วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ทางนฤพาน บทที่ ๒๙ สิ้นโศก

บทที่ ๒๙  สิ้นโศก

 อ่านบทความที่แล้ว


    มตินั่งอยู่ที่ระเบียงบ้านตามลำพัง ในคืนพระจันทร์สุกปลั่งสาดแสงเงินยวงเย็นตา เฉกเช่นดวงจิตที่ฉายรัศมีอาภาประจักษ์กับตนเองในภายใน

    ทั้งเปิดตานิ่งดูภาพราตรีอันงามละมุนนั้นเอง มติเห็นเหมือนตนเองมีสองภาค ภาคหนึ่งนั่งพิงพนักเก้าอี้ปล่อยอารมณ์ตามสบาย ทอดตามองจันทร์งามเบื้องบน เป็นมิติที่มีเนื้อตัวหูตาจับจ้องได้ ผิวกายรับอากาศเย็น นัยน์ตารับฉากกว้างใหญ่บนโพ้นฟ้า ทราบชัดในความเป็นราตรีอันผาสุกนั้น

    อีกภาคหนึ่งรู้แจ้งเข้ามาในภายใน กายปรากฏสว่างคล้ายห้องทึบที่ความมืดถูกขับไล่ด้วยแสงใส ใจอันเบาบางจากกิเลสนั่นเองคือแหล่งกำเนิดแสง ส่องให้เห็นสัณฐานคร่าวแห่งกายที่สติอาศัยเป็นพื้นยืน องคาพยพปรากฏดุจข้าวของเครื่องวางภายในห้อง ความรู้สึกนึกคิดปรากฏดุจหมอกควันที่ถูกโปรยฟุ้ง โปร่งบ้าง ทึบบ้าง

    จิตอันเบาบางจากกิเลสนั่นเอง ละเอียดพอจะจ่อนิ่งอยู่กับแสงรู้อันกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับดวงสติ เมื่อน้อมระลึกเข้ามารู้สึกในกาย กายก็ปรากฏเป็นรูปขันธ์ที่ถูกรู้ เห็นมีช่องว่างระหว่างโครงกายกับแสงรู้ จิตและกายไม่เหนี่ยวยึด ไม่เกาะติดกันให้เกิดอุปาทานในอัตตา

    จิตอันทรงแสงรู้นั้น เมื่อตั้งมั่นเด่นดวง ก็ทรงตัวประดุจกองไฟใหญ่อันโชตินิ่งรับกลุ่มแมลงหวี่ที่บินรี่มาวายดับโดยไม่อาจรบกวนเปลวสว่าง ความคิดและอารมณ์ที่สุ่มจรเข้ามาทั้งหลายทั้งปวง หรือกระทั่งความหมายรู้เป็นตัวฉันผู้คิด ก็ปรากฏดุจเดียวกับพยับแดด ที่ดูมีจริง แต่สลายหายหนอย่างไร้ร่องรอย ไร้ตัวตนใดให้ยึดถือได้แม้แต่น้อย

    ด้วยความรู้สึกอ่อนน้อม อ่อนโยนอันเป็นธรรมชาติภายใน มติสำรวจตนเอง แล้วพิจารณาชนิดของความสุขที่บังเกิดขณะนั้น

    อัตตาอันข้นหนักถูกปลดแล้วจากหัวอก จึงเบากายหายห่วง

    ไฟคือราคะและโทสะยากจะลุกโชนขึ้นในดวงจิต จึงสงบเงียบเย็นใจ

    เมื่อกายใสใจเบา กายก็ปรากฏโดยความเป็นอย่างนั้น ใจก็ปรากฏโดยความเป็นอย่างนั้น มีแต่สภาวธรรมภาครู้เห็นสภาวธรรมภาคถูกรู้ เป็นธรรมเสมอกัน ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่เกิดภาวะยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเป็นฐานแห่งอุปาทาน จิตรวมลงเป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง ปราศจากภาระ ปราศจากการวิ่งตามเหยื่อทุกชนิด ปรากฏเป็นสุดยอดเหนือภาวะและอสภาวะกับตนเอง

    “นั่งชมฟ้าเป็นกระต่ายหมายจันทร์เลยนิพี่ชายเรา”

    เสียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งทักมาแต่ไกล ฉุดมติออกจากรสแห่งความว่างอันปราศจากขอบเขตในระดับอุปจารสมาธิ เหลียวมาทางต้นเสียง น้องชายเขานั่นเอง เพิ่งกลับเข้าบ้านในชุดเที่ยวเต็มยศ

    “ว่าไงทับ”

    มติทักด้วยเสียงเรียบเย็น แม้สายตาเล็งแลที่น้องชายด้วยอาการปฏิสันถารอันควรมีควรเป็น แต่ใจยังจับนิ่งด้วยพลังแห่งความตื่นรู้อย่างเป็นธรรมชาติ โล่งว่างจากความคิด สงบเฉยไร้ปฏิกิริยาทางอารมณ์โต้ตอบวิธีทักแบบยั่วแหย่ของประทับ

    “เมื่อกลางวันตอนออกจากบ้าน เราเห็นพี่แพนั่งรถป้ายแดงไปกับหนุ่มหล่ออ้ะมัด”

    ประทับบอกเล่าด้วยความจงใจทิ่มแทง เพราะหมั่นไส้มานานที่มติควงสาวสวยเกินตัว โฉบไปฉายมาอยู่เรื่อย ความจริงมติกับประทับเป็นพี่น้องที่รักใคร่ชอบพอกันดี เสียแต่ประทับชอบเข่นด้วยความริษยาตามโอกาส

    “ถ้าหมายถึงแฟนพี่แพ ก็หลานชายปู่ชนะไงล่ะทับ”

    มติเอ่ยเรียบสนิท

    “อ้อ...อย่างนั้นเรอะ” ผู้น้องทำเสียงสูงอย่างเพิ่งรับรู้ “ตอนเราเดินผ่าน กำลังปิดประตูรั้วก้าวขึ้นรถพอดี พี่แพเห็นเราแล้วหลบๆหน้ายังไงชอบกลว่ะมัด สงสัยอายที่เราเห็นแฟนเขา กลัวเอามาฟ้องนายมั้ง”

    พูดจบก็หัวร่อร่า มติฟังแล้วพยักหน้าเนือยนาย ทราบดีว่าแพตรีคงยังติดอยู่กับความรู้สึกผิด พอเห็นน้องชายเขา เลยทำให้นึกถึงเขาและพลอยเข้าหน้าประทับไม่ติดไปโดยปริยาย

    “เรารู้สึกกับพี่แพ เหมือนที่รู้สึกกับนายนะทับ บอกมาหลายครั้ง ขอให้เชื่อเสียทีเถอะ”

    ประทับทำปากแบะ

    “จะเหมือนกันยังไงล่ะพ่อคู้ณ เราเป็นชาย เกิดจากพ่อแม่เดียวกับนาย แล้วพี่แพเขาเป็นหญิง คนละพ่อแม่กับพวกเรา เดินควงกันไปควงกันมาตั้งหลายปี อี๋อ๋ออย่างกับโรมิโอ-จูเลียต ทำปากแข็งจนเจอใครมางาบไปแล้ว”

    เพราะถูกจี้อย่างแรง โทสะจึงปะทุขึ้นจากใจที่ยังมีสภาพเป็นเชื้อ มติขมวดคิ้วเล็กน้อย ทว่าองค์มรรคคือสัมมาสติแสดงตัวอย่างเฉียบพลัน เพียงไฟโกรธถูกรู้ว่าวูบขึ้นมา จิตอันเป็นผู้รู้ก็แยกเป็นต่างหากออกมาจากไอร้อนทันที ซึ่งเมื่อใจไม่ปรุงแต่งต่อ ไอร้อนแห่งโทสะก็แสดงความเป็นอนิจจัง จางหาย สลายตัวคืนกลับสู่ความว่างเปล่า ปราศจากการผุดขึ้นของอุปาทานแห่งตัวกูผู้โกรธอย่างสิ้นเชิง

    และเพราะพ้นจากการห่อหุ้มของโทสะ จิตจึงมีลักษณะเบิกบาน สะท้อนออกมาด้วยความกระจ่างใสในใบหน้า ปรากฏให้เห็นได้ในเงาสลัวรางแห่งราตรีอันอาบแสงจันทร์

    เมื่อเห็นมตินิ่ง เฉยเมย ปราศจากกระแสความยินยลสนใจลอยออกมาให้สำเหนียกสัมผัส ประทับก็เป็นฝ่ายหงุดหงิดขึ้นมาเสียเอง เขาควักบุหรี่ออกมาจุดสูบมวนหนึ่ง เงยหน้ามองดวงจันทร์กลางฟ้า เงียบเสียงไปแบบนึกเรื่อยเปื่อยลอยตามลมเกี่ยวกับแพตรี แม้อายุจะห่างจากหล่อนหลายปี แต่เขาก็โตเกินพอจะเป็นเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่ง ที่ลุ่มหลงความสวยหวานของผู้หญิงดีๆเช่นหล่อน

    มติชำเลืองแลเงาร่างของประทับ และโดยมิได้ตั้งใจล่วงหน้า จิตอันนิ่งว่างและตื่นรู้ในตนเอง ส่งออกสัมผัสคลื่นความเหม่อลอยอันส่งออกมาจากร่างซึ่งยืนห่างไปเพียงสามก้าว

