วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การดับความโกรธอย่างสิ้นเชิงจะถูกกับหลักจิตวิทยาหรือไม่ (ดังตฤณ)

ถาม : จากที่ศึกษามา นักจิตวิทยาบางคนกล่าวว่า ความโกรธเป็นแรงขับดันให้กระทำการอย่างหนึ่ง ทำนองเดียวกับที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่าการกระทำของมนุษย์ถูกผลักดันด้วยความรู้สึกทางเพศ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ความโกรธเป็นเรื่องสามัญที่มนุษย์ต้องมี แค่ควรควบคุมมัน เพื่อแปรรูปความโกรธเป็นพลังงานกระทำการ เช่นเดียวกับนักมวยจะมุ่งมั่นชกสุดแรงเกิดได้ ก็ต่อเมื่อกระเหี้ยนกระหือรือที่จะล้มคู่ต่อสู้ หากไม่มีเชื้อของความโกรธเกลียดหรือความอยากเอาชนะใครเป็นทุน ก็คงยากที่จะโค่นศัตรูสำเร็จ คงใจอ่อนยอมให้อีกฝ่ายไล่ถลุงตัวเองแทน หากความจริงเป็นเช่นนี้ จะแปลว่าแนวคิดเกี่ยวกับการระงับความโกรธ ไม่เป็นไปได้จริงกับการมีชีวิตในโลกหรือไม่?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒

ดังตฤณ:
 
อาชีพบางอย่างต้องใช้โทสะ หรืออาศัยความดุดันเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จจริงๆ ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกีฬาที่มีเป้าหมายเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้เป็นหลัก

และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ ‘เกมชีวิต’ ซึ่งหลายโอกาสจะเหมือนกับการแข่งกีฬา เราก็อาจมองได้ว่าความโกรธ ความใจร้อน ความอยากได้อะไรอย่างรุนแรง นับว่ามีส่วนสำคัญ ขาดมันก็เท่ากับขาดพลังขับเคลื่อนไปสู่การได้สิ่งที่ต้องการ

ตัวอย่างที่มักยกกันก็เช่น เด็กยากจนบางรายอาศัยความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกหยามน้ำหน้า จึงฮึดสู้ ถีบตัวจากสภาพยาจกขึ้นสู่ความเป็นเศรษฐีใหญ่ บางรายก็ใหญ่ระดับโลกเสียด้วย นั่นก็เป็นตัวอย่างของความโกรธที่มีแรงดันดุจน้ำพุพาขึ้นสูง ทำให้ชนะในเกมชีวิตได้ ไม่ใช่เรื่องสมมุติกันเล่น

ถ้าตอบเฉพาะโจทย์ข้อนี้ ก็ต้องบอกว่าใช่ครับ! ความโกรธเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ถ้าเรามองในแง่ที่มันเป็นคุณ มันก็มีคุณอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเล็งให้เห็นโทษ มันก็มีโทษอยู่มากมาย

คุณคงเคยได้ยินว่าโจรขึ้นบ้านสิบครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว เพราะอย่างไรโจรก็เอาไปแค่สมบัติเครื่องใช้
แต่ไฟเอาไปหมดแม้แต่เสาเรือน เรียกว่าไม่เหลือที่ซุกหัวนอนไว้ให้เจ้าของกันเลย

แต่คุณว่าไหม ไฟไหม้บ้านสิบหน ยังไม่เท่าไฟไหม้ตัวหนเดียว เพราะถึงสูญบ้านไปถ้าไม่ตายก็หาใหม่ได้ เศรษฐีคนหนึ่งอาจมีบ้านให้เผาเป็นสิบหลัง โดยเงินในธนาคารยังเหลือให้ปลูก บ้านใหม่อีกร้อยแห่ง แต่ตัวตายนี่หมดสิทธิ์เลย ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ต่อให้เป็นเจ้าของบ้านร้อยหลัง ก็ต้องยกทั้งร้อยหลังนั้นให้คนอื่นหมด ไม่รู้จะเอาตัวที่ไหนไปอาศัยในบ้านเหล่านั้นอีกแล้ว

แล้วไฟอะไรเผาตัวได้แบบหมดสิทธิ์หนี? ไฟชนิดเดียวในโลกที่ยังไม่มีเทคโนโลยีดับเพลิงใด ช่วยระงับได้ก็คือไฟโกรธ นั่นไงครับ! ไฟโกรธนั้นเมื่อเกิดขึ้นที่ใจแล้ว ต่อให้วิ่งหัวซุกหัวซุนไปถึงไหนก็ไม่รอด ต้องโดนเผาเกรียมหมด บางครั้งคุณอาจถูกเผาช้าๆ ให้ตายทรมาน กว่าจะสิ้นลมต้องดิ้นพล่านเหมือนหมูในน้ำร้อนแรมปีเช่น อาฆาตพยาบาทใครแล้วหาทางแก้แค้นเอาคืนไม่ได้ แต่บางคราวก็อาจตายแบบโป้งเดียวจอด เช่น โกรธเมียก็ยิงเมียแล้วกรอกปากตัวเองตาม ดังที่เห็นข่าวกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ต้องสาธยายมาก

