วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แรงบันดาลใจ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน เล่ม ๑๒ (ดังตฤณ)

เมื่อยังไม่ถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คนเราจะคิดเท่าที่ถูกตีกรอบไว้ด้วยความสามารถของหูตา เช่นคิดว่าโลกนี้น่าจะมีมนุษย์กับสัตว์อย่างหมู หมา กา ไก่ นก หนู และแมลงเพียงไม่กี่ชนิด ก็เพราะหูตาของมนุษย์เอื้อให้รับรู้ได้จำกัด พูดง่ายๆคือเห็นแค่ไหนก็คิดว่ามีแค่นั้น

หากจะมีอะไรอย่างอื่นที่พ้นหูพ้นตา พ้นการรับรู้ของมนุษย์ ก็ต้องใช้วิธีเดาลูกเดียว เช่นเมื่อรับความเชื่อตกทอดกันมาว่าบนฟ้ามีเทวดา ลึกลงไปในดินมีใต้พิภพ ใต้บาดาล ก็จะพากันเล่าลือสืบๆกันไปเรื่อย โดยไม่อาจรู้เลยจนตายว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีความเป็นอยู่กันท่าไหน เหตุผลกลใดจึงต้องระเห็จขึ้นไปอยู่บนฟ้า หรือมุดลงไปอยู่ใต้ดินกันให้ลำบากลำบน

เมื่อถูกฝึกให้ตีกรอบความคิดด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ อารมณ์ทางความเชื่อของคนส่วนหนึ่งก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น กล่าวโดยย่นย่อคือ 'เดาได้' แต่ 'อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ' จนกว่าจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เดานั้นถูก หรืออย่างน้อยจนกว่าจะเห็นกับตา ฟังกับหูเสียก่อน ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ ยังไม่พิสูจน์ก็อย่าทำเสียงแข็งยืนยันว่าแน่ใจแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์แบบศรัทธาจริต

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น เราหลุดพ้นจากกะลาแห่งความงมงาย แต่ยังคงถูกขังอยู่ในกรงแห่งความไม่รู้จริงอยู่ดี

นักวิทยาศาสตร์หลายคนรู้สึกเจ็บปวดที่ในมืออุตส่าห์มีมรดกข้อมูลมหาศาล แถมด้วยขุมพลังอันยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล่าสุดให้อีก ประดุจเสือติดปีกขนาดนี้ แต่ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้มาก เมื่ออยากรู้อยากเห็นอะไรให้จริงสักเรื่อง

ความเป็นเรามีอยู่จริง แต่เรารู้อะไรเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการมีเราบ้าง?

จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร? มนุษย์คนแรกเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่? โลกนี้มีอารยธรรมมนุษย์มาแล้วกี่ครั้ง? โลกอื่นมีอารยธรรมมนุษย์เช่นพวกเราหรือไม่?

ทุกคำถามยากๆเหล่านั้นตามมาด้วยความพยายามอธิบาย โดยอ้างอิงหลักฐานและข้อพิสูจน์ต่างๆ แต่ใครมีหลักฐานใหม่หรือข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือกว่า เราก็ต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อกันอีกที จนวันนี้ก็ไม่มีข้อสรุปที่นักวิทยาศาสตร์คนไหนกล้ายืดอกประกาศว่าเป็น 'คำตอบสุดท้ายชั่วนิรันดร์' ได้แต่จุดพลุฉลองการค้นพบใหม่ปีต่อปี ดีใจที่ล้มล้างหลักฐานและความเชื่อเก่าๆเท่านั้น

อันที่จริงมนุษย์มีศักยภาพพอจะไขความลับของจักรวาลได้ แต่ที่ความลับของจักรวาลเหมือนไกลเกินเอื้อมก็เพราะพวกเรามัวแต่ถูกหลอกให้มองด้านเดียวมาตลอด

ยกตัวอย่างเช่นภายใต้อุณหภูมิประมาณนี้ แสงสว่างประมาณนี้ น้ำดินประมาณนี้ จึงมีชีวิตอย่างมนุษย์เราและหมูหมากาไก่อาศัยอยู่ได้

