางไกลจนได้พบพระพุทธองค์ ก็ปลาบปลื้มปรีดาถึงขีดเดียวกับท่าน จิตสำคัญว่าตนอุตสาหะเหนื่อยยากจนได้มาเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ไปด้วย นี่คืออานิสงส์ของความเป็นผู้ปกติมีใจอนุโมทนา ยินดีกับลาภ ความสำเร็จ และความสมหวังของผู้อื่นจนฝังในกมลนิสัย หัดดีๆแล้วไม่ต้องลงทุนลงแรงเหมือนคนอื่นก็ได้บุญเท่าคนอื่นสบายๆ ใครหาว่าเอาเปรียบก็ไม่ได้ด้วย เช่นเขานั่งกับที่แท้ๆ ไม่ได้เหนื่อยยากเช่นท่านพาหิยะ กลับได้ส่วนบุญใกล้เคียงกันเพราะจิตนึกตามความตั้งใจจริงและอนุโมทนาร่วมไป ชนิดที่เรียกว่าถ้าไปแทนท่านพาหิยะ ณ เวลาและสถานที่เดียวกันได้ เขาก็จะทำเช่นเดียวกับท่านทีเดียว

    และต้องนับว่าผู้เขียนผู้มีนามว่า สมภาร พรมทา เป็นผู้มีพระคุณ เป็นมัคคุเทศก์ผู้นำเขาไปพบพระพุทธเจ้าด้วยข้อความที่เขียนแบบสบายๆ เพราะข้อความนั้นเองสะกิดจิตของเขาได้ถูกจังหวะ ถูกเวลาอย่างที่สุด จึงเป็นบุคคลหนึ่งที่เขาจะต้องจดจำไปจนกว่าจะหาไม่

    มติพิจารณาเห็นว่าในการบรรลุธรรมนั้น เนื้อหาธรรมที่สะกิด ‘ถูกจุด’ มีความสำคัญอยู่จริง ข้อความที่เขาอ่านในหนังสือน้ำชาก้นถ้วยนั้น คลาดเคลื่อนจากพระคัมภีร์อยู่มากในแง่ของความถูกต้องรัดกุม เป็นต้นว่าประวัติความเป็นมาของท่านพาหิยะและการตรัสเทศนาธรรมดั้งเดิมของพระพุทธองค์

    ช่วงบ่ายนั้นมติไปที่วัดทางนฤพานเพื่อเปิดหาพาหิยสูตรในตู้พระไตรปิฎก พบในเล่ม 17 สูตรที่ 10 ได้ทราบนามเต็มของท่านคือพาหิยทารุจีริยะ เคยทำบุญปรารถนาความเป็นเอตทัคคะทางบรรลุมรรคผลเร็วไว้แต่กาลก่อน และเคยยอมตายหมายได้ถึงพระอรหัตตผลด้วยการอดข้าวมาแล้ว ในชาติสุดท้ายจึงมีวาสนาพอจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดอย่างรวดเร็ว

    ความเดิมในพระสูตร แปลจากบาลีเป็นไทยมีดังนี้

    

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ท่าสุปปารกะ ใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

    ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่าเราเป็นคนหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลกแน่หรือ ลำดับนั้นแล เทวดาผู้เป็นสายโลหิตในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะด้วยใจ แล้วเข้าไปหาพาหิยทารุจีริยะ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า

    "ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคอย่างแน่นอน ท่านไม่มีปฏิปทาเครื่องให้เป็นพระอรหันต์หรือเครื่องเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรค"

    พาหิยทารุจีริยะถามว่า

    "เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ใครเล่าเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก"

    เทวดาตอบว่า

    "ดูกรพาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ในพระนครนั้น ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแลเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย"

    ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อันเทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะ ในทันใดนั้นเอง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง ฯ

    ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยทารุจีริยะเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า

    "ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น"

    ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า

    "ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต"

    ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน เข้าไปยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึกและความสงบอันสูงสุด มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ

    แล้วพาหิยทารุจีริยะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ"

    เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    "ดูกรพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาตอยู่"

    แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด ฯ"

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    "ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้อยู่จักเป็นสักว่ารู้อยู่ ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อเธอเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้อยู่จักเป็นสักว่ารู้อยู่ ในกาลนั้น เธอย่อมไม่มี ในกาลใดเธอไม่มี ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ"

    ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ฯ

    หากอ่านเร็วๆตามประสาปุถุชนทั่วไป ก็คงฟังดูไม่น่าเชื่อ ทำไมท่านพาหิยะถึงบรรลุธรรมสูงสุดง่ายนัก แค่พระพุทธองค์ตรัสแนะเพียงเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ทราบสักแต่ว่าทราบ รู้อยู่สักแต่ว่ารู้อยู่ ฯ ก็เปลี่ยนบุคคลธรรมดาเป็นอริยบุคคลกันได้สะดวกดายอย่างนี้หรือ

    แต่สำหรับมติไม่มีข้อสงสัยเลย ท่านพาหิยะรอนแรมมาไกลด้วยความกระหายธรรม กับทั้งรีบร้อนออกตามหาพระพุทธองค์สุดฝีเท้า แม้ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จดำเนินบิณฑบาต ใครจะว่า ใครจะยับยั้งให้รอพระพุทธองค์กลับอารามก็ไม่ยอม เพราะอะไรในโลกไม่สำคัญเท่าพบองค์ตถาคตเพื่อฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์อีกแล้ว

    เมื่อพบพระองค์ผู้มีลักษณาการควรแก่ความน่าเชื่อถือ เห็นพระมหาปุริสลักษณะควรแก่การเลื่อมใส ปักใจได้สนิทว่าเป็นผู้ปราศจากกิเลสอย่างแน่นอน ธรรมของพระองค์ก็ต้องยังความสิ้นกิเลสแก่ท่านได้ด้วย ย่อมบันดาลกำลังใจและปีติจนไม่เหลือโอกาสให้ความคิดอื่นใดแทรกแซง

    ในเมื่อบุกน้ำลุยไฟมาพบบุคคลอันปรากฏยากแสนยากอย่างนี้แล้ว ท่านย่อมเกรงว่าโอกาสประเสริฐสุดจะมีอันต้องหลุดลอยไปเพราะความตายอันพยากรณ์ไม่ได้ เรียกว่าสิบนาที ครึ่งชั่วโมง ก็นานพอจะเปิดช่องให้มัจจุราชมาพรากโอกาสไปเสีย จึงเฝ้าทนรบเร้าพระพุทธองค์ ขอทรงแสดงธรรมให้ฟังเสียเลย

    ทุกตีสี่พระพุทธองค์จะทรงแผ่พระญาณ หยั่งทราบอยู่แล้ว ว่าวันนั้นจะโปรดเวไนยสัตว์ใด ด้วยอุบายแบบไหนจึงเหมาะสม ถึงเป็นกรณีพิเศษแม้อยู่กลางทางบิณฑบาต พระพุทธองค์ก็ทรงเต็มพระทัยอย่างไม่พักต้องสงสัย การที่พระองค์ตรัสให้รอไปฟังธรรมที่อารามในภายหลัง ก็น่าจะเป็นพุทธลีลา เป็นแบบอย่างแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าการแสดงธรรมไม่ควรให้มีขึ้นระหว่างทางเดินบิณฑบาต

    มติเข้าถึงอาการใจจดใจจ่อรอเทศนาธรรมมาแล้ว จึงทราบวาระจิตของท่านพาหิยะ ณ บัดนั้นดีว่าจะแน่วแน่ มั่นคง เปี่ยมด้วยกุศลแห่งความตั้งอกตั้งใจสดับธรรมสูงสุดเพียงใด กับทั้งตรึกธรรมตามด้วยความเคารพขนาดไหน ไม่มีแน่นอน ที่จะปล่อยให้พระพุทธพจน์คำใดคำหนึ่งตกหล่นไป

    กระแสบุญเก่ามารอจ่ออยู่แล้ว ศรัทธาในพระผู้ทรงธรรมก็เปี่ยมเต็มอยู่แล้ว วิริยะในการมาสู่พระธรรมอันเป็นเอกก็พร้อมอยู่แล้ว สติในการสดับตรับฟังพุทธพจน์ก็สมบูรณ์อยู่แล้ว สมาธิในการจ่อใจรับธรรมก็ตามสติมาอยู่แล้ว ปัญญาในการพิจารณาธรรมก็ควรแก่งานอยู่แล้ว เมื่อประกอบกับธรรมอันบริสุทธิ์ ถูกต้องเหมาะสมแก่นิสัย ความสว่างโพลงย่อมบังเกิดขึ้นสมควรแก่เหตุปัจจัยเช่นนั้นเอง

