วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การพยากรณ์มรรคผลล่วงหน้าเป็นไปได้จริงหรือไม่ (ดังตฤณ)

ถาม : ทราบมาว่าเหล่าอริยบุคคลท่านทราบกันได้ว่าใครถึงขั้นไหน แต่บางสำนักถึงกับกล่าวว่ามรรคผลเป็นสิ่งที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้ คือทราบเลยว่าใครกำลังจะบรรลุธรรม ใครหมดสิทธิ์บรรลุธรรม การพยากรณ์เช่นนี้เป็นไปได้จริงหรือไม่คะ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒

ดังตฤณ:
 
ก่อนอื่นขอแก้ความเข้าใจนะครับ อริยบุคคลท่านไม่ได้ทราบเสมอไปหรอกว่าใครบรรลุธรรมขั้นไหน ถ้าอัธยาศัยของท่านกั้นจิตไว้ใช้ดูเรื่องของตัวเองอย่างเดียว ท่านก็ไม่รู้เรื่องคนอื่นเลย ต่อให้อริยะด้วยกันมานั่งตรงหน้า ถ้าไม่คุยกัน หรือถ้าไม่มีเหตุให้ตั้งใจกำหนดดู ท่านก็อาจมองเหมือนมองคนธรรมดาคนหนึ่ง
ในคัมภีร์พุทธแสดงเรื่องการหยั่งรู้มรรคผลไว้ในอัญญสูตร ใจความโดยสรุปคือพระพุทธเจ้ากับพระสาวกที่ได้ฌาน มีความฉลาดในการเข้าออกฌาน กับทั้งมีความฉลาดในจิตของผู้อื่น (คือมีความหยั่งรู้ที่เรียก ‘เจโตปริยญาณ’) จึงจะสามารถหยั่งรู้ได้ว่าใครสำคัญตนผิด คิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์จากกิเลส เช่น บางคนสำคัญผิดเพราะเกิดปรากฏการณ์ทางจิตบางอย่าง บางคนรู้รอบและตอบถูกถ้วนตลอดสายจึงเผลอคิดว่าตนบรรลุธรรมแล้ว เป็นต้น
สรุปคือแค่พระสาวกทั่วไปที่มีความฉลาดในจิตของผู้อื่น ก็ทราบได้แล้วว่าใคร ‘ไม่ใช่’ แถมเห็นแทงตลอดด้วยว่าไม่ใช่เพราะสำคัญผิดด้วยใจซื่อหรือแกล้งประกาศตนหวังลาภสักการะ

แต่การจะระบุว่า ‘ใครใช่’ หรือ ‘ใครกำลังจะใช่’ นั้นยากขึ้นไปอีก ผมขออธิบายโดยจำแนกไว้เพียงคร่าวเพื่อให้เห็นภาพง่ายที่สุดเพียง ๓ ข้อตามเกณฑ์ที่ว่า ‘ใครบ้างที่รู้ได้’ และ ‘เขารู้ได้อย่างไร’ ดังนี้

๑) คนธรรมดาเดาเอาจากพฤติกรรมและความผุดผ่อง ประเภทนี้เสี่ยงที่จะผิดมากสุด เช่น อาจเป็นคุณเองที่ฟังธรรมมาบ้าง และพอทราบว่าจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนาคือการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากทุกข์และกิเลสอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นคุณก็อาจจะสอดตาหาพระหรือฆราวาสที่ประพฤติงาม มีความผ่องใส มีความเป็นอยู่ห่างไกลจากเรื่องโลกๆ ถ้าพบแล้วเกิดความเลื่อมใสก็อาจทึกทักว่าท่าน ‘น่าจะใช่’ หรืออย่างน้อยก็ ‘คงใกล้แล้ว’

การเดาเอาจากการเห็นด้วยตา หรือด้วยการคบค้าสมาคมตามคนธรรมดานั้น เหล่าอริยะจริงๆท่านไม่ปลื้มหรอกครับ เพราะความเชื่อของปุถุชนเป็นสิ่งที่กลับไปกลับมาได้ตามอารมณ์ วันไหนพอใจก็ว่าใช่ วันไหนไม่สบอารมณ์ก็ว่าไม่มีทาง

ส่วนอริยะเก๊จะชอบให้คนอื่นคิดเรื่องพรรค์นี้ เชื่อเรื่องพรรค์นี้ คือจะเอาภาพอย่างเดียว ขอแค่ให้จำว่า ‘ฉันใช่’ หรือ ‘ฉันเกือบใช่’ เป็นพอ แต่อย่ามาแอบสอดส่องเรื่องพฤติกรรมว่าสมควรไหม อย่ามาตรวจสอบคุณภาพจิตว่าไปถึงไหนก็แล้วกัน

