วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อยากรักษาสัจจะให้ได้จะทำอย่างไร (ดังตฤณ)

ถาม : อยากรักษาสัจจะกับตัวเองให้ได้ แต่ตั้งใจจะทำอะไรก็ล้มเหลวเสมอ อย่างนี้ควรแก้ไขปรับปรุงตัวอย่างไรดีคะ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑

ดังตฤณ: 
คนเรามีสองพวก พวกหนึ่งไม่อยากรักษาสัจจะ กับอีกพวกหนึ่งที่อยากรักษาสัจจะ พวกที่อยากรักษาสัจจะก็แบ่งย่อยออกไปได้อีก เช่น พวกหนึ่งรักษาได้สำเร็จ กับอีกพวกหนึ่งที่รักษาไม่สำเร็จ

พวกที่รักษาสัจจะไม่สำเร็จนั้นมีเหตุผลมากมาย ขอเพียงเห็นเหตุผลของความล้มเหลว และพยายามแก้ให้ถูกจุด ก็จะเปลี่ยนเป็นสำเร็จขึ้นมาได้

เพื่อให้แยกแยะง่ายและครอบคลุมกับเหตุผลหลักๆของความล้มเหลวในการรักษาสัจจะ ผมขอแยกเป็นวิธีคิด วิธีพูด และวิธีทำ ดังนี้

๑) วิธีคิด คนส่วนใหญ่จะตั้งใจเกินตัว อยากรักษาสัจจะแบบนั้นแบบนี้ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติเอื้อกัน เช่น บางคนตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำธุรกิจของตนเองและรวยให้ได้ในหนึ่งปี เพียงเพราะเห็นพ่อค้าแม่ขายบางรายทำได้จึงเกิดแรงบันดาลใจจะเอาให้เหมือนอย่างนั้นบ้าง แต่มองไม่เห็นปัจจัยของตน ว่ามีความชอบใจในธุรกิจใดบ้าง มีความรู้ความถนัดเรื่องไหน มีความมานะอดทนปานใด ตลอดจนฉลาดคิดฉลาดแก้มากไหม พอทำไม่ได้ภายในหนึ่งปีตามตั้งใจก็รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว และไม่เชื่อมั่นในความคิดใดๆของตนอีก

ความคิดที่เกินตัวมักนำมาซึ่งการลงมือทำที่เกินจริง บางคนเห็นเพื่อนนั่งสมาธิได้วันละสามชั่วโมง เกิดความรู้สึกว่าเพื่อนเราเก่ง และเมื่อเป็นเพื่อนเรา ซึ่งมีความหมายอยู่ในทีว่าเป็นคนที่เสมอกับเรา ก็น่าจะแปลว่าเราเก่งเท่าเพื่อน หรืออย่างน้อยต้องใกล้เคียงกับเพื่อน

ด้วยความคิดผิดฝาผิดตัว ไม่เอาเหตุเอาผลถูกจุดชนิดนี้ จึงทำให้เกิดความตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิให้ได้วันละสามชั่วโมงบ้าง แบบกระโดดพรวดเดียวเอาให้ถึงขั้นสิบ ไม่แม้แต่จะก้าวทีละขั้นอย่างเพื่อน อย่างนี้ก็เสร็จ นั่งสามชั่วโมงไม่ได้อะไรเลยแม้แต่ความนิ่งสงบสักแวบ

สรุปคือถ้าวิธีคิดในการตั้งสัจจะของคุณยืนพื้นอยู่บนความเป็นไปได้จริง โอกาสสำเร็จก็มาแล้วเกินครึ่ง แต่หากวิธีคิดของคุณเลื่อนลอยไม่ยืนอยู่บนฐานความจริงที่กำลังยืน โอกาสล้มเหลวก็สูงลิบ

