ถาม : วิทยาทานกับธรรมทานต่างกันอย่างไรครับ? ขอตัวอย่างที่ทำให้เห็นผลต่างชัดๆในชาตินี้
ไม่ต้องรอชาติหน้าด้วย ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑
ดังตฤณ:
ทานคือการให้ การแบ่งปัน การเสียสละส่วนของตนให้เป็นสิทธิ์ของคนอื่น โดยมุ่งหวังประโยชน์สุขหรือประโยชน์ใช้สอยของเขา
เมื่อคุณคิดให้อะไรเป็นทาน
ทานก็ได้ชื่อตามชื่อของสิ่งนั้น เช่น ให้ทรัพย์แก่ผู้อื่น ก็เรียกว่าทรัพยทาน
บริจาคอวัยวะแก่ผู้อื่น ก็เรียกว่าอวัยวทาน
(แม้ไปลงชื่อไว้เฉยๆว่าหลังคุณตายค่อยเอาไปใช้
ก็จัดเป็นอวัยวทานแล้วด้วยเจตนาที่ตั้งใจจะยกให้ตามนั้นจริงๆ)
การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อื่น
เพื่อให้เขามีความสามารถประกอบกิจกรรมแบบโลกๆ เช่น สอนคณิตศาสตร์ สอนกฎหมาย
สอนเล่นเปียโน ล้วนแล้วแต่เป็น ‘วิทยาทาน’ (วิทยาแปลว่าความรู้)
แต่ถ้าให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อื่น
เพื่อให้เขาคิดได้ เพื่อให้เขารู้จักบาปบุญคุณโทษ สำนึกผิด ละอายต่อบาป
และเกิดแรงบันดาลใจในการทำดี ถางทางให้ตัวเองพ้นทุกข์ระยะสั้น พ้นทุกข์ระยะยาว
และพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาดถาวร เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ธรรมทาน’
(ธรรมในที่นี้หมายเอาสัจจะความจริง ความดีงาม ความถูกต้อง และความประพฤติชอบ)
เมื่อทราบนิยามของทานทั้งสองชนิดแล้ว
ผมก็จะกล่าวแยกให้เห็นถึงความต่างในเชิงอานิสงส์ดังนี้
๑) วิทยาทาน
ให้ผลคับแคบ กล่าวคือจะทำให้เกิดความฉลาดเฉพาะเรื่อง หรือมีความชอบใจเฉพาะด้าน
เช่น ในชาตินี้ยิ่งสอนเรื่องเครื่องจักรกลมากขึ้นเท่าไร
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องจักรกลก็ยิ่งแม่นขึ้นเท่านั้น
ใครถามอะไรตอบได้หมด จะศึกษาวิทยาการจักรกลชั้นสูงก็รู้สึกเหมือนขนม
แต่พอให้เรียนภาษาต่างประเทศกลับอึ้ง ให้พูดกับฝรั่งอาจใบ้กิน
ความรู้ความฉลาดที่เคยมีหายไปหมด เหลือแต่ความรู้สึกทึบๆทื่อๆ นั่นเพราะอานิสงส์ของวิทยาทานเฉพาะด้านไม่ได้ประกันว่าจะเกิดแสงสว่างกว้างรอบ
วิทยาทานเพียงกำจัดความทึบบางส่วน และจุดแสงปัญญาขึ้นมาบางด้านเท่านั้น
ผู้ที่ให้วิทยาเป็นทานด้วยความกระตือรือร้นอยากสร้างคนไปตลอดชีวิต
จะเกิดใหม่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่บีบให้ชอบใจในเรื่องเดิมๆ
กับทั้งมีความสามารถพิเศษเหนือคนวัยเดียวกัน ดังที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘พรสวรรค์’
เพราะสำคัญว่าสวรรค์เบื้องบนประทานความสามารถมาฟรีๆกับใครบางคนนั่นเอง
๒) ธรรมทาน
จะให้ผลกว้างขวาง กล่าวคือจะทำให้เกิดความฉลาดทั่วไป
ไม่จำกัดว่าเป็นไปในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะธรรมทานมีอำนาจกำจัดหมอกมัวคลุมจิตของผู้อื่น
จึงย้อนมากำจัดหมอกมัวคลุมจิตของตนเอง และธรรมทานที่จุดแสงปัญญาให้ผู้อื่น
ย่อมย้อนมาเพิ่มความสว่างไสวให้ปัญญาตนเองด้วย พอจิตฉลาด ปราศจากหมอกมัว
