วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บาปของคนมาขวางการทำบุญ (ดังตฤณ)

ถาม : อยากทราบว่าถ้ามีคนมาขัดขวางไม่ให้เราทำบุญ แต่เราขืนทำจนสำเร็จ อย่างนี้ระหว่างเราทำสำเร็จกับไม่สำเร็จ จะมีผลให้เขาบาปมากขึ้นหรือบาปน้อยลงไหมคะ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒

ดังตฤณ:
 
ก่อนอื่นต้องเข้าใจนะครับ ว่ากิจที่จะสำเร็จเป็นกรรมเต็มรูปนั้น นอกจากมีเจตนาเป็นประธานแล้ว กิจที่ตั้งใจทำต้องสำเร็จด้วย

อย่างเช่น ถ้าคุณตั้งใจสวดมนต์อยู่ในห้อง ญาติขี้เมาในบ้านได้ยินเข้าแล้วของขึ้น ตามประสาคนบาปที่สัมผัสบุญแล้วตะครั่นตะครอ ต้องเอะอะโวยวายกระแนะกระแหนหวังให้คุณหยุดสวดมนต์ อย่างนี้ถ้าคุณหยุดสวดทันที ใจไม่ดี หมดขวัญและกำลังแรงที่จะสวดมนต์เดี๋ยวนั้น ก็นับว่าญาติของคุณก่อบาปใหญ่สำเร็จ คนจะทำบุญดีๆ นอกจากไม่พลอยยินดียังดันไปขวาง หน่วงเหนี่ยวไม่ให้ประกอบสำเร็จ เขาย่อมเป็นคนทำบุญไม่ขึ้น หรือพอคิดทำบุญเป็นต้องโดนขวาง กับทั้งได้ชื่อว่าสร้างบาปใหญ่ที่มีผลให้จิตใจมืดมัว ตายแล้วหาทางสว่างไปสู่สุคติให้เจอได้ยาก

ยิ่งถ้าคุณตบะแตก หยุดสวดมนต์ออกมาด่าตอบ ต่างฝ่ายต่างฉุดกันลงเหวแห่งบาปทางวาจา อย่างนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเขาจะไม่มีโอกาสสำนึกผิดได้ด้วยการโดนคุณโหมไฟโทสะเพิ่มอย่างเด็ดขาด

แต่หากคุณทำใจวางเฉย ประคองจิตไม่หวั่นไหว ลดเสียงสวดมนต์ลงจนเขาไม่ได้ยิน หรือแค่ขมุบขมิบปากต่อไปจนจบบทสวด มีจิตใจผ่องใสชื่นบานได้เหมือนสวดตามปกติโดยปราศจากอุปสรรคขัดขวาง เช่นนี้นับว่าเขาประกอบบาปไม่สำเร็จเต็มร้อย โอกาสที่เขาจะกลับตัวกลับใจสำนึกผิดยังมีอยู่

คิดง่ายๆว่าการสวดมนต์จบภายใต้แรงกดดันหรือไฟร้อน แสดงว่าใจคุณต้องเย็นจริง เมื่อเย็นจริงและออกมาพบเขาในเวลาต่อมา เขาย่อมสัมผัส ‘ธรรมะของจริง’ อันเป็นความเย็นอย่างน่าพิสมัย ครั้งแรกๆเขาอาจหมั่นไส้ อันเป็นธรรมดาของคนบาปที่ย่อมชิงชังกระแสของนักบุญ แต่ธรรมชาติแล้วบาปย่อมมีกำลังอ่อนกว่าบุญ เมื่อสัมผัสบุญบ่อยๆ ย่อมถูกกระตุ้นให้ระลึกได้ว่าจิตดั้งเดิมของมนุษย์นั้น เต็มไปด้วยสำนึกและความละอายบาป เมื่อใดขาดความละอายต่อบาป เมื่อนั้นย่อมไม่ชื่อว่าเป็นมนุษย์เต็มขั้น


แม้เขาจะไม่อาจเปลี่ยนสภาพจากขี้เมาเป็นคนธรรมะธัมโม แต่อย่างน้อยเขาจะค่อยๆคร้ามเกรงต่ออำนาจบุญอยู่ในส่วนลึก เมื่อกระทำบาปใดจะยั้งๆ จิตไม่จับบาปเต็มกำ ผลที่จะได้รับก็ย่อมเปลี่ยนจากหนักเป็นเบาลงตามส่วนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น