เราก็เชื่อว่านี่แหละสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการมีชีวิต หากเป็นสภาพแวดล้อมแบบอื่น ชีวิตก็คงหมดสิทธิ์ถือกำเนิดเกิดมาดำรงอยู่เป็นแน่แท้

นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันว่า ณ ระดับมหาสมุทรลึกกว่า ๖,๐๐๐ เมตร สิ่งมีชีวิตไม่อาจดำรงสภาพอยู่ได้ เนื่องจากแสงอาทิตย์อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตไม่อาจส่องเข้าไปถึง (แค่ ๒๐๐ เมตรก็มืดสนิทยิ่งกว่าถ้ำที่ถูกน้ำท่วมแล้ว) แถมใต้น้ำลึกขนาดนั้นยังไม่ค่อยมีสารอาหารซึ่งจำเป็นสูงสุดสำหรับสิ่งมีชีวิตอีกต่างหาก

ความปักใจเชื่อเช่นนั้นถูกทำลายลงสิ้นด้วยเรือดำน้ำไคโกะ (Kaiko) ที่ญี่ปุ่นทุ่มเงิน ๖๐ ล้านดอลล่าร์สร้างขึ้นมา

(รูปจาก inter.qianlong.com)


เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๙ ไคโกะสามารถดำน้ำได้ถึงจุดที่ลึกที่สุดในโลก คือก้นบึ้งมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีชื่อเรียกว่า 'มาเรียน่า เทรนช์' (Mariana Trench)  ซึ่งลึก ๑๑,๐๐๐ เมตร (ราว ๑๑ กิโลเมตร) และนี่คือภาพของพื้นทะเล ณ จุดนั้น มันมีแรงดันมากกว่าแรงดันอากาศ ๑,๑๐๐ เท่า และนี่เองเราจึงทราบแบบเห็นประจักษ์ ไม่ต้องทำการทดลองหรือพิสูจน์ทราบอีกต่อไป ว่าที่ความลึกของมหาสมุทรตั้ง ๑๑,๐๐๐ เมตร สิ่งมีชีวิตยังอุตส่าห์ดำรงอยู่ได้ ถ้าพอใจจะอยู่เสียอย่าง อย่าว่าแต่ ๖,๐๐๐  เมตรตามความเชื่อเดิมๆเลย!

(รูปจาก smarterscience.com)


สัตว์ใต้น้ำสุดลึกสปีชีส์ที่เราไม่เคยมีโอกาสรู้จักมาก่อนเลย ได้แก่ ปูขาวขนาดเล็ก (small white bythograeid crab)

(รูปจาก mbari.com)


นอกจากนี้ยังมีหนอนทะเล กุ้งเผือก ปลาขนาดเล็กต่างๆ ตลอดจนสัตว์แปลกอีกมาก ทั้งที่พบแล้ว และอาจจะไม่มีทางได้พบตลอดไป ด้วยความที่ห้วงมหาสมุทรมีความลับลึกไพศาลเกินกว่าจะกว้านควานสำรวจได้ทั่วถึง

ทำไมสัตว์เหล่านี้ไม่ตายภายใต้แรงดันมหาศาล? นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น 'ปรับตัว' ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยความดันภายในตัวของพวกมันมีค่าเท่ากันพอดีกับแรงดันน้ำ ณ ระดับนั้นๆ
คำถามต่อไป แล้วพวกมันเอาอาหารที่ไหนกิน? คำตอบคือสัตว์บางตัวไม่มีปากสำหรับกิน แถมไม่มีระบบย่อยอาหารอีกด้วย! พวกมันมีชีวิตรอดอยู่ด้วยไฮโดรเจนซัลเฟอร์ซึ่งพบในน้ำลึกเกิน ๒,๕๐๐ เมตรขึ้นไป