ก็คิดอ่านได้แจ่มใสทะลุปรุโปร่งไปทุกเรื่องเป็นธรรมดา
ผู้ที่ให้ธรรมะเป็นทานด้วยความปรารถนาจะให้ผู้อื่นบรรเทาทุกข์หรือพ้นทุกข์พ้นร้อน
ไม่หลงเข้ารกเข้าพง จะมีความฉลาดในการเอาตนเองออกจากทุกข์ทางใจ
และฉลาดในการพัฒนาตนเองทุกๆด้านไปจนกว่าจะเข้าถึงนิพพาน
เท่าที่เห็นกับตามาจริงๆ
ความเจริญรุ่งเรืองของผู้ให้ธรรมะเป็นทานจะยิ่งใหญ่พิสดารเหลือเชื่อ
จาระไนให้ละเอียดแล้วเหมือนโกหกกัน ฉะนั้นผมขอยกเอาเฉพาะประเด็นสำคัญ
ที่ช่วยให้คุณเกิดข้อสังเกตในการทดลองด้วยตนเองดังนี้
๑)
หากเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้องเสียก่อน
ธรรมทานของคุณจะถูกฝาถูกตัว คือถูกกาล ถูกบุคคล
อานิสงส์ย่อมเป็นผู้สามารถจับจุดถูกได้ทุกเรื่อง เมื่อคุณสามารถจับจุดได้ถูกก็ทำให้ไม่สับสน
เมื่อไม่สับสนก็มีสมาธิอยู่กับเรื่องตรงหน้า
เมื่อมีสมาธิอยู่กับเรื่องตรงหน้าก็หูตากว้างขวาง เห็นสถานการณ์ตามจริง
เห็นทางออกให้กับทุกทางตัน
หรือเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆให้กับวิธีล้าสมัยทั้งหลาย
๒)
หากให้ธรรมทานโดยใจไม่เล็งโลภอยากได้สิ่งตอบแทน
มีแต่ความปรารถนาประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง
อานิสงส์คือลดความมืดแห่งความตระหนี่และความโลภลง แล้วเพิ่มแสงสว่างแห่งความสละออกและความเอื้อเฟื้อ
เมื่อใดคุณเสียสละและเอื้อเฟื้อ เมื่อนั้นใจคุณจะเปิดกว้าง เมื่อใดใจคุณเปิดกว้าง
คุณจะไม่หมกมุ่นปิดประตูรับรู้สิ่งใหม่ อะไรเข้ามาก็รับได้หมด
ทำความรู้จักคุ้นเคยได้หมด
๓)
หากคุณทุ่มแรงกายแรงใจด้วยความแน่วแน่ ในอันที่จะทำให้ผู้อื่นสนใจธรรมะ
เข้าใจธรรมะ ตลอดจนยอมรับธรรมะมาเป็นแนวดำเนินชีวิตและแนวแก้ปัญหาชีวิต
อานิสงส์คือคุณจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการใช้ปัญญาและความคิดอ่าน เมื่อคุณรู้สึกว่าตนเองมีบุญหนุนให้คิดสำเร็จทำสำเร็จ
ก็ย่อมเชื่อมั่นในสติปัญญาว่าจะคลี่คลายเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้เสมอ
หรือกำจัดอุปสรรคให้เป็นทางโล่งได้เสมอ
หรือสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาแทนสิ่งเก่าที่เสื่อมแล้วได้เสมอ
สำหรับข้อ ๓ นั้น
ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกับวิทยาทานเป็นพิเศษ เพราะการให้วิทยาทานนั้น
บางเรื่องแทนที่จะให้ทางออกกับชีวิตคนอื่น กลับกลายเป็นสร้างปมกับชีวิตเขาก็มี
เช่น ถ้าคุณสอนให้เขามีความสามารถยิงปืนได้แม่น
ก็คงไม่หวังให้เขาใช้ความรู้นั้นไปเจรจากับสามีหรือภรรยาที่บ้านด้วยสันติวิธีเป็นแน่
เมื่อกล่าวถึงด้านที่ควรชื่นชม
ก็ควรกล่าวถึงด้านที่ควรระมัดระวังไว้ให้สมบูรณ์ เพราะตามธรรมชาติแล้ว สิ่งใดมีคุณใหญ่
เมื่อพลิกกลับด้านก็ย่อมให้โทษหนักเช่นกัน
คุณเคยสงสัยไหม
ทำไมบางคนทั้งโง่ทั้งฉลาดปนเปราวกับไม่ใช่คนเดียวกัน? ทำไมบางคนเงียบๆดูหน้าตาท่าทางฉลาดแต่พูดประโยคเดียวรู้เลยว่าสมองกลวง?