    นี่จึงต่างจากผู้อ่านพาหิยสูตรทั่วไป ที่ไม่รับรู้ ไม่อนุโมทนาตามท่านพาหิยะ เมื่อไม่อนุโมทนา จะเอาความยินดีปรีดามาแต่ไหน เมื่อไม่ยินดีปรีดา จะเอาจิตจดจ่อมาแต่ไหน เมื่อไม่มีจิตจดจ่อ จะเอาปัญญาตรึกธรรมละเอียดมาแต่ไหน

    ธรรมที่พระพุทธองค์แสดงแก่ท่านพาหิยะนั้น นับว่ามีเพียงหนเดียวเป็นพิเศษ ไม่มีหนสอง เป็นการตรัสแนะเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ตรง

    ที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง

    แน่นอน ด้วยใจอันพร้อมสมบูรณ์ของท่านพาหิยะ ท่านย่อมมองรูปและสีสันที่ปรากฏต่อตาในบัดนั้น สักแต่ว่านั่นเป็นอาการเห็น ท่านย่อมยินเสียงและส่ำสำเนียงที่ปรากฏต่อหู สักแต่ว่านี่เป็นอาการฟัง

    นั่นคือการเอาความประจักษ์สภาวะหยาบ ณ เวลาปัจจุบันยกขึ้นตั้ง

    ลำดับต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสั่งว่า เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ

    มติกราบถามพระมหาเปรียญที่วัดเกี่ยวกับความนัยตามบาลีเดิม ได้ความรู้เพิ่มเติมคือ คำว่า “ทราบ” ในที่นี้มาจาก “มุเต” ซึ่งภาษาบาลีมีความหมายแบบเหมาได้ถึง 3 ทางคือ ผัสสะทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย

    ลำดับต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสั่งว่า เมื่อรู้อยู่จักเป็นสักว่ารู้อยู่

    คำว่า “รู้อยู่” มาจาก “วิญญาเต” หมายถึงการรับรู้ทางมโนทวาร ซึ่งได้แก่รู้ความคิดและอารมณ์ต่างๆนั่นเอง ตรงส่วนนี้ของพระธรรมเทศนา ย่อมดึงให้ท่านพาหิยะเข้ามารู้อาการของจิตปัจจุบันโดยสักแต่เป็นอย่างนั้น หาตัวตนที่จิตมิได้

    เมื่อมีแต่สภาวธรรมเห็นสภาวธรรม ประจักษ์ธรรมละเอียดลงตรงจริงตามลำดับ ก็ย่อมสลัดคืนความมั่นหมายรูปธรรมและนามธรรมทุกชนิดว่าเป็นตัวเป็นตน ต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ตรัสขยายความว่า

    "ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อเธอเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้อยู่จักเป็นสักว่ารู้อยู่ ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มี"

    ตรงคำว่า 'เธอย่อมไม่มี' คือมีแต่สภาวธรรม ไม่มีตัวตนผู้ใดนี่เอง ที่เป็นตัวจุดชนวนมรรคผลแท้จริง สมนัยกับที่มติมีวาสนาพอ เมื่ออ่านข้อความขนาดสั้นที่เขียนสบายๆในหนังสือ 'น้ำชาก้นถ้วย' แล้ว ก็น้อมเข้ามาเห็นธรรมภายใน คือความรู้สึกนึกคิด และกระทั่งสภาวะรู้ ว่าก็เป็นแค่เพียงสภาวะอันเกิดจากการเห็นและการได้ยินอันไม่ใช่ตัวตน ย่อมไม่ใช่ตัวตนไปด้วย

    ชนวนมรรคผลต้องมาลงที่ใจ น้อมธรรมเข้ามาที่ใจนี่เอง

    พาหิยสูตรยังมีต่อไปอีกว่า

    ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต

    ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จ เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจง ช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอกับเธอทั้งหลาย ทำกาละแล้ว"

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของพระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะนั้นข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะ ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ได้ทำไว้แล้ว คติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร ฯ"

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว ฯ"

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงประกาศความจริงแล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า

    "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลาย ย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์ ฯ"

    

    ผู้บรรลุธรรมเร็วมิได้มีคุณเฉพาะต่อตนเอง แต่ยังไม่ทำให้ผู้มีหน้าที่แสดงธรรมต้องลำบาก กับทั้งเผื่อแผ่ประโยชน์มาสู่อนุชนในภายหลังอีกด้วย

