วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แรงบันดาลใจ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน เล่ม ๑๑ (ดังตฤณ)

เมื่อคุยกับต่างคน ผมก็ได้รับคำถามที่ต่างไป อย่างเช่นถ้าคุยกับนักเขียนด้วยกัน คำถามที่ได้รับมักจะออกทำนอง 'เขียนธรรมะอย่างไรให้น่าสนใจ'

คำตอบที่ฟังง่ายแต่อาจทำได้ยากในช่วงเริ่มฝึก มีดังนี้

๑) เขียนในสิ่งที่คนอยากรู้

อย่าลืมว่าประเด็นของโจทย์คือ 'เขียนอย่างไรให้น่าสนใจ' ฉะนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับคะแนนความน่าสนใจของเนื้อหาเป็นอันดับต้นๆ ความน่าสนใจนั่นแหละบันไดขั้นแรกสำหรับมือใหม่

ถ้าคุณรู้อะไรแล้วอยากพูดหมดแบบไม่เลือกเลย คนอาจจะแค่รับรู้ว่าคุณรู้อะไรบางอย่าง 'มากกว่า' เขา แต่ไม่ใช่รู้ 'ดีกว่า' เขา เพราะอย่างน้อยคุณก็แยกไม่ออกว่าทั้งหมดที่คุณรู้นั้น มีอะไรบ้างที่เป็นส่วนสำคัญน่าเก็บไว้ มีอะไรบ้างเป็นส่วนเกินน่าทิ้งไป

สิ่งที่คนอยากรู้และควรเก็บไว้ในความจำ จะปรากฏในรูปของคำถามซึ่งคุณได้ยินบ่อย คนเราเต็มไปด้วยความสงสัย ถ้าคำถามข้อไหนคนส่วนใหญ่สงสัยใคร่รู้กันมากก็นั่นแหละครับ สิ่งที่คนสนใจ

๒) เขียนถึงสิ่งที่คนทำได้จริง

นักเขียนมีหลายแบบ ทั้งแบบที่เป็นเสือกระดาษ และทั้งแบบที่เป็นเสือสนาม ระยะสั้นคุณอาจแยกไม่ออกว่าใครเป็นเสือแบบไหน แต่ในระยะยาวคุณจะพบความต่างหลายแง่หลายมุม และแง่มุมที่สำคัญสูงสุดเห็นจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตามได้จริง

ต่อให้คุณเขียนสวยหรู สำนวนโวหารเลิศลอยปานเทพลิขิต ก็คงได้แต่ช่วยให้คนอ่านเกิดจินตนาการเคลิบเคลิ้ม เอาไปทำจริงไม่ได้สักข้อเดียว อย่างดีในที่สุดธรรมะของคุณก็จะเป็นธรรมะขึ้นหิ้ง ไม่ใช่ธรรมะเพื่อการดับทุกข์ตามแบบฉบับดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า

ทั้งนี้ทั้งนั้น เสือใหญ่ในภาคสนามจริงบางรายเขียนไม่เก่ง แม้รู้มาก ประสบการณ์มาก ทำจริงได้มากกว่าใคร ถ้าเขียนไม่เป็นหรือขี้เกียจเขียนเสียอย่างเดียว ก็อาจดูด้อยกว่าพวกเสือกระดาษเก่งๆมาก ตรงนี้ขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยนะครับ การห่อหุ้มเรื่องยากไว้ด้วยเรื่องสนุกอ่านง่ายนั้น เป็นงานศิลป์ที่นักเขียนทุกคนควรฝึก ห้ามมีข้ออ้างเกี่ยงงอนใดๆทั้งสิ้น อย่ามาบอกแบบหยิ่งๆว่าฉันนี่แหละตัวจริงของจริง ถ้าเขียนแล้วไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจก็ช่วยไม่ได้ เชิญแห่ไปหาของปลอมกันเอาเอง เพราะคิดแบบนี้พูดแบบนี้ คนร่วมสมัยจึงหาของจริงที่อ่านง่ายได้น้อย แต่จะเจอของจริงอ่านยากหรือของปลอมอ่านง่ายกันแทน

หลังจากเขียนเรื่องใดเสร็จ ขอให้อ่านดูแล้วถามตัวเองง่ายๆว่าถ้าคุณเป็นคนอื่นคุณจะเสียเวลาทนอ่านไหม? หากตอบว่าแน่นอนฉันจะอ่าน ก็ให้ถามตัวเองต่อไปว่าสิ่งที่เขียนน่าสนใจ เข้าขั้นทำให้ตาโตตั้งแต่บรรทัดแรก แล้ววางไม่ลงจนบรรทัดสุดท้าย หรือแค่น่าสนใจระดับอ่านก็ได้ไม่อ่านก็ดี

ผมเป็นคนมีความไม่พอใจในงานเขียนของตัวเองสูงมาก ตั้งแต่เริ่มๆหัดเขียนมาจนกระทั่งบัดนี้ทีเดียว ทางหนึ่งที่เป็นเครื่องฝึกหัดขัดเกลาก็คือคิดคำให้สั้นเพื่อได้ความสำคัญกระทบใจ หรืออย่างน้อยต้องให้รู้สึกว่าตัวเองได้หยุดชะงักคิดบ้าง สอนตัวเองให้ดีขึ้นได้บ้าง ตัวอย่างคือสิ่งที่คุณเห็นท้ายเล่มนี้ เป็นวาทะคิดใหม่เพื่อรวมให้อ่านโดยเฉพาะ ไม่ได้ลงไว้ในนวนิยายหรืองานเขียนอื่นที่ไหนเหมือนอย่างเล่ม 'วาทะดังตฤณ' ครับ


ดังตฤณ
สิงหาคม ๒๕๕๐


 อ่านบทความท้ายเล่ม http://dungtrinanswer.blogspot.com/2017/05/triamsabieng1145.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น