ทำไมบางคนคิดอย่างอัจฉริยะแต่กลับลงมือทำเหมือนคนปัญญาอ่อน? ฯลฯ การมีอยู่จริงของคนเหล่านี้แหละ
คือผลของกรรมอันยอกย้อนหรือขัดแย้งกันเป็นตรงข้าม
ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยๆพอให้เห็นภาพนะครับ
๑)
ครูบางคนให้วิทยาทานเต็มกำลัง
นักเรียนได้รับความรู้และเกิดความฉลาดคิดฉลาดทำมากมาย แต่ระหว่างสอนอยู่หน้าชั้น
ครูคนนั้นก็อาจให้คำแนะนำในทางที่ผิดบ่อยๆ เช่น ส่งเสริมนักเรียนไปมั่วอบายมุข
สนับสนุนการมีฟรีเซ็กซ์ตั้งแต่วัยเรียน ซึ่งนักเรียนก็หลงเชื่อ
เพราะอาศัยอำนาจเลื่อมใสในครูผู้เก่งกล้า
ครูชนิดนี้นับว่าให้วิทยาทานจนประกันความฉลาดคิด
ฉลาดเรียนรู้ในชาติถัดมา แต่ขณะเดียวกันก็ประกันความโง่ในการใช้ชีวิต
หรือในการตัดสินใจอันมีผลสำคัญกับความสุขความทุกข์
๒)
อาจารย์บางท่านถ่ายทอดได้ดี ฟังเข้าใจง่าย
แต่ไม่ค่อยคำนึงว่าเนื้อหาที่ตนสอนไปนั้นตรงหรือไม่ตรง ใช่หรือไม่ใช่กันแน่
บางทีก็เกิดจากความขี้เกียจค้นคว้า บางทีก็เกิดจากการหลงลืมแล้วไม่พยายามตรวจสอบให้แน่ใจ
บางทีก็เกิดจากอคติส่วนตัว สรุปคือเอาง่ายหรือเอาแต่ใจตัวเข้าว่า
ไม่สนใจว่านักศึกษาจะรับการถ่ายทอดไปผิดๆอย่างไร
อาจารย์แบบนี้นับว่าสร้างอัธยาศัยทางการสอน
ผลย่อมเป็นคนพูดเก่ง พูดชัด พูดเข้าใจง่ายด้วยวิธีที่ชาญฉลาด
ทว่าเมื่อใช้ความฉลาดในการออกแบบหรือคิดสร้างสรรค์ใดๆ ก็มักเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด
อาจหยุมหยิม หรืออาจใหญ่โต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่เคยสอนแบบไม่รอบคอบนั้น
มีผลให้เกิดความเข้าใจผิดร้ายแรงแค่ไหน
๓)
ผู้เข้าใจธรรมะมักอยากให้ใครๆเห็นว่าตนมีภูมิรู้ภูมิธรรม มีความรอบรู้
และเป็นผู้อยู่บนทางถูก ทางตรง ทางประเสริฐ พูดง่ายๆว่าอยากเป็นที่ยอมรับนับถือ
ไม่เป็นผู้มีความผิดติดตัว คนประเภทนี้จึงอาจอยากแสดงธรรมเอาหน้า
สอนคนเพื่อให้ได้หน้า และจะยอมเสียหน้าไม่ได้ด้วยประการใดๆ เช่น
สอนผิดแล้วคนอื่นทักท้วงก็โมโหและพยายามโจมตีกลับ
หรือพยายามเถียงข้างๆคูๆหน้าดำหน้าแดง ยอมยืนกรานว่าพระพุทธเจ้าพูดผิดดีกว่าตนกล่าวผิด
สรุปคือไม่ได้ให้ธรรมะเป็นทานด้วยความปรารถนาประโยชน์ต่อผู้อื่น
จะเอาดีเข้าตัวท่าเดียว