    ทีแรกก็เหมือนกับที่คนทั่วไปอาจสำเหนียกสัมผัสคลื่นอารมณ์หรือความนึกคิดอันเข้มข้นจากคนอื่น เช่นกำลังมีความเครียดกังวล ความฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ความข้องใจสงสัย ความมีเลศนัยซ่อนแฝง หรือความมีอารมณ์ขันซุกซน แต่ด้วยจิตที่ชำนาญการรู้ทันเท่า และสามารถแยกแยะสัญญาณความคิดอ่านของตนเอง ได้เกิดประสบการณ์ใหม่กับมติ คือเหมือนจิตอันสงัดนิ่งและว่างใสของเขาสามารถล็อกคลื่นความคิดที่กระจายออกมาจากประทับได้ถนัด ราวกับเป็นกระแสความคิดของตนเอง อีกทั้งตีความด้วยอาการหมายรู้ชนิดเดียวกับที่จิตเห็นความคิดผุดขึ้นในหัวตนด้วย

    มติกะพริบตาปริบๆ ความกำหนดรู้เกิดขึ้นชั่วเวลาสั้นๆราวกับเป็นเพียงอุปาทาน เหมือนได้ยินเสียงรำพึงแผ่วกริบ เช่นเดียวกับที่ผุดชัดในหัวตนเอง ต่างแต่ตำแหน่งต้นกำเนิดความคิดถูกรู้ว่าอยู่ที่ประทับ อันเป็นเครื่องชี้ให้จิตทราบว่ายินจากจิตอีกฝ่าย

    ‘ป่านนี้เอาตัวไปไหนว้า จะสี่ทุ่มแล้วยังไม่กลับอีก’

    มติใจเต้นแรง อาการของจิตที่มีปรีชาล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดผู้อื่นแบบ 'เจโตปริยญาณ' เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยปราศจากการตั้งเจตนาไว้ล่วงหน้าแต่ประการใด มติจึงออกสงสัยเล็กน้อย ว่าตนอุปาทานไปเองหรือเปล่า

    เม้มปากนิดหนึ่ง ก่อนถามเลียบเคียงพิสูจน์

    “ทับ...ไฟบ้านพี่แพยังปิดมืดหรือเปล่า?”

    ประทับหันขวับ แปลความตามเข้าใจตื้นๆเพียงว่ามติอยู่ในอารมณ์หึงหวงและเป็นห่วงแพตรีจนเกินหักห้าม ต้องหลุดปากถามจนได้

    “ฮ่า!...ไหมล่ะ” เด็กหนุ่มร้องอย่างมีชัย “เขายังไม่กลับกันโว้ยมัด จะสี่ทุ่มแล้ว ป่านนี้เอาตัวไปไหนต่อไหน”

    มติระบายลมหายใจยาว ประทับพูดคล้ายกับที่เมื่อครู่เขาเห็นฝ่ายนั้นรำพึงในใจ น่าจะใช่แน่ อย่างไรก็ตาม มติพยายามล็อกความคิดของอีกฝ่ายใหม่เพื่อดูว่าเป็นเพียงความสามารถที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามหรือเปล่า

    ด้วยใจที่เต้นผิดจังหวะจากความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ขาดความตั้งมั่นแน่วนิ่งในช่วงแรก เหมือนเขาพยายามจูนหาคลื่นวิทยุในย่านความถี่ที่ต้องการ แต่พบเพียงเสียงอู้อี้ฟังไม่ได้ศัพท์ ประทับกำลังคิดอะไรอยู่แน่ๆ เขาสัมผัสได้เป็นคลื่นหยาบที่แฝงมากับรอยยิ้มเยาะ

    มติกะพริบตา เปลี่ยนวิถีการรู้ทันความคิดคนอื่นมาเป็นเท่าทันตัวโลภะของตนเอง ความสามารถพิเศษทางสัมผัสที่หกเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ฝึกจิต เพราะในภาวะนิ่ง ธาตุรู้อาจถูกน้อมไปใช้อย่างไรก็ได้ สุดแต่จะเลือก

    ถ้าเลือกผิดก็ติดอยู่ในวังวนการเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่เลิก...

    พอสติผุดเช่นนั้น มติก็ตัดความใส่ใจในความคิดคนอื่น หันมากำหนดรู้ความคิดตนเองแทน ซึ่งง่ายกว่า แน่นอนกว่า กับทั้งเมื่อเฝ้าดูโดยความกำหนดเป็นอนัตตาแล้ว วันหนึ่งก็จะถึงที่สุดทุกข์ได้ เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง

    “เรารู้นะว่านายกำลังคิดถึงพี่แพ เป็นห่วงพี่แพ แต่ทำเป็นปากแข็ง”

    ประทับทักทายแบบสู่รู้ประสานักเดาที่สำคัญว่าตนแน่จริง มติตัดรำคาญด้วยการไม่ต่อล้อต่อเถียง แต่น้องชายก็ยังอุตส่าห์หาความยาวอีก

    “อย่าว่าเราตอกย้ำเลย แต่นายตัดใจเถอะ พี่แพเขาสวยเกินไปว่ะ หาใหม่แบบที่เข้ากับนายได้ดีกว่า”

    มติตามดูใจตนเอง ที่น่าจะคุกรุ่นเพราะถูกเด็กเมื่อวานซืนสั่งสอน แปลกที่โลกภายในกลับเงียบสนิท หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติคงเส้นคงวาทุกประการ ราวกับเด็กน้อยไร้เดียงสา ไร้ความยินยลสนใจกับความกระทบกระทั่งอันก่อเกิดจากรูปภาษาของมนุษย์ใดๆ

    อาจเป็นเพราะรู้ทางไปทางมาของราคะ โทสะ โมหะจนเคยชิน กระทั่งเท่าทันแม้ขณะจิตที่รับผัสสะอันควรก่ออกุศล จึงเกิดการตั้งรับขึ้นอย่างเป็นไปเอง คงไว้แต่ความเนิบนิ่งทางความคิด และรู้สึกสงบละไมไม่ไหวติงในกลางอกอย่างไรก็อย่างนั้น

    เมื่อเขาเงียบ ประทับก็เงียบตาม แต่ในความเงียบของประทับมีแรงดันข้นหนักแฝงอยู่ แสดงว่ากำลังคิดหาคำพูดถล่มเขาต่อ ใจที่กำลังอยู่ในอุเบกขา ทรงกำลังรู้ กระแสจิตต่อเชื่อมกันสนิท พลิกกำหนดจับนิดเดียวก็ล็อกสัญญาณความคิดอีกฝ่ายได้ถนัด

    ‘ลูกสาวแม่ค้ากล้วยแขกหน้าปากซอยน่ะเหมาะ’

    ประทับคิดจับคู่ให้กับเขาแบบทีเล่นทีจริง แทนที่จะโกรธ มติกลับขบขันจนหัวเราะออกมา

    “นายขำอะไรวะ?”

    ประทับถามยียวน เพราะนึกว่ามติแกล้งหัวเราะแบบทำเป็นไม่ยี่หระ

    “ขำที่นายจะให้เราเอายายโอ๋มาเป็นแฟนน่ะซี”

    มติตอบตรงไปตรงมา ประทับขมวดคิ้วย่น

    “โอ๋ไหน?”

    “อ้าว! ไม่รู้จักชื่อหรือ ลูกสาวแม่ค้าขายกล้วยแขกไง ตัวอ้วนๆน่ะ”

    คราวนี้ประทับถึงกับสะดุ้ง

    “เอ๊ะ! เราเคยบอกเมื่อไหร่ว่าจะให้นายเอาเป็นแฟน?”

    ถามคอแข็งด้วยความหนาวขึ้นมา เมื่อรู้สึกเป็นครั้งแรกในชีวิตถึงความคิดตนที่รั่วไหลให้คนอื่นจับได้

    มติหัวเราะเอื่อย คร้านจะกระทำตนเป็นผู้มีฤทธิ์ คงทุกข์กันถ้วนหน้าถ้าประทับจะอยู่ในบ้านเดียวกับเขาอย่างหวาดกลัว ระแวงว่าจะถูกล่วงรู้ความลับไปทุกซอกมุมความคิด

    “อ๋อ นานมาแล้ว นายเคยแซวเราตอนยายโอ๋ช่วยแม่ขายของ เห็นแถมมากกว่าที่สั่งสิบบาทไปเยอะไง หาว่าเราแอบจีบไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่”

    ประทับคลายความเกร็งลง แต่ยังจ้องหน้าพี่ชายอย่างขุดค้น ลังเลเป็นครู่ เมื่อเห็นไร้พิรุธ ก็เชื่อว่าเป็นความประจวบเหมาะบังเอิญ

    “ไปอาบน้ำล่ะ”

    ดีดบุหรี่ทิ้งตัดบทลาดื้อๆ มติพยักพเยิดรับรู้ สบายใจขึ้นเมื่อน้องชายปลีกตัว ปล่อยให้เขาอยู่ตามลำพังดังเดิม

    เมื่อเงาร่างของประทับพ้นไป ใจมติก็ว่างลงราวกับคนลืมง่ายที่สุดในโลก ปราศจากเยื่อใยความขุ่นข้องพัวพันสักนิดเดียว เป็นสุขกับความปลอดโล่งของจิตอันอารมณ์เกาะไม่ติดชนิดนั้นจนต้องยิ้มออกมาน้อยๆ ความรู้สึกในอัตตาเปรียบเสมือนสิ่งอุดตันในกาย เมื่อทะลวงหลุดออกเสียได้ ก็เหลือเพียงความเบาสบาย คล้ายปล้องกลวงที่ไร้ความอึดอัดแม้น้อยเท่าน้อย