๒) ผู้มีตาทิพย์ที่ฉลาดในนิมิตเห็นนิมิตแสดงวิสัยอรหันต์ ประเภทนี้เสี่ยงที่จะผิดรองลงมา ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าภาวะอรหันต์เล็งกันที่จิตซึ่งสะอาดปราศจากมลทินเท่ายองใย ภาวะของจิตดังกล่าวปรากฏเป็นนิมิตในห้วงมโนทวารของผู้มีญาณได้ เช่น คนนั่งทางในเห็นเด็กบางรายก็ทำนายถูกว่าจวนสำเร็จพระอรหัตตผลแล้ว ทั้งที่เด็กคนนั้นยังแทบไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่ได้เริ่มปฏิบัติธรรมเลยแม้แต่น้อย นั่นเพราะก่อนหน้าที่จะเกิดมา เด็กคนนั้นเคยบำเพ็ญวิปัสสนาบารมีไว้มาก กระทั่งนิมิตของเด็กปรากฏเป็นความใกล้เบ่งบานบริสุทธิ์หมดจด

แต่ปัจจุบันก็มีไม่น้อย ที่ฝึกฝนอ่านรัศมีกายหรือออร่า (aura) เพื่อเห็นแสงสีต่างๆที่แผ่ออกมาจากกายมนุษย์ พวกนี้อาจอาศัยการจดจำบางสี เช่น สีที่เป็นทองอมเหลืองสว่างกว้างจะออกแนวนักบุญ ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์ทำนองนี้มาชี้ว่าเป็นหรือไม่เป็นอริยบุคคลก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เนื่องจากออร่าเป็นรัศมีที่หยาบเกินไป ไม่ใช่แค่เห็นแล้วจบ ต้องศึกษาและอ่านขาดว่าสีต่างๆสัมพันธ์กันอย่างไร และต่อให้คนอ่านขาดก็ไม่อาจใช้ตัดสินแน่ๆว่าใครผ่านการบรรลุมรรคผลขั้นไหนแล้ว เพราะการบรรลุมรรคผลแต่ละขั้นไม่ได้ตกแต่งรัศมีกายให้เหมือนกันหมด

นอกจากนี้ขอให้เข้าใจด้วยว่าผู้มีตาทิพย์ล่วงประสาทมนุษย์นั้น แม้อาจเห็นนิมิตของจิตที่ใกล้หมดกิเลสได้จริง ก็อาจบอกไม่ถูกว่าใครจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าตนอยากเป็นพระอรหันต์ต้องทำท่าไหน อย่าไปเข้าใจนะครับว่าถ้า ‘เห็นของคนอื่นได้’ ก็แปลว่า ‘เป็นอย่างเขาได้’

๓) อริยบุคคลที่ได้ฌานและฉลาดในจิตของผู้อื่น ประเภทนี้เสี่ยงที่จะผิดได้น้อย เพราะตนเองผ่านมาแล้ว ทะลุกรอบจำกัดแบบปุถุชนมาแล้ว ตัดโซ่กิเลสที่ผูกมัดจิตไว้กับความเห็นผิดขาดแล้ว ดังนั้นเห็นใครจึงอ่านออกบอกถูก ว่าคนๆหนึ่ง ‘ยังยึด’ แน่นหนาหรือเบาบางเพียงใด มีสิทธิ์พ้นจากความเป็นปุถุชนได้เหมือนตนหรือไม่

ระดับพระพุทธเจ้านั้นท่านรู้ตั้งแต่เช้าตรู่ของทุกวัน ว่าวันนี้มีใครถึงโอกาสแห่งมรรคผล รู้ว่าจะอาศัยอุบายใดให้เหมาะกับบุญเก่าของแต่ละคน เพื่อทำให้เข้าถึงมรรคผลโดยง่าย พูดง่ายๆคือขนาดยังไม่เจอหน้ากันก็ทายถูกแล้วว่าใครจะบรรลุหรือไม่บรรลุวันนี้พรุ่งนี้

คุณจะเข้าใจวิสัยการล่วงรู้ของอริยบุคคลได้ชัดขึ้น หากทราบว่าภพหรือภาวะแห่งกายใจชนิดต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าเหล่าสัตว์มีความทะยานอยากเป็นเครื่องผูกใจ เมื่ออยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ จึงก่อกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง ส่งผลให้ได้ไปเสวยภพที่เหมาะสมกับกรรมของตน จะหลุดพ้นไปจากภพไม่ได้ตราบเท่าที่ยังประกอบกรรมดีกรรมชั่วอยู่

เหล่าอริยบุคคลผู้เป็นสาวกมองตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าก็เห็นจริงตามนั้น คนส่วนใหญ่มีตัณหาชุ่มอยู่ในวิญญาณ ยังไม่รู้ตัวว่าตกเข้ามาอยู่ในเครือข่ายแห่งเหตุผล ยังนึกว่าอยากพูดอะไรก็พูดได้ อยากทำอะไรก็ทำได้ ไม่เป็นไร ไม่มีความถูกความผิดติดตัว พวกเขาจึงได้ชื่อว่าสร้างแดนเกิดใหม่เรื่อยไปด้วยความหลง ยังห่างไกลจากมรรคผล ยังห่างไกลจากความสิ้นภพ ยังห่างไกลจากการเข้าถึงที่สุดทุกข์ ต่อเมื่อใครมีตัณหาน้อยลง คืออยากได้นั่นได้นี่น้อยลง อยากเป็นนั่นเป็นนี่น้อยลง วันๆมีแต่ทวนกระแสความอยาก ฝึกเลิกยึดมั่นกายใจว่าน่าใคร่ เลิกยึดมั่นกายใจว่าเป็นตน ก็ย่อมมีสิทธิ์เป็นอิสระจากภพชาติได้ในวันหนึ่ง

