วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ที่วัดยังวุ่นวายแล้วจะรักษาใจให้เป็นบุญตามหลักพุทธได้อย่างไร (ดังตฤณ)

ถาม : วันๆเจอแต่เรื่องน่าหดหู่ ทำให้ไม่อยากเป็นมิตรกับผู้คน แม้เมื่อไปทำบุญที่วัดหวังจะเจอเรื่องสงบเย็นบ้าง ก็ไปพบกับเรื่องนินทาว่าร้าย แบ่งก๊กแบ่งเหล่า แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนเราจะรักษาใจให้เป็นบุญได้ตามหลักของพุทธศาสนา?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑

ดังตฤณ: 
แต่ละวันมีเรื่องที่เข้ามากระทบใจ หรือเข้าหูเข้าตาให้รับรู้มากมาย แน่นอนครับว่าต้องก่อปฏิกิริยาทางใจในทางใดทางหนึ่ง ไม่พ้นชอบ ชัง รัก เกลียด นิยม หมั่นไส้ ฯลฯ พูดง่ายๆคือถูกใจเราก็อารมณ์เป็นบวก ผิดใจเราก็อารมณ์เป็นลบ

เรื่องของเรื่องคือ ถ้าเราจะตัดสินใจไหลไปตามกระแส โอกาสที่เป็นไปได้มากคือคุณจะมีอารมณ์เป็นลบมากกว่าบวก เพราะโลกนี้มีแต่เรื่องร้ายๆมากระทบยิ่งกว่าเรื่องดีๆ โอกาสเจอเรื่องดีนั้นยาก โอกาสพบเรื่องร้ายนั้นง่าย

พุทธศาสนาชี้ให้เราเห็นความจริง นั่นคือ ยิ่งจิตของคุณมืดด้วยการสั่งสมอารมณ์ลบมากขึ้นเท่าไร โอกาสได้ไปอบายก็มีสูงขึ้นเท่านั้น ธรรมชาติจะไม่ฟังข้ออ้างว่าคุณขาดกำลังใจ วันๆเจอแต่เศษขยะและกลิ่นน้ำครำเน่าเหม็น ยิ้มไม่ออก สดชื่นไม่ไหว ถึงเวลาธรรมชาติก็แค่ตัดสินว่าคุณมืดมากกว่าสว่าง หรือสว่างมากกว่ามืด เท่านั้นจริงๆที่ธรรมชาติทำ

เมื่อมีพุทธศาสนาแล้ว มีการชี้ให้เห็นความจริงแล้ว ที่เหลือก็คือการตัดสินใจเลือก ว่าจะทำตัวมืดหรือสว่าง ข้อธรรมสำคัญทางพุทธศาสนาหาใช่การบอกว่าอยู่ในโลกนี้ง่ายดาย ตรงข้ามยิ่งจะดีเท่าไร ก็ยิ่งต้องว่ายทวนสวนกระแสยิ่งขึ้นเท่านั้น

สรุปคือถ้าจะเป็นพุทธแท้ คุณต้องเก่งกว่าคนทั่วไปนะครับ แม้ตกอยู่ในโลกของการรบกวน คุณก็สงบจิตไว้ไม่รบกวนใครต่อ และแม้ถูกขังให้อยู่ร่วมกับเหล่าอันธพาลจอมเบียดเบียน คุณก็ต้องใจเย็นไม่เห็นเป็นเรื่องบังคับให้เบียดเบียนตอบ

การเป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครก่อน และการเป็นผู้ไม่มีเวรด้วยการพยาบาทอาฆาตใครนั่นแหละ นับได้ว่าเป็นชาวพุทธ นับได้ว่ามีสิทธิ์พ้นทุกข์พ้นร้อนจากวงจรอุบาทว์ วงจรภัยเวรแห่งการเบียดเบียนกันโดยแท้

ข้อธรรมว่าด้วยการอยู่ร่วมกับมนุษย์และสัตว์นั้น ได้แก่พรหมวิหาร ๔ ซึ่งสนับสนุนให้จิตมีความสว่างไสวในทุกสถานการณ์ พรหมวิหาร ๔ ได้แก่