    นั่นทำให้มติอนุมานอย่างยินดี ว่าพระอรหันต์ท่านคงว่างเหมือนแก้วที่ปราศจากน้ำ แม้แก้วถูกกระทบอย่างไร ก็หาความกระเพื่อมไหวหรือกระฉอกหกเปียกเปื้อนไม่ได้เลย ใจของท่านเสมอกับธรรมชาติ คือรู้สิ่งไหน ก็สักว่ามีความเสมอกับสิ่งนั้น ไม่เกิดอุปาทานว่าสิ่งนั้นเป็นตนหรือของตน ไม่เกิดอุปาทานว่าสิ่งนั้นน่ายินดีควรแก่การเสพสม ใจถูกทำให้ว่างเสมอความว่างทั้งปวงนั่นแล้ว ที่ดำรงอยู่อย่างหมดอาลัยยินดี หมดทุกข์หมดโศกในกายใจอันเป็นสมบัติของความแตกพัง

    

    เป็นอีกคืนหนึ่งที่ปู่ชนะถูกรับตัวมานอนค้างบ้านลูกชายคนโต ความจริงลูกๆท่านกตัญญูรู้คุณ อยากให้ท่านมาพำนักถาวรกันโดยไม่มีการเกี่ยงงอน ทว่าท่านเองยังอยากอยู่บ้านเก่า อ้างว่าชอบสถานที่ นานทีจึงมาให้ลูกๆเลี้ยงดูอย่างนี้ อย่างมากจะอยู่เพียงสองสามคืน เพราะเป็นห่วงหนูแพหลานสาวคนโปรดของท่าน

    ท่านเข้าห้องนอนแต่หัวค่ำ อากาศเย็นกำลังดี เปิดหน้าต่างรับลมได้สบาย เงยหน้าชมแสงจันทร์เบื้องไกลด้วยความสงบสุขเพียงลำพัง บังเกิดความปลอดโปร่งถึงที่สุดเมื่อทราบชัดแก่จิตอันละเอียดสุขุม ว่าภาระคือแก้วตาดวงใจได้ถูกวางลงแล้ว

    ทุกข์สุขทั้งชีวิตเหมือนฝันไป คล้ายเมฆที่จรมาผ่านดวงจันทร์ บดบังอยู่ครู่แล้วผ่านไป ผ่านแล้วก็มีแผงเมฆใหม่มาบังอีกแล้วๆเล่าๆ ที่สุดทั้งหลายทั้งปวงก็ล้วนเลยผ่านจนหมดสิ้น จะเคยจริงจังกับเหตุการณ์ในชีวิตช่วงใด เห็นใครสลักสำคัญเพียงไหน วันหนึ่งก็ปลดปลงลงจากการแบกรับทางใจทั้งนั้น

    เมื่อถึงเวลาที่เกาทัณฑ์มารับตัวแพตรีไปจากท่าน ใจท่านก็เหมือนสลัดคืนทุกสิ่ง เหลือเพียงกายใจเป็นเครื่องระลึก สักแต่เห็นสภาวธรรมในกายใจเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดถึงที่สุด

    จิตของชายชราสงบวิเวกเป็นเนื้อเดียวกับฉากโลกที่อาบแสงจันทร์สว่างนวล ลมดึกรำเพยผ่านมาหอบหนึ่ง โชยกลิ่นหอมของมะลิวัลย์ในซุ้มเบื้องล่างหน้าต่างขึ้นมากระทบนาสิกประสาท ขณะนั้นเองปรากฏสิ่งปรุงแต่งในส่วนลึกของจิต คล้ายบอกตนเองว่าคุ้นเคยกับบรรยากาศเช่นนี้มานานนักหนา ระลึกได้ว่าแม้ยังเด็ก เมื่อเห็นฟ้าราตรีมีจันทร์ฉาย ก็คล้ายเห็นมาก่อน ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แดนดินถิ่นไหนสักแห่งอย่างประหลาด

    ในยามพักงานวิปัสสนา เว้นจากการพิจารณากายใจเป็นไตรลักษณ์ ปู่ชนะมักปล่อยให้จิตเข้ารู้ เข้าดูธรรมละเอียดในตนที่ผุดขึ้นตามวาระโอกาสต่างๆ เหมือนเจ้าของบ้านผู้มียามว่างก็เดินทอดน่อง พลิกดูสมบัติหรือก้อนกรวดก้อนหินในเขตบ้านพอให้ทราบว่าเป็นอย่างไรแล้ววางลง ทั้งตระหนักว่าเสียเวลาไปอีกสิบชาติร้อยชาติ ก็ไม่อาจพลิกดูได้ถ้วนทั่วทั้งหมดว่ามีอะไรอยู่บ้าง

    วาระนี้ ปัญญาญาณจากจิตอันบางด้วยกิเลสของท่านเหมือนแสงส่องเห็นความคุ้นชนิดพิเศษอันโยงใยกับการอบรมจิตในพุทธศาสนา โดยปรากฏเป็นความรู้สึกรักเล็กๆส่งออกมาจากจิตอันทรงธรรม

    ท่านกำหนดว่ารักเล็กๆนั้นเป็นสุขเวทนา เป็นสิ่งแปลกปลอมที่แทรกตัวเข้ามาท่ามกลางความสะอาดนิ่งสงบรู้ของจิต โดยลักษณะนั้น สุขเวทนาอาจล่องหนลับหาย แสดงความเป็นทุกขังแห่งตนให้ปรากฏต่อกระแสรู้ก็ได้

    แต่ด้วยเจตนาเข้ารู้รายละเอียด สุขเวทนานั้นก็ถูกหน่วงไว้ให้ดำรงอยู่กับสติเฉพาะหน้า เช่นเดียวกับเมื่อสะดุดหิน แทนที่จะก้าวเท้าข้ามผ่าน ก็ก้มลงหยิบขึ้นดูเล่นให้เห็นลาย เห็นสี เห็นรูปทรงอย่างถนัดเสียหน่อย

    ปู่ชนะลากลมหายใจเข้ายืดยาว นิ่มนวล ก่อนกำหนดสติรู้ว่าหายใจออก ความชำนาญทำให้จิตกับลมเคล้าเคลียเข้าด้วยกันแนบเนียนสนิท กระแสจิตดึงดูดเข้าหากันด้วยอาการแน่วรู้รวมดวง ฉีดปีติสุขซ่านเย็นเต็มรอบทันที ยังความชุ่มชื่น อิ่มเอิบลึกซึ้ง ปราศจากเอกเทศใดแห่งกายทั่วร่าง ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง จิตปรากฏแก่ตนเองเสมือนไฟเย็นดวงมหึมาที่มีแรงผนึกรวมเข้าหาศูนย์กลางคือสายลมหายใจเหยียดยาวประหนึ่งน้ำตกทิพย์

    นั่นคือการล่วงเข้าสู่ฐานสมาธิเป็นอัปปนาแท้จริงระดับแรก เรียกว่าปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์หลักคือวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

    ปฐมฌานเป็นของดีแก่ผู้เคยคุ้น ขณะเดียวกันก็เป็นของน้อยแก่ผู้รู้ธรรมอันประเสริฐยิ่งกว่า จิตของปู่ชนะแนบรู้อยู่กับลมหายใจจนจิตแยกออก ว่าสายลมหายใจยังปรากฏต่อจิตผู้รู้ก็เพราะมีอาการระลึกแนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตมัวพะวงกับเปลือกหยาบ ก็ยังนับว่าจิตหยาบอยู่ ต่อเมื่อละอาการระลึกรู้ที่สายลม หลุดออกมารักษาจิตให้ทรงมั่นปีติสุขเพียงเดียว จิตก็เด่นดวงผ่องใสเป็นธรรมเอก เสมือนนกที่เลิกกระพือปีกเสียได้เพราะโบยบินมาสูงพอ จึงแผ่ปีกนิ่งลอยลมสบาย ปลอดจากภาระหนักในการออกแรงพยุงตัวในอากาศกว้าง

    นั่นคือการล่วงเข้าสู่ฐานสมาธิเป็นอัปปนาแท้จริงระดับที่สอง เรียกว่าทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์หลักคือปีติ สุข และเอกัคคตา

    ทุติยฌานเป็นของดีแก่ผู้เคยคุ้น ขณะเดียวกันก็เป็นของน้อยแก่ผู้รู้ธรรมอันประเสริฐยิ่งกว่า จิตของปู่ชนะแนบรู้อยู่กับปีติจนแยกออก ว่าปีติเป็นเสมือนคลื่นน้ำที่กระเพื่อม ทำให้จิตซึ่งเปรียบเหมือนเรือโยกโคลง เมื่อแทรกลำเข้าสู่ร่องน้ำที่สงบกว่า เรือก็นิ่งลง เช่นเดียวกับที่ละปีติเสียได้ จึงพบกับสภาพน่าพึงใจกว่ากัน

    นั่นคือการล่วงเข้าสู่ฐานสมาธิเป็นอัปปนาแท้จริงระดับที่สาม เรียกว่าตติยฌาน ประกอบด้วยองค์หลักคือสุข และเอกัคคตา สมบูรณ์ด้วยองค์รองคือสติและอุเบกขา

    ตติยฌานเป็นของดีแก่ผู้เคยคุ้น ขณะเดียวกันก็เป็นของน้อยแก่ผู้รู้ธรรมอันประเสริฐยิ่งกว่า จิตของปู่ชนะแนบรู้อยู่กับสุขอันเกิดจากความสงบจนจิตแยกออก เห็นราคะชนิดละเอียดอ่อนอันเกิดแต่ความพึงใจแทรกอยู่จางๆ แล้วตัวปัญญารู้แจ้งนั้นก็ตัดราคะในฌานชั้นสูงได้ขาด จิตเข้าถึงความสงบสงัดอีกระดับหนึ่งที่ประณีตเสียจนความระลึกรู้ในกายขาดหายไป ทรงอยู่ก็แต่ภาวะแผดจ้าแห่งจิตอันดูประหนึ่งดาวฤกษ์แห่งสติอันบริสุทธิ์รุ่งเรือง ปราศจากความแตะต้องข้องเกี่ยวกับสภาพหยาบใดๆทั้งปวง ละทุกข์ ละสุข ดับโสมนัสได้สิ้น ขาวรอบตลอดกระแสรู้อยู่อย่างนั้น

