ถาม : การนับถือศาสนาใดน่าจะบอกอยู่ในตัวว่าคนๆหนึ่งเคยทำบุญมากับศาสนานั้นแต่เหตุใดหลายคนจึงเปลี่ยนศาสนาได้
และบางคนเปลี่ยนบ่อยๆเสียด้วย? นอกจากนั้นยังน่าสงสัยว่าถ้าพุทธศาสนาให้สติปัญญาให้ความรู้ความจริงอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้นับถือ
เหตุใดเพื่อนที่เคยตั้งใจถือศีล
๘และปฏิบัติธรรมจริงจังจึงหันไปสวามิภักดิ์กับศาสนาที่เน้นศรัทธาได้?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑
ดังตฤณ:
ถ้าคุณเข้าใจว่าคนๆหนึ่งหันมาเลื่อมใสนับถือศาสนาได้อย่างไร ก็จะไม่ประหลาดใจหรอกครับมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหิวความสุขกับที่พึ่งพิงอันอบอุ่นมั่นคง และศาสนากับกิจกรรมทางศาสนาทั้งเล็กและใหญ่ ก็ล้วนเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดความอิ่มเอิบชื่นบาน เหมือนได้พบที่ซบอิงทางใจถาวรด้วยกันทั้งสิ้น
ความสุขทางศาสนาจะทำให้ใจเปิด
เมื่อใจเปิดก็จะรับคลื่นพลังศักดิ์สิทธิ์ของศาสนานั้นๆได้ โดยอาจมาในรูปของความสว่างและอบอุ่นนุ่มนวลภายใน
เช่นเมื่ออ่านข้อความที่ยกระดับจิต ปรับความเห็นผิดที่คิดว่าโทสะเป็นเรื่องธรรมดา ให้เปลี่ยนเป็นเห็นถูกว่าโทสะเหมือนไฟร้อน
หาใช่เรื่องธรรมดาน่านอนใจ ทุกคนชอบที่จะร้อนตอบกับไฟราวกับดิ้นเป็นอื่นไม่ไหว ทั้งที่จริงเรามีสิทธิ์เลือกเย็นเหมือนน้ำ
เพื่อดับไฟร้อนของเขาและของเราลงก็ได้
ทุกศาสนาสอนให้เปลี่ยนร้อนเป็นเย็นเช่นนี้เหมือนๆกัน
และหากคุณรู้สึกถึงกระแสการโน้มน้าวไปในทางสงบเย็นตามกันได้ บางครั้งก็อาจสัมผัสกระแสสว่างเย็น
ที่รินออกมาจากตัวหนังสือกล่อมเกลาความรู้สึกให้นุ่มนวลและตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์งดงามได้เป็นครู่
กระแสสว่างเย็นที่คล้ายรินจากหน้ากระดาษนั้น
แท้จริงก็คือความสว่างเย็นจากดวงจิตอันเป็นมหากุศลของคนอ่านเอง เป็นสิ่งที่รินจากข้างใน
ไม่ใช่ข้างนอก ส่วนความนุ่มนวลอ่อนโยนที่ตามมา ก็คือลักษณะความสงบละไมอันเป็นธรรมชาติแห่งมหากุศลจิต
กระแสความสุขเดียวกันในแต่ละคน
จะเป็นสะพานเชื่อมโยงเข้ากับพลังศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาของตน ถ้าศาสนาที่คุณนับถือเน้นศรัทธา
คุณจะถูกชี้ให้นึกถึงความสว่างนอกตัวซึ่งมีจริงและสัมผัสได้จริง
ไม่ว่าจะเป็นกระแสเทพ หรือกระแสศรัทธาศาสนิกชนนับพันล้านอันทรงพลังยิ่งใหญ่
แต่ถ้าศาสนาที่คุณนับถือเน้นปัญญา
คุณจะถูกชี้ให้นึกถึงความสว่างในตัว
ซึ่งก็มีจริงและสัมผัสได้ทันทีเพราะนั่นคือกระแสจิตของคุณเอง
เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า
บุญเก่าทำให้คุณถูกปลูกฝังให้มีแนวโน้มที่จะสัมผัสความสุขอันบรรเจิดนอกตัวหรือในตัว
หากถือเอา
‘การทำบุญกับศาสนา’ เป็นเครื่องหนุน ก็น่าจะได้คำตอบอยู่ในตัวเองครับ ชั่วชีวิตคนๆหนึ่
งอาจมีโอกาสได้ทำบุญกับหลายศาสนา แม้เพียงด้วยใจยินดีเข้าร่วมกิจกรรม หรือแม้เพียงสรรเสริญศาสนาใดให้คนฟังเกิดนึกเลื่อมใสขึ้นมาวูบเดียว
ก็ชื่อว่าคุณสร้างบุญไว้กับศาสนานั้นๆแล้ว ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเลย หากคุณจะเปลี่ยนใจกลับไปกลับมา
ระหว่างศาสนาแห่งศรัทธากับศาสนาแห่งปัญญา
เมื่อยังเข้าไม่ถึงที่สุดของศาสนาทุกศาสนา
คนๆหนึ่งย่อมไม่อาจมองกวาดไปโดยรวม แล้วตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าศาสนาใดจริงศาสนาใดเป็นที่สุด
จุดอ่อนที่สุดของมนุษย์ทุกคนคือความไม่รู้ ส่วนจุดแข็งที่สุดของทุกศาสนาคือทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองรู้แล้ว