๒) วิธีพูด คนส่วนใหญ่จะพูดแบบไม่ค่อยคำนึงถึงประโยชน์หรือโทษ อยากพูดอะไรก็พูด อยากบ่นอะไรก็บ่น อยากทิ่มแทงใครก็ทิ่มแทงเลย เป็นการเพาะนิสัยการพูดแบบเพ้อๆ ไม่รู้ตัวว่าปล่อยให้ประจุพลังหายไปเรื่อยๆเกือบตลอดเวลา

ถ้าคุณมีสติและสังเกตตัวเองมากขึ้น จะพบว่าแม้แต่การลงเสียงหัวเราะๆตอนจบประโยคโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ก็ทำให้เปลืองกำลังงาน ไม่ถนอมรักษากำลังกายกำลังจิตไว้ดีๆ จะป่วยกล่าวไปไยกับการพล่ามพูดแบบไม่เห็นประโยชน์ไม่เห็นโทษ คุณจะเป็นคนพูดจาขาดพลังสติ เมื่อพูดแบบขาดพลังสติก็ย่อมไม่รู้สึกถึงค่าของคำพูด เมื่อไม่รู้สึกถึงค่าของคำพูดก็ย่อมไม่รู้สึกเป็นจริงเป็นจังกับการลั่นปากสัญญาว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าสัญญานั้นจะมีให้แก่คนอื่นหรือแก่ตนเอง

วิธีพูดให้เกิดการสั่งสมพลังสติ คือพูดอย่างเห็นประโยชน์ พูดเห็นเหตุเห็นผล แม้แต่การพูดขำๆเพื่อคลายเครียดหรือเชื่อมสัมพันธ์ ก็จัดเป็นการพูดอย่างเห็นประโยชน์ เห็นเหตุเห็นผล ทว่าการพูดขำๆเรื่อยเจื้อยเพียงเพื่อสนองความอยากปลดปล่อยอารมณ์พร่ำเพรื่อ อันนี้ถือว่าเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ ไม่สมเหตุสมผล

๓) วิธีทำ คนส่วนใหญ่ทำตามอยากทันที โดยไม่ยับยั้งชั่งใจ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่สั่งสมความเคยชินผิดๆ คุณจะไม่รู้ตัวว่าความเคยชินผิดๆเป็นอำนาจชนิดหนึ่ง จนกว่าอำนาจชนิดนั้นจะมีอิทธิพลเหนือคุณ บงการคุณได้ทุกเรื่อง

ไม่มีวินัยใดดีไปกว่าการตั้งใจงดเว้นการทำบาป ขอให้เริ่มจากศีลง่ายๆสักข้อที่คุณพิจารณาแล้วว่ารักษาได้ไม่ยาก ทุนเก่ามีพอจะงดเว้นบาปข้อนั้นๆโดยง่าย เมื่อรักษาศีลได้สักเพียงข้อเดียวตลอดหนึ่งอาทิตย์ คุณจะรู้จักพลังการกระทำอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในตนเอง


เมื่อเชื่อมั่นว่าสามารถรักษาบุญ บุญก็จะส่งกำลังให้ใจคุณเชื่อมั่นว่าตนต้องรักษาสัจจะข้ออื่นๆได้อีก สำคัญคือถ้ารู้ว่าพื้นฐานของตนเองอ่อนแอ ก็ให้พยายามทีละข้อ อย่าพยายามรวดเดียวทุกข้อ นโยบายไต่ขึ้นสูงตามลำดับจะช่วยทุกๆแง่ครับ ทั้งเรื่องสั่งสมกำลัง ทั้งเรื่องความเป็นไปได้จริง แล้วคุณอาจพบในขั้นสุดท้ายว่าการรักษาสัจจะมีความน่าอัศจรรย์เพียงใด ประมาณว่าแค่คิดให้เกิดเรื่องอันใด ก็รู้สึกเหมือนเรื่องนั้นเกิดขึ้นจริงแล้วกว่าครึ่งทีเดียว รอแต่เวลาสำเร็จมาถึงอย่างสมบูรณ์เท่านั้น!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น