    นั่นคือการล่วงเข้าสู่ฐานสมาธิเป็นอัปปนาแท้จริงระดับที่สี่ เรียกว่าจตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์หลักคืออุเบกขาและเอกัคคตา

    ช่วงเวลาอันสั้นที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า พอจิตเริ่มถอนออกสู่ผัสสะแผ่ว ปรากฏถึงความมีอยู่ของกายและการกลับมาของลมหายใจ อยู่ในภาวะพร้อมรู้แจ้งถึงที่สุด ปู่ชนะก็น้อมจิต จ่อสติอย่างแผ่วลงไปในภาวะรู้ของตนเอง ตรวจอารมณ์คุ้นกับบรรยากาศสงบใต้แสงจันทร์อันโยงใยกับวิถีธรรมในปัจจุบันชาติ แล้วจิตก็แนบสนิทเข้ากับความรู้สึกคุ้นเคยดังกล่าว เหมือนหลุดออกจากกายและสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ปรากฏใหม่กึ่งรู้แจ้ง กึ่งอยู่ห่างจากความเป็นเช่นนั้น

    เห็นตนเองนั่งขัดสมาธิ์อยู่บนแคร่เตี้ยๆกลางแสงจันทร์นวลใย ที่นั่นเป็นหน้าบ้านของท่านในแคว้นอวันตี ซึ่งหันออกสู่ราวป่าสงัด ปลอดคน ในภาวะที่เริ่มคุ้นกับอาการระลึกรู้ เหมือนมีอีกคนนั่งซ้อนตนเอง เป็นการซ้อนตัวปัจจุบันเข้าไปในตัวอดีต

    ขณะแห่งการนั่งบนแคร่นั้น ลักษณะจิตมิใช่ปล่อยให้ตนเองดื่มด่ำกับธรรมชาติอันงาม ทว่ากำลังยินดีกับความรู้ใหม่ที่รับมา นั่นคือข่าวมหาปุโรหิตที่ออกบวชได้ฉายานามว่าพระมหากัจจายนะ ท่านกลับคืนสู่บ้านเกิดพร้อมพาลูกศิษย์ผู้ถือเพศบรรพชิตด้วยกันจำนวนหนึ่งมาด้วย

    กุลบุตรชาวอวันตีจำนวนมากเมื่อเข้าสู่สำนักของพระมหากัจจายนะก็เกิดความเลื่อมใส แต่ด้วยเหตุขัดข้องที่มีภิกษุไม่เพียงพอแก่การทำสังฆกรรมในการบวชพระตามวินัย จึงเป็นได้แต่เพียงบวชเณร ถึงแม้มีอายุครบบวชพระกันแล้วก็ตาม

    ข่าวมหามงคลเกี่ยวกับพระมหากัจจายนะดังกล่าวนี้ มีมาถึงท่านในยามอรุณรุ่งของวันเดียวกันกับที่นั่งชมจันทร์ นับเป็นวาสนาอันใหญ่หลวงที่พระหนุ่มในสำนักของพระมหากัจจายนะรูปหนึ่งเดินมาบิณฑบาตถึงหน้าบ้านท่าน ซึ่งเมื่อท่านเห็นกิริยาอันควรแก่สมณสารูปแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส ตกลงใจถวายภัตตาหารทันทีด้วยความเบิกบานร่าเริงใจ

    ในสมัยนั้น จะมีการรับบาตรดินเผาของพระมาบรรจุอาหารด้วยมือของโยมเอง ท่านรับบาตรจากพระมาส่งต่อให้นางพราหมณีผู้ภรรยา เพื่อเอาเข้าบ้านใส่อาหาร ระหว่างนั้นท่านก็นิมนต์พระนั่งสนทนาบนแคร่เสมอกันนั้นเอง ด้วยเหตุที่ท่านอยู่ในวรรณะพราหมณ์ และยังไม่ทราบถึงความเป็นบุคคลอันทรงธรรมควรเคารพของสมณะหนุ่ม

    เมื่อครั้งพุทธกาล ศาสนาพุทธปรากฏเหมือนเพียงลัทธิคำสอนอีกแนวหนึ่ง กล่าวได้ว่าเบื้องต้นพุทธศาสนาเป็นความเชื่อของชนกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายทั่วไป เมื่อดูจากลักษณะภายนอกของพระซึ่งนุ่งห่มผ้าย้อมฝาดเพียงน้อยชิ้น ก็มิได้มีเอกลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นเครื่องหมายแทนการเชื่อคำสอนแนวทางใดได้เลย

    อย่างไรก็ตาม ท่านเคยยินคำเล่าลือเกี่ยวกับการอุบัติของพระพุทธเจ้า ผู้เสด็จมายังโลกมนุษย์เพื่อความสิ้นกิเลส ความถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็บังเกิดความใจสั่นหวั่นไหวอย่างน่าฉงน เมื่อสอบได้ความว่าพระหนุ่มตรงหน้านั้นบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะผู้เป็นหนึ่งในศิษย์เอกของพระพุทธเจ้า ท่านก็ปรีดาปราโมทย์เป็นล้นพ้น รีบไถ่ถามถึงสิ่งที่ขัดข้องคาใจมาเนิ่นนาน

    คำถามของท่านที่มีต่อภิกษุหนุ่มคือธรรมะของพระสมณโคดมนั้น ต้องฟังจากพระโอษฐ์แต่ประการเดียวจึงได้ผลอันไพบูลย์ถึงที่สุด คือการสิ้นทุกข์ หรือว่าเพียงฟังคำบอกเล่า ก็ได้ผลสูงสุดเป็นการสิ้นทุกข์อย่างเดียวกัน พระได้ยินคำถามก็สอบกลับว่าทำไมจึงสงสัยเช่นนั้นเล่า ท่านก็อธิบายว่าท่านอยู่ในวัยชรา จะให้เดินทางไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ไกลบ้าน เห็นทีคงเป็นการลำบากเกินกำลังสังขาร

    พระฟังเหตุผลจึงตอบว่าธรรมะเป็นของกลาง การที่พระศาสดาให้สาวกแยกย้ายกันออกประกาศธรรมอนุเคราะห์ประชาชนไปทั่วทั้งชมพูทวีป ย่อมยืนยันว่าชาวบ้านด่านเมืองทั้งหลาย ก็ฟังธรรมอันเดียวกับที่ออกจากพระโอษฐ์ได้ รวมทั้งรับผลสูงสุดคือการสิ้นทุกข์เช่นเดียวกันได้ด้วย หากน้อมรับธรรมไปปฏิบัติอย่างสัตย์ซื่อ

    ฟังเช่นนั้น อัตภาพเดิมของปู่ชนะก็เกิดความปีติล้นพ้นประมาณ ยึดเอาภิกษุหนุ่มตรงหน้านั่นเองเป็นตัวแทนพระบรมศาสดา ถามพระว่าเพื่อถึงที่สุดทุกข์ต้องทำอย่างไร พระก็อธิบายให้ฟังเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งมีสาระสำคัญหลักคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

    ฟังนัยพอสังเขปโดยทำไว้ในใจอย่างแยบคายแล้ว พราหมณ์ผู้ชราก็กำหนดได้ว่าอริยสัจสี่นี้เป็นเรื่องของจิตใจโดยแท้ จิตใดสะบั้นเป็นอิสระขาดจากการเกาะกุมของตัณหา จิตนั้นก็ไม่มีเหตุแห่งทุกข์ แต่การจะพ้นตัณหาได้ ต้องรู้จริงๆเสียก่อนว่าตนเป็นทาสตัณหาหรือเปล่า หากขาดสติรู้เท่าทันเสียแล้ว ไม่ตระหนักว่าเป็นข้าทาสของตัณหาเสียแล้ว ที่ไหนจะมีแรงบันดาลใจให้ประกอบความเพียรเร่งพ้นจากอำนาจของตัณหา

    นั่นเอง จึงเป็นเหตุเหนี่ยวนำให้เกิดเจตนา ว่าท่านจะเฝ้ารู้ เฝ้าดูตัณหาในใจตนเอง

    เมื่อพระจากไปแล้ว ท่านก็คิดเกี่ยวกับเรื่องการดูตัณหาในใจตลอดวัน จนตกค่ำเมื่อนางพราหมณีผู้ภรรยาหลับสนิท จึงออกมานั่งหน้าบ้านด้วยอาการเป็นดุษณีท่ามกลางความสงัดเงียบของป่ามืดอันฉาบไล้ด้วยนวลรัศมีแขอันรองเรือง แล้วพยายามสังเกตกิเลสตัณหาในจิต ก็เห็นปรากฏเป็นความเกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิด ด้วยความคำนึงถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน วนไปเวียนมาเรื่อยๆ ไม่ต่างกับแพเมฆที่ผ่านมาบังจันทร์ แล้วก็ผ่านจรจากไป

