วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อย่างไรนับว่าเป็นบุญคุณ (ดังตฤณ)

ถาม : มีคนไหว้วานให้ผมช่วยงานเขา ตอนแรกๆผมก็ปฏิเสธไม่อยากทำนัก เพราะไม่ค่อยมีเวลาแล้วก็ขาดความถนัด แต่เขาก็คะยั้นคะยอกระทั่งผมยอมช่วยจนได้ และกลายเป็นว่าทำไปทำมายิ่งดี และประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง มีคนในวงการรู้จัก และเขาก็แนะนำให้รู้จักกับใครต่อใครหลายคน ถึงเวลานี้เขาพูดทำนองว่าผมได้ดีเพราะเขา และจะขอให้ช่วยงานอื่นๆอีก พอผมบ่ายเบี่ยงเขาก็พูดกระทบๆเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ผมรู้สึกงงและไม่รู้ว่าใครควรกตัญญูกับใครกันแน่ ถ้าผมไม่ถือว่าติดบุญคุณเขา จะนับว่าเป็นพวกอกตัญญูหรือเปล่า? ไม่เคยนึกเกลียด แต่ใจก็ไม่เคยรู้สึกเลยว่าคนๆนี้ทำอะไรให้ผม ในเมื่อทุกอย่างก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเขาตั้งแต่แรก

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑

ดังตฤณ: 
ความจริงเกี่ยวกับกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับมุมมองและเจตนาครับ ในกรณีนี้ เบื้องต้นเขาขอความช่วยเหลือจากคุณ กรรมของเขาจึงทำให้เขาเป็น ‘ผู้ขอ’ ส่วนคุณลงมือทำด้วยความคิดว่าให้การช่วยเหลือแก่เขา กรรมของคุณจึงทำให้คุณเป็น ‘ผู้ให้’

ต่อมาเขาแนะนำให้คุณรู้จักกับหลายๆคน (ซึ่งก็คงเกี่ยวเนื่องกับงานที่คุณทำให้เขา) คุณจึงเป็นที่รู้จัก ก็นับว่านั่นคือกรรมที่ทำให้เขาเป็นผู้ให้ และคุณเป็นผู้รับ แม้ไม่เชิงว่าตั้งใจเกื้อกูลคุณแต่ฝ่ายเดียว เขาเองก็พลอยรับผลประโยชน์ในทางอ้อมด้วยก็ตาม แต่ขาดเขาคุณก็คงรู้จักใครต่อใครเองไม่ได้

สรุปแล้วต่างฝ่ายต่างช่วยกันครับ คุณก็ได้ดี ส่วนเขาก็มีส่วนรับผลแห่งการได้ดีของคุณ กรณีแบบนี้ถ้าเล็งกันในแง่บุญคุณจะไม่ชัดเจน เพราะต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์แบบเดียวกับหุ้นส่วน ไม่ใช่หยิบยื่นความช่วยเหลือทางเดียว ที่ตั้งของการระลึกจึงไม่ใช่บุญคุณ แต่เป็นการเกื้อกูล หมายความว่าควรระลึกถึงการเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ระลึกถึงบุญคุณของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แม้คุณตกลงใจช่วยเหลือเขาในงานอื่นอีก ก็นับเป็นความ ‘เกรงใจเพื่อนร่วมงานเก่า’ ไม่ใช่ทำไปเพราะความ ‘กตัญญูกตเวที’ อยู่ดี พอมองด้วยมุมมองนี้ก็อาจสบายใจขึ้นถ้าจะปฏิเสธเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากงานของคุณต้องออกหน้าออกตา อาศัยความสามารถของตนเองเป็นหลัก เขาแค่ออกทุนหรือช่วยเรื่องอุปกรณ์ตามหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเนรคุณ ก็ควรนั่งลงทำใจกลางๆ ชั่งน้ำหนักดีๆว่าที่คุณประสบความสำเร็จนั้น เป็นเพราะตนเองใช้ความพยายามตามลำพัง หรือเขามีส่วนหนุนหลังอยู่มาก แม้เริ่มต้นเขาคิดใช้งานคุณ แต่ถ้าภายหลังเขามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้งานเกิดความสำเร็จ อย่างนั้นคุณคิดได้เต็มที่เลยว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ นับแต่เริ่มชักชวนเข้าวงการเลยทีเดียว

ส่วนการตอบแทนจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รูปแบบของการตอบแทนที่แท้จริง ไม่ใช่การขออะไรให้หมด แต่เป็นการมีน้ำใจจริงๆ อยากทำประโยชน์บางอย่างให้สมน้ำสมเนื้อกับบุญคุณ ซึ่งตรงนี้ใจทุกคนเป็นเครื่องชั่งที่ยุติธรรมได้ครับ อย่าแกล้งคิดเท่านั้นว่าซื้อโอเลี้ยงให้ถุงหนึ่งน่าจะพอ โอกาสมีอยู่ หรือจะมาถึงเองในกาลอันสมควร ตอบแทนท่าใดได้ก็เอาหมด

หากเลือกตอบแทนผู้มีบุญคุณด้วยการ ‘มีน้ำใจ’ กับเขาไปตลอดชีวิต คุณจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของความกตัญญู ว่ามันไม่ใช่แค่จ้องจะตอบแทนให้เสมอภาค แต่มันคือการระลึกถึง หรือจำได้ไม่แกล้งลืม ว่าที่ได้ดี หรือได้อะไรมาแต่ละอย่างนั้น ใครมีส่วนช่วยแค่ไหน อย่างไร เมื่อระลึกได้ก็ย่อมไม่นิ่งนอนใจ ไม่ดูดายเมื่อเห็นเขาลำบาก หรือเห็นเขาสบายอยู่แล้วแต่ยังขาดอะไร ก็จะได้ขวนขวายหาสิ่งนั้นไปให้


พูดกว้างๆไม่พูดเฉพาะกรณีคุณนะครับ ธรรมชาติกิเลสมักทำให้เราหลอกตัวเอง คนอื่นช่วยก็แกล้งจำเป็นว่าไม่ได้ช่วย เขาตั้งใจดีก็ไปคิดว่าเขาหวังประโยชน์ หรือบางทีได้ดีแล้วไม่เห็นหัวคนเคยช่วย ไปรู้สึกว่าเขาต่ำต้อยกว่าตนเอง หรือไม่มีหน้ามีตา ไม่มีเครดิตสมควรพอจะได้ชื่อว่าช่วยเหลือผลักดันเรามา อันนี้ก็สำรวจดีๆแล้วกัน ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณ ใครทำกับคุณอย่างไร และแค่ไหน การหมั่นทบทวนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาขณะใจกำลังสงบๆนั่นแหละ ภูมิคุ้มกันโรคเนรคุณชั้นดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น