วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ใช้คนทำบุญได้บุญน้อยกว่าคนถูกใช้จริงหรือ (ดังตฤณ)

ถาม : มีเรื่องเล่าว่าเศรษฐีใช้คนของตนใส่บาตรพระทุกวัน แต่เมื่อถึงเวลาตาย เศรษฐีได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นต่ำกว่าคนใช้ เพียงเพราะไม่ได้ใส่บาตรเองกับมือ อยากให้คุณดังตฤณเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒

ดังตฤณ:
 
ลองนึกถึง ‘ความเป็นจริงทางใจ’ ของนายและบ่าวคู่นี้ดูนะครับ เบื้องต้นคือเศรษฐีรู้จักธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส อยากทำบุญทำกุศลเพื่อความเจริญงอกงาม ซึ่งทางที่เศรษฐีมองเห็นคือใส่บาตรพระเพื่อเลี้ยงชีพพวกท่าน เป็นการสืบทอดพระศาสนาด้วยวิธีให้อาหารการกินอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่าการ ‘นึกอยากใส่บาตร’ ย่อมปรากฏชัดในจุดเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม อารมณ์อยากใส่บาตรหาได้คงเส้นคงวาไม่ เมื่อเอาแต่นอนตื่นสาย ลืมตามองจิ้งจกบนเพดาน ไม่ได้เห็นพระ ไม่ได้เห็นสำรับกับข้าวของคาวของหวาน ไม่ได้มีใจผูกพันอยู่กับการรอถวายภัตตาหาร กับทั้งไม่ได้สัมผัสขณะแห่งการใส่บาตรที่มีกลิ่นและไออุ่นของข้าวมาเป็นแรงบันดาลปีติ ไหนเลยเศรษฐีจะมีใจเป็นบุญได้เต็มดวงในแต่ละเช้า?

นานๆท่านเศรษฐีอาจระลึกด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ ว่าเราใช้คนใส่บาตรทุกวัน เราได้ทำบุญต่อเนื่องสม่ำเสมอดีจริงหนอ การนอนใจเพียงนั้นแล้วไม่ทำบุญอย่างอื่น วันๆจิตใจผูกอยู่กับเรื่องบ้าน เรื่องการงาน เรื่องชื่อเสียงเกียรติยศ เรื่องลูกเมีย ตลอดจนเรื่องเมียน้อย เช่นนี้ปีติสุขย่อมมีกำลังอ่อน และพลอยทำให้เกิดการสะสมบุญแบบไม่เบิกบานในระยะยาวไปด้วย

ส่วนคนใช้เล่า ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร? ต้องตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อหุงหาอาหารตามคำสั่ง แม้เขาไม่ได้ริเริ่มตั้งใจใส่บาตรทุกเช้าด้วยตนเอง แถมทรัพย์สินในการซื้อหาเครื่องของก็ไม่ใช่ของเขา ทว่าเขาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ เรี่ยวแรงและเวลาที่เขาอุทิศให้กับการเตรียมของ ตลอดจนการออกไปรอพระใส่บาตรนั่นแหละ คือต้นทุนที่เขามีส่วนร่วมกับเจ้านาย

ขอให้ตรองดู ทรัพย์สินเงินทองเป็นของไร้วิญญาณ ไม่อาจเตรียมอาหารใส่บาตรพระ ไม่อาจปรุงรสให้ดี ไม่อาจยกอาหารเดินไปรอขบวนภิกษุ ดังนั้น ต้นทุนที่เป็นเงินจึงมิใช่ทั้งหมดของการได้มาซึ่งภัตตาหาร จำเป็นต้องนับรวมเอาต้นทุนที่เป็นแรงกายและแรงใจเข้าไปด้วย

ด้วยความกระตือรือร้น ติดใจในการใส่บาตรพระ ได้เห็นพระใกล้ๆ ได้กลิ่นหอมของศีลแห่งสมณะ ได้สัมผัสกระแสความว่างพิสุทธิ์ของพระผู้รู้แจ้ง (ซึ่งหาไม่ยากนักในครั้งพุทธกาล) นั่นเองส่งผลให้คนใช้ ‘อิ่มบุญ’ ในระยะยาว คนเราถ้าวันๆจิตใจผูกอยู่กับข้าวปลาอาหารที่จะถวายพระ อย่างไรก็ต้องเกิดบุญใหญ่ บันดาลปีติ บันดาลความสว่างเป็นอันมากแน่นอน

จริงๆแล้วคนเรามีโอกาสก่อกรรมมากกว่าใช้คนอื่นใส่บาตรพระและลงมือใส่บาตรพระด้วยตนเอง เรื่องเล่าที่ว่าตายแล้วเศรษฐีไปเกิดในสวรรค์ชั้นต้น ส่วนคนใช้ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นสูงกว่านี้ ชี้ง่ายๆว่าถ้าบุญจากการใส่บาตรเป็นตัวนำไปเกิดใหม่ล่ะก็ ผลต่างจะห่างกันตามกำลังใจ เรื่องเล่าจะเป็นจริงหรือไม่คงไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนสำคัญคือการสาธิตให้เห็นกฎแห่งกรรมวิบากอันเป็นของจริง คือน้ำหนักบุญจะมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับกำลังใจเป็นหลัก หาใช่ปริมาณทรัพย์สินที่ทุ่มลงไปในการทำบุญไม่

โบราณว่าแข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนานั้นอย่าหวัง อันนั้นก็จริงอยู่ถ้ามองกันชาติเดียวชีวิตเดียว แต่ความจริงที่สมบูรณ์กว่านั้นก็คือ แข่งสร้างบุญแข่งวาสนานั้นแข่งได้ แม้ว่าจะต้องไปเห็นบุญเห็นวาสนาชัดๆกันในชาติอื่น


ดังเช่นชาตินี้ ถ้าใครได้ดีจากบุญเก่า เสวยสุขบนกองเงินกองทองล้นหลาม แต่จิตสกปรก คิดได้แค่เรื่องอกุศล ไม่สร้างบุญสร้างกุศลใหม่ หรือทำบุญด้วยกำลังใจที่อ่อน ชาติถัดไปก็จมลง อาจได้นอนกลางดินกินกลางทรายแทน ตรงข้ามกับคนที่มีฐานะแย่กว่า ถ้าเขาเจียดเงินส่วนหนึ่งที่เหลือใช้ไว้ทำบุญทำทานเป็นประจำ ด้วยกำลังใจที่หนักแน่น ชาติถัดไปก็ลอยตัว ปากคาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากท้องแม่บ้าง เป็นการสลับบทกัน เรื่องจริงไม่อิงนิยายเป็นอย่างนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น