๑) เมตตา คือปรารถนาการไม่เบียดเบียนและการให้ผู้อื่นสุขกายสุขใจ ถ้าใจเป็นสุขแล้วอยากให้คนอื่นสุขตาม นั่นแหละเมตตา ถ้าโกรธใครแล้วเห็นจิตตนเอง เห็นโทษอันร้อนแรงของความโกรธในตนเองก่อนเห็นหน้าเขา แล้วเลือกที่จะเอาความเย็น สามารถปล่อยคำพูดกับการกระทำเย็นๆออกไปได้ นั่นแหละสุดยอดของเมตตา

๒) กรุณา คือเต็มใจช่วยหากไม่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าอยู่รอดปลอดภัยสบายตัวแล้วนึกอยากสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส นั่นแหละกรุณา ถ้าเห็นใครลำบากกระเสือกกระสนแล้วปรารถนาจะทุ่มกายทุ่มใจเข้าไปช่วยกับมือ ไม่นิ่งดูดายกับเสียงร้องขอความช่วยเหลือแม้ต้องกลายเป็นผู้ลำบากเสียเอง นั่นแหละสุดยอดของกรุณา

๓) มุทิตา คือยินดีในความสำเร็จอันเป็นกุศลของผู้อื่น ถ้าเห็นใครทำบุญทำกุศลสำเร็จแล้วชื่นบานยินดีราวกับได้ทำเอง นั่นแหละมุทิตา ถ้าเห็นใครได้มรรคได้ผลหรือพ้นทุกข์พ้นร้อนแน่นอน แล้วเกิดความปลาบปลื้มโสมนัสราวกับตนบรรลุมรรคผลหรือพ้นทุกข์พ้นร้อนเสียเอง นั่นแหละสุดยอดของมุทิตา

๔) อุเบกขา คือวางเฉยเสียได้กับผลกรรมของแต่ละคน ถ้าเห็นตามจริงว่าใครคิด ใครพูด ใครทำอย่างไรก็เป็นคนอย่างนั้น หรือได้รับผลอันสมควรกับการเป็นคนอย่างนั้นแล้ว เขาสร้างที่พึ่งและเครื่องลงทัณฑ์ให้ตนเอง ไม่มีผู้อื่นช่วยได้ เห็นอย่างนั้นแหละอุเบกขา และถ้าเห็นตามจริงด้วยทิพยจักขุอันล่วงประสาทตาของมนุษย์ รู้แจ้งเห็นจริงตลอดสายว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ถ้าคิดดี พูดดี ทำดีย่อมไปสู่สุคติหลังตาย ส่วนถ้าคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายย่อมไปสู่ทุคติหลังตาย หาใครช่วยอุ้มช่วยพยุงไม่ได้ นั่นแหละสุดยอดของอุเบกขา

หากคุณตัดสินใจยึดหลัก พรหมวิหาร ๔ ดังกล่าวแล้วนี้ จะไม่มีข้ออ้างใดๆเลยครับสำหรับการเอาตัวให้รอดจากทุคติ จิตของคุณจะมีที่อยู่อันสุขสงบ คือมีวิหารเยี่ยงพระพรหมผู้ปราศจากภัยเวร แต่หากไม่ปลงใจยึดหลักพรหมวิหาร ๔ คุณก็จะมีข้ออ้างร่ำไปกับการร้ายตอบโลกเมื่อถูกโลกทำร้าย ที่อยู่ของจิตคุณถ้าไม่ใช่นรกก็ใกล้นรกนั่นเอง


คุณโอดครวญกับมนุษย์ด้วยกันเช่นผมนี้ได้ แต่พ้นจากมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่เหลือคือธรรมชาติทางใจของตัวเอง ที่คุณจะไม่มีสิทธิ์หือ ไม่มีสิทธิ์ต่อต้านหรือโอดครวญขอความเห็นใจใดๆทั้งสิ้นเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น