วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อยากปฏิบัติธรรมในเมืองเพราะไม่มีเวลาไปปฏิบัติข้างนอก (ดังตฤณ)

ถาม : ดิฉันมีคนมาชอบพอเยอะ แต่ละคนก็ตามใจและเอาใจสารพัด ช่วงหลังเหมือนเด็กที่ถูกตามใจจนเหลิง ทำให้ใจเราร้อนรุ่ม อ่อนไหวง่าย แล้วก็ไม่อยากทนอะไรสักอย่างเดียว กลายเป็นคนทุกข์หนัก สำคัญกว่าอะไรคือรักที่เราคิดว่าใช่ก็ไม่ได้เป็นสุขนัก เมื่อมาอ่านหนังสือธรรมะจึงเริ่มอยากปฏิบัติธรรม แต่ก็เกิดอุปสรรคอีก เพราะไม่มีอิสระในการไปไหนมาไหน แล้วก็ไม่ค่อยมีเวลาสะดวกที่จะเข้าคอร์สเป็นเรื่องเป็นราว ขอคำแนะนำว่าถ้าอยากปฏิบัติธรรมโดยยังต้องวุ่นวายกับการงานและความรัก ยังไม่ถึงขั้นหวังมรรคผล ควรจะต้องทำอย่างไรคะ ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑

ดังตฤณ: 
ต้องตั้งมุมมองให้ถูกอย่างนี้ก่อนนะครับ คุณไม่ได้อยากปฏิบัติธรรม แต่อยากหายร้อนรุ่มกลุ้มใจ พอมองให้ออก อ่านให้ตรงจุดอย่างนี้ ก็คงคุยกันได้ถนัดขึ้น เพราะถ้าไปมองผิดจุด นึกว่าตัวเอง ‘อยากปฏิบัติธรรม’ คุณจะไขว่คว้าหาเวลา หาโอกาส และกิเลสจะมีข้ออ้างมาบอกคุณสารพัด ว่าไม่พร้อม ไม่คล่องตัว หรือไม่สะดวกที่จะ ‘ปฏิบัติธรรม’

เดิมที่คุณ ‘อยากได้’ แล้วสมใจเพราะมีคนหามาพะเน้าพะนอ ดูเผินๆ เหมือนดี แต่พอสมใจง่ายๆ ก็ ‘อยากได้อีก’ ราวกับระลอกคลื่นทะเล ความอยากอันทยอยมาไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเอง คือต้นเหตุของความกระวนกระวายไม่เลิก ไม่เคยอิ่มเต็ม ไม่เคยสมใจจริงๆ สักที เหมือนรสหวานแห่งความสมหวังต้องมาคู่กันกับรสขมแห่งความไม่รู้จักพอเสมอ

พอคุณทราบว่าการปฏิบัติธรรมคือสูตรสำเร็จฆ่าทุกข์ คุณก็ ‘อยากปฏิบัติธรรม’ ซึ่งพอเห็นว่าตัวเองไม่พร้อมด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ก็กระวนกระวายเพิ่ม เท่ากับเป็นทุกข์สองเด้ง ทุกข์แบบโลกๆ ไม่พอ มาทุกข์กับธรรมะเข้าให้อีก

คนที่เขาปฏิบัติธรรมกันนั้น ไม่ใช่อะไรนักหนาหรอกครับ ก่อนอื่นเขาทำความเข้าใจเพื่อเห็นตามจริง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดูว่า ความอยากเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อละความอยากเสียได้ ทุกข์ก็หายไปเป็นธรรมดา

ความอยากเป็นสิ่งดับง่ายจนคุณนึกไม่ถึง เพียงเท่าทันให้ได้ว่าความอยากเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการดับทุกข์ทางใจแล้ว กล่าวให้รวบรัดคือแค่เท่าทันว่าความอยากเกิดขึ้น ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมกันเต็มตัวแล้ว ไม่น้อยหน้านักปฏิบัติธรรมไหนๆแล้ว