    แม้อดีตชาติครั้งนั้นท่านยังห่างจากมรรคผล ทว่าก็เป็นชนวนธรรมอันแสนประเสริฐ เหตุการณ์เมื่อรับธรรมจากพระหนุ่มจึงปฏิรูปเป็นแรงประทับลงสู่ความทรงจำสนิทซึ้ง จึงเข้าใจว่าเหตุใดจิตท่านมักโยงแสงจันทร์เข้ากับความยินดีในธรรมมาจนกระทั่งถึงชาติปัจจุบัน

    ถอนจากนิมิตอดีตกลับคืนสู่สำนึกเต็มบริบูรณ์แห่งความเป็นปู่ชนะ ชายชราให้นึกเหนื่อยหน่ายเป็นที่ยิ่ง เหตุการณ์ล่วงผ่านมาก็กว่าสองพันปี ท่านก็ยังหลงวนเกิดตาย มีอัตภาพ มีการเติบโตเข้าสู่วัยแก่ รอวันแตกตายอยู่อีก

    ในชาตินี้ น่าจะเป็นเพราะบ่มบารมีมาแก่กล้าพอ ท่านจึงเริ่มสนใจและศึกษาธรรมมาตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น และนั่นทำให้ท่านตระหนักว่าการแสดงตัวของบารมีธรรมนั้น มาในรูปของการให้ความสนใจธรรม นำไปสู่ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติตรง ประพฤติชอบ รวมทั้งความฝักใฝ่ขยันปฏิบัติ ไม่เกี่ยงงอนว่าตนกิเลสบางหรือหนา ไม่ทอดอาลัยอธิษฐานรอขอสำเร็จมรรคผลในศาสนาพระศรีอารยเมตไตรย แต่มุ่งใช้อัตภาพคือกายนี้ใจนี้ดับเหตุแห่งทุกข์ให้ทันก่อนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้าย

    ในส่วนของการให้ความสนใจธรรมที่นำไปสู่ครูบาอารย์นั้น ท่านมีวาสนาพบคำสอนอันทรงพลังอัศจรรย์ที่สั้น ทว่าเปลี่ยนแปลงผู้คนให้หันเหมาเข้าสู่ทางมรรคผลกันเป็นจำนวนมากต่อมาก นั่นคือ

    

    จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย

    ผลของจิตส่งออกนอกเป็นทุกข์

    จิตเห็นจิตเป็นมรรค

    ผลของจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ

    

    นั่นเองเป็นจุดหักเหของชีวิต ท่านเดินทางรถไฟไปกราบหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระสาวกผู้เป็นตัวแทนประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรูปหนึ่งแห่งยุค

    หนทางธรรมในชาตินี้ เมื่อได้รับคำสอนจากหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งมีสาระสำคัญให้ดูจิตตนเอง สิ่งแรกที่ท่านกลับมาพิจารณาก็คือ จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน จะดูจิตได้อย่างไร

    นั่นเป็นเหตุให้พิจารณาต่อว่าจิตย่อมอยู่ในกายนี้เอง ดังนั้นถ้าจะหาจิต ก็จำเป็นต้องค้นคว้าลงในกายนี้แหละ นับแต่การปูพื้นคือทำความสงบ ยุติความอยาก ดับความกระวนกระวาย เหมือนทำน้ำให้หายขุ่น สะอาดใสเพียงพอจะดูให้รู้ว่ามีสิ่งใดในน้ำนั้น

    การดูก็คือการตรวจระลึกลงไปในกายทีละส่วน นับแต่เส้นผมบนกระหม่อมลงไปจนถึงพื้นฝ่าเท้า ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและนิ่งใส จะเห็นชัดประจักษ์ว่ากายนี้มิใช่จิต กายเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งต่างหาก

    จากนั้นเมื่อตรวจระลึกลงไปในเวทนา ซึ่งหมายถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ เป็นกลางที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะ ก็เห็นเป็นต่างหากจากจิตเช่นกัน และแม้เวทนาจะขึ้นตรงกับประสาทกาย ก็แยกเป็นคนละส่วนอย่างเด็ดขาดจากกาย ทำนองเดียวกับกระแสไฟฟ้าที่แล่นไปตามลวดทองแดง ต่างก็เป็นธรรมชาติคนละชนิดกันนั่นเอง

    เมื่อตรวจระลึกลงไปในสัญญา ซึ่งหมายถึงความจำได้หมายรู้ เช่นความหมายจำว่านี่คือตัวเรา ก็เห็นเป็นต่างหากจากจิต เพราะเมื่อจิตสงบนิ่งตั้งมั่นแล้ว สัญญาจะเป็นสิ่งถูกรู้ได้ คล้ายกับลอนคลื่นที่ปรากฏร่องรอยแตกต่างกับแผ่นน้ำเรียบ เมื่อกระเพื่อมแล้วก็หายไปเป็นผิวน้ำนิ่งได้อีก ราวกับไม่เคยเกิดร่องรอยใดๆขึ้นเลย

    เมื่อตรวจระลึกลงไปในสังขาร ซึ่งหมายถึงความคิดนึกปรุงแต่ง หรือเจตนาคิด พูด ทำ ก็เห็นว่าสังขารไม่ใช่จิตอีก เพราะถ้าใช่ เมื่อเจตนากระทำการย่อมปรากฏควบคู่ไปกับจิตผู้ดูตลอดไป แต่นี่ยังตกกลับเป็นอาการรู้ อาการนิ่งได้อยู่

    โดยรวบรัดที่สุด สิ่งใดถูกรู้ได้ สิ่งนั้นไม่ใช่จิต ปรากฏเป็นอื่นจากจิต ปราศจากอัตตาแฝงเงาอยู่ในสิ่งนั้น

    ในสมัยแรกเริ่มปฏิบัติธรรมตามหลวงปู่ดูลย์สอนนั้นเอง ท่านก็จับได้ว่าจิตคือผู้รู้ ผู้สังเกตการณ์อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏ เมื่อใดจิตทรงตัวรู้อยู่เป็นหนึ่ง ดังที่พระพุทธองค์บัญญัติเรียกไว้ว่า 'ธรรมเอก' บรรดาสิ่งที่ถูกรู้ก็ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ออกมาตลอดเวลา กล่าวคือปรากฏให้เห็นเป็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งสิ้น ไม่เห็นอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งมั่นอยู่ได้

    ขณะที่ปฏิบัติในยุคนั้น ท่านไม่ให้ความสำคัญกับบัญญัติในตำราเท่ากับธรรมที่กำลังปรากฏแสดงตัวต่อจิต เหมือนจิตเป็นลิ้น และธรรมเป็นรส เมื่อลิ้มรสก็ไม่มัวคิดว่านั่นเค็ม นี่หวาน ทำนองเดียวกับที่เมื่อแยกขันธ์ออกเป็นต่างหากจากกัน ก็มิได้ใส่ใจว่าเข้าขั้น 'นามรูปปริจเฉทญาณ' หรือยัง หรือเมื่อเห็นสภาวธรรมต่างๆแสดงความเกิดดับเอง ก็มิได้ใส่ใจว่านั่นเรียก 'อุทยัพพยญาณ' หรือเปล่า

    ทราบแต่ธรรมนั้นเมื่อจิตลิ้มแล้ว มีแต่ความรู้แจ้งเป็นธรรมชาติ เป็นอิสระจากภาษาและอยู่เหนือความคิดปรุงแต่งอย่างที่สุด

    ท่านสังเกตเห็นต่อไปว่าบางคราวจิตกับอารมณ์ก็รวมตัวเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน หนัก แน่น เร่าร้อน บ่อยครั้งที่เท่าทัน เห็นจิตอยู่ส่วนหนึ่ง อารมณ์อยู่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อจิตไปรู้อารมณ์เข้า ก็เหมือนมีแรงดึงดูดให้จิตเคลื่อนเข้าไปยึดถืออารมณ์อย่างแน่นเหนียว เมื่อใดเคลื่อนเข้ายึดอารมณ์แล้ว จิตก็รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะความไม่เป็นอิสระจากอารมณ์นั่นเอง

    แม้มาถึงจุดนั้น ท่านก็มิได้พิจารณาว่านั่นคือการแสดงตัวของอริยสัจสี่ เพียงเฝ้ารู้อย่างซื่อสัตย์ ไม่ตกแต่งดัดแปลงสิ่งที่กำลังปรากฏ อะไรจะปรากฏอย่างไรก็ปล่อยตามที่มันเป็นไปอย่างนั้น ทราบแต่ว่าการเป็นปุถุชนทำให้บ่อยครั้งที่จิตกับอารมณ์รวมตัวอยู่ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น นานๆเมื่อเดินสัมมาสติเข้าส่วน จิตกับอารมณ์จึงแยกออก เหมือนมีช่องว่างระหว่างกันบ้าง ให้ทราบว่านี่ฝั่งรู้ นั่นฝั่งถูกรู้

    และแล้ววันหนึ่ง เมื่อท่านเห็นความกังวลห่วงร่างกาย กลัวจะเป็นไข้หวัดเพราะเปียกฝน ด้วยความชำนาญในการดูจิตใจตนเอง ทำให้เกิดสติระลึกรู้ลงตรงใจกลางความกังวลนั้นโดยปราศจากความจงใจ ความกังวลก็ดับไป เพราะถูกเห็นจึงผ่านหาย

    นอกจากความกังวลจะดับลงแล้ว ร่างกายที่กำลังนั่งกอดเข่า พายุฝนที่กำลังกระหน่ำซัด ตลอดจนกระทั่งโลกรอบด้านทั้งหมด ก็พลอยดับลงตาม

    รูปหายแล้ว เวทนา สัญญาหยาบๆก็ดับสิ้น เหลือเพียงกระแสความปรุงแต่งอันประณีตผิดกันกับระดับความคิด ที่ผุดแผ่วขึ้นเป็นขณะๆ จิตรู้โดยปราศจากการจงใจรู้ รู้เท่าไหร่วางเท่านั้น หมดจากความมั่นหมายหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆต่อไป

    ถัดจากนั้นคือการลงภวังค์ในแวบเล็ก ตัดกระแสคำนึงข้องเกี่ยวอันใด คล้ายรูปนามสลัดคืนความหมายและความปรากฏมีตัวตน แล้วจิตก็ดำเนินเข้าสู่ความดับสนิท ไร้ร่องรอยโดยสิ้นเชิง ถัดจากนั้นความรับรู้ก็เริ่มปรากฏขึ้นอีก แต่ยังละเอียดเหนือขั้นที่จะเป็นความคิด เพียงแจ่มแจ้งในสิ่งที่ปรากฏก่อนหน้า ว่าบางสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อันห่อหุ้มเคลือบคลุมธาตุรู้ไว้ ได้ถูกแหวกออก จิตอุทานอย่างลิงโลดประหลาด หากถอดความเป็นสัญลักษณ์ทางภาษาก็คงได้ความว่า 'เอ๊ะ จิตไม่ใช่เรานี่!'