    มติศึกษาพระสูตรอันทรงอุปการคุณแก่ตนด้วยความเอ่อล้นแห่งธรรมปีติ กราบแล้วกราบอีกระลึกถึงพระพุทธคุณ รวมทั้งพระคุณของท่านพาหิยะ หากปราศจากท่าน ก็คงไม่มีพระธรรมเทศนาตรงอันแสนวิเศษและลัดสั้นเช่นนี้ และหากปราศจากพระธรรมเทศนาตรงอันแสนวิเศษและลัดสั้นเช่นนี้ มีหรือที่เขาจะพลอยได้รับส่วนแห่งประโยชน์เป็นมรรคผล เขาอาจต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน แรมปี หรือหากเคราะห์ร้ายตายในวันสองวัน ก็คงอีกหลายภพหลายชาติกว่าจะมีวันนี้ ที่ถึงความปลอดภัย เข้ากระแสนิพพานเยี่ยงเหล่าอริยบุคคลทั้งหลาย

    สภาพเหมือนเป็นคนใหม่นั้น รู้สึกด้วยรัศมีสว่างจากภายในที่ ‘เพิ่ม’ ขึ้นมา มติสำรวจตนเอง ไม่เห็นความเป็นตนแปลกเปลี่ยนไปเท่าใดนัก เคยเป็นมาอย่างไร มีความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำเช่นใด ก็ยังดำเนินต่อไปเช่นนั้นทุกประการ ที่พิเศษก็มีความเบาโปร่งโล่งหัวอกอย่างประหลาด คล้ายสิ่งอุดตันถูกทะลวงออกจนสิ้นไส้ ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องพิสดารนัก

    อุปาทานในอัตตายังครบถ้วน ไม่หายหนไปใน เมื่ออยู่ในภาวะรู้คิดปกติ

    ต่อเมื่อเพ่งจิตเข้าดูสัณฐานกาย หรือน้อมดูใจอันสว่างว่างของตนเองด้วยกำลังสมาธิ จึง ‘รู้ว่างกระจ่างชัด’ ปราศจากความเห็นอะไรเป็นตัวเป็นตนทันที

    นั่นหมายความว่าโสดาบันอริยบุคคลก็ต้องอาศัยสมาธิ จึงจะปลิดปลงความรู้สึกในตัวตนลงได้ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งหากมองอย่างผิวเผิน ปุถุชนอันถือเสมือน ‘คนนอกกระแส’ ก็ต้องนึกว่าไม่เห็นแตกต่างจากผู้ปฏิบัติธรรมที่ยังเป็นกัลยาณชนธรรมดาตรงไหน

    อันที่จริงแล้วอริยเจ้าทั้งหลายมีลักษณะรู้ที่แตกต่างออกไป ถ้าใช้ภาษาพูดก็ต้องบอกว่าผู้ปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึงจริงนั้น มีพฤติกรรมทางจิตแบบ ‘แกล้งรู้’ ว่าสังขารไม่ใช่ตัวตน ส่วนผู้ปฏิบัติที่ผ่านมรรคผลมาแล้ว จะมีพฤติกรรมทางจิตแบบ ‘รู้จริง’ ไม่ต้องแกล้งคิดปรุงแต่งเสียก่อน เห็นอยู่เองอย่างนั้นเลยทีเดียว

    พูดง่ายๆ โยคาวจรผู้เป็นปุถุชนยังรู้สึกถึงตัวตนในจิต แม้เห็นกายเป็นอนัตตาแล้ว แต่บุคคลผู้เป็นโสดาบันขึ้นไป จะเห็นซึ้งทีเดียวว่าทั้งผู้รู้และสิ่งถูกรู้ต่างก็เป็นอนัตตาทั้งสิ้น หมายความว่ามีแต่สภาวธรรมหยาบและละเอียดที่ปรากฏเป็นรูปกายและนามกาย หาได้มีแม้บัญญัติขึ้นชื่อเป็น 'อริยบุคคล' ไม่

    ผู้ปฏิบัติทั่วไปนั้นเหมือนนักแสดงที่เข้าถึงบทจนรู้สึกว่าตนเองเป็นตัวละครหนึ่งจริงๆ ไม่สงสัยเลยในขณะแสดง แต่พอถอดโขน ออกจากฉากได้ก็กลับคืนเป็นคนเก่า ผิดกับผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงมรรคผลแล้ว จะไม่มีตัวละคร ไม่มีผู้แกล้งแสดงเป็นตัวละคร ทั้งหมดเป็นของจริงเนื้อเดียวกัน เป็นตัวของตัวเองเต็มที่

