ถาม : ผมเป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง
หลายปีก่อนเริ่มสนใจพุทธศาสนาด้วยความทุกข์
แต่ไม่ใช่เพราะล้มเหลวเกี่ยวกับธุรกิจการงาน ตรงข้าม เป็นเพราะถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงทางการเงิน
ทว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทางความสุข
กล่าวคือพบว่าตนเองวนเวียนอยู่กับความอยากได้อยากมีไม่จบไม่สิ้น
กับทั้งเครียดกับปัญหาวุ่นวายสารพัดชนิดในบริษัท
พอสนใจอ่านสนใจฟังธรรมะแรกๆก็เหมือนเย็นลง ทะยานอยากน้อยลง
ใฝ่สงบและค้นหาสมบัติภายในมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อได้ครูบาอาจารย์ที่สงบเย็นเป็นหลักใจ
ไปกราบคราวใดก็เหมือนจะสละโลกได้ตามท่านคราวนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป
พอต้องกลับไปวุ่นวายกับธุรกิจในช่วงขาลง ก็เกิดความกระวนกระวาย กลัวเจ๊ง
กลัวไม่ได้เพิ่ม กลายเป็นคนทุกข์หนักเหมือนเดิม ยิ่งเห็นยอดขายดิ่งลงไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นก็ยิ่งเศร้า
และรู้ตัวเลยว่าที่ผ่านมายังไปไม่ถึงไหน แต่ก่อนแค่เครียดเรื่องมีไม่พอ
ยังไม่รู้จักความเศร้าเพราะยอดขายเอาแต่ทรุดกับทรุดดังที่กำลังเป็นอยู่
คำถามคืออย่างผมนี้เหมาะกับการปฏิบัติธรรมแบบใดให้ได้ผลจริงๆ
โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังย่ำแย่จากพิษเศรษฐกิจเหมือนอย่างนี้?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๒
ดังตฤณ:
ระดับชั้นของเสื้อผ้าอาภรณ์ บ้าน รถ และทรัพย์สินในมือ ตกแต่งให้มนุษย์แต่ละคนดูดี ดูแย่ ดูเป็นเศรษฐีมีเงิน หรือดูเป็นยาจกเข็ญใจ แต่มนุษย์คนหนึ่งจะเห็นว่าตนเองเป็นอะไรจริงๆ ก็ด้วยความรู้สึกภายใน อันถูกตกแต่งด้วยกรรมและกิเลส หาใช่ข้าวของภายนอกไม่
ก่อนอื่นเราลองมาจำแนกกันครับ
ว่าความรู้สึกของเศรษฐีกับขอทานแตกต่างกันอย่างไร ตามที่ควรจะเป็นนั้น
เศรษฐีควรมีความรู้สึกอิ่มเต็ม อบอุ่นใจ มั่นคง
เพราะการเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติจำนวนมากเข้าขั้นเศรษฐีนั้น
น่าจะเป็นไปเพื่อความสุขกายสบายใจ หายห่วง หายกังวล ไม่ต้องพึ่งพาใคร
ไม่ต้องเบียดเบียนใคร ไม่ต้องทำทุจริตคิดมิชอบ การมั่งมีเหลือล้นเกินความจำเป็น
น่าจะก่อความรู้สึกว่า ‘มีพอจะให้มากๆ’ ด้วยซ้ำ
ส่วนยาจกควรมีความรู้สึกขาดพร่อง
หดหู่ใจ หวั่นไหว เพราะการอัตคัดขัดสนสมบัติเข้าขั้นยาจกนั้น
น่าจะก่อให้เกิดความทุกข์กายอึดอัดใจ คิดมาก เครียดหนัก อยู่ในภาวะพึ่งพา
อาจถูกบีบคั้นให้ตัดสินใจเบียดเบียนสังคม
หรือถึงทางตันต้องทำทุจริตคิดร้ายกลายเป็นมิจฉาชีพไป