ทีนี้มาถึงคำถามมหัศจรรย์ ภายใต้ท้องสมุทรลึกสุดหยั่งปานนั้น ทำไมสิ่งมีชีวิตถึงต้องดันทุรังไปเกิดด้วย การมองว่าพวกมันต้อง 'พยายามปรับตัว' ทำให้สัตว์ทะเลลึกดูมีความไม่ปกติในตัวเอง หรือไม่ก็ชวนให้นึกไป ว่าสัตว์โลกทั้งหลายสักแต่อยากมีๆชีวิต มีๆเผ่าพันธุ์ของตนให้เต็มโลกโดย ไม่สนใจว่าจะเป็นตรงไหน เหมาะหรือไม่เหมาะ ถ้าไม่เหมาะก็ค่อยปรับตัวเอา แต่ถ้าเหมาะอยู่แล้วก็ไม่ต้องปรับตัว อย่างเช่นมนุษย์เราและสัตว์บนบกอื่นๆคือการดำรงอยู่โดยไม่ต้องปรับตัว

ถ้าเปิดใจกว้างขึ้น ลองมองจากมุมใหม่ เพื่อทำให้โลกนี้มีคำอธิบายที่ฟังขึ้นและสมเหตุสมผลกว่าเดิม เราอาจต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นของชีวิตใช่ว่ามาจากการสืบพันธุ์อย่างเดียว ทว่ามี 'อะไรบางอย่าง' บังคับให้ต้องมีรูปชีวิตแบบหนึ่งขึ้นมาก่อน จากนั้นองค์ประกอบของการเกิดและการดำรงชีวิตอยู่จึงตามมาในภายหลัง

ย้ำว่าต้องมีความจริงอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังของการเกิด และเมื่อได้ชื่อว่าเป็น 'ความจริง' ก็แปลว่าต้องไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของใคร หมายความว่าใครจะพยายามสร้างเรื่องอย่างไร พยายามปักใจเชื่อท่าไหน ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงดังกล่าวได้

พระพุทธเจ้าก่อตั้งศาสนาขึ้นมาเพื่อแสดงความจริง และแม้ท่านจะอาศัยความสามารถทางจิตในการแสดงความจริง ทว่าท่านก็มีเหตุผลฟังเข้าใจง่าย รับรู้ตามได้ง่าย และที่สำคัญคือมนุษย์ทั้งหลายสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงเฉพาะตน

พระพุทธเจ้าทรงตีกรอบความจริงเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตไว้ง่ายๆสั้นๆคือ 'สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม' หมายความว่าใครจะได้ดี ตกยาก กำเนิดในตระกูลสูง หรือลดลงไปเกิดกับหมู่สัตว์ชั้นต่ำ ก็ล้วนแล้วแต่การซัดพาด้วยแรงกรรมทั้งสิ้น!

กรรมคือการกระทำ มีทั้ง 'กรรมขาว' อันเป็นบุญ มีทั้ง 'กรรมดำ' อันเป็นบาป มีทั้ง 'กรรมครึ่งขาวครึ่งดำ' อันคละกันระหว่างบุญกับบาป ตลอดจน 'กรรมไม่ขาวไม่ดำ' อันอยู่เหนือทั้งบาปและบุญ

บุญเก่า เป็นตัวกำหนดให้มีกำเนิดที่งดงาม และได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สว่าง สดใส ปลอดโปร่ง เต็มไปด้วยสีสันและรสชาติอันเลิศ สรุปคือบุญทำให้ได้ดีมีสุข ขอเพียงบุญได้โอกาสให้ผลในตอนเกิดเถิด

บาปเก่า เป็นตัวกำหนดให้มีกำเนิดที่น่าเกลียด และตกไปอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มืด หม่นหมอง อับทึบ ส่ำสี และรสชาติอันเลว สรุปคือบาปทำให้ตกยากเป็นทุกข์ ขอเพียงบาปได้โอกาสให้ผลในตอนเกิดเถิด

บุญบาปจะเป็นตัวกำหนดชนิดของจิตในแต่ละครั้งที่ไปเกิด ว่าจะได้เป็นอะไร บาปใหญ่อาจกำหนดให้เป็นสัตว์เดรัจฉานก็จริง แต่กรรมปลีกย่อยอื่นๆทั้งดำทั้งขาวก็จะเข้ามาตกแต่งรายละเอียดปลีกย่อยต่อไปอีก เช่นจะให้เป็นสัตว์เดียรัจฉานประเภทไหน มีอัตภาพอย่างไร ตกอยู่ภายใต้แวดล้อมสว่างโปร่ง หรือมืดทึบปานใด