    แล้วจิตก็ทรงตัวอยู่กับความว่างชั่วขณะหนึ่ง จากนั้นจึงบังเกิดแสงสว่างพลุ่งโพลงจากความว่าง แผ่กว้างออกไปอย่างไร้ขอบเขต ขณะถัดมาก็ผุดความเบิกบานอันเป็นสื่อสัญญลักษณ์แสดงตัวของธรรมชาติบริสุทธิ์ ไร้รูป ไร้นาม ปราศจากอารมณ์เป็นเหยื่อล่อแม้น้อยเท่าน้อย เป็นการแสดงให้รู้ว่าบางสิ่งมีอยู่ ทว่าไร้การปรุงแต่ง ไร้ที่ตั้ง ไร้นิมิตหมายใดๆที่เคยเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสด้วยกายประการใดๆทั้งสิ้น

    เมื่อถอยลงจากเอกภาวะอันไร้ซึ่งคู่สอง สู่ความรับรู้ปกติ ทำให้จิตได้ข้อสรุปกับตนเอง ว่าความเป็นตัวตนไม่มีจริง ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยหมดสิ้นไป ทางนี้มีอยู่ ไม่มีทางอื่นที่ต้องแสวงหา ภพชาติได้ถูกบั่นทอนให้หดสั้นลงแล้ว

    โสดาบันปรากฏเป็นประจักษ์พยานแก่พุทธศาสนาอีกรูปนามหนึ่งแล้ว

    หลังจากนาทีแห่งมหาปรากฏการณ์ ท่านก็ดำเนินชีวิตตามปกติ ความรู้สึกเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว รู้จักตนเอง และดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมาย มิใช่ลอยชายตามกระแสโลกไปวันๆเช่นแต่ก่อน ส่วนการปฏิบัติก็ทำอยู่อย่างเดิมนั่นเอง

    การปฏิบัติยังคงเดิม เหมือนที่ผ่านมาทุกประการ ในขั้นของความเป็นโสดาบันอริยบุคคล จิตกับอารมณ์ค่อยมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามรวมจิตเป็นสมาธิเพื่อใช้แสงรู้แสงปัญญาให้มากเหมือนครั้งเป็นปุถุชน แม้บ่อยครั้ง จิตกับอารมณ์ผสมกันจนเกิดอุปาทานในตัวตนและอุปาทานในกามคุณได้เท่ากับคนธรรมดา ก็เป็นไปแบบมีกรอบมีเกณฑ์ล้อม จิตอันทรงธรรมสูงเหนือมนุษย์คอยห้ามไว้เมื่อจะล่วงอกุศลกรรมบถขั้นรุนแรง และถอยกลับมาสู่ฐานที่มั่นเอง คือทรงรู้ แยกจิตแยกอารมณ์จากกันเป็นพักๆ มิใช่ว่าดิ่งรุดๆไปหาราคะ โทสะ โมหะเต็มสูบเหมือนสังสารสัตว์ทั้งหลาย

    ประมาณ 8 เดือนถัดจากวันแห่งมหาปีติ จิตก็มาถึงสภาพที่ประหลาด คือเจริญสติคราวใด จะรวมลงตกภวังค์อยู่เสมอๆอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ดูตั้งท่ารวมดับเงียบเหมือนคนหลับเป็นประจำ สร้างความกังวลใจให้ท่านมาก

    ในวันอาสาฬหบูชาคราวหนึ่ง ท่านได้ขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง และเรียนปรึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขไม่ได้ หลวงปู่กลับยิ้มๆแล้วบอกว่า เมื่อเป็นผู้รู้แล้ว จะต้องสงสัยอะไร จะต้องถามใครอีก ให้ปฏิบัติไปเถิดจะได้ของดีในพรรษานี้แหละ

    วันรุ่งขึ้นระหว่างนั่งรถโดยสารกลับกรุงเทพฯ ปู่นั่งเจริญสติสัมปชัญญะตามปกติ จิตก็รวมลงดับความรับรู้รูปกายและสิ่งแวดล้อมภายนอก เข้าไปรู้รูปนามภายในที่เกิดดับ แล้วตัดกระแสรวมลงถึงความไม่มีอะไรเลย หมดสิ้นทั้งรูปและนามอันเป็นเวทีแสดงไตรลักษณ์ บรรลุซึ่งอริยธรรมขั้นที่สอง

    จิตเขาถึงของเขาเอง หาได้มีการบีบบังคับหรือจงใจให้เป็นไปอย่างไรไม่ ขอเพียงตั้งผู้ดู ผู้รู้ ให้อยู่ในกระแสความเห็นไตรลักษณ์เท่านั้น

    ในขั้นของความเป็นสกทาคามีอริยบุคคล จิตเริ่มมีปกติแยกกับอารมณ์ น้อยครั้งนักที่จิตจะเคลื่อนเข้าเกาะอารมณ์จังๆ ที่จะให้เข้าเกาะอารมณ์เหนียวแน่น ก็เมื่อปะทะกับผัสสะที่แรงมาก สติสัมปชัญญะอันว่องไวทำให้จิตเห็นแม้การเริ่มก่อตัวขึ้นของกิเลสอันเล็กน้อย กิเลสจึงดับสลายก่อนกลายเป็นไฟกองใหญ่เสมอ

    สภาวจิตในขั้นนี้จึงปลอดโปร่งโล่งหัวอก เป็นอยู่ผาสุก มีปกติสุขสบายแตกต่างจากครั้งเป็นปุถุชนอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าแม้ห่างจากการภาวนาบ้าง ก็มีความสบายอยู่ในตัวเองตามธรรมจิตขั้นนี้

    อย่างไรก็ดี เมื่อกิเลสละเอียดลงตามภูมิธรรม ตัณหาที่จะพาจิตให้เคลื่อนไปยึดอารมณ์ จึงเป็นตัณหาชนิดละเอียดตามไปด้วย อาสวะคือภพหรือที่เรียก 'ภวาสวะ' ซึ่งจิตของท่านเข้าเสวย จึงมีปกติเป็นภพอันละเอียดยิ่ง มีสภาพ 'หลอกจิต' ว่าดี เพราะมาในหน้าตาของบุญกุศลอันแท้จริง ปราศจากเบื้องหลังจงใจกำหนดสร้างให้เป็นเช่นนั้น นี่เป็นข้อลำบากประการหนึ่ง คือมีตัวเร่ง แรงจูงใจให้ก้าวล่วงสันติสุขมีอยู่น้อย เพราะเห็นทุกข์ไม่ชัดเท่าเมื่อครั้งก่อนๆ

    อันเนื่องจากปู่ชนะระลึกชาติได้มาก ความรู้สึกเกี่ยวกับสังสารวัฏจึงเหมือนคนว่ายน้ำกลางทะเลจนเข้าเขตน้ำตื้นแล้ว เพียงเขย่งปลายเท้าก็สามารถดันตัวให้พ้นการจมน้ำได้แล้ว ดังนั้นแม้ยังต้องลอยคอสลับเขย่งเป็นระยะตามแรงโถมของคลื่นผัสสะเพื่อไม่ให้จมน้ำตายก็ตาม นี่เองจะว่าเป็นทุกข์นักก็ไม่ใช่ จะว่าปลอดภัยพ้นทุกข์ก็ไม่เชิง รวมความคือเหนื่อยน้อยกว่าเมื่อครั้งลอยคอกลางทะเลอย่างเห็นได้ชัด

    การถึงอริยธรรมขั้นที่สาม หรือ 'อนาคามิผล' นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอันพรั่งพร้อมหลายประการ ซึ่งพร้อมได้ยากในชีวิตฆราวาสอันคลุกคลีอยู่กับญาติสนิทมิตรสหาย บุคคลอันเป็นที่รัก ตลอดจนกระทั่งหน้าที่การงานอันวุ่นวาย

    และคล้ายมีภาระผูกพันเป็นกรรมสัมพันธ์ไม่เลิก เมื่อล่วงเข้าวัยที่ปลดเปลื้องความรับผิดชอบจากลูกสาวลูกชายเสียได้ ก็ให้ต้องมีแก้วตาดวงใจใหม่มาอยู่ในความดูแลเสียอีก ลูกตนพ้นอก ลูกคนอื่นก็มาอยู่ใต้ปีกอีกแล้ว