การเหลือเศษบาทเศษสตางค์เพียงน้อย ควรอยู่ที่จะก่อความรู้สึก
‘ต้องหวงไว้เอาตัวรอด’ เป็นธรรมดา
หากพิจารณาตามข้อแตกต่างข้างต้น
จะเห็นว่าเศรษฐีบางคนอาจมีจิตแบบขอทานก็ได้ แค่เพียงด้วยความรู้สึกว่า
‘ยังมีไม่พอ’ และ ‘ยังต้องเอาจากคนอื่น’ ชั่วชีวิตของบางคนเป็น ‘ท่านเศรษฐี’
ในสายตาของคนอื่น แต่จนแล้วจนรอดไม่เคยรู้จักจิตแบบเศรษฐีเลยสักวันเดียว
เพราะเขายังเต็มไปด้วยความอยากสวาปามโภคทรัพย์ ราวกับเกิดมาไม่เคยมี
อยู่ดีไม่เคยได้
ขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีของคุณโดยตรง
คุณไม่ต้องขอเงินใคร แต่ยังต้องตระเวน ‘ขอความสุข’ จากครูบาอาจารย์อยู่
ลองสังเกตเถิด แต่ละก้าวที่เดิน แต่ละนาทีที่เหยียบคันเร่งพาตัวไปกราบพวกท่านนั้น
จิตมีความโหยหิวความสุข ความสงบเย็น ความอบอุ่นใจ
และความปลอดภัยอันเกิดจากการปล่อยวางโลกของพวกท่านเป็นที่สุด พอกราบเสร็จ
ฟังเทศน์และรับการชี้แนะเป็นที่พอใจ ก็กลับออกมาจากวัดด้วยความเต็มอิ่ม
หลังจากนั้นไม่นาน
พอถูกโลกร้อยรัด และพอออกแรงกอดโลกไว้จนเหนื่อย จิตก็หิวโหยความสุขความปล่อยวางอีก
ต้องแล่นกลับไปขอความสุขจากครูบาอาจารย์อีก อย่างนี้แสดงชัดใช่ไหมว่าจิตของคุณ
‘ยังไม่มี’ คือยังต้องขอสมบัติภายในจากคนอื่นอยู่ร่ำไป
ไม่ใช่ว่าการไปขอความสุขจากครูบาอาจารย์เป็นพฤติกรรมที่ผิดแบบผิดแผนนะครับ
เพราะสมัยพุทธกาล ทั้งกษัตริย์และเศรษฐีต่างก็แห่ไปขอส่วนแบ่งความสุขจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกกันอย่างล้นหลาม
มนุษย์เราเกิดมามีจิตแบบขอทานด้วยกันทุกคน
พวกเราถวายข้าวราคาถูกให้พระฉันเพื่อยังชีพ
แต่พวกท่านแบ่งปันความสุขแสนแพงให้ใจเราไม่แห้งตาย
ทางโลกนั้น
คุณไม่ต้องขอข้าวใครกินก็เพราะทำงาน ทำเงิน ตลอดจนทำตัวดีพอจะอยู่รอดปลอดภัย
ไม่ต้องวิ่งหนีเจ้าหนี้หัวซุกหัวซุน ตลอดจนไม่ต้องแบมือขอเศษสตางค์จากคนอื่น
ฉะนั้นทางธรรมคุณก็ต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อจะไม่ต้องวิ่งหนีความทุกข์
ตลอดจนไม่ต้องแบมือขอเศษสุขจากครูบาอาจารย์ท่านไหน
สิ่งที่ผมขอแนะนำเป็นอันดับแรก
คือให้สังเกตเข้าไปในใจนะครับ หลายครั้งจิตของคุณ ‘หิว’
ได้เสียยิ่งกว่าท้องหิวข้าว เมื่อใดเห็นความหิวชัดๆ ก็ให้ถามตัวเองเมื่อนั้น
ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ไม่ว่าคุณจะคิดอะไรก็ตาม ขอให้ตระหนักว่าความคิดนั้นผิด
เพราะไม่ทำให้ใจอิ่ม เอาแต่หิวโหยแห้งแล้ง
จะจำไว้สั้นๆเพื่อง่ายต่อการระลึกก็ได้ครับ
ถ้ายังทุกข์หนักไม่เลิก แสดงว่าที่ผ่านมาคิดผิดหมด
คิดให้ถูก
คิดให้ไม่ต้องทุกข์หนัก คิดให้ใจสงบสุขเป็นอย่างไร?