ในขอบเขตที่ใหญ่กว่านั้น ไฟโกรธอาจเผาเมืองหรือล้างเผ่าพันธุ์กันได้ เช่นที่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าสงครามล้างโคตรล้างเผ่าพันธุ์นั้น หลายต่อหลายหนมาจากความโกรธของคนๆเดียว ไฟโกรธของมนุษย์จึงได้ชื่อว่ามีฤทธิ์เหนือไฟฟืนและพิษร้ายทั้งปวง เพราะนอกจากมีสิทธิ์ทำลายตัวเองแล้ว ยังอาจลากผู้คนลงเหวมรณะไปด้วยได้มากมายเกินจะนับ

และหากนับเอาการ ‘ทำร้ายตนเอง’ ขั้นสูงสุดจริงๆ มันไม่ใช่แค่การฆ่าตัวตายหรอกนะครับ แต่เป็นการฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพระอรหันต์ หรือทำร้ายพระพุทธเจ้า กล่าวคือถ้าลงมือสำเร็จ ก็จะได้ชื่อว่าก่อ ‘อนันตริยกรรม’ เต็มขั้นทันที อนันตริยกรรมนั้นมีกิจเป็นการปิดกั้นสวรรค์นิพพาน ต่อให้บุญหนักขนาดไหนก็ช่วยให้รอดจากนรกไม่ไหว อย่างไรต้องลงนรกก่อนขึ้นมาเสวยบุญอื่นๆ และแม้ชาติต่อจากนรกมีสิทธิ์เสวยบุญในภูมิมนุษย์ สุดท้ายก็ต้องเสวยเศษกรรมเป็นการตายทรมาน อาจถูกลูกตัวเองฆ่า อาจถูกโจรฆ่า หรืออาจถูกฆ่าด้วยวิธีประชาทัณฑ์ แต่อย่างไรก็ค่อนข้างแน่นอนว่าศพจะทุเรศน่าอเนจอนาถ สมกับที่เคยทำกรรมอันน่าละอายยิ่งยวด ฆ่าได้แม้ผู้ทรงคุณใหญ่อย่างพ่อแม่หรือพระอรหันต์

ก็แล้วอนันตริยกรรมนั้นมีสิ่งใดเป็นแรงขับเคลื่อนถ้าไม่ใช่ความโกรธ?

การที่พุทธศาสนาสอนให้ระงับความโกรธนั้น ประการแรกจึงเป็นไปเพื่อให้เราออกจากวงจรของการเบียดเบียน หมายถึงไม่ต้องก่อบาปก่อกรรมอันจะส่งให้ได้รับผลเผ็ดแสบ ประการที่สองเป็นไปเพื่อให้เราหลุดพ้นจากวงจรทุกข์ หมายถึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่กันอย่างนี้อีก

สำหรับจุดประสงค์ประการที่สองของพุทธศาสนานี่แหละ ที่เป็นคำตอบโดยตรงสำหรับคำถามของคุณนะครับ แม้ว่าโทสะอาจเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ชาวพุทธที่แท้ก็จะไม่เห็นค่าของโทสะอยู่ดี เนื่องจากมองอยู่ก่อนแล้วว่าชีวิตหนึ่งๆ เป็นเพียงห่วงโซ่ของทุกข์ ต่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ได้ร่ำรวยมั่งคั่งอย่างไร ก็ได้ชื่อว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของทุกข์อยู่ดี

เพื่อที่จะตัดตนออกจากห่วงโซ่แห่งทุกข์ อย่าว่าแต่โทสะอันน่าอึดอัดเลยครับที่เราต้องทำลาย แม้แต่ราคะอันชวนรัดรึงก็ต้องทิ้งให้ได้

แก่นสารสูงสุดของพุทธศาสนาเป็นเรื่องพูดลำบาก ต้องเห็นให้ชัดตามลำดับว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ แล้วจึงยอมรับกันได้ในขั้นท้าย ว่าสูงสุดแห่งโทษคือการติดอยู่กับกิเลส สูงสุดแห่งประโยชน์คือการหลุดพ้นจากกิเลส


การไปสู่ความหลุดพ้นได้สำเร็จไม่ต้องอาศัยโทสะเป็นแรงขับดัน แต่อาศัยปัญญาเห็นโทษของโทสะ เห็นโทสะเป็นของร้อนของเหม็น เห็นโทสะเป็นของอื่นจากจิต เป็นของนอกจิต เป็นของไม่เที่ยง เป็นขยะ การหวงโทสะไว้ในแต่ละครั้งคือความโง่เปล่า การเป็นอิสระจากโทสะต่างหากคือความฉลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น