ถาม : คู่รักที่ฆ่ากันตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
จะต้องไปชดใช้กรรมร่วมกันแบบไหนครับ? พอเจอกันจะผูกพยาบาทอาฆาตคิดอยากฆ่ากันหรือเปล่า?
เห็นข่าวแล้วสงสารมากครับ
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑
ดังตฤณ:
เหมือนกับคุณถามว่าถ้าเพื่อนชกกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันมีความเป็นไปได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพของแต่ละคู่ครับ ผู้ชายชกกันบางทีกลายเป็นมิ่งมิตรที่ตายแทนกันได้ในภายหลัง เหมือนคำเขาว่าถ้าไม่ต่อยตีก็ไม่ซี้กัน แต่บางคู่ชกแล้วเจ็บใจ ผูกพยาบาทอาฆาตขนาดต้องเอาให้ตายกันไปข้างหนึ่งในวันต่อมาก็มี เข้าทำนองหมัดแพ้ปืนไม่แพ้
สำหรับคู่รักที่ฆ่ากันตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
ก็อาจได้ไปพบกันและรักกันอีก ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างที่เคยอยู่ร่วมกัน ได้มีความคิด
คำพูด และการกระทำต่อกันดีร้ายเพียงใด
ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ชั่ววูบถึงขั้นประหัตประหารกันเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม
ลงเมื่อพลาดพลั้งสังหารชีวิตกันแล้วก็ไม่แคล้วต้องมีความผูกเวรกันอยู่ เพราะการเบียดเบียนชีวิตกันคือบาปอกุศลที่ต้องใช้กำลังโทสะมหาศาล
ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจดีๆก่อนว่า
‘โทสะ’ อาจไม่ได้มาในรูปของความโกรธเกรี้ยวหัวฟัดหัวเหวี่ยงเสมอไป โทสะเป็นกิเลส
เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่มีกำลังผลักดันให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่น
นับตั้งแต่การพูดจาว่าร้าย การทุบตี ไปจนกระทั่งการฆ่าฟัน อาการทางจิตของเจ้าตัวผู้มีโทสะนั้น
จึงมีลักษณะผลักไส อยากทำให้หายไปจากตา หายไปจากตัว หรือหายไปจากโลกนี้เสียเลย
ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อเห็นใครย่างสามขุมเข้ามาจะทำร้ายด้วยท่าทีคุกคาม
และคุณก็อยู่ในภาวะจนตรอกหมดทางสู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจคือ ‘ความกลัว’
ลักษณะของความกลัวคือผลักออก ไม่อยากให้เข้ามา อยากให้สาบสูญไป เป็นต้น
เมื่อคนรักคิดฆ่ากันด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
ต้นตอของการฆ่าอาจไม่ใช่ความเกลียด หลายครั้งการฆ่ากันระหว่างคนรักเกิดขึ้นจากความไม่พอใจอย่างรุนแรงเกินขีดของ
ความทนทาน กระทั่งทำให้หน้ามืดบันดาลความคิดชั่ววูบ นั่นคือปลิดชีวิตให้สิ้นลง
ความไม่พอใจเกินทนจะได้จบตาม
ในกรณีทำนองนี้
อารมณ์ที่ติดตามเป็นเงาตามตัวฆาตกรไปจึงไม่ใช่ความพยาบาทอาฆาตแค้นอยากคิด เอาคืน แต่เป็นความไม่ได้อย่างใจอย่างรุนแรง
หรือเสียใจอย่างรุนแรง
วาระที่จิตของมือสังหารดับลง
กรรมย่อมตกแต่งภพใหม่เป็นภาวะไม่ได้อย่างใจ เสียใจ น้อยใจ
ผูกติดแน่นหนาอยู่กับจิตชนิดหาทางปลิดทิ้งไม่ได้ สภาพที่เขาจะเป็น
สิ่งแวดล้อมที่เขาจะเห็น จะบีบให้เขามีแต่โทสะ เต็มไปด้วยความไม่สมใจเป็นหลัก
ส่วนผู้ถูกฆ่านั้น
ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีกรรมหลักเป็นสว่างหรือมืด และสำคัญคือวาระก่อนขาดใจตายมีความผูกอยู่กับอารมณ์ชนิดไหน
อารมณ์ใกล้ตายของผู้ถูกฆ่ามักเป็นความกลัวผู้ฆ่า
ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงที่จิตของผู้ถูกฆ่าจะผูกอยู่กับผู้ฆ่า
โดยอาศัยความกลัวนั่นเองเป็นเชือกมัด เมื่อฝ่ายฆ่าก็มีโทสะในทางคิดกำจัดชีวิต
และฝ่ายถูกฆ่าก็มีโทสะในทางคิดดิ้นรนหลบหนี
ภพที่จะเสวยร่วมกันถัดจากนั้นย่อมเป็นไปในทำนองไล่ล่า กดดัน เสียใจ น้อยใจ
หวาดระแวง กลัวลาน ฯลฯ จนกว่าบุญเก่าจะตามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้ทัน
การให้ผลของบุญจะมาในรูปความสว่าง เตือนสติให้ระลึกถึงกรรมดีหนหลัง
เห็นนิมิตกรรมดี เปลี่ยนสภาพจิตจากอกุศลเป็นกุศล จนอัตภาพตั้งอยู่ในอบายไม่ได้
ต้องเลื่อนขั้นขึ้นมา
เรื่องดีๆนั้น
โดยมากฝ่ายถูกฆ่ามักนึกออกก่อน
กับทั้งเป็นผู้มีกำลังเหนือกว่าในการก้าวขึ้นสู่ภพสูงขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีบุญ มีสำนึกคิดอ่านเพียงพอ ก็ได้ขึ้นมาเป็นมนุษย์ทันที
และตามหลักกรรมวิบาก
ทำอย่างไรได้อย่างนั้น เมื่อตามกันขึ้นมาเป็นมนุษย์และเจอกันคราวต่อไป
ธรรมชาติจะให้อำนาจในการมีสิทธิ์ฆ่ากับอีกคนหนึ่ง เป็นการสลับกัน ซึ่งนั่นก็คือขึ้นอยู่กับว่าจะมีเหตุบีบคั้นให้อีกฝ่ายนึกอยากฆ่าไหม
และเมื่อถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มกำลังจะฆ่าแกงกัน
ฝ่ายนั้นตัดสินใจให้อภัยหรือเดินหน้าเอาชีวิตจนสำเร็จ
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพระพุทธองค์จึงเน้นเรื่องการให้อภัย
เรื่องการไม่ผูกใจพยาบาท เรื่องการมีเมตตาจิตเป็นปกติระหว่างมีชีวิต หากใครมีใจเป็นสุขเพราะไม่ยึดมั่นความแค้นเคืองใดๆ
เขาจะตายด้วยความโล่งอกเสมอ
หาความกลัวมาเป็นเชือกผูกจิตให้ติดอยู่กับภพแห่งความขนพองสยองเกล้าไม่ได้ เลย
ความเมตตาทำให้คนเราอยู่เป็นสุขระหว่างมีชีวิต
และเป็นผู้ไม่กลัวตายแม้จวนตัวกะทันหัน แถมเมื่อเกิดในชาติถัดไป
ก็จะติดนิสัยการให้อภัย ไม่คิดทำอันตรายใครถึงชีวิตง่ายๆครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น