(รูปจาก underwatertimes.com)
ขึ้นชื่อว่าปลาหรือสัตว์ทะเล คุณคงนึกถึงแต่สิ่งมีชีวิตเล็กจ้อยหน้าตาน่าเอ็นดู แต่ความจริงคือยังมีปลาน่าเกลียดน่ากลัวมากมาย อาศัยอยู่ในน้ำลึกที่ยากจะพบเจอ อย่างเช่นปลาตกเบ็ดวาฬทมิฬ (Black Whale Anglerfish)
หน้าตาอำมหิตขนาดนี้ถ้าคุณเจอตอนดึกๆในตู้ปลาบ้านใครคงผงะ เพราะราวกับสัตว์นรกในจินตนาการก็ไม่ปาน ทั้งเขี้ยวแหลมเต็มปาก ทั้งตาดุแบบสมุนปีศาจตัวจริงขนาดนี้ ไม่น่าเชื่อว่าพวกมันต้องน่าเกลียดน่ากลัว แถมยังต้องอยู่ใต้น้ำลึกโดยปราศจากเหตุผลเบื้องหลัง
พุทธศาสนาอธิบายว่ารูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวได้มาจากโทสะ ความอาฆาตมาดร้าย ความเหี้ยมเกรียม ความขาดกรุณาปรานี ส่วนการต้องไปถือกำเนิดในถิ่นมืด ก็เพราะน้ำหนักบาปกดไว้ไม่ให้ขึ้นมามีชีวิตที่เจริญและสุกสว่าง ไม่อาจปะปนกับเหล่าสัตว์อื่นที่มีบุญเหนือกว่าได้

เบื้องหลังของรูปชีวิตที่เป็นไปตามกรรมนี้ ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่คุณสามารถ 'รับได้' ด้วยเหตุผลทางความรู้สึก และหากมีอภิญญาคุณก็จะ 'รู้แจ้ง' ได้ด้วยจิตอันทรงญาณกำหนดเหตุอันเป็นต้นกำเนิดชีวิตของพวกมันเลยทีเดียว

ความรู้ในพุทธศาสนานั้น นอกจากจะอธิบายเรื่องดำเนินชีวิตได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว ยังอธิบายเรื่อง 'การมีชีวิต' ได้อย่างกระจ่างอีกด้วย ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความทรงจำก็แล้วกัน

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงเกี่ยวกับการทำงานของสมองมากมาย แต่กลับอธิบายไม่ได้ตลอดสายกับแค่คำถามตื้นๆ เช่นว่าความทรงจำถูกเก็บบันทึกลงในสมองอย่างไร แล้วถูกเรียกใช้ด้วยกลไกแบบไหนกันแน่ ความรู้เกี่ยวกับการเกิดกิ่งก้านสาขาของเส้นประสาทนั้น น้อยนิดเกินกว่าจะอธิบายปรากฏการณ์ซับซ้อนทางความจำได้หมด

เรื่องมันยากเพราะนักวิทยาศาสตร์ตั้งต้นงานวิจัยด้วยความเชื่อที่ว่าสมองคือทุกสิ่ง นับแต่เป็นแหล่งกำเนิดกระแสการรับรู้ เป็นบ่อเกิดของเจตนา ตลอดจนเป็นที่ตั้งของความทรงจำ ด้วยมุมมองตายตัวทำนองนี้ ทำให้งานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสมองเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะได้คำตอบเบื้องต้นสำคัญๆ แต่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวกลับสร้างคำถามใหม่ขึ้นมาอีกนับสิบนับร้อย และจะมีข้อน่าสงสัยไม่รู้จบถ้ายังดันทุรังวิจัยบนพื้นความเชื่อที่ว่า 'สมองคือทุกสิ่ง'