ด้วยจุดอ่อนของมนุษย์
หากเอาคนๆหนึ่งที่กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน หรือขาดความเป็นตัวของตัวเองมาเลือกศาสนา
เหตุผลของการนับถือศาสนาจะขึ้นอยู่กับว่าเขา ‘กำลังอยากได้อะไร’ ศาสนาสำหรับเขาจึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าการลงทุนนับถือเพื่อแลกของรางวัล
แต่ด้วยจุดแข็งของศาสนา
หากเอาคนๆหนึ่งที่มีความเป็นตัวของตัวเองมาเลือกศาสนา เหตุผลของการนับถือศาสนาจะขึ้นอยู่กับว่าเขา
‘กำลังอยากรู้อะไร’ ศาสนาสำหรับเขาจึงเป็นเข็มทิศชี้ให้เห็นว่า ‘สิ่งใดควรรู้’
และ ‘ต้องทำอย่างไรจึงจะรู้’
สรุปคือตอนกำลังหันหน้าเข้าหาศาสนา
ต้องดูว่าคนๆหนึ่งกำลังขาดอะไร แล้วศาสนาใดหยิบยื่นสิ่งนั้นให้ได้ก็นับว่าเข้ากันทันที
ผมขอยกตัวอย่างหลายปีก่อน
ผมเคยมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เปลี่ยนใจจากพุทธไปนับถือศาสนาอื่นเพราะผู้หญิง กล่าวคือสาวที่มาชักชวนให้เข้าศาสนานั้น
ต้องตาต้องใจเขา และวิธีเดียวที่จะเข้าใกล้เธอ คือไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาทุกอาทิตย์
ช่วงที่ประกาศกับใครๆว่าเขานับถือศาสนานั้น
เขายืนกรานว่าตนเอง ‘เชื่อ’ อย่างหมดหัวใจ
ไม่ว่าจะเป็นคำสอนที่ยากจะพิสูจน์เพียงใด แต่หลายเดือนต่อมาหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในความรัก
แถมรู้ว่าสาวยอมใช้ตัวเองเป็นเหยื่อล่อใจหวังเพียงให้เขามาติดพันเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา
เพื่อนเลยบอกศาลา เลิกขาดทั้งสาวทั้งศาสนา
พอเจอหน้ากันแล้วถามใหม่ว่ายังเชื่อหลักการหรือคำสอนของศาสนานั้นอยู่ไหม
เพื่อนตอบเต็มปากเต็มคำว่า ‘ไม่เชื่อ’ หนักแน่นเท่ากับที่ครั้งหนึ่งเคยตอบว่า
‘เชื่อ’
สิ่งที่แต่ละคนอยากได้นั้นแตกต่างกัน
แล้วร้ายกว่านั้นคือคนๆหนึ่งอาจต้องการไม่เหมือนเดิม ภายในเวลาห่างกันเพียงเดือนเพียงปี
ที่แน่นอนคือคนสนใจเหยื่อล่อตรงประตูทางเข้า อาจเปลี่ยนความสนใจไปหาเหยื่อล่อที่ประตูอื่นอย่างรวดเร็ว
โดยไม่เคยข้ามผ่านประตูจริงจังแม้แต่บานเดียว
สรุปคือถ้าสำรวจดูให้ดี
ความสุขนั่นเองคือประตูเข้าศาสนา ถ้าตั้งต้นจุดชนวนความสุขได้ก็จบ เหตุผลร้อยแปดประสามนุษย์ชอบเข้าข้างตัวเองตามมาทีหลังได้
เหตุผลของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนความเชื่อของตนเท่านั้น
สำหรับคำถามที่ว่าทำไมเพื่อนคุณซึ่งเคยถือศีล
๘ แถมขยันภาวนา ยังอุตส่าห์เปลี่ยนใจไปหาศาสนาอื่น คำตอบก็คงเรียบง่ายครับ เขายังไม่สุขจริงกับรสชาติความเป็นพุทธ
แต่เมื่อหันไปทางอื่น กลับพบสุขที่น่าพอใจยิ่งยวด แถมอาจง่ายดายกว่าการต้องทำอะไรยุ่งยากดังที่เคยเพียรมาก่อนอีกด้วย
ปัจจุบันพุทธศาสนาแบ่งเป็นความเชื่อหลายสาย
บางสายเป็นไปเพื่อความจริงจัง เพื่อความเพ่งเครียด
เพื่อความเก็บกดก็แน่นอนว่าทำไปทำมาย่อมเกิดทุกข์ ไม่เห็นจะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา ไม่เห็นจะเปลี่ยนจากทุกข์เป็นสุขกับเขาเสียที
แถมพอบ่นให้อาจารย์ฟังอาจารย์ก็ติเตียนว่าเป็นเพราะทำผิดเอง จึงเกิดผลเสียหายไม่อาจช่วยอะไรได้เสียอีก
หากเพื่อนของคุณมีวาสนาบารมีเก่า
สามารถเข้ากันได้กับสายความรู้
สายการปฏิบัติที่ช่วยให้พบความจริงเห็นพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ศาสนาแห่งการจมแน่นอยู่กับทุกข์ เขาก็คงไม่เปลี่ยนศาสนาหรอกครับ
เพราะที่สุดสุขอยู่ที่การพ้นทุกข์ในตัวเองแล้ว ไม่ต้องแสวงหาอะไรจากที่ไหนอื่นแน่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น