ถาม : พระอรหันต์สอนต่างกันได้ไหมครับ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑
ดังตฤณ:
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าพระอรหันต์ท่านไม่ได้รู้ทุกสิ่งเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะบารมีของพระอรหันต์เพียงพอแค่ช่วยตนเองเอาตัวรอด ไม่ได้บำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยให้ผู้คนรอดมากๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติเช่น ความหยั่งรู้และฉลาดสมบูรณ์แบบเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า
การยกระดับจากปุถุชนกิเลสหนาขึ้นไปเป็นพระอรหันต์ที่หมดกิเลสสิ้นเชิงนั้น หาใช่การมีข้อมูลในหัวเพิ่มขึ้น สิ่งที่ต่างไปคือมุมมองทางใจ เพราะใจอยู่ในภาวะพรากจากโลกของตัวตน ไม่เกาะเกี่ยวกับโลกของตัวตน เหมือนอยู่คนละฝั่งกับโลกของตัวตน
และการเป็นพระอรหันต์ ก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอไปทั้งหมด พวกท่านแค่เลิกชอบใจในกามอย่างเด็ดขาด นิสัยและพฤติกรรมอันเป็นไปในเชิงชู้สาวจึงหายไป แต่วิธีคิด วิธีพูด และวิธีโต้ตอบกับโลกด้านอื่นๆยังอาจดูเหมือนๆเดิม หรือเหมือนๆคนธรรมดาทั่วไป ใจอันพิสุทธิ์ของท่านเท่านั้นที่รู้ว่าจิตแยกตัวออกไปแล้ว ไม่ข้องเกี่ยวรับผิดชอบอะไรกับการกระทำทางกาย วาจา ใจอีกแล้ว
เหล่าพระอรหันต์ท่านได้ชื่อว่าฉลาดทางจิตเสมอกัน จึงเอาตัวรอดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนๆกัน แต่หาใช่จะประกันว่าฉลาดทางความคิดเท่าเทียมกัน ฉะนั้นความสามารถสอนของพวกท่านจึงไม่จำเป็นต้องแยบคายเสมอกัน รวมทั้งนิสัยในการสอน กำลังใจในการสอน ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่สอน อาจแตกต่างกันได้หลากหลาย
อย่างเช่น พระอรหันต์บางองค์ท่านเห็นนรกสวรรค์และภพภูมิอื่นเป็นปกติ กับทั้งเคยชอบใจในการเล่าเรื่องต่างมิติ ท่านก็อาจสอนเรื่องนรกสวรรค์บ่อยๆ และจาระไนรายละเอียดของภพภูมิต่างๆอย่างละเอียด ในขณะที่พระอรหันต์บางองค์ท่านไม่รู้เห็นเรื่องนรกสวรรค์มากนัก กับทั้งเคยเห็นการพูดถึงนรกสวรรค์เป็นเรื่องฟั่นเฝือ พูดไปก็ยุ่งใจเปล่า ก่อความสงสัยไม่สิ้นสุดเปล่าๆ เช่นนี้ท่านก็อาจไม่พูดถึงนรกสวรรค์เลย หรือเมื่อพูดก็พูดแบบรวบรัดตามตำรา ไม่มีการแจกแจงพิสดารตามประสบการณ์ตรง เป็นต้น
แม้แต่หลักการปฏิบัติตนเพื่อเป็นพระอรหันต์นั้น พวกท่านก็เหมือนกันแค่ในแง่ของการดูให้เห็นความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนของทุกสิ่ง ไม่ว่ากายใจนี้หรือกายใจใคร ไม่ว่าวัตถุมีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครอง จนจิตคลายจากอาการยึดว่าเป็นของเที่ยง เลิกถือเอาว่าเป็นเราหรือของเราเสียได้ทั้งหมด
ทว่า ‘วิธี’ ปฏิบัติของพระอรหันต์จริงๆอาจผิดแผกแตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง เช่น ก่อนจะมาเป็นพระอรหันต์ได้นั้น บางองค์ท่านนิยมหลับตาดูความไม่เที่ยงของลมหายใจเป็นหลัก และอาศัยสติรู้ลมหายใจเป็นศูนย์กลางการรับรู้อื่นๆ ในขณะที่บางองค์ท่านไม่ชอบดูลมหายใจเลย ดูแต่ความไม่เที่ยงของปฏิกิริยาทางใจเป็นหลัก อย่างนี้เวลาพวกท่านอบรมลูกศิษย์ก็ย่อมเน้นอุบายวิธีที่ไม่เหมือนกันแน่ๆ ใครสำเร็จมาแบบไหนก็สอนให้สานุศิษย์เอาตามอย่างแบบนั้น
ลูกศิษย์พระอรหันต์ต้องมีพื้นนิสัยหรือความชอบใจที่ใกล้เคียงกับพระอรหันต์แต่ละองค์ จึงคล้อยตามได้ง่าย ประพฤติปฏิบัติตามได้ง่าย หรือกระทั่งประสบความสำเร็จสูงสุดได้ในเวลาไม่เนิ่นช้า หากอัธยาศัยตรงกัน ก็ย่อมผ่านประสบการณ์คล้ายๆกัน รับคำแนะนำได้อย่างเข้าอกเข้าใจเป็นขั้นเป็นตอนได้ชัดเจน
เหมือนขึ้นเขาจากฝั่งเดียวกัน คนชี้ย่อมบอกเส้นทางและอุปสรรคขวากหนามได้ละเอียดลออ ส่วนคนเดินตามก็ย่อมผ่านเส้นทางและสามารถผ่านอุปสรรคขวากหนามได้เช่นเดียวกับคนชี้เช่นกัน แต่หากขึ้นเขาจากคนละฝั่ง แม้ได้รับการชี้แนะอย่างฉลาดแยบคายเพียงใด ก็อาจไม่พบอะไรดังที่คนชี้จากอีกฝั่งกล่าวไว้ เช่น ไม่เจอผาชัน มีแต่ผาลาดเอียง หรือไม่เจอแปลงดอกไม้ป่างดงาม เจอแต่พืชล้มลุก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยอดเขามีอยู่ยอดเดียว ขึ้นมาถึงเมื่อไรก็ได้ชื่อว่าพิชิตยอดเขาได้เหมือนกัน มองไปรอบทิศเห็นเหมือนกัน สูดอากาศโปร่งบนความสูงระดับเดียวกัน แม้จะมาคุยกันขำๆว่าคุณมาลำบากกว่าผม เส้นทางของผมพามาถึงที่หมายเร็วกว่าคุณ ก็ไม่ได้ทำให้ความสุขบนยอดเขาลดน้อยหรือเพิ่มขึ้นเลย
สรุปคือพระอรหันต์ทั่วไปท่านสอนตามอัธยาศัย จะมีก็แต่พระพุทธเจ้า ที่ท่านเป็นจอมอรหันต์ผู้ทรงบำเพ็ญบารมีมาเพื่อสอนคนทุกประเภท ท่านจึงไม่สอนตามอัธยาศัยหรือความชอบใจส่วนตัว แต่จะมีญาณหยั่งรู้เป็นคนๆไป ว่าพื้นนิสัยอย่างนี้ เจอสถานการณ์แบบนี้แล้วต้องแก้อย่างไร หรือจะอาศัยอุบายใดช่วยให้เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น หรือกระทั่งบรรลุมรรคผลแบบฉับพลันทันทีด้วยวิธีไหนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น