ถาม : ถามตัวเองเสมอว่าแค่ไหนจึงเรียกว่าทำทานพอดีแล้ว
ในเมื่อเราให้ไปแล้ว ยังต้องให้อีกเรื่อยๆอย่างนั้นหรือ? ใจจริงไม่ใช่คนชอบให้อะไรใคร
ที่เคยให้ๆไปก็เพราะหันมาเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป
แต่ก็ยังเป็นความเชื่อที่ไม่หมดความสงสัย ไม่ได้เห็นผลของการให้แบบทันตาทันใจ
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒
ดังตฤณ:
เพื่อให้รู้ว่าพอดีแล้วหรือยัง เราต้องมาดูเป้าหมายของการทำทานตามอุดมคติของพระพุทธศาสนากันก่อนนะครับ จุดใหญ่ใจความของทานคือเพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน มีความสุขในอนาคต และมีความสุขที่ยั่งยืน แจกแจงได้ดังนี้
๑) เพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน
คือการทำลายความตระหนี่ถี่เหนียว
พุทธเราถือว่าความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นก้อนกรวดหรือก้อนหินโสโครกที่ขวางกระแสความสุข
ความสุขอันประเสริฐนั้นรินมาจากใจซึ่งเปี่ยมความเมตตากรุณา
หากเจอสิ่งอุดตันอย่างความตระหนี่ขวางทาง ก็หมดสิทธิ์หลั่งรินมาทำความชุ่มฉ่ำให้ใจเราเป็นแน่
คุณลองนึกถึงตอนจะเอาแล้วไม่ได้อย่างใจ
หรือนึกถึงตอนตัวเองเถียงหน้าดำหน้าแดงเพื่อแย่งสมบัติกับใคร
ใจมันเปิดโล่งหรือคับแคบ อึดอัดหรือสบาย หายใจเข้าออกด้วยความทุกข์หรือความสุข
แล้วถ้าตลอดทั้งชาติเกิดมาเพียงเพื่อได้รู้จักกับรสชาติของความหวงแหน
ชีวิตจะแร้นแค้นความสุขสักขนาดไหน
๒) เพื่อให้มีความสุขในอนาคต
คือการสั่งสมบุญ สั่งสมกรรมดี อันจะก่อให้เกิดผลหรือที่เรียก ‘วิบาก’ ในอนาคตกาล
ซึ่งอาจเป็นระยะใกล้ชนิดเห็นทันตาในชาติปัจจุบัน
หรืออาจเป็นระยะไกลที่ต้องรอดูกันยาวๆด้วยดวงตาของคุณในชีวิตถัดไป
ไม่ใช่ด้วยดวงตาในชีวิตนี้
พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าผู้ให้ทานเป็นนิตย์ย่อมเข้าถึงสุคติ
โลกสวรรค์และโลกมนุษย์อันมั่งคั่ง ห่างไกลจากความอดอยากและความอัตคัดขัดสน
เนื่องจากบุญเป็นความสว่าง เป็นเหตุแห่งความสุขความเจริญ
เป็นธรรมชาติที่มีหน้าที่ตกแต่งรูปสมบัติและคุณสมบัติอันน่าใคร่ น่าพอใจ
คุณสามารถเห็นลางดีบอกอนาคตอันรุ่งเรืองได้จากหน้าตาและผิวพรรณในปัจจุบัน
ยิ่งคิดเสียสละมากขึ้นเพียงใด ความผ่องใสก็ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเพียงนั้น
๓) เพื่อให้มีความสุขที่ยั่งยืน
คือการสร้างปัจจัยเกื้อกูลให้พบทางสู่นิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานคือบรมสุข
คือนอกจากมีรสอันเยี่ยมเกินรสใดๆแล้ว ยังไม่กลับไม่เปลี่ยนมาเป็นทุกข์อีกเลย
การหมั่นให้ทานทำให้เราลดความหวงแหน
ลดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรๆเป็นสมบัติของเรา อะไรๆเป็นของที่จะเอาติดตัวไปได้
เมื่ออุปาทานเบาบางลงระดับหนึ่ง บวกกับการรักษาศีลและเจริญสติให้ถูกต้องตรงทาง
ในที่สุดอุปาทานอันหนาเตอะก็ถูกกะเทาะให้ร่วงกราวลงได้หมด
จิตเบ่งบานถึงขีดสุดด้วยการเปิดไปพบมหาอิสรภาพคือนิพพาน
ไม่ต้องเวียนกลับมาทนทุกข์ทนร้อนกันอีก
จาก ๓
เหตุผลของการให้ทานตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาดังกล่าวข้างต้น
ทำให้พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญทานอันเกิดจากการฝืนใจทำชั่วครั้งชั่วคราว