    การปฏิบัติในช่วงหลังของปู่จึงเหมือนค่อยๆสั่งสมกำลัง รอเวลาที่จะทำสงครามแตกหักกับกิเลสตัณหาต่อไป โดยที่ท่านชอบเดินจงกรมมากกว่าการนั่งหลับตาภาวนา เพราะจิตอันเด่นดวงเข้าที่รู้อยู่แล้ว เพียงเบื้องแรกกำหนดรู้การกระทบพื้นของเท้าขวาซ้ายเป็นการเอากำลังในฝ่ายสมถะเสียหน่อย ครู่เดียวจิตก็เหมือนทวีกำลังขึ้นมากพอ ดุจเดียวกับอากาศยานที่ได้พลังอัดมากพอจะแล่นทะยานขึ้นสู่น่านฟ้าแห่งความรู้แจ้ง มองลงเห็นธรรมหยาบและละเอียดกว้างขวางตามจริง

    บางวันจิตสงบรู้อยู่ที่จิตก็นิ่งดูไตรลักษณ์ บางวันจิตผาดโผน ก็พิจารณาธรรมอันใดอันหนึ่ง ทำให้รู้เห็นเรื่องราวลี้ลับพิสดารมากมายก่ายกอง โดยเฉพาะความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ปรุงเป็นขันธ์ห้าในอัตภาพปัจจุบัน เห็นโยงใยกับอดีตเบื้องใกล้และเบื้องไกลในสังสารวัฏอันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน

    แต่เรื่องที่จิตชอบพิจารณาเป็นหลักคือชีวิตนี้ ทั้งความสุข ความทุกข์ ความรัก ความชัง ลูกเมีย หน้าที่การงาน ชื่อเสียงเกียรติยศ ปู่เคยมี เคยเป็น แล้วผ่านหายดุจควันที่สลายไปในอากาศธาตุเมื่อหมดเปลวไฟส่งต่อ

    เมื่อจิตพิจารณาถึงความไม่มีอะไรของสิ่งภายนอกแล้ว จิตมักรวมตัวเข้ามาพิจารณาลงในกาย เป็นต้นว่าเห็นโครงกระดูกที่มีเนื้อหนังอันเริ่มทรุดโทรมหุ้มอยู่ มีลมหายใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่นาน ก็จักต้องทิ้งกายนี้ให้ทับถมแผ่นดิน ทุกข์สุขทั้งหลาย ความทรงจำทั้งหลาย ความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็จะขาดหายไป หมดจากสภาพความปรากฏมีปรากฏเป็น

    แม้จิตเองอันเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ก็จะดับลงด้วย แต่หากดับแบบมีเชื้อพันธุ์ให้งอกเงย ก็จะส่งกระแสก่อจิตใหม่ในสัมปรายภพต่อไปอีก เพื่อมีแล้วทิ้ง พบแล้วพราก ได้แล้วเสีย วนไปเวียนมาหาแก่นสารไม่ได้เลย

    ทุกครั้งที่มาถึงจุดแห่งการพิจารณาข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตของปู่ชนะจะเห็นชัดถึงความไร้แก่นสารของขันธ์ห้า จิตน้อมไปถึงอมตธรรม อันปราศจากความเคลื่อนไหวในภายใน ปราศจากรูปลักษณ์ในภายนอก อุปาทานขันธ์ก็ถูกลิดรอนให้กรอบบางลงเรื่อย

    อย่างไรก็ตาม คล้ายยังปรากฏเยื่อใยสายหนึ่งที่ไร้รูปลักษณ์ แม้บาง ทว่าก็เหนียวอยู่
    เมื่อกำหนดจิตย้อนดูกายจากด้านหน้าเข้าไป ก็เหมือนจะทะลุปรุโปร่งไปตามลำดับ เหลือเพียงเยื่อผิวหนังทางด้านหลังของกาย ซึ่งเบาใสแต่หยุ่นเหนียวอยู่อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น

    เมื่อใดเดินเล่นในหย่อมสวนไม้ดอกไม้ประดับบนหญ้าขจีของแพตรี จิตกับธรรมก็สัมผัสกันเสมอ ปู่เห็นต้นไม้ใบหญ้าและแผ่นดินแผ่นฟ้าเป็นสิ่งไร้สภาวะ ทั้งหมดทั้งปวงบางเบาราวกับปราศจากน้ำหนักให้สำเหนียกกำหนด จิตของท่านกับธรรมชาติยังต่างกันนิดหนึ่ง คือแบ่งเป็นฝักฝ่ายได้ โดยฝ่ายจิตมีน้ำหนักอยู่เล็กน้อย จิตจึงยังมีพฤติกรรม ในขณะที่ธรรมชาติภายนอกปราศจากพฤติกรรม แม้ธรรมชาติจะเกิดดับเปลี่ยนแปลง ก็เป็นไปตามธรรมดา ไม่มีการให้ค่าต่อความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

    มีแต่จิตนั่นเองยังมั่นหมาย ยินดียินร้ายกับการเปลี่ยนแปลง...

    จิตเหมือนรู้ เหมือนรออยู่ภายใน ว่าวันหนึ่งเร็วๆนี้ ตนจะวางขันธ์คืนให้ธรรมชาติ ขันธ์ก็จะเป็นเหมือนแผ่นฟ้าแผ่นดิน เหมือนต้นไม้และสายน้ำ ส่วนจิตที่รับอิสรภาพจากตัณหาแล้ว ก็เป็นไปอย่างที่จิตจะเป็น ซึ่งไม่เกี่ยวกับท่านอีกแล้ว

    ทรงภูมิธรรมขั้นสอง เวียนปล่อยแล้วกลับยึดมาก็นานหลายสิบปี บัดนี้ท่านเพิ่งอ่านออกอย่างแท้จริง ได้มองเห็นเชื้อพันธุ์ของภพชาติในจิตใจ ที่พร้อมจะงอกเงยเป็นกิเลสตัณหาได้ตลอดเวลา อย่างเช่นที่ตัวของจิตเองก็ยังมีความเร่าร้อนแสวงหาทางหลุดพ้นเป็นต้น

    ตลอดมาท่านเข้าใจว่าการมีห่วงคือแก้วตาดวงใจอย่างแพตรี ซึ่งถือเสมือนลูกสาวในไส้นั่นเองที่เป็นตัวปิดบัง เป็นด่านกั้นขวางคุณธรรมระดับอนาคามี แต่บัดนี้เมื่อสบายใจไร้กังวลเกี่ยวกับแพตรีแล้ว หมดห่วงอย่างเด็ดขาดแน่แล้ว ท่านก็เพิ่งเห็นว่าแท้จริงแพตรีมิใช่ด่านสกัดขัดขวางแต่อย่างใด ความหิวธรรม ใคร่อยากพ้น รอวันเป็นอิสระจากกิเลสตัณหา ได้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดต่างหาก ที่ใช่ของแข็ง ของจริงอันห้ามไว้

    ท่านปล่อยความอยากชนิดนี้ค้างคาไว้เนิ่นนานอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ผ่านมาจึงเหมือนปฏิบัติธรรมแบบเลี้ยงไข้ ยิ่งปฏิบัติด้วยความรอวันเป็นอิสระจากภาระภายนอก รอการบรรลุมรรคผลมากเท่าไหร่ ยิ่งบ่มเพาะให้ความอยากขั้นละเอียดเติบกล้า แฝงเงาอย่างแนบเนียนขึ้นเท่านั้น

    เส้นผมบังภูเขาแท้ๆ เมื่ออ่านไม่ออกว่านั่นเป็นความอยาก เลี้ยงความอยากไว้ มรรคผลขั้นสูงขึ้นจึงคล้ายกระถดเลื่อนออกห่างไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้สึกเฉียดรอมร่อ เหมือนเอื้อมถึงแค่นิดเดียวมาเนิ่นนานขนาดนี้

    แรงดึงดูดของสังสารวัฏมีอำนาจ มีอิทธิพลเห็นปานนี้ ก่อนบรรลุธรรม ขอเพียงปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง รวมจิตให้เป็น เห็นกายเห็นจิตสักแต่เป็นสภาวธรรม พอพังที่ยืนของอัตตาได้ราบคาบชั่ววูบเดียว ก็ทิ้งความยึดมั่นจนจิตทะลุทะลวงล่วงรูปนามทั้งสิ้นทั้งปวง ถึงนิพพานครั้งแรกได้ทันที แต่พอสำเร็จมรรคผลสักขั้นหรือสองขั้นแล้ว จิตก็หมุนจากการปฏิบัติสักแต่เห็นสภาวธรรม มาก่อความปรารถนาชนิดใหม่ ปฏิบัติโดยแอบหวังเร่งเข้าเส้นชัยสุดท้ายโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

    ท่านรำลึกถึงคำสอนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ครูบาอาจารย์ผู้ล่วงลับอีกรูปหนึ่งของท่าน มีอยู่คราวที่ท่านเคยถามหลวงปู่ ว่าเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จะมีอุบายธรรมอย่างใดให้ยิ่งไปกว่านี้อีกไหม หลวงปู่เทสก์เมตตาตอบว่าไม่มี มีแต่ต้องเจริญสติสัมปชัญญะจนจิตเขาพอ เขาจะปล่อยวางอุปาทานขันธ์เอง เหมือนผลไม้ที่ต้องรอเวลาสุก

    เหลือบมองฝอยเมฆที่เผอิญเคลื่อนผ่านดวงจันทร์ เผยแสงเรืองเด่นเต็มตาอาบแผ่นดินแผ่นฟ้า เมื่อแสงจันทร์อับเพราะเมฆบัง พระจันทร์ไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อเมฆจะมามันก็มา เมื่อเมฆจะไปมันก็ไป พระจันทร์เป็นธาตุธรรมอันปราศจากความยินดียินร้าย ปราศจากความมั่นหมายใดๆ จะเอาความอยากพ้นเมฆเพื่อฉายแสงมาแต่ไหน