บุคคลเยี่ยงนี้นับว่าเป็นผู้ให้ธรรมเป็นทานด้วยจิตที่เจือความโลภและความโกรธ
เมื่อน้ำหนักของเหตุเอียงไปในข้างกิเลสแล้ว น้ำหนักของผลก็ย่อมออกไปในทางร้ายมากกว่าทางดีไปด้วย
เช่นผิวนอกอาจเหมือนฉลาด ด้วยผลแห่งบุญที่ชอบสอนธรรมะ
แต่เอาเข้าจริงพอใครให้แสดงความรู้ความสามารถ ก็กลับไปไม่รอด เข้าตำราท่าดีทีเหลว
เผลอๆกลายเป็นตัวตลกอวดขี้เท่อให้คนหัวเราะเยาะกันใหญ่
อันนี้ก็ด้วยผลแห่งบาปที่ปล่อยให้ความโลภและความโกรธล้ำหน้าธรรมะนั่นเอง
๔)
นักเทศน์บางท่านมีศิลปะการพูดดีเลิศ คำสอนอาจเหนี่ยวนำให้คนอื่นอยากคิดดี
อยากพูดดี และอยากทำดี แต่ตัวของนักเทศน์เองกลับไม่ทำในสิ่งที่ตนสอน เช่น
พร่ำบอกว่าการโกหกพกลมเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
ท่องตำราให้คนฟังเป็นคุ้งเป็นแควว่าผลของการมุสาจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้
แต่ปกติตนเองสามารถปั้นน้ำเป็นตัวได้โดยปราศจากความละอาย
ทำไปทำมาพวกนี้จะรู้สึกเหมือนหลอกคนอื่นได้สำเร็จ
และสำคัญผิดว่าตนยิ่งใหญ่เหนือใครๆ หรือกระทั่งเหนือกรรมวิบาก
เพราะไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ตนสั่งให้คนอื่นทำ
นักเทศน์ประเภทนี้นับว่าตีสองหน้า
ให้ธรรมทานด้วยวาทะแบบดาราขึ้นเวที หาใช่คิดให้ด้วยใจจริง
ในภายหลังใจของเขาจึงเข้าถึงธรรมยาก เห็นตามจริงยาก
หรือแม้จะทำความเข้าใจตนเองก็ยังยาก
ผลที่เกิดในชาติถัดไปคืออาจเป็นพวกฉลาดล้ำทำงานไม่พลาด
โดยมีข้อแม้ว่าผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับผู้อื่น แต่เมื่อคิดทำเพื่อเอาประโยชน์เข้าตัวเองแล้วล่ะก็
จะกลับโง่ลงถนัดใจ คิดผิดตัดสินใจพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นอกจากนั้นแม้ปราดเปรื่องเรื่องงานปานใด ก็อาจทึบตันเมื่อเผชิญกับปัญหาส่วนตัว
ที่สำคัญคือหูเบา โดนต้มตุ๋นง่าย ใครๆเห็นหน้าแล้วอยากลองว่าจะทันคนหรือหัวอ่อน
กล่าวสรุปก็คือแค่เป็นครูยืนอยู่หน้าชั้นเรียนไม่พอ
ยังมี ‘รายละเอียดความเป็นครู’ ของแต่ละคนอีกมากมายที่จะถูกนำมาเป็นตัวชี้
ว่าใครจะได้รับอานิสงส์จากการให้วิทยาทานและธรรมทานเพียงใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น