    อีกแง่หนึ่ง โสดาบันอริยบุคคลย่อมผ่านจิตผู้เห็นตนเองเป็นเอกภาวะมาแล้วเมื่อครั้งถึงมรรคถึงผล ฉะนั้นย่อมน้อมเอาความกำหนดหมายเช่นนั้นมาตั้งไว้เป็นสมาธิได้ สมตามที่คัมภีร์เรียกว่าเป็นการเข้า 'ผลสมาบัติ' ส่วนถ้าเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้มีอรูปฌานเป็นทุน ก็อาจเข้านิโรธสมาบัติ ดับความหมายรู้จนไม่เหลือร่องรอยชั่วระยะหนึ่ง ถึงซึ่งนิพพานตรงทั้งยังครองขันธ์ได้เลยทีเดียว

    ปุถุชนทั่วไปถ้ารู้สึกถึงอะไรเช่นจิตว่าง นั่งสมาธิเกิดเห็นความว่างเปล่าไร้ที่จับ ก็ต้องนับว่าตัวความว่างยังเป็นความปรุงแต่งจิตชนิดหนึ่ง เป็นลักษณะหมายรู้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เอกภาวะอันมีรสประหลาดล้ำอย่างนิพพาน สังเกตได้จากความว่างนั้นมีขอบเขต มีประมาณ ต่างจากความว่างแบบนิพพานที่ไร้ขอบเขตให้หยั่งกำหนด

    อีกความแตกต่างที่สำคัญ และมองไม่เห็นขณะยังมีชีวิตปัจจุบันก็คือ จิตแบบอริยะจะไม่ถดถอยจากสภาวะที่เข้าถึงแล้ว คือจะเกิดตายอย่างมากสุดอีกเพียงเจ็ดชาติก็เป็นอันต้องจบ แม้ทอดหุ่ยดำเนินชีวิตไปตามปกติ จิตก็สั่งสมความเห็นไตรลักษณ์เพื่อความแหนงหน่ายเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไปนั้น ตายแล้วไม่มีเครื่องประกันว่าเมื่อไหร่ พุทธกาลไหน จึงจะได้ขึ้นฝั่ง ยังต้องลอยคอเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย

    พูดให้ง่ายเข้า ถ้าวัดตามเกณฑ์กิเลส ยิ่งกิเลสน้อยยิ่งทุกข์น้อย พระโสดาบันสิ้นกิเลสในแง่ความสงสัยนิพพาน ก็ทุกข์น้อยลงอักโขมโหฬาร ไม่ต้องพล่านวนหาหลักยึดหรือจุดหมายปลายทางให้ชีวิตนี้และชีวิตหน้ากันอีก

    เพราะฉะนั้นเมื่อพบพุทธศาสนา สิ่งที่ถูก ที่ควรอย่างที่สุดคือเอาตัวให้รอด อย่างน้อยสำเร็จได้ถึงชั้นโสดาบัน เรียกว่าเป็นผู้เข้ากระแส เป็นผู้เที่ยงที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์ภัยเด็ดขาดในวันหนึ่งข้างหน้า จึงจะสบประโยชน์สูงสุดจากการพบพุทธศาสนา

    ถ้าไม่ได้โสดาปัตติผล รับอะไรจากพุทธศาสนารองลงไปจากนั้น จะเป็นบุญกุศลแบบไหน อย่างมากก็จัดเป็นแค่วิชาว่ายน้ำในทะเลใหญ่ สั่งสมสะเบียงกรังติดตัวไปบ้างเท่านั้น

    ยังต้องเหนื่อยใจจะขาดต่อไปเรื่อยๆอยู่ดี

    สำหรับท่านพาหิยะนั้น เมื่อฟังเทศนาธรรมจบ ก็มีวาสนาเข้าถึงอรหัตตผลทันที หมายถึงเกิด ‘จิตยิ้ม’ ต่อเนื่องกันรวดเดียวสี่ครั้งซ้อน นับเป็น ‘รุ่นพี่’ ผู้มีความแก่กล้า พร้อมรับธรรมจาก ‘พ่อ’ มากกว่าเขา มติปลาบปลื้มและอนุโมทนากับท่านเต็มอก อีกทั้งตั้งใจจดจำนาทีนั้นไปจนชั่วชีวิต เพื่อเจริญรอยตามญาติธรรมผู้พี่ให้ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