แต่พระองค์จะสรรเสริญผู้ที่มีความ ‘ตั้งมั่นในทาน’ หมายถึงการ ‘มีแก่ใจคิดให้’
ไปเรื่อยๆ เป็นนิสัย เป็นความเคยชิน
เป็นธรรมชาติแท้จริงที่ไม่ได้เกิดจากการฝืนใจหรือเล็งโลภหวังผลต่างๆนานา
เมื่อรู้จักฝึกเป็นฝ่ายให้ได้ตลอดชีวิต
นั่นแหละจะก่อนิสัยใหม่ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า
พูดง่ายๆให้รวบรัดคือเปลี่ยนแปลงตนเองจากความเป็นคน ‘ไม่ได้มีใจจริงที่คิดจะให้’
เป็นคน ‘มีใจจริงที่จะให้’
อย่างไรก็ตาม
การทำทานที่ ‘พอดี’ คือทำแต่ละครั้งไม่รู้สึกว่าตนต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
ไม่ได้กู้ยืมใครเขามาทำทาน แต่ทำบ่อยๆจนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องให้อย่างสมควรแก่ฐานะ
คือไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ให้แล้วยังมีกินมีใช้อย่างสบาย
การทำทานแบบไม่ลืมหูลืมตาจน
‘เกินพอดี’ นั้น คือทำด้วยจิตที่เล็งโลภอยู่ว่าจะได้ผลตอบแทนมากมาย ยิ่งทำเกินตัว
จ่ายทรัพย์มากหวังผลมากแบบนักลงทุน อย่างนั้นแทนที่จะได้ดีอาจกลับกลายเป็นได้ร้าย
สวนทางเหตุผลของการให้ทาน คือ
๑) เป็นผู้ไม่มีความสุขในปัจจุบัน
คือสะสมความโลภ วันๆคิดแต่เรื่องการ ‘ลงทุนทำทาน’ เพื่อให้รวยเร็ว
หรือเพื่อให้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงส่ง เมื่อกระวนกระวายเล็งรับผลอยู่ ใจย่อมไม่เป็นสุข
ความตระหนี่ย่อมไม่หายไปไหน ซ้ำร้ายอาจพอกพูนขึ้นกว่าเดิม
เห็นได้จากการที่บางคนทำบุญด้วยการกะเกณฑ์ว่าบุญกองนี้เป็นส่วนของฉันเท่านั้น
ห้ามใครยุ่งเกี่ยว ห้ามใครมามีส่วนร่วม นั่นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ายังขาดความเข้าใจเรื่องการแบ่งปัน
การมีน้ำใจต่อส่วนรวม อันเป็นเป้าหมายแท้จริงของการเสียสละเป็นทาน
๒) เป็นผู้ไม่มีความสุขในอนาคต
คือสั่งสมบุญอันเจือด้วยความโลภ แม้อนาคตกาลเมื่อเกิดใหม่ในตระกูลร่ำรวย
หรือได้เป็นพ่อค้าแม่ขายที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว ความร่ำรวยนั้นย่อมกระตุ้นให้ละโมบโลภมาก
เนื่องจากเคยเล็งไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำบุญในอดีตชาติ ว่าขอให้รวย ขอให้มีมาก
หาใช่ด้วยน้ำใจสละออก เมื่อรวยและมีมากสมใจ จึงไม่คิดแบ่งปันใคร
คิดเป็นแต่จะเอาเข้าตัว พอกพูนให้มากยิ่งๆขึ้นไป คุณลองหามาเถอะ
เศรษฐีโลภมากคนไหนบ้างที่เป็นสุขทางใจ ไม่ว่าจะมีกี่ร้อยกี่ล้าน
ความตระหนี่และความละโมบโลภมากย่อมเป็นของหนัก ของดำ ของน่าเกลียดน่าอึดอัด
ติดจิตติดใจเขาไปทุกฝีก้าว เขาได้ชื่อว่าครอบครองสมบัติเพื่อเป็นทุกข์ทางใจโดยแท้
๓) เป็นผู้ไม่มีความสุขที่ยั่งยืน
คือสวนทางกับการสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้พบนิพพาน เพราะจะพบนิพพานได้นั้น
จิตต้องบริสุทธิ์จากกิเลส แต่นี่ทำบุญเพื่อบำรุงกิเลส
ผลแห่งบุญก็ย่อมมีความขัดแย้ง มีความขัดขืนฝืนต้าน
ไม่ยอมให้เข้าสู่ทางไปนิพพานได้เต็มตัว
สรุปสั้นๆนะครับ ผลอันทันตาทันใจของ
‘การให้ทานที่พอดี’ คือความรู้สึกสบายใจในวันนี้ และอบอุ่นใจกับวันหน้า
ตราบใดยังไม่สบายใจในวันนี้ และยังไม่อบอุ่นใจกับวันหน้า
ก็แปลว่าคุณยังมีความไม่พอดีกับการทำทานนั่นเอง
** IG *
** IG *
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น