    ยามนั้นเอง จิตของท่านจึงทำตัวอย่างดวงจันทร์ เมื่อกิเลสจรมาก็เลิกยินร้ายกับกิเลส เมื่อกิเลสจรไปก็เลิกยินดีที่สิ่งบดบังเลื่อนผ่าน ท่านเตือนตนเองซ้ำว่าหากพยายามหาทางหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ก็เท่ากับยังมีกิจให้จิตทำ

    เมื่อปรารถนาพ้นจากกิเลสก็เรียกว่ามีความจงใจ เมื่อจงใจก็เท่ากับยอมรับให้มีจิตผู้จงใจนั่นเอง ความยึดถือได้ช่องแทรกตัวอยู่ตรงนั้น จิตผู้เป็น 'ตัวฉัน' หลบซ่อน ลับมุมบังอยู่ตรงความจงใจปรารถนาหลุดพ้นนั่นเอง

    สติ สมาธิ และปัญญาของปู่ชนะประชุมลงที่ความรู้สึกว่า 'นี่ตัวฉัน' ของจิต โดยมิได้จงใจ แต่คราวนี้ต่างจากเดิมที่เคยค้นคว้าพิจารณาหาทางทำลายความยึดมั่นถือมั่น จิตสักแต่ระลึกเข้าไปที่อุปาทานในอัตตา ปราศจากตัณหาคือความอยากหลุดพ้น ปราศจากความเห็นอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆต่อสภาวะนั้น

    เมื่อจิตสักแต่รู้ โดยปราศจากตัณหาและทิฐิ จิตก็ถึงสภาพเดียวกับธรรม ไม่มีความเคลื่อนไหวภายใน ไม่มีขอบเขตรูปทรงให้กำหนดได้ในภายนอก จิตเข้าถึงความสงัดเงียบอยู่ตามลำพัง หลุดจากความเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ทั้งภายนอกภายในสิ้น

    รูปภายในคือกายก็ส่วนหนึ่ง รูปภายนอกคือสิ่งแวดล้อมต่างๆก็ส่วนหนึ่ง ผัสสะใหญ่น้อยอันเป็นที่มาของความสุขก็ส่วนหนึ่ง ความนึกคิดปรุงแต่งก็ส่วนหนึ่ง แม้ประชุมพร้อมกันในรูปแบบของความเป็นชายชราร่างหนึ่ง ก็ปรากฏแยกต่างหากจากกันสิ้นในความปักหลักรู้อันสุขุมยิ่ง เช่นที่โบราณาจารย์เรียกว่าแยกขันธ์จากกันเป็นกองๆนั่นเอง

    จดจ่ออยู่กับความเห็นเช่นนั้นพักใหญ่ สภาพจิตของปู่ชนะก็พลิกตัว เหมือนย้อนเข้ามาเห็นชัดว่าอาการแช่อยู่กับรู้กองขันธ์เช่นนั้น คืออีกแบบของการจงใจระลึกรู้ออกไปยังรูปธรรมและนามธรรม อันเป็นของนอก ของอื่นจากจิตผู้รู้อยู่ดี

    ด้วยความชำนาญแก่รอบในวิปัสสนาญาณชั้นสูงนั้น จิตก็เลื่อนระดับความรู้แจ้งเห็นจริงละเอียดเข้ามาอีก คือถึงขนาดเห็นเข้ามาหยุดในจิตผู้รู้ผู้ดู ขาดจากความเห็นขันธ์อื่นสิ้น

    อาการรู้อยู่ในรู้นั้น นุ่มนวลแนบเนียน ปราศจากกิริยาประคับประคอง กลายเป็นธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งให้เปรียบเทียบได้ ว่าความหมายรู้อารมณ์ทั้งปวงหาใช่จะใกล้เคียงใจอันบริสุทธิ์แต่อย่างใดเลย แม้กระทั่งอาการหมายรู้อยู่ในตัวผู้รู้ก็ตามที

    ความหมายรู้ก็เป็นธรรมชาติหนึ่ง ใจอันเงียบกริบ ขาดจากการรู้รูปลักษณ์ภายนอก และไร้ความเคลื่อนไหวภายใน ก็เป็นอีกธรรมชาติหนึ่ง ปรากฏเป็นความว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของทุกชนิดจิต เรียกว่าแยกชั้น วิจัยธรรมลงไปจนหมดจดที่การหยุดปรุงแต่งจิตสิ้น ไม่หลงเหลือสิ่งใดเกาะติดตกค้างเป็นงาน เป็นภาระได้อีก

    ถอนจากเงานิพพานกลับสู่ภาวะพิจารณาทบทวนแล้ว ปู่ชนะจึงทราบว่าภาวะที่จิตรู้โดยปราศจากตัณหาและทิฏฐิครอบงำนั้นมีอยู่ การปฏิบัติขั้นแตกหักไม่มีอะไรมากกว่าการอยู่กับธรรมชาติรู้ โดยปราศจากความอยากและความคิดเห็นแม้ละเอียดแสนละเอียด

    ความเห็นว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ถูก อันนี้ผิด แม้ที่ว่าบรรลุมรรคผลขั้นอื่นหรือจมอยู่กับมรรคผลขั้นเดิมว่าประเสริฐกว่ากัน ก็คือการตัดสินให้ค่าในสิ่งที่เป็นคู่ ที่เป็นจุดอ้างอิงเปรียบเทียบนั่นเอง เป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดพฤติกรรมทำงานต่ออีกและอีก

    ตระหนักดังนั้น ชายชราจึงยุติการคิดเรื่องปฏิบัติ เรื่องผิดเรื่องถูก เรื่องบรรลุมรรคผล

    เมื่อหยุดคิด ความจงใจอันเป็นภาชนะอิงอาศัยของผู้รู้ ผู้มี ผู้หวังจึงหายไป เหลือไว้แต่สติระลึกรู้ลงในกายรูปนั่งบนเก้าอี้ริมหน้าต่าง เห็นรูปกายกำลังหายใจอยู่ในอิริยาบถสบาย ลำดับถัดจากนั้นจึงสังเกตเห็นสภาวจิตของตนเองที่กำลังจงใจมองกาย ความจงใจก็สลายตัวไป

    ประจักษ์ธรรมในบัดนั้น ว่าจิตผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ทั้งหลายทั้งปวงก็คือจิตเอง เป็นสิ่งเดียวกัน จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ปราศจากตัณหาและทิฏฐิอันจะยังจิตให้เกิดพฤติกรรมใดๆเหนี่ยวนำอุปาทานขันธ์ จึงเข้าถึงภาวะอันเป็นหนึ่ง หรือจิตหนึ่ง ไม่มีสอง

    เมื่อประจักษ์ว่าผู้รู้กับสิ่งถูกรู้เป็นอันเดียวกัน ใดๆบรรดามีอันเกิดแต่การปะทะสังสรรค์ระหว่างจิตกับอารมณ์ก็ถูกปล่อยวางลงด้วยกัน ปราศจากความซึมซ่านเข้าหากันเท่ายองใย เหลือธรรมอันสงัดวิเวก เงียบเชียบ เบิกบานอย่างเร้นลับ มีความเป็นธรรมดาล้วนๆ ไม่หลงธรรมใดอันแต่งเป็นคำพูดได้เลย
    

    เรื่องของคนในโลกนั้น จะหาที่จบ ที่ลงเอยได้อย่างไร คงมีแต่เรื่องค้างคา มีคนรัก มีศัตรู มีสายใยโยงยึด มีความขัดข้องวุ่นวายบนเส้นทางอันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน เดาทางไปยาก ต่างจากเรื่องของคนในธรรม ที่เมื่อหลุดพ้นขึ้นมาจากโลกแล้ว มีแต่ความเรียบง่ายเป็นที่จบ เห็นจุดลงเอยชัด เหมือนพบฝั่งอันผาสุกหลังจากลอยคอเวียนว่ายในทะเลทุกข์มาแสนนาน หมดรูปหมดนามให้ดูแลสิ้นเชิง

    มติสูงสุดแห่งธรรมคือการชนะ คือการยุติกิเลสหยาบและละเอียด คือการหยุดว่ายวน คือการคายเชื้อแห่งการเกิดรูปนาม เพราะแจ่มแจ้งแทงตลอดเสียแล้วว่ารูปนามเป็นทุกข์ หมุดที่ยึดใจไว้กับทุกข์ก็คือตัณหาอุปาทานในนามรูปนั่นเอง เมื่อถอนหมุดออกเสียได้แม้ขั้นละเอียด ก็เหมือนเปิดหลังคา พังกำแพงออกเห็นฟ้ากว้างโดยรอบ หมดความลุ่มหลงเพ้อพก หายเศร้า หายสงสัย หายติดข้องค้างคาอาลัย เหลือแต่ความไร้ทุกข์ เหนือรสสุข เกินจินตนาการบรรดามีที่เคยสั่งสมมาระหว่างการเดินทางอันแสนไกลในวังวนสังสารวัฏ
    

    นิพพานเป็นสุขยิ่ง นิพพานนั้นว่างยิ่ง

    ที่เกินขอบเขตนิพพานนั้น

    นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

    ใจที่ถึงนิพพาน เป็นความจบบริบูรณ์อย่างแท้จริง

    เป็นของจริงเหนือการสรรคำร้อยถ้อยประพันธ์อันใดสิ้น
    



จบ.

ทางนฤพาน ประพันธ์โดยดังตฤณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น