วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วิธีแก้ความเสียดายเงินเล็กๆน้อยๆ (ดังตฤณ)

ถาม : ผมสามารถบริจาคเงินให้ผู้ที่เดือดร้อนครั้งละเป็นร้อยเป็นพันบาทได้ โดยไม่เสียดายเลย แต่จะเสียดายมากถ้าต้องจ่ายเงินแค่สิบบาทซื้อขนมมาเลี้ยงเพื่อนร่วมงาน ซึ่งชอบกินขนมจุบจิบ เพราะรู้สึกว่าเป็นการผลาญเงินโดยเปล่าประโยชน์ ช่วยแนะอุบายแก้ไขความตระหนี่ในเรื่องนี้ให้ผมด้วยครับ

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒

ดังตฤณ:
 
กำลังใจในการให้ทานแต่ละครั้ง อย่างไรก็ไม่มีทางเท่ากันหรอกครับ เพราะทุกการให้ทานจะยืนพื้นอยู่บนความคิด และความคิดก็เป็นสิ่งบังคับไม่ได้ ต้องถูกปรุงแต่งขึ้นมาด้วยปัจจัยหลายอย่าง

โดยมากถ้าคุณยังไม่มีน้ำจิตตามอุดมคติพุทธ คือเผื่อแผ่ได้แบบปราศจากเงื่อนไข ยังไม่อาจคิดให้เพื่อเอาความสุขทางใจอย่างเดียวจริงๆ ก็ย่อมอดเสียดายของไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเพื่อนๆเห็นแก่กิน เอาแต่ได้ ชอบของฟรีแต่ไม่ชอบให้อะไรใครฟรีๆ ความเห็นแก่ตัวของพวกเขาย่อมเป็นคลื่นรบกวนใจคุณ ชวนให้นึกอยากหวงของตามพวกเขาได้

หรือแม้เพื่อนๆของคุณไม่ใช่พวกเห็นแก่ได้ แต่ความคิดของคุณก็อาจติดข้องโดยไม่รู้ตัว เช่นนึกทบทวนว่าคนนั้นคนนี้เคยให้อะไรคุณมาบ้าง ตลอดจนรู้สึกอยู่ในส่วนลึกว่า คุณและเพื่อนที่ออฟฟิศต่างก็มีหน้าที่ทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเหมือนๆกัน มีอิสระในการจับจ่ายใช้สอยเหมือนๆกัน ถ้าเราต้องเป็นฝ่ายให้ก็เหมือนโดนคนฐานะเดียวกันเอาเปรียบ เมื่อใจเล็งเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบก็ต้องหวั่นไหวเหมือนกวนน้ำให้ขุ่น ไม่อาจตั้งมั่นเป็นทานที่ใสสะอาดเต็มร้อย

แตกต่างจากตอนที่คุณพบผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือเดือดร้อนจวนตัว สิ่งที่ออกมาจากเขาย่อมไม่ใช่กระแสความเห็นแก่ตัว แต่เป็นคลื่นความทรมานกายทรมานใจ ที่อาจปลุกสำนึกแบบมนุษย์ในคุณได้อย่างแรง ความคิดช่วยเหลือจึงเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ความอิ่มบุญจะไม่ทำให้คุณรู้สึกเสียดายแม้แต่นิดเดียว

หากถามถึงอุบายแก้ความตระหนี่ ก็ขอให้ถือเอาความอิ่มใจจากการบริจาคแบบไม่เสียดายเป็น ‘ทุนตั้งต้น’ แล้วกันนะครับ เมื่อใดบริจาคอย่างไม่เสียดาย มีความแช่มชื่นโสมนัส ให้คิดทุกครั้งว่าขอความแช่มชื่นโสมนัสนี้ จงเป็นน้ำล้างยางเหนียว อันได้แก่ความตระหนี่ที่กุมจิตคุณไว้เหนอะหนะ

ครั้งต่อไปไม่ว่าจะให้ทานแก่คนเดือดร้อน หรือคนที่ยังเห็นแก่ตัว ก็ขอให้สังเกตจิตตนเองเป็นหลัก ให้เมื่อใด แช่มชื่นเมื่อนั้น เอาความพอใจกันตรงนั้น หากรู้สึกว่าทำใจไม่ได้ ก็อนุญาตให้ระลึกถึงอาการของจิตที่ให้แล้วแช่มชื่น คุณน่าจะจำได้ชัดว่าการสละให้อย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นอย่างไร แล้วก็สามารถทำได้อีก แม้กับคนเห็นแก่ตัวอันไม่น่าเป็นที่ตั้งของความแช่มชื่น

กล่าวโดยสรุปคือใจคุณเล็งไปที่อะไรเป็นใหญ่ ความรู้สึกนึกคิดก็แปรไปตามนั้น หากใช้ใจเล็งใจ เล็งที่อาการ ‘คิดให้’ หรือเล็งที่ความเบาสบายเบิกบาน ตั้งความพอใจในกุศลจิต พิจารณาว่าจิตอันเป็นทานคือของดีที่ได้กับคุณเอง ตลอดจนหมั่นระลึกว่าการฝึกให้ทานจนติดเป็นนิสัยจะพาสบายทั้งวันนี้วันหน้า เช่นนี้ในที่สุดคุณจะไม่คิดเล็กคิดน้อย ใจเลิกเล็งความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างสิ้นเชิง


คนเราทำกรรมทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาปอยู่บนความไม่รู้ พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่าถ้ารู้เหมือนพระองค์ว่าผลแห่งทานที่ทำเป็นนิสัยแล้ว มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เพียงใด ทุกคนคงให้คนหรือสัตว์อื่นบริโภคก่อนตนเองทุกครั้งเป็นแน่แท้ครับ



** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น