    แย้มยิ้มสดชื่นอยู่ตลอดเวลาด้วยกำลังขับจากปีติอันได้จากธรรมาภิสมัย จิตรกรหนุ่มมาพิจารณาภาพเขียนที่จะส่งเข้าประกวด เป็นรูปสายลูกไฟยืดยาวที่จบลงด้วยไฟสว่างเป็นประกายพรึก โดยให้ชื่อรูปคือ ‘ตรัสรู้’ อันเป็นแนวคิดที่แพตรีแนะนำเมื่อไม่นานมานี้

    นั่นคือภาพที่วาดไว้ขณะยังเป็นกัลยาณชนผู้ปฏิบัติจิตภาวนา

    บัดนี้เมื่อย้อนกลับมาดูแล้วนึกขอบคุณตนเองที่ไม่ด่วนรีบส่งไปเสียก่อน เขา ‘สัมผัส’ ภาพว่าใช้เป็นเครื่องหมายบอกการตรัสรู้ไม่ได้ จิตสว่างรอบทั่วขอบที่ต่อเนื่องจากจิตร้อนจิตเย็นนั้น อาจเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อทรงอัปปนาสมาธินับแต่ปฐมฌานขึ้นไป

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิตของปุถุชนจะไม่มีลักษณะสว่างรู้ความว่างชนิดไร้ศูนย์กลางและไร้ขอบเขต

    เกิดความคิดใหม่ เลิกคิดหวังเงินรางวัล เลิกคิดชนะใจกรรมการ มุ่งอย่างเดียวคือทำอย่างไรจึงจะสื่อการบรรลุมรรคผลด้วยภาพเพียงภาพเดียวให้สมจริง ไม่มีการเขียนแบบสัญลักษณ์ ไม่มีการส่อนัยอ้อม เห็นแล้วต้องสื่อทันทีกับผู้บรรลุธรรมด้วยกัน ช่วยยืนยันกันได้ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากประเทศไหน

    ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคผล จิตของเขาสงบรวมลงที่กลางอก ถัดจากนั้นจิตปั่นเหมือนน้ำวนที่หมุนจี๋ เกิดขึ้นเพราะดวงแสงวิสุทธิ์ตั้งท่าจะชำแรกโพลงพลุ่งขึ้นพ้นแรงดึงดูดของธาตุขันธ์ อายตนะหยาบและการปรุงแต่งทั้งมวล

    ตาสว่าง คิดออกแล้วว่าจะสื่ออย่างไร เขาสื่อเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ในภาพเดียวไม่ได้ แต่ให้ภาพก่อนพ้นอายตนะหยาบ เพื่อสื่อกับผู้ที่ยังครองอายตนะหยาบด้วยกันได้

    แสงสว่างที่ส่องจัดจ้าเป็นอนันต์ขึ้นมาจากกลางอก แทรกผ่านวังวนเครื่องห่อหุ้มอันมืดมน

    มติเลือกใช้สีม่วงอมดำแทนกิเลสและสิ่งปรุงแต่งเป็นเกลียวน้ำวนชั้นนอก ใช้สีน้ำตาลเหลืองและชมพูอ่อนอมม่วงเป็นเกลียวน้ำวนชั้นในใกล้กับดวงรู้อันสว่างพิสุทธิ์ ที่ได้ช่องผุดโพล่งขึ้นมาเมื่อทางเปิด

    และนี่คือกลอนที่เขาเขียนแด่ธรรมาภิสมัยของตนเองเป็นการกำกับภาพอีกชั้น…


ห่อหุ้ม คลุมจิต มิดเม้น                 เห็นเป็น ตัวกู อยู่ได้

เหยียดคู้ ดูตัว ทั่วกาย                  ร่างร้าย นี้หรือ คือกู

แปลกเปลี่ยน เวียนคิด ผิดแผก          ยากแยก ดีชั่ว ในหัวหู

คราก่อน ตอนนี้ อันไหนกู               รั้งอยู่ ครู่เดียว เดี๋ยวมลาย
    

ทำไมเหวยไม่เคยซึ้งจนวันนี้            วันที่มีพระผู้ชี้จนกูหาย

วันที่เพ่งเล็งรู้ดูใจกาย                  กิเลสพ่ายสำรอกกูรู้ชัดใจ

แสงวิสุทธิ์ผุดชำแรกแหวกทางออก   จากคอกขังพังสู่ฤกษ์เบิกบานไสว

แย้มยิ้มแจ้งแทงกระจ่างกายใช่ใคร    ใจใช่กูรู้แน่แท้แค่ธรรมา



ทางนฤพาน ประพันธ์โดยดังตฤณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น