ลองจำแนกเป็นข้อๆกันดู ทดลองได้เดี๋ยวนี้เลยว่าคิดแล้วสุขจริงไหม
๑) คิดให้
ไม่ใช่คิดเอา
อาการ ‘คิดเอา’
นั้นเหมือนโรคร้ายที่ต้องแทรกซึมเข้าสู่จิตใจทุกคน
อย่างไรก็ต้องคิดเอาวันยังค่ำถ้ายังอยากอยู่รอด
ยังอยากใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขตามกระแสโลก
ธรรมชาติของโรคคิดเอานั้น
จะพัฒนาตัวเองเป็นโรคคิดเอาแต่ได้ คิดแต่จะเอาท่าเดียว ไม่แบ่งปัน
ไม่เจือจานให้คนอื่นเลย แม้เศษส่วนเกินที่เหมือนอุจจาระปัสสาวะก็ไม่อยากให้หลุดไปถึงมือใคร
นี่แหละ
โรคคิดเอามันน่ากลัวอย่างนี้ ยิ่งคิดเอามากขึ้นเท่าไร
ความอยากเอาก็ยิ่งต่อยอดเป็นทวีคูณขึ้นเท่านั้น เช่น
ตอนนี้มีแค่ล้านเดียวคุณอาจอยากมีเป็นสองล้าน แต่เมื่อมีถึงร้อยล้าน
คุณจะไม่เสียเวลาคิดถึงเงินหลักร้อยล้านอีกต่อไป
ใจคุณจะฝันเฟื่องไปถึงพันล้านหรือหมื่นล้านแล้ว!
อยากมีทั้งที่ชั่วชีวิตอาจไม่ทันได้รู้ด้วยซ้ำ
ว่าพันล้านหรือหมื่นล้านเอาไปทำอะไรได้บ้าง
ตรงข้ามกับอาการคิดเอาคืออาการ
‘คิดให้’ การคิดให้นั้นเหมือนยารักษาโรคประเภทแก้ปวดแก้ไข้ตามสภาพ
ถ้าคุณไม่ให้ยาเลย ก็จะปวดหัวตัวร้อนคาราคาซัง เรื้อรังไม่หาย
และถ้าคุณให้ยาน้อยไป หรือให้ไม่ต่อเนื่อง การรักษาก็อาจไม่ได้ผล
หรือได้ผลน้อยเสียจนไม่น่าศรัทธา
การคิดให้เป็นเรื่องต้องฝึก
มีทั้งมือใหม่และมือเซียน มือใหม่คิดให้นั้นจะฝืดฝืน
เหมือนต้องออกแรงสู้กับยางเหนียวที่เกาะใจเหนอะหนะ แม้แต่เหรียญสิบบาทก็หนักอึ้ง
คร้านที่จะล้วงกระเป๋าเอามาบริจาคคนตกทุกข์ได้ยาก ส่วนมือเซียนคิดให้นั้นง่ายมาก
ไม่เสียดายเลยกับการเอาเงินไปช่วย หรือกระทั่งเอาตัวไปเสี่ยงยามใครเดือดร้อน
ผมมีสูตรสำเร็จอยู่สูตรหนึ่ง
ถ้าคุณมีส่วนที่เกินพอเกินใช้สักสิบบาท แล้วเอาสิบบาทนั้นไปทำประโยชน์ให้คนอื่น
สิบบาทนั้นจะทำหน้าที่เกินคุ้ม คือสนองคืนกลับมาในรูปความสุขเกินราคาจริงของมัน
แต่ตรงข้าม หากคุณดองเงินส่วนเกินสิบบาทนั้นไว้เฉยๆ มันจะทำหน้าที่อีกแบบหนึ่ง
คือกลายเป็นสิ่งหมักหมม เป็นขยะ เป็นพิษทางใจให้คุณอยากมีมากขึ้นเป็นร้อย
คือสิบเท่าของจำนวนเดิม
คุณคงนึกออกนะครับ
การลงทุนประเภทฝากเงินได้ดอกเบี้ยหรือเล่นหุ้นได้มากกว่าเงินต้น
ปลูกฝังนิสัยเหล่านี้ให้คนยุคเราอย่างหนักหนาสาหัสเพียงใด
และเมื่อรู้แล้วว่าการคิดทำประโยชน์ให้ตัวเองคือการเพิ่มความเห็นแก่ตัว