ถ้ามองใหม่ว่าสมองเป็นเพียง 'เครื่องมือ ' ไม่ใช่ 'ตัวบงการ' เราจะหันไปหาความจริงเกี่ยวกับจิตมากขึ้น จิตเป็นนามธรรม เป็นต่างหากจากสมอง เป็นผู้บงการสมอง แต่ก็ทำงานร่วมกับสมอง ต้องการสมองเป็นตัวช่วยค้ำจุน จิตเป็นธรรมชาติรู้ เป็นธรรมชาติเกิดดับตลอดเวลาเหมือนสรรพสิ่งทั้งปวง แม้สมองตายแล้ว ความเกิดดับของจิตก็ยังคงดำเนินต่อไปอยู่ดี

ระหว่างที่จิตเกิดดับอยู่กับกาย ก็อาศัยความกระทบกระทั่งทางใจนั่นเอง เป็นชนวนให้เกิดความรู้สึก เมื่อรู้สึกถึงสิ่งใดย่อมจำสิ่งนั้น แล้วเกิดปฏิกิริยาชอบชังขึ้นมา เกิดเจตนาดีร้ายขึ้นมา ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกันไปหมด

ด้วยมุมมองนี้ การบันทึกความจำลงในสมองหรือในจิตอย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่มี ความจำเป็นกระบวนการเกิดดับในตัวเอง เป็นเหตุปัจจัยคล้ายเทียนต่อเทียน สืบสายจากอดีตมาถึงปัจจุบัน และจะสืบสานคลี่คลายต่อไปถึงอนาคต เช่น คุณมองผนังห้องแล้วจำได้ว่านั่นสีขาว ก็เพราะสีขาวเคยกระทบให้รู้สึกมาก่อน ถ้าไม่เคยเห็นสีขาวเลย ก็จะไม่มีทางรู้สึกในปัจจุบันว่าผนังห้องสีขาว

สมองไม่ได้เป็นตัวบันทึกสีขาว แต่มันช่วยให้ประสาทตาพร้อมทำงาน และรับเอาสีขาวเข้าสู่สำนึกรู้ ตัวรู้สึกสุขทุกข์ คือนามธรรมชื่อ 'เวทนา' ตัวจำได้คือนามธรรมชื่อ 'สัญญา' ตัวปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบคือนามธรรมชื่อ 'สัญญา' และตัวผู้รู้คือนามธรรมชื่อ 'วิญญาณ'

สาระสำคัญสูงสุดของความรู้ทางพุทธศาสนา คือช่วยให้เราเข้าใจว่ารูปนามทั้งหลายเกิดดับอยู่ตลอดเวลาอย่างมีเหตุมีผล ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่มีรูปไหนนามใดเป็นตัวเป็นตนถาวร ต้องแปรเปลี่ยนจากสภาพหนึ่งไปสู่สภาพอื่นอย่างไม่มีทางเลี่ยง

หากเข้าถึงความจริงนี้ด้วยจิต จิตย่อมคลายจากอาการยึด เมื่อไกลจากอาการยึด อุปาทานความหลงสำคัญผิดทั้งหลายย่อมหายไป เหลือแต่ความเห็นตามจริงอยู่ ว่าแม้กายนี้กับจิตนี้ก็ไม่ใช่หญิงชาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เป็นได้ที่สุดก็แค่การปรากฏของรูป การปรากฏของนาม ประชุมกันด้วยกรรมเก่า เป็นต้นกำเนิดกรรมใหม่ มีความบีบคั้น เป็นทุกข์ ต้องแปรผัน ไม่น่าใคร่ ไม่น่ายินดีเลย

หลุดจากกรงแห่งความไม่รู้ คุณจะพบกับท้องฟ้ากว้างใหญ่แห่งความรู้แจ้ง กำเนิดอันเป็นทุกข์ครั้งใหม่จะไม่มีแก่คุณอีกต่อไป มีแต่การรวมเข้ากับความว่างอันเกินคาด เกินจินตนาการ ไม่ดับสูญ แต่พ้นจากประสบการณ์ที่หูตาจมูกปากเคยป้อนให้กับคุณมาตลอดกาลนานนับอนันตชาติ

ดังตฤณ

กันยายน ๒๕๕๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น