อริยบุคคลอาจเห็นนักปฏิบัติธรรมบางคนมีจิตอันใกล้ยกขึ้นจากหล่มแล้ว เหมือนรากแก้วของพืชที่หยั่งลงไปในภพ เริ่มถอนขึ้นมาเรื่อยๆจนเกือบพ้น จึงย่อมทำนายถูกว่าอีกนิดเดียว ขอเพียงออกแรงถอนต่อไป พืชย่อมพ้นขาดเป็นอิสระจากผืนดินเป็นแน่แท้

อริยบุคคลยังเห็นเหตุเห็นผลด้วย ว่าจะถอนรากไม้ใหญ่ต้องไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ แต่ต้องอาศัยทั้งแรงดันจากเบื้องล่างคือบุญเก่า และแรงฉุดจากข้างบนคือบุญใหม่ ทั้งบุญเก่าและบุญใหม่ต่างก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือทาน ศีล และการเจริญสติเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

อริยบุคคลผู้เชี่ยวชาญในการรู้วาระจิต เห็นและจำแนกมาจนเจน จะแยกแยะได้ทีเดียวว่าแม้ความอยากก็แตกต่างกันในแต่ละคน บางคนทะยานมาก บางคนทะยานน้อย บางคนสมอยากแล้วยึดแน่น บางคนสมอยากแล้วอยากปล่อย พูดง่ายๆคือคนบารมีมากจะอยากแค่ชั่วคราว แม้แรกอยากจัดแต่ก็ปล่อยเร็ว

ถ้าจะให้กำหนดวันเวลาบรรลุแน่นอนได้ถูก ก็ต้องมีอนาคตังสญาณประกอบอยู่ด้วย เป็นความสามารถกำหนดรู้ตามเงื่อนไขปัจจุบัน ว่าถ้านักภาวนาเหลือความยึดมั่นประมาณนี้ จะได้กะเทาะเปลือกโมหะ โพล่งรู้นิพพานอันพิสุทธิ์ได้ในวันไหนเดือนไหน

ส่วนคำถามคือรู้ได้ไหมว่าใคร ‘หมดสิทธิ์บรรลุธรรม’ นั้น อันนี้ก็อาจเห็นต่างๆกันไป เช่น ถ้าอริยบุคคลท่านเรียนรู้ทฤษฎีมาครอบคลุม ท่านก็อาจตรวจดูด้วยจิตว่าคนที่อยู่ตรงหน้าตนเคยประกอบอนันตริยกรรมไว้หรือไม่ อนันตริยกรรมที่ทำได้ในสมัยนี้ได้แก่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ หรือเป็นพระที่ทำหมู่สงฆ์ให้แตกแยก หากพบว่าใครเคยทำอนันตริยกรรมมา ก็จะเห็นว่าอนันตริยกรรมนั้นปรากฏเหมือนทางตัน หรือเหมือนเครื่องขวางประตูไปสู่สวรรค์นิพพาน คืออย่าว่าแต่หมดสิทธิ์ถึงมรรคผล กระทั่งเกิดใหม่ในสุคติภูมิก็ไม่ได้แล้ว

แต่แม้อริยบุคคลท่านตรวจไม่พบเครื่องขวางอย่างอนันตริยกรรม ท่านก็อาจมองที่อุปสรรคข้ออื่น แล้วสำคัญว่าคนๆหนึ่งไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมก็ได้

กรณีตัวอย่างซึ่งเป็นที่เล่าขานกันมากเห็นจะได้แก่พระมหาปันถก ท่านบวชแล้วสำเร็จอรหัตตผล ส่วนน้องชายของท่านนามว่าจูฬปันถกเป็นผู้รู้ช้า ท่านจึงไล่กลับบ้าน โดยไม่ทราบว่าพระจูฬปันถกก็มีสิทธิ์ถึงซึ่งพระอรหัตตผลเช่นเดียวกับท่าน ร้อนถึงพระพุทธองค์ต้องมาทรงช่วยยับยั้งไว้มิให้สึก กับทั้งประทานอุบายอันตรงกับอัธยาศัยของพระจูฬปันถก พระจูฬปันถกจึงสำเร็จอรหัตตผลตามพี่ชายได้ ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นว่าเว้นแต่พระพุทธองค์แล้ว ไม่มีใครตัดสินวิสัยแห่งการบรรลุธรรมของผู้อื่นได้อย่างครอบคลุมหรอกครับ


หากคุณยังมีชีวิต ยังมีโอกาสอยู่อย่างนี้ ก็เพียรเข้าไปเถอะ อย่าสนใจเลยว่าจะถึงหรือไม่ถึงกันเมื่อไร รู้เฉพาะตัวไปเถอะว่าแค่เริ่มออกเดินก้าวเดียว เป้าหมายก็เขยิบใกล้คุณเข้ามาก้าวหนึ่งทันทีแล้ว!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น