ก็ต้องเห็นว่า เครื่องมือสำคัญที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวคือการคิดทำประโยชน์ให้คนอื่น
การทำประโยชน์ให้คนอื่นนี้เราเรียกว่าการทำบุญ
แต่การทำบุญแบบเศรษฐีที่ยังขาดความเข้าใจนั้น มักหมายถึงการทุ่มเงินจำนวนมาก
ในโอกาสที่สำคัญ หรือหลายครั้งเป็นเรื่องของหน้าตา มีประจักษ์พยานรู้เห็นมากมาย
การทำบุญแบบซื้อความสบายใจอย่างแท้จริงนั้น
จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็น แต่ประโยชน์สุขอันสำเร็จแก่ผู้อื่นต่างหากที่ใช่ หากคุณทำบุญเพื่อความสบายใจได้ถี่ๆ
ดวงจิตคุณจะแปลกเปลี่ยนไป เปรียบเทียบกับเมื่อครั้งยังโลภอย่างเห็นได้ชัด
กล่าวคือเมื่อสังเกตอาการทางจิต
คุณจะเห็นความจริงว่าธรรมชาติของความโลภนั้นมีอาการดึงดูดเอาเข้าตัว
ผลของการสั่งสมคือความอึดอัดคับแน่น กับทั้งเพิ่มแรงทะยานอยากขึ้นมาใหม่
ส่วนธรรมชาติของการสละให้จะมีอาการปล่อยออกจากตัว
ผลของการปลดทิ้งคือความสบายหายห่วง กับทั้งลดกำลังความทะยานอยากเก่าๆลงได้
๒) คิดลดความอยาก
ไม่ใช่คิดเพิ่มความอยาก
ทุกคนรู้ว่าความอยากได้อยากมี
เป็นสิ่งที่ทำความกระวนกระวายใจอย่างใหญ่หลวง แต่รู้ทั้งรู้ ทุกคนก็ยังไม่เลิกอยากได้อยากมีอยู่ดี
โดยเฉพาะการเป็นนักธุรกิจหรือชาวบ้านร้านถิ่นที่ต้องหาเลี้ยงชีพนั้น
ดูเหมือนขัดแย้งและไม่เอื้ออำนวยให้กับแนวคิดลดความอยาก
แตกต่างจากพระชีซึ่งต้องมีหน้าที่ ‘ดับความอยาก’ ให้หมด
คือบวชด้วยการตกลงกับชาวบ้านแล้วว่าจะขอข้าวกินเพื่อดับอยาก ดับทุกข์ทางใจ
แล้วเอากระแสสุขจากการหมดทุกข์ทางใจแล้วมาแจกจ่ายชาวบ้านเป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ตาม
แม้ยังต้องอยากแบบโลกๆ ก็ไม่จำเป็นถึงขนาดต้อง ‘เอาแต่อยาก’ ขอให้จำไว้ว่าถ้าตามใจตัวเองเกินไป
ได้แล้วจะเอาส่วนเกินอีก ความอยากอันเป็นส่วนเกินนั้น จะกลายเป็นพายุหมุนกลางอก
ที่หอบเอาความสุขของคุณไปหมด ทั้งวันมีแต่ทุกข์กับแรงดิ้นใหม่ๆไม่มีที่สิ้นสุด
ยกตัวอย่างนะครับ
ถ้าคุณซื้อรถสปอร์ตมาขับเล่นคันละ ๓๐ ล้าน เป็นต่างหากจากคันใช้ไปทำงานจริง
นั่นแปลว่าคุณรวยแบบหมดกังขา เพราะ ๓๐ ล้านต้องเป็นแค่เศษเงิน โลกนี้มีของเล่นราคา
๓๐ ล้านก็เพราะมีคนรวยระดับเห็น ๓๐ ล้านเป็นเศษเงินนั่นเอง ไม่ใช่ความผิดอะไร
เป็นเรื่องที่บุญเก่าบุญใหม่อนุญาตให้สมอยาก
แม้เป็นเรื่องไม่แฟร์ในสายตาของเหล่าชนผู้ด้อยโอกาส