เมื่อเท่าทันความอยากได้ ก็แค่สังเกตแบบไม่เร่งร้อน ว่าในความอยากนั้น ใจคุณถลำออกไปข้างนอกหรือว่ายังรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ หากรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ คุณจะเห็นความอยากเหมือนส่วนเกิน คุณจะไม่หวงมันไว้ เมื่อไม่หวงไว้ ก็ไม่มีความเหนียวเหนอะแห่งอาการยึด พูดง่ายๆ คือเห็นความอยากด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวเมื่อใด ความอยากก็จะเหือดหายไปในทันที

แต่หากใจถลำไปข้างหน้า จับยึดบุคคลหรือวัตถุภายนอกแน่นหนาแล้ว เหมือนเนื้อตัวและลมหายใจถูกทิ้งไว้เบื้องหลังแล้ว คุณจะรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่างทั้งทางกายและทางใจ เช่น มีความเสียดแทงในอก มีแรงดันออกมาจากกลางอกให้อึดอัด หรือในหัวเครียดตึงจนตาแทบถลน อาการอยากแบบนี้จะถูกรู้ได้ยาก เพราะขาดความรู้เนื้อรู้ตัวเป็นฐาน ทางที่ดีคือให้กลับมาระลึกก่อนว่าคุณกำลังอยู่ในอิริยาบถใด คนเราต้องมีอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยากสักแค่ไหน

เมื่อ ‘ระลึกได้’ ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถใด ค่อยดูใหม่ว่าความอยากส่งแรงกระทำกับคุณตรงไหน ถ้านั่งอยู่ก็ให้รู้ว่าเกิดความอยากแบบนั้นๆในขณะนั่ง ถ้ายืนอยู่ก็ให้รู้ว่าเกิดความอยากแบบนั้นๆ ในขณะยืน หรือจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็ให้รู้ว่าเกิดความทะยาน เกิดแรงดัน หรือเกิดความบีบคั้นหนักหรือเบาเพียงใด ที่สำคัญคือเมื่อดูไปเรื่อยๆ คุณเห็นมันหนักขึ้นหรือเบาลง

ถ้ามันหนักขึ้นให้ดูร้อยครั้งก็ดูมันร้อยครั้ง ถ้ามันเบาลงให้ดูพันหนก็ดูมันพันหน แค่ปลูกฝังความพอใจที่จะดูเฉยๆ คุณก็จะหลุดจากการหลงตามมันอย่างง่ายๆ ไม่น่าเชื่อ เช่นนี้จะเห็นว่าตัวเองปฏิบัติได้ผล อยู่ในอิริยาบถใดก็ปฏิบัติกันในอิริยาบถนั้นๆแหละ ไม่ต้องเดินทางไปดับความอยากที่ไหนเลย

ยิ่งเห็นบ่อยเท่าไร ใจก็ยิ่งสงบประณีตยิ่งขึ้นเท่านั้น แม้เพียงครั้งแรก ขอเพียงมีสติอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ความอยากมีกำลังทะยานออกไปยึดอะไรภายนอกน้อยลงแล้ว พร้อมพอจะกลับมารู้เนื้อรู้ตัวกันแล้ว


สรุปคือ เมื่อหวังได้แก้วแหวนเงินทอง คุณอาจหวังได้จากชายที่เข้ามาติดพัน แต่หากหวังให้ใจตนเองสงบ คุณขอจากใครไม่ได้ บีบบังคับใครไม่ได้ ต้องทำด้วยตัวเองอย่างถูกวิธีครับ อยากที่ไหนก็รู้ที่ตรงนั้น ความอยากเกิดขึ้นที่ใจ อย่าไปแสวงหาวิธีดับมันบนเขา ให้รู้อยู่กับใจตัวเองเดี๋ยวนั้นแหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น