ถาม : ได้ยินว่าถ้าเราเคารพนับถือครูบาอาจารย์อย่างไร
ก็จะเจอครูบาอาจารย์แบบนั้นๆต่อไป ไม่ทราบว่าเท็จจริงอย่างไร? ผมเห็นว่าคนเรามีครูบาอาจารย์ทั้งพระและฆราวาสที่นับถือได้หลายคนตั้งแต่เด็กจนโต
และแต่ละท่านก็มีความแตกต่างกันหลากหลาย
แล้วจะเอาอะไรเป็นตัวตัดสินครับว่าต้องไปเจอครูบาอาจารย์แบบใดอีก?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๐
ดังตฤณ:
ทางพุทธเราถือว่ากรรมที่ทำให้พบผู้ชี้นำทางประเสริฐ คือการเคยเลื่อมใสผู้ประเสริฐ อยู่ในโอวาทของผู้ประเสริฐมาก่อน และคำว่า ‘อยู่ในโอวาท’ นั้น ก็หมายถึงเชื่อฟังคำสั่งสอนที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่ประกอบด้วยโทษ น้อมใจรับไปประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่แค่ปากบอกว่าเชื่ออย่างเดียว
ถ้าพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส
เราก็คงเน้นกันที่ความผูกใจนับถือศาสดา
คือเล็งที่ว่าใจคุณเลื่อมใสศรัทธาศาสดาแห่งเหตุผล หรือว่าศาสดาแห่งความเชื่อ
ศาสดาแห่งเหตุผลไม่ได้มีแต่พระพุทธเจ้า
ขอให้แจกแจงรายละเอียดได้เถิด ว่าทำดีแบบไหนได้ดีอย่างไร
ทำชั่วแบบไหนได้ชั่วอย่างไร นับว่าเป็นศาสดาแห่งเหตุผลหมด
ส่วนศาสดาแห่งความเชื่อก็ไม่ได้มีเพียงองค์เดียว
และรูปแบบของการจูงใจให้เชื่อก็แตกต่างกัน บางครั้งให้เชื่อในการปีนบันไดสวรรค์
บางครั้งให้เชื่อในการพุ่งหลาวลงเหวนรก
ถ้าพูดกันเฉพาะศาสนาใหญ่ที่เก่าแก่
สืบทอดมาช้านาน บางทีก็น่าสับสนเหมือนกันครับ เพราะช่วงเวลาช้านานเป็นร้อยเป็นพันปีนั้น
มักก่อให้เกิดก๊กเหล่า มีความแตกแยกทางความเชื่อและความคิดเห็นออกไปได้มาก
การระบุว่าตนนับถือศาสดาใด
หรือเป็นสมาชิกของศาสนาใด บางทียังกว้างเกินไป
เพราะศาสดาของทุกศาสนาใหญ่ต่างก็ทิ้งโลกนี้ไว้เบื้องหลังแล้ว
ที่เรานับถืออยู่จริงๆจะเป็นตัวแทนของท่าน อันได้แก่คำสอนในคัมภีร์
ส่วนผู้ชี้ขาดคำสอนก็มีอยู่หลากหลายเหลือเกิน
ไม่อาจแต่งตั้งใครเป็นประมุขศาสนาองค์ใหม่แทนพระศาสดาได้เลย
เพราะอย่างไรก็จะเห็นว่าเป็นเพียงหนึ่งในผู้สืบทอด ไม่ใช่ผู้เริ่มต้นก่อตั้งศาสนา
จึงย่อมไม่มีใครยอมลงให้ใครง่ายๆ
การแบ่งก๊กแบ่งเหล่านี้แหละ
ก่อให้เกิดอาจารย์หรือประธานกลุ่ม
ซึ่งถ้าผู้นำกลุ่มพยายามรักษาคำสอนดั้งเดิมของพระศาสดาไว้
ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนกลุ่มได้ดี เจริญรอยตามบาทพระศาสดา
ไม่หลงเขวออกนอกทางไปไหน
แต่หากผู้นำกลุ่มไม่ได้สอนตามพระศาสดา
ก็เหมือนกับตั้งศาสนาหรือลัทธิใหม่ขึ้นมากลายๆ
สมาชิกกลุ่มย่อมไม่ได้ชื่อว่าเจริญรอยตามบาทพระศาสดา
ทว่าหลงเขวไปทางอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่นสำหรับพุทธเราสอนเรื่องการพ้นทุกข์
ด้วยวิธีละเหตุแห่งทุกข์ อันได้แก่ความอยาก แต่หลายสำนักจะเน้นสอนเรื่องการมีสุข
ด้วยวิธีเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ คือเร่งความโลภ ความอยากได้ให้มากยิ่งๆขึ้น
นี่แหละเรียกว่าหลงทิศ หลงออกจากเป้าหมายเดิม
และถ้าเจาะจงอย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้งกว่านั้น
ก็ต้องดูด้วยว่าแต่ละคนน้อมใจเชื่อ น้อมใจเคารพ
และยึดถือใครคนใดคนหนึ่งเป็นแบบอย่าง เพราะธรรมชาติของคนเราจะยึดถือผู้ที่มีชีวิต
มีตัวตนให้จับต้องได้สักคนหนึ่ง เอาไว้เป็นหลักใจให้นึกถึงง่ายๆ
หรือคลานเข้าไปกราบขอคำปรึกษาได้
ตรงนี้เองครับที่จะเป็นคำตอบสำหรับคำถาม
คุณผูกใจนับถือใครมากที่สุด ยอมรับใครมากที่สุด
ก็จะได้รับส่วนแห่งตัวตนหรือนิสัยของท่านมาด้วย
หาใช่แค่ได้รับความรู้ความเข้าใจมาอย่างเดียว
แม้สมัยพุทธกาล
พระอริยบุคคลท่านก็มีความแตกต่าง
พระพุทธเจ้าเคยชี้ให้เห็นว่าพวกที่ชอบทางฤทธิ์ก็ยึดถือพระโมคคัลลานะเป็นครู
พวกที่ชอบทางปัญญาก็ยึดถือพระสารีบุตรเป็นอาจารย์
คือเคารพทั้งพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรในฐานะของพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสเหมือนกัน
แต่จะยึดเอาใครเป็นครูก็ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยที่สอดคล้องด้วย
ตามที่เห็นด้วยตาเปล่า
คือ ถ้ายึดมั่นในครูผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เหล่าสานุศิษย์ก็จะพลอยอ่อนน้อมถ่อมตนตาม
ถ้ายึดมั่นในครูผู้ใคร่บำเพ็ญประโยชน์มาก
เหล่าสานุศิษย์ก็จะพลอยใคร่บำเพ็ญประโยชน์มาก ถ้ายึดมั่นในครูผู้พูดจาโผงผาง
เหล่าสานุศิษย์ก็จะพลอยพูดโผงผางตาม ถ้ายึดมั่นในครูผู้ชอบยิ้มเย้ยและดูถูกถากถาง
เหล่าสานุศิษย์ก็จะพลอยชอบยิ้มเย้ยและดูถูกถากถางตาม ฯลฯ
สรุปว่านิสัยหลัก
นิสัยเด่นของบุคคลที่คุณเคารพเลื่อมใสและยึดถือเป็นครู จะเหมือนเชื้อที่แพร่เข้ามาสู่คุณ
และทำให้คุณเกิดอัธยาศัยเดียวกัน
กับทั้งเกิดความยินดีในครูเช่นนั้นอีกเมื่อเกิดใหม่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น