ก็เป็นเรื่องแฟร์ในวังวนของเกมกรรม
ประเด็นคือเมื่อได้รถสปอร์ตแล้ว
ใจคุณยังอยากได้รถสปอร์ตคันใหม่ในเวลาอันสั้น หรือเกิดการเรียนรู้ว่าได้ใหม่ก็แค่นั้น
วันหนึ่งต้องเบื่อแล้วหาใหม่อยู่ดี ไม่ต่างจากคันเดิม เพราะความเร็วและความแรงไหนๆ
ก็ไม่อาจตามทันความอยากของมนุษย์ได้อย่างแท้จริงเลย
หากความสมอยากในแต่ละครั้ง
เป็นไปเพื่อการหยุดคิด ได้คิด หรือฉุกใจคิด กระทั่งความทะยานอยากอ่อนกำลังลง
ชีวิตคุณจะเข้าสู่ภาวะพอใจ อาศัยเงินดับความกระหาย แล้วไม่กระหายเพิ่มอีก แต่หากความสมอยากเป็นไปเพื่อต่อความอยากใหม่ๆ
ไม่ได้คิดไม่ได้อ่านอะไรเลย ชีวิตคุณจะเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางพายุแห่งความอยาก
ที่ปั่นตัวแรงเกินกว่าจะมีความสมอยากใดๆหยุดยั้งได้
ความสมอยากที่ไม่ต่อความยาวสาวความยืด
นอกจากจะเป็นการลดกำลังความทะยานลงแล้ว ยังช่วยให้คุณรู้จักพอใจกับปัจจุบัน
ไม่ใช่เสียดายอดีต ไม่ใช่มุ่งหวังอนาคต
จึงมีสิทธิ์พัฒนาจิตให้ก้าวไปสู่ธรรมะขั้นสูงขึ้นกว่าเดิม ถึงขั้นคลายความยึดมั่นถือมั่นใน
‘สมบัติชั่วคราว’ ที่ลวงให้คุณหลงนึกหวงแหนและอยากได้เพิ่มเป็นนักเป็นหนา
สมบัติพัสถานเป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกคลายความยึดมั่นถือมั่นในภพชาติได้นะครับ
ก่อนอื่นคุณต้องคิดให้ได้ว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของพวกมัน
คุณมีหน้าที่บริหารมันชั่วคราว และเพื่อจะคิดให้ได้เช่นนั้น
ก็ต้องมองเข้ามาให้เห็นจริงว่าทั้งเนื้อทั้งตัวคุณมีอะไรได้แค่ไหนกันแน่
ชั่วเวลาขณะที่อ่านบรรทัดนี้อยู่
คุณเก็บลมหายใจเข้าไว้ได้ไหม? ไม่ได้เลย!
ชั่วครู่เดียวคุณต้องระบายคืนกลับสู่ความว่างภายนอก
ชั่วเวลาขณะที่อ่านบรรทัดนี้อยู่
คุณเก็บความปลอดโปร่งสบายใจจากการอ่านธรรมะไว้ได้ไหม? ไม่ได้เลย! เมื่อจิตของคุณเล็งไปที่อื่น
ก็ต้องวุ่นวายไปตามสภาพ
หัดมองเข้ามาข้างในมากๆ เห็นเป็นขณะๆไปเรื่อยๆ
แค่ชั่วแวบก็ยังดี ขอให้เห็นบ่อยๆจนคลายความยึดมั่นในกายใจ คุณจะพลอยคลายความยึดมั่นในสมบัติภายนอกไปได้ด้วย
คุณจะมีชีวิตในโลกนี้เพียงเพื่อจัดการอะไรบางอย่างให้เรียบร้อย
บริหารสมบัติให้เกิดประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน
ไม่ใช่หวงสมบัติไว้กลุ้มเปล่าดังเคยอีกต่อไป
** IG **
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น